ใครจะเชื่อว่า จากผู้บริหารโรงพยาบาลกรุงเทพ ซึ่งเป็นหนึ่งในโรงพยาบาลยักษ์ใหญ่ของประเทศที่สามารถทำกำไรได้ปีหลายละร้อยล้าน แต่วันหนึ่ง นพ.ก้องเกียรติ เกษเพ็ชร จะตัดสินถอนตัวออกมา เพื่อเริ่มต้นกับธุรกิจใหม่ที่ชื่อ ‘ร้านเป็นสุข’ ซึ่งทั้งสมุนไพร พืชพันธุ์ ข้าวสาร ฯลฯ ภายใต้แนวคิดที่ว่า ‘การสร้างวิถีชีวิตที่ทำให้สุขภาพ ทั้งกายและใจแข็งแรง สมบูรณ์ดี’ ซึ่งเกิดขึ้นจากการผสมผสานแนวคิดเรื่องแพทย์แผนปัจจุบันกับแผนทางเลือก โดยมีเป้าหมายสำคัญอยู่ที่การป้องกันสุขภาพของผู้คนให้อยู่ขั้นที่ดี จะได้ไม่เลยไปถึงขั้นการเยียวยารักษา
อย่างไรก็ตาม สิ่งนั้นคงไม่น่าสำคัญมากเท่าใดนัก เมื่อเทียบมุมมองและประสบการณ์อันโชกโชนของเขาที่กำลังจะถ่ายทอดออกมา ไม่ว่าจะเป็นสถานการณ์ทางด้านสุขภาพของสังคมไทยที่ยังถือเป็นปัญหาอยู่มาก รวมไปถึงระบบคิด ทัศนคติเกี่ยวกับการแพทย์และระบบรอบข้างในปัจจุบันว่าเช่นใดบ้าง
อะไรคือสาเหตุที่คุณหมอตัดสินใจถอนตัวจากโรงพยาบาลใหญ่มาจับงานแบบนี้
จริงๆ แล้ว นอกจากการทำงานภาคเอกชน ก็มีงานทางด้านเชิงสังคมอยู่ด้วย เรื่องหนึ่งก็คือการทำซอฟแวร์ให้แก่โรงพยาบาลชุมชน โรงพยาบาลขนาดเล็กจะได้ใช้ตรงนี้ในการดูแลคนไข้ แล้วมันคงเป็นความรู้สึกด้วยว่า ทำงานมาจนถึงอายุขนาดนี้แล้วก็คงจะพอแล้ว ก็เลยอยากจะเปลี่ยนทางดูบ้าง
อีกอย่างด้วยความที่เราเป็นแพทย์ มันเหมือนหมอดูนะ บางทีเรารู้อยู่แล้วว่า เขาไม่หายหรอก เบาหวาน ความดันไม่มีใครหาย แล้วเดี๋ยวเขาจะเกิดโรคนู้นโรคนี้ ตาก็จะบอด ไตก็จะวาย แต่หมอไม่สามารถบอกได้ เนื่องจากหมอไม่ใช่ผู้วิเศษ คนไข้รักษาเป็น 10 ปีตายในมือเราก็มี เพราะฉะนั้นเมื่อเราเห็นปัญหาแล้ว ก็มีทางเลือก 2 อย่างคือนั่งเฉยๆ แล้วก็บ่นไป หรือไม่ก็ลงมาแก้ ส่วนจะแก้ได้หรือไม่ได้ก็เป็นเป็นไร ขอแค่เราสนุกและอยากทำก็พอ
ตอนนั้นมองสถานการณ์ของระบบโรงพยาบาลต่างๆ อย่างไร
ถ้ามองในแง่ธุรกิจโรงพยาบาลก็ต้องถือว่าดี และมีอะไรเพิ่มเติมขึ้นมาเมื่อเทียบกับ 4-5 ปี ทั้งด้านเศรษฐกิจเอง กำลังซื้อ ในการทำการตลาดของต่างประเทศก็ถือว่าดี เพราะมีคนไข้จากต่างประเทศเข้ามาเยอะขึ้น แต่สิ่งที่ตัวเองสนใจก็คือ โรงพยาบาลส่วนใหญ่ก็ยังมุ่งเน้นที่การรักษา คือเอาเทคโนโลยี เอาความสามารถของหมอมา แต่ปัญหาที่เราจะต้องเจอในอนาคตแน่ๆ ก็คือ ความเจ็บไข้มันจะเกิดเพิ่มเติมขึ้น ถ้าเราไม่เข้าไปในส่วนของการป้องกันและดูแลสุขภาพ
