xs
xsm
sm
md
lg

รู้ทันสารพัดโรคที่มากับน้ำท่วม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


 
เมื่อน้ำเริ่มท่วมสูงขึ้น โรคภัยต่างๆ ก็ประดังเข้ามาให้ผู้ประสบอุทุกภัยต้องเตรียมรับมือ ด้วยสถานการณ์ที่บีบบังคับจนจำใจต้องยอมรับสภาพที่เกิดขึ้น โดยการอาศัยอยู่กับน้ำนานนับเดือน ยิ่งทำให้เกิดความเครียดจนหลายคนเข้าขั้นเป็นโรคเครียดวิตกกังวล ทั้งยังต้องต่อสู้กับสภาวะน้ำท่วม ซึ่งทวีความรุนแรงขึ้นจนไม่เอื้ออำนวยต่อการอยู่อาศัย

“กินอาหารไม่สะอาดก็จะเกิดโรคอุจจาระร่วง พอแช่น้ำนานๆ ก็จะมีปัญหาเรื่องน้ำกัดเท้า หรือแช่ร่างกายในน้ำบ่อยๆ ก็จะเป็นไข้หวัดใหญ่ได้ ตอนน้ำลดก็ต้องระวังเรื่องโรคฉี่หนู หรือโรคไข้เลือดออกอีก และอีกสารพัดโรคที่อยู่รอบตัวเรา”

เมื่อวันนี้เราไม่สามารถหลีกเลี่ยงโรคภัยไข้เจ็บที่มาพร้อมกับน้ำท่วมได้ M-healthy จึงขอหยิบยกโรคสำคัญที่มักพบในผู้ป่วยอพยพและความเสี่ยงที่อาจจะเกิดโรคได้ในอนาคต โดยแพทย์ผู้ทรงคุณวุฒิเพื่อเป็นความรู้ให้ทุกคนใช้ชีวิตอย่างระมัดระวังและมีสติมากขึ้น

โรคที่ตามมาจากความเครียด
ยิ่งเครียด...โรคภัยยิ่งถามหา
หลายคนกำลังอยู่ในภาวะวิตกกังวลหนักจนถึงขั้นเกิดโรคเครียดขึ้นอย่างไม่รู้ตัว ซึ่งเป็นเพราะความกดดันจากสถานการณ์น้ำท่วมที่เป็นอยู่ขณะนี้ ถ้ายิ่งรับรู้เรื่องราวข่าวสารมากเท่าใดก็ยิ่งเกิดอาการเครียด... เครียด และเครียดหนักเข้าไปอีก จนเกิดความเครียดสะสม และเป็นสาเหตุให้เกิดโรคภัยอื่นๆ ตามมาได้อีกมากมาย

นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่าการเกิดภาวะความเครียดของผู้กำลังประสบอุทกภัย อาจทำให้เกิดความผิดปกติต่อร่างกายได้เหมือนกัน อาจส่งผลทำให้โรคที่เป็นอยู่มีอาการมากขึ้น และโรคเครียดก็ทำให้เกิดโรคอื่นๆ ตามมา เนื่องจากความเครียดมันเป็นสาเหตุทางจิตใจที่ทำให้เกิดโรคทางกายได้

“สำหรับคนปกติที่ไม่เคยเป็นโรคอะไรมาก่อน เวลาได้รับความเครียดมากๆ มันจะมีปฏิกิริยาต่อร่างกาย ส่วนใหญ่แล้วความเครียดจะทำให้เกิดภาวะเครียด ส่งผลให้แสดงอาการออกมาทางกายซึ่งเราสามารถสังเกตได้ เช่น อาการปวดหัว ปวดต้นคอ ใจสั่น ตื่นตระหนก นอนไม่หลับ บางทีก็มีผลกระทบต่อระบบขับถ่ายของเสีย ทำให้เกิดอาการท้องเสีย หรือเป็นโรคกระเพาะอาหาร”

