xs
xsm
sm
md
lg

สัมผัสแรก ‘บ้าน’ ความหมายของชีวิต ‘หลังน้ำท่วม’

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


คำว่า 'บ้าน' เป็นคำที่มีความหมายสำหรับคนทุกคน เพราะนอกจากบ้าน จะเป็นที่อยู่ที่อาศัยแล้ว ในอีกมิติหนึ่ง บ้าน คือที่ที่คนเราใช้จ่ายวันเวลากับมันไปมากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นการใช้ช่วงเวลาแห่งความสุขความอบอุ่นกับครอบครัวและคนที่เรารัก หรือจะเป็นช่วงเวลาที่ยากลำบากของชีวิต หลายๆ คนก็ใช้บ้านเป็นแหล่งพักพิงสุดท้ายเพื่อฟื้นฟูร่างกายและจิตใจ

ในสังคมไทยนั้นให้ความสำคัญกับบ้านมาก เห็นได้จากสำนวน ตั้งรกราก ซึ่งหมายถึงการตั้งหลักแหล่ง ตั้งบ้านเรือน ซึ่งสำนวนนี้มีที่มาจากในสมัยโบราณที่เมื่อเด็กคลอดออกมา พ่อแม่จะนำรกของเด็กใส่หม้อไปฝังไว้ในบริเวณบ้าน และที่ฝังรกนั้นก็มักเป็นบริเวณที่พ่อแม่กำหนดให้เป็นที่ปลูกเรือนหอของลูกเมื่อตั้งครอบครัวต่อไปด้วย ส่วนในสังคมปัจจุบันถึงแม้เรื่องราวโบร่ำโบราณอย่างการฝังรกนั้นจะมีให้เห็นน้อยเต็มที

แต่กระนั้น บ้านก็ยังเป็นสิ่งที่สำคัญและมีความหมายอยู่ดี และการที่ใครสักคนจะมีบ้านของตัวเองสักหลัง ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เรียกว่าต้องทำงานหนักเก็บหอมรอมริบกันเป็นเวลานาน กว่าจะมีบ้านเป็นของตนเองสักหลัง

แต่ในปี 2554 ที่กำลังจะผ่านพ้นไป บ้านที่รักยิ่งของใครหลายคนก็ต้องประสบกับความเสียหายอย่างหนักหน่วง นั่นก็เพราะมหาอุทกภัยครั้งใหญ่ได้เข้ามาเยี่ยมเยือนกรุงเทพมหานครและปริมณฑล หลังจากที่ห่างหายไปหลายสิบปี และผลกระทบจากอุทกภัยครั้งนี้ ก็ทำให้คนที่มีบ้านหลายคนต้องกลายเป็นผู้อพยพ ระหกระเหเร่ร่อน เพราะไม่สามารถอาศัยอยู่ที่เดิมได้ และแม้ว่าปัจจุบันน้ำที่เคยท่วม ก็จะลดลงมาบ้างแล้ว แต่ความเสียหายที่เกิดขึ้นกับบ้าน ก็ถูกทิ้งไว้เป็นของต่างหน้า ย้ำเตือนให้นึกถึงอุทกภัยที่ไม่น่าเกิด แต่ก็กลับมาเกิดขึ้นราวกับว่าไม่เคยมีใครคิดจะดูแลป้องกัน
งานนี้คนที่รันทดที่สุดก็คงจะหนีไม่พ้นเจ้าของบ้าน ที่ต้องเห็นภาพความเสียหายของบ้านตนหลังน้ำท่วมใหญ่ได้ผ่านพ้นไป ซึ่งพวกเขาส่วนหนึ่งก็ได้ถ่ายทอดความรู้สึกของเขามาให้เราได้รับรู้กันว่า ความสูญเสียหลังอุทกภัย “น้ำมาประชารันทด น้ำลดก็รันทดไม่แพ้กัน”

เมื่อน้ำผ่านไป น้ำตาก็ไหลออกมา

มาตระเวนดูชาวบ้านแต่ละเขตของกรุงเทพฯ และแต่ละอำเภอในเขตปริมณฑลสะท้อนความเศร้าสะท้านความหดหู่กับภาพแรกที่ได้เห็นบ้านตัวเองเสียหายยับเยินหลังจากน้ำท่วมผ่านพ้นไป

