อ่านบทความที่เธอเขียนถึงนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของประเทศก็ว่าแรงแล้ว พอมาเจอตัวเป็นๆ ได้ฟังจากปากของเธอสดๆ ยิ่งจัดจ้าน ชัดเจนกว่าหลายเท่า เรียกได้ว่ากล้าวิจารณ์แบบไม่จำเป็นต้องรักษาหน้า หรือเกรงกลัวอำนาจมืดใดๆ แม้แต่นิดเดียว คนที่กำลังสงสัยว่าเธอทำไปเพราะอะไร อยากสร้างกระแสให้ตัวเองกลับมาดังในวงการอีกครั้งหรือเปล่า วันนี้อดีตนักร้องชื่อดัง “เอิน-กัลยกร” มีความจริงมานำเสนอ ความจริงที่เธอเรียกได้อย่างเต็มปากว่าถูกต้องตามระบอบ “ประชาธิปไตย”
“คุณยิ่งลักษณ์ไม่ได้รับการเลือกตั้งเพราะความสามารถของเธอเอง แต่เป็นเพราะคนต้องการผู้ชายที่อยู่เบื้องหลังเธอต่างหาก... ดังนั้นเราจะนับว่าคุณยิ่งลักษณ์เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกไม่ได้”, “คุณยิ่งลักษณ์เคยทำงานเองจริงๆ หรือไม่ หรือได้แค่ใช้วุฒิการศึกษาที่ดูดี แต่งตัวดีๆ แต่งหน้าดีๆ ไปนั่งเฉยๆ ให้บริษัทนั้นดูภาพลักษณ์ทันสมัยขึ้น แค่นั้น?” และ “รู้สึกแย่ที่ผู้หญิงซึ่งได้รับตำแหน่งใหญ่ขนาดนี้คนแรก กลับทำให้ภาพลักษณ์ของผู้หญิงด้วยกันตกต่ำลงกว่าเดิม แต่งตัวสวยๆ หน้าผมเป๊ะนั้นไม่ผิดหรอกค่ะ ที่ผิดคือทำได้แค่นั้นจริงๆ”
ทั้งหมดนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งจากประโยคเด็ดๆ ทั้งหมดที่ “เอิน-กัลยกร นาคสมภพ” แสดงทัศนะเอาไว้ในบทความ “จากผู้หญิง (ธรรมดา) ถึงผู้หญิง (ที่เป็นนายกฯ)” ผ่านทางเฟซบุ๊กส่วนตัวของเธอเอง จนกลายเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในวงกว้าง สะเทือนไปทั้งรัฐบาลอยู่พักใหญ่ๆ เรียกได้ว่าเล่นเอาอีกฝ่ายจุกจนหายใจหายคอกันแทบไม่ทันเลยทีเดียว ถ้าจะบอกว่าเธอทำไปเพราะอยากเรียกเรตติ้งให้สปอตไลต์ฉายมายังตัวเองอีกครั้งนั้น คงต้องบอกว่าผิดถนัด เพราะเธอนี่แหละเป็นคนเลือกเดินออกมาจากวงการเองในวันที่ยังมีคนรู้จัก และชื่นชอบอยู่ทั่วประเทศ
ไม่ได้อยากดัง เข้าใจเสียใหม่
“มีคนส่ง Message ทางเฟซบุ๊ก มาเมนต์ด่าหน้าวอลล์ของเอินว่า “อีนี่มันก็แค่อยากดัง อย่าไปสนใจ” โถ...แม่คุณเอ๊ย (น้ำเสียงปลงๆ) อยากจะบอกไว้ตรงนี้เลยว่าที่เอินไม่ได้อยู่ในวงการแล้ว เพราะเอินเลือกที่จะไม่อยู่ เราไม่ได้อยากดัง ดังนั้นคนที่ไม่อยากดังจะมาสร้างกระแสเพื่อ! ล่ะคะ และถ้าคุณคิดว่าเอินอยากสร้างกระแสจริงๆ ถามหน่อยเถอะว่า แล้วคุณมาช่วยปั่นกระแสเราทำไม? คุณเอาสิ่งที่เราเขียนไปพูดกันต่อ ก็เท่ากับคุณเลือกทำในสิ่งที่ค้านกับความเชื่อของคุณแล้วสิ เพราะฉะนั้นเวลามีใครว่าเอินอย่างนี้ เอินไม่เจ็บเลยนะ เพราะมันไม่จริงเลยแม้แต่นิดเดียวค่ะ”
ความจริงก็คือเธอเบื่อชีวิตแบบไม่ปกติของการเป็นดารา จึงค่อยๆ พาตัวเองออกมาจากงานเบื้องหน้า เลิกร้องเพลง แล้วหันมาจับงานเบื้องหลังแทน อาจจะฟังดูพิลึกไปบ้าง แต่เอินก็มีเหตุผลเพียงพอ
“เราไม่ชอบความดัง ไม่ได้กลัวจะสูญเสียความเป็นส่วนตัวนะคะ แค่ไม่ชอบเพราะเวลาเราเจอกับใครสักคน มันทำให้คนอื่นต้องใช้เวลานาน กว่าจะทำความรู้จักตัวตนจริงๆ ของเราได้ ทั้งที่ทุกครั้งที่ให้สัมภาษณ์ ออกทีวี เราก็เป็นเราอย่างนี้แหละ ไม่ได้เฟกอะไร แต่ภาพที่คนอื่นคิดกับเรามันเป็นอีกแบบ เช่น เป็นดาราจะต้องไม่ติดดิน พอเห็นเรากระโดดขึ้นรถเมล์ เขาจะมองเราด้วยสายตาปลื้มปีติผิดปกติ โอ๊ย! ดีเนอะ เป็นดารายังอุตส่าห์มาขึ้นรถเมล์อีก อยากจะบอกว่าดิฉันก็เป็นคนธรรมดา (เน้นเสียง) ขึ้นรถเมล์ได้ ไปทัศนศึกษากับทางโรงเรียนก็เคยไปนอนวัดเหมือนคนทั่วๆ ไปนี่แหละค่ะ ไม่ได้วิเศษวิโสมาจากไหนเลย”
