xs
xsm
sm
md
lg

‘ขุนช้างขุนแผน’ วรรณคดีมีชีวิต กับการตีความที่ไม่รู้จบ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เป็นเวลากว่า 2 ศตวรรษที่วรรณคดีเรื่อง ‘ขุนช้างขุนแผน’ โลดแล่นอยู่ในบรรณพิภพของสังคมไทย บทบาทอันเข้มข้นซึ่งมีจุดเริ่มต้นมาจากความผูกพันระหว่างเพื่อน ก่อนจะพัฒนาไปสู่รักสามเส้าของหนึ่งหญิงสองชาย โศกนาฏกรรมและเรื่องราวโกลาหลที่ใครจะคาดคิด ได้กลายเป็นเสน่ห์ที่มัดใจผู้คนที่ได้มีโอกาสลิ้มลองอรรถรสแม้เพียงเล็กน้อยให้หลงใหลอยู่ในความสนุกสนานไม่รู้เบื่อ

แน่นอนว่า ที่เป็นเช่นนี้ หลายคนอาจจะคิดว่ามาจากความเชื่อที่ว่า เรื่องขุนช้างขุนแผนนั้นสืบเค้ามาจากโครงร่างความเป็นจริง ดังที่ปรากฏหลักฐานอ้างอิงจำนวนไม่น้อย ทั้งพระนามของพระมหากษัตริย์สมัยนั้นคือ สมเด็จพระพันวษา ก็ยังตรงกับพระนามของสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 ที่ถูกบันทึกอยู่ในหนังสือคำให้การชาวกรุงเก่า หรือชื่อสถานที่ต่างๆ ในจังหวัดสุพรรณบุรีตลอดจนจังหวัดต่างๆ ที่แต่ละแห่งล้วนเกี่ยวโยงกับชีวิตความเป็นอยู่ของตัวละครทั้งสิ้น รวมไปถึงการสร้างพระขุนแผน หนึ่งในตัวละครสำคัญ ซึ่งว่ากันว่ามีอิทธิฤทธิ์ในเรื่องมหาเสน่ห์เป็นอย่างยิ่ง

แต่ในอีกมิติหนึ่งแล้ว เสน่ห์ของเรื่องนี้ไม่ได้ถูกจำกัดอยู่แค่ความจริงไม่จริงเท่านั้น แต่ยังอยู่ที่เนื้อหาที่เล่าอย่างมีชั้นเชิง และรูปแบบซับซ้อน แต่สะท้อนให้เห็นภาพการดำเนินชีวิตของสามตัวละครเอกอย่างชัดเจนและได้อรรถรส ขณะที่การวางรูปแบบของตัวละครที่จัดว่าทำได้สมบูรณ์ คือมีทั้งมิติด้านกว้างว่า เป็นใครมาจากไหน รวมไปถึงมิติด้านลึก ที่สะท้อนให้เห็นถึงความรู้สึกนึกคิดของแต่ละคนว่าเป็นเช่นใด

“สิ่งที่ทำให้ขุนช้างขุนแผนน่าสนใจกว่าวรรณคดีเรื่องอื่น คือลักษณะของตัวละครต่างๆ ที่ละม้ายคล้ายคนจริงๆ มาก มันไม่ใช่นางเอกแบบในวรรณคดีทั่วไป หรือพระเอกต้องเป็นฮีโร่เท่านั้น แต่มันมีความเป็นมนุษย์อยู่ในตัวบท ที่สำคัญก็คือตัวโครงมันชัด มันแน่น ทั้งการเล่าเรื่องถือว่าสมบูรณ์มาก ก็เลยทำให้วรรณคดีเรื่องนี้เป็นที่จับใจของคนที่เสพ” ณรงค์ศักดิ์ สอนใจ อาจารย์ประจำสาขาวิชาภาษาไทย คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะผู้ที่ศึกษาเรื่องนี้อย่างจริงจังอธิบาย

จากเหตุผลเหล่านี้ จึงไม่ใช่เรื่องแปลกเลยที่ตลอดระยะเวลา 200 กว่าปีมานี้ ขุนช้างขุนแผนจึงสามารถหยัดยืนบนแถวหน้าของวงการวรรณคดีได้อย่างเป็นอมตะ และถูกกล่าวถึงอย่างต่อเนื่อง แม้เวลาจะผ่านไปนานสักแค่ไหน

