xs
xsm
sm
md
lg

ปีโป้ Double cheeze สาว D.I.Y เทรนด์นี้ไม่มีเอาต์ !

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ปีโป้ - ปรียานุช ประมูลกิจ สาวสวย ผิวสีน้ำผึ้ง นิสัยอะเลิร์ต ไอเดียเก๋ กับผลงานพิธีกร ทุกวันพุธเราจะเห็นเธอมาเสนอไอเดียเก๋กู้ด ในช่วงของ D.I.Y ในรายการ Double cheese TV เธอคนนี้อาจจะกำลังกลายเป็นทีนไอดอล ที่ชอบการประดิดประดอยงาน D.I.Y ของใครหลายคนที่กำลังหลงใหลแฟชั่นในแนวสตรีท ถ้าให้พูดถึงแฟชั่นในแนวนี้ล่ะก็ ไม่ต้องไปคิดอะไรกับการแต่งตัวให้มาก เพราะปีโป้บอกว่า “แฟชั่นยุคนี้มันฟุ้งเกินกว่าจะบอกว่าใครอินหรือเอาต์มากแค่ไหน” แต่ถ้าหากไม่อยากเอาต์ไปมากกว่านี้ ตามไปรู้จักกันว่า สาวไอเดียเก๋คนนี้มีจุดเริ่มต้นมาได้อย่างไร
1

ก่อนที่ทุกคนจะได้เห็นความอะเลิร์ต สดใส แลดูเป็นตัวตนของเธอเองผ่านงานพิธีกรโทรทัศน์ รายการ Double cheeze TV เวลาสำหรับวัยรุ่นนอนดึก 1.30 น. ทางโทรทัศน์สีกองทัพบก ช่อง 7 เธอเคยฝากไอเดียการทำสิ่งของเก๋ๆ ลงบนนิตยสารcheeze ในคอลัมน์ D.I.Y มาก่อน ซึ่งต่อมาเธอก็ได้โจทย์ให้ไปทำการบ้านเพราะจากงานเขียนง่ายๆ เริ่มมีการบ้านให้ไปคิดไอเดีย ในช่วงที่มีการทำรายการทีวีเพิ่มเข้ามา

“เราชอบงานแบบนี้มาตั้งแต่เด็ก เพราะมันเริ่มมาจากความงกของตัวเองก่อน คือแบบว่าเราไม่อยากมีเสื้อผ้าที่เหมือนคนอื่น อยากทำอะไรที่เป็นในแบบของตัวเอง ส่วนใหญ่ก็จะทำพวกเสื้อผ้า เครื่องประดับ แต่งหน้าเข้ามาร่วมด้วย”

ปีโป้เล่าว่า เธอรู้ตัวเองว่าชอบเรื่องของการประดิดประดอยแบบนี้มาตั้งแต่เด็ก เพราะทุกวันจะต้องมีของที่ทำด้วยฝีมือตัวเองมาฝากให้คุณแม่หนึ่งชิ้น ซึ่งเธอจำได้ดีว่าของขวัญที่ทำให้คุณแม่เป็นชิ้นแรกเลย คือ มงกุฎดอกส้ม วันต่อมาก็วาดรูปให้

“ที่ทำมงกุฎดอกส้มให้คุณแม่เพราะตอนนั้นเราเด็กมาก คง 6 ขวบมั้งค่ะ คุณแม่พาไปสนามเด็กเล่น เด็กคนอื่นก็เล่นของเล่น หนูก็ไปเด็ดดอกหญ้ามาพันๆๆ แล้วเอามาเล่น พอเราใส่เพื่อนก็เลิกเล่นของเล่น แล้วมาทำมงกุฎดอกส้มกับเราเลย เราก็เอาไปให้แม่ดู ทำแล้วน่ารัก เป็นภาพที่จำได้แล้วรู้สึกดีมากค่ะ”

พอโตขึ้นมาจึงทำให้เธอรู้ว่า สิ่งเหล่านี้คือความชอบที่แสดงออกมาให้คุณแม่ได้เห็น และบอกกับเธอเสมอว่า สิ่งเหล่านี้คือตัวตนของปีโป้มาตั้งแต่ยังเด็ก

ไม่ว่าเธอจะชอบอะไร คุณแม่จะคอยเป็นผู้สนับสนุนอยู่เบื้องหลังให้ปีโป้ ได้ทำในสิ่งที่เธอชอบมากที่สุด ตลอดระยะเวลาตั้งแต่เด็ก เรื่องของการร่ายรำ นาฏศิลป์ไทย ก็เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่เธอชอบและขอให้คุณแม่พาไปเรียน จนกระทั่งต้องตัดสินใจ เรียนในระดับมหาวิทยาลัย เธอจึงตัดสินใจได้ไม่ยากนัก

