จนถึงวินาทีนี้ คนหลายล้านคนมีโอกาสเดินลุยน้ำท่วมขังที่ลุกลามไปถ้วนทั่ว จากภาคเหนือ กลาง ปริมณฑล และบรรจบสู่กรุงเทพฯ ชั้นในกันเป็นที่เรียบร้อยแล้ว แน่นอนว่ามวลน้ำจำนวนมหาศาลนี้ไม่ได้มีการกลั่นกรองให้ปลอดเชื้อโรคแต่อย่างใด ยิ่งใครต้องใช้ชีวิตอยู่ในพื้นที่น้ำท่วมสูงระดับเอวขึ้นไป และจำต้องอยู่ในน้ำเป็นเวลานานๆ อย่างต่อเนื่อง ในจุดซ่อนเร้นที่มีความบอบบางก็คงมีอาการ ‘คันหยุกๆ หยิกๆ’ กันบ้างล่ะ ซึ่งอาการประมาณนี้เรียกว่า ‘โรคเชื้อราในร่มผ้า’ ก่ออาการคันไม่เลือกหน้า ไม่ว่าหญิงหรือชายก็มีสิทธิคันกันอย่างเท่าเทียม ซึ่งนอกจากอาการคัน หรือผดผื่นแดงที่เกิดขึ้น ก็อาจจะยังมีผลกระทบต่อสุขภาวะทางเพศด้วย
หลังจากการประชุมศูนย์ปฏิบัติการเตรียมพร้อมตอบโต้ภาวะฉุกเฉินกรณีอุทกภัย แพทย์เจ้ากรมควบคุมโรค ก็ออกโรงแจ้งเตือนกลุ่มผู้ชายที่ต้องอยู่ในน้ำท่วมขังนานๆ เป็นประจำ เพราะอาจเป็นบ่อเกิดของอาการนกเขาไม่ขันได้ ส่วนในเพศหญิงก็ยิ่งต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ เพราะจุดซ่อนเร้นอันบอบบาง อาจเกิดการติดเชื้อจากแบคทีเรียที่ปะปนอยู่ในน้ำท่วมขังง่ายว่าเพศชายเสียอีก!
แน่นอน น้ำท่วมคราวนี้ นอกจากทำให้ผู้ประสบภัยน้ำท่วมที่ยาวนานเป็นโรคน้ำกัดเท้า โรคคันในร่มผ้าจนอาจจะเรื้อรังไปสู่ความไม่พร้อมทางสุขภาวะทางเพศ (sexual wellbeing) ซึ่งหมายถึง การมีชีวิตทางเพศที่เป็นสุขและปลอดภัย ก็อาจจะเป็นไปได้ในอนาคต...
‘ยิ่งเกายิ่งมัน’ แต่ห้ามนิ่งนอนใจอย่างเด็ดขาด
แน่นอนว่ามีหลายๆ โรคที่แฝงมากับวิกฤตการณ์น้ำท่วมครั้งนี้ ซึ่งถือเป็นการคุกคามความปลอดภัยทางด้านสาธารณสุขของประชาชนอยู่ไม่น้อยทีเดียว อนึ่ง นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ก็ออกมาแถลงข่าวว่า ทางหน่วยงานสาธารณสุขนั้น ได้มีการเตรียมพร้อมและโต้ตอบภัยร้ายที่อาจเข้ามาในช่วงน้ำท่วม แต่เบื้องต้นก็คงเป็นหน้าที่ของประชาชนที่ต้องดูแลสุขอนามัยของตัวเองก่อน
นพ.พรเทพ ได้แถลงว่า กรณีการติดเชื้อบริเวณอวัยวะสืบพันธุ์ อวัยวะช่องทวาร และทางเดินปัสสาวะนั้น ไม่ใช่ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะเพศหญิง ซึ่งเพศชายก็ต้องระแวดระวังอยู่เหมือนกันเพราะผิวหนังในส่วนซ่อนเร้นนั้นมีความบอบบางมาก ซ้ำร้ายอาจส่งผลกระทบต่อสมรรถภาพทางเพศ
"ผู้ชายส่วนใหญ่ต้องแช่น้ำเป็นเวลานานกว่าผู้หญิงอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นการขนของหรือลุยน้ำออกไปด้านนอกที่พักอาศัย จึงเสี่ยงต่อการเกิดติดเชื้อ ทั้งเชื้อแบคทีเรียและเชื้อรา ซึ่งหากเกิดการอักเสบบริเวณอวัยวะเพศ เช่น มีอาการคัน แสบร้อน เป็นแผล หรือบวมแดง ให้รีบไปพบแพทย์ทันที
“เพราะหากปล่อยทิ้งไว้อาจทำให้เกิดอันตรายได้เช่นเดียวกัน ที่ผ่านมาเราพบว่า การที่อวัยวะเพศของเพศชายต้องสัมผัสกับน้ำท่วมขังเป็นเวลานาน ก็จะไม่มีการตื่นตัวอยู่แล้ว และหลายคนก็เกิดอาการคัน ปัสสาวะขัด ยิ่งถ้ามีความเครียดด้วยก็จะส่งผลต่อสมรรถภาพทางเพศด้วย"
