xs
xsm
sm
md
lg

‘ตำรวจน้ำ’ ลุย!!! แผนวารีและสายตรวจทางน้ำ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ท่ามกลางวิกฤตการณ์น้ำท่วมทั้งหนักหนาและยาวนาน โถมถาความเดือดร้อนไปทุกหย่อมย่าน ท่วมเข้ามาถึงในกรุงเทพฯ ชั้นนอกและใน หน่วยงานทั้งภาครัฐ ภาคเอกชนมากมายลุกขึ้นต่อสู้กับวิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้น

ไม่ว่าจะเป็นในฝั่งนักวิชาการที่ออกมาช่วยกันวิเคราะห์สถานการณ์ ภาคประชาชนที่รวมตัวกันแพกถุงยังชีพลงพื้นที่แจกจ่าย มาถึงตอนนี้หน่วยงานหนึ่งที่ได้รับเสียงชื่นชมไปไม่ใช่น้อย ในช่วงนาทีฉุกเฉินคงหนีไม่พ้นเหล่าทหารหาญ ที่ยกพลกรอกถุงทรายสร้างพนังกั้นน้ำกันอย่างแข็งขันทันท่วงที และช่วยเหลือชาวบ้านทุกวิธีอย่างเต็มกำลัง

ท่ามกลางเหตุการณ์มากมายเหล่านั้น มีหนึ่งตัวละครที่หลายคนอาจมองข้ามไป ด้วยกำลังคนที่อาจมีไม่มากเท่าทหาร อาจไม่คึกคักเท่าภาคประชาชน ไม่ได้เป็นชุดความรู้เชิงวิชาการ แต่พวกเขาก็ลงพื้นที่ไม่เว้นวัน เปลี่ยนศูนย์บัญชาการกันแบบตามติดกระแสน้ำที่ถาโถม พร้อมตามติดกระแสความเดือดร้อนที่ลุกลาม บอกได้ว่า ทุ่มเทต่อหน้าที่ช่วยเหลืออย่างเกินร้อย

นับแต่สายน้ำหลากเริ่มต้นในช่วงเดือนสิงหาคม บนเรือยางที่แล่นตัดคลื่นน้ำเพื่อมุ่งไปช่วยเหลือผู้ประสบภัย พวกเขาคือหน่วยงานหนึ่งที่ชำนาญการด้านน้ำ ลงพื้นที่ช่วยเหลืออพยพผู้ประสบภัย แจกจ่ายถุงยังชีพ และยังคอยเฝ้าตรวจตราระวังภัยอาชญากรช่วงน้ำท่วม

ปฏิบัติหน้าที่สมชื่อ ตำรวจน้ำ

สายตรวจทางน้ำ...มาเงียบๆ

ปัจจุบันกองบังคับการตำรวจน้ำมีกำลังอยู่กว่า 2,000 คน เรือกว่า 200 ลำ มีสถานี 39 แห่งทั่วประเทศ ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่ทั่วประเทศอยู่แล้ว และพื้นที่ซึ่งรับผิดชอบแต่ไม่ประสบอุทกภัย ทางหน่วยงานก็ส่งกำลังมาสู่พื้นที่วิกฤต แต่ไม่ได้มีการเปิดเผยอย่างเป็นทางการ เนื่องด้วยกำลังพลและยานพาหนะ เครื่องมือเครื่องใช้ที่มีอยู่จำกัด

แต่เมื่อน้ำท่วมไหลหลากเข้าสู่เขตปริมณฑลหรือจังหวัดรอบกรุงเทพฯ และไหลเข้าสู่เมืองหลวงของไทย สื่อต่างๆ ก็โหมกระหน่ำข่าวคราวออกมา โดยเฉพาะ สภ.บางกรวย จ.นนทบุรี ได้จัดตั้งสายตรวจเจ็ทสกีช่วยเหลือชาวบ้านริมน้ำ ป้องกันมิจฉาชีพซ้ำเติมชาวบ้าน โดยจะมีเจ้าหน้าที่ตำรวจสายตรวจ ร่วมกับอาสาสมัครตำรวจบ้าน ทำการพายเรือและขับเจ็ตสกีออกตรวจตราจำนวน 5 ลำ หมุนเวียนให้บริการกับชาวบ้านตามคลองต่าง ๆ ในเขตรับผิดชอบตลอด 24 ชั่วโมง พร้อมตั้งศูนย์รับแจ้งเหตุสายตรวจทางน้ำรับเรื่องร้องทุกข์จากบ้านที่ต้องการความช่วยเหลือทั้งปัญหาอาชญากรรม การเคลื่อนย้ายผู้ป่วยและผู้สูงอายุ ร่วมถึงการนำถุงยังชีพเข้าไปแจกจ่ายในพื้นที่เรือไม่สามารถเข้าถึงได้

