จากกรณีที่ชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ออกมาร้องเรียนเมื่อมีการเปิดสถานบริการ อาบอบนวด ‘เอไลน่า’ ที่ตั้งอยู่ใกล้สถานศึกษามากเกินไป ทำให้เกิดคำถามถึงระบบระเบียบของสังคมที่เกิดขึ้น จากการออกใบอนุญาต การบังคับใช้ ‘พ.ร.บ.สถานบริการ’ จนถึงการคัดง้างกันของอิทธิพลที่เกิดขึ้น
ต่อเรื่องนี้ การมีอยู่ของสถานบริการที่ได้ชื่อว่า ‘อาบอบนวด’ ก็มีมาอย่างช้านานแล้ว ซึ่งเป็นที่รู้กันดีว่ามีการให้บริการในลักษณะไหน ทั้งที่เป็นเรื่องผิดศีลธรรม แต่กลับถูกกฎหมาย บอกได้ว่านี่เป็นธุรกิจสีเทาที่มีมูลค่ามหาศาล และฉาบทาไปด้วยบาปสีเทาที่สังคมไม่ยอมรับ
ทว่ายุคสมัยแห่งอาบ อบ นวดก็ได้กินช่วงเวลายาวนานมาหลายขวบปี มียุครุ่งเรือง จนถึงอิ่มตัว บัดนี้ความเปลี่ยนแปลงของด้านสีเทาที่สังคมแกล้งมองไม่เห็นนั้นเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร และการดำรงอยู่มาหลายขวบปีสะท้อนบอกถึงภาวะเป็นไปของสังคมอย่างไรบ้าง
และอาจบอกได้ว่า สังคมเราปากว่าตาขยิบกันไปถึงขั้นไหนแล้ว
ยุคสมัยของ อาบ อบ นวด
แรกเริ่มการมีอยู่ของสถานบริการในชื่อว่า ‘อาบอบนวด’ นั้น หากบอกเล่ากันจากความเป็นธุรกิจกามารมณ์ สิ่งนี้ก็คงจะมีมานานแล้ว โดยในประเทศไทยนั้นมีบันทึกทางประวัติศาสตร์กล่าวถึงโสเภณีหรือหญิงงามเมือง มาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาแล้ว ในหนังสือชื่อว่า ‘หญิงโคมเขียว’
แต่ทว่าหากกำหนดนิยามของอาบ อบ นวดที่เอกลักษณ์คือการอ่างนั้น ภาคภูมิ ศิริวุฒิ ผู้บริหารเว็บไซต์ www.ilikemassage.com ศูนย์รวมข้อมูลบริการอาบอบนวด เห็นว่า มีจุดแรกเริ่มมาจากดัดแปลงการอาบน้ำของชาวญี่ปุ่น หรือที่เรียกว่า ‘ออนเซน’ ในปี 2494
“ตอนแรกมันเริ่มจากสถานบริการอาบน้ำ ที่แรกชื่อว่า ‘บางกอกออนเซน’ จะให้บริการอาบน้ำนวดตัว ต่อมาปี 2512 ช่วงสงครามเวียดนาม ทหารจีไอเข้าประเทศเรามากขึ้น ทำให้ธุรกิจอาบน้ำถูกแปรจากที่เคยอาบน้ำเฉยๆ ก็มีขายตัวเข้ามาด้วย ซึ่งทำให้ธุรกิจอาบอบนวดผุดขึ้นอย่างกับดอกเห็ด”
มาถึงช่วงปี 2530 ด้วยสภาพเศรษฐกิจ ความต้องการของผู้บริโภค ประกอบกับที่อาบอบนวดต้องเจอกับคู่แข่งในด้านการบริการที่คล้ายกันอย่าง ผับ บาร์ ค็อกเทลเลานจ์ และคาราโอเกะที่มาแย่งฐานลูกค้า