“คือแม่จะปล่อยอิสระมาตั้งแต่เด็กเลยค่ะ พอ ปี 1 ก็คิดว่า จะเรียนอะไรดี ออกแบบ เรียนรำ เราก็คิดว่า ออกแบบมันก็คงเป็นพรสวรรค์ ที่เราไม่ต้องเรียนก็ได้มั้ง ก็เลยพอมาเลือกระหว่างรำกับเต้น เต้นเนี่ยมาทีหลัง แล้วรำเนี่ยเรามีพื้นฐานมาตั้งแต่เด็ก เราก็คิดว่าน่าจะสอบเข้าได้ ก็เลยเลือกเรียนนาฏศิลป์ ที่ มศว คิดว่า ที่นี่ให้อะไรกับเราเยอะมาก พอมาเรียนนาฏศิลป์มันก็รวมถึงเรื่องการแสดง ออกแบบ เต้น เหมือนทุกอย่างที่เราชอบ รวมอยู่ในคณะนี้หมดเลย เป็นสิ่งที่เราเรียนแล้วคิดว่าเราเลือกถูกแล้วนะ ถ้าเราเลือกเรียนออกแบบเราก็จะได้ออกแบบอย่างเดียว เราจะไม่ได้ทางด้านนาฏศิลป์ ไม่ได้การแสดง ถ้าเลือกเต้นก็จะได้แต่เต้นอย่างเดียว แต่พอมาเลือกเรียนนาฏศิลป์ มันได้ครบวงจรเลยค่ะ เพราะว่า เราคิดว่าตอนทำธีสิส จบเนี่ย เราต้องออกแบบการแสงของเราเองหมดเลย ก็คือว่า ต้องเย็บชุดเอง ตัดชุดเอง ทำเองตั้งแต่เลือกซื้อผ้า จำได้เลยว่า ทำเองในครั้งนั้น 7 ชุดเลยค่ะ มันมาก เราต้องออกแบบท่ารำให้นักแสดง อย่างน้อยเรื่องอารมณ์ของนักแสดง เลยคิดว่า เฮ้ย ! เนี่ยแหละที่เราชอบ ที่เราอยากทำมานาน”

2

มองผ่านตัวตนของปีโป้แล้ว ถ้าจะบอกว่าเธอชอบงานศิลปะคงน้อยไป แต่ต้องบอกว่าเธอรักงานศิลปะอย่างมาก ทุกครั้งที่เธอพูดถึงผลงานที่เธอทำ ใบหน้า แววตาที่สื่อออกมาให้ได้สัมผัสอย่างแท้จริงว่า ปีโป้มีความสุขทุกครั้งที่ได้ทำงานที่ตนเองรัก

“ใช่ ชอบมากค่ะ ชอบงานศิลปะ ร้สึกอยู่กับมันแล้วมีความสุขมาก คือหนูจะมีพี่สาว หนึ่งคน เราเป็นลูกคนเล็ก พี่สาวจะไปทางวิชาการ วิทยาศาสตร์ เก่งมาก เราโง่เรื่องนี้มาก เราเป็นเด็กกิจกรรม ทำทุกอย่าง มีตั้งแต่ทาสีโรงเรียนจนถึงเชียร์ลีดเดอร์ คืออะไรก็ได้ที่เราไม่ต้องไปนั่งเรียนอ่ะ ชอบวาดรูป แนวศิลปะแบบปีโป้ เป็นพวกงานประดิดประดอย ไม่เน้นวาดรูป จะเน้นเรื่องของแฟชั่นมากกว่าค่ะ มีการทำของในสไตล์ของตนเอง”

ไอเดียในการประดิษฐ์ของแต่ละชิ้นงานนั้น แรงบันดาลใจอยู่รอบๆข้างตัวเธอ หรือตามสถานการณ์ต่างๆ ที่กำลังฮิต หรือแม้แต่กำลังจะไปทำกิจกรรมอะไรก็ตามแล้วคิดว่าเราอยากดูโดดเด่นเพื่อให้แม่จำได้ว่า นี่คือปีโป้ นะ

