xs
xsm
sm
md
lg

60 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ขับตามลิมิตพิชิตอุบัติเหตุ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อ! ว่าการยืนรอรถเมล์อยู่ที่ป้ายรถเมล์เฉยๆ ก็มีโอกาสโดนรถเมล์ชนจนเสียชีวิตได้

ในช่วงเย็นของวันที่ 6 มิถุนายน 2554 ที่ผ่านมา รถเมล์สาย 39 กับ สาย 8 ได้ขับแข่งกันมาเพื่อแย่งกันรับผู้โดยสาร หากแต่เมื่อถึงป้ายรถเมล์บริเวณสถานีรถไฟฟ้าสะพานควาย รถเมล์สาย 39 ก็เกิดเสียหลักพุ่งเข้าชนฟุตปาธ ส่งผลให้ นันทิยา พวงสุวรรณ สาวใหญ่วัย 50 ปี ต้องเอาชีวิตมาทิ้งไว้ที่ป้ายรถเมล์

อุบัติเหตุดังกล่าว เป็นสิ่งที่ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น แต่ถ้าลองพินิจพิจารณาดูดีๆ ทุกคนก็คงรู้อยู่แก่ใจว่า มันไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรเลยที่จะเกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้นบนท้องถนนเมืองไทย

นั่นเป็นเพราะรถสาธารณะทุกประเภทของบ้านเรากว่าครึ่ง ล้วนขับกันด้วยความเร็วสูง อีกทั้งยังมีความประมาท และความคึกคะนองเข้ามาเป็นส่วนผสม

เมื่อเป็นเช่นนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างกระทรวงคมนาคม จึงต้องออกโรงมาหามาตรการที่จะให้ป้องกันโศกนาฏกรรมที่จะเกิดขึ้น โดยมาตรการที่ตามออกมาก็คือ ต่อไปนี้จะเข้มงวดกับการควบคุมความเร็วรถสาธารณะบนท้องถนนให้ไม่เกิน 60 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และจะเพิ่มเกณฑ์อายุของผู้จะมาสอบใบขับขี่สาธราณะให้เป็น 25 ปี

แต่ทั้งนี้ก็ไม่รู้ว่ามาตรการดังกล่าวจะทำให้อุบัติเหตุลดลงได้จริงหรือไม่?

ตัดตอนความเร็วและความคึกคะนอง การแก้ปัญหาที่สาเหตุ?

จากอุบัติเหตุที่ผ่านๆ มา นอกจากความประมาทแล้ว ความคึกคะนองคืออีกสาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุขึ้น ดังนั้น สุพจน์ ทรัพย์ล้อม ปลัดกระทรวงคมนาคม จึงมีแนวทางในการเข้าไปแก้ไขเกณฑ์อายุของการออกใบอนุญาตขับรถโดยสารสาธารณะ จากเดิมซึ่งกำหนดไว้ที่ 22 ปี ให้แก้ไขเป็น 25 ปี เพราะเชื่อว่าจะมีวุฒิภาวะความรับผิดชอบสูงขึ้น ซึ่งทางกรมการขนส่งทางบกจะเป็นผู้ดำเนินการ โดยจะใช้เวลา 2 - 3 เดือน เพราะต้องแก้กฎกระทรวง เพื่อให้ดำเนินการแก้ไข ส่งให้คณะรัฐมนตรี หรือ ครม. แล้วให้กฤษฎีกาตีความ

ส่วนในเรื่องการควบคุมความเร็วรถ สุพจน์บอกว่า เป็นกฎหมายจราจรเดิมอยู่แล้ว เพียงแต่ที่ผ่านมาไม่มีการควบคุมและมีการกำกับดูแลที่หย่อนยาน ซึ่งต่อไปนี้จะมีมาตรการการดูแลที่เข้มข้นขึ้น และมีมาตรการการลงโทษที่เด็ดขาด

“ปกติตามกฎจราจรที่ควบคุมความเร็วรถในกทม. ที่เป็นรถเมล์ต้องขับความเร็วนี้อยู่แล้ว การกำกับดูแล ถ้าจะให้ตำรวจไปตรวจสอบตรวจจับความเร็วก็ไม่สามารถทำได้จริงจัง เพราะรถจำนวนเยอะมาก ตำรวจก็ไม่มีกำลัง ในการจะมาตรวจสอบได้ เราก็จะใช้วิธีการว่า รถคันไหนขับเร็วเกินกำหนด ก็จะมีสัญญาณไฟให้เห็นหากขับเร็วเกิน ทั้งภายในและนอกตัวรถ ที่จะสามารถตรวจจับได้เลย”