สรัญวุฒิ ศรีวารีกุล บางบอน
“บ้านของผมอยู่ต่ำกว่าถนนมาก ตอนที่น้ำท่วมบนถนนมันแค่ข้อเท้าเอง แต่บ้านผมซึ่งเป็นที่ทำงานด้วยก็สูงระดับอกเลย คือที่บ้านทำพวกขายหิน ขายทราย ซึ่งพวกหินทรายนี่ไม่เป็นไรหรอก เพราะน้ำแห้งมันก็เอามาใช้ได้ แต่ที่แย่ก็คือพวกอุปกรณ์สำนักงาน หลังน้ำลดนี่เรียกได้ว่าจะต้องทิ้งเกือบหมด มันบวมน้ำใช้ไม่ได้แล้ว นี่ยังดีที่ขนพวกรถ พวกเครื่องมือหนักขึ้นไปที่สูงทัน คือผมไม่เคยคิดเลยว่าแถวนี้มันจะท่วม”

กัณนิกา ประดู่คู่ยามดี บางขุนเทียน
“พอน้ำเข้าบ้าน เราก็ย้ายไปอยู่กับพี่สาวที่สมุทรสาครเลย กลับมาอีกทีน้ำยังไม่ออกจากบ้านนะ แต่มันกลายเป็นน้ำเน่าทั้งหมด ต้องเอาอีเอ็มไปราด คือมันไม่ถึงกับดำแต่เหม็นมาก เห็นแล้วก็เหนื่อยเลย ตอนนี้น้ำลดปกติแล้ว ก็เหลือรอยคราบอยู่บนพื้นกับกำแพงซึ่งเรายังไม่ได้ขัดเลย มันท้อ ทุกวันนี้ก็อยู่แต่ชั้นสอง ชั้นล่างยังใช้ไม่ได้เลย”

ธีระ วัฒนาอำไพ สายไหม
“ผมก็อายุหกสิบเจ็ดจะหกสิบแปดเพิ่งเคยเจอแบบนี้ แล้วชั้นล่างของผมไม่โดนอะไรมาก ขึ้นมาแค่ครึ่งแข้ง แต่ในห้องชั้นใต้ดินโดนหมด ต้องสูบออกเอง กู้คืนเอง ตอนแรกผมไม่ได้ช็อกนะ รับได้ เตรียมใจมาแล้ว แต่ก็รู้สึกปลง พอเห็นความเสียหายในบ้าน ทั้งตู้ ทั้งอุปกรณ์ไฟฟ้าอะไรต่อมิอะไรที่โดนน้ำแล้วมันก็ใช้ไม่ได้ เราต้องทิ้ง ทำให้คิดว่าบางทีของพวกนี้มันไม่ใช่ของเรา แต่เรื่องท้อผมไม่ท้อนะ ยังมีคนอื่นที่เสียหายมากกว่าผม ไม่ถึงกับสิ้นเนื้อประดาตัว ของพวกนี้ตัวยังไม่ตายก็หาใหม่ได้”

นราภร ดาวเรือง แจ้งวัฒนะ
“มันพูดอะไรไม่ออก คงต้องยอมรับ ตอนนั้นเก็บของไม่ทัน ข้างในเสียหายเยอะมาก เก้าอี้ ตู้ โดยเฉพาะตู้ไม้อัดจะพังง่ายมาก คือจริงๆ คิดว่าเก็บดีแล้ว แต่พอกลับมาพวกตู้พวกอะไรมันล้มระเนระนาดหมด เสียดายพวกสิ่งของ ซื้อใหม่มันก็แพงด้วย ไหนจะความเสียหาย เงินชดเชยก็ไม่ได้ช่วยอะไรเท่าไหร่เลย แต่บ้านที่อยู่ลึกเข้าไปเขาก็แย่กว่าเรา ข้างในเขาโดนน้ำเน่า แล้วโดนท่วมลึกกว่าด้วย เลยคิดว่า เออ...เรายังโชคดีอยู่บ้าง”

วิเชียร ทิพย์ผาสุก ดอนเมือง
“ผมออกมาก่อนน้ำขึ้น ช่วงนั้นก็กลับบ้านไม่ได้เลย มาถึงตอนนี้น้ำลดลง ผมได้กลับไปดูบ้าง ก็ตกใจพอสมควร คือผมมีบ้านสองหลังอยู่ในย่านนั้น หลังหนึ่งชั้นเดียวก็โดนหมด อีกหลังสองชั้นผมก็ไม่ได้ขนของขึ้นชั้นบน มันก็โดนไปเยอะเหมือนกัน คือไม่คิดว่ามันจะมาเยอะแบบนี้ เพราะบ้านผมอยู่สูงกว่าถนนเยอะ ก็เลยเก็บของแค่ซ้อนไว้บนเตียงของเสียหายเยอะมาก น่าจะเป็นแสน”

