xs
xsm
sm
md
lg

ศิลปะบันเทิง : ประกิตศิลป์ วรมิศร์ ศิลปินใจกว้างที่ไม่จำกัดตนไว้ในกรงของรูปแบบ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ในโลกของศิลปะ การที่ศิลปินคนใดคนหนึ่งจะประสบความสำเร็จได้นั้น มักจะต้องประกอบด้วยปัจจัยหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของทักษะฝีมือในการสร้างสรรค์ผลงาน, แนวคิดที่ต้องการนำเสนอ, โอกาสในการจัดแสดงผลงานรวมไปถึงเรื่องของ ‘ลายเซ็น’ ซึ่งหมายถึง ‘รูปแบบ’ และลักษณะเฉพาะตัวในผลงานที่ศิลปินแต่ละคนย่อมมีแตกแตกต่างกัน

โดยเฉพาะเรื่องของลายเซ็นหรือรูปแบบสไตล์การทำงานนั้น ว่ากันว่ามันเป็นเรื่องสำคัญที่สุด เพราะมันสามารถบ่งบอกถึงความเป็นเอกลักษณ์และสำแดงอัตตาของศิลปินคนนั้นผ่าน ผลงานออกมาได้ ดังนั้น ศิลปินหลายๆ คนจึงพยายามที่จะสร้างสรรค์ผลงานผ่านรูปแบบที่เป็นเอกลักษณ์ของตน มีผลงานแต่ละชุดที่เต็มเปี่ยมไปด้วยเอกภาพ และเมื่อเอางานทั้งชีวิตที่เขาทำมาพินิจพิจารณา ก็จะเห็นความเชื่อมโยงบางอย่างระหว่างผลงาน

แต่กระนั้นมันก็ไม่ใช่เรื่องที่ตายตัวเสมอไป เพราะกับศิลปินบางคน รูปแบบในการทำงานมันก็ไม่ได้สำคัญเท่ากับตัวงานศิลปะที่ผลิตออกมา


[1]
 


ประกิตศิลป์ วรมิศร์ ก็เป็นศิลปินอีกคนที่ทำงานศิลปะมาอย่างต่อเนื่องตลอดระยะเวลา 30 ปี นับตั้งแต่ได้เริ่มต้นรู้จักและร่ำเรียนมาทางศิลปะ จวบจนได้ผันตัวจากผู้เรียนมาเป็นผู้สอนผู้ถ่ายทอดในทุกวันนี้

และเมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ประกิตศิลป์ ก็ได้มีโอกาสนำผลงานที่เขาทำมาตลอด 30 ปี มาจัดแสดงที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป์เจ้าฟ้า ในลักษณะของงาน Retrospective (การแสดงผลงานย้อนหลัง) ซึ่งถ้าหากใครได้มีโอกาสเข้าไปชมผลงานก็จะพบว่างานของศิลปินคนนี้ช่างเต็มไป ด้วยความหลากหลายทั้งในด้านรูปแบบ เนื้อหาหรือแม้กระทั่งด้านเทคนิค จนบางครั้งก็ยากจะเชื่อว่าผลงานเหล่านี้เป็นผลผลิตที่ออกมาจากศิลปินเพียงคน เดียว

เพราะลักษณะงานที่จัดแสดง มีตั้งแต่งานไทยประเพณีที่ใช้เทคนิคแบบเก่า งานศิลปะไทยประยุกต์ งานในแนวทางพื้นบ้านล้านนา ไล่เรียงไปถึงงานสีอะคริลิกที่เขียนในแบบศิลปะสมัยใหม่ (ซึ่งในความสมัยใหม่เหล่านั้น ก็มีความหลากหลายในแนวทางแยกย่อยลงไปอีก)

“คือตอนแรกเลยนี่ผมเรียนมาทางศิลปะไทยก่อน ก็ที่มหาวิทยาลัยศิลปากรนั่นแหละ ก่อนหน้านั้นผมก็เรียนที่ช่างศิลป์ ซึมซับการดูงานศิลปะมาตลอด เพราะว่าเราอยู่ใกล้พิพิธภัณฑ์ ว่างๆ เราก็ไปเดินดู มันก็ค่อยๆ ซึมซับไป เราไม่ได้ตั้งใจหรอก ต่อมาก็เข้าศิลปากรเป็นรุ่นที่เขายังไม่เรียนศิลปะกัน ทีนี้สาขาศิลปะไทยก็เพิ่งจะเริ่มเปิดใหม่ๆ ไม่รู้ว่ารุ่นที่ 3 หรือว่าเท่าไหร่ แต่ว่ารุ่นแรกก็คือ เฉลิมชัย (โฆษิตพิพัฒน์) ก็เป็นเพื่อนกันนั่นแหละ แต่เราเรียนนานไปหน่อย รักศิลปากร ก็เลยเรียนนานไปหน่อย 8 ปี”