กรอบของคำว่า ‘สุขภาพ’ ในมุมของคุณหมอเป็นเช่นใด
มันกว้างนะ แต่ผมแค่ว่าสุขภาพที่ดี ก็คือการไม่เป็นโรค ไม่มีอาการเจ็บป่วย หรือเป็นน้อยที่สุดเท่าที่ทำได้ แต่ถ้าเป็นการรักษา แสดงว่ามันเกิดสภาวะความเจ็บป่วยขึ้นมาแล้ว เราต้องถึงต้องใช้วิธีรักษาเข้าไปแก้ ตั้งแต่การรักษาด้วยยา การผ่าตัด เพราะฉะนั้นถ้าตราบใดที่เราสามารถดูแลสุขภาพก็ไม่จำเป็นต้องเข้าสู่การรักษา
แสดงว่าการอยู่ในระบบโรงพยาบาล คุณหมอก็มีความรู้สึกคัดค้านอยู่ในใจ เพราะเขามุ่งไปที่การรักษาอย่างเดียว
ผมมองว่ามันเป็นคนละอย่างกัน โรงพยาบาลเองก็มีหน้าที่มีภารกิจ ไม่ว่าจะรัฐหรือเอกชนที่ต้องทำการรักษา เพราะเรามีคนส่วนหนึ่งเจ็บป่วย แต่สิ่งที่ผมมองก็คือ ถ้าเราจะมุ่งการรักษาแบบเดียว เราคงจะเหนื่อยมาก คงไม่มีโรงพยาบาลมากพอที่รักษาเขาได้ ถ้าเราทำให้เขาไม่เป็นโรค มันก็น่าจะทำให้ดีขึ้นได้
คุณหมอมีวิธีการอย่างไร
ถ้าต้องการมีสุขภาพดี หลักๆ คุณก็ต้องมีพฤติกรรมการดำรงชีวิตที่ดีก่อน เพราะสุขภาพที่มันแย่เดิมนั้นเกิดจากพฤติกรรมที่มันแย่ลง หรือผิดไปจากสิ่งที่ควรจะเป็น เช่น การกิน การใช้ชีวิต เอาง่ายๆ เราเป็นหมอ แล้วเราบอกว่ากินอาหารที่มีประโยชน์นะ ออกกำลังกายนะ คนไข้ก็จะถามต่อเลยว่าแล้วไง ทำที่ไหน เพราะฉะนั้นสิ่งที่เขาขาดก็คือ ความรู้ ทัศนคติและการนำไปใช้อย่างต่อเนื่อง เพราะฉะนั้นเราก็เลยมาคิดว่า หากเราสามารถทำให้เปลี่ยนหรือมองเห็นว่า เขาควรจะเป็นแบบนี้ อาหารกินแบบนี้ จับต้องได้จริงๆ ก็น่าจะทำให้เขามีสุขภาพที่ดี
แต่ต้องเข้าใจก่อนว่า สิ่งที่เราให้ไม่ใช่การขายอาหารเสริม เพื่อบำรุงสุขภาพ แต่เราคิดว่า จะต้องทำอย่างไรให้มันเข้าไปอยู่ในชีวิตประจำวันของเขา เพราะฉะนั้นพอเราตั้งโจทย์แบบนี้ได้ เราก็มาคิดว่าอะไรคือสิ่งที่ทุกคนกิน สิ่งที่เลี่ยงไม่ได้ก็คือข้าว เพราะฉะนั้นแหล่งพลังงาน 60-70 เปอร์เซ็นต์ก็คือ ข้าว ดังนั้นเราก็เอาข้าวมาเป็นตัวหลักว่าทำอย่างไร ถึงจะทำให้เขารู้จักมากขึ้น บริโภคมากขึ้น
ของแบบนี้ก็เป็นสิ่งที่คนรู้อยู่แล้วหรือเปล่า
แต่เขารู้ไม่ลึกซึ้งพอ จนนำไปสู่การไม่ปฏิบัติ เอาง่ายๆ อย่างคนหนึ่งเป็นเบาหวาน เราบอกให้เขาเอายาไปกิน ถ้าเขาไม่มีความรู้ ไม่มีทัศนคติที่ดีต่อการกินยา เขาก็ไม่กิน หรือกินบ้างไม่กินบ้าง มาอีกทีน้ำตาลขึ้น มาอีกทีน้ำตาลตก เพราะฉะนั้นสิ่งที่เราทำให้ต้องรู้ก็คือมีทัศนคติกับการกินยา เขาถึงจะปฏิบัติได้อย่างต่อเนื่อง เช่นเดียวกับการออกกำลังกาย ทุกคนรู้ว่านี่คือสิ่งที่ดี แต่ไม่รู้จะทำยังไง ต้องไปฟิตเนสเหรอ ต้องไปว่ายน้ำเหรอ วุ่นวายไม่มีเวลา เพราะฉะนั้นถ้าอยู่ในกรอบวิธีคิดแบบเดิม ปัญหาที่เห็นก็จะแก้ไม่ได้