ไม่ใช่ครั้งล่าสุดครั้งเดียวที่เอินต้องปวดหัวเพราะเรื่องชื่อเสียงของตัวเอง แต่เธอเจอมานับครั้งไม่ถ้วนแล้ว “ตอนเข้ามหาวิทยาลัยปีแรกจำได้เลย มีอาจารย์ท่านหนึ่งหันมาพูดกับเราว่า “ลำบากหน่อยนะหนู เรียนที่ศิลปากรจะต้องนั่งพื้นวาดรูป เราได้ยินแล้วมัน... (ถอนหายใจ) เข้าใจว่าแกหวังดีนะ คงคิดว่าเราเป็นลูกคุณหนู เคยเป็นนางเอกมาด้วย สิ่งที่เป็นเราสองอย่างมันบวกกัน คือนามสกุลของเราและการเป็นดารา เขาเลยคิดว่าเราคงไม่เคยเจอความลำบากอะไรในชีวิต เอินก็เลยเหนื่อยกับอะไรแบบนี้ไงคะ ก็เลยพยายามหนีไปทำเบื้องหลัง”
เตรียมตัวเป็นผู้จัดละครซิตคอมอยู่พักใหญ่ๆ อีกไม่กี่เดือนจะเปิดกล้องถ่ายทำจริง แต่สุดท้ายก็มีเหตุให้โปรเจกต์ล่มเพราะผลกระทบจากการเป็นคนมีนามสกุล ทำให้เกิดการเมืองภายในและภายนอกโยงกันยุ่งเหยิงไปหมด เอินจึงตัดสินใจเลือกเดินบนเส้นทางใหม่ ก้าวออกจากชีวิตในกองถ่ายที่เคยชินมาตั้งแต่สมัยถูกคุณแม่หิ้วไปทำงานด้วย แล้วเบนไปสู่สายข่าวตามที่คุณพ่อนักสื่อสารมวลชนแนะนำ
อดีตเหยี่ยวข่าวสาว
“ออกมานอนกลิ้งไปกลิ้งมาที่บ้านอยู่พักหนึ่งค่ะ เพราะตั้งแต่เป็นวัยรุ่นมาไม่เคยได้ทำ (หัวเราะเบาๆ) ทำไปสักพักคุณพ่อทนไม่ไหว ไล่ให้ไปหาอะไรทำ เลยได้ไปฝึกงานเป็นนักข่าวที่ AP (Associated Press) สำนักข่าวต่างประเทศค่ะ เป็นคน Local (ท้องถิ่น) ที่พูดได้สองภาษาคือไทยกับอังกฤษ มีหน้าที่ทำข่าวเกี่ยวกับประเทศไทยและพื้นที่ใกล้เคียง ต้องออกไปหาข่าวเอง ลงสัมภาษณ์ แล้วก็เอามาเขียน ขายข่าวจากสำนักเราให้สำนักข่าวทั่วโลกที่เขาต้องการ มันก็สนุกอยู่ช่วงหนึ่งนะ แต่พอทำไปเรื่อยๆ ก็รู้ตัวว่าไม่เหมาะ เราไม่ชอบจริงๆ”
เอินต้องทำข่าวทุกประเภทที่คาดว่าน่าจะขายได้ ซึ่งส่วนใหญ่วนเวียนอยู่แต่กับเรื่องการเมืองและข่าวอาชญากรรม โจรลักลอบเข้าเมือง ผู้ร้ายจิตวิปริตชาวต่างชาติที่หลบลี้มาอยู่ในเมืองไทย เจอแต่ข่าวร้ายๆ วนเวียนอยู่อย่างนี้จนถึงจุดที่เธอไม่สามารถทนได้อีกต่อไปแล้ว
“ข่าวที่จะขายได้ ส่วนใหญ่จะมีแต่ข่าวลบๆ คนเราพอเจอเรื่องลบๆ มากๆ เข้ามันก็ไม่ไหวนะ แล้วโดยปกติ เราก็ไม่ใช่คนที่มองว่าโลกมันสดใสขนาดนั้นอยู่แล้วด้วย ชีวิตเลยยิ่งดาร์กเข้าไปใหญ่ (หัวเราะ) จุดเปลี่ยนใหญ่ๆ น่าจะเป็นตอนที่มีเหตุไฟไหม้ตึกโตคิวซึ่งยังสร้างไม่เสร็จ เป็นตึกใหม่ที่ตั้งอยู่ตรงข้ามฟอร์จูนทุกวันนี้ เราตื่นมาตอนเช้านั่งเช็กข่าว เฮ้ย! ไฟไหม้ ไหนดูซิมีใครตายไหม พอเช็กแล้วผลปรากฏไม่มีใครตาย เฮ้อ! น่าเบื่อว่ะ ทำข่าวไม่ได้ละ คราวนี้ล่ะเราก็เลยตกใจความคิดตัวเอง งานมันทำให้เรากลายเป็นคนแบบนี้ แล้วไม่ใช่เราคนเดียวนะ นักข่าวที่ทำข่าวประเภทนี้ทุกคนก็เป็นเหมือนกัน ไม่มีใครตาย ทำข่าวไม่ได้ เพราะมันขายไม่ได้”
“อย่างข่าวภาคใต้ ตอนแรกๆ ยังขายได้อยู่ พอสักพัก มีคนตายทุกวัน ไม่มีอะไรขายแล้ว ขายได้เฉพาะที่ดรามามากๆ อย่างการวางระเบิดในโรงเรียน มีครู-นักเรียนตาย หรือแถวโรงพยาบาล แต่เชื่อไหมว่าไม่ว่าข่าวดราม่าจะขายได้แค่ไหน แต่สุดท้ายข่าวที่ขายแล้วได้เงินมากที่สุดคือข่าวแองเจลีนา โจลี รับอุปการะเด็กจากเขมร แพงยิ่งกว่าภาพข่าวสงครามที่ช่างภาพต้องไปอาบเหงื่ออาบแดดให้ได้ภาพมาเสียอีก (ยิ้มเนือยๆ) เราเลยรู้สึกว่างานแบบนี้มันไม่เหมาะกับเรา มันทำให้เรากลายเป็นคนแบบที่เราไม่อยากจะเป็น” อดีตนักข่าวสาวปิดท้ายประโยคด้วยน้ำเสียงเรียบๆ
ศักดิ์ศรีต่ำต้อยของคุณครู
ในที่สุดเธอก็วางปากกามาจับงานออกแบบตกแต่ง เปิดบริษัทของตัวเองร่วมกับพี่สาว ใช้ความรู้ความสามารถที่ได้ร่ำเรียนมาโดยตรงอยู่สักระยะ แล้วก็มีเหตุให้เอินต้องเลือกทางเดินชีวิตใหม่อีกครั้ง เนื่องจากสายป่านด้านเงินทุนที่มีอยู่ไม่ยาวพอ ลองนั่งคิดนอนคิดอยู่พักใหญ่ๆ ว่าจะเดินหน้าไปทางไหนดี แต่คิดเท่าไหร่ก็ไม่ตก กระทั่งมีเพื่อนคนหนึ่งจุดประกายความคิดว่า “ไปเป็นครูดีไหม”