เช่นเดียวกัน นพ.รุ่งเรือง กิจผาติ โฆษกกรมควบคุมโรค ก็ได้แจ้งเตือนถึงภัยร้ายที่สามารถเกิดขึ้นกับเพศหญิงผ่านสื่อมวลชนแขนงต่างๆ ว่า ในพื้นที่น้ำท่วมขังนั้นจะมีคุณภาพน้ำที่ต่ำ และมีเชื้อแบคทีเรียปนเปื้อนอยู่เป็นจำนวนมาก ซึ่งผู้หญิงจะมีความเสี่ยงมากกว่า เพราะตามลักษณะอวัยวะสืบพันธุ์ ซึ่งมีท่อปัสสาวะเพียง 1 เซนติเมตร ก็อาจส่งผลต่อโรคติดเชื้อได้
ฉะนั้น ภายหลังลุยน้ำต้องทำความสะอาดทันที หรือควรสวมใส่ชุดป้องกันเพื่อสุขอนามัยที่ดีของตนเอง
อาสากู้ภัย ใจพร้อม...กายก็พร้อม
สำหรับกลุ่มคนผู้ทำงานอาสาป้องกันสาธารณภัย ที่ต้องลงพื้นที่ลุยน้ำแช่น้ำเป็นเวลานานๆ ก็คงเสี่ยงต่อโรคภัยที่ลอยมากับน้ำ รวมทั้งภัยในร่มผ้าที่อาจคุกคามได้ทุกเมื่อ มนตรี ญาณสิทธิฤทธิ หนึ่งในทีมกู้ภัยมูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง เผยว่า ได้ยินข่าวเรื่องนี้มาบ้างแต่เท่าที่ผ่านมานั้นไม่มีใครในพื้นที่ประสบปัญหาดังกล่าว
“เท่าที่เราลงมาในพื้นที่ยังไม่เห็นว่ามีประชาชน หรือใครคนใดคนหนึ่งพูดถึงเรื่องนี้ โดยส่วนใหญ่เขาก็จะพูดถึงเรื่องน้ำกัดเท้าอย่างเดียว ทางกู้ภัยเองก็จะเป็นเรื่องน้ำกัดเท้า กัดจนชินไปหมดแล้วครับ”
ทั้งนี้ในส่วนของการป้องกันให้พ้นจากโรคร้ายที่มากับน้ำท่วมก็มีเพียงการทาโลชั่นเท่านั้น ไม่ได้มีการดูแลเป็นพิเศษ เพราะทางทีมเข้ามาช่วยเหลือด้วยใจ
“เป็นเจ้าหน้าที่กู้ภัย เรื่องนี้เราไม่กลัวเลย เพราะเราลงพื้นที่มาตลอด 3 เดือนเต็ม ไม่มีอะไรที่จะทำให้เราคิดว่าเราจะเป็นโน่นเป็นนี่ เราก็ทำของเราตลอด และจะทำต่อไป”
ขณะเดียวกัน ชุมพล บุญภักดี เจ้าหน้าที่กู้ภัยอีกท่านหนึ่ง ก็ไม่ได้เกรงกลัวต่อโรคที่มากับมวลน้ำแต่กลับมองว่าคำเตือนลักษณะนี้อาจมีประโยชน์กับประชาชน ซึ่งสำหรับเจ้าหน้าที่กู้ภัยนั้นย่อมต้องมีหน้าที่ในการแช่อยู่ในน้ำนานๆ อยู่แล้ว เชื่อว่าการสร้างความภูมิคุ้มกันแก่ตัวเองน่าจะเป็นช่วยให้ผ่านพ้นโรคภัยที่มากับน้ำท่วมได้
“คิดว่าเจ้าหน้าที่ในส่วนนี้คงไม่มาใส่ใจในเรื่องพวกนี้ แต่ว่าคิดว่าจะทำยังไงจะช่วยเหลือชาวบ้านให้มากที่สุดให้เร็วที่สุด ไม่ได้มาห่วงเรื่องสมรรถภาพทางเพศ แล้วผมคิดว่าไม่น่าเป็นไปได้ โรคที่มากับน้ำก็คงต้องมา คิดว่าเราจะสร้างภูมิมันได้หรือเปล่า คงต้องใส่ใจเรื่องการรักษาสุขภาพตัวเอง การดื่มน้ำสะอาด การพักผ่อนเพียงพอ เจ้าหน้าที่ทุกคนเวลาเสร็จภารกิจก็รีบอาบน้ำ ล้างมือ ล้างเท้า ล้างขา แล้วเสื้อผ้าเปลี่ยนใหม่หมด”
โดยในบริเวณร่มผ้านั้น เขาก็ไม่ได้มีการป้องกันใดๆ เป็นพิเศษ นอกจากการดูแลเรื่องความสะอาดเท่านั้น อย่างไรก็ตาม ชุมพลทิ้งท้ายว่า โรคและผลกระทบที่มากับน้ำที่สำคัญที่ต้องคำนึงถึงจริงๆ ก็คือ โรคน้ำกัดเท้า ไข้เลือดออก และโรคเกี่ยวกับความเครียด รวมทั้งชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนในพื้นที่น้ำท่วมขัง
คันในร่มผ้า คันจริง...คันจัง!
