‘วันเพ็ญเดือนสิบสอง น้ำก็นองเต็มตลง เราทั้งหลายชายหญิงสนุกกันจริงวันลอยกระทง...’
เสียงเพลงเจื้อยแจ้วที่คุ้นหูกันดี เป็นสัญญาณให้ได้ทราบกันว่า กำลังย่างเข้าสู่ช่วงเวลาของประเพณีลอยกระทงกันอีกครั้ง ซึ่งเป็นเทศกาลรื่นเริงที่ชาวไทยทั่วประเทศร่วมกันครื้นเครงไปกับการขอขมาพระแม่คงคาด้วยการตั้งจิตอธิษฐานลอยกระทง แต่ดูท่าวันเพ็ญขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 แต่ในปี 2554 นี้ ชาวไทยจำนวนหลายล้านคนต้องเผชิญกับวิกฤติการณ์น้ำท่วม โดยเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ที่ดูๆ แล้วมวลน้ำอันมหาศาลคงจะแผ่วงกว้างอย่างหาที่สุดไม่ได้
ซึ่งไม่กี่วันมานี้ ทางรองผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ อย่าง พญ. มาลินี สุขเวชชวรกิจ ก็ออกมาเปรยเป็นนัยๆ ว่าอยากให้ชาวกรุงเทพฯ งดการลอยกระทง เพราะหลายๆ พื้นที่กำลังประสบปัญหาเรื่องของอุทกภัย ซึ่งจะเป็นการไปเพิ่มขยะในแม่น้ำลำคลอง รวมทั้งเป็นอุปสรรคต่อการะบายน้ำ แต่ในพื้นที่ที่ยังไม่ประสบภัยอยากให้จัดงานออกมาในรูปแบบเรียบง่าย
ด้วยเหตุ ‘มหาอุทกภัย’ ก็เลยทำให้เทศกาลลอยกระทงในปีนี้ดูกร่อยลงไปโดยปริยาย แต่อย่างไรก็ดี ‘คนไทย’ ก็คนต้องร่วมกันรักษาประเพณีอันดีงามอย่างประเพณีลอยกระทงกันต่อไป ซึ่งก็คงต้องร่วมสืบสานกันอย่างมีความรับผิดชอบต่อส่วนร่วมกันด้วย เพราะกระทงหน้าตาสวยงามเหล่านั้นอาจกลายเป็นขยะในวันรุ่งขึ้น ฉะนั้นปีนี้ก็คงต้องมีกลเม็ดเด็ดๆ ในการลอยกระทงกันสักหน่อยแล้วละ
สำรวจพื้นที่อพยพทั่วกรุงเทพฯ
ศูนย์กลางของเศรษฐกิจของประเทศไทยอย่างกรุงเทพฯ นั้นเป็นอีกพื้นที่หนึ่งที่มีการจัดงานลอยกระทงอย่างยิ่งใหญ่เป็นประจำทุกปี แต่ทว่าภัยพิบัติที่ชาวเมืองกำลังเผชิญนั้นก็เลยทำให้ปีนี้เทศกาลลอยกระทงในหลายพื้นที่ถูกเว้นวรรค