“ส่วนใหญ่ภาวะเครียดมันเป็นอาการปกติที่มีอยู่ในทุกคนแล้วก็จะปรับตัวกลับมาได้เป็นปกติ มีส่วนน้อยเท่านั้นเองที่ปรับตัวไม่ได้ แต่ช่วงระยะที่ปรับตัวได้ก็อาจจะประมาณ 2-4 สัปดาห์ ขึ้นอยู่สภาพร่างกายของแต่ละคน มันเป็นเรื่องปกติสำหรับคนที่เจอสถานการณ์น้ำท่วม” ภาวะเครียดถือว่าเป็นภาวะทางจิตใจที่ส่งผลทางร่างกาย เพราะฉะนั้นจึงเป็นเรื่องปกติและสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน
 

ยิ่งถ้าภาวะเครียดเกิดขึ้นกับคนที่มีโรคประจำตัวอยู่แล้ว เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูงก็อาจจะทำให้เกิดภาวะความดันเลือดขึ้นสูงได้ ภาวะเครียดนี้จึงสามารถส่งผลให้เกิดอาการมากยิ่งขึ้นได้ วิธีการรักษาคืออาจต้องเพิ่มการใช้ยานั่นเอง

การหาวิธีการช่วยลดความเครียดวิตกกังวลในสถานการณ์เช่นนี้ จึงเป็นหนทางช่วยผ่อนหนักเป็นเบาได้ ซึ่งมีข้อปฏิบัติมาแนะนำเพื่อให้ทุกคนรู้เท่าทันโรคและขจัดความเครียดไม่ให้เกิดขึ้นกับตัวเองและครอบครัว

1. ต้องตั้งสติให้มั่น คือ การวางแผนรับมือน้ำท่วม สำหรับบ้านที่ยังไม่ท่วมต้องมีการศึกษาข้อมูลให้ชัดเจนว่า บ้านเราจะท่วมหรือไม่ ถ้าท่วมน้ำจะสูงเท่าไหร่ แล้วเราจะขนของอย่างไร ถ้าทั้งหมดเตรียมการไว้ทุกอย่างได้ก็จะทำให้ความวิตกกังวลเราน้อยลง เพราะฉะนั้นอันดับแรกจึงต้องวางแผนก่อนเพื่อให้เผชิญเหตุการณ์ได้อย่างมีสติ และไม่ตื่นตระหนกจนเกินไป
2. ติดตามข่าวสารอย่างพอดี ข่าวสารเกี่ยวกับน้ำท่วมอาจทำให้เราตื่นตระหนกได้ จึงต้องตรวจสอบข้อเท็จจริง และอย่าเสพข่าวมากเกินไป เพียง 15-20 นาทีก็พอแล้ว อย่าไปหมกมุ่นกับเรื่องข่าวสารอย่างเดียว เพราะยิ่งดูก็จะยิ่งเครียด
3. พูดคุยและปรึกษาหารือกันในครอบครัว การพูดคุยกันของคนในบ้าน สามารถช่วยผ่อนคลายความเครียดได้ รวมถึงการยิ้ม การควบคุมลมหายใจ และการออกกำลังกายยืดหยุ่นกล้ามเนื้อตามสภาวะที่เป็นไปได้ สิ่งเหล่านี้จะช่วยให้ตนและคนในครอบครัวสามารถลดความเครียดลงได้

“ท้องเสีย” โรคที่มาพร้อมกับน้ำท่วม
ขณะที่ผู้ประสบภัยต้องอาศัยอยู่กับน้ำ จึงมีโอกาสสัมผัสกับเชื้อโรคที่มากับน้ำท่วมได้ ส่วนใหญ่แล้วโรคที่พบในผู้ประสบภัยตอนนี้ก็จะเป็นโรคเครียดดังที่กล่าวไว้ข้างต้น ทั้งยังเกิดโรคน้ำกัดเท้าและปวดเมื่อยตามตัว นอกจากนี้โรคที่ควรระวังเป็นพิเศษและพบบ่อยที่สุดในระยะนี้ คือโรคติดต่อระบบทางเดินอาหาร ซึ่งผู้ป่วยมีอัตราร้อยละ 5-10 เลยทีเดียว

