xs
xsm
sm
md
lg

‘จิตอาสา’ น้ำท่วม 2554…น้ำใจไทยในสายน้ำ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ในปัจจุบันสถานการณ์น้ำท่วมของประเทศไทย ได้ดำเนินมาถึงจุดที่คนในประเทศทุกคนได้รับผลกระทบกันโดยถ้วนหน้าแล้ว ไม่ว่าจะเป็นผลกระทบทางตรงที่เกิดขึ้นกับคนที่อยู่อาศัยในพื้นที่น้ำท่วม หรือผลกระทบทางอ้อมที่มาในรูปแบบของการขาดแคลนเครื่องอุปโภคบริโภค และภาวะเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศที่จะต้องชะลอตัวและถดถอยไปอีกนาน

และแม้ว่าจะมีคนประมาณเกือบ 10 ล้านได้รับความเดือดร้อนจากอุทกภัยครั้งนี้ แต่ก็ยังมีคนอีกจำนวนไม่น้อย พร้อมที่จะยื่นมือมาให้ความช่วยเหลือเพื่อนร่วมชาติโดยเต็มใจ และไม่หวังผลประโยชน์ตอบแทน พวกเขาหวังเพียงว่าความช่วยเหลือจากคนตัวเล็กๆ อย่างพวกเขาจะส่งผ่านไปถึงผู้ประสบภัย และทำให้ความเดือดร้อนของเพื่อนร่วมชาติบรรเทาลงบ้างแม้เพียงเล็กน้อยก็ยังดี

อันที่จริง แม้การบำบัดทุกข์บำรุงสุขให้กับประชาชน จะเป็นหน้าที่โดยตรงของรัฐ แต่ในยามที่รัฐไร้ซึ่งสมรรถภาพเช่นในเวลานี้ การช่วยเหลือของประชาชนผู้มีจิตอาสาได้กลายเป็นความเคลื่อนไหวหลักที่สำคัญที่สุด ไม่ว่าจะเป็นการออกแรงกายตักทรายทำคันกั้นน้ำ การบริจาคของแพกของช่วยเหลือผู้ประสบภัย, การทำส้วมฉุกเฉิน ฯลฯ ก็ล้วนเป็นการกระทำเพื่อประโยชน์ของส่วนรวมโดยไม่หวังผลตอบแทนใดๆ ทั้งสิ้น

ในวันนี้ คำว่า 'จิตอาสา' ของประชาชนทั่วไป จึงกลายเป็นคีย์เวิร์ดสำคัญ ที่จะนำพาประเทศไทยที่กำลังบอบช้ำ ฝ่าวิกฤตอุทกภัยครั้งนี้ไปได้อย่างตลอดรอดฝั่ง เป็นแสงสว่างท่ามกลางความมืดมิด

บทบาทของงาน ‘จิตอาสา’ ในสภาวะภัยพิบัติ

ก่อนอื่นลองมาดูกันก่อนว่า ในสถานการณ์ภัยพิบัติในอุทกภัยครั้งนี้ งานจิตอาสาได้เข้ามามีบทบาทสำคัญอย่างไรบ้าง ชลชาติ ผลอรรถ คือหนึ่งในผู้ประสบอุกทกภัยจากย่านรังสิต ที่ตอนนี้อพยพอยู่ที่ศูนย์ช่วยเหลือผู้ประสบภัย ที่สนามกีฬาหัวหมาก เล่าถึงช่วงน้ำท่วมว่า ไม่ทันได้ตั้งตัวเพราะน้ำขึ้นมาเร็วมาก แต่ยังดีที่มีคนทำงานด้านจิตอาสาเข้าไปช่วยเขาไว้ได้ทัน

“ในตอนนั้นมีกลุ่มจิตอาสาเข้ามาช่วยผม เขาก็พยายามจูงใจให้อพยพออกไป ตอนแรกผมก็ไม่อยากออกนะ แต่มันอยู่ไม่ไหว รีบออกก็รู้สึกดีมากที่เขาช่วยดูแลทุกอย่าง”

