xs
xsm
sm
md
lg

ไทยแลนด์ โอนลี่ ‘แท็กซี่ไทย’ คุณภาพกับปริมาณที่สวนทางกัน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


สร้างความตื่นตระหนกตกใจให้แก่ชาวกรุงจริงๆ ทันทีที่มีข่าวออกมาว่า รถแท็กซี่เตรียมจะขอปรับราคาค่าโดยสารขั้นต้น จากเดิมราคา 35 บาทเป็น 50บาท หลังจากที่เคยมีการปรับอัตรากันมาครั้งหนึ่งเมื่อเดือนกรกฎาคม 2551 ซึ่งสาเหตุก็ไม่มีอะไรมาก นอกจากตอบสนองโครงการรัฐบาลที่เตรียมจะทำการลอยตัวแก๊สแอลพีจีและเอ็นจีวี ซึ่งงานนี้ก็ดูเหมือนว่า พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ก็จะรีบออกมารับเรื่องทันที ก่อนจะส่งที่ปรึกษารัฐมนตรีมาสำทับอีกต่างหากว่า รถแท็กซี่นั้นมีรายได้น้อย แถมยังมีจำนวนพุ่งทะยานจากเดิม 35,000 คันเป็น 70,000 คันภายในเวลาไม่กี่ปี

เจอมุกนี้เข้าไป ก็ทำเอาหลายคนอดมึนตึ๊บไม่ได้ว่า งานนี้มันสมเหตุสมผลหรือไม่ เพราะถ้าพูดเฉพาะปัญหาเชิงกายภาพของรถแท็กซี่แล้ว รับรองว่ามีเรื่องให้พูดคุยกันข้ามวัน เพราะไหนจะเรื่องบริการ การเลือกรับลูกค้า คนไหนไปไกลๆ ก็ไม่ไป แถมบางครั้งความปลอดภัยก็ยังเสี่ยงสูง จนถึงขั้นที่บางคนขึ้นรถก็รีบโทรศัพท์ไปบอกทะเบียนรถให้คนใกล้ชิดจดกันทันใด

เมื่อสถานการณ์เช่นนี้ ก็คงถึงเวลาที่จะต้องเป็นเอ็กซเรย์ภายในรถแท็กซี่หรือรถยนต์บริการสาธารณะที่หลายคนอดทนมานานหลาย 10 ปีว่า มีอะไรบ้าง และที่สำคัญสุดท้ายแล้วประเด็นนี้จะมีทางออกในทิศทางได้บ้าง

เรื่องน่าเอือมของ 'แท็กซี่ไทย'

แน่นอน จากจำนวนที่มากมายมหาศาลของแท็กซี่ในปัจจุบัน เพราะเพียงแค่อาศัยข้อมูลของกรมการขนส่งทางบก กระทรวงคมนาคม ณ วันที่ 30 พฤศจิกายน 2554 ก็พบแล้วว่า ปัจจุบันแท็กซี่ในไทยนั้นมีมากมายทะลักทะล้นสุดๆ นั่นคือมากกว่า 103,199 คน แบ่งเป็นกรุงเทพฯ ถึง101,751 คัน ขณะที่จำนวนผู้ขับขี่มีสูงกว่าถึง 4 เท่า นั่นคือ 439,815 คน

คำถามต่อมาก็คือ ทำไมจำนวนแท็กซี่และอัตราจำนวนผู้ขับขี่นั่นถึงมีสูงขนาดนั้น และด้วยจำนวนขนาดนี้การควบคุมจะเป็นไปได้หรือ คำตอบก็คือ ไม่แน่ๆ เพราะตามแนวทางที่ปฏิบัติมานมนานนั้น พบว่าการจะเป็นคนขับแท็กซี่นั่นไม่มีอะไรมาก นอกจากอายุเกิน 22 ปี มีใบอนุญาติขับขี่มาแล้วไม่ต่ำกว่า 1 ปี ประพฤติตามกฎจราจร และเข้าคอร์สอบรมก่อนได้ใบขับขี่สาธารณะสักหน่อย ง่ายๆ แค่นี้ก็เป็นอันเสร็จ

แถมเมื่อมองกันไปลึกๆ แล้ว จะพบว่าของแบบนี้การควบคุมแทบไม่เกิดขึ้นเลย แม้ปัจจุบันจะมีสหกรณ์แท็กซี่อยู่ 22 แห่ง บวกกับบริษัทแท็กซี่อีก 69 แห่ง แล้วยังมีตำรวจจราจรอีกมากมาย

