xs
xsm
sm
md
lg

“ดร.สอาด บรรเจิดฤทธิ์” วิ่งตามโลก ปั้นบัณฑิตพันธุ์ใหม่-ส่องฅนคุณภาพ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ดร.สอาด บรรเจิดฤทธิ์  คณบดีวิทยาลัยนวัตกรรมการจัดการ มรภ.วไลยอลงกรณ์
“ดร.สอาด บรรเจิดฤทธิ์” วิ่งตามโลก
ปั้นบัณฑิตพันธุ์ใหม่

วรุณรัตน์ คัทมาตย์

การเรียนการสอนในระดับอุดมศึกษา มีความจำเป็นที่จะต้องปรับให้สอดคล้องตามพฤติกรรมของคนในแต่ละรุ่น ไม่ว่าจะเป็นคนรุ่น Generation X จากนั้นก็มุ่งสู่ Generation Y และในปัจจุบันก็กำลังเป็นยุคของคนรุ่นใหม่ คือ รุ่น Generation M (Millennium Generation) ซึ่งคนรุ่นใหม่นี้จะต้องมีความรู้รอบด้านเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนเแปลงอย่างรวดเร็วของโลก หลักสูตรการเรียนการสอนในรั้วมหาวิทยาลัย จึงต้องปรับให้ทันสมัยตามไปด้วย
หนึ่งในนั้นคือ วิทยาลัยนวัตกรรมการจัดการ ของมหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์ ที่เน้นการศึกษาวิจัย และพัฒนาหลักสูตรหลายๆ หลักสูตรขึ้นมาใหม่ เพื่อตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงอันรวดเร็วของสังคมโลกเพื่อสร้างบัณฑิตพันธุ์ใหม่ที่พร้อมปรับตัวสู่การทำงานในยุคโลกาภิวัตน์

ดร.สอาด บรรเจิดฤทธิ์ คณบดีวิทยาลัยนวัตกรรมการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์ เริ่มเล่าถึงวิทยาลัยแห่งใหม่ที่เพิ่งก่อตั้งมาได้เพียง 1 ปีว่า วิทยาลัยนวัตกรรมการจัดการ มีจุดกำเนิดมาจากการจัดการการศึกษาให้เท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น จากที่เคยอยู่ในกำกับของรัฐก็เปลี่ยนแปลงไปสู่การออกนอกระบบ ส่งเสริมให้บริหารจัดการเอง สามารถแข่งขันกับมหาวิทยาลัยอื่นๆ ได้ ซึ่งการจัดตั้งวิทยาลัยฯ นี้ก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่มีการพิจารณาให้มีการจัดการแบบนอกระบบเช่นกัน

วิทยาลัยนวัตกรรมการจัดการจะมีการเสนอหลักสูตรใหม่ๆ ให้แก่นักศึกษาได้เข้ามาเรียนรู้ บางหลักสูตรของวิทยาลัยก็มีสอนมา 4-5 ปีแล้ว แต่ตอนนั้นยังสังกัดอยู่กับคณะอื่น มีทั้งระดับตรี โท เอก เช่น สาขารัฐประศาสนศาสตร์มีการเรียนการสอนมาแล้ว 5 ปี ส่วนสาขาด้านการบริหารธุรกิจเรามีปริญญาเอกเอก (DBA) มีสาขาการจัดการการบิน และมีสาขาธุรกิจบริหารอุตสาหกรรมการบินด้วย และในภาคการศึกษาที่ 1/2555 จะมีหลักสูตรอีก 2-3 หลักสูตรเพิ่มขึ้นมา ขณะนี้อยู่ในขั้นของการวิจัยและพัฒนา เช่น หลักสูตรอาเซียนศึกษา หลักสูตรอิสลามศึกษา หลักสูตรการจัดการนวัตกรรม และหลักสูตรเกี่ยวกับจีนศึกษา”

ดร.สอาด เล่าถึงหลักสูตรใหม่ด้วยว่า หลักสูตรเหล่านี้ วิทยาลัยฯ ได้ทำข้อตกลง(MOU) กับจีนเพื่อส่งเสริมให้นักศึกษาเรียนแบบ 3 ภาษา ทั้งจีน-อังกฤษ-ไทย ส่วนหลักสูตรการบินก็มีการเรียนการสอนร่วมกับจีนเช่นกัน ในอนาคตจะทำการศึกษาในเชิงวัฒนธรรมร่วมกัน นอกจากนี้ ทางวิทยาลัยฯ ได้ทำข้อตกลงกับหน่วยงานภายนอกกับทุกหลักสูตร เพราะการบริหารแบบวิทยาลัยนั้นจำเป็นต้องมีพาทเนอร์ที่เป็นองค์กรภายนอก ไม่ว่าจะเป็น สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ บริษัทบางกอกแอร์เวย์ส องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น องค์กรจากเยอรมนี หรือสถาบัน-สมาคมอื่นๆ เป็นต้น ส่วนสาขาใหม่ใหม่ล่าสุดของวิทยาลัยฯ คือ สาขานวัตกรรมวิทยาการจัดการการสื่อสาร เปิดสอนระดับปริญญาโท และเอก
“สำหรับสาขานวัตกรรมวิทยาการจัดการการสื่อสาร ซึ่งจากเดิมหลายคนอาจคุ้นเคยกับสาขาการสื่อสาร หรือ Mass Communication เพียงอย่างเดียว แต่ในปัจจุบันโลกมีการเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ ศาสตร์เหล่านี้ก็เปลี่ยนแปลงไปตามโลกด้วย สำหรับหลักสูตรนี้เกิดจากคีย์เวิร์ดใหม่ 3 ข้อ คือ 1.ศาสตร์ด้านการสื่อสาร 2.ศาสตร์ด้านเทคโนโลยี และ 3.ศาสตร์ด้านการบริหารจัดการ นำมาบูรณาการศาสตร์กัน ซึ่งผมมองว่า มีคนที่มีความรู้ดีๆ ในด้านนี้ไม่มากนัก การทำสิ่งเหล่านี้ขึ้นมาเป็นเหมือนการจัดหมวดหมู่ให้เรียนรู้ได้ง่ายขึ้น”