โดยจุดที่ถือเป็นหลักไมล์สำคัญของวรรณคดีเรื่องนี้ อยู่ที่บทเสภาขุนช้างขุนแผนฉบับหอสมุดพระวชิรญาณ อันเป็นบทพระราชนิพนธ์และประพันธ์จากกวีแก้วแห่งรัตนโกสินทร์หลายท่าน ไม่ว่าจะเป็นพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เจ้าพระยาพระคลัง (หน) หรือแม้แต่สุนทรภู่ โดยถูกพิมพ์อย่างเป็นหลักเป็นฐาน ในปี พ.ศ.2460 สืบเนื่องจากสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงเล็งเห็นว่า หากไม่มีการจัดพิมพ์รวบรวมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันแล้ว บทประพันธ์ชุดนี้ก็จะสูญหายไปตามกาลเวลา

ขณะเดียวกัน ในระหว่างนั้น ขุนช้างขุนแผนก็มักจะถูกหยิบยกจากบรรดานักประพันธ์และนักสร้างสรรค์นำมาปัดฝุ่น และถ่ายทอดในรูปแบบใหม่อยู่บ่อยครั้ง ไม่ว่าจะเป็น นวนิยาย นิทานการ์ตูนภาพ ภาพยนตร์ ละครโทรทัศน์ ละครเวที ลิเก ภาพยนตร์หรือการ์ตูนแอนิเมชัน รวมไปถึงบทเพลงอีกหลายสิบเพลงที่มีการหยิบชื่อของตัวละครไปพูดถึง ซึ่งการผลิตซ้ำแต่ละครั้งนั้น ณรงค์ศักดิ์ชี้ว่า ไม่ได้ทำเพียงแค่การสร้างสรรค์เฉพาะรูปแบบเท่านั้น แต่ยังถูกนำไปตีความใหม่ตามบริบทของสังคมและความรู้สึกนึกคิดของตัวผู้สร้างสรรค์อีกด้วย

“ลักษณะของขุนช้างขุนแผนก่อนที่จะทำฉบับหอสมุดแห่งชาตินั้น ไม่ได้เป็นเหมือนฉบับที่เราอ่านกัน แต่เป็นเรื่องเล่าที่สืบทอดกันมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาในรูปแบบนิทาน แต่ภายหลังก็มีคนคิดประดิษฐ์วรรณคดีเรื่องนี้ให้เป็นรูปแบบการร้องแบบเสภา ซึ่งเป็นที่นิยมมากในสมัยรัชกาลที่ 2 และพอถึงรัชกาลที่ 5 เมื่อเสภาเสื่อมความนิยมลง กรมพระยาดำรงฯ จึงทรงรวบรวมไว้ จุดที่น่าสังเกตอย่างหนึ่งก็คือ การแต่งใหม่ในรูปแบบเสภาไม่ได้ถูกดัดแปลงหรือถูกผลิตซ้ำมากนัก เพราะฉบับนั้นได้รับการยกย่องว่าเป็นสุดยอดของวรรณคดี การถ่ายทอดภายหลังไม่ถูกปรับเปลี่ยนอะไร

“แต่ความน่าสนใจอยู่ที่เมื่อเสภาไม่ได้รับความนิยม แต่ตัวขุนช้างขุนแผนยังได้รับความนิยมอยู่ สมัยรัชกาลที่ 6 เป็นต้นมา เรื่องนี้จึงถูกดัดแปลงไปในรูปแบบต่างๆ ตามสมัยนิยม เช่น เป็นละครพันทาง ซึ่งหยิบตอนที่พระไวยไปรบที่เชียงใหม่ ซึ่งนิพนธ์โดยกรมหลวงพิชิตปรีชากร ก็มีบทสนทนาเป็นภาษาเหนือเต็มไปหมดเลย จึงอาจจะกล่าวได้ว่าความคลาสสิกของเรื่องนี้ไม่ได้อยู่ที่รูปแบบเท่านั้น แต่อยู่ที่คุณค่าตัวเรื่องซึ่งพร้อมจะถูกดัดแปลงในสื่อประเภทอื่นๆ โดยการผลิตซ้ำแต่ละครั้งจะมีการดัดแปลงเพื่อให้สอดรับกับทัศนะของผู้แต่ง”

โดยรูปแบบการหยิบวรรณคดีนี้ไปประยุกต์นั้นสามารถแบ่งออกเป็น 3 ลักษณะหลักๆ คือ

1. การหยิบเรื่องเดิม ไปดัดแปลงไปใช้สื่ออื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นละคร ภาพยนตร์ หรือการ์ตูน โดยไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงเค้าโครงเรื่องมากนัก แต่ก็จะมีการปรับปรุงรูปแบบการนำเสนอให้เหมาะสมกับกลุ่มผู้ชมเป็นกลุ่มผู้ชมเป็นสำคัญ ตัวอย่างเช่น ตอนที่ถูกผลิตเป็นการ์ตูนแอนิเมชันและนำไปสู่สถานีโทรทัศน์ ซึ่งต้องยอมรับว่า หลายๆ ฉากของวรรณกรรมเรื่องนี้มีความรุนแรงปนอยู่ค่อนข้างมาก เช่น ฉากที่ขุนแผนฆ่านางบัวคลี่ แล้วผ่าท้องเพื่อนำบุตรชายมาทำกุมารทอง

