xs
xsm
sm
md
lg

กระเป๋าความคิด ‘หนูหวาน’ วโรณิกา เรซ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เธอมาพร้อมกับกระเป๋าที่ตัดเย็บเองสองสามใบ และรอยยิ้มแจ่มใส ชื่อของ หนูหวาน - วโรณิกา เรซ อาจยังไม่เป็นที่รู้จัก แต่หากเอ่ยชื่อ หนูดี - วนิษา เรซ คงถึงบางอ้อ! ใช่แล้ว...เธอคืออีกหนึ่งสาวคนเก่งของครอบครัวเรซ

หลังกลับจากใช้ชีวิตอยู่ที่สหรัฐอเมริการาว 8 ปี กลับมาเมืองไทยเธอร่วมก่อตั้งมูลนิธิมหาสมุทรแห่งปัญญา ลงมือบริหารงานในโรงเรียนวนิษา จนเมื่องานเข้ารูปเข้ารอย เธอพาวันว่างของชีวิตไปเรียนแฟชั่นดีไซน์และเริ่มสนใจการทำกระเป๋าอย่างจริงจัง
แน่นอน เธออาจไม่เป็นที่รู้จักนักเท่ากับพี่สาว แต่ดูเหมือนพิมพ์เขียวของครอบครัว เรซ จะมีอะไรที่แตกต่างและไม่ธรรมดาซ่อนอยู่เสมอ บัดนี้ระหว่างช่วงว่างจากที่เธอใกล้เข็นหนังสือเล่มแรกในชีวิต ‘Bag obsession ความสุขฉบับกระเป๋า’ มานั่งพูดคุย มาดูกันว่าครอบครัว ชีวิต การงานและความสุขแบบไหนบรรจุอยู่ในกระเป๋าชีวิตของเธอ

เรียนต่างประเทศตั้งแต่เมื่อไหร่
ตั้งแต่อายุสิบหก หนูหวานไปประมาณแปดปี รวมทำงานด้วยนะคะ แต่ก็กลับมาทุกปี ปีละสองครั้ง อยู่ที่นั่นก็ดีคะ มันทำให้เราต้องดูแลตัวเอง อยู่เมืองไทยก็เหมือนเด็กไทยทั่วไป พ่อแม่ดูแล ที่นั่นทุกอย่างทำเองหมด จ่ายค่าน้ำค่าไฟ ซื้อรถ ดูแลรถ สมัครเรียน ต้องดูแลตัวเอง พอเราดูแลตัวเองเก่ง เราก็ดูแลคนอื่นได้มากขึ้น กลับมาดูแลแม่ ดูแลพี่สาวได้ จองตั๋วเครื่องบิน ทำอะไรได้ไม่ต้องขอให้ใครช่วยอะไรมาก