จากข้อมูลของทางกทม. (อัพเดทล่าสุด 6 พฤศจิกายน 2554) ก็ได้ประกาศพื้นที่อพยพอย่างเป็นทางการรวมทั้งสิ้น 12 เขต ได้แก่ 1.เขตดอนเมือง 2.เขตสายไหม 3.เขตหลักสี่ 4.เขตบางเขน 5.เขตบางพลัด 6.เขตตลิ่งชัน 7.เขตทวีวัฒนา 8.เขตบางแค 9.เขตภาษีเจริญ 10.เขตหนองแขม 11.เขตจตุจักร 12.เขตคลองสามวา ซึ่งนอกจากนี้ก็ยังมีพื้นที่ที่อพยพบางส่วนของแต่ละเขต ทั้งหมด 4 เขต ได้แก่ เขตหนองจอก ประกอบด้วยแขวงคลองสิบ, แขวงคู้ฝั่งเหนือ, แขวงโคกแฝด เขตลาดพร้าว ประกอบด้วยแขวงจระเข้บัว เขตบางกอกใหญ่ เฉพาะพื้นที่ ซ.จรัญสนิทวงศ์ 13 แขวงวัดท่าพระ และเขตมีนบุรี ได้แก่ แขวงแสนแสบ
ซึ่งจากการสำรวจก็พบพื้นที่ที่น้ำท่วมขังสูงกว่า 80 เซนติเมตร มีทั้งหมด 470 จุด ซึ่งในพื้นที่ดังกล่าวก็มีประชาชนพักอาศัยอยู่ราว 807,953 คน นอกจากนี้ยังมีอีกหลายพื้นที่ที่จัดเป็นพื้นที่เฝ้าระวังที่ต้องจับตากันกันต่อไป แน่นอนว่าต้องกระทบกับตัวเลขผู้ร่วมประเพณีลอยกระทงอย่างเสียไม่ได้
ลอย...ลอยกระทง!?!
ถึงแม้ประเทศไทยจะต้องเผชิญกับวิกฤติการณ์น้ำท่วม แต่ธรรมเนียมที่ถือปฎิบัติกันมาอย่างประเพณีลอยกระทง ที่มีไว้ขอขมาพระแม่คงคาที่หล่อเลี้ยงชีวิตก็ไม่ได้ไหลหลากไปกับสายน้ำอันเชี่ยวกราก วันลอยกระทงปีนี้ถึงน้ำเจิ่งนองเต็มตลิ่งมากกว่าทุกๆ ปี แต่ผู้คนก็ไม่ละความพยายามโดยการปรับเปลี่ยนแผนการลอยกระทงที่ต่างกันออกไป อย่าง สุรัตน์ เบญจางจารุ ครีเอทีฟไฟแรง ก็มีแผนว่าจะลอยกระทงกับเพื่อนๆ ในย่านพระราม 2 แต่ก็รู้สึกกังวลกับเรื่องสถานการณ์น้ำท่วมอยู่ไม่น้อย
“คงจะลอยกับเพื่อนๆ ลอยอ่างน้ำที่บ้าน ลอยซักแป๊บแล้วค่อยเก็บ วินาทีนี้แล้ว ไม่กล้าห่างบ้านไกลหรอก เพราะเมื่อเช้าหนังสือพิมพ์ลงจั่วหัวตัวใหญ่มาก ‘จำใจ ปล่อยท่วม พระราม2’ ”
ทางด้าน อนุทัศน์ จิราพร นักศึกษาจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้อาศัยอยู่เขตลาดพร้าวซึ่งใกล้กับการจะเป็นผู้ประสบภัยเต็มที เผยถึงวิธีการลอยกระทงเมื่อลอยแบบปกติไม่ได้
“ถ้าที่บ้านน้ำท่วมก็ลอยในบ้านเลย ลอยในบ้านคือถ้าน้ำมันเข้ามาในบ้านเลยนะ เพราะถ้าออกไปข้างนอกบ้าน มันจะเป็นขยะสกปรก ให้มันลอยอยู่ในบ้านจะได้เก็บง่าย เป็นที่เป็นทาง หรือไม่ถ้าน้ำยังไม่เข้ามา ก็อาจจะลอยในกะละมังก็ได้ คือลอยตอนนี้มันจะเป็นขยะซึ่งก็มีเยอะมากอยู่แล้ว”
