“ไม่ต้องมานั่งกลัวแล้วว่าโลกมันจะแตก ฝนจะตกไม่หยุด หรือน้ำจะท่วม เพราะมันคือสิ่งที่เราทำ” คำพูดดังกล่าวไม่ได้เกิดจากความรู้สึกอยากซ้ำเติมสถานการณ์ที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน แต่มันคือความจริงที่ทุกคนต้องยอมรับ ความจริงจากปากของผู้หญิงตัวเล็กๆ คนหนึ่งที่เลิกเบียดเบียนโลกนี้มานานแล้ว และคิดว่าคงยังไม่สายเกินไปถ้าอีกหลายๆ คนจะเริ่มหันมาลดความเห็นแก่ตัวของตนเองลงบ้าง แล้วมาร่วมเดินบนเส้นทางสาย “พอเพียง” ตามแนวพระราชดำริในพ่อหลวงของเรา
คนที่อยู่ในแวดวงสิ่งแวดล้อมจริง ต้องเคยได้ยินชื่อ “กอหญ้า-สายสิริ ชุมสาย ณ อยุธยา” มาบ้างไม่มากก็น้อย เพราะเธอคือผู้บริหารโรงแรม “บ้านท้องทราย” โรงแรมระดับห้าดาวบนเกาะสมุยที่ยึดวิถีพอเพียงเป็นหลัก เน้นแนวคิดพึ่งตัวเองให้มากที่สุดและเบียดเบียนให้น้อยที่สุด จนกวาดรางวัลโรงแรมยอดเยี่ยม 1 ใน 100 แห่งของโลกมาได้หลายปีซ้อน แถมด้วยรางวัลลูกโลกสีเขียวเป็นประจักษ์พยานงานอนุรักษ์ที่ทำอยู่ทุกวันนี้
ถึงแม้ว่าช่วงวัยรุ่นที่ผ่านมา เธออาจเป็นแค่นักเรียนนอกคนหนึ่งที่ค่อนข้างขวางโลก ไม่เคยสนใจเรื่องสิ่งแวดล้อมมาก่อน วันๆ เคยชินกับการใช้ชีวิตหน้ากล้องในฐานะพิธีกรรายการเพลง แต่เมื่อโชคชะตาขีดให้ต้องรับหน้าที่บริหารโรงแรมร่วมกับ “ธนกร ฮุนตระกูล” สามีของเธอ กลับกลายเป็นจุดพลิกผันที่ทำให้วิถีพอเพียงค่อยๆ ซึมซับเข้าไปในตัว กระทั่งกลายเป็นส่วนสำคัญในชีวิตมาจนถึงทุกวันนี้
เริ่มได้เพราะถูกด่า
เห็นเป็นสาวมั่น สามารถถ่ายทอดแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงได้อย่างฉะฉานในฐานะผู้รู้จริงปฏิบัติจริงอยู่ทุกวันนี้ ใครจะรู้บ้างว่าแท้จริงแล้วจุดเริ่มต้นบนเส้นทางสายนี้ของเธอ เกิดจากความผิดพลาดครั้งใหญ่ที่เจ้าตัวเกริ่นให้ฟังสั้นๆ ว่า “เป็นเพราะถูกด่าครั้งนั้นนั่นแหละค่ะ ถึงทำให้รู้ตัวว่าเราทำอะไรลงไป”
“ตอนนั้นอยู่ในช่วงรีโนเวตโรงแรมค่ะ ทำให้มีขยะจากการก่อสร้างเยอะมาก ผู้รับเหมาเอาขยะไปทิ้งรวมกันไว้ในพื้นที่ของโรงแรม พอดีมีพนักงานโรงแรมคนหนึ่งเขาหวังดี เห็นว่าขยะมันเยอะมาก อยากจะช่วยทำลายให้หมดๆ ไป ก็เลยจุดไฟเผาโดยที่ไม่ได้คิดว่าขยะในนั้นมันมีทั้งแบบมีพิษ เผาไม่ได้อยู่ด้วย พอเผาคราวนี้ก็เรื่องใหญ่เลยสิ ควันโขมง ส่งกลิ่นเหม็นไปทั่ว”