คิดว่าการศึกษาในเมืองไทยกับต่างประเทศมันเป็นอย่างไรบ้าง
(หัวเราะ) จะเอาลงได้ไหมเนี่ย หนูหวานว่า การศึกษาที่อเมริกาสอนให้คนเป็นตัวเอง ไม่ต้องฟังอะไรมาก เหมือนอย่างหนูไปเรียนปีแรก ก็จะชินกับการฟัง ถึงจะเรียนอินเตอร์มาบ้างก็เถอะ คือเหมือนชินกับการนั่งแล้วก็ฟัง ไม่ชินกับการตอบคำถาม ไม่ชินกับการถามครู ส่วนมากจะเป็นการฟัง แล้วเราก็ซึมซาบ แล้วก็ปรับมาใช้เป็นตัวเราเมื่อไหร่ไม่รู้ แต่ที่โน่นตั้งแต่เด็กคิดเอง อะไรเป็นอะไร เหมือนต้องตอบให้ได้ สมมติเดินทางยังไง จะให้เด็กคิดๆๆๆ ถูกไม่ถูกไม่รู้แหละ แต่ให้เด็กได้คิด ได้เป็นเขา อันนี้คือปลูกฝังตั้งแต่เด็ก เพราะฉะนั้นเด็กไทยที่ไปเรียนต่างชาติปีแรกๆ จะงง ทำไมต้องพูดเยอะจังเลย ตลอดเวลา ต้องไปพรีเซนต์งานกหน้าห้อง ยกมือถามตลอดเวลา ซึ่งอย่างหนูหวาน บางทีตอนเรียนที่โน้น เราก็ชินเนอะ รู้สึกว่าถ้าเราพูดเยอะ เราจะไม่ค่อยได้ฟังเต็มที่ แต่ฝึกให้ชินแล้วก็ดี สมองทำงานตลอดเวลา เดี๋ยวครูเรียกแล้วแน่เลย ตายแล้วๆๆๆ มันต้องพยายามคิดๆๆๆ ก็ดีตรงนี้แหละคะ พอปัญหาอะไรมาปุ๊บ อะไรมาก็ผ่านไปได้ เพราะว่าเราต้องคิดๆๆๆ ไมมีทางตัน ยังไงก็ต้องหาทางออกให้ได้ เพราะเขาสอนก็เท่าที่เขาสอนแล้วเราก็ต้องเอาไปคิดต่อ ตรงนี้คือส่วนที่ได้คะแนน ไม่ใช่ว่าเราจำ จำได้แค่ไหนในข้อสอบ แต่คือเราเรียนไปแล้วเอามาปรับใช้ได้แค่ไหน เพราะฉะนั้นหนูว่ามันทำให้การทำงานมันง่ายขึ้น เพราะว่าเราได้คิด เราได้หาทางออกตลอดเวลา
แต่ว่าหนูหวานสังเกต พนักงานที่หนูหวานรับมาที่นี่ (เมืองไทย) ไม่ค่อยชอบคิด บางที คือหนูหวานจะชอบพูดกับพนักงานตลอดว่า เราเป็นทีมเดียวกันนะ ทุกคนจะงงมากเลย เพิ่งจบมา มาเจอนาย อะไร ไม่ใช่ทีมเดียวกันซะหน่อย ขอให้นายบอกแล้วสั่งด้วยว่า ให้ทำอะไร หนูหวานแบบไม่อยากสั่ง เลือกเข้ามาเต็มที่อยู่แล้ว เลือกสุดฝีมือ ก็ให้ช่วยกันคิด ก็ฝึกนาน ปีกว่ากว่าจะช่วยกันคิดได้ เด็กมึน...งง อะไรคะ แบบนายไม่รู้เหรอคะว่าต้องทำอะไร ถึงมาถามหนู ไม่ใช่ช่วยกันคิด คนไทยส่วนใหญ่จะเคารพกันในเรื่องของตำแหน่ง หนูหวานว่า ดีกว่าถ้าเด็กไทยได้มีโอกาสไปเรียนที่โน้น เพราะว่าคนไทยมีความน่ารักในตัวเยอะมาก อ่อนน้อมถ่อมตน คือเด็กฝรั่งไม่มีตรงนี้มาบาลานซ์ มันเยอะไปนิดนึง คือเป็นตัวของตัวเอง ต้องพูดตลอดเวลา ซึ่งเพื่อนให้ห้องบางคนก็ขอให้ได้ยินเสียงตัวเองออกไป พูดอะไรไม่รู้ โง่ๆ บ้าง บางทีก็ไม่ได้ฉลาดพูด อันนี้ก็ไม่ดี ต้องมาบาลานซ์กันเอง ดูว่าเมื่อไหร่ควรพูด รู้ว่าเมื่อไหร่ควรฟัง แล้วก็เป็นผู้ตามบ้าง ผู้นำบ้าง มันก็ดีที่สุดแล้ว ไม่ใช่ว่าตัวเองต้องเด่นตลอด หนูหวานก็เลยรู้สึกว่าเด็กเอเชียไปเรียนเมืองนอกก็ดีตรงนี้ เอาที่เราเป็นตั้งแต่เด็กมาใช้ ตอนที่เราเรียนรู้ตอนเราโต ออกมาเป็นผู้ใหญ่ก็จะให้เกียรติคนอื่น

ทำไมชอบงานตัดเย็บกระเป๋า
ชอบมาตั้งแต่เด็กๆ เลยค่ะ เพราะว่าไม่ชอบใช้ของซ้ำกับคนอื่น จะชอบทำเอง ประดิษฐ์เอง ถ้าซื้อมาก็จะเอามาตัดหรือเอามาทำอะไรให้มันแตกต่างไป ตอนเด็กๆ 7 - 8 ขวบ ได้ซื้อจักรเป็นของตัวเองด้วย ตอนนั้นทำงานพิธีกรรายการ บ้านน้อยซอย 9 ก็เลยเก็บเงินซื้อซึ่งก็ใช้มาจนถึงตอนนี้ เป็นจักรของสวิตฯ นะคะ ทนมาก แล้วที่ชอบทำกระเป๋าเพราะมันตัดเย็บง่าย พวกเสื้อผ้าจะต้องทำทรงให้เข้ากับตัวคนใส่ ตอนเด็กหนูหวานก็ทำกระเป๋าให้ตัวเอง เอาผ้าเช็ดหน้ามาเย็บติดกัน ใส่สาย มาใช้ก็โอเค สวย ถูกใจ

