ต้องยอมรับว่า น้ำท่วมปีนี้ถือว่า หนักไม่ใช่เล่น แม้ที่ผ่านมาเมืองไทยจะต้องประสบเหตุเภทภัยจากเรื่องนี้นับครั้งไม่ถ้วน เพราะอย่างที่ทราบว่า เมืองไทยนั้นเป็นเมืองน้ำหลาก เรื่องน้ำท่วมนั้นถือเป็นเรื่องธรรมชาติ ไม่เชื่อก็ลองไปดูตามบ้านเรือนสมัยก่อนดูก็ได้ ต่างก็ยกพื้นสูงกันทั้งนั้น แถมแต่ละบ้านยังมีเรือพายเอาอีกด้วย สำหรับสัญจรในฤดูน้ำหลาก
แต่หากมาดูสถานการณ์ปีนี้ รับรองว่าเหตุการณ์ในอดีตทั้งหลายคงต้องถึงขั้นยกธงขาวกันเป็นทิวแถว เพราะถือว่าท่วมไม่ธรรมดา แถมยังมีปัจจัยหลายร้อยประการที่ช่วยกันเสริมช่วยกันทับถมอีกต่างหาก โดยเฉพาะอิทธิพลพายุโซนร้อน ‘นกเตน’ ที่พัดพาฝนมาตกหนักทั่วประเทศ
งานนี้ก็เลยต้องถูกบันทึกเป็นประวัติศาสตร์ไปตามระเบียบว่า เป็น 1 ใน 10 ครั้งที่น้ำท่วมหนักสุดในประเทศ แถมยังเกิดอุทกภัย วาตภัย โคลนถล่มเป็นว่าเล่นแล้ว แล้วยังมีจังหวัดสูงถึง 44 จังหวัด หรือคิดเป็นเกือบ 60 เปอร์เซ็นต์ของประเทศที่ตกเป็นเหยื่อ มีประชาชนได้รับความเดือดร้อนกว่า 3 ล้านคน พบผู้เสียชีวิตถึง 130 ราย แถมยังมีเรื่องประเภทที่ว่า เด็กนักเรียนต้องหนีขึ้นไปถึงชั้นสามของอาคารเรียน หรือแม้แต่สรีรังคารของหลวงพ่อฤๅษีลิงดำที่ไม่เคยเคลื่อนย้ายไปไหนตั้งแต่มรณภาพ แต่เมื่อเจอน้ำปีนี้เข้าไปยังต้องย้ายหนีเลย
แน่นอน ถึงตรงนี้หลายคนคงหันหน้าหันตาไปยังผู้รับผิดชอบ อย่างภาครัฐกันเป็นตาเดียวว่า ตกลงทำอะไรบ้าง เพราะอย่างที่รู้ว่า ของแบบนี้ไม่ใช่เพิ่งเกิดครั้งแรกซะที่ไหน แม้จะไม่รุนแรงเท่าครั้งนี้ก็ตาม แต่ก็น่าจะมีระบบการจัดการที่เป็นรูปเป็นรอยกับเขาบ้าง ซึ่งถ้ายกคำพูดของฮีโรเหรียญทองโอลิมปิก สมจิตต์ จงจอหอ ก็คงต้องบอกได้คำเดียวว่า 'เจ็บมาเยอะ'
เพราะฉะนั้นงานนี้จึงจะขอมาดูกันแบบชัดๆ ไปเลยว่าตลอดระยะเวลา 4-5 ปีมานี้ การแก้ปัญหาเรื่องอุทกภัยของเมืองไทยนั้นจะก้าวไกลไปขนาดไหน
แนวทางรัฐ-แผนการเยอะหน่วยงานเพียบ
แน่นอน หากหยิบยกเอาเรื่องของราชการมาเป็นตัวตั้ง ในฐานะของเจ้าภาพจัดการปัญหาอย่างเป็นทางการ ก็ต้องยอมรับว่า ไม่ธรรมดาเลย เพราะมีการตื่นตัวในเรื่องนี้อย่างเห็นได้ชัด เอาง่ายๆ ตั้งแต่การตั้งหน่วยงานต่างๆ ขึ้นมาอย่างกิจจะลักษณะ ไม่ว่าจะเป็นศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ, กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย และล่าสุดก็คือสำนักงานคณะกรรมการการบูรณาการแผนงานบริหารจัดการน้ำ