สอดรับกับสถานีตำรวจนครบางมด ได้คิดไอเดียในเรือเร็ว (สปีดโบ๊ต) ในการปฏิบัติการเป็นสายตรวจทางน้ำเพื่อป้องกันอาชญากรรม เพื่อให้ประชาชนที่มีบ้านพักอาศัยอยู่ตามริมน้ำมีความอุ่นใจในชีวิตและทรัพย์สิน ซึ่งเปิดตัวสายตรวจทางน้ำป้องกันอาชญากรรมของ สน.บางมด และล่าสุด ทีมตำรวจภูธรภาค 1 ได้ร่วมกับกองบังคับการปราบปราม ส่งสายตรวจทางน้ำออกปฏิบัติหน้าที่ใน 2 เส้นทาง คือ สายรังสิต-นครนายก ใช้เรือเร็ว 9 ลำ และเจ็ทสกี 4 ลำ ส่วนสายวิภาวดี-หน้าโรงภาพยนตร์เมเจอร์รังสิต ใช้เจ็ตสกี 7 ลำ และเรือท้องแบน 6 ลำ พร้อมกับเรือที่ตำรวจมีอยู่แล้ว รวมกันทั้งหมดจำนวน 30 ลำ โดยใช้กำลังตำรวจ รวม 89 นาย

ซึ่งทั้งหมดมาช่วยเสริมตำรวจน้ำที่ทำงานอยู่อย่างจำกัดจำเขี่ยอยู่ก่อนนี้แล้วแบบเงียบๆ

ตำรวจน้ำบนสายน้ำเชี่ยวกราก



โดยปกติแล้วกองบังคับการตำรวจน้ำจะขึ้นตรงต่อกองบัญชาการสอบสวนกลาง ซึ่งเป็นหน่วยงานหนึ่งในสังกัดสำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีหน้าที่ปราบปรามและจับกุมผู้กระทำผิดทางน้ำและทางทะเล ทั้งยังมีหน้าที่อำนวยความสะดวกในการสัญจรทางน้ำให้กับพระบรมวงศานุวงศ์

มาถึงปีนี้กับเหตุพิบัติครั้งใหญ่ที่เกิดขึ้น ไล่เรียงกันตั้งแต่ช่วงเดือนสิบหาคม ที่แพร่ น่าน สุโขทัย อุตรดิตถ์ ทำให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติตัดสินใจ มอบหมายหน้าที่นี้ให้แก่ กรมบังคับการตำรวจน้ำลงปฏิบัติหน้าที่ ช่วยเหลือประชาชนจากพิบัติภัย

“เราช่วยมาตั้งแต่ช่วงเริ่มน้ำหลากแรกๆ แล้ว เพราะเราเป็นหน่วยงานที่มีความเชี่ยวชาญเป็นพิเศษ ตอนนั้นเป็นน้ำหลากน้ำป่าที่ไม่หนักหนานัก ก็สามารถคลี่คลายสถานการณ์ได้ในเวลาไม่ถึงห้าวัน” พลตำรวจตรี ชวลิต แสวงพืชน์ ผู้บังคับการตำรวจน้ำเผย ผลงานการลงพื้นที่ท่ามกลางสายน้ำเชี่ยวของช่วงน้ำหลากซึ่งต้องอาศัยความชำนาญเป็นพิเศษ

จากในภาวะปกติจะมีหน้าที่เฉพาะการจับกุมผู้กระทำผิดทางน้ำและทางทะเล ทำให้ตำรวจน้ำมียุทโธปกรณ์ เครื่องไม้เครื่องมือและความชำนาญเฉพาะทาง ทั้งเชี่ยวชาญด้านการขับเรือยางในหลายพื้นที่ ทั้งในน้ำจืด ในทะเล มีทีมมนุษย์กบซึ่งสามารถโดดลงน้ำเชี่ยว ช่วยเหลือประชาชนที่ตกน้ำได้ ทำให้ตำรวจน้ำเป็นชื่อหนึ่งของหน่วยงานตำรวจที่ลงพื้นที่ช่วยเหลือประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ภารกิจหนึ่งที่ได้รับคือ การเคลื่อนย้ายผู้ป่วยที่โรงพยาบาลอยุธยา 342 คนไปยังศูนย์ช่วยเหลือผู้ประสบภัย