“ตอนนี้เองเป็นต้นกำเนิดของบีคอร์ส (แปลว่า หน้าอก เป็นศัพท์สแลง) เป็นการนวดน้ำมันโดยเอาตัวผู้หญิงมานาบกับตัวผู้ชาย ซึ่งการบริการแบบนี้ธุรกิจแบบอื่นให้ไม่ได้”
และแล้วปี 2537 ยุคยิ่งใหญ่ที่สุดของธุรกิจอาบอบนวดก็มาถึง เริ่มจากซูเรียน่าที่ประสบความสำเร็จอย่างมาก โดยมีหมุดหมายหนึ่งของความฟู่ฟ่าคือ ชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ เจ้าพ่ออ่าง ที่ไปได้สวยกับวิทตอเรีย ซีเครท ก็เปิดสถานบริการอีก 5 แห่ง ยุคนั้นบอกเลยว่าย่านรัชดา เพชรบุรีตัดใหม่ และถนนพระราม 9 เต็มไปด้วยความเฟื่องฟูคาวโลกีย์ของสถานบริการอ่าง
“มันบูมมาก เว็บไซต์ของผมเกิดขึ้นในปี 2542 ก็มีประวัติจนมาถึงปัจจุบัน พอมาปี 2543 เนื่องจากอาบอบนวดในกรุงเทพฯมีเยอะมาก จากยุคหนึ่งที่ต้องแย่งลูกค้าจากสถานบริการปะเภท มาถึงยุคนี้อาบอบนวดต้องแย่งลูกค้ากันเองแล้ว”
นั่นเองที่ทำให้เกิดการต่อสู้ทางการบริการต่างๆมากมาย ไม่ว่าจะเป็นคอร์สเสริมพิเศษ โปรโมชัน รวมไปถึง ‘ไซด์ไลน์’ (Sideline - งานพิเศษ)
“ไซด์ไลน์ คือผู้หญิงนอกตู้ที่มาให้บริการ โดยปกติแล้วในผู้หญิงในตู้เกินครึ่งจะเป็นต่างด้าว แต่ไซด์ไลน์อาจจะเป็นผู้หญิงไทยที่ทำงานอื่นอยู่ หรือเป็นนักศึกษามาหารายได้พิเศษ ซึ่งอาบอบนวดก็จะแข่งกันว่าใครมีไซด์ไลน์ที่ดีกว่ากัน”
มาถึงตอนนี้ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น จากที่ช่วงหลังไม่มีการออกใบอนุญาตให้เปิดอาบอบนวดเพิ่ม และการจัดโซนนิ่งในยุคมือปราบสายเดี่ยว ร.ต.อ.ปุระชัย เปี่ยมสมบูรณ์ ที่เป็นผลพวงมาจาก ยุคนั้น ผับบาร์เริ่มมีการขายตัวแฝงเข้ามาด้วย ทำให้ธุรกิจอาบอบนวดในตอนนี้ สำหรับเขาแล้วเห็นว่ามาถึงจุดอิ่มตัว
“ตอนนี้ฐานลูกค้ามันก็ไม่เพิ่มขึ้น แต่ก็ไม่แย่ลง เหมือนจะแบบนี้ต่อไปเรื่อยๆ ความเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัดเจนในยุคปัจจุบัน ตั้งแต่กลุ่มหญิงสาวที่มาให้บริการ จากสมัยก่อนที่มักเป็นคนไทยก็เปลี่ยนมาเป็นต่างด้าว กลุ่มคนที่เข้ามาที่นี่จากสมัยก่อนที่มาด้วยเรื่องอย่างว่าโดยเฉพาะ มาบัดนี้จะมีรูปแบบของการมาคุยธุรกิจกันมากขึ้น ใช้เป็นสถานที่ต้อนรับลูกค้าจากต่างประเทศ นัดสังสรรค์ปาร์ตี้ จะไปจบที่เรื่องอย่างว่าหรือไม่ นั่นเป็นอีกเรื่อง เพราะอาบอบนวดตอนนี้ก็ต้องปรับตัวให้เป็นเอนเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ที่เน้นบริการหรูๆ ดีๆ มาแข่งกับสถานบริการอื่นมากขึ้น