ที่สำคัญ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ยังนำทีมจัดทำโมเดลที่เรียกว่า บางระกำโมเดล ซึ่งเป็นการจำลองรูปแบบการจัดการบริหารน้ำในการสร้างเขื่อน ทำแก้มลิง หรือขุดคลองในพื้นที่เดียวกัน ไปพร้อมๆ กับการเดินสายแจกจ่ายช่วยเหลือผู้ประสบภัย และเพื่อให้การทำงานเป็นอย่างคล่องตัวมากขึ้น กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ยังตั้งศูนย์เฉพาะกิจอย่าง ศูนย์สนับสนุนการอำนวยการและการบริหารสถานการณ์ อุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม (ศอส.) ขึ้นมาเพื่อให้สามารถจัดการปัญหาได้อย่างเป็นระบบ
โดยมาตรการช่วยเหลือก็มีตั้งแต่ มอบถุงอุปโภคบริโภคและเงิน 1,000 บาท จัดตั้งชุดปฏิบัติการเฉพาะกิจช่วยเหลือผู้ประสบภัย และกำหนดให้ศูนย์ประชาบดี สายด่วน 1300 ทั้งในกรุงเทพฯ และทุกจังหวัดเป็นศูนย์รับแจ้งฯ ศูนย์ขอความช่วยเหลือ และรับบริจาคสิ่งของ ตลอด 24ชั่วโมง พร้อมกันนั้นยังมีการดูแลเงินสนับสนุนผู้ประสบภัย ตามความเสียหายที่เกิดกับผลผลิตทางการเกษตร ทั้งพืช ด้านประมง ด้านปศุสัตว์ รวมไปถึงมีมาตรการฟื้นฟูโครงสร้างพื้นฐาน หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด เร่งสำรวจ และดำเนินการซ่อมแซมระบบคมนาคมขนส่งประปา ระบบไฟฟ้า และระบบสื่อสาร ให้กลับสู่สภาพปกติ พัฒนาระบบบริหารจัดการน้ำ ในภาพรวม เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ แบบยั่งยืนอีกด้วย
อย่างไรก็ตาม แม้จะมีความเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะการทำงานที่รวดเร็วมากขึ้น เป็นระบบระเบียบมีการช่วยอย่างเป็นขั้นตอน แต่ในความรู้สึกของผู้คนจำนวนไม่น้อย ก็ยังคิดตรงกันว่า การแก้ไขปัญหาของรัฐดูจะชักช้าไปหน่อย ซึ่งเหตุผลหนึ่งน่าจะโทษใครไม่ได้นอกจากระบบราชการไทยที่อืดอาดมาแต่ไหนแต่ไร ประกอบกับที่ผ่านมา ดูเหมือนประชาชนผู้ประสบภัยจำนวนไม่น้อย ก็มักจะรอคอยความช่วยเหลือจากรัฐเป็นหลัก ไม่ได้พึ่งพาตัวเองสักเท่าใด ฉะนั้นปัญหาก็เลยหมักหมมและลุกลามจนใหญ่โต
สื่อ-องค์กรเอกชน-อัศวินม้าขาวในช่วงน้ำท่วม