“ช่วงนั้นเป็นช่วงน้ำหลากแรง แต่หน่วยงานเรามีความชำนาญเฉพาะทางน้ำ อุปกรณ์เครื่องมือก็มีพร้อมจึงลงพื้นที่แล้วจัดการอพยพผู้ป่วยจากโรงพยาบาลอยุธยาได้ในเวลา 2-3 วัน” เขาเล่าถึงการปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งต้องอพยพตั้งแต่ผู้ป่วยหนัก เด็กอ่อนเพิ่งคลอด ผู้สูงอายุรวมกว่า 40 รายด้วยกัน

ตามแผนวารี 541 ที่จัดกำลังพลลงพื้นที่เบื้องต้น 60 นาย ในขั้นแรกคือ การช่วยเหลืออพยพ แน่นอนว่ามีชาวบ้านหลายคนไม่ยินยอมอพยพจากพื้นที่โดยเฉพาะผู้เฒ่าผู้แก่ที่เป็นห่วงทรัพย์สิน ภารกิจขั้นต่อมาจึงเป็นการส่งถุงยังชีพเพื่อช่วยเหลือ โดยจะชำนาญในการลงพื้นที่เข้าถึงบริเวณน้ำลึกที่หน่วยงานปกติเข้าไม่ถึง

“เราจะให้มีตัวแทนหมู่บ้านมารับไปแจกจ่าย มีนับว่าลูกบ้านกี่คน เพื่อความโปร่งใสและไปทั่วถึงด้วย” ผู้บังคับการตำรวจน้ำเอ่ย

และขั้นสุดท้ายขึ้นชื่อว่าตำรวจ ย่อมต้องมีหน้าที่พิทักษ์สันติราษฎร์ จึงมีการลงพื้นที่ลาดตระเวนเพื่อป้องกันและปราบปรามขโมยช่วงน้ำท่วม หรือที่เรียกว่า ‘แมวน้ำ’
 
“ที่อยุธยาเราจับได้สองคดี เป็นคดีขโมยของในมินิมาร์ท กับลักน้ำมันเชื้อเพลิง 100 ลิตร”

ต่อมาเป็นแผนวารี 542 โดยรับคำสั่งการจากรัฐบาลนำเรือเข้าสมบทที่จุดคลองวัดโพธิ์ และท่าเรือสมุทรปราการเพื่อทำการผันน้ำ เป็นหมู่เรือขนาดใหญ่ที่ร่วมงานกับกองทัพเรือ กรมเจ้าท่า กรมประมง และภาคเอกชน

จากนั้นเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2554 สำนักงานตำรวจแห่งชาติก็มีวิทยุสั่งการด่วนที่สุดให้กองบังคับการตำรวจน้ำปรับแผนกำลังคนพร้อมยุทโธปกรณ์ไปที่จังหวัดปทุมธานี และจังหวัดนนทบุรี โดยเฉพาะอำเภอบางบัวทองที่น้ำท่วมขังเป็นปริมาณมาก โดยทำภารกิจตามโมเดลจากจังหวัดพระนครศรีอยุธยา
ปัจจุบันตำรวจน้ำมีกำลังพลทั้งหมด 150 คน สับเปลี่ยนชุดทำงานตามความเหมาะสม ยุทโธปกรณ์เป็นเรือ 30 ลำ

“สำหรับผลตอบรับจากการลงพื้นที่ช่วยเหลือ แน่นอนว่าเขาต้องดีใจที่เราไปช่วย เราเองก็ยินดีเพราะได้ทำให้ประชาชนรู้จักหน่วยงานของเรามากขึ้น” เขาเล่าถึงการลงพื้นที่ช่วยเหลือ “แต่อุปสรรค์ในการทำงานนั้นมีมากมาย ทุกกรณีที่เข้ามาดำเนินการ การเดินทางไปให้ถึงที่ประสบภัยค่อนข้างยากลำบาก เรื่องการจราจรใช้เวลานานมาก เราชำนาญการปฏิบัติงานในพื้นที่น้ำลึก ทำให้ตอนนั่งรถเข้าไปมีปัญหา รถหกล้อสามคันจมน้ำ เกียร์พัง

พรรคพวกก็เอารถส่วนตัวมาช่วย แต่ก็พังไปอีก ปัญหามันเกิดขึ้นตลอดเวลาเลย แต่เราก็พยายามปฏิบัติหน้าที่อย่างดีที่สุด”

จากภาวะน้ำท่วมอันยาวนาน วิทยุจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่สั่งการเข้ามาแทบจะไม่มีเวลาให้ได้พักหายใจ น้ำกัดเท้าทุกคนเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

