xs
xsm
sm
md
lg

ปอมปาดัวร์ ราชินีแห่งปลาตู้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


 
เพลินตากับสีสันของปลา ซึ่งแหวกว่ายไปมาติดกระจกของตู้ เป็นพฤติกรรมทักทายตามสัญชาตญาณของปลาเลี้ยงเมื่อเห็นคนเดินผ่าน “ปอมปาดัวร์” ที่ทุกคนขนานนามว่า ราชินีแห่งปลาตู้ วันนี้ทำหน้าที่ต้อนรับทีมงาน M-petเข้าบ้านได้อย่างพร้อมเพรียงกัน จนต้องเผลอยิ้มให้กับความละลานตาของสีสันบนตัวปลา ซึ่งสวยงามราวกับอยู่ในโลกใต้น้ำ เพราะด้วยจำนวนตู้ปลาที่วางชิดกันทั้งห้อง ทำให้หลงคิดไปว่าอยู่ใต้ท้องทะเลแล้วจริงๆ

อนุชิต สนธิสถาพร ประธานชมรมผู้เพาะเลี้ยงปลาปอมปาดัวร์แห่งประเทศไทย และเจ้าของฟาร์ม P&Y Discus คนต้นเรื่องที่พาเรามาเยือนโลกใต้น้ำบนพื้นที่บ้าน ซึ่งปรับเปลี่ยนทำเป็นฟาร์มเลี้ยงปลา 3 ชั้น พร้อมนำคุณไปสัมผัสถึงชีวิตปลาปอมปาดัวร์ สัตวโลกใต้น้ำที่สร้างกำไรได้อย่างมหาศาล จนเจ้าของฟาร์มเอ่ยปากเลยว่า “ปลาเลี้ยงเรานะ ไม่ใช่เราเลี้ยงปลา”

“ปอมปาดัวร์” แห่งลุ่มน้ำอะเมซอน
ปลาปอมปาดัวร์ (Pompadour) หรือมีชื่อสามัญอีกชื่อหนึ่งที่นิยมเรียกในภาษาอังกฤษคือ ดิสคัส (Discus) หมายถึงทรงกลม อันมาจากลักษณะของรูปร่างปลานั่นเอง ฉะนั้นชาวต่างชาติจึงเรียกปลาชนิดนี้ว่า Discus แต่เมืองไทยส่วนใหญ่เรียกกันว่า ปอมปาดัวร์ ซึ่งอยู่ในตระกูลปลาหมอสี
 
ลักษณะปลาปอมปาดัวร์คล้ายปลาจะละเม็ดแถวบ้านเรานี่เอง หรือบางตัวอาจมองว่าคล้ายปลาเทวดา เพราะด้วยลักษณะรูปร่างทรงแบนเหมือนกัน ซึ่งจริงๆ แล้วมันมีถิ่นกำเนิดอยู่แถบลุ่มแม่น้ำอะเมซอน ในทวีปอเมริกาใต้ มีขนาดตัวเต็มที่ไม่เกิน 7 นิ้ว ซึ่งอาศัยอยู่ในสภาพน้ำที่มีค่า pH 8-9 แต่สำหรับฟาร์มเลี้ยงในเมืองไทยจะมีค่า pH 7 อุณหภูมิน้ำอยู่ที่ 30 องศาเซลเซียส ตามธรรมชาติแล้วกินลูกน้ำ และวัชพืชต่างๆ ในน้ำ
 
ปลาปอมปาดัวร์เป็นปลาที่มีสีสันสวยงามมาก จนได้รับฉายาว่า ราชินีแห่งปลาตู้ “สายพันธุ์เริ่มแรกของปลาปอมปาดัวร์จะเป็นสีพื้นธรรมดา เรียกว่า บราวน์ เป็นสีน้ำตาลธรรมดา ไม่มีลวดลายใดๆ แต่เดิมซึ่งเรารู้กันอยู่แล้วว่ามันมีสายพันธุ์มาจากลุ่มน้ำอะเมซอน จากนั้นได้มีการพัฒนาสายพันธุ์ให้มีสีสันที่สวยงามกว่าสีตามธรรมชาติ จึงออกมามีสีต่างๆ มากมาย”
 