“ยุคนี้เป็นยุคของนวดกระปู๋ครับ หรือที่เรียกกันว่าพริตตี้สปา ผมว่ามันเหมือนอาบอบนวดยุคสอง ผู้หญิงที่มาทำงานตรงนี้ คืออยากมาหารายได้พิเศษโดยไม่ต้องเสียตัว ราคาจะถูกกว่าอาบอบนวด นักศึกษานิยมไปตรงนั้นมากกว่า ซึ่งแน่นอนว่ามันไม่ผิดกฎหมาย แต่จะผิดศีลธรรมเป็นเรื่องของกามารมณ์”
อุดมคติของกฎหมาย
ในด้านกฎหมายพระราชบัญญัติสถานบริการ พ.ศ. 2509 ถูกบัญญัติขึ้นจากการมีสถานบริการเปิดขึ้นอย่างมากมายในการเติบโตของเศรษฐกิจและมีฐานของทหารอเมริกันมาตั้ง ซึ่งสถานบริการเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมของประชาชน บังคับใช้ครั้งแรกเมื่อ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2509 จนถึงปัจจุบันมีการแก้ไขมาแล้ว 4 ครั้ง โดยมีการแก้ไขในส่วนของเกณฑ์อายุผู้เข้าใช้บริการ
โดยนิยามของสถานบริการนั้นมีอยู่ 6 ประเภทโดยมีตั้งแต่ผับ บาร์ ร้านอาหารที่มีดนตรี รวมถึงอาบอบนวด ซึ่งการจัดตั้งสถานประกอบการเหล่านี้จำเป็นต้องได้รับใบอนุญาตจากเจ้าพนักงาน ทั้งนี้ กำหนดของการออกใบอนุญาตก็มีรายละเอียดของที่ตั้งที่ต้องอยู่ห่างสถานศึกษา วัด ชุมชน หอพัก และอาบอบนวดจำเป็นต้องอยู่ในเขตพื้นที่ที่กำหนดตามพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตพื้นที่เพื่อการตั้งในท้องที่ตามแต่ละท้องที่ของจังหวัดจะกำหนดไว้หรือที่เรียกกันว่า โซนนิ่ง นอกจากนี้ยังมีข้อกำหนดถึงสภาพภายในของสถานบริการอาบ อบ นวดไว้อย่างละเอียด ไม่ว่าจะเป็นขนาดห้องบริการเฉพาะ หรือการใช้โคมไฟ
โดยตามตัวบทนั้นยังระบุถึงอำนาจของเจ้าหน้าที่ในการเพิกถอนใบอนุญาตหากมีการค้าประเวณีเกิดขึ้น หรือมีกำหนดข้อปฏิบัติถึงขั้นว่า ต้องไม่จัดให้มีการแสดงเพื่อบันเทิงในทางลามกอนาจาร
แต่ทว่ากรอบเกณฑ์ของการพิจารณาทั้งหมดนั้นก็อยู่ที่เจ้าพนักงาน ดังนั้นการออกใบอนุญาตนอกจากอยู่ในสถานที่ที่เรียกว่า โซนนิ่ง แล้ว กรอบเกณฑ์อื่นดูเหมือนจะเป็นไปตามความหนักเบาของเงินสินบนมากกว่า
