ต้องยอมรับว่า อุทกภัยปลายปี 2554 นั้นเป็นวิกฤตการณ์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งของชาติก็ว่าได้ เพราะแม้แต่บทความของ CNN ยังยกให้เรื่องนี้สร้างความรุนแรงและผลกระทบเหนือกว่า เหตุการณ์ความไม่สงบก่อจลาจลเผาบ้านเผาเมืองในกรุงเทพมหานครเมื่อปี 2553 เสียด้วยซ้ำ
เพราะนอกจากจะมีคนตายเยอะกว่า 3 เท่าตัวแล้ว ผลกระทบทางเศรษฐกิจ อุตสาหกรรม การท่องเที่ยว รวมไปถึงชีวิตความเป็นอยู่ปกติยังพากันมลายไปพร้อมกับสายน้ำที่ไหลเข้ามา แม้ฝนจะหยุดตกไปแล้วก็ตาม
ซึ่งหากถามถึงต้นตอและสาเหตุของปัญหาที่เกิดขึ้นจนลุกลามถึงขนาดนี้ว่าเป็นเพราะอะไร แน่นอนการที่จะโทษที่ธรรมชาติอย่างเดียวคงไม่ใช่ เพราะการปล่อยน้ำของเมืองไทยในปัจจุบันนั้นอยู่ในน้ำมือของ 'รัฐบาล' นั่นเอง ในฐานะของผู้มีอำนาจสั่งการและ วางแผนบริหารจัดการเกี่ยวกับเรื่องน้ำ แถมยังเป็นหัวหน้าของคนถือกุญแจเปิดประตูน้ำอีกต่างหาก
แต่ที่ผ่านมา ดูเหมือนจะไม่มีใครออกมาแสดงความรับผิดชอบต่อกรณีที่เกิดขึ้นเลย สังเกตได้จากการพยายามโยนบาปกันไปมาว่าความผิดของรัฐบาลนั้นบ้าง พรรคนี้บ้าง ไม่เพียงแค่นั้นยังมีการเตรียมเงินก้อนใหญ่หลายแสนล้านบาทสำหรับปัญหาที่เกิดขึ้น หลังจากที่ทุ่มไปกับการทำงานของ ศปภ.แล้วถึง 3,000 ล้านบาท (จากที่ตั้งงบฉุกเฉินไว้ที่ 6,000 ล้านบาท) โดยเงินที่ว่านั้นก็จะมาจากการกู้เงินจากทั้งในประเทศและต่างประเทศนั่นเอง
แน่นอนแม้การกู้เงินจะไม่ใช่เรื่องผิด แต่การที่จู่ๆ จะให้ประชาชนทั้งประเทศมาจ่ายเงินเป็นค่าเงินต้นและดอกเบี้ยให้แก่ต่างชาติในเรื่องที่เป็นความผิดพลาดของผู้บริหารราชการประเทศนั้นก็ดูกระไรอยู่
คำถามก็คือ นี่เป็นเรื่องสมควรแล้วหรือไม่ ที่จู่ๆ รัฐบาลจะผลักภาระให้ประชาชน โดยที่ตัวเองไม่ต้องรับผิดชอบอะไร แถมยังสามารถใช้เงินกู้ได้ตามสบายอีก เพราะฉะนั้นจึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจที่จู่ๆ ก็มีองค์กรพัฒนาเอกชนหรือเอ็นจีโอที่มีชื่อว่า ‘สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน’ ออกมาประกาศว่า จะรวบรวมประชาชนยื่นฟ้องเรียกค่าเสียหายต่อรัฐบาล ในฐานะที่ทำให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อนและเสียหายอันเนื่องมาจากคำสั่งและความผิดพลาดในการจัดการป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วม