ปัจจุบันนี้ปอมปาดัวร์มีมากมายหลากหลายสีสัน และมีมากกว่า 50 สีเลยทีเดียว ซึ่งเท่ากับว่ามีมากกว่า 50 ชนิด เนื่องจากว่าถ้าใครเป็นคนผสมได้สีใหม่คนแรก จะมีสิทธิ์ตั้งชื่อขึ้นใหม่ แต่ส่วนใหญ่ชื่อที่กำหนดจะใช้ชื่อตามสีบนตัวปลานั่นเอง
 
สีหลักๆ ของปลาปอมปาดัวร์ ได้แก่ Blue Diamond, Red Turquoise, Brown, Pigeon Blood, Marlboro Red, Snake Skin, Ghost และ Tomato

เลี้ยงด้วยหัวใจวัว
ปอมปาดัวร์มีความโดดเด่นตรงสีสัน จึงทำให้หลายคนชื่นชอบปลาชนิดนี้ เมื่อขณะลูกปลายังเล็กจะว่ายติดตัวแม่ปลาตลอดเวลา เพราะต้องกินเมือกที่ผิวแม่ปลาเป็นอาหาร พอมองตามจึงดูสวยงาม น่ารัก น่าเอ็นดู และด้วยลักษณะของลำตัวที่กลม อ้วน และแบน ยิ่งดูแปลกตา ทั้งสีสันที่สวยงามชัดเจน จึงทำให้หลายคนอยากลองเลี้ยงปลาปอมปาดัวร์บ้างแล้ว
 
แต่ปลาปอมปาดัวร์มีความอ่อนไหวต่อสภาพน้ำและสภาพอากาศง่ายมาก จึงจัดเป็นปลาชนิดหนึ่งที่เลี้ยงยากมาก จำเป็นต้องใช้ฮีตเตอร์เพื่อควบคุมอุณหภูมิ จึงไม่เหมาะกับนักเลี้ยงปลามือใหม่ ถ้าใครอยากลองเลี้ยงดูจึงควรศึกษาวิธีการเลี้ยงก่อน
 
“การเลี้ยงเล่นทั่วไป เริ่มแรกควรเลือกตู้ขนาดประมาณ 30x18x18 นิ้ว ซึ่งสามารถเลี้ยงได้ถึง 20 ตัว อาจซื้อไม้น้ำมาประดับตกแต่ง หรือให้เป็นที่อยู่ของปลา หรือจะเลี้ยงรวมกับปลาชนิดอื่นก็ได้ อย่างเช่น ปลาเทวดา ปลาทอง และจำพวกปลาที่มีสายพันธุ์ไม่ดุร้าย ซึ่งปลาปอมปาดัวร์สามารถอยู่ร่วมได้ (กรณีที่เลี้ยงไม่เยอะ และไม่ได้เลี้ยงเป็นอาชีพ) และให้อาหารวันละมื้อเท่านั้น” แต่ถ้าใครอยากชื่นชมตัวปลา สามารถเลี้ยงในตู้โล่งๆ ได้เช่นกัน เพราะปลาชนิดนี้มีสีสันสวยงาม จึงดูโดดเด่นสะดุดตาอยู่แล้ว
 
สำหรับคนที่ต้องการเลี้ยงเป็นอาชีพนั้น ต้องมีวิธีการเลี้ยงที่แตกต่างไปจากการเลี้ยงเล่นทั่วไป หลักๆ ที่ผู้เลี้ยงต้องใส่ใจ คือการเปลี่ยนน้ำ เราต้องเปลี่ยนน้ำทุกวัน เพราะถ้าน้ำสกปรกปลาจะไม่กินเหยื่อ ทำให้โตช้า จึงต้องถ่ายเทน้ำให้ใสสะอาดอยู่เสมอปลาจึงจะมีอัตราการเจริญเติบโตเร็วขึ้น และควรเลี้ยงในน้ำที่มีอุณหภูมิ 30 องศาเซลเซียส ปลาจะเจริญเติบโตได้ดี แต่ในขณะเพาะพันธุ์ ซึ่งเป็นพ่อแม่พันธุ์ควรเลี้ยงไว้ในอุณหภูมิ 28 องศาเซลเซียส จะทำให้การเพาะพันธุ์ได้ผลดี
 