“อยู่ดีๆ เราก็ปิ๊งเลย ทั้งที่ไม่เคยคิดมาก่อน ตอนนั้นยังไม่รู้เลยว่าเราจะชอบไหม คิดไม่ออกด้วยซ้ำว่าจะสอนยังไง เพราะเรารู้สึกว่างานสอนมันไม่ใช่ว่าอยู่ดีๆ อยากไปสอนก็ไปได้ อาชีพครูเป็นอาชีพที่มีความรับผิดชอบสูง คนคนเดียวมีผลกระทบต่อทุกคนในห้องเรียน กระทบได้ถึงภาพรวมการศึกษาทั้งหมด คิดว่าเป็นเรื่องซีเรียสก็เลยตัดสินใจต่อปริญญาโทครุศาสตร์อย่างจริงจัง พอเรียนใกล้จบ เห็นว่ามหาวิทยาลัยสแตมป์ฟอร์ดเขารับสมัครอาจารย์อยู่ ก็เลยไปทดลองสอน ปรากฏว่าเขาชอบเรา บอกว่าเราสอนสนุก ก็เลยได้เป็นอาจารย์พาร์ตไทม์มาตั้งแต่ตอนนั้นค่ะ”
เริ่มจากการเป็นอาจารย์วิชาภาษาอังกฤษตามความต้องการของทางมหาวิทยาลัย ด้วยสไตล์การสอนที่เข้มงวด จริงจัง แต่เน้นฮาไม่เหมือนใคร ทำให้ผู้ใหญ่ชื่นชม นักศึกษาชื่นชอบกันเป็นแถว อาจารย์เอินจึงได้รับสิทธิ์ให้สอนวิชาทฤษฎีศิลปะและวิชายิบย่อยอื่นๆ เพิ่มอีก ดูจากสีหน้าและแววตาของคนบอกเล่า ไม่บอกก็รู้ว่าเธอมีความสุขมากขนาดไหน มากเสียจนอดสงสัยไม่ได้ว่าอะไรทำให้เธอมีความสุขขนาดนี้
“มันเป็นสิ่งแรกเลยที่คิดว่าเราชอบและจะทำได้ตลอดชีวิต ตอนที่ร้องเพลงก็ชอบนะ ร้องได้ตลอดชีวิต แต่ไม่สามารถทำเป็นอาชีพได้ตลอดชีวิต เพราะเราชอบร้องเพลงแต่เราไม่ได้อยากร้องเป็นอาชีพ อย่างอื่นที่เคยทำเคยลอง ก็รู้สึกว่าทำได้ แต่ไม่เคยรู้สึกแบบนี้มาก่อน รู้สึกว่าอยากทำไปตลอดชีวิต นี่ถ้าวันหนึ่งมีคนมาบอกว่าเราสอนไม่ได้แล้ว คงเหมือนอกหักไปเลย (ยิ้มกว้าง) เอินว่าเอินชอบการได้เห็นนักศึกษาเติบโต รู้สึกภาคภูมิใจที่เขาเติบโตจากความช่วยเหลือบางส่วนของเรา ทำให้เขาเห็นโลกที่กว้างขึ้น เป็นคนมีความคิดมากขึ้น มันสนุกตรงนี้แหละค่ะ”
แต่น่าเสียดายที่อาชีพครูในประเทศไทยยังไม่ได้รับการยกย่องเชิดชูเท่าที่ควร ถึงแม้จะมีคนพูดบ่อยๆ ว่าครูเป็นเหมือนแม่คนที่สองของเด็กๆ แต่พอเอาเข้าจริงคนในสังคมก็ยังมองว่าอาชีพนี้ต่ำต้อยอยู่ดี
“เชื่อไหมว่าทุกครั้งที่บอกคนอื่นว่าเป็นครู ทุกคนหันมาถามว่าทำไมล่ะ คนส่วนใหญ่มองว่าอาชีพครูประถม-มัธยม ศักดิ์ศรีน้อยมาก เพราะรู้สึกว่าจน (ทำหน้าปลง) แต่พอเราบอกว่าเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย ปฏิกิริยาของคนฟังจะชื่นชมขึ้นมาทันที มันเป็นเรื่องของภาพลักษณ์ทั้งนั้นเลย เพราะฉะนั้นคนที่เหลือเป็นครูอยู่ทุกวันนี้เลยมีแค่สองประเภทคือ ครูที่รักจะเป็นครูจริงๆ ทุ่มเทมากๆ ชีวิตนี้ไม่ต้องคิดเรื่องความรวยแล้ว กับประเภทฉันไม่รู้จะไปทำอะไรดี สอนไปวันๆ ด้วยความขี้เกียจ ซึ่งมันมีจริงๆ นะ แล้วถ้าเราให้คนเหล่านี้มาปลูกฝังลูกหลานเรา ต่อไปในอนาคตเด็กๆ พวกนี้ก็จะต้องไปเป็นผู้นำของเรา แล้วมันจะเกิดอะไรขึ้นล่ะคะ คิดดู”
กะหรี่ทางความคิด!
ทุกคำพูดที่ออกมาจากสาวศิลปากรคนนี้ สะท้อนให้เห็นว่าเธอเป็นคนไม่แคร์ใครหรือเรียกง่ายๆ ว่า “ติสต์แตก” นั่นเอง เอินอมยิ้มให้กับการตีความดังกล่าว ก่อนเริ่มเผยตัวตนอีกด้านหนึ่งให้เราได้เห็นชัดมากยิ่งขึ้น
“ทำไมจะไม่แคร์ล่ะคะ เพราะเอินแคร์โลกนี่แหละค่ะถึงได้ทำอย่างที่ทำ แต่เอินแค่ไม่แคร์ความคิดเห็นไร้สาระเท่านั้นเอง ที่เป็นอาจารย์แบบที่เป็น ที่เข้มงวดอย่างที่เห็น ก็เพราะว่าเราแคร์ เพราะถ้าเราปล่อยให้ทุกคนอยู่อย่างสบายๆ ก็เท่ากับเราบ่มเพาะนิสัยมักง่ายให้เด็ก สุดท้ายก็กลับมากระทบต่อสังคม กระทบกับโลก เราเลยต้องแคร์ แต่เราไม่แคร์ว่าเด็กจะชอบหรือไม่ชอบ เพราะมันไม่สำคัญ เราไม่แคร์ว่าสิ่งที่เราพูดออกไป คนจะชอบหรือเปล่า ไม่แคร์ว่าบทความที่เขียนจะทำให้คนเกลียดขนาดไหน เพราะมันคือความจริงที่เราเห็น“ ว่าแล้วเธอก็เริ่มเข้าเรื่องที่หลายต่อหลายคนอยากรู้มากที่สุด