ต่อกรณีเอไลน่านี้เอง จตุรภุช หงส์ทองคำ นักกฎหมายเอกชนแห่งหนึ่ง ฉายภาพในมุมมองของตนว่า จริงๆ แล้ว พื้นที่ดังกล่าวอยู่ในหลักกฎหมาย โซนนิ่ง ที่ชัดเจนว่าสถานที่ใดควรมีสถานบันเทิงหรือไม่ เช่น วัด โรงเรียน ศูนย์ราชการ แต่หากพูดกันตามสภาพความเป็นจริง หากไม่ได้อยู่ในสถานที่ใกล้โรงเรียนอย่างกรณีดังกล่าวนั้น ก็เห็นได้ชัดว่ามีการอะลุ้มอล่วยให้เปิดสถานบันเทิงขึ้นมากมาย แต่ในลักษณะดังกล่าวมันเหมือนเป็นการเอิกเกริกเกินควร
“ทุกที่มีโซนนิ่งของสถานบันเทิง แต่เดิมถ้าตั้งอยู่ที่ไม่ได้อยู่ในสถานศึกษามันก็พอที่จะอะลุ้มอล่วยได้ เรื่องพวกนี้ ลองเปรียบเทียบกับบ่อน บ่อนยังแอบเปิด แต่อันนี้มันเป็นอะไรที่โฉ่งฉ่าง ประเด็นนี้เคยถูกต่อต้านครั้งหนึ่งแล้ว และยิ่งอยู่ข้างโรงเรียนก็ยิ่งทำให้กระแสสังคมมองว่าไม่ดี และจากการที่ดูไม่ดี นั่นเอง ก็ต้องโทษตั้งแต่คนออกใบอนุญาตนะ ออกใบอนุญาตสถานประกอบการแบบนี้ ซึ่งอยู่ข้างโรงเรียน อันนี้แหละเป็นประเด็น ต้องไปดูตั้งแต่สมัยโน่นว่ามันเกิดอะไรขึ้น”
และยิ่งเป็นกระแสมากในตอนนี้ จตุรภุชมองว่าคนในสังคมรู้จักรักษาสิทธิประโยชน์ของตัวเองเพิ่มขึ้น
“คนไทยสมัยก่อนยังไงก็ได้ แต่เราเปลี่ยนไปแล้ว ตัวอย่างเช่น น้ำท่วมที่ผ่านมาคนเริ่มฟ้องศาลปกครองเมื่อไม่พอใจ พอมีระบบศาลปกครองคนก็ตื่นตัวมากขึ้นในการใช้สิทธิ์”
ซึ่งเรื่องของสถานบันเทิงต้องมีเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้ามาเกี่ยวข้องอยู่แล้ว ตรงนี้ไม่รู้ว่าเกิดปัญหาอะไรขึ้น เพราะกรณีแบบนี้ไม่ได้เกิดมาหลายปีแล้ว
“เอไลน่า อยู่ในโซนนิ่งที่ห้าม เจ้าพนักงานออกใบอนุญาตเป็นตำรวจ ฉะนั้นการรับผิดชอบก็ต้องเป็นของตำรวจเช่นกัน ซึ่งจริงๆ ไม่สมควรที่จะออกให้ อาจจะมีความผิด ง่ายๆ เลย ก็มาตรา 157 ประมวลกฎหมายอาญา ผู้ใดเป็นเจ้าหน้าที่ ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ต้องได้รับโทษ ส่วนใหญ่ใช้มาตรานี้ มันกว้างๆ ทั้ง ละเว้นปฏิบัติหน้าที่ และเรียกรับสินบน ด้วย ถึงไม่มีโซนนิ่ง จะเหมาะสมหรือไม่ เจ้าพนักงาน ก็ต้องมีดุลพินิจ และจิตสำนึกด้วย”
ความจริงในมุมของสังคม
กับสังคมที่แปรเปลี่ยนอย่างรวดเร็ว ต่อความคิดเห็นที่เส้นศีลธรรมยากจะจับต้องมากขึ้นทุกทีนั้น ความคิดเห็นของผู้คนต่อสถานบริการอาบอบนวดแน่นอนว่า รับรู้กันอยู่แล้ว มันมีการค้าประเวณีเกิดขึ้น มาถึงตอนนี้ แม้ในกฎหมายยังระบุชี้ชัดว่า การค้าประเวณีคือสิ่งผิด แต่ในความคิดของผู้คนบางทีก็ไม่เป็นเช่นนั้นเสมอไป