หลังจากย้ายออก และชีวิตก็ได้เผชิญกับภัยพิบัติแบบเต็มๆ ชลชาติยอมรับว่า อยู่ในภาวะเครียดจัด ทั้งเป็นห่วงบ้าน กังวลเรื่องงาน บางทีเครียดถึงกับอาเจียนออกมา แต่อาสาสมัครหลายคนที่ศูนย์อพยพผู้ประสบภัยก็ให้ความช่วยเหลือเขา

“เขาให้คำแนะนำดีๆ กับเรา บางทีก็ชวนไปดูคอนเสิร์ตที่จัดขึ้นเพื่อผ่อนคลาย ช่วยได้เยอะ หายเครียดได้โดยไม่ต้องกินยาแก้ หรือยานอนหลับเลย ขนาดผมยังวัยรุ่น เจอแบบนี้ผมรู้เลยว่าเดือดร้อนเป็นอย่างไร มันทรมานมาก มาถึงตอนนี้ถ้ามีโอกาสผมก็อยากช่วยเหลือคนอื่นตอบแทนคืน เพราะผมรู้แล้วว่าความเดือดร้อนมันเป็นอย่างไร ผมอยากขอบคุณทุกคน คือถ้าไม่มีกลุ่มจิตอาสาช่วยไป ผมอาจยังติดอยู่ที่บ้าน อาจจะลำบากกว่านี้มาก”

ส่วนทางด้าน สุธน จันทร์ตะเคียน ผู้ประสบภัยจากจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ที่ย้ายศูนย์อพยพมาแล้ว 3 ที่ เอ่ยถึงความรู้สึกต่อกลุ่มจิตอาสาที่เข้าช่วยเหลือว่า รู้สึกอยากขอบคุณทุกอย่าง

“ช่วยดูแลทุกอย่าง ดีมาก ทั้งอาหารการกิน เสื้อผ้า สภาพจิตใจเรา พวกเขาก็ยิ้มแย้มแจ่มใส อัธยาศัยดี”

สุธนเล่าว่า ตั้งแต่แรกเริ่มที่ต้องอพยพจากบ้าน เข้าศาลาว่าการจังหวัด จากนั้นย้ายไปบางปะอินเพียง 3 วัน ก็ต้องอพยพไปยังมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รังสิต แล้วมาอยู่ที่สนามกีฬาหัวหมาก ตลอดมาแม้จะได้รับความเดือดร้อนจากการต้องย้ายที่อพยพหลายต่อหลายครั้ง แต่ก็ได้หลายคนที่เข้ามาช่วยเหลือทั้งที่ไม่ได้รู้จักกัน

“ตอนนี้ก็มาอยู่ตั้งแต่วันที่ 25 ตุลาฯ ทุกคนช่วยเหลือดูแลทุกอย่าง ทำให้เราอยากจะช่วยเหลือเขาบ้างนะ แต่ก็ช่วยเท่าที่ช่วยได้ ดูแลความสะอาด ขนย้ายอะไรเล็กๆ น้อยๆ หรือตอนน้ำจะเข้าธรรมศาสตร์ก็ไปช่วยกรอกทรายกันแต่มันก็ต้านไว้ไม่อยู่”

คือความเอื้อเฟื้อในสังคมไทย

ที่ผ่านมาแม้สถานการณ์น้ำท่วม จะเป็นเสมือนตัวเร่งให้บทบาทของคำว่า ‘จิตอาสา’ ชัดเจนมากขึ้น แต่ถ้าลองพิจารณาดีๆ ก็จะพบว่า ลักษณะของจิตอาสานั้นมีอยู่ในตัวคนไทยทุกคนอยู่แล้ว แม้ว่ามันจะถูกหลงลืมไปในบางครั้งก็ตาม

สมศักดิ์ นัคลาจารย์ อาจารย์ประจำคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์และสวัสดิการสังคม มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ อธิบายถึงเรื่องจิตอาสาว่า ถือเป็นเรื่องปกติในสังคมไทยซึ่งเป็นสังคมของพระพุทธศาสนา แต่เนื่องจากสภาพสังคมนั้นเปลี่ยนแปลงไป มีความซับซ้อนมากขึ้น เรื่องนี้จึงไม่ค่อยได้รับความสนใจจากผู้คนมากนัก