“เราก็มีการให้ขวัญกำลังใจกัน ความเหนื่อยล้าย่อมมีกันบ้าง แต่ผมลงพื้นที่ดูด้วยตัวเองตลอด เด็กมันก็ไม่กล้าบ่น” ผู้บัญชาการเอ่ยติดตลก “ผมลงพื้นที่ตามคุมทุกวัน เจ้าหน้าที่ยังเปลี่ยนเวรกันได้ คือปัญหาระดับนี้ผู้บังคับบัญชาต้องลงมาคุมเองแล้ว

ช่วงเวลานี้มันเป็นสถานการณ์เฉพาะ ทั้งฝ่ายบังคับบัญชาของเรา ทั้งประชาชนก็คาดหวังการลงพื้นที่ของพวกเรา ดังนั้นเราต้องปฏิบัติหน้าที่ให้ดีที่สุด”

แต่ดูเหมือนในสังคมจะมองเห็นทหารมีบทบาทมากกว่า เขาเห็นว่า หน่วยงานของตัวเองนั้นมีขนาดเล็ก และมีลักษณะการปฏิบัติงานที่ต่างกัน ทำให้เกิดความหลากหลายในการทำงาน

“ต้องยอมรับในข้อเท็จจริงที่ทหารสามารถช่วยได้มากกว่า แต่เราก็ปฏิบัติภารกิจตามความชำนาญการของเราอย่างดีที่สุด”

ในมุมหนึ่งของการปฏิบัติงาน ร้อยตำรวจโท จักรกฤษณ์ วงศ์สวัสดิ์ เป็นหนึ่งในทีมตำรวจน้ำที่รับหน้าที่อพยพลำเลียงผู้ประสบภัยที่ติดค้างอยู่ในพื้นที่

“ตอนนี้มันไม่เหมือนในพื้นที่อื่น หรือปีก่อนๆ ที่เจอมา ตอนนี้น้ำมันท่วมในเมือง การขับเรือในเมืองก็แตกต่าง และผู้คนในเมืองที่ไม่ค่อยเจอน้ำท่วมก็ค่อนข้างแตกตื่น” เขาเล่าถึงปัญหาในการลงพื้นที่ ยิ่งในชุมชนเมืองที่มีคนอาศัยอยู่ร่วมกันเป็นพันคน ยิ่งทำให้ยากต่อการปฏิบัติการ

“เราก็เห็นใจทุกคน อยากจะช่วยให้ได้ทุกคน แต่เรามีกำลังพลอยู่น้อย ก็ทำสุดความสามารถ”

การได้ปฏิบัติหน้าที่นอกเหนือจากภาวะปกตินั้น เขามองว่าเป็นประสบการณ์ใหม่ที่ต้องเรียนรู้ ยิ่งปีนี้ที่น้ำท่วมในเมือง ทำให้ต้องมีการเรียนรู้ต่อการจัดการกับความชุลมุนที่เกิดขึ้น

“ต้องหาหนทางรับมองใหม่ๆ” เขาเอ่ยบอก

“แต่สิ่งหนึ่งที่เจอคือ มันทำให้รู้ว่าคนไทยสามัคคีกัน ทุกหน่วยงานมาช่วยกันหมด มีอะไรก็แบ่งปันกัน ตัวเราเองก็ได้รับความช่วยเหลือจากชาวบ้าน จากภาคประชาชน จากหน่วยงานราชการอื่นๆ เป็นประสบการณ์ที่ดีครับ ในยามเดือดร้อนเรายังช่วยเหลือกันอยู่”

ในส่วนหนึ่งของความคิดผู้ประสบภัย

ไม่เคยมีพิบัติครั้งไหนที่มองไปทางไหนก็เจอแต่ผู้ประสบภัย แน่นอนว่าคงจะไม่มีใครอยากตกอยู่ในภาวะนี้ แต่เมื่อเป็นแล้ว สิ่งหนึ่งที่ต้องทำร่วมกันคือการบรรเทาภาวะที่เกิดขึ้น ปัญหาตั้งแต่การอพยพ ความเป็นห่วงบ้านเรือนทรัพย์สิน

ส่วนหนึ่งของหน้าที่ตำรวจคือการทำให้ชาวบ้านอุ่นใจ แล้วอพยพออกมาได้อย่างไร้กังวล ทว่าในความเป็นจริงแล้วกลับไปไม่เป็นเช่นนั้น ในความเห็นของ เกสร พันชคาม ชาวบ้านย่านบางบัวทองเห็นว่าการมีตำรวจสายตรวจทางน้ำว่าเป็นเรื่องที่ดี แต่ตำรวจที่เข้ามาปฏิบัติหน้าที่นั้นยังไม่เพียงพอหากเทียบกับปริมาณพื้นที่และประชาชน