เพราะฉะนั้นการนำเสนอก็จึงจำเป็นจะต้องดัดแปลงให้เหมาะสมกับกลุ่มผู้ชมที่ส่วนใหญ่ยังเป็นเด็กและเยาวชนอยู่ โดยอาจจะใช้เทคนิคและวิทยาการใหม่ๆ มาเป็นตัวช่วยได้ เช่นมีการเปลี่ยนสีเลือดจากสีแดงเป็นสีน้ำเงิน หรือไม่ก็ใช้แสงสว่างจ้าบดบังการผ่าท้อง เพื่อลดดีกรีของความรุนแรงลง จนไม่สร้างความสยดสยองให้เกิดขึ้นกับผู้ชมได้

2. การหยิบเค้าโครงเรื่องเดิม ไปตีความใหม่ ซึ่งปัจจัยของการนำเสนอรูปแบบนี้ นอกจากจะมีเรื่องของบริบทสังคมในขณะนั้น ยังมีเรื่องทัศนคติของผู้ประพันธ์หรือผู้สร้างสรรค์งานผสมผสานอยู่ด้วย จึงทำให้การตีความความคิดบางอย่างของตัวละครบางตัวไม่ตรงกับฉบับดั้งเดิมอย่าง ฉบับหอสมุดพระวชิรญาณ ตัวอย่างเช่นการตัดสินใจของนางบัวคลี่ที่จะต้องไปฆ่าขุนแผน ซึ่งฉบับเดิมบอกว่าตัวละครตัวนี้จะค่อนข้างร้ายหน่อยๆ เป็นเพราะนางตัดสินใจฆ่าสามีตามคำสั่งของบิดา เพราะบิดาเสนอว่าจะให้เงินของทอง จึงเกิดความโลภ แต่ถ้าไปดูต้นฉบับในเรื่องชายชาตรีของมาลัย ชูพินิจ ซึ่งมีการนำขุนช้างขุนแผนมาเล่าใหม่ บทบางของนางบัวคลี่จะแตกต่างออกไปอย่างสิ้นเชิง เพราะมาลัยได้ตีความตัวละครตัวนี้ว่า เป็นตัวละครที่มีความจงรักภักดีต่อสามีอย่างสุดซึ้ง แม้สามีจะถูกจับได้ว่าเป็นสายของราชการก็ยังพาขุนแผนหนี และสาเหตุที่ตายไปเพราะเอาตัวไปบังกระสุนแทน ขณะกำลังต่อสู้

หรือแม้แต่ฉบับภาพยนตร์เรื่องขุนแผน ที่กำกับฯ โดย ธนิตย์ จิตนุกูล ก็มีการตีความบทบาทของนางบัวคลี่ในรูปแบบที่คล้ายๆ กับเรื่องชายชาตรีของมาลัยเช่นกัน โดยเพิ่มฉากแสดงความรักระหว่างตัวละคร 2 ตัวให้มากยิ่งขึ้น เพื่อเป็นการยืนยันถือความสัมพันธ์ทางความรู้สึกอันแน่นเฟ้นของตัวละคร

ขณะเดียวกัน บริบทในแง่ของพื้นที่และสภาพแวดล้อมของสถานที่ ก็ถืออีกปัจจัยสำคัญต่อการตีความเรื่องเช่นกัน อย่างครั้งหนึ่งที่ขุนอินตา ได้นำขุนช้างขุนแผนไปผลิตในสำนวนอีสาน รูปแบบของขุนช้างขุนแผนฉบับนี้ ก็จะมีลักษณะที่แตกต่างจากสำนวนภาคกลางอย่างสิ้นเชิง โดยเฉพาะเรื่องความเชื่อเกี่ยวกับคำมั่นสัญญาหรือการผูกเสี่ยวเป็นเกลอ ซึ่งในเรื่องสะท้อนให้เห็นว่าสามตัวละครหลักต่างมีความสัมพันธ์กันในลักษณะนี้ เพราะฉะนั้นเมื่อคนทำผิดคำสัญญา เนื้อหาก็จะออกไปเชิงการประณามบุคคลนั้นๆ มากเป็นพิเศษ

“ขุนช้างขุนแผนในฉบับอีสาน แก่นของเรื่องจะบิดไปนิดหนึ่ง เป็นในลักษณะการเป็นเกลอกันระหว่างขุนแผนกับขุนช้าง มีตอนสัตย์สาบานกัน ในฉบับอีสานจะเน้นตรงนี้มาก พอถึงเวลามีการทรยศหักหลังก็ใส่น้ำเสียง ว่าสิ่งที่ขุนช้างทำนั้นไม่เหมาะสม ตรงนี้สอดรับกับความเชื่อของอีสานในเรื่องผูกเสี่ยว แสดงให้เห็นบริบทท้องถิ่นที่เข้าไปมีผลกับเนื้อเรื่อง” ณรงค์ศักดิ์กล่าว