ดังนั้นเราถึงบอกไงว่า จะทำยังไงถึงจะเข้าไปอยู่ในชีวิตประจำวันของเขาได้ เช่น คุณกินข้าว คุณซื้อข้าวแบบนี้กิน มันก่อให้เกิดปัญหา อย่างน้ำหนักเพิ่ม เบาหวานขึ้น แต่ถ้าคุณย้ายจากยี่ห้อหนึ่งมากินอีกยี่ห้อหนึ่ง ได้ไหม ถ้าได้ก็ลองกิน พออีกเดือนไปตรวจเลือดว่า น้ำตาลลดลง ไขมันลดลง เขาก็จะรู้สึกว่า มันก็ได้ผลนะ วิธีการแบบนี้แหละที่จะทำให้รู้สึกอยากปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและอยู่กับมันได้ยาวนาน
เรื่องแบบนี้มันก็เหมือนกับวิธีการรักษาของแพทย์นั่นแหละ ให้ยาลดไข้ไป คุณเอาปรอทไปด้วย กินแล้วไข้ลดไหม ถ้าลงแสดงยาได้ผล มันก็จะเกิดการตอบสนองกลับมานั่นเอง
แต่ชีวิตคนเรามันคงไม่ได้เปลี่ยนแปลงง่ายขนาดนั้น
มันจัดการได้ เพียงแต่เขาก็อยู่ในกระแสรับ ถามว่ามีเครื่องดื่มที่กินแล้วขาวอมชมพู ทำให้คนถึงกินกันทั้งเมือง ยอดขายหลายพันล้านบาท อยากขาวกินไอ้นี่ ถามว่าจริงเหรอ ถ้าเราใช้รูปแบบโฆษณาประชาสัมพันธ์ ก็คงขายได้ แต่เราไม่ต้องการแบบนั้น แต่เราให้เขาเห็นภาพ เห็นผลได้เอง เพราะความรู้ไม่ได้เกิดจากการเขียนลงกระดาษแล้วให้มาอ่านสักหน่อย
แต่ที่ผ่านมาแนวคิดเรื่องพวกนี้ก็อยู่ในระบบสาธารณสุขก็มีอยู่ ทำไมคุณหมอถึงมองว่ามันไม่สำเร็จ
เพราะมันขาดการจัดการอย่างเป็นจริงเป็นจัง แล้วก็เป็นระบบ จริงๆ ก็ไม่ต่างกับสมุนไพรที่เราบอกดี แต่ดียังไง กินเท่าไหร่ มันมีโอกาสน้อยมากที่จะไปต่อยอดจนถึงในเชิงมิติการแพทย์ เพราะฉะนั้นถ้าเรามองมิติการรักษาด้วยสมุนไพรนั้นไม่ประสบความสำเร็จ เพราะมันขาดการเชื่อมโยง ตัวอย่างง่ายๆ เช่น ฟ้าทะลายโจร ต้มยังไง ดังนั้นคุณต้องมีหน่วยงานอะไรสักอย่างมาบอกคุณว่า ต้องทำแบบนี้ เพราะมันไม่ได้ง่ายเหมือนการไปอ่านในเว็บฯ เพราะฉะนั้นสิ่งที่เราก็คือ นี่คือโอกาสอันหนึ่งที่จะทำให้คนมีประสบการณ์ที่ดี
อีกตัวอย่างที่น่าจะเห็นชัด ก็คือพวกโรคทางไอที สมัยก่อนพวกแอปเปิลหรือแมคอินทอชขายไม่ได้หรอก ไม่รู้ใช้ยังไง ใช้พีซีดีกว่า สิ่งที่แอปเปิลทำก็คือสร้างร้านขึ้นมา แล้วเข้าไปมีแต่พื้นที่สร้างประสบการณ์ คนได้ไปลองใช้ ลองจับ มีคนอธิบาย ถามว่าทำไมเปลี่ยนโลกได้ เพราะฉะนั้นจริงๆ แล้วทุกคนมีโอกาสที่จะเปลี่ยนแปลงได้ เพียงแต่ว่าทำอย่างไรเราถึงจะหาช่องว่างตรงนั้นได้เจอ