“อย่างตอนเด็กๆ เที่ยวสวนสยาม อยากได้ชุดว่ายน้ำที่แตกต่างจากคนอื่นๆ เพราะเราเป็นคนที่ว่ายน้ำไม่เก่ง แล้วจมน้ำบ่อยมาก ทำยังไงก็ได้ให้ตัวเองเด่นขึ้นมาเวลาอยู่ในน้ำแล้วเวลาจมน้ำมีคนเห็นฉัน ก็เลยมาเป็นไอเดียจากรอบข้าง ก็ทำหมวกว่ายน้ำแล้วบอกแม่ว่า แม่หนูคนนี้นะ จะได้จำได้ ดูไว้นะแม่

ไอเดียมาจากทุกอย่าง แล้วบางทีเดินห้างเจอคนเดินห้างใส่แบบนี้ เราก็ได้ไอเดียมาทำเป็นของเราเอง ไอเดียมาจากคนรอบข้างทั้งนั้นค่ะ บางทีเห็นร้านขายพวกเครื่องใช้ น็อต เราก็เอามาทำ บางทีก็ผุดขึ้นมาเอง แต่ก็จด เพราะเราขี้ลืม บางทีเราตันๆ เราก็ต้องหาเว็บไซต์ล่ะ หาอะไรดูๆ ไปเรื่อยๆ เอาไอเดียค่ะ รีเสิร์ชดู ดูตามนิตยสาร อะไรที่พอเป็นไอเดียของเราได้”

เมื่อความชอบ ทำแล้วรู้สึกสนุกกับการได้ทำในสิ่งที่ตนเองรัก เลื่อนระดับขั้นขึ้นมาเป็นการทำงานในสิ่งที่ตัวเองรักและคิดว่าทำได้ดี จากที่ก่อนหน้านี้ มีเพียงเฟซบุ๊คเท่านั้นที่เธอจะสามารถนำเสนอไอเดียการทำงาน D.I.Y เก๋ไก๋ และมีคนมาติดตาม กระทั่งวันหนึ่งเมื่อมีบรรณาธิการนิตยสาร cheese ก็เป็นหนึ่งในผู้ติดตามผลงานของเธออยู่หลายครั้งและกด “LIKE” ให้กับงานของปีโป้ หลายหน จึงทำให้เธอตัดสินใจ ขอโอกาสที่จะทำงานของเธอลงใน นิตยสารดูบ้าง และได้การตอบรับกลับมาอย่างดี

“เหมือนเป็นความชอบ ก็ทำเป็นเว็บไซต์ เป็นเว็ปเกี่ยวกับ ดีไอวาย ก็ขึ้นไอเดียของเราบนนั้น จนกระทั่งเห็นว่าเฮ้ยย พี่ปูเข้ามาดูเราเลยรู้สึกว่า งานเราคงดี แล้วพอเช็กไปเช็กมา เห็นเขากดไลท์ แล้วก็เลยเสนอตัวว่า ในนิตยสาร cheeze ไม่มีคอลัมน์ดีไอวาย ขอหนูเขียนได้มั้ย พี่เค้าก็ตกลง ให้เข้ามาวันพรุ่งนี้เลย เข้ามาคุยกัน ตอนนั้นเราก็เข้าไปพี่เขาก็ให้ทำวันนี้เลย ก็ให้เอาที่ลงในเฟซบุ๊กเลย มันเร็วมาก หนูมีความคิดอยู่ว่า ถ้าคนเรามีความคิดที่จะกล้าคิด กล้าลงมือทำด้วยนะ มันจะเป็นอะไรที่สุดยอด มันดีจริงๆ ทุกวันนี้เลยเป็นคนที่อยากทำอะไรทำ”

3

จากงานที่ใช้เพียงแค่ภาพอธิบายขั้นตอนการทำงาน D.I.Y ต้องมาลงมือเขียนอธิบายอย่างไรให้คนอ่านเข้าใจง่ายขึ้น กลายมาเป็นการบ้านที่ดูแล้วเหมือนจะง่าย แต่สำหรับเธอยังเป็นเรื่องที่ต้องพยายามศึกษาและคิดว่าทำอย่างไรให้มีความแตกต่างและน่าสนใจกับงานเขียนของตนเอง