สัญญาณไฟที่สุพจน์กล่าวถึง ก็คือสัญญาณตรวจจับความเร็วที่จะติดที่ตัวรถ ซึ่งภายใน 1 เดือนนี้รถโดยสารทุกคันจะต้องเข้าติดตั้งสัญญาณดังกล่าวนี้ให้เรียบร้อย

“คนข้างนอกเห็นก็แจ้งได้ เป็นเงื่อนไขที่ต้องทำสัญญากัน เรื่องการเดินรถกับเอกชน กับขสมก. ทั้งรถตู้และรถเมล์ และเราให้เวลา 1 เดือนในการติดตั้ง”

แต่ในอีกมุมมองหนึ่ง ผศ.ดร.จิตติชัย รุจนกนกนาฏ อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กลับมองว่า แม้การควบคุมความเร็วจะแก้ปัญหาได้ส่วนหนึ่ง แต่ปัญหาหลักอย่างเรื่องจิตสำนึกของคนขับก็ยังอยู่ และที่สำคัญการทำเช่นนี้อาจจะสร้างปัญหาจราจรโดยไม่รู้ตัว โดยเฉพาะเวลาที่รถเหล่านี้ขึ้นไปขับบนทางด่วนหรือมอเตอร์เวย์

"ถ้าภายในเมืองหรือเทศบาล ผมเห็นด้วย แต่จริงๆ แล้วส่วนใหญ่ในเมืองก็ไม่ค่อยมีโอกาสขับได้เกิน 60 อยู่แล้ว ยิ่งถ้าให้ไปขับในวงเวียนรอบนอก หรือรถเมล์ที่ขึ้นทางด่วนแล้วต้องขับ 60 ผมว่ามันจะสร้างปัญหาจราจรโดยไม่จำเป็น จริงๆ ควรจะขับตามสภาพความเร็วของการจราจรในขณะนั้นดีกว่า เพราะถ้าช้าไป ก็ไม่ได้แปลว่าจะปลอดภัยกว่า ถ้าคนอื่นเขาขับเร็วกันหมด ตัวอย่างง่ายๆ เช่นรถตู้ไปขับ 60 บนมอเตอร์เวย์ก็คงโดนไล่เปล่าๆ

“โดยส่วนตัวแล้ว ผมคิดว่า เรื่องการจำกัดความเร็วนั้นเป็นเรื่องที่ถูกต้อง แต่เราก็ต้องจำกัดให้ถูกถนนด้วยว่า ถนนสายไหนต้องจำกัด หรือพอขึ้นทางด่วนแล้วความเร็วจะถูกจำกัดอยู่ 80-90 เพราะทำหมดมันไม่เหมาะสม และจริงๆ เรื่องนี้ก็มีกฎหมายกำหนดอยู่แล้วด้วย”

หากขับช้าไปก็ไม่ทันกิน

แม้มาตรการดังกล่าวของกระทรวงคมนาคมจะดูดีในหลักการ แต่กับคนในระดับปฏิบัติการที่อยู่บนท้องถนน กลับมีเสียงสะท้อนออกมาว่า มันอาจจะเป็นไปได้ยาก หรือถ้าเป็นไปได้ มันก็ย่อมกระทบกับงานของพวกเขาอย่างแน่นอน

“สำหรับพวก ขสมก.ก็อาจจะทำได้มั้ง เพราะเขาไม่ต้องรีบร้อนรับผู้โดยสาร เขาวิ่งเป็นรอบๆ ไป เสร็จก็กลับบ้าน แต้พวกผมมันต้องทำรอบให้เยอะ ต้องเอาคนให้มาก เพราะรายได้เราอยู่ที่ค่าตั๋วด้วย ถ้าขืนให้วิ่งช้าๆ ก็คงจะหากินลำบาก”

ศักดิ์ชัย (ขอสงวนนามสกุล) พนักงานขับรถเมล์ร่วมบริการสายหนึ่งในกรุงเทพฯ เล่าให้ฟังถึงความจำเป็นที่ต้องขับรถเร็ว

“หลายคนเขาว่าเราคึกคะนอง ซึ่งมันไม่จริงทั้งหมดนะ เรารีบเพราะเราต้องทำมาหากิน อีกอย่างถ้าจะให้เราไปขับช้าๆ แต่คันอื่นเขาไม่ช้าไปกับเราด้วยนี่ ก็โดนแย่งผู้โดยสารหมดพอดี