ส่วน ยุพา คำภักดี พนักงานบริษัทเอกชน ที่บ้านน้ำท่วมไปเรียบร้อยแล้วนั้น ก็มีแผนจะลอยกระทงอยู่ที่บ้านย่านหนองแขมกับครอบครัว โดยใช้สิ่งที่เป็นอาหารปลาได้ลอยเป็นกระทง
“ลอยหน้าบ้าน ส่วนกระทงขอเป็นเศษอาหารที่ปลากินได้ลอยใส่กระดาษย่อยสลายง่ายๆ เพราะแถวนี้ปลาเยอะมาก ปีนี้ก็จะลอยกระทงกับที่บ้าน ย้ำว่าลอยกระทงอันเดียวกันทั้งบ้าน ปีนี้อบอุ่นสุดๆ”
ครั้นสอบถามทางเจ้าของธุรกิจกระทงขนมปัง ในจังหวัดอุทัยธานี กมล รักกสิกรรณ์ ก็เปิดเผยว่าแม้ในปีนี้ผลตอบรับจะดีขึ้น แต่สถานการณ์น้ำท่วมก็สร้างปัญหากับธุรกิจของตนไม่น้อยเพราะประสบปัญหาในเรื่องของการขนส่งทำให้สูญเสียรายได้หลักหมื่นทีเดียว แต่อย่างไรก็ตามเขาก็ยื่นยันว่าในปีนี้จะลอยกระทงอย่างแน่นอน
“ลอยครับ ก็ตั้งใจว่าจะลอยในอุทัยฯ แต่ถ้าคืนนั้นต้องส่งของด่วนที่ไหนก็ไปลอยที่นั้น คงต้องขอขมาพระแม่คงคา เพราะว่าพระแม่คงคาก็เริ่มเอาคืนแล้วแหละ ก็คนเราไปทำกับแม่น้ำไว้เยอะ”
ส่วน เอกรัตน์ เจริญศรีรักษ์ ผู้ประสบอุทกภัยย่านหนองแขม ที่ต้องย้ายมาพักในที่ทำงานเป็นการชั่วคราว เปิดเผยว่าปีนี้คงร่วมลอยกระทงผ่านอินเทอร์เน็ต
“คงลอยกระทงในเน็ต เพราะเป็นอีกตัวเลือกหนึ่งที่ดี ต้องการขอขมาต่อพระแม่คงคา อยากขอให้ท่านช่วยทำให้น้ำลดลงเร็วๆ ตอนนี้เชื่อว่าใครๆ ก็คงอธิษฐานแบบนี้กันเยอะ เพราะลำบากกันจริงๆ ถ้าน้ำลดอะไรๆ ก็จะดีขึ้น จนแทบไม่ต้องขอพรให้ตัวเองเลย เพราะแค่น้ำลงและใช้ชีวิตได้ตามปกติ แค่นี้ชีวิตก็จะดีขึ้นมากๆ แล้วสำหรับปีนี้”
แต่ก็มีจำนวนไม่น้อยที่โบกมือลาเทศกาลลอยกระทงในปีนี้อย่างจำยอม กาญจนา ชัยสิริรุ่งตระกูล ชาวบ้านในพื้นที่ประสบภัยย่านนนทบุรี ก็ออกมายืนยันอย่างหนักแน่นว่า ปีนี้จะงดลอยกระทง
“ย้ายมาพักที่จังหวัดระยองแล้ว ปีนี้ไม่ลอยหรอก จะไปไหนมาไหนก็ลำบาก วัสดุทำกระทงก็หาซื้อยาก แต่ปกติจะลอยทุกปีนะ พาลูกๆ ไปลอยกันที่คลองมหาสวัสดิ์ แต่ตอนนี้ท่วมกันหมดแล้ว น้ำท่วมหนักจนอยู่กันไม่ได้ ไม่มีอารมณ์ไปลอยกระทงหรอก”
ส่วน อโนทัย สกุลทอง ผู้สื่อข่าวจากหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่ง ก็บอกว่า ปีนี้คงไม่ได้เข้าร่วมเทศกาลลอนกระทงเหมือนที่ผ่านมา