อย่างนี้มองได้ไหมว่า สัดส่วนที่หน่วยงานสาธารณสุขปัจจุบันวางไว้นั้นผิด เพราะไปมุ่งแต่การรักษาเพียงอย่างเดียว
ก็คงไม่ผิดหรอก เพราะเขาก็มีกลไกหลายอย่างที่จะไปสร้างเสริมสุขภาพ ต้องบอกเลยว่าโครงสร้างของระบบในประเทศไทยทำไว้ดีมากๆ เมื่อเทียบกับหลายประเทศ เราสามารถหยุดยั้งเรื่องทารกตายระหว่างคลอดได้ เราสามารถหยุดยั้งเรื่องบาดทะยักได้ หรือแม้แต่โรคที่ร้ายแรงหลายโรค เรามีเครือข่ายของ อสม. (อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน) มีศูนย์โรงพยาบาลตำบลที่ทำงานในพื้นที่ มีโรงพยาบาลขนาดเล็ก ขนาดกลาง ขนาดใหญ่ เรามีครบหมด แต่สิ่งที่เขายังเข้าไปไม่ถึง ก็คือการใช้ชีวิตประจำวันของคน รูปแบบที่เรามีคือการป้องกัน เช่น การให้วัคซีน ฝากท้องฝากครรภ์ แต่ปัญหาใหญ่จริงๆ มันอยู่ที่พฤติกรรมการบริโภค เพราะฉะนั้นถ้าเขาขยับเติมอีกหน่อย ทำยังไงถึงจะเข้าไปยุ่งเรื่องของพฤติกรรมนี้ เขาถึงจะประสบความสำเร็จให้เห็น
แล้วทางภาครัฐจะต้องขยับอย่างไร
หลักๆ คือเขาต้องให้บุคลากรเปลี่ยนมุมมองก่อน ต้องเข้าใจว่าระบบทุกวันนี้คือ ระบบสั่ง คุณไปฉีดวัคซีนนะ ไปฝากท้องนะ แต่ถ้าเรามองใหม่ เสริมพลังให้เขา ให้คนที่เป็นเป้าหมายของเรา แสดงตัวขึ้นมา บอกเข้ามา หรือแสดงตัวแล้วเปลี่ยนเอง คือวิธีคิดแบบนี้เป็นวิธีคิดของภาคธุรกิจ เพราะธุรกิจจะยั่งยืนอยู่ได้ คนก็เห็นดีเห็นงามกับสินค้านี้ และจะซื้อสินค้าอยู่ตลอดเวลา เพราะฉะนั้นการจะซื้อสินค้านี้ได้ก็ต้องมีความรู้ก่อนว่า ของนี้คืออะไร มีทัศนคติที่บวก แล้วใช้มันไปตลอดเวลา แต่ในภาครัฐมันก็ยังมีรูปแบบของความเป็นโปรเจ็กท์ เป็นเรื่องที่ต้องเข้าไปแก้ ของแบบนี้ต้องมาช่วยกัน ทั้งภาครัฐและเอกชน เช่น ถ้าเราทำให้คนมีสุขภาพดีขึ้น ภารกิจภาครัฐก็จะลดลง เงินก็ใช้ในทางสร้างเสริมมากขึ้น เพราะตอนนี้มันไปใช้ในการรักษามากขึ้นไป ซึ่งถ้าสร้างกลไกเชื่อมโยงตรงนี้ได้ มันก็จะเกิดผลดี
แต่อย่างว่า ที่ผ่านมาเราชินกับความเปลี่ยนแปลงโดยใช้งบประมาณลงไปเพื่อเข้าไปเปลี่ยน ไปแก้ แต่วิธีการเปลี่ยนแปลงบางอย่าง คนที่ทำงานเชิงสังคม เขาเริ่มจากจุดเล็กๆ แล้วก็ขยายไป เพราะฉะนั้นวันนี้วิธีการสื่อสารมันเปลี่ยนไป จากเดิมที่ต้องการสื่อสารสักทีก็ต้องไปลงหนังสือพิมพ์ แต่ตอนนี้ต้องไปลงโซเชียล มีเดีย คือไม่ใช่แบบคลาสิกอีกต่อไป บางอย่างไม่ต้องใช้งบประมาณมาก บางอย่างทำงานแบบมวยรองบ่อนเร็วกว่า เพราะฉะนั้นวิธีการจัดการพวกนี้จึงแตกต่างไปจากเดิม