เพราะต้องไม่ลืมว่า หากเรื่องประสบความสำเร็จก็เสมือนเป็น สัญญาณสำคัญที่บอกไปยังรัฐบาลในอนาคตให้รู้ตัวว่า หากทำอะไรผิดพลาดต้องรับผิดชอบ
ความเสียหายเกินบรรยาย
“ถ้าประเมินความเสียหายจากอุทกภัยตอนนี้ก็น่าจะตกประมาณห้าแสนล้านบาท”
‘500,000,000,000 บาท’ นั่นคือคำพูดแรกของ ศ.ดร.ตีรณ พงศ์มฆพัฒน์ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ ประเมินความเสียหายที่เกิดจากการบริหารงานอย่างบกพร่องของรัฐบาลชุดปัจจุบัน
เพราะเพียงข้อมูลความเสียหายที่ จันทรา บูรณฤกษ์ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย เปิดเผยก็พบว่า บริษัทประกันต้องจ่ายเงินเป็นค่าความเสียหายของรถยนต์ ทรัพย์สิน ผู้เสียชีวิต ก็มีนิคมอุตสาหกรรม 7 แห่ง ก็มีค่ารวมกันมากถึง 1.4 แสนล้านบาท
ความเสียหายเกิดขึ้นไม่ได้มีเพียงแค่เรื่องแหล่งอุตสาหกรรมที่จมน้ำ การท่องเที่ยวที่หยุดชะงัก ไร่นาที่จมน้ำทั้งที่ยังไม่ส่งไปรับจำนำ แต่ยังหมายถึงบ้านเรือนประชาชนนับหมื่นนับแสนหลังคาเรือนที่ต้องตกอยู่ภายใต้อำนาจของน้ำ และถึงแม้ตอนนี้ปัญหาน้ำท่วมกำลังลุกลามถึงกรุงเทพฯ ชั้นใน ซึ่งหมายความว่าได้รับความอ่วมอรทัยจากพิษภัยน้ำท่วมกันถ้วนหน้า แต่ก็ต้องยอมรับว่าการสื่อสารกับประชาชนที่เป็นปัญหาของรัฐบาลมาตั้งแต่ต้น ก็ยังไม่ได้รับการแก้ไขเสียที ซึ่งทำให้การประเมินสถานการณ์ต่างๆ ของประชาชนเป็นได้ลำบากมากยิ่งขึ้น
ซึ่งประเด็นนี้ มีตัวอย่างให้เห็นในหลายๆ พื้นที่ เพราะบ้านเรือน 80 เปอร์เซ็นต์ ที่จมน้ำอยู่นั้น เป็นเพราะไม่ได้เตรียมการไว้ก่อนทั้งสิ้น เพราะไม่มีการเตือนล่วงหน้าจากรัฐบาล เพราะฉะนั้น ศ.ดร.ตีรณ จึงชี้ว่า ความรับผิดชอบตรงนี้ จึงเป็นสิ่งที่รัฐบาลจะปฏิเสธไปไม่ได้เป็นอันขาด
“ขณะนี้มันก็มีพูดไปถึงหลายๆ จุด การปล่อยน้ำโดยมีการเมืองเข้าไปแทรกในการปล่อยน้ำจากเขื่อนที่เก็บกักไว้นานเกินไป หรือว่าไม่ยอมเปิดเผยข้อเท็จจริงอั้นข้อมูลไว้ แต่ไม่ได้คิดถึงว่าประชาชนควรได้รับรู้ข้อมูลล่วงหน้า ซึ่งข้อเท็จจริงตรงนี้เราไม่ทราบว่าอันไหนจริงอันไหนเท็จ รายละเอียดต้องว่าไปตามกรณี
“การแสดงความรับผิดชอบของรัฐบาลในขณะนี้ คงต้องดูว่าปัญหาจริงๆ คืออะไร ตรงนี้ก็เป็นเรื่องที่นักการเมืองต้องนึกถึงว่าความเห็นของประชาชนเป็นอย่างไร ก็เป็นเรื่องของเจตนารมณ์ทางการเมืองของนักการเมือง”