ทรงพล วงศ์ถิรสิน บางเขน
“แรกที่เห็นผมยังงงๆ อยู่นะ แต่พอมาสำรวจความเสียหาย ดูว่าจะอะไรมันเสียหายบ้าง ก็มีพวกผนังบ้าน มีห้องน้ำ ห้องครัวที่โดนน้ำกัดเซาะ ซึ่งพวกนี้ต้องจ้างรับเหมาเข้ามาซ่อม ใช้เงินเยอะมาก ซึ่งก็รู้สึกว่า คราวนี้มันหนักหนาอยู่ คือผมเพิ่งทำงาน เพิ่งจะมีเงินเก็บ ผมก็รู้สึกเสียดายเงิน แล้วเงินที่เก็บไว้มาใช้ซ่อมนี่ก็ยังไม่พอด้วย พ่อแม่ผมก็ไม่มีรายได้แล้ว เลยค่อนข้างลำบาก ทุกวันนี้เรื่องบ้านสกปรก ผมไม่มีปัญหา ผมก็ทำความสะอาดเองได้ แต่ตรงที่ทำเองไม่ได้ มันก็ลำบากกับรายจ่ายตรงนี้ ซึ่งเงินเยียวยามันก็มาช่วยได้น้อยมาก”

เสาวลักษณ์ ชิตพันธ์ ศาลายา
"ตอนแรกก็คิดถึงบ้านนะ แต่พอเห็นสภาพบ้านจริงๆ แล้ว แบบ...นี่หรือบ้าน ไม่น่าเชื่อว่าจะท่วม อยู่มาตั้งนาน แล้วก็คิดว่าคงรอน้ำลดแล้วการเดินทางสะดวก คงต้องปฏิวัติครั้งใหญ่เลย ทั้งเก็บกวาด ทำความสะอาด แค่คิดก็เหนื่อย"

นพวรรณ ฉิมเฉลิม บางพลัด
“อึ้งสิ...! อึ้งมากเลย ไม่รู้จะเริ่มต้นตรงไหนเลย ไม่รู้ว่าต้องทำความสะอาดตรงไหนก่อน แต่พอตั้งสติได้ก็มานั่งคิดก่อนว่าจะทำความสะอาดมันอย่างไร ต้องค่อยๆ ทำไปเพราะเป็นบ้านหลังใหญ่อยู่กันหลายคน ต้องช่วยๆ กันทำไป แต่ก็ดีใจมากๆ นะ ที่ได้กลับบ้าน เพราะไปอยู่ที่อื่นถึงน้ำไม่ท่วม แต่ก็ไม่สุขสบายเท่าบ้านเรา”

พเยาว์ ทิมประเสริฐ ตลิ่งชัน
“การได้กลับบ้านเป็นสิ่งนี้เป็นสิ่งที่น่าดีใจที่สุด ตอนแรกที่เห็นสภาพบ้านก็เสียความรู้สึก รู้สึกแย่มาก คนในบ้านก็รู้สึกพอๆ กันเลย ทุกอย่างมันพังหมด มันต้องปรับปรุงใหม่หมด ล้างบ้าน ทาสีบ้านใหม่ คิดเป็นเงินก็หลายหมื่นเลย”

อารัชฏา แจ่มใส บางแค
“รู้สึกหดหู่ ความสะดวกสบายไม่เหมือนเดิม ขยะเยอะมาก มีกลิ่นเหม็นเน่าตามท่อโชยมา ถึงบ้านน้ำจะลดแล้วแต่ก็ยังทิ้งลอยคราบดำๆ หม่นๆ ไว้บนผนัง ตอนนี้ก็ทำความสะอาดไปแล้วนะแต่คราบเหลืองๆ ก็ยังติดอยู่อีก”

สัญชัย ทรรทุรานนท์ ปากเกร็ด
“มันเหนื่อย มันล้า มันก็ไม่รู้จะเริ่มอย่างไงนะ มันเละมาก ตอนแรกที่เข้าไปในบ้าน ดินเลนมันเต็มไปหมด แล้วบ้านเรามันเป็นไม้เกือบทั้งหลังด้วย ไม้มันก็แตก เอาง่ายๆ เราต้องทำบ้านใหม่เกือบทั้งหมด เพราะส่วนใหญ่ตัวบ้านเป็นไม้ ซึ่งมันถูกแช่น้ำเป็นเดือน แต่เราก็พูดกันตรงๆ นะ คนปากเกร็ดส่วนใหญ่เขาก็ชิน เพราะท่วมทุกปี แต่ก็ต้องยอมรับเลยว่าปีนี้มันหนักหนาจริงๆ ไม่เคยเห็นแบบนี้มาก่อน พ่อผมก็เห็นว่าไปรับเงินห้าพันจากรัฐเหมือนกัน มันช่วยอะไรไม่ได้มากหรอกนะ ซ่อมไม้ที...มันใช้เงินมากอยู่ แต่ก็ยังดีกว่าไม่ได้อะไรเลย”