วิกฤติการณ์น้ำท่วมนั้นส ร้างความประหวั่นพรั่นพรึงแก่ชาวไทยกว่าค่อนประเทศ แต่วิถีชีวิตและหน้าที่ของแต่ละคนก็ยังต้องดำเนินกันต่อไป คมศักดิ์ สิงคเสลิต เจ้าหน้าที่สังกัดหน่วยงานรัฐบาล ที่ต้องเดินทางท่ามกลางระดับน้ำที่ท่วมสูง เปิดเผยถึงการป้องกันตัวเองเบื้องต้นด้วยการใส่รองเท้าบูตความสูงระดับเข่าเพื่อลุยน้ำท่วม และดูแลทำความสะอาดร่างกายอย่าสม่ำเสมอ แต่โชคดีที่ระดับน้ำนั้นไม่ได้ส่งผลกระทบถึงบริเวณใต้ร่มผ้า
“ผมยังไม่ค่อยเชื่อเท่าไหร่ การที่แช่น้ำนานๆ แล้วทำให้สมรรถภาพทางเพศเสื่อมมันน่าจะมาจากสาเหตุมากกว่า แต่ถ้าจำเป็นต้องลุยน้ำก็รู้สึกหวั่นกลัวพวกเชื้อโรค โรคน้ำกัดเท้า เชื้อราในร่มผ้า เวลาต้องลงน้ำ ผมก็จะซื้อยามาทาหลังจากขึ้นจากน้ำ พวกซีม่าครีม แล้วมียาหม่องแซมบักบ้างก็ช่วยได้ในส่วนของเวลาลงน้ำแล้วมันเหม็น จะช่วยลดอาการวิงเวียนศีรษะได้”
เช่นเดียวกัน โชคชัย เก่งรุ่งเรืองชัย ชายหนุ่มผู้ประสบภัยย่านท่าน้ำนนท์ ก็เปิดเผยถึงการรับมือกับสถานการณ์น้ำท่วมให้ปลอดจากเชื้อโรคต่างๆ ด้วยรองเท้าบูท หรือจำพวกชุดเอี๊ยมสูงที่ป้องกันน้ำได้เกือบถึงอกนั้นก็เป็นตัวเลือกที่ดี นอกจากนี้ยังต้องมีการทำความสะอาดบริเวณที่โดนน้ำอย่างสม่ำเสมอ
โชคชัย กล่าวว่าการมีการป้องกันในระดับหนึ่งนั้น สามารถทำให้รอดพ้นจากโรคฮอตฮิตอย่างพวกเชื้อราในร่มผ้าได้ ซึ่งการแจ้งเตือนเกี่ยวกับโรคที่มากับน้ำของหน่วยงานรัฐนั้นเป็นเรื่องที่ดี เพราะประชาชนจะได้มีการระมัดระวัง แต่ถ้าเกิดรับข่าวสารและเชื่อตามข่าวไปเสียหมดก็อาจส่งผลกระทบให้รู้สึกเครียดขึ้นไปอีกได้
“เราเป็นประชาชนธรรมดาสามารถหลีกเลี่ยงพื้นที่น้ำท่วมได้ แต่คนที่สัมผัสกับน้ำนานๆ อย่างตำรวจ ทหาร หรืออาสาสมัครควรต้องระวังเกี่ยวกับเรื่องนี้มากกว่า เพราะต้องสัมผัสหรือแช่อยู่กับน้ำนานๆ ของเรายังจะดีเสียกว่าเพราะไม่มีความจำเป็นต้องแช่อยู่ในน้ำนานๆ เหมือนพวกเขา”
