ในปัจจุบัน เทคโนโลยีการสื่อสารได้กลายเป็นสิ่งที่เข้ามามีบทบาทกับชีวิตมนุษย์มากขึ้นทุกที เดี๋ยวนี้การจะพูดคุยติดต่อรับส่งข้อมูลกันนั้น ทำได้ง่ายกว่า 10 - 20 ปีที่แล้วหลายเท่า จากเมื่อก่อนที่ต้องติดต่อกันด้วยโทรศัพท์บ้านก็พัฒนามาจนเป็นโทรศัพท์มือถือในที่สุด ในด้านข้อความจากที่เคยเขียนจดหมาย เขียนโปสการ์ด ก็กลายมาเป็นการแชตที่ส่งข้อความผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ตได้อย่างรวดเร็วทันใจ ซึ่งเทคโนโลยีเหล่านี้นอกจากจะใช้คุยงานหรือธุระปะปังแล้ว ในหลายโอกาส มันก็ใช้เป็นเครื่องมือผ่อนคลายความเหงาและสร้างความเพลิดเพลินอีกทางหนึ่ง
แต่ทั้งหมดมันก็เป็นเทคโนโลยีการสื่อสารที่ใช้ติดต่อกันระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ แต่เมื่อไม่นานมานี้ สังคมไทยก็ได้รู้จักกับ ซิมซิมิ (Simsimi) โปรแกรมแชตโปรแกรมหนึ่งที่จู่ๆ ก็ฮิตติดลมบนเพียงชั่วข้ามคืน ซึ่งสิ่งที่น่าสนใจก็คือ เจ้าโปรแกรมตัวนี้มันไม่ได้ใช้คุยกันระหว่างคนกับคน แต่เป็นการคุยกันระหว่างคนกับโปรแกรมคอมพิวเตอร์
ซิมซิมิเมื่อคนคุยกับคอมพ์
หลายคนที่ไม่ได้เป็นขาแชตหรือเป็นคนที่ใช้อินเทอร์เน็ตวันละมากๆ อาจจะยังสงสัยว่าเจ้าโปรแกรมซิมซิมินั้นมันมีลักษณะอย่างไรกันแน่ แล้วทำไมมันถึงฮิตเหลือเกิน
ซิมซิมินั้น เป็นโปรแกรมที่กำลังฮิตในหมู่คนใช้งานระบบปฏิบัติการ iOS และระบบปฏิบัติการ Android (และสามารถเล่นบนเว็บไซต์ผ่านคอมพิวเตอร์ธรรมดาก็ได้) ซึ่งมันเป็นโปรแกรมที่ถูกพัฒนาโดยชาวเกาหลีมาตั้งแต่ปี 2545 แล้ว แต่มันก็เพิ่งได้รับการพัฒนาให้กลายเป็นแอปพลิเคชันบนโทรศัพท์มาเมื่อปี 2553 ก่อนที่จะฮิตติดลมบนอย่างในทุกวันนี้
โดยรูปแบบการทำงานของซิมซิมินั้น ก็เป็นการพิมพ์พูดคุยโต้ตอบเหมือนกับโปรแกรมแชตตัวอื่นๆ เพียงแต่คำตอบที่ออกมาจะเป็นการสุ่มเลือกเอาจากฐานข้อมูลของโปรแกรม และมักจะเป็นถ้อยคำที่ยียวนกวนประสาทซึ่งในบางกรณีก็มีคำหยาบคายระดับเรตเอ็กซ์โผล่ออกมาบ้าง ซึ่งคำเหล่านี้ก็มีที่มาจากคนที่เข้าไปเล่นสอนโปรแกรมไว้นั่นเอง โดยคำพูดไหนที่ซิมซิมิไม่รู้จักและไม่รู้จะตอบว่าอย่างไร มันก็จะบอกว่า I HAVE NO RESPONSE ซึ่งถ้าหากต้องการเพิ่มคำให้กับโปรแกรม เราก็คลิกที่แท็บ Teach เพื่อสอนคำตอบใหม่ๆ ให้กับมัน