เมื่อทำผิดก็ต้องรับผิดชอบ
จากความเสียหายที่สุดคะเนในตอนนี้ คงทำให้หลายๆ คนถึงรู้สึกตรงกันว่า เรื่องนี้ต้องมีคนออกมาแสดงตัวเพื่อรับผิดชอบถึงความเสียหายที่เกิดขึ้นของประเทศ ไม่ใช่จะมานั่งเต๊ะท่า ทำทีไม่สนใจกับเรื่องอะไร เหมือนที่เคยเป็นมาเช่นนี้
เพราะฉะนั้นในฐานะประชาชนที่อยู่ในประเทศพระพุทธศาสนา 'ใครทำอะไร ก็ต้องได้ผลกรรมอย่างนั้น' ศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน จึงต้องออกมาชงประเด็นนี้ขึ้นมา เพื่อเรียกหาความยุติธรรมและบรรทัดฐานที่ดีให้เกิดขึ้นในสังคมไทย
“ที่มาของแนวคิดในการฟ้องภาครัฐนั้น ผมเห็นว่ามันได้รับการพิสูจน์แล้วตลอด 4 เดือนที่ผ่านมา มันคือความล้มเหลว ข่าวคราวที่เราได้ยินมันคือความขัดแย้งทางด้านการเมือง โดยการนำเอาความเดือดร้อนของประชาชนมาเป็นเกม ชาวบ้านเองแทบจะไม่มีข้อมูลข่าวสารในเรื่องการป้องกันน้ำท่วมเลย โดย ศปภ.นั้น ก็ไม่มีศักยภาพในการช่วยเหลือชาวบ้านได้อย่างที่ควรจะเป็น แต่มันกลับสร้างความตื่นตระหนกและสับสนวุ่นวายด้านข้อมูลข่าวสาร ทั้งๆ ที่หน่วยงานนี้น่าจะเป็นหน่วยงานเดียวที่พึ่งพาได้ด้วยซ้ำ
“เพราะเขาสามารถดึงข้อมูลจากหลายๆ ที่ไม่ว่าจะเป็นกรมอุตุนิยมวิทยา กรมชลประทาน เพื่อที่จะนำมากลั่นกรองและนำไปสู่หนทางแก้ไข แต่การแถลงว่าน้ำจะท่วมที่นั่นที่นี่ กลับกลายเป็นแถลงไปเปล่าๆ โดยไม่มีมาตรการมารองรับ จะท่วมแค่ไหน นานเท่าไหร่ จะให้ชาวบ้านอพยพไปที่ใดโดยวิธีใด ซึ่งเขาไม่ได้บอกเลย มันแสดงถึงความล้มเหลว คือผมเห็นแล้วทนไม่ได้ ในฐานะที่ผมเป็นนักกฎหมาย ผมคิดว่าตรงนี้มันสามารถฟ้องร้องได้”
โดยจุดสำคัญก็มาจากการที่รัฐไม่ยอมประกาศใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 แต่เลือกจะใช้พระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ. 2550 แทน ซึ่งในมาตราที่ 43 มีการระบุเอาไว้ว่า หากการกระทำของเจ้าพนักงานมิได้ประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง ให้ผู้กระทำนั้นพ้นจากความผิดและความรับผิดทั้งปวง ซึ่งพูดง่ายๆ ก็คือ ในทางกลับกัน หากเจ้าพนักงานนั้นประมาทเลินเล่อจนเกิดความเสียหายก็ย่อมมีความผิดนั่นเอง ซึ่งแน่นอนว่าในฐานะของคนจุดประเด็นขึ้นมา ก็เชื่อว่าตัวเองมีหลักฐานเพียงพอที่จะชี้ให้เห็นว่า ความผิดพลาดครั้งนี้ เป็นผลมาจากความประมาทของรัฐบาล และรัฐจะต้องรับผิดชอบในเรื่องนี้