“หลังจากเขียนบทความออกไป โดนด่าเยอะเหมือนกันค่ะ แต่ไม่เคยท้อ เพราะคำด่าส่วนใหญ่ที่ได้รับไม่ค่อยมีเหตุผลเท่าไหร่ แต่พูดตรงๆ ว่ามีบางครั้งที่รู้สึกกระเทือนเข้าไปถึงข้างใน เพราะคำบางคำมันแรงจริงๆ เช่น เคยมีคนส่ง Message มาด่าเราทางเฟซบุ๊กว่าเป็น “กะหรี่ทางความคิด” กับ “กะหรี่ทางการเมือง” คำมันแรงนะ แต่พอมานั่งคิด ก็ไม่รู้จะเสียใจยังไงเหมือนกัน เพราะไม่รู้ว่ามันแปลว่าอะไร แล้วเขาก็ไม่ได้เขียนอธิบายอะไรมากมาย หลักๆ ที่เขียนมาก็มีแต่คำด่านี่แหละค่ะ ก็เลยงงๆ”
“ถ้ากะหรี่ของคุณหมายความว่าผู้หญิงขายบริการ ซึ่งผู้หญิงขายบริการแปลว่าคนที่ขายตัวเพื่อแลกเงิน เพราะฉะนั้น “กะหรี่ทางการเมือง” น่าจะหมายความว่าคนที่ทำอะไรสักอย่างทางการเมืองเพื่อแลกเงิน แต่เอินไม่ได้ทำ เอินเลยไม่เจ็บ ส่วน “กะหรี่ทางความคิด” โห! คำนี้มันกระแทกมาก (เน้นเสียง) รุนแรงเลย แต่จะเจ็บยังไงดีวะเนี่ย เราจะขายความคิดยังไงดีวะเพื่อแลกเงิน คิดไม่ออกจริงๆ” เธออธิบายให้ฟังด้วยลีลากวนๆ ก่อนตบท้ายด้วยรอยยิ้มงงๆ
เพื่อแสดงให้เห็นว่าเธอเชื่อในระบอบประชาธิปไตยขนาดไหน เอินยืนยันว่า เธออ่านทุกคอมเมนต์ ทุกข้อความที่ส่งเข้ามาทางเฟซบุ๊ก ไม่ว่าเขียนชมหรือด่าจะไม่มีการลบทิ้งแม้แต่ความเห็นเดียว “แต่ถ้าตั้ง Status ส่วนตัวขึ้นมาซึ่งไม่เกี่ยวกับเรื่องการเมืองหรือเรื่องบทความ แล้วมีคนมาเขียนด่าเราในนั้น เราลบค่ะ แต่เอินจะเขียนบอกเขาว่าขออนุญาตลบนะคะ เพราะกระทู้นี้ไม่เกี่ยว ถ้าอยากจะด่า ให้ไปด่าใน Note บทความแทน” ส่วนเรื่องอยากดังเพื่อสร้างกระแสนั้น เธอก็ปฏิเสธการรับงานบันเทิงทั้งหลายแหล่ที่ติดต่อเข้ามาไปแล้ว เพื่อพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าที่เขียนไปทั้งหมดแค่เพราะอยากเขียน “ในฐานะประชาชนคนหนึ่งเท่านั้นเอง”
“ส่วนคอมเมนต์ที่ทำให้เสียใจมากที่สุด ไม่ใช่คอนเมนต์เรื่องหน้าตา หรือถูกด่าว่าโง่ แต่มีคนบอกว่าที่เราทำแบบนี้ คงสอนให้ลูกศิษย์ทำเหมือนกันล่ะสิ อันนี้เอินโกรธมากเพราะว่าเขาดูถูกลูกศิษย์เราว่าลูกศิษย์เราไม่ฉลาด เขาดูถูกอาจารย์ว่าอาจารย์ไทยเป็นคนไม่มีจรรยาบรรณ มันเป็นเรื่องเล็กๆ แต่อยากให้คิดนิดหนึ่งค่ะ อย่ามักง่ายเวลาพูดอะไรออกมา หรือถ้าเขาเชื่อแบบนี้ คิดแบบนี้จริงๆ อาจจะแสดงว่าเขาเองก็ถูกชักจูงโดยคนอื่นง่ายๆ เหมือนกัน ซึ่งเอินก็เสียใจแทนเขาค่ะที่เขาคิดเองไม่เป็น”
ถึงเวลาจดหมายถึงนายกฯ
อะไรจุดประกายให้ผู้หญิงคนหนึ่งที่นิ่งเงียบอยู่นาน ลุกขึ้นมาเขียนวิจารณ์นายกฯ แบบจัดเต็มขนาดนี้? หลายคนคงสงสัยเหมือนกัน เอินหัวเราะหึๆ ในลำคอ ก่อนตอบด้วยน้ำเสียงจริงจังปนขี้เล่นว่า “อ่านแล้วไม่รู้จริงๆ เหรอคะว่าเพราะอะไร”
เรื่องของเรื่องก็คือเอินเป็นคนชอบคิดชอบเขียนอยู่แล้ว ถ้าเคยติดตามเฟซบุ๊กของเธอก่อนเกิดเหตุ จะรู้ว่าเอินมักหยิบเรื่องราวที่พบเจอมาเขียนลงในบล็อกส่วนตัวและใน Note ของเฟซบุ๊กเป็นประจำ หลักๆ เป็นเรื่องการศึกษา แต่งกลอนเมื่อมีอารมณ์ เรื่อยไปจนถึงเขียนเพ้อเจ้อบ้างในบางครั้ง ครั้งนี้ก็เป็นแค่ประเด็นทางสังคมอีกเรื่องหนึ่งที่เข้ามากระทบใจ ทนนิ่งเฉยกับการทำงานของนายกฯ หญิงคนแรกของประเทศไม่ได้อีกต่อไป จึงต้องออกมาเตือนในฐานะเพื่อนร่วมเพศเดียวกันเสียหน่อย เท่านั้นเอง
“ตั้งแต่วันที่รัฐบาลนี้เข้ามาบริหารโดยมีคุณยิ่งลักษณ์เป็นผู้นำ เอินยังไม่เคยเขียนว่าเต็มๆ สักครั้งเลยนะ เพราะคิดว่าเราต้องให้โอกาสคน ต้องเคารพในประชาธิปไตย เมื่อเขาได้คะแนนเสียงมากที่สุด เราก็พร้อมจะยอมรับและคอยดูผลงาน ตอนแรกๆ ที่คนออกมาว่าเขาใส่รองเท้าเบอเบอรี่ลุยน้ำ เอินไม่เคยว่าเลยนะ เป็นคนเขียนในเฟซบุ๊กด้วยซ้ำว่าใครจะใส่รองเท้าอะไรแล้วมันเกี่ยวอะไรด้วยวะ ทำได้-ไม่ได้ มันไม่ได้อยู่ที่รองเท้านะเว้ย ก็เขาเป็นผู้หญิง อยากแต่งตัวมันผิดตรงไหน แต่พอเวลาผ่านไป ภาพลักษณ์ของผู้หญิงทำงานยิ่งตกลงเรื่อยๆ เอินก็เลยต้องออกมาเขียน เพราะเราเองก็ทนไม่ได้เหมือนกัน”