"จริงๆ แล้วเรื่องนี้ไม่ได้เกิดขึ้นชั่วครู่ชั่วคราว แต่มันไม่มีใครมาโฟกัส เพราะถ้าพูดถึงเรื่องความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่สังคมไทยเราก็เป็นแบบนั้นอยู่แล้ว อย่างการลงแขกเกี่ยวข้าวก็ถือว่าใช่ ชาวบ้านสู้ศึกบางระจัน ก็ถือว่าใช่ เพราะเขาก็มาด้วยใจทั้งนั้น แต่พอสังคมมันเปลี่ยนไป ความเข้มข้นเรื่องนี้มันก็ลดลง และที่สำคัญเมื่อก่อนเรื่องจิตอาสามันเป็นลักษณะของความเมตตา แต่เดี๋ยวนี้คำว่าจิตอาสามันมาพร้อมกับซีเอสอาร์ ซึ่งคนหยิบยกมันขึ้นเพื่อเข้ามาช่วยเหลือ เพราะฉะนั้นในเชิงความหมายแล้วมันไม่ได้แปลกเลย แต่เราหยิบคำโน้นคำนี้มาเล่นเท่านั้นเอง เพื่อให้ดูเปลี่ยนไป อาจเพราะคำว่า ลงแขก มันเชย"

ดังนั้น จึงอาจจะทำกล่าวได้ว่า เรื่องจิตอาสา คือการชูประเด็นเรื่อง ‘ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่’ ที่สังคมไทยเคยละเลย และถือเป็นการเรียกร้องความสนใจให้คนหันกลับมาช่วยเหลือกัน และการที่ประเด็นเรื่องจิตอาสามีคนสนใจมากขึ้นในช่วงเกิดเหตุภัยพิบัติเช่นนี้ ถือว่าเป็นเรื่องที่ดีมาก ซึ่งมันบ่งบอกว่านิสัยเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ยังมีอยู่ในสังคมไทยอยู่เช่นเดิม แม้สังคมจะเปลี่ยนไปสักแค่ไหน

แต่อย่างไรก็ตาม ข้อสังเกตอย่างหนึ่งของสมศักดิ์ ที่น่าสนใจเกี่ยวกับประเด็นเรื่องจิตอาสาที่กำลังเติบโตในไทยก็คือ มันสะท้อนให้เห็นถึงความอ่อนแอของสังคมไทยด้วย เพราะต้องยอมรับว่า ช่วงที่ผ่านมามีคนมากมายที่ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้

"ภาพที่เกิดขึ้นมันแสดงให้เห็นว่า ที่ผ่านมาสังคมเรามันเอาเปรียบ กดขี่ในทุกรูปแบบ จนทำให้คนที่อยู่ข้างล่างไม่สามารถจะแข็งแรงหรือพึ่งพาตนเองได้ เพราะฉะนั้นถ้าทุกส่วนอยากให้เกิดจิตอาสาขึ้นจริงๆ ก็ต้องมานั่งคิดแล้วว่าจะทำยังไงให้เขาพึ่งพาตัวเองได้ ให้เขาแข็งแรงได้ หรือทำอย่างไรเมื่อเวลาที่เขาเจอสถานการณ์ภัยพิบัติต่างๆ แล้วจะยืนหยัดต่อสู้ได้ ไม่ใช่พอมาปุ๊บก็ล้มละลายทันที แล้วก็มานั่งบ่นว่าทำไมของมาช้าจังเลย ทำไมไม่มาแจกบ้านเรามั้ง ถามว่าถ้าเขามีพละกำลัง มันก็พอสู้ได้ แต่ที่ทำไม่ได้ เพราะสังคมจริงๆ ไม่ได้มีจิตอาสา แต่เป็นการเอาเปรียบกันในสังคมมานานแล้ว"