ปฎล ทองเจริญ ลำลูกกา
“ผมพยายามไม่เสียใจครับ และมองคนอื่นที่เขาน่าสงสารกว่าแทน เพื่อเป็นการให้กำลังใจตัวเอง แต่เท่าที่เห็นก็พื้นบ้านแตก เพราะบ้านเราเป็นพื้นไม้ ผมเข้าไปครั้งแรกก็อึ้งครับ ฮึ้ย! นี่บ้านเราเหรอวะ แอบเศร้าน้อยๆ ก็ยื่นตะลึงอยู่ครู่หนึ่ง เพราะของระเกะระกะเต็มไปหมดเลย ต้องช่วยกัน แบ่งงานกันในครอบครัว เราเข้ามาดูบ้านหลายครั้งแล้วครับ ก็ทยอยทำไปเรื่อยๆ พ่อแม่พยายามบอกว่าบ้านเราโชคดียังโดนไม่มาก คนอื่นยังมากกว่าเราอีกเยอะ”

ญาณินี บัวจะมะ บางบัวทอง
“งง! ว่าจะเริ่มทำตรงไหนก่อน เพราะมันเยอะมาก สภาพโดยรอบก็พาหดหู่ เพราะมันร้างๆ ไม่มีคนเลย มีแต่กองขยะอยู่เต็มข้างทาง ถึงน้ำลงแล้วก็ต้องรอความชื้นหายไปถึงจะทาสีใหม่ นี่ไม่ได้ทำเพื่อความสวยงามอย่างเดียวนะ มันช่วยลบความหดหู่ลงไปได้ด้วย แต่ก็คงต้องรออีกพักใหญ่กว่าบ้านจะเลิกชื้น อย่างตู้เก็บของ ตู้เสื้อผ้ามันพองเสียก็ต้องขนทิ้ง บ้านเรา เราเคยอยู่ เราเคยใช้ของ เห็นว่ามันเป็นอย่างไงก่อนออก ลำพังอยู่ข้างนอกก็แย่แล้ว แล้วพอเข้าไปมันก็แบบ เฮ้อ! เหนื่อยใจพอดู”

สุพรรณษา เกตุวงษ์ รังสิต
“ เข้าไปทีแรกก็ตกใจ ทำไม หมู่บ้านเรามันเป็นอย่างนี้คือเหมือนเป็นเมืองร้างทั้งหมด พอเข้าไปในบ้านของเราก็สงสารบ้าน ยังมีน้ำเขียวๆ ขังอยู่เลย เห็นรอยคราบน้ำสีมันเคยสูงแค่ไหนประทับแนบแน่นอยู่บนกำแพง ของที่เรายกขึ้นไม่ได้พวกโต๊ะ ตู้ก็ต้องซื้อใหม่ ทั้งหมด ทั้งๆ ที่เราเพิ่งซื้อมาเมื่อไม่นานนี่เอง มันไม่สามารถใช้การอะไรได้เลย เดินย่ำดินดำๆ น้ำเขียวๆ เศษโน่นนี่ ก็ยังเต็มไปหมด เห็นแล้วเหนื่อยเลย ไม่รู้จะต้องเริ่มตรงไหนก่อน ที่แน่ๆ ต้องทาสีใหม่ ประตูไม้ก็พังต้องเปลี่ยนใหม่ ต้องเตรียมทั้งใจและเงินไว้มากเลยน้ำท่วมครั้งนี้”

…………

จริงอยู่...สุดท้ายแล้วเหตุการณ์น้ำท่วมก็จะเป็นสิ่งที่ผ่านพ้นไป แต่กระนั้นมันกลับยังคงทิ้งร่องรอยความเสียหายไว้ให้ดูต่างหน้า 'บ้าน' ที่เคยเป็นวิมานแสนสุขของหลายคน ก็ต้องกลับเต็มไปด้วยกองขยะ และเศษซากปรักหักพังของเฟอร์นิเจอร์และข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ

งานนี้ ประชาชนตาดำๆ คงจะทำอะไรไม่ได้มาก นอกจากก้มหน้ารับกรรมและดำเนินการซ่อมแซมแก้ไขปรับปรุงบ้านของตนไปตามกำลังกายและกำลังทรัพย์ที่มี เพราะถ้าจะหวังให้ภาครัฐยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือดูแล มันก็ดูจะเป็นความหวังที่ลมๆ แล้ง เหมือนกับตอนที่เราหวังให้รัฐบริหารจัดการน้ำไม่ให้เกิดอุทกภัยที่ร้ายแรงเช่นนี้

>>>>>>>>>>

……….

เรื่อง : ทีมข่าว CLICK
ภาพ : ทีมภาพ CLICK





กำลังโหลดความคิดเห็น