ดร.สอาดอธิบายเพิ่มเติมว่า นักศึกษาจะได้เรียนเกี่ยวกับศาสตร์ใหม่ๆด้านเทคโนโลยีการสื่อสาร เช่น การจัดการสื่อ และเทคโนโลยีเกี่ยวกับสื่อ รวมถึงศาสตร์ด้านการบริหารจัดการใหม่ๆ เพื่อนำไปบริหารจัดการสื่อทั้งวารสารศาสตร์ วิทยุ-โททัศน์ และการประชาสัมพันธ์ได้ต่อไป ทำให้เราได้รู้เท่าทันว่าตอนนี้สื่อสารมวลชนกำลังมุ่งไปในทิศทางใด ทั้งยัง เป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้ธุรกิจอุตสาหกรรมได้ ยิ่งในยุคนี้เด็กๆจะมุ่งไปหาสิ่งใหม่ที่เขาได้เรียนเฉพาะด้านจริงๆ มีสถาบันการศึกษาใหม่ๆ นอกเหนือจากมหาวิทยาลัยเกิดขึ้นมามาก เช่น สถาบันของเซเว่นอิเลฟเว่น หรือกันตนา

“มหาวิทยาลัยต้องคิดใหม่ทำใหม่ ยิ่งในเรื่องขององค์ความรู้ต้องหูไวตาไว เพื่อที่จะเสริมสร้างให้มหาวิทยาลัยเข้มแข็ง เราต้องเป็นแหล่งผลิตองค์ความรู้ สนับสนุนงานวิจัย เน้นศึกษาความรู้ที่ลึกลงไปอีก อย่างวิทยาลัยฯ ของเราเอง เราต้องดูชุมชนรอบๆข้างด้วย อย่างนิคมอุตสาหกรรมนวนคร, บางปะอิน, นิคมอุตฯ ไฮเทค ฯลฯ เราต้องสร้างคนให้กับสังคมในแถบนี้ ฉะนั้น เวลาเราจัดการเรียนการสอนหรือการทำวิจัยเรื่องอะไรก็ตาม ต้องขึ้นอยู่กับความต้องการของสังคม เพื่อเราจะได้ผลิตบัณฑิตได้ตรงกับความต้องการของสังคม”

นอกจากนี้ ดร.สอาดยังกล่าวถึงกรณีที่ประเทศไทยจะเข้าร่วมประชาคมอาเซียนในอีก 3 ปีข้างหน้าว่า เราจะต้องเตรียมความพร้อมให้แก่สังคมไทยโดยต้องมีหลักสูตรอาเซียนศึกษา และทุกหลักสูตรต้องเรียนแบบ 2 ภาษา คือ ไทย-อังกฤษ ตรงนี้อาจจะมีการเพิ่มภาษาอาเซียนด้วยอีก 1 ภาษา และต้องให้นักศึกษาได้เรียนรู้ทั้งวัฒนธรรม ธุรกิจ การเมือง ฯลฯ เพราะต่อไปจะมีการแลกเปลี่ยนบุคลากรระหว่างกันทั้ง 10 ประเทศ

ดร.สอาดทิ้งท้ายว่า เหนื่อสิ่งอื่นใดนักศึกษายุคใหม่ ควรปฏิบัติตนเป็นคนดี ปฏิบัติดี และมีความสามารถดี หากฝึกฝนตัวเองด้วยการมีทั้ง 3 ดีนี้ จะทำให้เป็นบัณฑิตที่สังคมต้องการและจะสามารถนำพาประเทศพ้นวิกฤตทั้งหลายได้ เพราะทุกวันนี้โลกเราหมุนเร็วขึ้นทุกๆวินาที พอมันเปลี่ยนแปลงเร็ว สังคมก็เสียศูนย์ง่ายขึ้น การกระทบกระทั่งกันก็มีมากขึ้น ความเสี่ยงต่างๆมีมากขึ้น มหาวิทยาลัยจึงต้องสร้างคนให้มีสติ มีความรู้ มีปัญญาที่จะดูแลตัวเองได้ อย่าหวังพึ่งคนอื่นมากเกินไป รอรับอย่างเดียวไม่ได้ ขณะเดียวกันการพึ่งพิงกันก็ยังจำเป็นจะต้องมีอยู่ในสังคมไทย โดยเฉพาะความรู้ชาวบ้านหรือภูมิปัญญาชาวบ้านที่เราเริ่มหลงลืมไป สังคมไทยเปลี่ยนแปลงไป ไม่ได้ใกล้ชิดกันเหมือนก่อน

ดังนั้น หน้าที่ของคนไทยทุกคนขณะนี้ คือ ใครมีบทบาทหน้าที่อะไรก็ทำอันนั้นให้ดีก่อน อย่าไปก้าวก่ายคนอื่น และปฏิบัติตัวในกรอบที่ไม่ทำให้ตัวเองและคนอื่นเดือดร้อน
กำลังโหลดความคิดเห็น