“ ปีนี้อาจไม่ได้ลอย เพราะจะหาที่ลอยก็ลำบาก ปกติแล้วจะลอยที่วัดพระศรีมหาธาตุฯ บางเขน เป็นประจำทุกปี แต่ตอนนี้ท่วมไปแล้ว ก็เลยไม่ได้คิดวางแผนว่าจะลอยที่ไหนดี แต่ถ้าเคลียร์งานได้ ใจจริงก็อยากจะกลับไปลอยกับครอบครัวที่ต่างจังหวัดบ้างเหมือนกัน ถึงแม้จะได้ลอยกระทงหรือไม่ ก็อยากขอพรจากพระแม่คงคาให้ประเทศไทยดีขึ้น ให้ท่านช่วยระบายน้ำในจังหวัดที่ประสบอุทกภัยให้หมดไปเสียที”
เช่นเดียวกันการเดินทางที่ค่อนข้างลำบากก็เป็นเหตุให้ ฐิติมา อินทร์ปฐม พยาบาลประจำโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ อาจไม่เข้าร่วมลอยกระทง
“เป็นไปได้สูงว่า จะไม่ได้มีโอกาสร่วมลอยกระทงในปีนี้ เพราะน้ำยังท่วมอยู่เยอะอยู่ การเดินทางไปไหนก็ลำบาก ถึงแม้จะย้ายไปอยู่กับญาติในที่ที่น้ำท่วมไม่ถึงแล้วก็ตาม ทุกอย่างยังอยู่ในสถานการณ์ที่จำกัด ลำบากไปเสียทุกเรื่อง อาจจะปล่อยให้ปีนี้ผ่านไปโดยไม่ได้ทำอะไร แต่ถ้าเป็นไปได้จริงๆ ก็อยากจะหนีน้ำออกไปเที่ยวต่างจังหวัดกับเพื่อนๆ ทำวิกฤติตรงนี้ให้เป็นโอกาสซะ”
ซึ่งทางด้าน ณัฐพล วงศ์ถิรสิน นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ หรือเอแบค ผู้อาศัยอยู่ในเขตกรุงเทพฯ ชั้นใน ที่ยังไม่ประสบภัยน้ำท่วม แต่ถูกน้ำล้อมไว้หมดแล้ว กล่าวว่าการลอยกระทงอาจจะเพิ่มขยะให้กับกรุงเทพ
“แค่นี้ขยะก็เยอะอยู่แล้ว ต้องเจอน้ำท่วมอีก แต่ถ้าจะลอยก็อาจจะใช้วิธีเอาน้ำใส่ถัง แล้วก็ลอยที่บ้านเอา เหมือนลอยด้วยใจ ยังไงก็มาขอขมาพระแม่คงคา เป็นน้ำเหมือนกันก็รู้สึกเชื่อมโยงได้”
ฮาว ทู? ลอยกระทง’54 ในวันน้ำล้นตลิ่ง
หลังจากฟังความคิดเห็นจากหลายๆ ท่านกันไปแล้ว ก็ลองมาชิมลางกลเม็ดเด็ดดวงในการลอยกระทงท่ามกลางวิกฤติการณ์น้ำท่วมกันบ้างดีกว่า ซึ่งคงต้องยอมรับโดยศิโรราบว่า ลอยกระทงปีนี้นั้นมีเรื่องให้ต้องคิดซับคิดซ้อนเสียเลยเกิน เพราะด้วยวิกฤตอุทกภัยอันร้ายแรงที่เข้ามาถล่มพื้นที่ในจังหวัดภาคกลางกันแบบ (เกือบ) ถ้วนหน้านั้น ได้กลายเป็นอุปสรรคสำคัญต่อประเพณีที่สืบทอดมานานหลายร้อยปีอย่างที่สุด