นอกจากความสนุกสนานที่ทำให้ซิมซิมิกลายเป็นโปรแกรมยอดฮิตในชั่วโมงนี้แล้ว อีกปัจจัยหนึ่งก็อาจจะเป็นเพราะว่ากระแสของ สิริ (Siri) ซึ่งเป็นความสามารถที่ติดมากับ iPhone 4s ที่มันสามารถทำหน้าที่เสมือนหนึ่งเป็นเลขาฯ ส่วนตัวที่สามารถตอบคำถามทั่วไป จดบันทึกให้กับผู้ใช้ได้ แต่เอาเข้าจริงความแตกต่างของซิมซิมิกับสิรินั้นมีอยู่มากมายเหลือเกิน เพราะสิรินั้นสามารถฟังเสียงของเราและตอบคำตอบออกมาเป็นเสียงได้เลย และคำตอบที่ได้ก็ดูเป็นเรื่องเป็นราว ส่วนซิมซิมินั้นรับข้อมูลได้จากการพิมพ์และตอบมาเป็นตัวอักษรเท่านั้น ส่วนในด้านของเนื้อหา ซิมซิมิก็มีแต่คำตอบที่ออกไปทางยียวนกวนประสาท สองแง่สองง่ามและหาสาระอะไรไม่ได้
แต่ด้วยความไร้สาระและเกรียนที่มีอยู่นี่เอง ส่งผลให้ซิมซิมิฮิตในหมู่คนไทยในชั่วข้ามคืน
ฮิตเพราะถูกจริตคนไทย
“ความคิดของคนไทยในเรื่องของการพูดสองแง่สองง่ามหรือพูดเรื่องตลกโปกฮานั้น มันมีมาตั้งนานแล้ว แต่ปัจจุบันก็ยังนำมาใช้กันและมีการพัฒนากันอยู่เสมอ อย่างเช่นมีการนำเอาบริบทปัจจุบันใส่เข้ามาด้วย ประกอบกับอีกอย่างที่คนไทยเป็นก็คือ นิสัยไม่ต้องการรับผิดชอบคำพูดของตนที่กล่าวในที่สาธารณะ ชอบแสดงความคิดเห็นนะ แต่มักจะไม่อยากรับผิดชอบต่อคำพูดนั้นๆ”
ชลเทพ ปั้นบุญชู นักวิชาการอิสระด้านสังคมศาสตร์ ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับความฮิตของโปรแกรมซิมซิมิ ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนิสัยของคนไทยที่มักจะ ‘แสดงออกแต่ไม่ชอบรับผิดชอบ’