“ก็ดีเลย เขาจะได้ช่วยสอดส่องดูแลบ้านเรือนตอนที่ชาวบ้านอพยพกันออกไป บางคนเขาห่วงบ้านห่วงทรัพย์สินในบ้าน ถ้ามีตำรวจเข้ามาตรวจตรามันก็น่าจะทำให้พวกขโมยขโจรรู้สึกเกรงกลัวกัน แต่อย่างว่าตำรวจที่ทำก็มีจำนวนน้อย เอาเข้าจริงๆ มันก็ช่วยอะไรในเชิงปฏิบัติไม่ได้หรอก เพราะเขาก็ไม่ได้เข้าไปตรวจตราให้ตลอดเวลา พวกโจรสมัยนี้ก็ทำตัวเป็นนกรู้”

ทั้งนี้ เกสร เสนอแนะว่า อยากให้ทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพิ่มปริมาณของเจ้าหน้าที่ และมีการสอดส่องดูแลที่เข้มงวดโดยทำการกระจายไปทุกพื้นที่ที่ประสบภัยน้ำท่วม

ขณะที่ ณัฐนันท์ สาเอี่ยม ผู้ประสบภัยจากเขตดอนเมืองที่อพยพไปอยู่จังหวัดนครปฐม มีมุมมองถึงสายตรวจทางน้ำว่า ค่อนข้างเป็นห่วงบ้าน เป็นห่วงทรัพย์สิน ประกอบกับข่าวที่ได้รับล้วนแต่เป็นข่าวร้าย ยิ่งทำให้เขาไม่สบายใจ

“ผมทำใจแล้วเรื่องน้ำมันจะท่วมเข้าบ้าน ที่อยากได้ตอนนี้คือการการันตีว่าทรัพย์สินของผมจะปลอดภัย ไม่ถูกขโมย อย่างน้อยก็ในเชิงของความมั่นใจ ไม่ใช่ของหายจับมือใครดมไม่ได้ แต่ที่ได้ข่าวมาตอนนี้หมู่บ้านข้างผมโดนขโมยขึ้นไปแล้ว ไม่รู้มันจะอะไรกันอีก”

ถึงตอนนี้กรมเจ้าท่าให้เรือมา 2 ลำ และในหมู่บ้านมีการรวมเงินกันซื้อเรือเพิ่มอีก 5 ลำ เพื่อให้ยามหมู่บ้านตรวจดูความปลอดภัย เป็นการช่วยเหลือตัวเองกันไปก่อน

ในฐานะผู้ประสบภัยที่รับทราบข่าวท่ามกลางกระแสน้ำ มีกระแสความคิดหนึ่งของบางกลุ่มคนที่มองว่า ท่วมแล้วก็น่าจะท่วมไปพร้อมๆ กัน แบ่งกันท่วม สำหรับความคิดนี้ เขาออกตัวว่าไม่เห็นด้วย

“ความคิดนี้ผมไม่เห็นด้วยเลย ที่ไล่พังพนังกั้นน้ำ เพราะเอาเข้าจริงแล้ว บ้านตัวเองท่วมถึงเอว อีกบ้านยังไม่ท่วม พอไปพังพนังกั้น โอเค บ้านตัวเองลดลงมาถึงเข่า แต่แล้วไง มันก็ไม่เหลือพื้นแห้งให้ไปหลบภัยได้ มันเดือดร้อนไปหมด”

.........

มาถึงตอนนี้แม้ว่าตำรวจน้ำจะมีกำลังพลอันน้อยนิด เมื่อเทียบกับความเดือดร้อนมหาศาล การส่งพื้นที่ปฏิบัติงานอย่างแข็งขันของพวกเขา ประชาชนทุกคนอาจจะไม่ทันได้รู้สึกถึงคุณค่า

ทว่า นี่ก็เป็นทั้งหมดที่ตำรวจน้ำจะร่วมทำได้ เพื่อฝ่าวิกฤติไปร่วมกัน

อย่างไรเสีย ไม่ว่าในทางใดในยามยากลำบากคน 1 คน หรือกำลังพล 150 คน หรือจะเป็นกองทัพนับหมื่น นั่นย่อมมีคุณค่าเสมอ

>>>>>>>>>>
……….
เรื่อง : ทีมข่าว CLICK
ภาพ : ทีมภาพ CLICK



กำลังโหลดความคิดเห็น