เรื่องหนึ่งที่ทุกคนคงประจักษ์ชัดก็คือ เวลาขึ้นไปแท็กซี่แล้วเหลียวไปดูบัตรประจำตัว บางคนก็ไม่ตรงกับหน้าคนขับซะอย่างนั้น นอกจากนี้ยังมีปัญหาจิปาถะ ตั้งแต่การปฏิเสธรับผู้โดยสาร โดยเฉพาะคนที่อยู่ไกล โดยอ้างว่าต้องส่งรถ แก๊สจะหมด ระยะทางไกล-ใกล้เกินไป ฯลฯ ทั้งที่ตามกฎหมายไม่สามารถทำได้

ดังเช่นคำบ่นของผู้ที่มักโดยสารรถแท็กซี่ประจำวันอย่างนักศึกษาสาว รัชนีกร สุวรรณวงศ์ ที่บอกว่า แท็กซี่ทุกวันนี้เลือกลูกค้ามากจนแทบอารมณ์เสีย ว่าถ้าเป็นไปได้ ไม่อยากให้แท็กซี่เลือกลูกค้า แล้วก็อยากได้รถแบบใหม่ๆ คันใหญ่ๆ ให้คุณภาพเหาะสมกับเงินที่เสียไปด้วย

หรือแม้แต่ รวีวัฒน์ หมู่พยัคฆ์ วิศวกรหนุ่มที่บอกตรงๆ ว่าไม่เข้าใจว่าทำไมจำนวนแท็กซี่ที่เลือกรับผู้โดยสารถึงแม้มีมากมายเช่นนี้ โดยเฉพาะบริเวณชุมชนเมืองใหญ่ เช่น สยามฯ สีลม หมอชิต ก็ยิ่งเห็นได้ชัด

แถมบางคันผู้ขับก็ไร้มารยาท พูดจาไม่สุภาพ ที่เห็นหลายๆ ครั้ง คือเรื่องการเปิดวิทยุ จะดังหรือเบา ส่วนใหญ่จะแล้วแต่ผู้ขับเป็นหลัก รวมทั้งความพอดีของความเย็นจากแอร์ด้วยเช่นกัน หรือดีไม่ดีอารมณ์ไม่ดีมาก็พานมาลงกับผู้โดยสาร แถมบางคนก็ขับรถด้วยความเร็วสูง จนผู้โดยสารหายใจไม่ทั่วท้อง เห็นได้จากข่าวที่มีอยู่หราตามหน้าหนังสือพิมพ์ เช่น ‘แท็กซี่ซิ่งชนตึกแถว ไฟคลอกหนุ่มดับ’ ‘แท็กซี่ซิ่ง ทับสยองดาบตำรวจดับ’ จะเห็นได้ว่าหลายครั้งรถโดยสารสาธารณะชนิดนี้ กลายเป็นผู้ทำลายชีวิตผู้อื่นเสียเอง จากข้อมูลที่ได้มีการรวบรวมสรุปว่า เฉลี่ยเล้ว แท็กซี่ทั่วประเทศ ก่อให้เกิดอุบัติเหตุทางถนนปีละกว่า 6,000 ครั้งทีเดียว

แต่ที่รุนแรงสุดน่าจะเป็นเรื่องอาชญากรรมซึ่งต้องมีอยู่ในหลายกรณีตั้งแต่ กรณีเล็กๆ อย่างโกงค่าโดยสาร ด้วยการปรับมิเตอร์ ซึ่งผู้โดยสารบางครั้งจะไม่รู้เลยว่า ตัวเองได้ตกเป็นเหยื่อ แถมแท็กซี่บางคนยังกลายร่างเป็นโจร ตั้งปล้นทรัพย์ ขู่กรรโชก แถมบางคนยังก่อคดีข่มขืนอีกต่างหาก

เห็นได้ผลสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ในประเด็นที่ว่า ‘คนกรุงกับปัญหาการถูกคุกคามและล่วงละเมิดทางเพศ’ โดยสำรวจประชาชนทั่วไปที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไปในเขตกรุงเทพมหานคร จำนวน 1,137 คน บนรถประจำทาง รถโดยสาร รถตู้ ร้อยละ 31.0

เส้นทางที่ขับ (เคลื่อน) ไปสู่ทางออก

เมื่อเหตุการณ์เกี่ยวกับแท็กซี่ในความรู้สึกของผู้คนมันรุนแรงมากเหลือเกิน คำถามก็คือ สุดท้ายแล้วเรื่องนี้จะมีทางออกหรือไม่ แน่นอนจุดสำคัญที่สุดที่ต้องมานั่งคิดก่อนเลยก็คือ จะทำอย่างไรให้ระบบที่มีอยู่มีคุณภาพหรือจัดการได้ ซึ่งที่ผ่านมา ก็มีตัวอย่างหลายๆ ครั้ง ตั้งแต่คอร์สอบรมคุณภาพของสำนักงานกองทุนสนับสนุนส่งเสริมสุขภาพ (สสส.) หรือแม้แต่โครงการของกรมการขนส่งทางบกที่มีอยู่เป็นประจำทุกปี