เมื่อการทำงานของรัฐดูจะไม่ไปไหนเท่าที่ควร ซึ่งสวนทางกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างยิ่ง จึงไม่ใช่เรื่องแปลกใจเลยที่หน้าที่ตรงนี้จะตกไปเป็น บรรดากลุ่มองค์กรเอกชนทั้งหลาย รวมไปถึงเหล่าบรรดาสื่อสารมวลชนจำนวนมากที่ต่างยกพลออกมากอบกู้สถานการณ์ในครั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็น มูลนิธิ 1,500 ไมล์ ซึ่งถือว่าเป็นมืออาชีพทางด้านนี้ รวมไปถึงบทบาทของพิธีกรเล่าข่าวชื่อดัง สรยุทธ สุทัศนะจินดา ที่บางครั้งลงถึงพื้นที่เร็วกว่านายกรัฐมนตรีเสียด้วยซ้ำ
ซึ่งหากพูดในแง่ของความสำคัญแล้วก็นับว่า เป็นเรื่องที่ดี เพราะอย่างรู้ๆ กันอยู่แล้ว องค์กรเหล่านี้ มีช่องทางการเผยแพร่และสะท้อนปัญหาประชาชนได้มากกว่าและรวดเร็วกว่าภาครัฐ แถมบางครั้งยังเป็นตัวชี้เป้าที่ดีว่า ปัญหานั้นเกิดที่นั้นและประชาชนอยากได้อะไร
“เริ่มแรกเดิมทีช่อง3 ตั้งตู้ ปณ.ข่าว 3 ขึ้นมา เพื่อรับแจ้งเบาะแส แล้วก็มีศูนย์รับแจ้งข้อมูลข่าวสารตลอด 24 ชั่วโมง เพราะฉะนั้นเวลาชาวบ้านเขาเดือดร้อนอะไรเขาก็จะแจ้งมาที่ตู้ ปณ.นี้ เมื่อเกิดน้ำท่วมเราก็ค่อนข้างจะได้รับรู้ก่อนว่าที่นั่นมีปัญหาอะไรบ้าง เพราะมีประชาชนแจ้งมา ทำให้เราสามารถมีเบาะแสแล้วลงไปทำข่าวในพื้นที่ เมื่อลงไปทำข่าวแล้วก็ได้นำสิ่งของไปแจกด้วย ก็ทำให้รู้ข้อมูลข่าวสารในเรื่องของความเดือดร้อนของชาวบ้านได้มากกว่าการทำข่าวทั่วไป” สำราญ ฉัตรโท รองผู้จัดการฝ่ายข่าว สถานีวิทยุโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 อธิบายการทำงาน
โดยเขายังเสริมอีกว่า การช่วยเหลือดังกล่าวนี้ประกอบด้วยหลายโครงการ ไม่ใช่เฉพาะเพียงการมอบสิ่งของแต่รวมไปถึงโครงการอื่นๆ ในขั้นตอนของการฟื้นฟูหลังเหตุพิบัติภัยด้วย เช่น การมอบสื่อการเรียนการสอน การสร้างอาชีพ และการสร้างบ้าน
แต่หามองในอีกมุมหนึ่ง ก็จะเห็นว่าการเติบโตของกลุ่มเหล่านี้ถือเป็นกระจกบานใหญ่ที่สะท้อนถึงประสิทธิภาพการทำงานของภาครัฐได้ดีทีเดียว
ทางออก-ต้องเลือกป้องกันมากกว่าเลือกแก้ไข
เมื่อปัญหายังดูไม่มีทางออกเช่นนี้ คำถามต่อมาก็คือ แล้วตกลงเราจะแก้ไขในเรื่องนี้ได้อย่างไร แน่นอน การกลับมาพิจารณาถึงบทบาทของรัฐที่มีต่อปัญหาน่าจะเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด
โดยในมุมของ ศ.ดร.มนัส สุวรรณ อดีตนายกสมาคมภูมิศาสตร์แห่งประเทศไทย ก็ให้ความเห็นว่า ที่ผ่านมานั้น รัฐมุ่งแก้ไขปัญหาที่ปลายเหตุมากเกินไป เห็นได้จากการที่หน่วยงานต่างๆ นั้นแต่การทำงานเรื่องแก้ไขเยียวยามากกว่าการป้องกันปัญหา