สำหรับผู้ที่ป่วยเป็นโรคภูมิแพ้ผิวหนัง เตือนจิตร พันชคาม แม่บ้านในย่านรังสิต ก็เปิดใจว่าสถานการณ์น้ำท่วมที่เข้าท่วมที่พักอาศัยระดับหน้าอกมากว่าครึ่งเดือนนั้นทำให้เธอได้รับความเดือดร้อนมาก ยิ่งน้ำขังนานยิ่งสกปรกหากยังต้องลงไปลุยน้ำอีก ก็จะทำให้อาการระคายเคือง ผื่นแดงทางผิวหนังกำเริบหนักขึ้นไปอีก ฉะนั้นวิธีหลีกเลี่ยงจึงเป็นหนทางที่ดีที่สุดสำหรับเธอ
“เป็นภูมิแพ้ผิวหนังมาเป็นปีๆ แล้ว คันตามขาแขน เป็นผดผื่น หาหมอมาหลายที่ก็ยังไม่หายขาด ทั้งยากิน ยาทา ฉีดยา ก็ใช้มาหมดแล้วแต่ก็ยังไม่หายขาด พอน้ำมาท่วมหนักขนาดนี้ก็ไม่กล้าออกไปไหนเลย เอาเท้าจุ่มน้ำยังไม่กล้าเลยเพราะน้ำมันสกปรก มีกลิ่นด้วย ยิ่งเป็นโรคอย่างเราถ้าไปลุยอาการคันต้องกำเริบหนัก ก็ต้องหลีกเลี่ยงให้ถึงที่สุด”
เชื้อโรคที่มากับน้ำนั้นเป็นสิ่งที่ไม่ควรมองข้ามเป็นอย่างยิ่ง เพราะมันจะนำมาซึ่งโทษแก่ร่างกาย ซึ่งคนที่ร่างกายแข็งแรงก็ไม่ควรนิ่งนอนใจต้องดูแลตัวเองให้พ้นจากเชื้อโรคที่มากับน้ำด้วย เตือนใจ กล่าวทิ้งท้าย
แม้กระทั่งน้ำประปาที่ว่าสะอาดดื่มได้ ก็ยังได้รับผลกระทบจากสถานการณ์น้ำท่วม เพราะมีกลิ่นและสีไม่พึ่งประสงค์ แพรวพรรณ เกตุเมือง ชาวบ้านย่านบางแค กล่าวถึงประสบการณ์แสบๆ คันๆ ที่มากับน้ำท่วม พร้อมวิธีการรับมือในแบบผู้หญิงๆ
“ถ้าเราลุยน้ำแล้ว ก็ต้องทำความสะอาดโดยน้ำที่สะอาดมากกว่าน้ำธรรมดา ต้องเติมน้ำยากำจัดเชื้อโรคไปด้วย เพราะบางครั้งเราก็ได้กลิ่นแปลกๆ ในน้ำประปา เช็ดตัวให้แห้งแล้วทาแป้งไม่ให้มันคัน เพราะเชื้อโรคมันเข้าไปได้ตั้งแต่ซอกเล็บ แค่มองในคลองก็เหนื่อยใจแล้ว นี่ท่วมผสมกับน้ำทิ้งในท่อ ขังอยู่นานๆ อีก ดีไม่ดีน้ำท่วมผ่านไปแล้ว ถ้าไม่ป้องกันตัวเองให้ดี จะติดเชื้อโรคนานไปถึงน้ำลดก็ยังไม่หาย”
...........
คงปฏิเสธไม่ได้ว่า เชื้อโรคจำนวนมหาศาลนั้นมาพร้อมมวลน้ำก้อนมหึมา ฉะนั้น ทางที่ดีผู้ประสบภัยหรือจะเป็นผู้ที่เข้าไปช่วยเหลือในพื้นที่ประสบภัยก็ตามแต่ คงต้องจัดระเบียบในการอยู่ร่วมกับสายน้ำเพื่อสร้างเสริมสุขภาวะที่ดี และไม่ให้ถูกคุกคามจากปฏิกิริยาคันคะเยอจากโรคเชื้อราในร่มผ้า จนเรื้อรังถึงขั้นเสื่อมสมรรถภาพทางเพศอย่างที่กรมควบคุมโรคเป็นกังวลในสุขภาวะทางเพศของประชาชนในวิกฤตน้ำท่วม
>>>>>>>>>>
………
เรื่อง : ทีมข่าว CLICK
ภาพ : ทีมภาพ CLICK