“ช่วงที่เกิดเรื่อง กอหญ้านั่งทำงานอยู่อีกฝั่ง ยังไม่รู้เรื่องเลย จนมีชาวบ้านแถวนั้นออกมาโวยวาย เขียนจดหมายมาต่อว่า เราก็สงสัย เฮ้ย! เขาพูดถึงขยะอะไร พอไปเห็นเท่านั้นแหละ อึ้งเลยค่ะ ขยะมันกองสูงใหญ่มากจนน่ากลัว ยิ่งถูกเผาด้วย สภาพมันยิ่งแย่หนักเข้าไปใหญ่ ไม่รู้จะจัดการกับมันยังไงดี ก็เลยตัดสินใจเข้าไปนั่งแยกขยะกันตรงนั้นเลย”
กอหญ้าเกณฑ์พนักงานมาช่วยกัน แยกขยะออกเป็นส่วนๆ ทั้งชนิดที่ฝังกลบได้ ส่วนที่เป็นพิษ และส่วนที่นำกลับมาใช้ใหม่ได้ นั่งทำแบบนั้นอยู่เป็นอาทิตย์ๆ กว่าจะเสร็จ จนทำให้เกิดความคิดเรื่องการจัดระบบขยะแบบใหม่ กระทั่งขยายเป็นงานอนุรักษ์ขนาดใหญ่ครอบคลุมทุกส่วนของโรงแรม
“จากเรื่องแยกขยะก็เลยทำให้ได้รู้เรื่องการอนุรักษ์มากขึ้นหลายๆ อย่าง คิดได้ว่าเราคงไม่ต้องมานั่งแยกขยะแบบนี้ ถ้าไม่มีขยะ ก็เลยมานั่งดูว่าจะลดส่วนไหนได้บ้าง เริ่มจากเลิกใช้ถุงพลาสติกก่อน ไปเอาปลอกหมอนและผ้าปูชุดเก่าที่ไม่ใช้แล้วมาตัดเย็บ ทำเป็นถุงผ้าให้ทุกคนได้ใช้แทน เพราะฉะนั้นไม่ว่าจะซื้อของอะไรกลับมา ขนาดใหญ่เล็กสักแค่ไหน จะไม่มีใครหิ้วถุงพลาสติกติดมือกลับมาเลย ส่วนเรื่องอาหารก็หันมาทำเกษตรไร้สาร ปลูกผักเล็กๆ น้อยๆ ที่พอจะปลูกได้เองโดยไม่ใช้สารเคมี เอามาทำอาหารให้ลูกค้าและปลูกกินเองได้ด้วย”
นอกจากนี้พื้นที่ของโรงแรมทั้งหมด 70 ไร่ ทั้งกอหญ้าและสามีของเธอต่างเห็นพ้องต้องกันว่าจะไม่ถางป่าเพื่อขยายส่วนห้องพักเพิ่มเติม เพราะเห็นแก่ผลประโยชน์เรื่องเงินเป็นสำคัญ แต่ตั้งใจจะดูแลจำนวน 83 ห้องพักที่มีอยู่อย่างดีที่สุด พร้อมกับพยายามฟื้นฟูพื้นที่สีเขียว และเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกับธรรมชาติโดยเบียดเบียนซึ่งกันและกันให้น้อยที่สุด ดำเนินชีวิตตามคำพ่อสอนอย่างไม่มีผิดเพี้ยน
“กำไร” ไม่ใช่ความสุขสูงสุด
อดสงสัยไม่ได้ว่าอะไรทำให้เธอมีความคิดสวนกระแสเช่นนี้ เทียบกับนักธุรกิจส่วนใหญ่ พวกเขามักให้ความสำคัญเรื่องกำไรสูงสุดมาเป็นอันดับหนึ่งเสมอ แต่ผู้บริหารสาวสวยรายนี้กลับมีคำอธิบายอีกรูปแบบหนึ่ง คำอธิบายที่แนบมากับรอยยิ้มบางๆ ว่า “สำหรับกอหญ้า ธุรกิจไม่จำเป็นต้องทำกำไรสุงสุดก็ได้ค่ะ เอาแค่พออยู่ได้ ทำกำไรได้บ้าง ไม่สร้างหนี้ แบบนี้เหนื่อยน้อยกว่าแถมยังสบายใจกว่าเยอะเลย จริงๆ นะ”