แต่ก็นั่นก็ยังถือเป็นภาพเล็กอยู่ดี เพราะในมุมของ นพ.ธนพงศ์ จินวงษ์ ผู้จัดการศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยบนท้องถนน (ศวปถ.) อธิบายว่าหากจะแก้ไขเรื่องนี้ให้ลุล่วงต้องทำให้ระบบและวางกติกาใหม่ ปัญหาใหญ่ที่ระบบใหญ่และเรื่องกติกาใหม่ทั้งหมด

อย่างแรกคือการเปิดเสรีทำให้จำนวนรถมีมากและประการที่สอง มองในมุมความปลอดภัย ซึ่งตัวกติกาไม่ได้มีตัวสนับสนุนให้ผู้ประกอบการลงทุนเรื่องความปลอดภัยเท่าที่ควร ทั้งการลงทุนกับคนขับ และรถกับอุปกรณ์ของรถ เช่น รถใหม่ มีอุปกรณ์ความปลอดภัย

“เข้มขัดนิรภัยหน้า-หลัง ปัจจุบันมีก็ไม่ได้ใช้ บางคันก็ไม่มี ระบบพื้นที่ฐานปกติ จีพีเอส ตัวกำกับเส้นทางหรือความเร็ว เพราะเป็นอุปกรณ์พื้นฐานที่ทำให้สามารถติดตาม และจำกัดความเร็วของรถ แต่สิ่งที่สำคัญมากอีกอย่าง คือ ลงทุนกับโชเฟอร์ ปัจจุบันยังไม่เอื้อให้ผู้ประกอบการลงทุน กับโชเฟอร์ที่เป็นมืออาชีพ”

เช่นเดียวกับเรื่องใบอนุญาต ที่ต้องปฏิรูปใหม่หมด เพราะที่ผ่านมาหน่วยงานรัฐต้องการเร่งใบอนุญาตขับขี่ เป็นการออกให้ก่อน เช็กทีหลัง ในทางปฏิบัติ ไม่ควรสร้างมาตรฐานตรงนี้ขึ้นมา แต่ควรสร้างคุณภาพมากกว่า กำลังการบริการ ซึ่งการขึ้นราคาขั้นต้นนั้นไม่ใช่เรื่องที่ควรแก้ เพราะเท่าที่ผ่านมาปัญหาการเติมแก๊สที่ล่าช้าจากการสำรวจจากคนขับแท็กซี่บอกว่าโดยเฉลี่ยการเติมแก๊สแต่ละครั้ง กินเวลากว่า 40 นาทีเป็นการเสียเวลาไปโดยเปล่าประโยชน์ ทางออกที่ดีจึงควรมีปริมาณปั๊มที่มากขึ้น ซึ่งเรื่องนี้จะต้องศึกษาให้ลึกซึ้งลงไปอีก

“คนขับแท็กซี่ ต้องมีใบอนุญาตขับรถสาธารณะ ซึ่งทุกวันนี้เรามีคนขับแท็กซี่ที่ไม่มีใบอนุญาตนี้เต็มไปหมดรถแท็กซี่ ใบนี้ศักดิ์สิทธิ์กว่าใบอนุญาตส่วนบุคคลตรงที่มันจะถูกตรวจสอบเข้มเรื่องความรู้ เรื่องทักษะ ที่สำคัญจะสามารถตรวจสอบคดีอาชญากรรม ว่าคนๆ นี้เคยทำความผิดในกรณีต่างหรือไม่ หากละเลยก็จะเป็นเหมือนข่าว ที่แท็กซี่ไปข่มขืนผู้โดยสารมาแล้วตั้งหลายครั้ง มันไม่ใช่แค่ความรู้ ทักษะของคนขับเท่านั้น แต่ต้องปลอดภัยไปถึงผู้โดยสารด้วย คือไม่มีคดีติดตัวมาก่อน”

ตั้งต้นมิเตอร์ 50 บาท กระทบอย่างไร?