ที่ทนไม่ได้ก็เพราะเอินเคยเจอเหตุการณ์กดขี่ทางเพศมาแล้วหลายต่อหลายครั้ง และทุกครั้งเธอพยายามต่อสู้ด้วยความสามารถที่มี เพื่อให้เหล่าผู้ชายสมองตื้นเข้าใจว่า “ผู้หญิงก็ทำงานได้เก่งพอๆ กับผู้ชาย”
“เจอมาหลายที่แล้วค่ะที่ไม่ให้เกียรติผู้หญิง พูดตรงๆ ว่าถึงแม้ทุกวันนี้จะอ้วน แต่หน้าตาดิฉันก็ไม่ได้ขี้เหร่ (ยิ้ม) ก็เลยเจอพวกที่เข้ามาพยายามหาเศษหาเลยด้วย มีคนหนึ่งเป็นเจ้านาย เจอกันวันแรกขอให้เราหมุนตัวให้ดูเลย (เลิกคิ้ว) เลวป่ะล่ะ อีกคนเรียกเข้าไปคุยในห้องประชุม บอกว่าจะให้ตำแหน่งงานเรา พอเข้าไปนั่งกลับไม่ได้คุยเรื่องงาน แต่คุยแบบจีบอ่ะ เฮ้ย! อะไรเนี่ย! เอินเคยได้งานที่ปกติคนไทยจะไม่ได้ เพื่อนที่ทำงานบอกว่าดีเนอะ เป็นคนสวยทำอะไรก็ได้ โอ้โห! โคตรโมโหเลย การที่เราเป็นผู้หญิง ความสามารถเราถูกมองข้ามไปแล้วครึ่งหนึ่ง แต่ถ้าคุณเป็นผู้ชาย ความสามารถของคุณก็ถูกมองเห็นได้ง่ายกว่า”
“ผู้หญิงทำงานก็เลยต้องต่อสู้เพื่อสร้างภาพลักษณ์ตรงนี้ในสังคมไงคะ ให้เขารู้ว่าผู้หญิงไม่ได้เก่งแค่งานจุ๊บจิ๊บหรือใช้อารมณ์อย่างเดียว เพราะฉะนั้นคนที่เข้าไปรับตำแหน่งใหญ่โตระดับประเทศจะเป็นคนที่ทำให้ภาพลักษณ์ของผู้หญิงทำงานดีขึ้นได้ ถ้าคุณเป็นคนแข็งแรง เป็นคนทำงาน แล้วทำออกมาให้ทุกคนเห็น คิดดูว่าผู้หญิงคนหนึ่งคุมแม่ทัพของประเทศได้ สั่งได้ โอ้โห! มันโคตรเท่เลยนะ เราก็หวังมาก อยากเห็นภาพแบบนั้น เชื่อไหม เอินไม่ได้สนับสนุนพรรคก็จริง แต่สนับสนุนผู้หญิงว่ะ จะว่าลำเอียงก็ช่าง แต่ฉันสนับสนุนผู้หญิงให้บริหารประเทศ แต่ดูสิ ทำงานอย่างเนี้ย!” เธอส่ายหน้าเบาๆ แล้วตบท้ายด้วยการถอนหายใจยาวๆ
ยิ่งลักษณ์ = ยิ่งเละ
“ถ้าเก่งนักก็ไปเป็นนายกฯ เองเลยสิ” มักมีคำท้าทายแบบนี้ปรากฏขึ้นมาทุกครั้งที่รัฐบาลสมัยใดก็ตามถูกโจมตี สำหรับเอินแล้วเธอยืนยันหนักแน่นว่าเป็นความคิดที่ผิด และอยากให้คนที่ชอบพูดประโยคนี้รู้เอาไว้เลยว่า “ทุกคนต้องลองไปเป็นนายกฯ ก่อนเหรอคะ ถึงจะด่านายกฯ ได้ มันไม่ใช่ค่ะ ประชาชนทุกคนมีสิทธิด่ารัฐมนตรี มีสิทธิด่ารัฐบาล ด่านายกรัฐมนตรี ในฐานะที่เป็นประชาชนซึ่งได้รับผลกระทบจากการทำงานของรัฐบาล ซึ่งเอินก็เป็นหนึ่งในคนเหล่านั้น”
“เพราะถ้าเก่งพอ มีความสามารถพอ ก็คงไปลงเลือกตั้งแล้วล่ะค่ะ แต่พอดีรู้ตัวเลยไม่ได้ทำ การดูแลคนทั้งประเทศเนี่ย งานใหญ่มากๆ นะคะ คือถ้าคิดว่าตัวเองไม่มีปัญญา กรุณาอย่าทำ อันนี้ไม่ได้ด่าคนใดคนหนึ่งนะ พูดถึงทุกคนเลยค่ะ ส.ส.ทุกคน ถ้าคุณบอกว่าคุณจะมารับเลือกตั้ง ไม่ว่าคุณจะได้รับเลือกหรือไม่ก็ตาม แค่คุณออกมาสมัคร นั่นหมายความว่าคุณกำลังบอกชาวบ้านว่าฉันดูแลเธอได้นะ เธอฝากชีวิตไว้กับฉันได้ คนที่เป็นนายกฯ หมายความว่าฉันดูแลคน 70 ล้านคนได้ ฉันพัฒนาประเทศนี้ได้ คุณต้องมั่นใจแล้วว่าตัวเองมีศักยภาพเพียงพอ อย่างน้อยต้องเป็นคนที่บริหารงานเป็นค่ะ”
เอินยืนยันว่าเธอไม่ได้เขียนวิพากษ์วิจารณ์เรื่องการบริหารจัดการน้ำของรัฐบาลนี้ลงไปในบทความ แต่ที่เน้นคือบุคลิกภาพของคุณยิ่งลักษณ์ที่แสดงออกมาแล้วทำให้ภาพลักษณ์ของผู้หญิงเสียหาย ส่วนจะเสียหายหนักขนาดไหน ไปฟังจากปากของเธอเอง
“เขาเป็นนายกฯ ผู้หญิงคนแรกของประเทศไทยนะคะ มีความสำคัญอย่างยิ่งที่จะทำให้ผู้หญิงดูดีขึ้น (หน้าตาผิดหวัง) แต่ที่ผ่านมาไม่เคยพูดรู้เรื่อง ถามว่ามีความจำเป็นไหมที่จะต้องพูดจาดี๊ดี ฉะฉานทุกคำพูด ไม่จำเป็นเลยค่ะ เราเข้าใจว่าคุณไม่ใช่นักพูด แต่หนึ่งในงานของคุณคือการสื่อสาร คุณต้องสื่อสารกับลูกน้อง ต้องสื่อสารกับประชาชนทั้งประเทศ ถ้าคุณพูดไม่รู้เรื่อง คุณจะทำงานนี้ได้ยังไง มาถึงจุดหนึ่งที่ใครถามคำถามอะไรก็ตอบไม่ได้ มันตีความได้สองอย่างค่ะ คือคุณไม่รู้เรื่องเพราะฟังคำถามไม่เข้าใจ หรือคุณไม่รู้เรื่องเพราะไม่รู้ว่าคนในรัฐบาลคุณทำงานอะไรบ้าง อ้าว! แล้วเป็นผู้นำได้ยังไงวะเนี่ย!”