ปุณยวัฒ ศรีบุญเรือง นักศึกษามหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง มองว่า อาบอบนวดเป็นสิ่งที่มีในสังคมไทยมานาน นานจนเขามองว่าเรื่องของกามารมณ์เป็นเรื่องของการซื้อ-ขายที่สังคมยอมรับกันได้แล้ว
"มันอยู่กับสังคมไทยมานานแล้วนะ สถานอาบอบนวดคือสถานบริการอย่างหนึ่ง เมื่อเราไม่มองว่ามันผิดกฎหมาย หรือว่าถูกกฎหมาย เพราะที่ผิดกฎหมายมันก็มีใช่ไหม? สิ่งที่เห็นกันอยู่ รู้ๆ กันอยู่ คือการมีเซ็กซ์ ที่นั่นมันเป็นเรื่องซื้อขายกัน ดังนั้นนอกเหนือจากนี้ก็อยู่กับจิตสำนึกของเราต่อการกระทำ”
โดยเขาเห็นว่าสิ่งนี้อย่างไรก็คงไม่หายไปจากสังคมไทย สอดคล้องกับความคิดของ ดิถีเทพ เมฆาวรรณ ช่างเทคนิควิศวกรรมอากาศยาน สายการบินแห่งหนึ่ง
“ตราบใดที่มนุษย์ยังมีความต้องการ ผมคอนเฟิร์มว่า อาบอบนวดจะยังอยู่ได้ ผมว่ามีอาบอบนวดอย่างถูกต้องตามกฎหมายจริงๆ จะทำให้เจ้าหน้าที่ดูแลได้อย่างทั่วถึง”
เหล่านี้เองก็ยิ่งสอดรับกับมุมมองของ ศ.ดร.ภัสสร ลิมานนท์ อดีตผู้อำนวยการวิทยาลัยประชากรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สะท้อนภาพการถือกำเนิดและการคงอยู่ของสถานบริการที่ชื่อว่า 'อาบอบนวด' ที่ว่า แท้จริงแล้วคนในเมืองไทยจำนวนไม่น้อยมองว่า เรื่องประเภทนี้เป็นเรื่องปกติ และไม่ใช่ความผิดร้ายแรงอะไรมากนัก
"ในแง่กฎหมายเราถือว่า การค้าประเวณีเป็นการกระทำที่ไม่ถูกกฎหมาย แต่ที่มันยังคงอยู่ได้นั้นมีหลายปัจจัย อย่างแรกเลยคือสืบเนื่องมาจากสมัยโบราณที่เรื่องเซ็กซ์เซอร์วิสทำกันโดยทั่วไป และยังไม่ถูกมองด้วยว่าเป็นบาป หรือสิ่งที่ทำไม่ได้ เพียงแต่มันไม่ถูกกฎหมายเท่านั้นเอง ซึ่งโดยส่วนตัวแล้วคิดว่า กฎหมายที่เป็นอยู่แบบนี้มันใช้ไม่ได้ เพราะการที่คนจะถูกจับก็คือขณะที่ไปร่วมประเวณี แต่ไม่ได้ปรามไปที่สถานบริการ เพราะฉะนั้น เมื่อสังคมไทยไม่ได้มีการควบคุมกฎหมายที่เข้มงวดเหมือนกับหลายประเทศ ก็เลยทำให้ทัศนคติของคนไทยไม่ได้ปฏิเสธเรื่องแบบนี้โดยเด็ดขาด สังเกตได้จากเมื่อผู้ชายคุยกันถึงสถานที่เที่ยว มันยังเป็นหัวข้อสนทนาที่ยังรับกันได้"