นพ.รุ่งเรือง กิจผาติ โฆษกกรมควบคุมโรค ได้บอกเล่าถึงโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินอาหารที่มักพบในช่วงน้ำท่วม เนื่องจากผู้ประสบภัยกำลังอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถทำอาหารเองได้ ดังนั้นจึงมีโอกาสที่จะได้รับเชื้อโรคหรือรับประทานอาหารที่ปรุงไม่สุกซึ่งอาจเสี่ยงต่อโรคต่างๆ ได้

“ตอนนี้โรคระบบทางเดินอาหารเป็นโรคที่เราพบเจอมากที่สุดในผู้ประสบอุทกภัย ฉะนั้นทางกรมควบคุมโรคจึงเฝ้าระวังโรคติดต่อทางเดินอาหาร ในช่วงเกิดการระบาดเป็นครั้งๆ ไป คือมีคนไข้ที่เจ็บป่วยเข้ามารักษาตามหน่วยแพทย์ที่เราลงพื้นที่ ร้อยละ 5-10 ก็จะเป็นโรคติดต่อทางเดินอาหารและน้ำ มีท้องเสีย และอาเจียนร่วมด้วย

“จึงขอแนะนำคนทำอาหารไปแจกว่าจะต้องปรุงอาหารให้สุก ควรกินโดยเร็ว ไม่ควรทิ้งอาหารค้างไว้หรือเก็บไว้กิน อีกอย่างก็คือเวลาทำอาหารไม่ควรทำอาหารที่เสียง่าย เช่น แกงกะทิ ผัดผัก ซึ่งไม่ควรนำไปแจก ควรเป็นอาหารที่เก็บไว้ได้นาน เช่น หมูหยอง ไก่หยอง หมูเค็ม ฉะนั้นจึงขอฝากถึงผู้ใจบุญว่าต้องช่วยกันเลือกอาหารที่นำมาบริจาคด้วย”

คนที่จะเป็นโรคระบบทางเดินอาหารได้มักขึ้นอยู่กับว่ามีเชื้ออยู่ในร่างกายหรือเปล่า ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากเชื้อโรคที่เข้าสู่ร่างกายจากการรับประทานอาหาร หรือดื่มน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อโรค เช่น อาหารที่ปรุงสุกๆ ดิบๆ อาหารที่มีแมลงวันตอม อาหารค้างคืนหรือเน่าบูด ถ้ามีเชื้ออยู่ในอาหารก็จะมีอาการท้องเสีย มีไข้ คลื่นไส้ อาเจียน มีอาการปวดศีรษะและเมื่อยเนื้อตัวร่วมด้วย
  
โรคติดต่อทางเดินอาหารจะติดต่อกันเป็นกลุ่มก้อน ถ้ารับประทานอาหารร่วมกันหรือเหมือนกัน ก็จะเกิดการระบาดและเป็นเหมือนๆ กัน ป้องกันได้โดยการล้างมือให้สะอาด เลือกรับประทานอาหาร กำจัดสิ่งปฏิกูล ขยะมูลฝอย เพื่อไม่ให้เกิดแหล่งเพาะพันธุ์ของแมลงวัน หากมีอาการป่วยจำเป็นต้องดื่มน้ำมากๆ รวมทั้งดื่มสารละลายน้ำตาลเกลือแร่ด้วย

ระวัง “โรคฉี่หนู” หลังน้ำลด
ถ้าพื้นที่ไหนน้ำลดลงบ้างแล้วก็อย่าชะล่าใจกับโรคภัยต่างๆ ที่ยังคงอยู่รอบตัว เพราะมันไม่ได้หมดไปกับน้ำท่วม ทั้งยังเป็นแหล่งเพาะเชื้อโรคได้ โดยเฉพาะพื้นที่น้ำท่วมขังและยังไม่แห้งสนิท ซึ่งสามารถนำพาโรคร้ายที่อาจเป็นอันตรายถึงชีวิตเรา