การจัดงานต่างๆ ภาครัฐ เช่น มหกรรมสุขภาพแห่งชาติ ที่มีการเอาวิธีรักษา หรือดูแลสุขภาพที่เป็นทางเลือกมานำเสนอ มันตอบโจทย์เรื่องพวกนี้ได้บ้างไหม
ไม่ได้หรอก เพราะถ้าเราไปแบบนั้นก็ซื้อมากินครั้งหนึ่ง พอกินหมดก็จบ แต่มันก็ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงระยะยาวได้ เนื่องจากขาดความต่อเนื่อง สำหรับผมมันค่อนข้างฉาบฉวย แต่เราต้องคิดถึงมันเป็น 10 ปีๆ ว่าจะทำยังไงต่อไป ซึ่งผมเชื่อว่า เรื่องนี้ 'ใจ' เป็นเรื่องสำคัญที่สุด
ที่เราสนใจเรื่องการป้องกันโรค เพราะมีความเชื่อว่า ต้องการให้ทุกคนมีสุขภาพที่ดีจนถึงวันสุดท้ายของชีวิต เราไม่ได้บอกว่าการที่มีสุขภาพดีแล้วคุณจะไม่ตายนะ แต่ถ้าข้อมูลที่พบว่า ถ้าสุขภาพแย่ตอนอายุ 50-60 ปี เราจะพยายามทุกอย่างเพื่อให้มีชีวิตอยู่ยืนยาว จะใช้เงินวิ่งเต้นฉายนู้นฉายนี่ เพื่อให้หายให้ได้ แต่ถ้าเราเกิดสุขภาพดีจนถึง 80 ปีไปแล้ว เกิดพบว่าคุณยายเป็นมะเร็ง แกจะบอกทันทีเลยว่า พอแล้ว แม้หมอจะบอกว่าให้เคมีบำบัด แล้วจะต่ออายุไปอีก 5 ปีก็ตาม นี่คือมิติของการสร้างเสริมสุขภาพ คือเราไม่ได้สนใจว่า คุณต้องไม่ตายนะ แต่ก่อนจะถึงวันสุดท้ายของชีวิต คุณต้องมีสุขภาพดีต่างหาก ไม่รู้สึกทุรนทุราย ไอ้นั่นก็ไม่ทำไอ้นี่ก็ไม่ได้ทำ
ประเด็นไหนที่คุณหมอ คิดว่ายากที่สุด
ตอนนี้มีคนเริ่มเจ็บป่วยก่อนอายุที่ควรจะเป็นมากขึ้น โดยเฉพาะพวกโรคเรื้อรังทั้งหลาย เช่น โรคหัวใจ โรคเบาหวาน เมื่อก่อน 50-60 ปีถึงเป็น แต่เดี๋ยวนี้มันถอยมาที่ 40 ปีแล้ว โรคความดันก็เหมือนกัน บางคนหนุ่มๆ ก็เป็นแล้ว ทั้งๆ ที่สมัยผมเริ่มต้องอายุ 65 ปีขึ้นไปถึงเป็น เมื่อมันถอยมาเร็วเกินไป เราก็ยิ่งต้องหากลไกที่จะสร้างคนพวกนี้มีสุขภาพที่ดีขึ้น มีอายุยืนยาวขึ้น
ที่สำคัญต้องยอมรับว่า แนวคิดเรื่องการป้องกันดูแลสุขภาพนั้นยังมีอุปสรรคอยู่เยอะ อย่างแรกเลยคือ ความรู้ความเข้าใจ หลายคนยังคิดว่าการสร้างเสริมสุขภาพคือ การไปหาของเสริมมากิน อันที่ 2 คือการเข้าถึงของที่จะสร้างเสริมสุขภาพก็ยังเป็นปัญหาอยู่ อย่างการที่เราเข้ามาสนใจเรื่องข้าว เราพบว่าข้าวแต่ละพันธุ์ มีความแตกต่างในแง่ผลลัพธ์ต่อสุขภาพทั้งนั้นเลย ข้าวบางชนิดน้ำตาล บางชนิดมีธาตุเหล็ก บางชนิดมีไฟเบอร์สูง ทำอย่างไรให้เขาเข้าถึงของพวกนี้ได้ และมีความเข้าใจ ทุกวันนี้เราไปห้าง อันนั้นถูกสุดก็ซื้อ เราไม่รู้เลย แต่ถ้าทำให้เขารู้ว่าอันไหนเหมาะสำหรับปัญหาของเขา เขาก็จะมีสุขภาพที่ดีมากขึ้น