“ในกระบวนการการฟ้องนั้น เราจะฟ้องแพ่งก็ได้ แต่มันจะมีปัญหาด้านการสืบสวน เพราะกระบวนการพิจารณาคดีนั้น ผู้ใดกล่าวอ้างผู้นั้นต้องนำสืบ ซึ่งชาวบ้านเองคงไม่มีปัญญาที่จะนำสืบได้ อีกแนวทางก็คือการฟ้องศาลปกครอง เพราะศาลนี้รับฟังความขัดแย้งที่เกิดขึ้นระหว่างประชาชนกับรัฐ และการสืบสวนนั้นใช้ระบบไต่สวน ดังนั้นศาลสามารถหาข้อเท็จจริงได้ด้วยตัวเอง และคนฟ้องก็สามารถนำข้อมูลที่เป็นประโยชน์เสนอต่อศาลได้ ซึ่งสามารถเรียกค่าเสียหาย ค่าสินไหมทดแทนได้เช่นเดียวกับศาลแพ่ง”
สอดคล้องกับความเห็นของ รศ.ดร.เจษฎ์ โทณะวณิก คณบดีบัณฑิตวิทยาลัยสาขานิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสยาม ที่มองว่า เรื่องนี้สามารถทำได้ แต่ทั้งนี้ก็ต้องมีการเตรียมการและหาหลักฐานที่ยืนยันความผิดพลาดให้ชัดเจนเสียก่อน โดยอาจจะเป็นคำสั่งของนายกรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรี
“ถ้ามันมีกรณีเฉพาะเกิดขึ้น เช่น รัฐมนตรีมีคำสั่งให้เอากระสอบทรายไปขวางทางน้ำไว้ ณ จุด ก. ส่งผลให้น้ำท่วมจุด ข. ซึ่งอยู่ตรงข้ามกันอย่างเห็นชัดเจน ก็น่าจะเป็นเหตุให้ฟ้องได้ เป็นการกระทำการที่ทำให้ผู้อื่นเสียทรัพย์ แต่ถ้าเป็นสถานการณ์โดยรวม เช่น ให้กันน้ำในเขตอำเภอหนึ่ง น้ำไหลไปท่วมที่อื่น อันนี้ก็จะยากหน่อย”
ซึ่งหากหาพบ ผู้ร้องก็อาจจะมีการเรียกร้องค่าเสียหายในการดำเนินงานของรัฐบาล ได้ทั้งทางแพ่ง และทางการปกครอง โดยทางแพ่งนั้นอาจจะฟ้องในเรื่องของการละเมิด คือจงใจหรือประมาททำให้ผู้อื่นเสียหาย เช่นเดียวทางด้านด้านปกครอง ซึ่งก็ถือว่ามีสิทธิเช่นกัน เพราะเรื่องนี้เกี่ยวพันกับการใช้อำนาจรัฐโดยตรง
อย่างไรก็ดี ในประเด็นทั้งหมดนี้ผู้เชี่ยวชาญทางด้านกฎหมายก็ยังอดห่วงไม่ได้ ศาลแพ่งอาจจะไม่รับฟ้องก็ได้ เพราะกรณีนี้เกิดนี้ไม่เกิดขึ้นเฉพาะตัวใครชัดเจน แต่การลองดูก่อนก็ไม่ใช่เรื่องเสียหาย
“กรณีน้ำท่วมมันเป็นกรณีใหญ่ กลไกของศาลในการให้ประชาชนฟ้องร้องนั้น จะต้องเป็นความเสียหายที่ชัดเจนเกิดขึ้นต่อบุคคลใดบุคคลหนึ่ง ยกตัวอย่างเช่นการเวนคืนที่ดิน หรือการเอารถไปขุดที่ดินทำกินของประชาชน ก็สามารถฟ้องร้อง กรณีที่เคยเป็นข่าวจะมีกรณีของนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ซึ่งชาวบ้านสามารถฟ้องร้องการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ที่ผิดพลาดและส่งผลต่อชาวบ้านได้”