‘จิตอาสา’ กำลังเติบโตเบ่งบาน แต่ต้องบริหารจัดการ

แม้ในภาพรวม สิ่งที่เรียกว่า ‘จิตอาสา’ เพิ่งจะได้รับความสนใจจากสังคมส่วนใหญ่มาไม่นาน แต่ในระดับบุคคลแล้ว หลายๆ คนก็นับได้ว่า มีความเป็นจิตอาสามาอยู่ในตัวมาแต่ไหนแต่ไร โดย บุษยา คุณากรสวัสดิ์ บุคลากรในสายองค์กรพัฒนาเอกชนหรือเอ็นจีโอที่ทำงานด้านประชาสังคมและจิตอาสามาโดยตลอดได้กล่าวถึงคำจำกัดความของจิตอาสาไว้ว่า

“มันคือการทำงานที่มาจากความอยากทำนะ ไม่ได้รู้สึกว่าจำใจต้องทำ แต่มาจากความกระตือรือร้น ความปรารถนาดี ซึ่งการทำงานจิตอาสานั้นมีมานานแล้ว และมันก็มีอยู่ในตัวของคนทุกคน แต่คนเขาอาจจะไม่รู้ว่าจะเอาตนเองไปอยู่ตรงไหน คือจิตอาสานั้นเริ่มมาจากระดับปัจเจกก่อน ซึ่งในสังคมไทยที่ผ่านมามันไม่มีช่องให้ปัจเจกเข้าไปทำ แต่พอเกิดเหตุการณ์บางอย่างขึ้นมา มันทำให้หลายๆ คนรู้สึกว่าต้องโดดลงไปก่อน แล้วค่อยหาอะไรทำ และปัจจุบัน คนก็พอจะรู้แล้วว่ามีพื้นที่ที่ตนสามารถไปทำงานอาสาได้อยู่ เขารู้แล้วว่าตนเองกำลังจะไปทำอะไร”

สิตตา มารัตนชัย ก็เป็นหญิงสาวอีกคนหนึ่งที่คุ้นเคยกับการทำงานจิตอาสามาตั้งแต่สมัยที่ยังเรียนอยู่ ถึงแม้ว่าในทรรศนะของเธอจะเห็นว่า ไม่ใช่ทุกคนที่จะลุกขึ้นมาทำงานจิตอาสาแบบอัตโนมัติ แต่เธอก็เชื่อว่า แนวคิดจิตอาสานั้น เป็นเรื่องที่ส่งต่อถึงกันได้

“จริงๆ แล้ว เราเป็นคนไม่ชอบเห็นใครเดือดร้อน ถ้าเห็นมันจะมีพลังบางอย่างลุกโชนขึ้นมา ก็จะมองว่าถ้ามีอะไรที่เราทำได้ก็จะไปทำ ก่อนที่จะมีเหตุการณ์น้ำท่วม เราก็ทำงานชมรม พอทำงานก็ชอบทำงานอาสาในที่ทำงาน น้ำท่วมมันเป็นปัญหาใหญ่ของประเทศ เราก็รวบรวมเพื่อนๆ กันไปช่วย ไม่ว่าจะเป็นการช่วยด้านทุนทรัพย์ หรือแรงงาน คือบางทีบริจาคเงินจนไม่มีพอที่จะบริจาคแล้ว ก็เหลือแต่แรงกายที่เราพอจะเอาไปช่วยได้ คือไปช่วยนี่เราไม่ได้เสียอะไรเลยนะ อีกอย่างเรื่องแบบนี้มันส่งต่อกันได้ อย่างเพื่อนเรานั้น เมื่อก่อนจะเป็นคนเฉยๆ ไม่เคยทำ แต่พอเขาเห็นเพื่อนในกลุ่มลุกขึ้นมาทำ ทีแรกเขาอาจจะไม่ไป แต่สุดท้ายเขาก็จะลุกขึ้นมาทำด้วยตัวของเขาเอง เขารู้สึกเองเลยนะว่ามันเป็นเรื่องธรรมดาที่จะต้องมาช่วยกัน อาจจะไม่ต้องมายกกระสอบทรายก็ได้ อาจจะมาช่วยเสิร์ฟน้ำ ส่งผ้าเย็นก็ได้ ทุกคนก็ทำในสิ่งที่ตนทำได้”