แล้วระบบสาธารณสุขปัจจุบันล่ะ เป็นอุปสรรคบ้างหรือเปล่า
ตัวระบบไม่มีปัญหาหรอก แต่ปัญหาอยู่ที่การสื่อสารในมิติของการรับสารที่มากนั่นแหละที่มีปัญหา เช่น 30 บาทรักษาทุกโรค เพราะฉะนั้นคุณมั่นใจได้เลยว่า เป็นโรคอะไรมารักษาได้ทุกโรค เรามีศูนย์การแพทย์ที่ทันสมัยที่สุด สามารถรักษาได้เครื่องไม้เครื่องมือ มันจึงทำให้เกิดภาพว่า ไม่เป็นไรหรอก สุดท้ายก็รักษาได้ สิ่งที่ตามมาก็คือ หมอได้ลงหนังสือพิมพ์ เพราะรักษาเก่ง ใช้เครื่องไม้เครื่องมือ แต่ไม่มีใครลงว่า หมอคนนี้เก่งมากเลย ชุมชนนี้ไม่มีใครป่วยเลย หรือเด็กที่นี่ได้รับวัคซีนครบ คำถามก็คือ คนที่รอเปลี่ยนอวัยวะอีก 500 คน จะได้เปลี่ยนเมื่อไหร่ ไม่มีใครตั้งคำถามแบบนี้
ตอนนี้เราย่ามใจกันหมดแล้ว คือเราเป็นประเทศที่โชคดี เพราะเข้าถึงบริการทางการแพทย์ได้ดีกว่าหลายๆ ประเทศ ไม่ว่าจะแถบนี้หรือที่เจริญแล้ว ไม่อย่างนั้นฝรั่งคงไม่บินมารักษาถึงที่นี่ แต่ปัญหาคือ คนของเราเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แถมเป็นโรคมากขึ้นเรื่อยๆ สุดท้ายมิติของการรักษามันจะตอบโจทย์ไม่ได้ ภาครัฐก็พยายามที่จะทำให้นัยของการสร้างเสริมสุขภาพมีนัยมากขึ้น เช่นยกระดับสถานีอนามัยให้เป็นโรงพยาบาลประจำตำบล มีหน่วยงานชื่อ สสส. (สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ) เพียงแต่ว่ามันต้องการกลไกอื่นเข้ามาร่วมด้วย เพราะสร้างเสริมอย่างเดียวไม่ได้ เพราะนั่นคือการให้แต่ความรู้ แต่คุณต้องให้เข้ามีทัศนคติที่ดีด้วย
คือที่ผ่านมาการสร้างเสริมที่เกิดขึ้นอาจจะดูเฉพาะเรื่องมากเกินไป เช่น ไม่ดื่มเหล้า ไม่สูบบุหรี่
ผมว่านี่เป็นการรณรงค์เพื่อตัดตอนปัญหาบางอย่างมากกว่า แต่ถามว่าคนที่ติดบุหรี่จะทำยังไง กระบวนการคืออะไร จำฮูลาฮูบได้ไหม หมุนกันทั้งประเทศ แล้วตอนนี้ไปไหนล่ะ คือเราเป็นแบบนี้ ทุกคนรู้ว่ามีการออกกำลังกายที่เรียกว่า ฮูลาฮูบ ถ้าทำแล้วอาจจะลดน้ำหนักได้ ฮิตกันทั้งประเทศ แต่ตอนนี้มีใครเล่นอยู่บ้าง เพราะฉะนั้นสิ่งที่เกิดมันจึงเป็นลักษณะของโปรเจ็กท์ พอจบแล้ว ทุกอย่างก็จบด้วย แต่ถ้ามันมีการต่อยอด เช่น ไปเป็นธุรกิจ มันก็จะไปของมันต่อ
สรุปนี่คือเป็นจุดอ่อนของภาครัฐเลย