จริยธรรมต่ำ ก็ต้องพึ่งศาลเป็นธรรมดา
เห็นข้อมูลที่นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน และ ดร.เจษฎ์อธิบายไปแล้ว เชื่อว่าหลายคนคงเห็นช่องทางที่จะใช้จัดการกับผู้ทำผิดกันแล้วใช่ไหม และถึงแม้ที่ผ่านมา ประเทศไทยจะยังไม่เคยมีการฟ้องร้องเรื่องการดำเนินนโยบายผิดพลาดมาก่อน จะมีก็แต่ประเด็นเรื่องการทุจริตเท่านั้น
แต่ขอบอกไว้เลยว่า การที่ประชาชนลุกขึ้นมาใช้สิทธิตามกฎหมาย ก็ถือเป็นก้าวสำคัญของการเรียนรู้บทบาทในเรื่องประชาธิปไตย และหากไปดูประเทศอื่นๆ ในโลกนี้ประชาชนก็ต่างลุกขึ้นออกมาใช้สิทธิของตนเองเต็มไปหมดแล้ว หากเห็นว่าการทำงานของรัฐนั้นผิดพลาด
ตัวอย่างเช่นการฟ้องร้องรัฐบาลสหรัฐอเมริกา ของบริษัทกูเกิล ที่ยื่นฟ้องกระทรวงมหาดไทยในข้อหาที่จำกัดการแข่งขันเกินความจำเป็น จากกรณีข้อกำหนดในการยื่นเสนอราคาโครงการของกระทรวง เกี่ยวกับระบบการส่งข้อความ แล้วยังมีกรณีชาวมุสลิมฟ้องร้องรัฐบาลเบลเยียมหลังออกกฎหมายลิดรอนสิทธิห้ามสวมใส่ผ้าปิดหน้าทั้งบูรเกาะและนิกอบ ในที่สาธารณะ มีกรณีที่นักโทษเรือจำแห่งหนึ่งทางตอนใต้ของแคว้นเวลส์ ฟ้องร้องรัฐบาลอังกฤษ เนื่องจากไม่พอใจจากกรณีดูโทรทัศน์ช่องกีฬาในเรือนจำได้เพียงช่องเดียว จึงรวมตัวกันฟ้องรัฐบาลให้เพิ่มช่องกีฬาอีก 2 - 3 ช่อง
มีเรื่องที่อัยการศาลโลกฟ้องร้องรัฐบาลลิเบียเนื่องจากมีหลักฐานชัดเจนถึงการกระทำอันรุนแรงต่อประชาชนในชาติ ซึ่งตั้งข้อหาก่ออาชญากรรมแก่มวลมนุษย์ต่อกองกำลังของกัดดาฟี และรวมถึงข้อหาฆาตกรรม กักขังหน่วงเหนี่ยวผู้อื่นอย่างไม่ชอบด้วยกฎหมาย รวมไปถึงพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตยของ ออง ซาน ซู จี ผู้นำฝ่ายค้านพม่าฟ้องร้องรัฐบาลทหารพม่า ฐานเพิกถอนกฎหมายเลือกตั้งที่ไม่เป็นธรรม และละเมิดสิทธิมนุษยชน สิทธิส่วนบุคคล และสิทธิองค์กร ฯลฯ
เช่นเดียวกับเรื่องภัยพิบัติ ซึ่งแม้ที่ผ่านมาจะยังไม่เห็นประเทศไหนมีประชาชนลุกขึ้นมาฟ้องรัฐบาล เพราะส่วนใหญ่เข้าใจว่าเป็นเรื่องที่สุดวิสัยมาแบบไม่รู้ตัว แถมการช่วยเหลือยังทำอย่างทันท่วงที มีการเตือนภัยไม่ให้ประชาชนอยู่ในความประมาท แถมยังไม่กั๊กข้อมูลเหมือนกับบางประเทศ ประชาชนจึงรู้สึกเชื่อมั่นว่า จะได้รับความมั่นคงในชีวิต