เพราะอย่างที่ทราบว่า การลอยกระทงนั้นจะทำกันที่แม่น้ำสายใดสายหนึ่ง เพื่อเชื่อกันว่า เป็นที่สิงสถิตของพระแม่คงคา แต่พอเจอสถานการณ์แบบนี้เข้าไป กว่าจะเดินทาง กว่าจะไปถึงแม่น้ำก็ถือว่าลำบากสุดๆ แถมบางแห่งยังถูกถุงทรายจำนวนมหึมา กั้นเป็นพนังกั้นน้ำอีกต่างหาก เพราะฉะนั้นเพื่อให้เข้ากับฤดูกาล ก็เลยขอเสนอวิธีการลอยกระทงในยามขับคับเช่นนี้ให้ลองไปทำกันดู
1. ลอยกระทงในแม่น้ำชั่วคราว ปีนี้หลายคนได้โบนัสมีน้ำมาของดูต่างหน้าไว้รำลึกถึงวิกฤตอุทกภัย 2554 ซึ่งบางคนโชคดีหน่อยน้ำท่วมแค่หน้าปากซอยยังไม่เข้าบ้าน แต่ก็มีอีกไม่น้อยที่น้ำทะลักเข้าชั้น 1 เป็นที่เรียบร้อย เพราะฉะนั้นเมื่อทำอะไรไม่ได้แบบนี้ แต่หัวใจยังรักที่ลอยกระทงอยู่ ทางแก้ก็คงมีอยู่ทางเดียว ด้วยการพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส แปรสภาพแม่น้ำชั่วคราวในบ้าน หรือพื้นที่ใกล้เคียง ให้เป็นที่สักการะพระแม่คงคา ซึ่งแม้งานนี้จะเสียความตั้งใจไปบ้าง เพราะไม่ได้ลอยในแม่น้ำจริงๆ แต่เชื่อเถอะว่าอรรถรสยังคงเดิม
2. ลอยกระทงออนไลน์ ไอเดียบรรเจิดของ ‘กระทรวงวัฒนธรรม’ เจ้าเก่า โดยวิธีการที่ว่านี้ ก็ได้รับความยืนยันจากท่านเจ้ากระทรวงที่รู้สึกเป็นห่วงเป็นใยในประเพณีที่สืบทอดกันมานาน แต่อย่างว่า ด้วยสถานการณ์ที่ไม่เอื้ออำนวยสักเท่าใดนัก ท่านจึงมีความเข้าใจอย่างถ่องแท้ว่า จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องวิธีการแก้ขัดไปก่อน ซึ่งวิธีการที่กระทรวงจะช่วยเหลือประชาชนผู้ตกทุกข์ได้ยาก ก็มีทางเดียว นั่นคือการเปิดเว็บไซต์ของกรมส่งเสริมวัฒนธรรม www.culture.go.th ให้ประชาชนได้ลอยกระทงกันแบบฟรีๆ
งานนี้หากใครได้ลอยกระทงด้วยวิธีนี้รับรองว่าคุ้มสุด!!! เพราะนอกจากในหน้าดังกล่าวจะมีคำอธิษฐานแล้ว ยังมี E-Book เรื่องลอยกระทงเป็นของแถมอีกต่างหาก ซึ่งงานนี้ ท่านเจ้าของไอเดียยังฝากมาบอกอีกว่า นอกจากจะสามารถสืบสานศิลปวัฒนธรรมของชาติได้แล้ว ยังช่วยลดปริมาณขยะที่จะเกิดจากกระทงอีกต่างหาก สุดยอดไหมล่ะ???