ทันทีที่น้ำลด ยิ่งต้องระวังโรคร้ายแรงที่อาจเกิดขึ้น ได้แก่ โรคฉี่หนู โรคไข้เลือดออก โรคไข้หวัดใหญ่และโรคอุจจาระร่วง ด้วยเหตุนี้ นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ผู้อำนวยการสำนักโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค จึงขอเตือนให้ระวังโรคฉี่หนู หรือโรคเลปโตสไปโรซิส โดยเฉพาะช่วงหลังน้ำลด เนื่องจากผู้ป่วยมีโอกาสสัมผัสเชื้อทางผิวหนังได้มากกว่านั่นเอง

ช่วงน้ำลดจะเป็นโรคฉี่หนูได้มากกว่าช่วงน้ำท่วม เพราะว่าช่วงน้ำเยอะความเข้มของเชื้อก็จะน้อยลง พอน้ำเริ่มลด น้ำน้อยแต่ความเข้มของเชื้อจะเยอะ และโอกาสสัมผัสก็เยอะ แม้ว่าตอนนี้ยังไม่พบการระบาดของโรคฉี่หนู แต่ก็พบว่ามีความเสี่ยง ซึ่งเชื้อมันจะอยู่ในทางเดินปัสสาวะของตัวหนู พอหนูฉี่ออกมาก็จะอยู่ในน้ำ เชื้อนี้จะเป็นเชื้อแบคทีเรีย ที่สำคัญมันจะอยู่ในน้ำและดินแฉะๆ ได้เป็นเวลานาน ฉะนั้นเวลาน้ำท่วมจึงมีโอกาสที่คนจะไปสัมผัสกับเชื้อได้”

วิธีการป้องกันโรคฉี่หนู ขั้นแรกก็คือการลดจำนวนหนูนั่นเอง ซึ่งหนูมันจะมีชีวิตอยู่ได้ต้องมี 2 อย่างหลักๆ คือที่อยู่อาศัย และอาหาร ดังนั้น แต่ละบ้านจึงควรดูแลเรื่องขยะให้ดี เศษอาหารที่กินเหลือก็ควรเก็บให้มิดชิด อย่าให้เป็นแหล่งอาหารของหนู และถ้ามีรูตามที่ต่างๆ ควรพยายามอุดไว้ เพื่อไม่ให้หนูเข้าไปอาศัยอยู่ จึงจะสามารถลดจำนวนหนูได้

“ถ้าไม่จำเป็นอย่าสัมผัสกับน้ำท่วม เนื่องจากเชื้อมันจะสามารถเข้าสู่ร่างกายได้ง่ายทางผิวหนังที่มีบาดแผล โดยเฉพาะช่วงอุทกภัย ถ้าสังเกตดีๆ เวลาเราย่ำน้ำผิวหนังจะเปื่อย ทำให้เชื้อเข้าไปได้โดยไม่ต้องมีบาดแผล ดังนั้นต้องลดการสัมผัสน้ำถ้าไม่จำเป็น ถ้ามีบาดแผลก็หาปลาสเตอร์หรือถุงพลาสติกปิดเอาไว้ หรือใส่รองเท้าบูตและอุปกรณ์ป้องกันต่างๆ”

แต่ถ้าจำเป็นต้องสัมผัสน้ำ เมื่อมีบาดแผลก็จะเกิดอาการป่วยได้ อาการหลังจากรับเชื้อประมาณ 4-10 วัน คือจะมีไข้สูง ปวดศีรษะมาก ปวดกล้ามเนื้อ ปวดน่อง นี่เป็นอาการขั้นแรกๆ บางรายอาจมีอาการตาแดง เจ็บคอ เบื่ออาหาร และท้องเดินร่วมด้วย ฉะนั้นเมื่อมีอาการน่าสงสัยควรรีบไปพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยและรักษา ถ้าสามารถลดอาการป่วยได้ก็จะสามารถลดการเสียชีวิตได้ เพราะท้ายสุดแล้วถ้ารักษาไม่ทันจะทำให้เชื้อกระจายไปที่ไต จนอาจทำให้ไตวายและเสียชีวิตได้