อะไรเป็นสิ่งที่น่าสนใจในการทำกระเป๋า
หนูหวานว่า กระเป๋ามีข้อดีอย่างหนึ่งคือมันใช้ได้เรื่อยๆ ไม่เหมือนเสื้อผ้า ใส่ปุ๊บเราก็ต้องเว้นไว้สักอาทิตย์นึง ถึงจะใส่ได้ แต่กระเป๋ามันหยิบได้เรื่อยๆ ถ้าใบไหนถูกใจ ก็เป็นของติดตัว เหมือนนาฬิกา แต่ที่หนูหวานชอบทำกระเป๋ารู้สึกว่า มันเป็นของที่อยู่กับเรานาน ทุกคนก็ต้องหาทางทำกระเป๋าที่เหมาะกับไลฟ์สไตล์ของตัวเอง อย่างเช่นผู้หญิงส่วนมากของเยอะไม่ค่อยมีช่องใส่ เพราะฉะนั้นถ้าเราจะไปหาซื้อมันยากที่จะหาซื้อได้ถูกใจ แต่ถ้ามีกระเป๋าดีๆ ติดตัวสักใบ มันทำให้ชีวิตเราง่ายขึ้น หาของไม่ต้องเสียเวลา คือถ้าเราทำเองก็จะออกแบบได้ตามใจเรา

สไตล์การออกแบบเป็นอย่างไร
ชอบกระเป๋าที่ทำไม่ค่อยยาก ไม่ชอบกระเป๋าที่ต้องมานั่งทำเป็นวันกว่าจะเสร็จ ส่วนตัวแล้วเป็นคนที่ค่อนข้างใจร้อนเหมือนกัน รู้สึกว่างานฝีมือมันทำให้เราใจเย็น แต่มันไม่ควรใช้เวลานานเกินไปต่อหนึ่งโปรเจคท์ หนูหวานจะออกแบบกระเป๋าให้ทำไม่นาน ใช้ผ้าสวยๆ เอาลายหลายๆ ลาย มาปนกัน เป็นลายที่คนไม่ค่อยกล้าทำขาย เพราะฉะนั้นก็จะได้ของที่เป็นของเราเอง แล้วหนูหวานจะชอบกระเป๋าที่ข้างนอกดูเรียบๆ แต่ข้างในมีลายน่ารักๆ ทำให้รู้สึกว่าเป็นเหมือนเซอร์ไพรส์ ทำให้น่าตื่นเต้นขึ้น

ใครคือดีไซท์เนอร์ทื่ชื่นชอบ
แมนเดอลิน วิโอเน่ (Madeleine vionnet ) เป็นคนฝรั่งเศส สองปีที่แล้วโดดงานไปอยู่ปารีสเดือนหนึ่ง ได้ไปเที่ยวที่พิพิธภัณฑ์เขา เขาเป็นดีไซเนอร์ที่ไม่ลอกเลียนแบบ เป็นผู้หญิงสมัยก่อนโน้น เสื้อผ้าเขาสวยมาก เหมือนเป็นของที่มีชิ้นเดียว เป็นผู้หญิงเก่ง และยังเป็นคนแรกที่ทำแคทตาล็อกเสื้อผ้า แล้วก็เป็นคนที่ชอบคิดค้นอะไรใหม่ๆ ตลอดเวลา วันที่เขาจะตายอายุเก้าสิบกว่า เขาบอกว่าไว้ว่า ไม่มีอะไรที่เขาเสียใจอีกแล้ว เขามีความสุขกับทุกอย่างที่ได้ทำ ได้เติมเต็มทุกอย่างในชีวิตแล้ว มันเป็นแรงบันดาลใจที่ดีมาก เพราะเหมือนเราต้องใช้เวลาทุกวันเต็มที่กับชีวิต