3. ลอยกระทงในอ่าง วิธีดั้งเดิมซึ่งในมาทุกยุคทุกสมัย แม้ว่าน้ำจะท่วมหรือไม่ท่วมก็ตาม เหมาะกับคนที่อยากลอยกระทงสุดๆ แต่โอกาสไม่อำนวย เช่น อยู่อาคารสูง งานยุ่งมากๆ จนไม่เวลาไปลอยกระทง มีลูกหลานเล็กๆ ที่กลัวว่าไปลอยกระทงแล้วจะพลัดตกน้ำตกตกท่า หรือไม่ก็ขี้เกียจออกจากบ้าน แต่ในใจยังอยากลอยกระทงอยู่ วิธีง่ายๆ ที่พอแก้อารมณ์ความอยากได้ก็คือ การหันมาใช้อุปกรณ์ในครัวเรือนและสุขภัณฑ์ เช่น อ่างล้างจาน อ่างล้านหน้า หรือกะละมังเป็นเครื่องแก้ขัดไปก่อน
4. ไปลอยกระทงต่างจังหวัด ก็อย่างที่ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครเคยเอ่ยนั้นแหละว่า ถ้าคนกรุงไม่อยากเจอน้ำท่วมก็ลองออกท่องเที่ยวต่างจังหวัด (ที่น้ำไม่ท่วม) สักพักแล้วกัน ดังนั้นแน่นอนว่าใครที่อยากลอยกระทงให้สบายหัวใจ และยังได้บรรยากาศแบบเดิมๆ กลับมาก็ขอให้ไปลอยในพื้นที่ที่น้ำไม่ท่วมเสียแล้ว เพราะยังมีจังหวัดอีกเกินครึ่งประเทศที่รอดพ้นจากวิกฤตครั้งนี้ แถมดีไม่ดี คุณอาจจะได้มีโอกาสไปร่วมงานประเพณีของจังหวัดนั้นๆ อีกต่างหาก เรียกว่าโชค 2 ชั้นจริงๆ
5. ยกยอดไปปีหน้าแล้วกัน อันนี้สำหรับคนที่ยกธงขาว หรือคิดว่าของแบบนี้อยู่ทีใจ ลอยปีไหนๆ ก็เหมือนกัน แถมยังที่ทราบว่าช่วงนี้เป็นช่วงวิกฤต อารมณ์ในการลอยนั้นอาจจะเหือดแห้งไปหมดแล้วก็ได้ เพราะฉะนั้นเมื่อลำบากเสียขนาดนี้ สู้ไปลอยช่วงสบายๆ ดีกว่า หรือดีไม่ดี ก่อนเข้านอนก็อธิษฐานว่า คืนนี้ก็ให้ฝันว่าได้ไปลอยกระทงกับคนรู้ใจ แค่นี้ก็โอเคแล้ว
ทั้งหมดนี้ก็คือวิธีแก้ขัดง่ายๆ สำหรับคนที่หัวใจยังรักการลอยกระทงอย่างสุดซึ้ง อย่างไรก็ดีคงต้องขอแถมคำเตือนเพื่อป้องกันระวังภัย ก่อนที่จะเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันไว้เสียหน่อยในเทศกาลลอยกระทงกันเสียหน่อยแล้วกัน
1. ระวังสัตว์ร้าย ก็อย่างที่ทุกคนทราบว่า ช่วงนี้ตามถนนหนทางมีสัตว์หน้าตาแปลกๆ ที่หลายคนไม่เคยเจอในยามปกติออกมาเผ่นพ่านเต็มไปหมด ทั้งงู จระเข้ ฯลฯ เพราะฉะนั้นอุปกรณ์ เครื่องแต่งกาย และสติจึงมีความสำคัญมาก เพราะของแบบนี้เจอเข้าไปอาจถึงตายได้
