การกินเจนั้นถือเป็นเทศกาลของชาวไทยเชื้อสายจีนที่ปฏิบัติสืบเนื่องกันมาทุกปี ซึ่งที่ผ่านมาก็จะเห็นได้ว่าการถือศีลกันผักในช่วงเทศกาลนั้น ได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ โดยแต่ละคนก็มีวัตถุประสงค์ในการกินเจแตกต่างกันไป ไม่ว่าจะเป็นการกินเจเพื่อประกอบกุศล, รักษาประเพณีที่สืบทอดกันมา บางคนก็กินเพื่อสุขภาพ และก็มีไม่น้อยที่ไม่มีเป้าหมายอะไรเป็นพิเศษ ทว่าไม่อยากตกกระแส
แต่ไม่ว่าจะกินเจด้วยวัตถุประสงค์ใดก็ตาม สิ่งหนึ่งที่คนกินเจทุกคนจะต้องพบเจอเหมือนๆ กันก็คือราคาของอาหารเจที่แพงขึ้นมากกว่าปกติ รวมไปถึงราคาของวัตถุดิบหลักๆ อย่างผักต่างๆ ซึ่งมันก็เป็นสิ่งที่พอเข้าใจได้ เพราะถ้ามองไปยังความต้องการของตลาดที่ขยายตัวในช่วงข้ามคืนแล้ว ไม่ใช่เรื่องแปลกเลยที่จะมีการขึ้นราคาอาหารและวัตถุดิบไปตามอุปสงค์
แต่เทศกาลกินเจปีนี้ ถือว่าเป็นปีที่พิเศษกว่าปีก่อนๆ เพราะในช่วงก่อนหน้าที่จะมาถึงเทศกาล ประเทศไทยในหลายพื้นที่ต้องพบเจอกับภัยพิบัติน้ำท่วม และพื้นที่เกษตรกรรมก็ได้รับความเสียหายไปกว่า 12 ล้านไร่ นั่นทำให้วัตถุดิบสำคัญที่จะเอามาแปรรูปเป็นอาหารเจ อย่างเช่นผักต่างๆ ได้รับความเสียหายเป็นอย่างมาก ซึ่งทั้งหมดนั้นก็น่าจะส่งผลให้ราคาของพืชผักเหล่านี้ถีบตัวสูงขึ้นอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน
และแน่นอนว่าคนสุดท้ายที่จะต้องจ่ายแพงขึ้นเพื่อชดเชยความเสียหายดังกล่าวก็คือ ผู้บริโภคที่อยู่สุดปลายกระบวนการนั่นเอง
แล้วคนกินเจจะต้องทำตัวอย่างไร ในปีที่ผักแพงขึ้นสองเด้งอย่างในปีนี้?
ไม่แพงมาก แต่มีของขายน้อย
เดิมที เรื่องของราคาผักที่ถีบตัวสูงขึ้นจากเทศกาลกินเจผนวกกับความเสียหายจากน้ำท่วม อาจะเป็นเพียงการคาดการณ์เท่านั้น แต่หลังจากได้ลงไปสำรวจราคาพืชผักที่ขายกันในตลาดก็พบว่า ผักส่วนใหญ่มีราคาแพงกว่าปกติจริงๆ และบางชนิดก็แพงขึ้นมาถึง 100 เปอร์เซ็นต์ แต่ทั้งหมดนั้น แม่ค้าก็บอกกับเราว่า มันเป็นเรื่องปกติของเทศกาลกินเจอยู่แล้ว
“จริงๆ ราคาของผักที่แพงขึ้นในช่วงกินเจ มันเป็นเปกติอยู่แล้วนะ เรื่องของน้ำท่วมมันก็ทำให้แพงขึ้นนิดหน่อย ส่งผลเรื่องราคาไม่เยอะอย่างที่คิด แต่ทำให้มีของมาขายน้อยลง ราคาเลยแพงขึ้นทำให้ลูกค้าซื้อน้อยลงด้วย เลยทำให้กำไรเลยยิ่งน้อย”
จีรนันท์ เกตุสิงห์ แม่ค้าขายผักที่ตลาดบางกะปิพูดถึงราคาผักที่แพงขึ้น และจากการที่น้ำท่วมก็ทำให้เธอมีของมาขายน้อยลง ส่งผลให้กำไรน้อยลงไปด้วยแทนที่จะทำกำไรกับราคาผักในช่วงกินเจได้อย่างเต็มที่