โดยส่วนตัวมีวิธีหาแรงบันดาลใจยังไง?
การเดินทางค่ะ (หัวเราะ) เป็นวิธีที่ดีมาก หนูหวานคิดว่ากับทุกคนก็คงเป็นเหมือนกัน งานประจำจะยุ่งมาก และการใช้ชีวิตประจำวัน ซึ่งต้องตื่นเจ็ดโมง เลิกสามถึงสี่ทุ่ม คือของหนูหวานงานโรงเรียนเสร็จก็ต้องงานมูลนิธิต่อ บางทีทำแบบนี้ต่อเนื่องไปสามสี่เดือน มันจะเหนื่อยมาก และจะรู้สึกว่ามันไม่มีวันจบ ต้องทำไปเรื่อยๆ แต่เมื่อออกเดินทางปุ๊บ เราต้องรีบเคลียร์งานตัวเอง เหมือนเราต้องพร้อมออกไปที่ไหนสักที่ พอออกเดินทางเราได้หายไปกับสิ่งที่เราไม่เคยเห็น คือพอได้ไปตลาดเก่า หรือได้เจอคนประเทศอื่น ภาษาอื่น หนูหวานว่ามันเป็นแรงบันดาลใจที่พิเศษมากสำหรับตัวเอง เหมือนได้เจออะไรแตกต่างจากปกติ

งานมูลนิธิมันเริ่มต้นได้อย่างไร
ตั้งแต่สมัยเรียนปีสองปีสามได้ หนูหวานกลับมาเยี่ยมเมืองไทย แล้วไปเที่ยวที่เขาหลักอยู่ได้สองวันก็สึนามิเข้า ตอนนั้นรอดจากสึนามิได้เพราะไปปีนเขากับเพื่อน จำได้ว่าผ่านหาดไปสิบนาทีเอง ได้ยินเสียงคลื่น พอลงจากเขามาก็เห็นคนตายเยอะมาก ตกใจคะ เพื่อนกับครอบครัวเลยไปช่วยกันเป็นอาสาสมัครล่าม แปลให้คนต่างชาติที่โรงพยาบาลพังงา ช่วยเขาจัดระบบรถพยาบาล เฮลิคอปเตอร์ให้เขารับคนป่วยออกไป ทำอยู่หนึ่งอาทิตย์ ร้องห่มร้องไห้ เหมือนความสูญเสียมันเยอะ พอกลับมาก็คิดอยากจะช่วยคนให้ได้มากๆ ตอนนั้นอยากจะไปเรียนหมอเพราะยังเรียนไม่จบ แต่คิดว่าไม่ดี เรียนอีกตั้งหลายปี เราทำงานด้านบริหารแล้วใช้ความรู้ความสามารถด้านนี้ช่วยคนก็ได้
พอจบปุ๊บ หนูหวานก็เลยไปทำงานให้องค์กรไม่แสวงหากำไรที่วอชิงตัน ดี.ซี. เป็นองค์กรที่ทำวิจัยด้านโรคเอดส์ ได้ช่วยคิดวางแผน ทำให้ได้รู้ขั้นตอนงานต่างๆ แต่ก็ฉุกคิดขึ้นมาว่า เออ! เงินเดือนเราก็แพง เงินเดือนทุกคนในนี้ก็แพง แค่ในสาขาใหญ่ที่ทำงานอยู่ พนักงานหกร้อยกว่าคน ทั่วโลกก็หลายพันคน เงินเดือนคนทั้งหมด ถ้าเราเอาเงินเดือนทั้งหมดมาช่วยคนจริงๆ มันน่าจะช่วยได้เยอะกว่า เคยเห็นเจ้านายเซ็นเช็คเงินเดือน โอ้โห! เยอะมาก ตกใจ เป็นสิบๆ ล้าน แค่เงินเดือนพนักงานนะ แล้วอย่างอื่นอีกละ แล้วเงินที่เหลือไปช่วยคน มันจะแค่ไหน แล้วต้องมีแผนกหนึ่งที่เขียนหาทุนอย่างเดียว อีกแผนกก็โฆษณา โฆษณาเยอะมากเพื่อให้ได้ทุนเยอะๆ รู้สึกว่า แล้วเงินที่ไปถึงมันเท่าไหร่ ทำให้คิดว่า เฮ้ย! องค์กรที่ดีบางทีก็ใช่ว่าจะช่วยคนได้เยอะ ด้วยค่าบริหารจัดการมันแพงมาก
ก็กลับมาเมืองไทย อยากดูแลอุปการะเด็กชาวเขา รู้สึกว่าความต้องการเขาเยอะกว่าพวกเรา เขาไม่มีคนเข้าไปช่วยเท่าไหร่ พอถามหลายๆ มูลนิธิ โอ้โห! ค่าบริหารจัดการแพงมาก หนูหวานเลยคิดว่า ถ้าช่วยผ่านองค์กรหลายๆ อัน มันอาจไม่ถึงเด็ก เลยตั้งมูลนิธิดีกว่า ทำให้เราเป็นศูนย์กลาง เราสามารถช่วยเด็กได้เป็นร้อย จากคนทั่วๆ ไปที่สนใจ ผลกระทบน่าจะเยอะกว่า เลยเปิด แต่ก็ต้องต่อสู้ หนึ่งปีกว่าจะตั้งได้