ปลาปอมปาดัวร์สามารถผสมพันธุ์เมื่อมีอายุประมาณ 10 เดือนทั้งตัวผู้และตัวเมีย ปอมปาดัวร์ออกไข่เดือนละครั้ง ฉะนั้นจะออกไข่ 12 ครั้ง/ปี เมื่อไข่ออกมาจะมีจำนวนไข่ 100-200 ฟอง แต่จะเหลือรอดออกมาเป็นลูกปลาประมาณ 100 กว่าตัว ขึ้นอยู่กับสภาพอากาศเป็นสำคัญ ถ้าอากาศร้อนจะได้ลูกปลาน้อยลง เพราะฉะนั้นควรเลี้ยงที่อุณหภูมิ 28 องศาเซลเซียล อย่างที่บอกไว้ข้างต้นจึงจะได้ลูกปลาจำนวนมาก เมื่อปอมปาดัวร์โตเต็มที่จะมีขนาดประมาณ 6-7 นิ้ว ทั้งตัวผู้ และตัวเมีย
 
 
ทางฟาร์มให้อาหารวันละ 4 มื้อ เป็นประจำทุกวันเพื่อเร่งการเจริญเติบโต โดยการให้อาหารจำพวกหนอนแดง ไส้เดือน ไข่กุ้ง และสูตรสำคัญ คือ หัวใจวัว เพราะจะทำให้ปลาโตเร็วมาก
 
“แต่เราจะให้ไข่กุ้งเป็นหลัก ใช้เลี้ยงอาทิตย์ละ 30 กิโลกรัม คิดเฉลี่ยประมาณ 3-4กิโลกรัมต่อวัน และเสริมด้วยไส้เดือนอีกวันละ 5กิโลกรัม”
 
สิ่งที่ต้องระวังในการเลี้ยง คือเรื่องของเชื้อโรคที่ติดมากับอาหาร อย่างพวกหนอนแดง และไส้เดือน ซึ่งมาจากแหล่งน้ำ จึงอาจมีเชื้อแบคทีเรีย ฯลฯ เพราะฉะนั้นก่อนให้อาหารทุกครั้ง ควรล้างให้สะอาดจะได้ปลอดภัยจากเชื้อโรคต่างๆ

ขายปลาส่งนอก
จากการเลี้ยงเล่น โดยไม่คิดว่าจะยึดเป็นอาชีพ จนตอนนี้ได้ทำเป็นฟาร์ม ซึ่งมีมากกว่า 4-5 หมื่นตัวแล้ว พร้อมทั้งส่งออกขายต่างประเทศ สร้างรายได้หลักให้แก่ครอบครัวได้อย่างสบาย
 
“ด้วยความที่เราชอบจึงเลี้ยงเล่นๆ ตอนแรกเลี้ยงจำนวน 10 ตู้ ทั้งหมดกว่า1,000 ตัว พอเลี้ยงไปเลี้ยงมาประมาณ 2 ปีก็กลายเป็นอาชีพหลัก แทนอาชีพขายก๋วยเตี๋ยวที่เคยทำอยู่ก่อนแล้ว และตอนนี้ก็ให้ลูกชายทั้ง 2 คน ซึ่งเคยรับราชการตำรวจและทหารมาก่อน เข้ามาช่วยดูแลกิจการปลาปอมปาดัวร์ ซึ่งถือว่าตอนนี้เป็นธุรกิจหลักของบ้านไปแล้วและดำเนินไปได้ด้วยดี”
 
“สมัยก่อนตอนเลี้ยงใหม่ๆ ถ้ามีปลาในบ้าน โบรกเกอร์เอาตังค์มาให้ก่อนเลย ถือเป็นการจอง เพราะปลาตัวนี้เขาแย่งกัน โบรกเกอร์จะสรรหาว่าบ้านไหนเลี้ยงบ้างและให้ราคาดีมากด้วย ดีกว่าตอนนี้เยอะ”
 
แม้ว่าแต่ก่อนราคาขายจะดีกว่า แต่ตอนนี้ก็ยังอยู่ในระดับที่ถือว่าดีถึงขั้นดีมาก โดยไม่ต้องถามเลยว่าขายดีไหม สังเกตจากยอดตัวเลขส่งออกถึง 10,000ตัว/เดือน จึงพอบอกได้แล้วว่าเศรษฐกิจการเพาะเลี้ยงปลาปอมปาดัวร์ถือว่าเข้าขั้นดีมากเลยทีเดียว และส่วนใหญ่ราคาที่ขายได้อยู่ที่ไซส์ 2-3 นิ้ว คิดเป็น 80% ของจำนวนปลาที่ส่งออกทั้งหมด
 