ประกิตศิลป์เล่าถึงความเป็นมาในการเริ่มต้นชีวิตศิลปินของเขาให้ฟัง ซึ่งผลงานที่นับว่าเป็นผลงานชุดแรกๆ ของเขาก็คืองานที่ทำก่อนเรียนจบนั่นเอง

“ในงานก่อนจบการศึกษา ผมใช้เทคนิควิธีการแบบอดีต แต่ว่าเนื้อเรื่องเอาของเหตุการณ์ปัจจุบันมาทำ มันก็เลยได้งานชุด ‘บางกอกไดอารี่’ ซึ่งก็ได้รับผลตอบรับที่ดี ต้นนั้นใช้เทคนิคแบบเดิมแต่ประยุกต์เอาวัสดุสมัยใหม่เข้าไปใช้ คือแทนที่จะเป็นกาวมะขามเปียก ผมก็ใช้กาวลาแทกซ์แทน มันก็อยู่มาได้เป็นสิบๆ ปีนะ”

ต่อมาประกิตศิลป์ก็ได้ย้ายมาทำงานเป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัย เทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ภาคพายัพ เชียงใหม่ และนั่นก็ทำให้เขาได้เข้ามาซึมซับบรรยากาศแบบล้านนา และสุดท้ายมันก็สะท้อนออกมาในงานของเขา

“ผมมีความเชื่อเฉพาะนะ ว่าสิ่งแวดล้อมต่างๆ ที่อยู่รอบๆ ตัวนั้น เราเอามาสร้างเป็นศิลปะได้หมด เมื่ออยู่ทางเหนือก็จะทำงานเกี่ยวกับบรรยากาศของที่นี่”

การทำงานใน รูปแบบที่เป็นงานศิลปะล้านนาของประกิตศิลป์ก็ได้ดำเนินไปเรื่อยๆ แต่กระนั้นเขาก็ไม่ยอมจำกัดตัวเองไว้ในกรอบใดๆ ระหว่างนั้น เขาก็ทำงานในแบบศิลปะสมัยใหม่ไปด้วย จวบจนวันหนึ่งเขาได้มีโอกาสไปแสดงผลงานที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส และได้ใช้เวลาอยู่ที่นั่นเป็นระยะสั้นๆ แต่กระนั้นมันก็มากเกินพอที่จะทำให้เขาซึมซับรสชาติของงานศิลปะตะวันตกเข้า มาในชีวิต และนั่นเองก็ส่งผลให้งานยุคหลังๆ ของเขาเปลี่ยนแปลงและหลากหลายมากขึ้น

ทั้งหมดทั้งมวล ส่งผลให้การกำหนดนิยามให้งานประกิตศิลป์ว่าเป็นงานแนวไหนนั้น เป็นเรื่องยาก เพราะศิลปินคนนี้ไม่ได้จำกัดตัวเองไว้ในกรอบใด และเขาก็พร้อมเสมอที่จะซึมซับเอาสภาพแวดล้อมรอบๆ ตัวมาสร้างเป็นผลงาน



[2]

 
“ถ้า ถามถึงแนวผลงานที่ชอบมากที่สุด มันไม่มีนะ อย่างถ้าเราเขียนเสร็จปุ๊บ เราก็จะชื่นชมกับมันซักประเดี๋ยว แล้วเราก็ต้องลงมือทำงานต่อ คงเป็นเพราะนิสัยเรา เราไม่ได้ชอบอะไรที่สุด แต่เราชอบทำงานมากกว่า ชอบต่อไป ชอบผจญภัยที่จะเห็นรูปต่อๆ ไป”