ผลพวงจากสิ่งที่เกิดขึ้นดังกล่าว ทำให้เกิดเป็นวิวัฒนาการของการให้บริการทางเพศ ซึ่งอาบอบนวด ถือเป็นบริการประเภทแรกๆ ที่เกิดขึ้นเพื่อเลี่ยงกฎหมายการค้าประเวณี แน่นอนคำถามต่อมาก็คือ ทางออกของเรื่องนี้ควรเป็นอย่างไร ศ.ดร.ภัสสรมองว่า คงยาก เพราะในประเทศไทยนั้นมีคนรู้จักเลี่ยงกฎหมายค่อนข้างเยอะ โดยส่วนใหญ่กฎหมายที่ออกไป มักจะไม่ได้ตามมาด้วยมาตรการควบคุม
"ถ้าเทียบกับเนเธอร์แลนด์ ซึ่งเขามีอยู่ที่เดียว ถ้าจะเที่ยวก็เที่ยวที่นี่เลย ประกาศให้รู้ แล้วก็มีผู้หญิงยืนใส่ชุดอยู่หน้าตู้ คนใช้บริการเขาก็ปิดตู้ อันนี้ก็ควบคุมได้โดยคุณต้องเสียภาษี และผู้หญิงที่ให้บริการก็ต้องเสียภาษี ต้องไปตรวจร่างกายตามกฎที่เขาวางไว้ ฉะนั้นเขาจึงควบคุมได้ และที่สำคัญส่วนใหญ่คนที่มาเที่ยวก็เป็นคนต่างชาติ ในขณะคนดัตช์เขาไม่ค่อยมา เพราะเขาไม่ได้มีทัศนคติในเรื่องนี้ ซึ่งแตกต่างกับบ้านเรามาก เพราะเซ็กซ์เซอร์วิสนั้นเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมไทย คืออาจจะไม่ยอมรับแต่ก็ไม่ได้ปฏิเสธว่าทำไม่ได้
"เพราะฉะนั้นจึงอาจจะบอกได้ว่า เมืองไทยนั้นปากว่าตาขยิบ บอกก็ว่าไม่มี แต่จริงๆ แล้วมีเต็มไปหมด และถึงเราจะเป็นสังคมพุทธที่มีข้อห้ามเอาไว้ แต่คนไทยหลายคนไม่เคยคิดถึงตรงนี้เลย เราไม่ได้เคร่งครัดตรงนี้ คนไปรับศีลก็รับไปเรื่อยเปื่อย กาเม สุมิจฉาฯ ก็ว่าไป แต่เราไม่ได้เชื่อว่านั่นคือคำปฏิญาณว่า เราต้องไปทำแบบนั้น"
………..
ข้อกำหนดในกฎหมายนั้น ส่วนหนึ่งมีที่มาจากศีลธรรมของสังคม เมื่อมองถึงสังคมไทยยิ่งเห็นได้ชัดถึงภาพสังคมในอุดมคติ หากแต่สิ่งที่เกิดขึ้นจริงกลับเป็นสิ่งที่สวนทาง สิ่งที่เป็นถูกเรียกกันว่า ‘ที่รู้กัน’ ของสังคมดูจะมีอยู่มากมาย
ต่อกรณีของ ‘อาบอบนวด’ นอกจากเป็นการคัดง้างกันของอำนาจอิทธิพลแล้ว ยังเป็นการคัดง้างกันระหว่างอุดมคติบนกฎหมายที่ระบุว่า การค้าประเวณีเป็นสิ่งผิด กับความจริงที่ว่ามีการค้าประเวณีเกิดขึ้นอย่างถูกกฎหมายและเป็นที่รู้กัน
ยิ่งนานวันเข้า สิ่งที่เป็นที่รู้กันยิ่งจะเป็นที่ชาชินต่อสังคม ด้วยภาพของเมืองพุทธ ด้วยภาพของความดีงาม การมีอยู่ของความเสื่อมโทรมในสังคมจึงไม่ถูกพูดถึง และไม่ถูกทำให้ถูกต้องอย่างเป็นระบบ จนเกิดเป็นสิ่งผิดศีลธรรมหากแต่ไม่ผิดกฎหมายขึ้น เกิดเป็นสังคมที่ ‘ปากว่าตาขยิบ’ นั่นเอง
>>>>>>>>>>>
………
เรื่อง : ทีมข่าว CLICK
ภาพ : ทีมภาพ CLICK