“เรื่องระบบราชการหรือเรื่องกฎหมายต่างๆ ผมถือว่าเป็นปลายเหตุ ต้นเหตุจริงๆ นั้นอยู่ที่จิตสำนึกของคนมากกว่า อย่างผังเมือง เวลาเขียน เรามักไม่แคร์สิ่งแวดล้อมเท่าไหร่ เพราะผู้บริหารเมืองมักจะคำนึงแต่ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ เชียงใหม่ก็เป็น หาดใหญ่ก็เป็น โคราชก็เป็น แล้วพอฝนตกมาน้ำก็ระบายไม่ทัน มันก็เลยท่วม เพราะฉะนั้นการตั้งหน่วยงานต่างๆ ขึ้นมา ก็ถือว่ามีส่วนช่วยบรรเทาทุกข์ของประชาชนได้ สมมติผมติดน้ำท่วมออกไปซื้อข้าวไม่ได้ รัฐเอาข้าวมาให้ รัฐก็ช่วยผม แต่ผมติดน้ำท่วมอยู่สามเดือน รัฐเอาข้าวมาให้ผมกินได้แค่สามวัน
“แต่อีกทางหนึ่ง มันก็เป็นเครื่องยืนยันว่า รัฐบาลแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าตลอด ซึ่งทำได้อย่างเก่งก็แค่ลงไปแจกข้าว รัฐบาลควรวางแนวทางการแก้ไขปัญหาแบบป้องกัน วางระบบระยะยาว เรารู้อยู่แล้วว่าประเทศไทยจะต้องเกิดภัยแล้ง น้ำท่วม อาจจะมีการสร้างเขื่อน สร้างอ่าว ต้องมีการวางแผนในการบริหารจัดการน้ำ”
ด้วยเหตุนี้ จึงไม่ใช่เรื่องแปลกว่า ทำไมปัญหานี้จึงเกิดขึ้นอย่างซ้ำซากตลอดเวลา และดูเหมือนจะไม่มีจุดสิ้นสุด ประกอบกับที่ผ่านมารัฐทำตัวเองเป็นศูนย์กลางในการแก้ไขปัญหามากเกินไป จนไม่สนใจความเห็นของผู้อื่นเลยแม้แต่น้อย
“คนส่วนหนึ่งเขาจะมองว่าเป็นปัญหา แต่คนอีกส่วนนั้นจะมองว่ามันเป็นปัญหาเหมือนกัน แต่สามารถจัดการได้ ซึ่งภาครัฐนั้น อยากจะแก้ไขปัญหาให้เบ็ดเสร็จเด็ดขาดซึ่งมันเป็นไปแทบไม่ได้ มันจะต้องติดแก้ปัญหาหลายๆ ส่วนด้วยกัน ไม่ได้แก้ด้วยการสร้างสิ่งก่อสร้างอย่างเดียว ต้องยอมรับก่อนว่าน้ำท่วมนั้นเป็นเรื่องของฤดูกาล ที่มาทุกปี แต่บางปีก็พอจะรับไหว” หาญณรงค์ เยาวเลิศ ประธานมูลนิธิเพื่อการบริหารการจัดการน้ำแบบบูรณาการ (ประเทศไทย) ในฐานะที่ทำงานด้านน้ำมาอย่างยาวนาน ซึ่งชี้ให้เห็นปัญหาดังกล่าว
แน่นอนแม้ที่ผ่านมา รัฐจะอ้างว่าวิธีที่ตัวเองใช้นั้นเป็นวิธีบูรณาการด้วยการระดมทุกภาคส่วนของรัฐมาช่วยแก้ไขปัญหา แต่สุดท้ายแผนงานที่ออกมาเหมือนเดิม การทำงานก็ยังสะเปะสะปะ แถมยังต้องใช้งบประมาณอีกมากมายในการเยียวยา