“ราคาขายขึ้นอยู่กับขนาดและสายพันธุ์ ถ้าขายตามขนาดปลาจะเริ่มตั้งแต่ไซส์ 2 นิ้ว ราคา 35 บาทขึ้นไป, ไซส์ 2.5 นิ้ว ราคา 60 บาทขึ้นไป, ไซส์ 3 นิ้ว ราคา 80 บาทขึ้นไป, ไซส์ 3.5 นิ้ว ราคา 130 บาทขึ้นไป, ไซส์ 4 นิ้ว ราคา 200 บาทขึ้นไป และไซส์ 5 นิ้วขึ้นไป (ไซส์ปลาใหญ่) ก็จะมีราคาที่เพิ่มขึ้นตามลำดับ ซึ่งราคาที่ให้ทั้งหมดนี้เป็นสายพันธุ์ที่ถูกที่สุด อย่างเช่น Blue Diamond, Red Turquoise, Brown และ Pigeon Blood”
 
“ถ้าเราคิดราคาขายตัวละ 35 บาท ทั้งหมด 10,000 ตัว จะเป็นเงิน 350,000 แสนบาทแล้ว พอหักค่าใช้จ่ายก็ยังเหลือเงินหลักแสนอยู่ดี” นี่เป็นจำนวนเงินต่อเดือนที่ฟาร์มได้รับ ของราคาปลาที่ต่ำที่สุด ซึ่งยังมีราคาที่สูงกว่านี้ ลองคำนวณกันดูคร่าวๆ เองแล้วกันว่ากำไรที่ฟาร์มได้รับสูงสุดจะอยู่ที่ยอดตัวเลขกี่หลัก
 
ปลาปอมปาดัวร์ขนาด 2 นิ้วจะมีอายุ 2 เดือน เพียงแค่ 2 เดือน ก็นำออกมาขายได้แล้ว ซึ่งทางฟาร์มจะส่งออกถึง 90% ของจำนวนปลาที่เลี้ยงทั้งหมด นำส่งขายทางโบรกเกอร์ในไทยเป็นหลัก จากนั้นก็จะถูกส่งต่อไปต่างประเทศ ซึ่งตลาดปลาปอมปาดัวร์ส่วนใหญ่อยู่ต่างประเทศทั้งหมด ได้แก่ ประเทศแถบตะวันออกกลาง ไม่ว่าจะเป็นประเทศอิหร่าน ซึ่งเป็นประเทศหนึ่งที่มีความต้องการซื้อปลาปอมปาดัวร์เป็นจำนวนมาก รองลงมาจะเป็นประเทศรัสเซีย และตุรกี
 
สาเหตุที่ต้องส่งขายต่างประเทศ เนื่องจากตลาดในไทยมีความต้องการซื้อน้อยกว่าในต่างประเทศ เพราะฉะนั้นฟาร์มจึงมุ่งตลาดหลักไปขายต่างประเทศเป็นสำคัญ “จริงๆ เราก็อยากขายในไทยนะ แต่ลูกค้ามาซื้อทีละ 1-2 ตัว มันจึงทำเป็นอาชีพไม่ได้ นอกจากนี้ก็มีที่เราส่งขายร้านรายย่อยในประเทศเหมือนกัน แต่มีจำนวนน้อยกว่าส่งต่างประเทศมาก”

เปิดตลาดได้...กำไรงาม
เมื่อรู้ยอดตัวเลขกำไรของฟาร์มปลาปอมปาดัวร์แล้ว หลายคนอาจหูผึ่ง ตาโต และสงสัยว่าสามารถสร้างรายได้ได้ขนาดนั้นจริงหรือ ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับผู้เลี้ยงเองแล้วว่าจะสามารถทำได้จริงหรือเปล่า เพราะการเลี้ยงปอมปาดัวร์เพื่อเป็นธุรกิจ ใช่ว่าการมีความรู้เรื่องวิธีการเลี้ยงเพียงอย่างเดียวจะสามารถทำให้ธุรกิจของคุณเติบโตได้ นั่นเป็นแค่ส่วนหนึ่ง แต่สิ่งสำคัญอีกอย่างหนึ่ง นั่นคือ ช่องทางการตลาด และการรองรับของกลุ่มลูกค้าในอนาคต
 
 
ประการแรก เมื่อเรียนรู้เกี่ยวกับเรื่องของปลาปอมปาดัวร์ โดยการศึกษาหาความรู้เพื่อให้เกิดความพร้อมก่อนคิดจะเลี้ยงอย่างจริงจังแล้ว ต้องมองขั้นต่อไป คือตลาดรองรับ ซึ่งข้อนี้ไม่ควรมองข้ามอย่างยิ่ง
 