ผลงานที่หลากหลายของประกิต ศิลป์นั้น เป็นเครื่องยืนยันได้ว่าเขารักที่จะผจญภัยในการสร้างงานจริงๆ และมันก็แสดงให้เห็นถึงความใจกว้างของเขา ที่ไม่ได้กินความแค่ความกว้างในด้านเทคนิควิธี หากแต่หมายถึงการเปิดกว้างทางความคิดด้วย

“ตอนแรกผมทำงานเป็นเทคนิคแบบโบราณ เทคนิคแบบไทยเรา แต่ตอนนี้เราจะต้องคิดว่าทำอย่างไรให้ศิลปะมันเป็นของโลก แต่กระนั้นก็ยังต้องมีความเป็นของเราอยู่นะ มีความเป็นเชื้อชาติ ซึ่งดูได้จากเนื้อหาข้างใน อย่างตอนนี้ผมสนใจสีอะคริลิกซึ่งเป็นเทคนิคเป็นของฝรั่ง แต่ยืนยันได้ว่ามีความเป็นไทยที่อยู่ในภาพเต็มร้อยแน่นอน คือจริงๆ แล้วงานศิลปะนั้น จะเป็นงานที่ว่าพูดเรื่องอะไรก็ตาม แต่สุดท้ายมันจะวนหาสิ่งที่เป็นจริง เราจะเรียกมันว่า พุทธ เรียกมันว่า สัจจะ หรือเรียกมันว่าอะไรก็ตามมันก็คือสิ่งเดียวกัน

“ถ้าจะให้ บอกว่าทุกวันนี้ผมทำงานแนวไหนอยู่ อันนี้คงบอกไม่ถูก เพราะว่าเราก็ทำงานจากอะไรก็ตามที่มันมาปะทะเรา และสิ่งแวดล้อมที่เราอยู่ ไม่ว่าจะเป็นสังคม ทุกอย่าง มันมาตรงหน้าเราเราก็ทำ อะไรที่มาเพาะบ่มเรา เราก็ทำ หลายหลาก แต่ว่าทั้งหมดนั้นมันเป็นเรื่องของความงาม”

ซึ่งในเรื่องของความงามนั้นประกิตศิลป์เน้นย้ำอยู่เสมอว่ามันจะต้องมีอยู่ในผล งานศิลปะ เพราะว่ามันเป็นจุดที่จะเข้าไปข้างในใจคนได้เหมือนเป็นประตูผ่าน และเป็นสัมผัสแรกที่คนเห็น

“เริ่มต้นที่ความงาม แล้วก็นำพาไปสู่สิ่งอื่น เพราะว่างานศิลปะที่เป็นทัศนศิลป์ มันก็ต้องเห็นด้วยตา เหมือนเราไปดูภาพยนตร์ ดูหนัง ไม่ว่าจะเป็นหนังเรื่องอะไร เทคนิคการถ่ายทำก็ต้องดีก่อน ต้องสวย”

ทุกวันนี้ ประกิตศิลป์ก็ยังคงใช้ชีวิตศิลปินควบคู่กับการเป็นอาจารย์สอนศิลปะ ซึ่งนั่นทำให้เขามั่นใจได้ว่า เขาจะสร้างผลงานได้ต่อไปเรื่อยๆ โดยที่ไม่ต้องดิ้นรนในเรื่องการขายผลงาน หรือสร้างรายได้จากงานศิลปะของตน

“พอดีมีอาชีพอาจารย์เลี้ยงตัวอยู่ครับ ไม่ได้แคร์ว่าจะขายได้หรือไม่ได้ คือถ้าเริ่มคิดแล้วว่าเขียนยังไงคนถึงจะซื้อมันก็เลยจบเลย แต่ผมไม่ได้ติดตรงนี้ไง แล้วเรารู้ตัวว่าเราอายุมากแล้วไง แล้วเรามีเวลาน้อย เพราะว่าอาจารย์ศิลป์บอกว่า ‘ศิลปะยืนยาว ชีวิตสั้น’ ก็เรื่องจริง ตอนนี้ชีวิตเราเหลือน้อย 58 แล้ว ต้องรีบทำ ทิ้งงานไว้ในโลก เป็นมรดกของประเทศ เป็นมรดกของโลกต่อไป”

 
>>>>>>>>>>>
.........

เรื่อง : เอกชาติ ใจเพชร
ภาพ : อดิศร ฉาบสูงเนิน






กำลังโหลดความคิดเห็น