ใช่! เราหลุดไม่พ้นมิติของงบประมาณ ถ้ามีการเปลี่ยนแปลงนโยบายใหม่ ก็ว่ากันเรื่องใหม่ เพราะฉะนั้นความต่อเนื่องเป็นไปไม่ได้หรอก แต่สิ่งนี้มันทำได้ในภาคเอกชน ตัวอย่างเช่น เซเว่นอีเลฟเว่น ตอนนี้มันเปลี่ยนจากร้านสะดวกซื้อมาเป็นร้านสะดวกกินแล้ว เมื่อก่อนเราไม่คิดว่าจะกินไส้กรอกมากขนาดนี้ แต่ตอนนี้เป็นไง
เพราะฉะนั้นสิ่งที่จัดการโดยภาคเอกชนมันเปลี่ยนพฤติกรรมของเราไปหมด ต่อไปผมเชื่อว่ารุ่นลูกของเราจะไม่กินข้าวข้างทางแล้ว แต่จะกินข้าวกล่องในเซเว่นฯ โดยเหตุผลอะไรก็แล้วแต่ ทั้งความมั่นใจ ความสะอาด แต่ในเชิงสังคม มิติความหลากหลายจะหายไป ร้านข้าวแกงที่อร่อย แม่ครัวคนนี้จะหายไป เขาไม่ได้ผิด แต่การจัดการแบบนี้มันสามารถเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมได้ ซึ่งภาครัฐจะต้องกลับมาคิดถึงเรื่องนี้ให้ดีด้วย เพราะถ้าดูงบประมาณตามที่สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติจัดสรรมา 2,400 บาทต่อคนต่อปี มีงบสร้างเสริมสุขภาพแค่ 100 บาทเท่านั้น แสดงว่าความสำคัญเรื่องนี้ถือว่าน้อยมาก แต่ถ้าเราไปดูภาคบริโภค จากข้อมูลของศูนย์วิจัยกสิกรฯ ใช้เงินเพื่อจ่ายค่ายาประมาณ 1 แสนล้านบาทต่อปี ใช้เงินเพื่อซื้อผลิตภัณฑ์สร้างเสริมสุขภาพ 6-7 หมื่นล้านบาทต่อปี แล้วในจำนวนนี้มันก็ไม่ใช่ไปเสริมสุขภาพจริงๆ ด้วย เช่น ไปซื้อกาแฟกินแล้วผอมอะไรแบบนี้
เพราะฉะนั้นทางออก ก็คืออย่างน้อยๆ ก็ต้องขยายแนวคิดแบบนี้ออกไป โดยตอนนี้มีแผนว่า เราจะทำงานกับองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น เช่น เทศบาล หรือ อบต. (องค์การบริหารส่วนตำบล) ที่มีหน่วยงานดูแลสุขภาพ เราก็ทำเอาวิธีการ เทคโนโลยี ความรู้ไปให้เขาได้ช่วยสร้างเสริมสุขภาพเขา เพราะตอนนี้โรงพยาบาลต่างๆ เขาก็พยายามทำนะ แต่ภารกิจหลักๆ นั้นอยู่ที่การรักษา
คิดว่าต้องใช้เวลาอีกนาน
ของแบบนี้ต้องค่อยๆ ทำ ไม่ใช่ว่า พอคนไข้ปวดหัวมาหาหมอ แล้วเราจะบอกว่าไม่ได้กินยาหรอก ให้ไปนั่งสมาธิแทน จริงๆ เหมือนไส้กรอกในเซเว่นฯ นั้นแหละ ที่กว่าจะเปลี่ยนได้ก็ต้องใช้เวลา
ขอกลับมาที่เรื่องความย่ามใจในเรื่องสุขภาพของคนไทย คุณหมอมองว่ามีทางออกบ้างไหม
