xs
xsm
sm
md
lg

สธ.สั่งเฝ้าระวัง 7 โรคระบาดในศูนย์พักพิงผู้ประสบภัยน้ำท่วม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์
กรมควบคุมโรค  สั่งการสำนักงานป้องกันควบคุมโรค ในพื้นที่น้ำท่วม ผ่านระบบ VDO Conferrence  ให้เฝ้าระวังโรคระบาดในศูนย์พักพิงผู้ประสบภัยน้ำท่วม โดยเน้น 7 โรคหลักที่ต้องจับตาเป็นพิเศษ คือ โรคไข้หวัดใหญ่ โรคปอดบวม โรคมือเท้าปาก โรคอุจจาระร่วง โรคตาแดง โรคเลปโตสไปโรซิส หรือโรคฉี่หนู และ โรคไข้เลือดออก  พร้อมเตรียมทีมเฝ้าระวังสอบสวนเคลื่อนที่เร็ว(SRRT) 58 ทีม ลงพื้นที่ศูนย์พักพิงทุกแห่ง    

 
วันนี้ (7 ต.ค.) นพ.พรเทพ  ศิริวนารังสรรค์  อธิบดีกรมควบคุมโรค  กล่าวภายหลังการประชุมวอร์รูมกรมควบคุมโรค  เร่งรัดแก้ไขปัญหาและป้องกันภัยจากโรคติดต่อในพื้นที่ประสบอุทกภัย ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ (VDO Conferrence) หน่วยงานทั่วประเทศ ว่า ได้สั่งการไปยังสำนักงานป้องกันควบคุมโรค (สคร.) ในพื้นที่น้ำท่วม ได้แก่ สคร.1 กรุงเทพฯ  สคร.2 สระบุรี  สคร.8 นครสวรรค์ และ สคร.9 พิษณุโลก ที่รับผิดชอบพื้นที่ประสบภัยในภาคกลางและภาคเหนือตอนล่าง ให้เฝ้าระวังโรคระบาดในศูนย์พักพิงผู้ประสบภัยน้ำท่วม โดยเน้น 7 โรคหลักที่ต้องจับตาเป็นพิเศษ คือ  โรคไข้หวัดใหญ่ โรคปอดบวม โรคมือเท้าปาก โรคอุจจาระร่วง โรคตาแดง โรคเลปโตสไปโรซิส หรือ โรคฉี่หนู และโรคไข้เลือดออก โดยมอบหมายให้สำนักงานป้องกันควบคุมโรคจัดทำข้อมูลพื้นที่มีการอพยพของประชาชนและจำนวนประชาชนที่ได้รับผลกระทบ เพื่อการเฝ้าระวังป้องกันโรคระบาด รวมทั้งดำเนินการสนับสนุนการเฝ้าระวังโรคและดูแลในเรื่องอาหาร น้ำดื่มน้ำใช้ สุขาภิบาล และการป้องกันแมลงพาหะนำโรค  

นอกจากนี้ กรมควบคุมโรคได้เตรียมจัดตั้งทีมเฝ้าระวังสอบสวนเคลื่อนที่เร็ว (SRRT) จำนวน 58 ทีม จากส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ลงพื้นที่ตามศูนย์พักพิงผู้ประสบภัยน้ำท่วมทุกแห่ง  เนื่องจากมีประชาชนมาอยู่รวมกันจำนวนมาก การสุขาภิบาลที่ไม่ดี  อาจก่อให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคต่างๆ ได้ง่าย  ส่วนการส่งอุปกรณ์และเวชภัณฑ์ช่วยเหลือนั้น กรมควบคุมโรค ได้เตรียมจัดส่งเพิ่มเติมไปยังพื้นที่ประสบภัยแล้ว เช่น แอลกอฮอล์เจลล้างมือ 15,000 หลอด รองเท้าบูต 6,000 คู่ ยาทากันยุง 20,000 ซอง และถุงมือยาง เป็นต้น  และให้สำนักงานป้องกันควบคุมโรค สำรวจความต้องการในพื้นที่เพื่อจัดหาสิ่งของจำเป็นเพื่อการป้องกันควบคุมโรคตามความต้องการของพื้นที่นั้นๆ จัดส่งให้โดยเร็ว ต่อไป

       นพ.พรเทพ  กล่าวต่อไปว่า สำหรับปัญหาการจมน้ำโดยเฉพาะในเด็ก ควรหลีกเลี่ยงไม่ให้เด็กลงเล่นน้ำแม้น้ำจะตื้น ผู้ปกครองควรดูแลเด็กอย่างใกล้ชิด และเตรียมเสื้อชูชีพ หรืออุปกรณ์ชูชีพให้พร้อม   ส่วนในกลุ่มผู้ใหญ่ ควรหลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมทางน้ำ หากต้องออกหาปลาต้องเพิ่มความระมัดระวัง และมีอุปกรณ์ชูชีพติดตัว หรือไว้ในเรือเสมอ ไม่ควรขับรถฝ่ากระแสน้ำไหลเชี่ยวหรือขณะฝนตกหนัก  ไม่ควรดื่มของมึนเมาทุกชนิด หากประชาชนมีข้อสงสัยติดต่อได้ที่ศูนย์บริการข้อมูลฮอตไลน์ กระทรวงสาธารณสุข  โทรศัพท์ 1422 และศูนย์ปฏิบัติการกรมควบคุมโรค โทรศัพท์  0 2590 3333
กำลังโหลดความคิดเห็น