แต่กระนั้น ในช่วงที่งานจิตอาสาอยู่ในภาวะกำลังโตวันโตคืนอย่างในเวลานี้ สิ่งจำเป็นอีกอย่าง ที่จะเข้ามาช่วยผลักดันให้งานจิตอาสาเติบโตได้อย่างเต็มที่ก็คือการบริหารจัดการ โดยบุษยา ได้กล่าวถึงเรื่องนี้เอาไว้ว่า

“สิ่งที่จะทำให้งานอาสามีประสิทธิภาพนั้นคือ บริหารจัดการ เพราะมันจะบอกคนที่เข้ามาอาสาได้ว่าจะต้องทำอะไรตรงไหนบ้าง เพราะการทำงานจิตอาสานั้น แต่ละงานต้องการความชำนาญของคนทำงานต่างกัน แต่พอไม่มีคนจับงานมาเจอคน และไม่มีการจับคนมาเจองาน มันจึงทำให้งานอาสากลายเป็นงานพื้นฐาน เช่น งานใช้แรง แต่ถ้ามีการจัดการตรงนี้ งานโดยรวมก็จะออกมามีประสิทธิภาพสูงสุด และคนก็จะใช้ความชำนาญของตัวเองให้เกิดประโยชน์ได้

“ตัวอย่างที่มีให้เห็น หลายคนก็ใช้ความสามารถด้านวิศวกรรมไปทำสิ่งที่เกิดประโยชน์ บางคนใช้ทักษะในการแสดงให้ความบันเทิง หรือที่ชัดๆ เลยก็อย่างกลุ่มรู้สู้ฟลัด ที่เอาความสามารถด้านการทำแอนิเมชัน มาทำอินโฟกราฟิกที่มีประสิทธิภาพ นั่นแสดงให้เห็นว่างานจิตอาสานั้นเติบโตขึ้นมาก”

ในความมืดมีแสงสว่าง และท่ามกลางความสว่างก็มีความมืดมิด

ในการทำงานด้านจิตอาสานั้น ก็เหมือนกับทุกสิ่งในโลกที่มีอยู่สองด้าน ในมุมหนึ่งมันคือความอิ่มเอมใจที่ได้ช่วยเหลือผู้เดือดร้อน โดยไม่หวังผลตอบแทน แต่ในบางครั้ง งานจิตอาสา ก็นำพาความทุกข์มาให้อาสาสมัครอยู่บ้างเหมือนกัน

พริศร์ สมุทรสาร อาสาสมัครประจำศูนย์ช่วยผู้ประสบภัย มธ. และศูนย์ราชมังคลากีฬาสถาน ได้สะท้อนถึงอีกมุมหนึ่งของการทำงานอาสาสมัครว่า บางครั้งก็วางตัวลำบากไม่ใช่น้อย เพราะคนรับบริการเองยังไม่เข้าใจว่าอาสาสมัครนั้นมาทำงานด้วยใจ และหลายครั้งจะถูกผู้ประสบภัยทำร้ายจิตใจ โดยตนเองนั้นมีประสบการณ์มาทั้ง 2 ด้าน คือทั้งเป็นอาสาสมัครที่ให้บริการในศูนย์ฯ และแบบที่ลงพื้นที่ ซึ่งทั้งสองประสบการณ์นั้นต่างมีเหตุการณ์แย่ๆ เกิดขึ้นด้วยเช่นกัน

“ตอนแรกอยู่ในคลังของบริจาค แต่ตอนนี้ทำเกี่ยวกับอาสากู้ภัยด้วย อย่างแรกๆ ที่ผมทำงานในศูนย์ เราก็ปฏิบัติกับผู้ประสบภัยอย่างเต็มที่ตลอดนะครับ อย่างตอนที่เอาของเข้าไปให้ พอเดินเข้าไปดูแลหรือพาคนเข้าไปส่ง เขาก็จะชี้ให้เราเอาโน่นเอานี่มาให้ ผมก็บอกว่าอันนี้ไม่ได้นะครับ เขาก็บ่นให้ผมว่าไม่ช่วยอะไรเลย ทำไมคนไทยแค่นี้ช่วยไม่ได้ ซึ่งเราก็บอกว่ามันเป็นกฎนะ เขาก็ตะโกนโวยวายใส่แล้วครับ”