ส่วนในมุมมองของรถตู้ประจำทางก็มีความคิดเห็นไปในทำนองเดียวกัน คม (ขอสงวนนามสกุล) คนขับรถตู้โดยสารประจำทางย่านพุทธมณฑลสาย4 ที่บอกว่าการควบคุมความเร็วมันไม่ได้เป็นการแก้ปัญหาให้หมดลงไปได้ แต่กับรถตู้ มันจะเป็นการสร้างปัญหาเสียมากกว่า

“ในการขับรถ บางทีจังหวะเรารีบมันก็ต้องไป จังหวะติดมันก็ต้องติด แต่จะให้ขับความเร็วเท่านั้นมันทำไม่ได้หรอก คุณไปบังคับทุกคนไม่ได้ ถ้าขับความเร็ว 60 กม./ชม. มันต้องวิ่งทางใกล้ๆ ทางไกลใครเขาจะไปทำได้ ถ้าในกรุงเทพฯ เขาก็จะขับกันประมาณ 60-80 กม./ชม. เกินกว่านี้ไม่ได้อยู่แล้ว รถมันเยอะ นอกเสียจากจะวิ่งบนทางด่วน ก็ต้องขับเร็ว ถ้าไปต่างจังหวัดก็จะประมาณ 110-120 กม./ชม.รถตู้ทุกคันมีคิว บางทีเวลามันไม่ทันกัน ก็ต้องทำเวลา ตอนเช้าๆ ที่ผู้โดยสารรีบไปทำงาน เขายังมาขอให้ขับเร็วๆ เลย”

ถ้ามองภาพรวมของรถตู้โดยสารประจำทางก็ไม่ได้ขับเร็วกันอยู่แล้ว ต่างคนต่างคำนึงถึงความปลอดภัยเพราะต้องรับผิดชอบชีวิตผู้โดยสารอีกหลายคน มันขึ้นอยู่กับจิตสำนึกของคนขับเองด้วย

“ปกติรถตู้เขาก็คำนึงถึงความปลอดภัยกันอยู่แล้ว ช้าลงมันก็เพิ่มความปลอดภัยแต่เรื่องความเร็วมันบังคับกันไมได้หรอกมันต้องขึ้นอยู่กับจิตสำนึกของคนขับด้วย ขับเร็วมันก็กินแก๊ส กินน้ำมัน เพิ่มค่าใช้จ่าย เสี่ยงต่ออุบัติเหตุอีก แต่จะให้จำกัดความเร็วทุกคัน มันเป็นไปไม่ได้หรอก ”

สุดท้ายก็อยู่ที่จิตสำนึก

จริงอยู่ว่ามาตรการดังกล่าว อาจจะสร้างความอึดอัดใจให้ผู้ประกอบการอยู่บ้าง แต่กับผู้ใช้บริการมันอาจจะทำให้พวกเขารู้สึกปลอดภัยขึ้น ตัวอย่างเช่น ประกายดาว ไชยศิลป์ ผู้ซึ่งใช้บริการรถสาธารณะเป็นประจำ ก็มีความเห็นเบื้องต้นว่า มันน่าจะทำให้ปลอดภัยขึ้น

“ดีเหมือนกันที่มีข้อบังคับแบบนี้ แต่เหมือนมันจะไม่ตรงประเด็นเท่าไรนะ เพราะเท่าที่เห็นรถเมล์ในตัวเมืองก็ขับไม่เร็วขนาดนั้นหรอก แต่ปัญหามันอยู่ที่การขับกระชากวิญญาณต่างหาก คือออกตัวแรงเป็นพักๆ ทำให้เราสะดุ้ง จับอะไรไม่ทัน โค้งทีทำเอาตัวโก่ง และก็ขับปาดไปมา จะเข้าป้ายก็แย่งกันเข้า”

ประกายดาวมองว่า การแข่งกันนี่แหละที่เป็นสาเหตุหลักของการเกิดอุบัติเหตุ ไม่ได้เกิดจากความเร็วที่มากเกินไปสักเท่าไร

