xs
xsm
sm
md
lg

คร.แนะ “รู้เตรียม รู้ระวัง รู้สะอาด” สู้ภัยโรคในระหว่างน้ำท่วม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กรมควบคุมโรค แนะ “รู้เตรียม รู้ระวัง รู้สะอาด” สู้ภัยโรคในระหว่างน้ำท่วม พร้อมเฝ้าระวังโรคระบาด

วันนี้ (1 พ.ย.) นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กล่าวถึงการป้องกัน ควบคุมโรค และภัยสุขภาพในวาวะน้ำท่วม ว่า กรมควบคุมโรคได้ ทำหน้าที่ในการสื่อสารความเสี่ยงและการจัดการสิ่งแวดล้อม รวมทั้งส่งเสริมพฤติกรรมที่ไม่ก่อให้เกิดโรคด้วย เพื่อให้ประชาชนได้มีการเตรียมความพร้อมเรื่องการรับมือ และจะได้ป้องกันการระบาดของโรคต่างๆด้วย โดยต้องอาศัยหลักการ รู้เตรียม รู้ระวัง รู้สะอาด คือ รู้เตรียมหมายถึงหาข้อมูลในการป้องกันตนเองจากโรคและภัยสุขภาพ และเมื่อทราบข้อมูลก็ควรดำเนินการระวังตัว เช่น สวมใส่รองเท้าบูต เมื่อลุยน้ำและหลักเลี่ยงปัจจัยเสี่ยง รวมทั้งมีการจัดการบ้านเรือนที่สะอาด เช่น การกำจัดขยะมูลฝอย

ด้าน นพ.ภาสกร อัครเสวี ผู้อำนวยการสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กล่าวถึงการติดตามเฝ้าระวังโรคระบาดในช่วงเกิดวิกฤติการณ์น้ำท่วมว่า ในช่วงเดือน ต.ค.2554 ที่เกิดสถานการณ์น้ำท่วมที่นั้น สำนักระบาดได้ดำเนินการเฝ้าระวังและติดตามโรคสำคัญได้แก่ โรคระบบทางเดินหายใจ เช่น ไข้หวัด โรคไข้เลือดออก โรคระบบทางเดินอาหาร เช่น โรคอุจจาระร่วง อาหารเป็นพิษ โรคตาแดงติดเชื้อ โรคฉี่หนู หรือ เลปโตสไปโรซิส โรคอหิวาตกโรค โรคหัด โดยสำนักระบาดได้มีการดำเนินงานใน 4 กิจกรรมหลัก คือ 1.การประเมินความเสี่ยงในศูนย์พักพิง โดยทีมสำนักงานป้องกันควบคุมโรค (สคร.) ใน 74 แห่ง พื้นที่ 14 จังหวัด 2.การจัดตั้งระบบเฝ้าระวังพิษจากสารเคมี เนื่องจากประเทศไทยมีการใช้สารพิษในทางการเกษตรกันมาก 3. การสอบสวนโรค ที่แยกเป็นกรณี เช่น กลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากอาหารเป็นพิษ กลุ่มที่ได้รับก๊าซพิษ เช่น ในพื้นที่ อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี รวมถึงการสอบสวนโรคระบาดด้วย เช่น กรณีโรคหัดใน พื้นที่ กทม.และ จ.สมุทรสาคร เป็นต้น

“นอกจากนี้ ยังมีการควบคุมโรคศูนย์พักพิงด้วย เช่น การดูแลผู้ป่วยโรคทางเดินหายใจ การให้วัคซีนป้องกันโรคหัด รวมทั้งการสอบสวนกรณีของการเสียชีวิตจากอุทกภัยด้วยสาเหตุอื่นๆด้วย เช่น การสอบสวนกรณีถูกไฟฟ้า ช็อตในระหว่างเกิดน้ำท่วม”

นพ.โอภาส การย์กวิพงศ์ ผู้อำนวยการสำนักโรคติดต่อทั่วไป กล่าวว่า จากปัญหาน้ำท่วมในครั้งนี้ กรมควบคุมโรคได้แบ่งทีมการดำเนินงานจำนวน 70 ทีม โดยดำเนินการใน 4 ส่วน คือ การเฝ้าระวังสอบสวนควบคุมโรค การกำจัดแมลงพาหะนำโรค การสื่อสารความเสี่ยง และการออกหน่วยแพทย์ช่วยเหลือประชาชน พร้อมทั้งสนับสนุนรายการเวชภัณฑ์ อาทิ ชุดยารักษาโรค เวชภัณฑ์ ป้องกันโรค เจลล้างมือ หน้ากากอนามัย ฯลฯ. รวมจำนวน 139,020 ชิ้น

แม้ว่าขณะนี้ยังไม่เกิดโรคระบาด แต่ก็ต้องมีการเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง เพราะพื้นที่ที่ประสบภัยน้ำท่วมนั้นมีประชาชนอาศัยอยู่อย่างหนาแน่น โดยเฉพาะโรคฉี่หนูนั้น เพื่อเป็นการหลักเลี่ยง แนะนำว่า อย่าลุยน้ำถ้าไม่จำเป็น และอย่าพยายามทำให้เท้าเปื่อย หรือ มีบาดแผล เพราะจะเป็นการเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคได้” นพ.โอภาส กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น