2. อย่าเดินไปใกล้แม่น้ำมากๆ เพราะดีไม่ดีคุณอาจจะก้าวพลาด เนื่องจากตอนนี้เป็นช่วงที่น้ำขึ้นสูง บางทีก็เลยตลิ่งมาด้วยซ้ำ ฉะนั้นสายตาของคุณอาจจะกะระยะพลาด ไม่รู้ที่อยู่นั้นเป็นพื้นดิน หรือพื้นน้ำกันแน่ และแน่นอนหากเกิดพลาดพลั้งรุนแรงขึ้นมา มีหวังเป็นข่าวลงหน้า 1 หนังสือพิมพ์ชัวร์ๆ
3. งดจุดธูปจุดเทียนชั่วคราว เรื่องนี้เพื่อความปลอดภัยของทุกท่าน เพราะอย่างที่รู้ว่า อันตรายอันดับ 1 ของเหตุน้ำท่วม นั่นมาจากเรื่องไฟฟ้านั่นเอง เพราะฉะนั้นหากไฟที่คุณไปจุดที่ธูปหรือเทียนดันเกิดไปติดตามจุดที่กระแสไฟฟ้ารั่วอยู่พอดี นอกจากอุทกภัยแล้วอาจจะเกิดอัคคีภัยเป็นของแถมด้วย และอย่านึกว่าหากไปลอยกระทงในแม่น้ำแล้วจะปลอดภัย เพราะคุณไม่มีทางรู้ได้เลยว่าเมื่อจังหวะน้ำหนุนขึ้นสูงๆ แล้วกระทงไม่ลอยออกไปข้างนอกแม่น้ำ และหากสมมติว่าเกิดไฟจากธูปจากเทียนเกิดไปติดตามบ้านหรือที่มีไฟฟ้ารั่ว รับรองว่า เกิดเรื่องใหญ่ขึ้นอย่างแน่นอน
4. ห้ามจุดประทัดเด็ดขาด กฎเก่าๆ ที่บอกกันมาทุกปี และก็มีคนแหกทุกปี แต่ด้วยเหตุผลของข้อที่แล้ว เชื่อว่าทุกคนคงจะเข้าใจอยู่แล้วว่า แค่ธูปเทียนธรรมดาๆ อาจจะส่งผลให้เกิดเหตุไม่คาดฝันขึ้นได้ ฉะนั้นของที่อานุภาพสูงกว่า มีหรือจะไม่อันตรายกว่า ที่สำคัญยังหนวกหูและผิดกฎหมายอีกต่างหาก
5. ปีนี้หากเมาอาจหนักได้ ต้องยอมรับว่าลอยกระทงทุกปี บรรดาร้านเหล้ามักจะดูครื้นเครงเป็นพิเศษ หลายคนลอยกระทงเสร็จก็ไปดื่มเหล้าต่อ บางคนเห็นคนเยอะก็ดื่มเหล้าก่อนแล้วค่อยไปลอย แต่บอกไว้เลยว่า ปีนี้ดื่มเหล้าอาจจะเสี่ยงกว่าที่คุณคิด เพราะนอกจากจะทำให้สติสัมปชัญญะมีปัญหาแล้ว ยังอาจจะทำให้ความจำของคุณเกี่ยวกับคำเตือน 4 ข้อแรกนั้นเลอะเลือนได้
..........
ท้ายที่สุดแล้วใครใคร่จะลอยกระทงก็คงต้องพึ่งระลึกต่อส่วนร่วมให้มากยิ่งขึ้น เพราะนาทีนี้ชาวไทยค่อนประเทศได้รับผลกระทบจากวิกฤตการณ์น้ำท่วม กำลังตกอยู่ในสภาวะซังกะตายกันโดยถ้วนทั่ว คงเป็นเรื่องที่น่าเศร้าหากพวกเขามาถูกซ้ำเติมอย่างไม่รู้อีโหน่อีเหน่จากผู้เข้าร่วมลอยกระทงที่ไร้ความรับผิดชอบ ก็คงต้องร้องขอกันแล้วละว่าทุกท่านที่จะร่วมสืบสานประเพณีลอยกระทง ต้องร่วมลอยทุกข์ลอยโศกกันอย่างถูกที่ถูกทาง
>>>>>>>>>>
……….
เรื่อง : ทีมข่าว CLICK
ภาพ : ทีมภาพ CLICK