“ตั้งแต่เกิดเหตุการณ์ครั้งนั้นก็คิดมาตลอดว่าความรับผิดชอบต่อชุมชนเป็นเรื่องสำคัญมาก ไม่ว่าจะทำธุรกิจอะไรก็ไม่ควรคิดแต่จะเข้าไปกอบโกยผลประโยชน์อย่างเดียว อย่างน้อยถ้าไม่ได้ทำอะไรคืนกลับสู่สังคม รับผิดชอบส่วนของตัวเองให้บกพร่องน้อยที่สุดก็ยังดีค่ะ แต่สำหรับบริษัทใหญ่ๆ คงยากหน่อย เพราะจะให้พนักงานคิดเองเออเอง ทำงานแบบไม่เน้นกำไรสูงสุด ในขณะที่เจ้าของบริษัทไม่ยอมรับ พนักงานคนนั้นคงถูกไล่ออก ถูกหาว่าทำงานไม่เต็มที่ เพราะบริษัทส่วนใหญ่เขาจะวัดผลจากผลกำไรสูงสุดเป็นหลัก เพราะฉะนั้นถ้าเป็นไปได้ต้องเปลี่ยนความคิดมาตั้งแต่ระดับเจ้าของกิจการเลยค่ะ ถึงจะได้ผล”
คนที่คิดว่าตัวเองคงไม่เหมาะกับหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ขอให้ลองปรับมุมมองเสียใหม่ แล้วจะเห็นว่าแนวคิดดังกล่าวคือภูมิคุ้มกันที่ทุกคนควรฉีดให้แก่ตนเอง อาจไม่ถึงกับต้องให้หน่วยธุรกิจลงมาปลูกผักกินเอง หรือหันมาทำไร่ไถนาเสียหมด แค่รู้จักห่วงใยสังคม ใส่ใจสิ่งแวดล้อมบ้าง เท่านั้นก็เพียงพอแล้ว
“คนชอบเข้าใจผิดว่าจะใช้ชีวิตด้วยวิถีพอเพียงได้ ต้องไม่ใช่คนรวย จะต้องมีภาพของชาวนา ภาพของเกษตรกรอยู่เสมอ ซึ่งมันไม่ใช่ค่ะ ไม่ว่าคุณจะมีฐานะแบบไหน ก็สามารถทำได้เหมือนกัน ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงสอนให้เรารู้จักอยู่อย่างมีภูมิคุ้มกัน พึ่งตัวเองให้ได้ ต่อให้ต้องเจอสภาวะวิกฤตของชีวิต เราก็จะไม่มีวันตกอับ แค่ใช้ชีวิตอยู่บนความพอดี ไม่ฟุ้งเฟ้อจนเกินตัว และเบียดเบียนให้น้อยที่สุด”
“โดยเฉพาะเรื่องสิ่งแวดล้อม เป็นเรื่องที่ผู้บริหารทุกคนควรให้ความใส่ใจค่ะ กอหญ้าก็ไม่ได้คิดว่าตัวเองมีอภิสิทธิ์จะมาสั่งสอนใครได้ แต่แค่อยากให้มองดีๆ ว่าตอนนี้สภาพโลกของเรามันเป็นยังไงบ้างแล้ว มีเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ที่เราทำผิดและคิดว่ามันไม่สำคัญ แต่จริงๆ แล้วมันสร้างผลกระทบกับความเป็นอยู่ของเราโดยตรงเลยนะ มันอาจจะไม่ได้ทำให้พนักงานหรือลูกค้าของคุณเดือดร้อน แต่มันกระทบไปถึงรุ่นลูกรุ่นหลานของคุณเองที่ยังต้องอยู่บนโลกใบนี้ ทุกอย่างที่เกิดขึ้นมันใกล้ตัวเรามากขึ้นๆ ทุกที ทั้งฝนตก น้ำท่วม แผ่นดินไหว ถ้าเราไม่ปรับตัวตอนนี้ ก็ไม่รู้ว่าจะไปทำตอนไหนแล้วล่ะค่ะ”
ผู้สัมภาษณ์พยักพเยิดเห็นด้วยกับคำพูดของเธอ นึกถึงสถานการณ์น้ำท่วมในปัจจุบันพลางคิดไปว่าเริ่มตอนนี้อาจจะสายเกินไปแล้วด้วยซ้ำ
ลดความเห็นแก่ตัวกันคนละอย่าง