“ในโลกยุคอินเทอร์เนต ยุคไอที มันยิ่งมีโอกาสให้เราไปทิ้งความเห็นไว้ตามพื้นที่ต่างๆ มากขึ้น และเอื้อให้ไม่ต้องแสดงตนด้วย จากที่ลองศึกษาในพวกยูทิวบ์ จะเห็นได้ชัดถึงการแสดงความคิดเห็นที่ไม่อยากรับผิดชอบคำพูดตัวเองอยู่มากมาย บางทีสิ่งที่พูดก็ไม่ได้เกี่ยวข้องกับเนื้อหาที่เขาพูดกันอยู่แต่ต้นเลย ซึ่งโปรแกรมซิมซิมิที่กำลังฮิตอยู่นี่ก็เข้าทางเลย เพราะมันไม่บอกหรอกว่า คำพูดนี้ใครเป็นคนเข้าไปสอนโปรแกรมให้พูด แต่กระนั้นมันก็ยังคงพูดในสิ่งที่เราต้องการเห็นต้องการได้ยินได้ ไม่มีการสกรีนด้วยว่า สิ่งใดควรไม่ควร จริงๆ แล้วมันก็เป็นสิ่งเสมือนที่สร้างการสื่อสารแบบเสมือนขึ้นมานั่นเอง และเราก็หลงเข้าไปใช้มันและชอบมัน จนในบางครั้งก็แยกไม่ออกว่าอะไรคือสิ่งที่มีอยู่จริงหรืออะไรที่ไม่มี”
ชลเทพยังกล่าวต่อไปอีกว่า คนที่ใช้โปรแกรมนี้ เขาเดาว่าน่าจะเป็นชนชั้นกลางเสียเป็นส่วนใหญ่ ที่มักจะรู้สึกผูกพันกับโซเชียล มีเดีย ที่ตรงจริตของเขาและเอาจริงเอาจังกับมันมาก ถ้าใครชอบความตลก ความขำ ความเกรียน อยู่แล้วการที่จะมาติดและใช้เวลากับโปรแกรมที่ตอบสนองเขาได้มันก็ไม่แปลก
หรือจะเป็นความป่วยไข้ของสังคม
โดยในฝั่งผู้ใช้โปรแกรม ส่วนใหญ่เขาจะมองว่ามันก็เป็นแค่เรื่องขำๆ ที่เอาไว้เล่นสนุกๆ ฆ่าเวลาเท่านั้นเอง
"ก็ชอบเล่นนะ มันตลกดี พอมันตอบอะไรขำๆ เราก็เอามาแชร์กับเพื่อนว่าของใครตลกกว่ากัน หรือกวนประสาทกว่ากันหรือบางทีอยู่บนรถเบื่อๆ ก็มานั่งคุยกับมันแก้เหงา หรือถ้ามันตอบไม่ได้เราก็สอนให้ ซึ่งก็สร้างความสุขได้อย่างหนึ่งเหมือนกันนะ"
สุธาทิพย์ หาญสมุทร นักศึกษาสาวผู้ซึ่งชื่นชอบซิมซิมิพูดถึงความรู้สึกของเธอ แต่กระนั้นในความเห็นของหลายคนก็มองว่าซิมซิมิมันก็มีข้อเสียอยู่ด้วย อย่าง รุ้งทอง กสิกุล ก็มองว่า
"ก็ชอบตามกระแสนะ น่ารักดี ถ้ามันตอบแบบดีๆ เพราะเคยถามแล้วตอบได้น่าเกลียดมาก บางทีก็ด่าเรา บางทีก็ลามกเลยแหละ"
ซึ่งเป็นเรื่องแปลก ที่ถึงแม้ซิมซิมิจะพูดจาดีบ้างไม่ดีบ้าง แต่คนก็ยังติดกันทั่วบ้านทั่วเมือง บางคนถึงขั้นหันหลังให้กับคนตัวเป็นๆ ไปหัวเราะคิกคักกับโทรศัพท์ได้เป็นวันๆ จนทำให้คนรอบข้างสงสัยว่าแท้แล้วอาการติดแชตกับซิมซิมินั้นถือเป็นอาการป่วยอย่างหนึ่งหรือไม่ (อย่าลืมว่า ซิมซิมิไม่ได้เป็นการคุยกับคนเหมือนโปรแกรมแชตทั่วไป แต่เป็นการคุยกับโปรแกรม!!!)