“หรืออย่างในคืนที่ มธ.โดนตัดไฟคืน คนก็เริ่มตะโกนโวยวาย เราเดินผ่าน ก็ตะโกนด่าเป็นคำหยาบคาย ว่าไอ้นั่นไอ้นี่ กูร้อนนะโว้ย อารมณ์เหมือนเราเป็นคนใช้ก็มี ส่วนเหตุการณ์ที่ออกไปกู้ภัยก็มี เช่น บางที่ที่เข้าไป ก็ไม่พอใจที่เราให้ของเขาน้อยไม่เท่าที่เขาต้องการกักตุนของ เราเข้าใจนะครับว่าอยากได้อีก แต่พอเราไม่ให้ ก็เริ่มด่าว่าทำไมแค่นี้ให้ไม่ได้ ของก็มีตั้งเยอะแยะทำไมไม่ให้

โดยพริศร์ยอมรับว่าหากลองคิดเล่นๆ เป็นเปอร์เซ็นต์สำหรับผู้ประสบภัยในลักษณะเห็นแก่ตัวนี้ก็มีมากกว่า 10 เปอร์เซ็นต์เลยทีเดียว จนเรื่องนี้ต้องกลายเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่อาสาสมัครต้องเตรียมรับมือด้วยอีกทาง ซึ่งอาสาสมัครหนุ่มยังตั้งข้อสังเกตอีกว่าการออกไปช่วยเหลือชาวบ้านตามต่างจังหวัด จะไม่ค่อยมีกรณีดังกล่าวเกิดขึ้น เพราะส่วนใหญ่คนต่างจังหวัดจะน่ารัก และเห็นใจอาสาสมัครอย่างมาก ต่างจากเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ที่คนไม่เคยเผชิญหน้ากับเหตุการณ์ในลักษณะนี้ จึงแสดงออกถึงการรับมือได้ไม่ดีนัก

“คนไม่เคยลำบาก พอลำบากเข้าก็เห็นแก่ตัว คนส่วนใหญ่ก็เข้าใจว่าหน้าที่ของเราคืออะไร เราเข้าใจว่าเขาอึดอัดใจ ที่ต้องมารอความช่วยเหลือ พอเราเข้าไป ก็ด่าเราเพราะเขาไม่มีที่ระบาย

“เขาคิดว่าอาสาสมัครต้องทำได้ทุกอย่าง โดยเฉพาะหน่วยกู้ภัย ก็ต้องช่วยเขาได้ในทุกๆ อย่าง แต่จริงๆ เราไม่สามารถช่วยได้ทุกอย่างหรอก เพราะอย่างผมเองก็เป็นเพียงนักศึกษาที่ตั้งใจมาช่วยงาน แต่ที่สำคัญเราทำเต็มที่ในส่วนที่เราทำได้ คือต้องช่วยชีวิตคนให้ได้ก่อน ซึ่งที่ผ่านมาผมจะรับมือกับเรื่องแบบโดยการทำใจแข็งสู้ไป ก็ไม่ได้โต้ตอบ เพราะถ้าใช้อารมณ์มันจะแย่กว่าเดิม”

........

แม้งานจิตอาสา จะเป็นงานที่มีมุมมืดอยู่บ้าง แต่ถ้าหากเปรียบเทียบกับผลลัพธ์โดยรวมที่เกิดขึ้นกับสังคมแล้วแล้ว เรื่องกวนใจเล็กๆ น้อยๆ ที่เกิดขึ้นก็แทบจะไม่มีผลกับคนทำงานเลย และที่สำคัญในเวลานี้คือเวลาที่คนไทยทุกคนจะต้องลุกขึ้นมาช่วยตนเองและช่วยเพื่อนร่วมชาติคนอื่น เท่าที่ความสามารถของเราจะทำได้

เพราะถ้ามัวแต่จะหวังพึ่งความช่วยเหลือจากรัฐบาล ก็คงอาจจะต้องรอนานกันสักหน่อย...

>>>>>>>>>>>
………

เรื่อง : ทีมข่าว CLICK
ภาพ : ทีมภาพ CLICK




กำลังโหลดความคิดเห็น