ที่ผ่านมาได้พบว่าพื้นที่น้ำท่วมใหญ่ๆ อย่างเช่น จังหวัดน่าน และอำเภอหาดใหญ่ จะมีผู้ป่วยโรคเลปโตสไปโรซิสจำนวนมากขึ้น เพราะหนูที่อาศัยอยู่ในเมืองก็มีจำนวนเยอะขึ้น ส่วนข้อมูลเรื่องโรคไข้เลือดออกนั้น ตอนนี้ยังไม่พบการระบาดอย่างชัดเจน อาจเป็นเพราะว่าขณะนี้ยังเป็นช่วงน้ำไหล ไม่ใช่น้ำขัง ซึ่งอีกสักระยะหนึ่งอาจมีเรื่องโรคไข้เลือดออกก็ที่ควรระวังเพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน

แม้ว่าตอนนี้ผู้ประสบภัยกำลังทุกข์ใจกับภาวะอุทกภัย ซึ่งสร้างความเสียหายแก่ทรัพย์สิน แต่ถึงอย่างไรแล้วการดูแลสุขภาพของตัวเองก็เป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่ง ขอให้ดำเนินชีวิตต่อไปอย่างมีสติ ต้องรู้ระวัง ดูแลรักษาตัวเอง ถ้าทุกคนดูแลสุขภาพส่วนบุคคลได้เป็นอย่างดีก็จะปลอดภัยจากโรคต่างๆ ที่เกิดขึ้นรอบตัวเราได้



“รู้เตรียม รู้ระวัง รู้สะอาด”
นพ.รุ่งเรือง กิจผาติ โฆษกกรมควบคุมโรค ฝากแจ้งเตือนประชาชนที่นำอาหารมาบริจาค ควรเป็นอาหารที่เก็บได้นาน ไม่ควรบริจาคอาหารที่เสี่ยงต่อการเน่าเสียง่าย เนื่องจากอาหารเหล่านี้ถ้าเกิดการบูดเน่าก็จะทำให้ผู้อพยพที่รับประทานเข้าไปเกิดอาการท้องเสียได้
 

หลักสุขอนามัย 3 ประการที่ศูนย์พักพิงพึ่งมี คือ รู้เตรียม รู้ระวัง รู้สะอาด เนื่องจากประชาชนที่อาศัยอยู่ภายในศูนย์พักพิงมีจำนวนค่อนข้างมาก เพราะฉะนั้นเรื่องสุขอนามัยจึงจำเป็นต้องดูแลเป็นอย่างดี โดยเฉพาะเรื่องการกำจัดขยะ

“ทางทีมงานของกรมควบคุมโรคได้ลงพื้นที่ไปดูสถานการณ์ทุกวัน โดยเน้นการดูแลสุขอนามัยภายในศูนย์พักพิงให้ดี สิ่งสำคัญต้องช่วยกันเรื่องการจัดการขยะ ตั้งแต่ผู้ที่ดูแลศูนย์พักพิงจนถึงประชาชนที่อาศัยอยู่ในศูนย์พักพิงต้องช่วยกันตรงนี้ด้วย ผมมีโอกาสได้เข้าไปเยี่ยมศูนย์พักพิงหลายแห่งที่มีโรงครัวดี ถูกสุขอนามัย แต่บางศูนย์ฯ ได้รับอาหารจากการบริจาคเข้าไป อันนี้ยังน่ากลัวอยู่ จึงต้องให้ความรู้แก่ผู้ที่ดูแลศูนย์ฯ เป็นอย่างยิ่ง”

ถ้าศูนย์พักพิงผู้อพยพแห่งไหน พบผู้มีอาการเจ็บป่วยไม่สบาย ขอให้แจ้งหน่วยแพทย์ประจำจุดหรือหน่วยสาธารณสุข ทางกรมควบคุมโรคจะส่งทีมแพทย์ลงไปช่วยดูแลทันที
 
 
 
 
 
 
 
 

 
ข่าวโดยทีมข่าว M-Lite/ASTV สุดสัปดาห์
ขอบคุณภาพจาก MThai

หลายคนเกิดอาการเครียดที่ต้องทนอยู่กับน้ำท่วม


เลือกซื้ออาหารอย่างระมัดระวังในพื้นที่น้ำท่วม
ใส่รองเท้าบูตป้องกันโรคน้ำกัดเท้าไว้ก่อนดีกว่า

กำลังโหลดความคิดเห็น