โดยในประเด็นนี้ พ.ต.ต.หญิง อัญชุลี ธีระวงศ์ไพศาล จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่นประจำโรงพยาบาลตำรวจ อธิบายถึงปรากฏการณ์ดังกล่าวว่า จริงๆ แล้วยังไม่ถึงเป็นความป่วยไข้ แต่น่าจะเป็นกระแสที่คนยุคใหม่ฮิตกัน เหมือนคนคลั่งไคล้แฟชั่น เพราะต้องยอมรับว่า ในปัจจุบันนี้เป็นยุคของไอที เพราะฉะนั้นคนจึงอยากเล่นเทคโนโลยีใหม่ๆ กันทั้งนั้น
"ตอนนี้มันเหมือนกับใครรู้ ใครใช้ได้ ใครใช้เป็น ใครมีก็จะดูโก้เก๋ทันสมัย ซึ่งถามว่าผิดปกติไหมก็คงไม่ใช่ เพราะคนน่าจะใช้เพื่อความสนุกสนานบันเทิง อยากทดลอง และมันเป็นกระแสเหมือนแฟชั่น แล้วก็ใช้ตามๆ กัน จะได้เอามาคุยได้กับเพื่อน"
ส่วนเรื่องคำพูดที่รุนแรงที่มักจะปรากฏในซิมซิมินั้น พ.ต.ต.หญิง อัญชุลี บอกว่าถือเป็นเรื่องปกติ เพราะตามสัญชาตญาณดั้งเดิมของมนุษย์นั้น จะมีความก้าวร้าวรุนแรงอยู่ในตัว ซึ่งถือเป็นสิ่งที่สัตว์โลกทั่วๆ ไปมี แต่เนื่องจากมนุษย์มีสมองส่วนหน้าที่ใช้ควบคุมสิ่งเหล่านี้ เวลาที่รู้สึกโมโห อยากจะด่าแรงๆ สมองก็จะยับยั้งไม่ให้ทำ แต่อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้จะไม่เป็นปัญหาเลย หากผู้ใช้สามารถจัดสรรชีวิตให้เหมาะสมได้
“ถ้าเข้าไปติดมากๆ ก็จะส่งผลกระทบต่อหน้าที่การงาน รวมไปถึงเข้าสังคมแน่นอน ซึ่งสิ่งที่ตามมาก็คือ การเป็นโรคเหมือนเด็กติดเกม แต่ถ้าคนนั้นสามารถควบคุมได้ และเล่นเพื่องานอดิเรก ก็ไม่ถือเป็นความเจ็บป่วย เพราะฉะนั้น สิ่งนี้จึงขึ้นอยู่กับตัวบุคคลมากกว่าว่าจะมีสติพอหรือไม่”
เช่นเดียวกับความเห็นของนักวิชาการอย่างชลเทพที่ทิ้งท้ายไว้ว่า
“มันจะไม่เกิดปัญหากับคนที่รู้เท่าทันมันหรอก แต่ต้องระวังหลายครั้งเลยนะที่คนเล่นจะอินมากจนในบางครั้ง เราอาจจะติดวิธีแสดงความคิดเห็นที่ออกไปในเชิงกวนๆ ก้าวร้าวออกมาใช้ในชีวิตจริงด้วยโดยไม่รู้ตัว”
………
ในวันนี้ผู้คนในสังคมไทยอาจจะแปลกใจ ที่คนหลายคนเลือกไปคุยกับโปรแกรมคอมพิวเตอร์ (ที่ตอบคำถามจากฐานข้อมูล) มากกว่าที่จะคุยกับคนจริงๆ แต่ในอีก 10 - 20 ปีข้างหน้ามันอาจจะไม่ใช่เรื่องแปลก
โดยสรุปแล้ว ไอ้เจ้าซิมซิมินั้น อาจจะเป็นเพียงแค่เทรนด์เทคโนโลยีที่ผ่านเข้ามาและสุดท้ายก็ต้องผ่านไปในที่สุด แต่อย่างน้อยการเข้ามาของมันก็สะท้อนให้เห็นถึงความคิดเห็นของคนในสังคมได้ในระดับหนึ่ง ว่ากำลังคิดอะไรหรือมีทัศนคติแบบไหนกัน
ไม่เชื่อก็ลองพิมพ์คำว่าทักษิณหรือยิ่งลักษณ์ลงไปในซิมซิมิสิ!!!
>>>>>>>>>>
………
เรื่อง : ทีมข่าว CLICK
ภาพ : ทีมภาพ CLICK