มี แต่มันขึ้นอยู่กับว่า จะแก้เร็วแค่ไหน ถ้าเราคิดว่าจะแก้ให้ได้ผลเร็วมันยากมาก แต่ถ้าเราคิดถึง 10 ปีข้างหน้า เป็นสิ่งที่ทำได้ อย่างในอเมริกาเขารู้ว่าการแพทย์เขาดีที่สุด แต่ปัญหาคือมันเข้าถึงไม่ได้ เพราะมันแพงมาก สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ คนที่ไม่สบายหลายคนรวมกลุ่มกัน สร้างเว็บไซต์ขึ้นมาแล้วปรึกษากันเอง ซึ่งมันก็จะเกิดกลไกการพึ่งโครงสร้างใหญ่ให้น้อยลง แล้วพวกนี้ก็เริ่มกรองข้อมูลให้มีความถูกต้องมากขึ้น เพราะฉะนั้นโอกาสที่การดูแลสุขภาพตัวเองเพื่อป้องกันมันจะเกิดขึ้น
ถ้าเรามองการรักษาพยาบาลเป็นทรัพยากร มันเป็นสิ่งที่มีข้อจำกัดอยู่ ผมไม่สามารถผ่าตัดพร้อมกัน 2 คนได้ แล้วหมอเดี๋ยวนี้ก็ไปฉีดกลูต้า หน้าเด้งหน้าใสกันหมด ไม่มีใครอยากเรียนผ่าตัดอีกแล้ว เพราะฉะนั้นทรัพยากรแพทย์มันจะลดลงไปเรื่อยๆ มันจะเกิดแรงกดดันให้คนต้องหาทางเลือกอื่น ซึ่งวิธีที่ประหยัดสุดก็คือ ดูแลสุขภาพตัวเอง
แต่พวกนโยบายอย่าง 30 บาทหรือประกันสุขภาพก็ยังอยู่ไม่ใช่เหรอ
ใช่! แต่มันจะเริ่มเข้าไม่ถึงมากขึ้น อย่างช่วงสึนามิ ผมไปเจอหมอคนหนึ่งเป็นที่ปรึกษารัฐมนตรีต่างประเทศของสวีเดน เขาเล่าให้ผมฟังว่า เขาไปเล่นฟุตบอลแล้วกล้ามเนื้อเอ็นขาด ก็เลยไปโรงพยาบาล แล้วให้รอนัดเพื่อไปผ่าตัด ผ่านไป 1 ปีครึ่ง ถึงได้โทรศัพท์จากโรงพยาบาล ถามว่าได้คิวแล้วเหรอ เปล่า! โทร.มาเช็คว่ายังอยู่หรือเปล่า คนเป็นหมอ เป็นที่ปรึกษารัฐมนตรี แถมสวีเดนเป็นรัฐสวัสดิการ รักษาฟรีเหมือน 30 บาทเลย แต่คุณต้องรอไปสิ
แบบนี้อีก 10 ปีข้างหน้า คุณหมอมองระบบสาธารณสุขไทยจะเป็นอย่างไร
เราจะเจริญขึ้นแน่ แต่คนเข้าถึงได้น้อยลง เป็นธรรมชาติ เพราะเราสร้างระบบการแพทย์แบบเป็นยอดแหลม เพราะฉะนั้นมิติป้องกันจึงต้องเริ่มได้แล้ว ซึ่งสิ่งที่ผมอยากให้เกิดขึ้น ก็คือประชาชนต้องมีความเข้าใจที่เป็นวิทยาศาสตร์ อย่างกินข้าวกล้องแล้วไม่เป็นเหน็บชาก็ต้องบอกได้ว่ากี่เท่าไหร่กี่คำ
เอาง่ายๆ มีงานวิจัยชิ้นหนึ่งออกมาว่า บอกว่าคนที่เดินวันละ 10,000 ก้าว โอกาสที่จะเป็นเบาหวานน้อยกว่าคนที่เดินวันละ 2,000 ก้าวถึง 3 เท่า ซึ่งแบบนี้เราไม่ต้องไปออกกำลังกายที่ไหนเลย แค่อยู่ในที่ทำงานเดินซอกแซกๆ ไป เราจะเดินประมาณ 1,000 ก้าว เพราะฉะนั้นถ้าที่ทำงานเราอยู่ตรงนี้ บีทีเอสอยู่ตรงนั้น เดิมเราอาจจะขึ้นมอเตอร์ไซค์รับจ้าง แต่ตอนนี้เปลี่ยนไปเดินเท้าแทน แค่นี่คุณก็อาจจะลดปัญหาได้ แต่สิ่งสำคัญคือ เราต้องมีข้อมูลแบบนี้ก่อน ซึ่งถ้าเราสามารถเชื่อมโยงความรู้ทางการแพทย์กับชีวิตประจำวันได้ ผมก็เชื่อว่า พฤติกรรมเปลี่ยนแปลงได้ถ้าคุณมีความชัดเจนพอ
>>>>>>>>>>>
………..
เรื่อง : สุทธิโชค จรรยาอังกูร
ภาพ : อดิศร ฉาบสูงเนิน