“อันที่จริงควรจะคิดแบบองค์รวม ในบางเรื่องเขาก็ถามชาวบ้านบ้าง แต่ก็เป็นเฉพาะเรื่องที่เขาอยากให้ชาวบ้านแสดงความคิดเห็น แต่มีบางเรื่องก็ไม่ฟังชาวบ้านเลยอย่างเช่นเรื่องในเชิงเทคนิค มันไม่แฟร์ นักการเมืองและราชการต้องทำความเข้าใจปัญหากันใหม่”
เพราะฉะนั้น หากรัฐคิดจะแก้ปัญหาจริงๆ ก็ต้องดึงชาวบ้านเขามาร่วมด้วย เพราะที่ผ่านมาก็ใช่ชาวบ้านจะไม่ทำอะไร หลายๆ บ้านก็เตรียมการไว้แล้ว เพราะรู้ว่าน้ำจะท่วมอยู่แล้ว แต่อาจจะขาดวิธีการเตรียมตัวที่ถูกต้อง เพราะบางครั้งชาวบ้านก็ไม่รู้หรอกว่า ปัญหามันจะหนักมากขนาดไหน ตัวอย่างเรื่องเล่าของ นุชจารี สว่างวรรณ ประธานกองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลบางระกำ อำเภอบางระกำ จังหวัดพิษณุโลก กระบอกเสียงของชาวบ้านผู้ประสบภัย
“มีชาวบ้านอาศัยอยู่หลายหลังคาเรือน โดยเฉพาะที่อยู่ริมแม่น้ำยมจะท่วมหนักมาก ถ้าบ้านชั้นเดียวก็มิดหลังคา หรือปริ่มๆ ขึ้นมาชั้น 2 แต่ก็ไม่มีใครคิดย้ายออก ต้องบอกว่ามันเป็นที่ตั้งรกราก เขาอยู่กันมานาน และรู้ว่าเป็นประจำทุกปีจะต้องเจอภัยน้ำท่วม เขาทำใจยอมรับสภาพที่จะเกิดเหตุการณ์ตรงนี้ สามารถปรับตัวกันได้ และที่ผ่านมาเราก็เตรียมตัวไว้เป็นปกติ เพราะน้ำจะมาในช่วงเดือนกันยายน แต่ปีนี้น้ำมาเร็ว อยู่นาน และก็ท่วมหนัก คือมันเดือดร้อนกว่าที่เคย”
โดยทางออกหนึ่งที่หาญรณงค์เสนอก็คือ การสร้างความพร้อมให้แก่ชาวบ้านมากกว่านี้ โดยอาจจะต้องกองทุนเป็นของตัวเองเพื่อจัดการหรือเยียวยาปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้น ขณะที่รัฐเองก็ควรจะหานโยบายที่สอดรับกับปัญหา เช่นการให้ชาวบ้านในพื้นที่กู้เงินมาบรรเทาปัญหา โดยปลอดดอกเบี้ย หรือดอกเบี้ยน้อยก็ได้
“คนเหล่านี้เขาบรรลุธรรมแล้วว่ายังไงน้ำมันก็ต้องท่วม แต่ทีนี้ต้องมาดูว่าถ้าท่วมแล้วจะอยู่กับมันยังไงต่างหาก คือท่วมก็ไม่เป็นไร แต่ท่วมแล้วแล้วขอให้มีที่อยู่ที่นอน พูดง่ายๆ ก็คืออย่าให้มันท่วมถึงชั้นสองแล้วกัน”
…….
ถึงตรงนี้ หลายคนอาจจะสงสัยว่า เมื่อใดหนอปัญหาเรื่องน้ำท่วมจะหมดไปจากเมืองไทยเสียที แน่นอนคำตอบนั้นมีอย่างเดียว ก็คือ 'ไม่มีทาง'
เพราะฉะนั้น สิ่งที่สำคัญมากไปกว่านั้น จึงไม่ใช่การมีหรือไม่มีเหตุ แต่เป็นที่ทุกภาคส่วนต้องกลับมานั่งคิดว่า เมื่อเหตุเกิดขึ้นแล้วจะจัดการกับปัญหาอย่างไร ถึงจะไม่ลุกลามใหญ่โต เหมือนที่เป็นอยู่ในตอนนี้ต่างหาก
>>>>>>>>>>>>>
เรื่อง : ทีมข่าว CLICK
ภาพ : ทีมภาพ CLICK