“มีหมดนะ แข่งกัน ด่ากัน คันไหนแซงก็ด่ากันเสียๆ หายๆ ตะโกนโหวกเหวก เห็นอย่างนี้บ่อยมาก เวลาคันไหนแซงไปข้างหน้า คันที่ตามหลังก็จะไม่พอใจแล้วก็จะเหยียบเอาๆ ตามกันให้ทัน บางครั้งก็โมโหแล้วไม่จอดให้ผู้โดยสารลงป้าย จริงๆ แล้วถ้าจะมาให้บริการอย่างนี้ ก็อย่ามาให้บริการประชาชนดีกว่า เพราะดูแล้วไม่ใส่ใจชีวิตคนอื่นเอาเสียเลย”

ส่วนในเรื่องของอายุคนขับนั้น ประกายดาวมองว่าไม่ใช่ประเด็นสักเท่าไหร่เลย

“ส่วนใหญ่คนที่มาขับก็อายุมากกันหมด ดังนั้นอายุ ก็ไม่ได้ทำให้ขับดีขึ้นหรือเลวลง หากแต่เป็นจิตสำนึกในงานบริการของตนต่างหากที่เป็นตัววัด หากคนขับคิดแต่เพียงว่าทำยังไงก็ได้ให้ได้เงินเยอะๆ แล้วละก็ ชีวิตคนที่อยู่บนรถ รวมทั้งคนที่รออยู่ตรงป้ายด้านล่างเองก็แขวนอยู่บนเส้นด้ายเหมือนเดิม”

จากข้อมูลทั้งหมดที่มีอยู่ เราจะเห็นได้ว่า การแก้ไขเรื่องเกณฑ์อายุและความเร็วในการขับขี่ ล้วนแล้วแต่เป็นการแก้ปัญหาในจุดปลีกย่อยทั้งสิ้น แต่ส่วนที่สำคัญที่สุดก็คือเรื่องของจิตสำนึกของคนขับเองต่างหาก ที่จะต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน ดังที่ ผศ.ดร.จิตติชัย ได้เน้นย้ำไว้ว่า

"ทางออกในเรื่องนี้ก็คือการปลุกจิตสำนึกให้แก่ผู้ขับขี่ โดยหน่วยงานที่เป็นเจ้าของรถ เช่น ขสมก. หรือเจ้าของรถร่วม ต้องทำประวัติของผู้ขับขี่ออกมาให้ชัดเจน มีสถิติว่าผู้ขับรถคนนี้เป็นอย่างไร ชนหรือประสบอุบัติเหตุไปแล้วกี่ครั้ง ถ้าเกินจำนวนเท่าไหร่ก็ต้องคัดออกไป หรืออาจจะมีการตกรางวัลให้แก่พนักงานที่ขับรถดี ไม่เกิดอุบัติเหตุเลย เพื่อเป็นแรงจูงใจให้ผู้ขับขี่คนอื่นๆ มีความระมัดระวังมากกว่าที่เป็นอยู่”

..........

การแก้ปัญหาที่จะให้ลงลึกไปถึงระดับจิตสำนึกของผู้ขับขี่รถสาธารณะที่ต้องรับผิดชอบผู้โดยสารจำนวนมากนั้น ควรมีสถาบันวิชาชีพผู้ขับขี่รถสาธารณะ คอยควบคุมและกำกับดูแลทั้งจรรยาบรรณและการดำเนินการทางกฎหมายทั้งแพ่งและอาญาอย่างเคร่งครัดเข้มข้นจริงจัง โดยมีทุกภาคส่วนทั้งผู้ประกอบการ ผู้ประกอบวิชาชีพผู้ขับขี่รถสาธารณะ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมขนส่งทางบก ผู้โดยสาร มาร่วมกันทำหน้าที่กำกับดูแล โดยมีใบประกอบวิชาชีพเป็นสำคัญในการคัดสรรคนที่มาสู่อาชีพนี้ให้มีจิตสำนึกในการขับขี่รถสาธารณะอย่างจริงจัง รวมถึงมีการตั้งกองทุนดูแลผู้อยู่ในวิชาชีพและผู้โดยสารให้ถูกกฎหมาย

เพราะทั้งหมดนี้ไม่ใช่หน้าที่ของตนใดคนหนึ่งหรือหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งในการกำหนดนโยบายสาธารณะเหล่านี้ ไม่ใช่ ‘วัวหายแล้วล้อมคอก’ พอเกิดอุบัติเหตุร้ายแรงขึ้นมาในแต่ละที แล้วก็ลืมกันไป...

>>>>>>>>>>

………

เรื่อง : ทีมข่าว CLICK
ภาพ : ทีมภาพ CLICK




กำลังโหลดความคิดเห็น