3. การหยิบตัวละครหรือบุคลิกของตัวละครไปเล่าในรูปแบบที่แตกต่างกัน ซึ่งตรงนี้ถือเป็นผลมาจากอิทธิพลจากบุคลิกที่มีความชัดเจนของตัวละครในเรื่อง เพราะอย่างที่กล่าวว่าได้แต่ต้นว่า ตัวละครในขุนช้างขุนแผนนั้นมีความละม้ายคล้ายคลึงกับคนจริงๆ ตัวอย่างเช่น ขุนแผนก็มีภาพของชายหนุ่มเจ้าชู้ มากรัก และเมียเยอะ หรือนางวันทอง ที่เดิมชื่อนางพิมพิลาไลย นอกจากมีภาพของหญิงหลายใจจนถูกสมเด็จพระพันวษาประหารชีวิตแล้ว ยังมีภาพของหญิงสาวที่ไม่มีทางเลือก เพราะถูกสภาพสังคมกดดันเอาไว้หลายอย่าง ตั้งแต่การแต่งงาน หรือแม้กระทั่งการใช้ชีวิต จึงไม่ใช่เรื่องแปลกเลยที่บรรดาผู้รังสรรค์ผลงานจำนวนไม่น้อย ต่างเลือกจะหยิบตัวละครเหล่านี้ไปเล่าซ้ำในบริบทใหม่ๆ ที่ไม่ปรากฏในวรรณกรรมดั้งเดิม หรืออาจจะเป็นสถานการณ์ปัจจุบันเลยก็มี

ตัวอย่างเช่นนางวันทอง ซึ่งถูกศิลปินเพื่อชีวิตกลุ่ม ‘คนด่านเกวียน’ หยิบยกชีวิตไปเล่าผ่านบทเพลง ‘นางวันทอง’ พร้อมกับเปรียบเปรยสังคมที่มีการแบ่งชนชั้นไปด้วย หรือแม้แต่ช่วงที่ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ผลิตละครเวทีเรื่อง ‘เสน่ห์พ่อแผน’ ซึ่งแม้จะเป็นบทประพันธ์ใหม่ทั้งหมด แต่ชื่อของตัวละครกลับเป็นตัวละครของวรรณกรรมเรื่องขุนช้างขุนแผนทั้งหมด โดยเรื่องได้หยิบตอนที่พระไวย ซึ่งอาศัยอยู่ในบ้านเดียวกับนางวันทองและขุนช้างอย่างสงบสุข กำลังจะแต่งงาน แล้วระหว่างนั้น ขุนแผนซึ่งเป็นพ่อที่หายหน้าหายตาไปนาน เพราะเลิกรากับนางวันทองและต้องเดินทางไปเป็นทูตในต่างประเทศก็ปรากฏตัวขึ้น และสร้างความปั่นป่วนให้เกิดในงาน ไม่ว่าจะเป็นการหว่านเสน่ห์ใส่นางวันทองเมียเก่า หรือนางศรีมาลาซึ่งเป็นลูกสะใภ้ของตัวเองจนหลงใหลและเกือบจะจูบกับขุนแผนกันเลยทีเดียว

จากการตีความและการผลิตซ้ำ ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบหรือเนื้อเรื่องอย่างไม่สิ้นสุด คงเป็นเครื่องยืนยันได้อย่างดีถึงความไม่ธรรมดาของวรรณกรรมไทยที่ชื่อ ‘ขุนช้างขุนแผน’

เพราะนอกจากจะสามารถปรับเปลี่ยนได้อย่างตามยุคสมัยโดยไม่อาการขัดเขินเลยแม้แต่น้อยแล้ว มันยังเป็นวรรณกรรมที่มีความร่วมสมัย ข้ามพ้นกาลเวลา แม้เรื่องราวจะถูกระบุว่าเกิดในยุคกรุงศรีอยุธยาก็ตาม เพราะเมื่อเทียบกับลักษณะการวางโครงเรื่องอันซับซ้อน หรือสิ่งที่แทรกอยู่ในตัวละคร อย่างเช่นความรัก โลภ โกรธ หลง ก็จะเห็นความจริงอย่างหนึ่งที่ว่า ไม่ว่ายุคไหนๆ ถึงอย่างไรสังคมก็ต้องมีคนแบบตัวละครในเรื่องขุนช้างขุนแผนอยู่ดี
>>>>>>>>>>>>
………
เรื่อง : สุทธิโชค จรรยาอังกูร



กำลังโหลดความคิดเห็น