จากการสอบถามไปยังคนที่รับผลกระทบโดยตรงที่สุดอย่างคนขับแท็กซี่ บุญช่วย พุทธา โชว์เฟอร์แท็กซี่ที่ทำอาชีพนี้มากว่า 10 ปี มองว่า หากขึ้นค่าโดยสารเป็นที่แน่นอนว่าจำนวนผู้โดยสารจะลดลง

“มันไม่น่าขึ้น กลัวว่าลูกค้าจะน้อยลง อัตราที่เป็นอยู่ก็ถือว่าดีแล้ว รายได้อยู่ที่วัน 400-500บาท แต่พอมาขึ้นก็คิดว่า ลูกค้าอาจจะลดลงเพราะกลุ่มลูกค้าชั้นกลางกับชั้นล่างอาจจะหายเยอะ เพราะขึ้นทีเดียวจาก 35 บาทเป็น 50บาท มันเยอะเกินไป เกือบครึ่งหนึ่ง ในส่วนของผู้ให้บริการอาจจะมีรายได้น้อยลงจากผู้ใช้บริการที่น้อยลง ด้านของผู้บริโภคมันก็ผลักภาระไปที่เขาด้วย”

บุญช่วย แสดงความเห็นเพิ่มเติมว่า หากมีการขึ้นราคาค่าแก๊สจริงๆ ค่าโดยสารก็จำเป็นต้องขึ้นตามเพราะเป็นค่าใช้จ่ายเพิ่มที่จำเป็น

“อยากให้รัฐบาลมาดูแลจัดการเรื่องของสวัสดิการให้หน่อย ตอนนี้ที่เป็นอยู่คือคนอยากขับแท็กซี่ก็มาขับได้เลย อยากเลิกก็เลิก คืออยากให้มีการลงทะเบียน”

นพ.ธนพงศ์ เสริมว่าระบบแก๊สในรถแท็กซี่ ที่เป็นอันตรายนั้น จริงๆ แล้ว เกิดขึ้นจากค่าแก๊ส หรือที่แท็กซี่ที่กลัวเสียเวลาในการเติมแก๊ส รูปธรรมที่เห็นเกิดจากกรณีรถตู้ที่ตกทางด่วน คนเสียชีวิต 9 ศพ

“เราพบว่า รถตู้นั้น มีถังแก๊สอยู่ 3 ลูก ซึ่งเยอะมาก คือเขาพยามทำให้มีหลายระบบเพื่อให้ไม่เสียเวลาในการเติม เขาต้องทำรอบเช้าเย็น เพราะผู้โดยสารจะเยอะ การที่ปั๊มแก๊สเติมยาก ทำรถต้องมามีพฤติกรรมขับรถเร็ว ในกรณีที่หากต้องขึ้นค่าโดยสารแท็กซี่จริงๆ รัฐกับผู้ประกอบการ ต้องพูดให้ชัดเจนว่า จะสร้างความปลอดภัยให้ผู้โดยสารอย่างไร 1. ต้องมีจำนวนรถที่เพียงพอ ไม่ปฏิเสธลูกค้า และต้องขับอย่างปลอดภัย ซึ่งทุกวันนี้คดีอุบัติเหตุของแท็กซี่ แค่เฉพาะกรุงเทพฯ เพิ่มขึ้นจากข้อมูลที่เก็บ เฉลี่ยต่อปีประมาณ 6,000 พัน ส่วนประเด็นท้ายสำหรับแท็กซี่เก่า ต้องปลดระวาง ต้องคืนรถ แต่ในทางปฏิบัติยังทำได้ยากอีกเช่นกัน”

...........

ความจริงของแท็กซี่วันนี้ ไม่ใช่อยู่ที่ขึ้นราคาค่าโดยสารระยะเริ่มต้นเป็น 50 บาทตามการลอยตัวของราคาก๊าซ แต่เป็นเรื่องของคุณภาพการให้บริการและจิตสาธารณะของผู้ให้บริการหรือผู้ขับขี่แท็กซี่ที่มีอยู่อย่างมากกมายเกือบครึ่งล้านคนที่มีใบขับขี่สาธารณะอยู่ตามนโยบายการเปิดเสรีแท็กซี่ ซึ่งเน้นแต่ปริมาณโดยลืมการควบคุมกำกับดูแลอย่างจริงจังเข้มงวด เป็นอาชีพที่ถูกปลดปละละเลยเพื่อหวังเป็นฐานคะแนนเสียงของนักการเมืองเพียงเท่านั้นเอง โดยหลงลืมมาตรฐานความปลอดภัยของประชาชนผู้ใช้บริการรถสาธารณะเหล่านี้.

>>>>>>>>>>>>>

……….

เรื่อง : ทีมข่าว CLICK
ภาพ : ทีมภาพ CLICK


กำลังโหลดความคิดเห็น