“ช่วงกินเจราคาก็ขึ้นเป็นปกติอยู่แล้ว ปีนี้ไม่ได้ขึ้นมากมายจนน่าตกใจ น้ำท่วมอาจจะทำให้ราคาขึ้นไปบ้าง แต่ก็ไม่มากหรอก เพราะแต่เดิมมันขึ้นมามากอยู่แล้ว ลูกค้าก็ยังมีมาซื้อเหมือนเดิม แต่อาจจะลดปริมาณลงบ้าง”
สังเกตได้ว่าผักที่มีราคาขึ้นมากกว่าเท่าตัวนั้น จะเป็นผักยอดนิยมอย่างพวกผักบุ้งจีนและกวางตุ้ง หัวไชเท้า ส่วนผักอื่นๆ ในตลาดก็มีราคาสูงขึ้นมาเกิน 50 เปอร์เซ็นต์แทบจะทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นคะน้า กะหล่ำปลี แครอท ฯลฯ แต่ถึงมันจะพงแค่ไหน ผู้บริโภคก็ยังคงต้องหาซื้อไปบริโภคอยู่ดี ซึ่งสิ่งที่ผู้บริโภคจะทำได้ก็คือ การวางแผนบริโภคให้รัดกุมและคุ้มค่ากับเงินที่จ่ายไปที่สุดนั่นเอง
วิธีกินเจให้คุ้มค่า
“จริงๆ แล้ว ประเด็นเรื่องของผักแพงนั้น ปีนี้จะมีความตื่นตระหนกมากขึ้นอีกนิด เพราะน้ำมันท่วมหนักมากกว่าที่ผ่านมา ซึ่งไม่ใช่เฉพาะอาหารเจเท่านั้น อาหารชนิดใดก็มีราคาแพงขึ้นทั้งนั้น ตอนนี้อาหารเจที่ขายกันก็เฉลี่ยกันที่ 30 - 40 บาท แพงขึ้นก็จริง แต่ไม่ต่างจากปีที่แล้วมากเท่าใด”
เฉลิมชาติ ประไพ กูรูด้านอาหารเจ ที่อยู่ในวงการอาหารเจมากว่า 30 ปี กล่าวถึงสถานการณ์อาหารแพงอันเนื่องมาจากน้ำท่วมว่า ไม่ใช่เฉพาะวัตถุดิบที่นำมาทำอาหารเจเท่านั้นที่แพงขึ้น แต่อาหารนั้นได้แพงขึ้นทั้งระบบ ซึ่งทางออกเดียวสำหรับคนกินเจในยุคผักแพงนั้น เฉลิมชาติกล่าวว่าจะต้องหัด 'บริหารการบริโภค'
“หลักการในการบริหารการบริโภคให้คุ้มค่านั้นมันก็ยังมีอยู่ กินไม่ได้กับไม่ได้กิน มันต่างกัน กินเพื่ออยู่กับอยู่เพื่อกินมันก็ต่างกัน ฉะนั้นถ้าหากคิดเป็น ก็จะเป็นคนที่กินเป็นมากขึ้น ซึ่งวิธีหลีกเลี่ยงการบริโภคที่แพงเกินจริงนั้น อย่างแรกเลยต้องเลือกกินในของที่เราจะกินจริงๆ เพราะว่าพวกผักที่ใช้ตกแต่งจานนั้น มันเป็นสิ่งที่สิ้นเปลือง และทำให้อาหารจานนั้นๆ แพงยิ่งขึ้น เพราะมันเอามาตกแต่งเพื่อความสวยงามเฉยๆ แต่ไม่ใช่สาระของการบริโภค
“อะไรที่ไม่จำเป็นก็ไม่ต้องซื้อมาใส่มัน กล่าวคืออาหารเจที่ประดับประดาปรุงแต่งจนวิลิศมาหรานั้นมันจะทำให้การบริโภคมีค่าใช้จ่ายมากขึ้นโดยใช่เหตุ อีกอย่าง จะบอกเสมอว่าพวกของเจนำเข้าจากไต้หวัน สิงคโปร์ มาเลเซีย ก็เป็นสิ่งที่ควรหลีกเลี่ยง เพราะมันแพง และมีการปรุงแต่งกลิ่นรสที่ไม่เป็นธรรมชาติเข้ามา บางอันใส่กลิ่นรสของเนื้อสัตว์มาด้วยซ้ำ”