มีเด็กในโครงการกี่คนแล้ว
ตอนนี้สี่ร้อยกว่าคนแล้ว ส่วนใหญ่เป็นเด็กชาวเขา ตอนนี้พยายามขยายไปจังหวัดอื่นๆ ช่วยเด็กที่พ่อแม่เสียชีวิตจากเหตุฆาตกรรม หรือเด็กที่เป็นโรคเอดส์ ให้ทุน แต่ว่าทุนต้องให้กับคนที่ไว้ใจได้ดูแล ก็เลยยังไม่สามารถขยายได้ เพราะหนูหวานกลัวว่าเงินจะไปหมดกับผู้ใหญ่ อยากให้ถึงตัวเด็กจริงๆ ต้องอยู่ที่เชียงใหม่ก่อน แล้วก็ขยายไปบางจังหวัดที่มีคนไว้ใจได้ช่วยดูแล

วางแผนอนาคตของตัวเองไว้ยังไง
หนูหวานอยากใช้ชีวิตที่เมืองไทยส่วนหนึ่ง ที่ต่างประเทศส่วนหนึ่ง ได้เดินทางไป-มา และเมื่องานอยู่ตัว โรงเรียนอยู่ตัว มูลนิธิเริ่มมีคนดูแลมากกว่านี้ อาจจะกลับไปเรียนต่อสักพักหนึ่ง แล้วถ้าเป็นไปได้ก็อยากจะทำหนังสือออกมาปีละเล่ม ถ้าการตอบรับดี คนยังอยากได้ข้อมูลจากเราอีก พอได้ความรู้อะไรใหม่ๆ แล้วหนูหวานอยากแชร์ให้กับทุกคน

สนใจจะเรียนต่อด้านไหน
อยากเรียนกฎหมาย เพราะหนูหวานว่าในการทำธุรกิจต้องรู้เรื่องกฎหมาย ในตอนนี้ก็ต้องมีทนายสองคน คนหนึ่งหนูไม่ค่อยเชื่อเขา เออ! จริงๆ ไม่ค่อยเชื่อสักคน ต้องปรึกษาคนหนึ่งแล้วไปปรึกษาอีกคน ชีวิตคือการเรียนรู้ต้องเรียนรู้เรื่องใหม่ๆ เสมอ

คติประจำใจคืออะไร
เยอะมากเลยคะ เอาที่เด่นๆ ไม่รู้เขาเรียกคติรึเปล่า ความเชื่อส่วนตัวคะ เราต้องพึ่งพาตัวเองให้ได้เร็วที่สุดก่อน ถึงจะช่วยคนอื่นได้ เพราะหนูเชื่อว่า ไม่ว่าความสำเร็จแค่ไหนมันไม่มีค่าถ้าเราไม่ได้ช่วยเหลือคนอื่น เพราะอย่างนั้นถึงได้ตั้งมูลนิธิตั้งแต่ยังอายุแค่ยี่สิบสองยี่สิบสาม เพราะหนูคิดว่าไม่ต้องรอจนเราดี มีพร้อมทุกอย่าง ถึงช่วยคนอื่น คือช่วยไปเรื่อยๆ มีเท่าไหร่ให้เท่านั้น นี่คือจุดมุ่งหมายในการใช้ชีวิต
>>>>>>>>>>
……….
เรื่อง : อธิเจต มงคลโสฬส
ภาพ : วรวิทย์ พานิชนันท์




กำลังโหลดความคิดเห็น