 
“อย่างแรก ใครที่คิดจะเลี้ยงผมจะแนะนำก่อนเลยว่า คุณมีตลาดไหม มีลูกค้ารึเปล่า ถ้าไม่มีก็อย่าเสี่ยงนะ ถ้าตลาดเต็มเมื่อมีคนเลี้ยงรายใหม่เพิ่มขึ้นมาก็เป็นภาระ คุณมาเบียดตลาดเขา คนเลี้ยงมาก่อนเขาก็ไม่ยอมให้คุณเบียดง่ายๆ ฉะนั้นถ้าคิดจะเลี้ยงก็ต้องมีตลอดรองรับด้วยและต้องศึกษาก่อน”
 
 
แต่ถ้าใครมั่นใจว่าคุณสามารถทำได้ และหาตลาดรองรับได้จริง เราจึงสอบถามเงินต้นก้อนแรกมาให้คำนวณการลงทุนเบื้องต้นอย่างคร่าวๆ ก่อน เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการตัดสินใจและวางแผน “เริ่มแรกลงทุนเลี้ยงก็ประมาณ 70,000-80,000 บาท เฉพาะค่าตู้เลี้ยง ตู้ละ 1,000 กว่าบาท ถ้ามีสัก 30 ตู้ ก็ตกประมาณ 30,000 กว่าบาท ซึ่งยังไม่รวมระบบเครื่องกรองทั้งหมด เมื่อมีลูกค้าแล้วก็ค่อยๆ ขยายใหญ่ขึ้น” เมื่อตลาดโตและมีลูกค้าเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เจ้าของฟาร์มบอกเลยว่า “ประมาณ 2 เดือนก็คืนทุนแล้ว”
 
“มันอยู่ที่คนเลี้ยงว่าทำได้หรือไม่ได้ สมมติว่าอย่างผมซื้อปลามาตัวละ 10 บาท ผมเลี้ยง 2 เดือน ขายได้ตัวละ 30 บาท แสดงว่ากำไรตัวละ 20 บาท มีทั้งหมด 2,000 ตัว จึงได้กำไรทั้งหมด 40,000 บาท ภายในระยะเวลา 2 เดือน ถ้าเลี้ยงมากกว่านั้น จึงเป็นกำไรเพิ่มขึ้นไปอีก คือมันอยู่ที่คนเลี้ยงว่ามีความสามารถพอหรือไม่”
 
“และถ้าคุณจะเพาะพ่อแม่พันธุ์ก็ซื้อมาตัวละ 1,000 บาท ครอกแรกออกมาก็จะได้ค่าพ่อแม่คืนแล้ว พอครอกที่สองออกอีกก็จะได้ค่าอุปกรณ์ ถามว่ามันเวิร์กไหม มันเวิร์กนะถ้าเรามีลูกค้า เมื่อปลาไข่ออกมาแล้วเราเลี้ยงประมาณ 20 วัน จะได้ขนาดปลาประมาณ 1 นิ้ว สามารถขายได้ตัวละ 10 บาท ถ้าเดือนหนึ่งเพาะได้ 3,000 ตัว ก็ได้เงินแล้ว 30,000 บาท”
 
ก่อนจบคำสนทนา คุณอนุชิต เจ้าของฟาร์ม ซึ่งการันตีด้วยรางวัลเกษตรกรดีเด่นปี 2553 ยังชี้แนวคิดทิ้งท้ายอีกว่า “ตอนนี้ปลาเลี้ยงเรานะ ไม่ใช่เราเลี้ยงปลา เพราะธุรกิจนี้เลี้ยงเราได้ทั้งครอบครัว ผมว่ามันดีกว่าคุณไปทำอย่างอื่นตั้งเยอะแยะ พอหักค่าใช้จ่ายแล้ว คิดว่าผู้จัดการแบงก์ให้ 3 แบงก์เลยก็ยังสู้ไม่ได้ (หัวเราะ)”
 
P&Y Discus Farm สามารถให้คำแนะนำวิธีการเลี้ยงได้ ติดต่อ โทร. 08-6906-8577 หรือเข้าเยี่ยมชมได้ที่ www.pydiscusfarm.com 
 
 
 
 






ข่าวโดย Manager Lite /ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์

ภาพโดย วรวิทย์ พานิชนันท์









คุณอนุชิต เจ้าของฟาร์ม

กำลังโหลดความคิดเห็น