“มีวิดีโอหนึ่งจำได้เลยค่ะ นักข่าวถาม “ท้อไหมคะ” นายกฯ ทำอย่างนี้เลย (เอามือมาพัดที่หน้า) “หายใจลึกๆ ค่ะหายใจลึกๆ... (กะพริบตาปริบๆ) ไม่ท้อค่ะ” หลังจากนั้นก็ให้สัมภาษณ์ว่าแค่มีอารมณ์ร่วมกับประชาชน... ไม่เป็นไรค่ะ ร้องไห้ครั้งแรกเราไม่ว่า แต่ร้องบ่อยๆ เข้า เอินว่าคุณไม่มีสภาพสติ สภาพจิตใจ สภาพอารมณ์ความรู้สึกที่มั่นคงพอที่จะเป็นผู้นำคนแล้วล่ะค่ะ เพราะมันไม่ได้แสดงให้เห็นถึงความอ่อนแอ แต่แสดงให้เห็นถึงสภาพอารมณ์ที่แปรปรวน ซึ่งมันไม่น่าจะใช่สิ่งที่ผู้บริหารประเทศควรจะเป็น ถามว่ามันผิดไหมที่เขาร้องไห้ มันไม่ผิดหรอกค่ะ” ท่าทีของเอินไม่ต่างอะไรจากอาจารย์ที่กำลังเตือนลูกศิษย์
ปิดประเด็นเรื่องเศร้าเคล้าน้ำตากันไป ยังมีสามประโยคเด็ดต่อไปนี้ที่เธอรับฟังบ่อยครั้งจนแทบอ้วก คือ “ไม่ท้อค่ะ” “อย่าจับผิดค่ะ” “ขอโอกาสค่ะ” แล้วก็ “ขอความยุติธรรมค่ะ” โดยเฉพาะประโยคท้ายสุดที่ทำให้เอินของขึ้น
“นักข่าวถาม นายกฯ ตอบว่า “ส่วนคนที่ต่อว่าการทำงานของรัฐบาล ก็ขอความยุติธรรมค่ะ” ได้ยินแล้วเอินโมโหมาก โมโหที่อยู่ดีๆ คุณมาเป็นนางเอกใส่ดิฉัน กลายเป็นว่าประชาชนที่ออกมาวิจารณ์คุณไม่ยุติธรรมอย่างนั้นเหรอ นายกฯ มองว่าเราคือผู้ร้ายต้องการกลั่นแกล้งท่านเหรอคะ แสดงว่ารัฐบาลและนายกรัฐมนตรีไม่ได้รับฟังเสียงที่วิจารณ์ออกไปเลยสิคะ ถามกลับได้ไหมคะว่ามันยุติธรรมกับประชาชนอย่างพวกเราไหม... เอินว่าไม่ค่ะ” น้ำเสียงของเธอหนักแน่น ชัดถ้อยชัดคำ
นี่ต่างหากผู้หญิงเก่ง!
“เอินไม่รู้ว่าจริงๆ แล้วคุณยิ่งลักษณ์ทำงานเก่งไหม แต่ภาพลักษณ์ที่ออกมามันทำให้ดูเหมือนว่าเขาทำงานไม่เป็น ถ้าคุณทำงานเก่ง ทำงานเป็นจริงๆ คุณต้องทำออกมาให้คนดูเห็นให้ได้ แต่ตอนนี้เรายังมองไม่เห็นเลยค่ะ”
ไม่ได้อยากบอกว่าฉันดีกว่าเธอ หรือเธอไม่เก่งเท่าฉัน แต่เอินขอยกตัวอย่างง่ายๆ จากงานสอนของตัวเองมาเปรียบเทียบให้เห็นภาพได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น “ถึงมันอาจจะเล็กน้อยมาก เปรียบเทียบกับงานระดับประเทศไม่ได้ แต่เวลาเอินจะสอนหนังสือ เอินต้องรู้ว่าเด็กที่เอินจะสอนอายุเท่าไหร่ มีใครบ้าง ต้องรู้เนื้อหาที่จะสอน รู้ว่าครอบคลุมไปถึงขั้นไหน แล้วคุณมาเป็นรัฐบาล คุณรู้ไหมว่าหนึ่งในหน้าที่ของตัวเองคือการดูแลบริหารภาพรวมของประเทศ และถ้ารู้แล้วต้องทำยังไง”
“อย่างเรื่องน้ำท่วม มีคนบอกว่าที่มันท่วมเพราะน้ำมันเต็มเขื่อนมาอยู่แล้วตั้งแต่ก่อนรัฐบาลชุดนี้จะเข้ามา เอินลองไปเช็กข้อมูลดู ก็ปรากฏว่าจริงค่ะ มันปริ่มๆ เขื่อนตั้งแต่สิงหาฯ รัฐบาลนี้เข้ามาต้นสิงหาฯ เป็นช่วงเปลี่ยนถ่ายอำนาจ เห็นด้วยค่ะว่ามันลำบากจริงๆ แต่ในวันที่คุณก้าวเข้ามาเป็นรัฐบาล คุณไม่รู้งานจริงๆ เหรอว่าต้องทำยังไง แล้วนี่คนในรัฐบาลของคุณเองก็เพิ่งออกมายอมรับว่าเป็นคนประกาศชะลอน้ำ เพราะฉะนั้น หัวเรือใหญ่ นายกฯ ของประเทศก็ย่อมต้องร่วมรับผิดชอบด้วย จะผลักความรับผิดชอบไปได้เท่าไหร่กันเชียว”
เห็นพูดถึงแต่ภาพลักษณ์เสียๆ หายๆ ของผู้หญิง ถามว่าแล้วต้องเป็นแบบไหนกันแน่ถึงจะเรียกได้ว่าเป็น “ผู้หญิงเก่ง” อย่างที่เอินนับถือ เธอนิ่งคิดสักครู่ก่อนให้คำตอบ
“เราจะต้องแข็งแรงยิ่งกว่าคนอื่นค่ะ แสดงความอ่อนแอไม่ได้เลย ถ้าผู้ชายน้ำตาคลอ เรายิ่งน้ำตาคลอไม่ได้ หรืออย่างน้อยถ้าร้องไห้แล้ว คุณจะต้องแยกเรื่องอารมณ์ส่วนตัวกับเรื่องงานออกจากกันอย่างสิ้นเชิงยิ่งกว่าใครทั้งนั้น เพราะยิ่งเป็นผู้หญิง เขายิ่งตราหน้าไว้อยู่แล้วว่าต้องใช้อารมณ์เป็นตัวตัดสิน เพราะฉะนั้น ผู้หญิงเก่งต้องไม่ท้อค่ะ บอกตัวเองว่าสักวันหนึ่งฉันจะทำให้เห็นว่าฉันที่เป็นผู้หญิงนี่แหละก็สามารถทำงานใหญ่โตได้ และจะทำให้ดีกว่าพวกคุณที่คอยเอาเรื่องเพศมาคอยกะลิ้มกะเหลี่ย หาผลประโยชน์ใส่ตัวด้วย”
สุดท้ายแล้วไม่ว่าจะเป็นผู้หญิง ผู้ชาย กะเทย เกย์ ทอม หรือดี้ เอินบอกว่าอยากให้ตัดสินกันที่ความสามารถจะดีกว่า อย่าเอาความได้เปรียบเรื่องเพศมาเอารัดเอาเปรียบคนอื่น แม้กระทั่งผู้หญิงเองก็ไม่ควรใช้เรื่องเพศมาเป็นข้ออ้างในการทำงานเพื่อให้ตัวเองสบายยิ่งขึ้นเหมือนกัน