“จะเริ่มจากตรงไหนดี?” เชื่อว่าหลายคนคงเริ่มต้นไม่ถูกเหมือนกัน แต่ถ้าไม่อยากนั่งงอมืองอเท้าอยู่เฉยๆ แล้วปล่อยให้ผืนดินที่กำลังเหยียบอยู่ค่อยๆ ถูกทำลายไปต่อหน้าต่อตา กอหญ้าเสนอคำแนะนำสั้นๆ ง่ายๆ ในฐานะนักอนุรักษ์คนหนึ่งว่า “คงต้องเริ่มจากตัวเราก่อนค่ะ”
“สำหรับคนที่ยังไม่เคยทำและอยากจะเริ่มทำ คงต้องมานั่งลิสต์ดูว่าเราสามารถเสียสละเรื่องอะไรได้บ้าง ตัดความสะดวกของตัวเองทิ้งไป ยกตัวอย่างง่ายๆ เวลากินข้าว ให้คิดว่าสัตว์ทุกชนิดมันตายเพื่อเรา กว่าจะผลิตอาหารออกมาแต่ละอย่างก็ต้องใช้พลังงานของโลกเยอะมาก อยากให้สั่งแต่พอดีและกินให้หมด หรืออย่างเรื่องขยะ จากที่เคยหิ้วถุงพลาสติกใส่ของกลับบ้านทุกวัน ต่อจากนี้ก็ให้เปลี่ยนเป็นใช้ถุงผ้าแทนและต้องทำให้ได้ทุกวันด้วย แค่ทุกคนตัดพฤติกรรมที่เคยทำลายโลกคนละอย่างก็ช่วยได้เยอะแล้วค่ะ ไม่จำเป็นว่าคุณฟุ่มเฟือยสิบอย่าง คุณต้องตัดทั้งหมด ถ้าเป็นแบบนั้นคงไม่มีใครอยากทำเป็นเพื่อนกอหญ้าหรอก (ยิ้ม)”
ทุกวันนี้เธอพยายามตัดความสะดวกสบายในชีวิตออกไปหลายอย่างมาก ทั้งเลิกใช้ถุงพลาสติก เลิกกินเนื้อสัตว์ และเลิกขับรถยนต์ส่วนตัว หันมาขี่จักรยานแทน อาจจะทำให้เหนื่อยและท้อแท้บ้างบางครั้ง แต่อย่างน้อยก็ทำให้ยิ้มกว้างๆ ให้แก่ตัวเองได้มากขึ้น
“เวลาเห็นคนอื่นซื้อของ ใส่ถุงพลาสติกกันอย่างง่ายดาย มันทำให้เรารู้สึกท้อมากเหมือนกันนะ คิดว่า เฮ้ย! ทุกวันนี้ฉันต้องหิ้วปิ่นโต ขี่จักรยาน พยายามทำทุกอย่างที่พอจะทำได้ บางครั้งเจอร้านปาท่องโก๋อยู่ข้างทาง อยากกินมาก แต่ไม่ได้พกกล่องใส่ไป เราก็ตัดใจเลย ไม่ซื้อ เพราะถ้าซื้อ เราก็ต้องหิ้วถุงก๊อบแก๊บที่รีไซเคิลไม่ได้กลับบ้านไปด้วยตั้งถุงหนึ่ง แต่ในขณะเดียวกัน เรากลับเห็นทุกคนซื้อกันแบบไม่คิดเลย เดินเข้าเซเว่นฯ ซื้อของสามอย่างใส่ถุงสองใบ (ถอนหายใจ) นี่มันอะไรกันน่ะ มันก็เซ็งสิ (ยิ้มเนือยๆ)”
“มานั่งคิดว่าทำไมเราต้องมาจำกัดตัวเองขนาดนี้ ในขณะที่คนอื่นเขาไม่ทำ แต่คิดแบบนั้นได้สักพักก็ขัดแย้งขึ้นมาว่าถ้าเราไม่ทำ มันก็ขัดกับความรู้สึกของเราอีก มันทำไม่ลงอยู่ดี ก็เลยพยายามวางๆ ซะ ในเมื่อเขาไม่ทำ เราจะทำอะไรได้ และสุดท้ายถ้าโลกมันจะเกิดหายนะต่างๆ ขึ้นเพื่อรักษาสมดุลของมันเอง ถึงเวลานั้นคนที่ไม่เคยช่วยกันดูแล ก็ไม่ต้องมานั่งกลัวแล้วว่าโลกมันจะแตก ฝนจะตกไม่หยุด หรือน้ำจะท่วม เพราะมันคือสิ่งที่เราทำ ต้องยอมรับว่าพวกเราคือตัวเร่งให้โลกเสื่อมโทรมลงอย่างที่เป็นอยู่ทุกวันนี้”
ก็แค่สร้างภาพ?