สิ่งที่กูรูอาหารเจอย่าง เฉลิมชาติพยายามย้ำหนักย้ำหนาสำหรับคนกินเจ คือ อย่าซื้อของมาเก็บไว้เกินความจำเป็น อย่าเห็นแก่ของแถม และสุดท้ายเคล็ดลับของคนที่ต้องกินผักกินเจก็คือการเลือกที่จะเลี่ยงผักนำเข้าจากต่างประเทศ
“ถ้าอยากกินจริงๆ โครงการหลวงเขาก็มีการปลูกผักเหล่านี้ขาย ถ้าผักชนิดไหนมันแพงมากก็อย่าไปกินมัน คือถ้าอยากกินก็นานๆ กินทีได้ แต่อย่ากินทุกวัน”
ซึ่งทาง จิตรา ก่อนันทเกียรติ ผู้เชี่ยวชาญเรื่องจีน ที่มีประสบการณ์ด้านการกินเจมาอย่างยาวนาน ก็ให้ความเห็นไปในทำนองเดียวกันว่าถ้าหากผู้บริโภคเห็นว่าผักหรือวัตถุดิบชนิดไหนแพงเกินไปก็อย่าไปกิน แต่จงเปลี่ยนไปบริโภคอย่างอื่นแทน
"ถ้าเป็นครอบครัวที่จะซื้อเข้ามาทำอาหารเอง ก็เปลี่ยนการซื้อเสีย อันนั้นแพงก็เปลี่ยนไปซื้ออันที่ไม่แพง เพราะถึงอย่างไรก็มีของถูกอยู่เสมอแหละ โดยเฉพาะพวกผักพื้นบ้าน แต่ถ้ายึดติดว่าทุกปีกินผักกวางตุ้ง แต่ปีนี้ผักกวางตุ้งมันแพง คุณก็แค่เปลี่ยนไปซื้ออย่างอื่นแทน แต่ถ้าคนไหนยังยึดติดก็ต้องยอมจ่ายค่ายึดติดไป
"คือโอกาสที่มันจะแพงกว่าปกติในช่วงนี้ย่อมมีอยู่แล้ว ตรงนี้ก็โทษใครไม่ได้ เพราะมันก็เหมือนกับดอกกุหลาบที่แพงเฉพาะช่วงวาเลนไทน์ แต่ของพวกนี้สุดท้ายมันจะมีดีมานต์-ซัปพลาย (อุปสงค์-อุปทาน) ที่ทำให้ราคาผักมันลดลงไปเอง ตัวอย่างง่ายๆ เช่นคุณซื้อของในห้าง ตอนเช้าอาจจะแพง แต่ถ้าซื้อหลัง 2 ทุ่มมันก็ลด 50 เปอร์เซ็นต์ เพราะฉะนั้นคุณกลับมาช่วงนั้นซิ มันเลหลังเลย"
จากที่ผู้เชี่ยวชาญทั้งสองท่านได้กล่าวมา ก็พอจะสรุปถึงหนทางการปฏิบัติตัวในการบริโภคได้อย่างกว้างๆ ว่า จงวางแผนการบริโภคให้รัดกุมและรู้จักเลือกกินนั่นเอง
ผักแพง สะเทือนถึงในครัว
ตี๋ใหญ่ พ่อค้าขายอาหารเจ ย่านประชานิเวศน์ 3 เล่าถึงการรับมือกับราคาวัตถุดิบที่สูงขึ้นในช่วงเทศกาลกินเจว่า มันเป็นเรื่องธรรมดาที่วัตถุดิบจะเพิ่มราคาขึ้น ยิ่งปีนี้มีวิกฤตน้ำท่วมเข้ามาซ้ำเติมด้วยจากที่แพงอยู่แล้วก็ยิ่งแพงเข้าไปใหญ่ ซึ่งในส่วนของพ่อค้าแม่ค้าที่ขายอาหารเจจะใช้วัตถุดิบตัวอื่นมาแทนผัก เช่น พวกโปรตีนเกษตร เต้าหู้ นำมาเพิ่มเป็นเมนูที่ไม่ต้องใช้ผักมากๆ โดยยอมรับว่า ต้องตักอาหารให้ลูกค้าน้อยลงกว่าปีที่ผ่านมา แต่ในราคาที่เท่าเดิม ส่วนบางเมนูที่ต้องใช้ผักเป็นวัตถุดิบหลักๆ ก็อาจจะเพิ่มราคาจาก 25 บาท เป็น 30 บาทและไม่ได้นำผักชนิดอื่นมาดัดแปลงกับเมนูเดิมๆ เพราะราคาผักแต่ละอย่างก็ขึ้นสูงพอกันทั้งหมด