“ตอนที่มีนักข่าวถามคำถามนายกฯ นายกฯ ไม่ยอมตอบแล้วเดินหนีไป จากนั้นหันมาพูดว่า “ยิ้มหน่อยสิคะ” คือเอินไม่เข้าใจน่ะค่ะ ทำไมล่ะคะ นายกฯ คนอื่นที่เป็นผู้ชายก็ถูกนักข่าวถามกระแทกกระทั้นแบบนี้เหมือนกัน นายกฯ ทุกคนเคยโดน อาจจะแรงกว่าด้วยซ้ำ แต่คุณกลับใช้ด้านอ่อนแอของความเป็นผู้หญิงมาเป็นเครื่องมือ เอินรับไม่ได้จริงๆ ค่ะ” ดูเหมือนว่าการพูดคุยกันครั้งนี้จะทำให้เธอส่ายหน้าด้วยความเอือมระอาบ่อยครั้งเสียจริงๆ
อย่ายอมให้ “ความบิดเบี้ยว”
เห็นวิจารณ์จัดจ้าน ชัดเจน ตรงไปตรงมาแบบนี้ ขอถามอีกครั้งว่า “กลัวบ้างไหม?” เอินยิ้มปนขำแล้วตอบว่า “กลัวค่ะ... ไม่ได้กลัวคนด่า ไม่ได้กลัวถูกประทุษร้ายเลยนะ แต่กลัวความดัง เพราะเราบอกแล้วว่าเราออกจากวงการเพราะไม่ชอบความดัง ปัญญาอ่อนป่ะ (หัวเราะ)”
“แต่ก็ยังดีกว่าเมื่อก่อนค่ะ เพราะอย่างน้อยคนก็ได้รู้จักเราจากตัวตนจริงๆ รู้จักจากความคิดของเรา แสดงว่าเขาได้รู้จักเรามากกว่าสมัยก่อน เราก็เลยกระทบน้อยลง เรายังใช้ชีวิตเหมือนเดิมได้ วันไหนวีนก็วีน วันไหนไม่วีนก็ไม่วีน มันไม่เหมือนเมื่อก่อนที่แค่เพราะเป็นดารา เราถึงต้องยิ้ม ยิ้มแบบไม่มีเหตุผลก็ต้องทำ วันไหนฉันอารมณ์ไม่ดีก็ต้องยิ้ม มันเหมือนเราสูญเสียความเป็นมนุษย์ธรรมดาไปน่ะค่ะ แต่วันนี้ถึงจะมีกระแสบทความของเราให้คนสนใจขึ้นมา แต่เอินว่าเอินก็ยังเป็นมนุษย์ธรรมดาได้ ก็เลยยังโอเคค่ะ เพียงแต่เฟซบุ๊กอาจจะคึกคักขึ้นมานิดหนึ่ง (ยิ้มปลงๆ)”
แล้วไม่กลัวถูกขังบ้างเหรอ? เธอหัวเราะหึๆ อย่างคนขี้เล่นให้แก่คนถามแทนคำตอบ ก่อนเผยความในใจว่า “กลัวสิคะ (ยิ้ม) แต่ที่ผ่านมาที่เอินวิจารณ์นายกฯ มันก็แค่เรื่องการทำงานเท่านั้น ไม่เคยไปว่าเขาในเรื่องส่วนตัว เพราะเราเคารพพื้นที่ส่วนตัวของเขา ซึ่งการวิจารณ์มันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนอยู่แล้ว เอินเชื่อว่าเอินไม่ได้ทำผิดกฎหมายนะ ไม่ได้ไปพูดหมิ่นประมาทใคร แค่แสดงความคิดเห็นในสิ่งที่เชื่อว่ามันคือความจริง ถามว่าโดนฟ้องหรือยัง ยังค่ะ ถามว่าจะโดนไหม ไม่แน่ใจเหมือนกัน แต่ถ้าโดนฟ้อง เอินไม่กลัวนะ อย่างน้อยถ้ามันเป็นไปตามระเบียบกฎหมาย เอินรับได้”
ส่วนเรื่องมือมืดที่อาจมาลอบทำร้ายเพราะความภักดีต่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งนั้น เอินบอกว่าเจอมาบ้างเหมือนกัน แต่ไม่ร้ายแรงมาก เพียงแค่เขียนมาขู่ว่า “มึงไม่ได้อยู่ดีแน่” ตอนแรกเธอเองก็หวั่นๆ อยู่เหมือนกัน แต่คิดสรตะแล้ว จึงได้คำตอบว่าต่อให้กลัวไปก็ไม่มีประโยชน์อยู่ดี
“ถ้ากลัวแล้วจะต้องหยุดก็เท่ากับว่าเรายอมให้ถูกข่มขู่ได้ ซึ่งเอินเป็นคนเชื่อในระบอบประชาธิปไตยอย่างรุนแรงมาก เพราะฉะนั้น พอมีคนมาขู่แล้วเอินเงียบ ก็เท่ากับว่าเรายอมให้ประชาธิปไตยมันบิดเบี้ยวไปพร้อมกับคนที่ขู่เรา ซึ่งเอินยอมไม่ได้ค่ะ มันก็เหมือนกับการตั้งค่าในเฟซบุ๊กนั่นแหละ เพื่อนบอกให้กำหนดคนที่เข้ามาดู เพราะมีคนเอารูปส่วนตัวของเอินไปโพสต์ด่าตามที่ต่างๆ แต่เอินไม่เปลี่ยนเพราะไม่อยากเปลี่ยนวิถีชีวิตของเราเพราะมีคนมาคุกคามเรา เมื่อไหร่ที่เราเปลี่ยน แสดงว่าเรายอมให้แก่สิ่งที่มันบิดเบี้ยว ซึ่งทุกคนก็ต้องห้ามยอม เพราะเมื่อไหร่ก็ตามที่เรายอม ความบิดเบี้ยวก็จะเข้ามาคืบคลานทันที”
หลายคนถามว่าจะมีจดหมายถึงนายกฯ ฉบับที่สองหรือไม่ เธอตอบแบบไม่ต้องคิดว่า “ไม่มีค่ะ” ส่วนเหตุผลก็คือ “เราไม่ได้เขียนเพื่อสร้างกระแส มันไม่เหมือนการทำอัลบั้ม ต้องรีบทำอัลบั้มที่สอง ก่อนที่อัลบั้มแรกจะหมดกระแสไป มันไม่ใช่อย่างนั้นค่ะ เอินแค่เขียนเพราะอยากเขียน ถ้าไม่มีอะไรให้เขียน ก็ไม่เขียน” แต่ถึงแม้จดหมายถึงคุณยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จะไม่ใช่ฉบับถัดไป แต่แว่วๆ มาว่าเธอกำลังร่างฉบับที่สองถึงผู้ที่อยู่เบื้องหลังบางคน คอการเมืองคงต้องรอติดตามเฟซบุ๊กที่สุดแสนจะตรงประเด็นของเธอคนนี้ด้วยใจจดใจจ่อ
---ล้อมกรอบ---
กรุณาอย่าเบี่ยงประเด็น
หลังจากเอินเขียนบทความถึงคุณยิ่งลักษณ์ไป ก็มีบทความอีกฉบับโต้ตอบออกมาทันที โดยใช้ชื่อว่า "จดหมายจากคลองกระจง ถึง คุณเอิน กัลยกร นาคสมภพ" ในเนื้อหาส่วนใหญ่พยายามคัดค้านความคิดเห็นของเอิน โดยเฉพาะเรื่องที่เอินกล่าวหาว่าที่นายกฯ หญิงได้ตำแหน่งนั้น ไม่ได้มาจากความสามารถตัวเอง “ปฐม พยัคฆ์ร้ายแห่งคลองบางหลวง” ซึ่งเป็นผู้เขียนจึงตอบกลับว่าที่เอินเข้าวงการได้ก็เพราะมีคุณพ่อคุณแม่หนุนหลังอยู่เหมือนกัน เกี่ยวกับเรื่องนี้ เธอได้อธิบายเอาไว้แจ่มแจ้งว่า