ไม่มีใครชอบให้คนมาสั่งสอน เมื่อออกมาแสดงความคิดเห็นของตัวเองด้วยถ้อยคำทื่อๆ ตรงๆ แบบนี้ เธอจึงทำใจเอาไว้แล้วว่าจะต้องมีทั้งคนที่เห็นด้วยและเห็นต่าง จนอาจถึงขั้นด่าทอ หาว่าคนพูดกำลังพยายามสร้างภาพอยู่ เหตุผลหนึ่งเป็นเพราะกอหญ้าเป็นนักเรียนนอก เรียนจบด้านเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อธุรกิจมา ซึ่งดูขัดแย้งกับเรื่องความพอเพียงที่เธอกำลังพูดอยู่คนละขั้ว แต่ถ้าได้รู้จักตัวตนของเธอคนนี้จริงๆ รับรองว่าคุณจะไม่ตัดสินเธอผิดๆ อย่างที่คนบางกลุ่มเคยคิด
“ถึงกอหญ้าจะไปอยู่เมืองนอกตั้งแต่มัธยมปลาย แต่ชีวิตที่นู่นก็ไม่ได้ฟุ้งเฟ้ออะไรนะคะ เพราะอยู่เมืองซานโตนิโอ เทกซัส โตมาในแถบบ้านนอกของอเมริกา (หัวเราะ) สังคมที่นู่นจะไม่มีเรื่องการแบ่งชั้นวรรณะ ไม่มีใครสนใจว่าต้องซื้อของมียี่ห้อมาใส่ เราเลยไม่เคยรู้สึกกดดันอะไรเรื่องการแต่งตัวเลย เทียบกับกลุ่มเด็กไทยบางคนที่เรียนโรงเรียนอินเตอร์ หรือมหาวิทยาลัยดังๆ ในเมืองไทย เขาอาจจะมีค่านิยมเรื่องของแบรนด์เนม แต่กอหญ้าไม่ได้คิดเลย เพิ่งกลับมาคิดอีกทีก็ตอนเรียนจบกลับไทย ต้องซื้อชุดออกงาน ต้องคิดเรื่องเข้าสังคมมากขึ้น แต่เราก็ยังซื้อเท่าที่จำเป็นอยู่ดี”
“ไม่ชอบเดินชอปพร่ำเพรื่อค่ะ เคยไปแพลทินัม รู้สึกปวดหัวมาก ของมันมีหลายอย่างมาก มากเกินไปที่จะเลือก ก่อนมาเดิน เราอาจไม่ได้รู้สึกว่าเราต้องการของชิ้นนั้น แต่พอไปเห็นเข้าตั้งโชว์ก็มองว่านั่นก็เจ๋ง นี่ก็เจ๋ง กลายเป็นกิเลส ต้องซื้อ พอซื้อมาเยอะขึ้นๆ มันก็กลายเป็นขยะที่กองอยู่ในบ้านเรา เพราะของบางอย่างมันไม่ได้มีอายุการใช้งานนาน แต่ซื้อเพราะความสุขทางใจ หลายคนคิดแบบนี้เยอะมาก สุดท้ายใช้ได้แป๊บๆ ก็เบื่อและทิ้งไป สร้างมลพิษให้โลกอีก”
ถ้าการแสดงจุดยืนของตัวเองจะทำให้เธอดูเหมือนคนสร้างภาพหรือหัวเอียงซ้ายไปบ้าง กอหญ้าก็ไม่กังวลอะไร ได้แต่ยอมรับทุกความเห็นต่างด้วยรอยยิ้มเย็นๆ เธอถือว่า “อย่างน้อยตอนนี้ถ้าเกิดอะไรขึ้นกับโลกใบนี้ กอหญ้าคงไม่รู้สึกผิดเวลาตาย ตายตาหลับได้แล้วล่ะค่ะ เพราะอย่างน้อยเราก็ได้พยายามใช้ชีวิตที่เบียดเบียนต่อสิ่งอื่นน้อยที่สุด พยายามทำให้ดีที่สุดในสังคมที่เราเกิดมา” ที่เหลือก็อยู่ที่ว่าคุณจะลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงตัวเองหรือจะปล่อยให้รู้สึกเสียดายไปตลอดชีวิต
---ล้อมกรอบ---
สาวๆ ใช้ให้คุ้ม!