ที่สำคัญ เมื่อสถานการณ์จบลง ผู้บริหารก็ยังแสดงความรับผิดชอบอีกต่างหาก เช่น อดีตนายกรัฐมนตรี นาโอโตะ คัง แห่งประเทศญี่ปุ่น ก็ลาออกทันทีหลังจากที่สถานการณ์สึนามิถล่มและโรงไฟฟ้าพลังนิวเคลียร์สงบลง เมื่อเดือนสิงหาคม 2554 หรือแม้แต่ประเทศคอมมิวนิสต์อย่างจีน เวลาเกิดเหตุที่ไม่คาดฝันก็มีผู้ออกมารับผิดชอบ เช่น เมิ่ง เส่วหนง ผู้ว่ามณฑลซานซีที่นำทีมงานลาออกหลังจากเกิดเหตุดินโคลนถล่มมณฑลซานซี เมื่อปี 2551
ซึ่งว่าแตกต่างกับประเทศไทยอย่างสิ้นเชิง ที่รู้อยู่แล้วว่าผลลัพธ์จะเป็นอย่างไร เพราะฉะนั้นกระบวนการยุติธรรมนั่นแหละคือทางออกที่ดีที่สุด
“คือผมไม่ได้ดูในต่างประเทศ เพราะต่างประเทศ ถ้าเกิดเหตุแบบนี้ เขารับผิดชอบเต็มที่แต่บ้านเราน้ำท่วมทีก็จ่ายให้หลังละ 5,000 มันจะไปพออะไร นาท่วมก็จ่ายให้ 2,000 กว่าบาท ไม่ใช่ว่าต่างประเทศเขาไม่มีภัยพิบัติ เขามีเหมือนกัน แต่ประเทศเขาก็มีประสิทธิภาพในการแก้ไขจนชาวบ้านนั้นไม่ต้องไปพึ่งบารมีศาล” ศรีสุวรรณกล่าวทิ้งทาย
.........
แม้เรื่องการฟ้องรัฐเพื่อให้รับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการบริหารราชการแผ่นดินจะยังไม่เคยเกิดขึ้นแบบจริงในสังคมไทยเสียที แต่ก็ถือว่าเป็นเรื่องประชาชนควรจะต้องใส่ใจ เพราะไม่แน่ต่อไปเรื่องนี้อาจจะเป็นดาบอาญาสิทธิ์ที่ทำให้บรรดานักการเมืองไม่กล้าทำอะไรตามอำเภอใจ หรือทำผิดแล้วเดินลอยหน้าลอยตาได้อีกแล้ว
แต่อย่างว่า ของแบบนี้ก็มีเรื่องที่น่าคิดอยู่นิดหนึ่งว่า สุดท้ายแล้วทำไปทำมาอาจสาวไปไม่ถึงนักการเมือง ซึ่งมีผู้อำนาจตัวจริงก็เป็นไปได้ เพราะหลายครั้งพวกเขาก็มักจะโบ้ยเรื่องไปให้ข้าราชการประจำรับผิดแทน
ฉะนั้น จึงเป็นหน้าที่ของประชาชนที่จะต้องติดตามอย่างใกล้ชิด ตรวจสอบและเก็บข้อมูลอย่าให้ได้ขาด เพื่อไม่ให้รัฐบาลที่แก้ไขปัญหาผิดพลาดและไม่แสดงความรับผิดชอบได้ลอยนวลไปใช้เงินงบประมาณอีกหลายแสนล้านบาทเพื่อนำมาฟื้นฟูประเทศภายใต้นโยบายแก้ปัญหาภัยพิบัติอุกทกภัยที่ตัวเองประมาทเลินเล่อได้อีกต่อไป เพราะหมดความชอบธรรมไปเรียบร้อยแล้ว...
>>>>>>>>>
………
เรื่อง : ทีมข่าว CLICK
ภาพ : ทีมภาพ CLICK