“ผักแพงขึ้นประมาณ 2-3 เท่า จากกิโลกรัมละ7- 8 บาท กลายเป็น 20 กว่า เกือบทุกชนิด อย่างเมนูสะตอผัดกุ้งเจ ราคาสะตอเมื่อก่อนกิโลกรัมละไม่ถึงร้อย ปีนี้เพิ่มขึ้นมาเป็น 2 ร้อย ส่วนแพงที่สุดต้องยกให้เห็ดเกือบทุกชนิด”
“ผักบางชนิดใช้วิธีนี้ขึ้นราคาโดยไม่ได้เกี่ยวกับเรื่องน้ำท่วม มันก็เกิดขึ้นราคาในทุกๆปี เป็นเหมือนเทศกาลการขึ้นราคาผักอย่างหนึ่งนั่นแหละ จะเห็นได้ว่า ในเทศกาลกินเจของทุกๆ ปีก็จะเป็นเหมือนเทศกาลการขึ้นราคาของ ไม่ต้องรอให้น้ำมาท่วมก็ได้ อย่างที่ตลาดไทย ถ้าเราไปซื้อตอนเช้ามาใหม่ๆ คน ก็ไปแย่งซื้อกันผักแพงอย่างกับทอง แต่ลองไปซื้อหลังจากนั้นสักหน่อย ตอนที่เขาเรียกว่า ‘ผักตาย’ เท่าไหร่ก็ต้องขาย ผมว่าเป็นข้ออ้างมาจากพ่อค้าคนกลางมากกว่า ที่อยากจะขึ้นราคาเอาเอง และอ้างว่าน้ำท่วม เพราะผักบางอย่างมันไม่ได้ปลุกแถวที่น้ำท่วมเลยก็ยังขึ้นราคาไปด้วย ยกตัวอย่างง่ายๆ เช่น ราคาของสะตอเนี่ย”
ส่วนคนที่ต้องบริโภคอาหารเจอย่าง ภัทรชนก บารมี พนักงานฝ่ายการตลาด นิตยสารออโต้วิชั่นแอนด์ทราเวล กล่าวว่าต้องยอมรับว่าเป็นเรื่องธรรมดาที่ช่วงเทศกาลของทุกปีบรรดาอาหารเจทั้งหลายจะมีราคาสูงขึ้น ซึ่งทางออกเกี่ยวกับเรื่องนี้นั้นก็คือเลือกสรรเมนูอาหารอย่างเรียบง่าย
“มันไม่มีการปรับตัวอะไรเลย เพราะว่าโดยปกติช่วงเทศกาลกินเจ มันก็จะมีกระแสข่าวว่าของแพง น้ำตาล, แป้ง หรือผัก แต่มันก็เพิ่มราคาขึ้นทุกปีอยู่แล้วในช่วงเทศกาลนี้ แต่ตอนนี้ที่ผักมันแพงมันเกิดจากว่าบางพื้นที่ที่เขาปลูกผักแล้วเกิดน้ำท่วม เพราะความที่เป็นคนทานง่าย มีผักอะไรก็ทานได้ หรือบางทีก็เต้าหู้ยี้ก็ทานได้แล้ว คือมันเป็นการกินเจที่ไม่ได้ตามกระแส ไม่จำเป็นว่าต้องซื้ออาหารเจที่มีรูปลักษณ์สวยงามทำเสมือนเนื้อสัตว์ต่างๆ จริง ถ้าอย่างนั้นมันจะแพงเพราะว่ามันเป็นกระแส ส่วนมากก็จะเลือกอาหารเจสำเร็จง่ายๆ มาทาน”
เทคนิคการบริโภคอาหารสำเร็จรูปที่เรียบง่ายของภัทรชนกนั้นกลับเป็นเทคนิคที่ นันทรัตน์ ธรรมานุวัฒน์ ไม่เลือกใช้ เพราะเธอบอกว่าเธอนิยมที่จะปรุงอาหารกินเองในครอบครัวเป็นจำนวนมากๆ มากกว่า
“ที่บ้านก็ยังซื้อกันปกติ ไม่ได้ลดปริมาณลง เพราะถือว่าเรากินแค่ 12 วัน คุณพ่อจะเป็นคนจ่ายตลาด แล้วคุณแม่เป็นคนปรุง คือเราซื้อผักมาทำกันเอง จะซื้อของมาให้พอเหมาะกับปริมาณการกิน ก็กะปริมาณว่าซื้อขนาดเท่านี้แล้วจะทำกินกันกี่มื้อ ไม่ใช่ซื้อเผื่อถ้าเหลือก็ทิ้ง พอมาทำงานก็ใส่กล่องมากินที่ออฟฟิศ มันอร่อยรสชาติถูกปากแล้วก็ประหยัดด้วย”
>>>>>>>>>>>
……….
เรื่อง : ทีมข่าว CLICK
ภาพ : พลภัทร วรรณดี