“เอินยอมรับค่ะว่าผู้หญิงทั่วโลกที่สามารถขึ้นเป็นผู้นำได้ มีคนอื่นอยู่เบื้องหลังแทบทั้งนั้น และเอินก็ไม่ได้ว่าอะไร แต่ที่เอินว่าคือคนที่มีคนอื่นอยู่เบื้องหลังแล้วยังทำอะไรไม่ได้อีกต่างหากค่ะ ส่วนเรื่องที่บอกว่าเอินเข้าวงการมาได้เพราะนามสกุล ผิดค่ะ เพราะเอินเข้ามาได้ด้วยการประกวดสาวแพรว สมัยนั้นยังงามอยู่ค่ะ ไม่เหมือนสมัยนี้ (ยิ้ม) แล้วถ้าจะหาว่าเล่นเส้นก็เท่ากับว่าคุณกำลังดูถูกบริษัทอมรินทร์พริ้นติ้ง เจ้าของแพรวและสุดสัปดาห์นะคะ ซึ่งเอินยอมไม่ได้เพราะเขามีบุญคุณกับเอิน”
“แต่ถ้าบอกว่าเอินเติบโตมาในวงการได้เพราะมีแม่อยู่เบื้องหลัง เป็นผู้จัดละคร อันนี้ยอมรับว่ามีส่วนมากเหมือนกัน ส่วนเรื่องได้ออกเทปก็ไม่เกี่ยวกับนามสกุลคุณพ่อค่ะ แต่เป็นเพราะร้องเพลงแล้วฟังดูดีค่ะ แล้วตอนนั้นเป็นนางเอกอยู่ด้วย ก็เหมือนกับนางเอกคนอื่นๆ ที่ได้ออกเทปนั่นแหละค่ะ ทำไมไม่ไปว่าเขาบ้างล่ะ” เคลียร์ทุกคำถาม ชัดเจนเปลี่ยน
ไม่ใช่เหลือง ไม่ใช่แดง ขอบอก...
ใครๆ ก็รู้ว่า ดร.นิพนธ์ นาคสมภพ ซึ่งเป็นผู้อำนวยการช่องเอเอสทีวีอยู่ในตอนนี้คือคุณพ่อของเอิน หลายคนจึงเหมารวมไปว่าที่เธอออกมาพูดเพราะเป็นนอมินีของคุณพ่อ ผู้ถูกกล่าวหาจึงขอบอกเอาไว้ตรงนี้เลยว่ามันผิด พร้อมกับแสดงเหตุผลอย่างเปิดเผยแบบสุดๆ
“พ่อเป็นเหลือง ลูกเป็นแดง เคยเห็นป่ะ? แม่เป็นแดง พ่อเป็นเหลือง เคยเห็นมั้ย? ถ้าคนจะคิดว่าเอินเขียนบทความนี้แค่เพราะว่าพ่อทำงานที่ผู้จัดการ อยากบอกว่าคุณตื้นมาก แต่ก็เข้าใจค่ะ เพราะคนเราจะคิดยังไง มันก็ขึ้นอยู่กับประสบการณ์ชีวิตที่เขาเคยเจอมา ถ้าคุณตัดสินคนอื่นแบบนั้น แสดงว่าทุกครั้งที่คุณออกมาแสดงความคิดเห็นอะไรสักอย่าง มันเป็นเพราะมีคนบอกให้คุณทำเหรอ แต่สำหรับเอินมันไม่ใช่นะ เอินพูดเพราะเอินอยากพูดค่ะ”
“ยอมรับค่ะว่าเคยไปชุมนุมเสื้อเหลือง เพราะเห็นหลายสิ่งหลายอย่างในระบอบทักษิณที่เอินคิดว่ามันเป็นการทำลายรากฐานทางสังคม โดยเฉพาะนโยบายแปลงสินทรัพย์ให้เป็นทุน เอินเกลียดที่สุด เพราะมันคือการบอกชาวบ้านว่าเอาบ้านมึงมาแล้วเอาเงินไป มึงไม่มีบ้านแล้วนะ แต่มึงมีเงิน (ส่ายหน้า) คือถึงเขาจะสูญเสียที่นา ติดหนี้มากมาย แต่อย่างน้อยให้เขายังเหลือที่ตายได้ไหม ไม่เห็นด้วยมากๆ ก็เลยไปเข้าร่วมชุมนุมค่ะ"
"อีกเหตุผลหนึ่งก็เป็นเพราะก่อนหน้าที่รายการของคุณสนธิ ลิ้มทองกุล จะถูกถอด มันมีคนอื่นที่เคยถูกกระทำแบบเดียวกันมาแล้ว แต่ไม่เป็นข่าว และเราเผอิญได้ไปรับรู้มา พอถึงเวลาที่มีคนโดนอีก เราก็เลยไปเข้าร่วม แต่ ณ วันที่ไปปิดสนามบิน โดยส่วนตัวไม่เห็นด้วย เพราะคิดว่ามันจะกระทบภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศ เราก็เลยไม่ไปค่ะ”
สรุปคือเธอเคยเป็นเสื้อเหลือง แต่เห็นว่ามีทัศนคติบางอย่างที่ไม่ตรงกันในบางเรื่อง ก็เลยถอยตัวเองออกมา แต่ก็ไม่ได้เกลียดเสื้อแดงอย่างที่หลายคนเข้าใจ ไม่ได้ต่อต้านคนที่ออกมาชุมนุมเพื่อคนชนชั้นรากหญ้าจริงๆ เธอเป็นแค่คนที่ไม่ได้บอกว่าตัวเองเป็นเสื้อสีอะไร ถ้าฝ่ายไหนมีเหตุมีผล ก็รับฟัง แต่ถามว่าเธอเป็นกลางไหม เอินบอกว่า “พูดได้เต็มปากเลยค่ะว่าไม่เป็นกลาง แต่ไม่ได้หมายความว่าเลือกเทไปข้างใดข้างหนึ่ง เพราะแค่เราเห็นพระอาทิตย์ตก เราบอกว่าสวย เท่านี้ก็ไม่เป็นกลางแล้ว ทุกเรื่องบนโลกใบนี้ เราก็เลือกตัดสินจากความคิดของตัวเองทั้งนั้น”
ประวัติส่วนตัว
ชื่อ-สกุล : เอิน-กัลยกร นาคสมภพ
วันเกิด : 24 สิงหาคม 2526
การศึกษา : มหาวิทยาลัยศิลปากร คณะมัณฑนศิลป์ สาขาประยุกตศิลป์ และปริญญาโทจากมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ (เอแบค) คณะครุศาสตร์
อาชีพ : อาจารย์พาร์ตไทม์ มหาวิทยาลัยนานาชาติสแตมป์ฟอร์ด และสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์
ข่าวโดย Manager Lite/ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์
ภาพโดย... พลภัทร วรรณดี
ขอบคุณสถานที่ : ร้าน Library (พระราม 9)