อีกหนึ่งความฟุ่มเฟือยที่เกิดขึ้นกับสาวๆ หลายคนคือเรื่องแฟชั่น ต้องชอปปิ้งเสริมสวยไปตามเทรนด์ ทำให้มีเสื้อผ้าล้นตู้ ขยะล้นบ้าน บางรายอาการหนักขั้นโคม่าจนอาจเรียกว่าเป็นพวก Shopaholic วิธีเดียวที่จะช่วยได้คือต้องหัดสะกดคำว่า “พอ” ตั้งสติก่อนควักสตางค์ และใช้ชิ้นที่มีอยู่ให้ “คุ้ม” เชื่อไหมว่าทำแค่นี้ คุณก็ช่วยลดโลกร้อนได้ตั้งเยอะแล้ว
“คำว่าฟุ่มเฟือยของกอหญ้าคือการฟุ่มเฟือยในเรื่องทรัพยากร ถ้าเขาซื้อแล้วซื้ออีก ไม่เคยคิดเลยว่ากระเป๋าใบนี้ต้องผ่านกระบวนการทำลายทรัพยากรมามากขนาดไหน ต้องฆ่าลูกวัวไปกี่ตัวเพื่อเอามาทำหนัง ไหนจะต้องใช้สารเคมีมาซักฟอกกระเป๋าอีก ถ้าซื้อมาแล้วใช้จนคุ้ม ใช้ให้มันพังคามือคาตีนไปเลยข้างหนึ่ง ถึงจะซื้อมาราคาแพงก็ไม่ถือว่าฟุ่มเฟือย แต่ถ้าใช้แค่หนึ่งอาทิตย์ก็เบื่อ ไม่ใช้แล้ว สำหรับกอหญ้านี่คือฟุ่มเฟือยแล้วค่ะ”
“บางคนซื้อของถูกก็จริง แต่ซื้อมาใช้แป๊บๆ ก็พัง ซื้อถังพลาสติกมาใช้แป๊บเดียวก็แตก ต้องเปลี่ยนถังใหม่ แล้วพลาสติกมันไม่สามารถย่อยสลายได้ตามธรรมชาติด้วย ถึงแม้มันจะราคาถูก แต่ถ้าใช้แล้วทิ้งเรื่อยๆ นี่คือการใช้ไม่คุ้ม ฟุ่มเฟือยทรัพยากร เทียบกับถังที่ผลิตจากไทเทเนียม ราคามันสูงกว่าก็จริง แต่ใช้ได้นานกว่า ก็ถือว่าใช้ทรัพยากรได้คุ้มมากกว่าค่ะ”
แต่ถ้าสาวๆ คนไหนยังตัดใจจากเรื่องแฟชั่นไม่ได้ คิดว่าเป็นวิธีรักษ์โลกที่ยากเกินตัว จะลองเริ่มจากเรื่องการเดินทางก่อนก็ได้ ตอนนี้กอหญ้ากำลังพยายามรณรงค์เรื่องมลพิษในกรุงเทพฯ ในโครงการ “เทศกาลปั่นเมือง” ซึ่งทำร่วมกับมูลนิธิโลกสีเขียว จึงอยากชักชวนให้ชาวกรุงสละรถยนต์ส่วนตัวมาใช้จักรยานเป็นยานพาหนะทางเลือกกัน ไม่อยากให้มองว่าข้อเสนอดังกล่าวเป็นเรื่องลำบากเกินตัว เพราะถ้าคิดอย่างนี้คงไม่เหลือสักเรื่องที่คุณจะทำให้โลกที่กำลังป่วยใบนี้ได้
ข่าวโดย Manager Lite/ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์
ภาพโดย... พลภัทร วรรณดี