“นั่นล่ะคือสิ่งที่ยากมาสำหรับหนูตอนแรกๆ เพราะในเฟสบุ๊ก เราอธิบายโดยรูปที่เคยดูแมกกาซีนต่างประเทศก็ใช้รูป แล้วจะอธิบายไม่มาก นี่ขั้นตอนนี้นะ พอเริ่มมาทำในนิตยสาร เราก็ศึกษาจากหนังสือหลายๆ เล่ม แล้วแนวการเขียนเล่มอื่นก็เป็นทื่อๆ หนูก็เลยใส่ความสนุกลงไป เหมือนเราเป็นคนอ่านเอง เราก็ใส่ความเป็นตัวเอง เล่าเหตุการณ์ที่เราไปเจอมาว่าเราจะทำอะไรต่อ เราใส่ความเป็นตัวเราไป ใช้อะไรที่เป็นตัวเราก็จะดีค่ะ ถ้าให้พูดก็โอเค แต่เขียนให้คนเข้าใจยากนะค่ะ คอลัมน์หนูเลยเป็นงานเขียนสดๆ หน่อย”

นอกจากงานเขียนแล้วยังมีงานพิธีกร ที่เริ่มต้นด้วยความรู้สึกที่ปีโป้บอกเอาไว้ว่า วันนี้คิดอะไรออกก็จะทำแบบนั้น แต่ยิ่งทำไปยิ่งทำให้รู้สึกว่ามันเริ่มกลายเป็นความกดดัน เพราะทางทีมงานเริ่มมีลูกเล่นกับงานของเธอมากขึ้นเพื่อไม่ให้รายการนิ่งเกินไป

“ตอนนี้เขาเริ่มมีสคริปต์ ก็จะมีอะไรมาให้เราเล่นบ้าง เพราะกลัวว่ารายการมันจะนิ่งเกินไป เราจะพยายามหาอะไรที่ทันสมัย หาอะไรแปลก เหมือนอะไรที่เดิมๆ จากปักๆ ก็เย็บจักรบ้าง พยายามหาหนังที่เราชอบมาเป็นแรงบันดาลใจ อย่างงานที่ทำวันนี้ก็เป็นเรื่อง “แบ็กสวอน” เป็นหงส์มากเลยค่ะ มันเลยยาก บางทีอยากทำกระโปรงสักตัว มงกุฎที่สาวบันเล่ต์ ชอบใส่ มันก็มีคอนเซ็ปต์ ก็เริ่มยากขึ้น มันก็เครียดนะ ปวดหัวอ่ะ เวลาปวดหัวก็เช็กดูว่าเขารอเราอยู่นะ ”

“เวลาเครียดเราเดินไปเรื่อยๆ อยู่กับที่จะคิดไม่ออก บางวันปั่นจักรยานไปตลาด ก็ไปร้านขายเครื่องเขียน ก็ดูว่ามีอะไรบ้าง ที่บ้านมีจักรก็เอามาทำ พี่เค้ากดดันเรา ก็เริ่มทำไป เข้าสู่ระบบการทำงาน ก็ชอบค่ะ”

การทำงาน D.I.Y แฟชั่นในสไตล์ของปีโป้ มีสไตล์ที่เธอเรียกว่า “ทำง่าย ใช้ได้จริง” ซึ่งต้องบอกกก่อนว่าการทำงาน D.I.Y ของแต่ละคนไม่เหมือนกัน บางคนเป็นแบบโอเวอร์ ที่ใช้ได้จริงกับคนที่ดูล้ำๆ หน่อย แต่งานของเราจะเน้นใช้ได้จริงและทำได้ในเวลาเพียงแค่ ครึ่งชั่วโมงก่อนออกจากบ้าน

“เก๋ไก๋ตามเทรนด์ นิยามมันคือง่ายและใช้ได้จริง เพราะหนูดูดีไอวายคนอื่น แล้วแบบเอาของเก่ามาทำใหม่บ้าง มีหลายแบบ แต่เราจะเน้น ใช้จริง ขายจริง บางคนทำจริงแต่ใครจะเอาไปใช้ เสื้อผ้ารายการหนูก็เอามาเอง มันก็เครียด หาเองใส่เอง บางทีเสื้อผ้าจะล้นบ้าน หนูเป็นคนใส่ไรก็ได้ สไตล์มีทั้งหวานๆ หรือไม่มีสไตล์นะ แต่บางทีเราก็ชอบวินเทจ ร็อก ยุคนี้แต่อะไรก็ได้ เพราะแฟชั่นมันฟุ้งแล้วอ่ะ จะใส่อะไรก็ได้มันหลุด บางวันมาหวาน มาร็อก มาแบบคาราบาว”

“ฝากถึงใครที่อยากทำ ลองคิดดู กล้าและลงมือทำ เมื่อก่อนที่จะทำหนูก็ได้แต่ลองคิดนะ แต่ไม่กล้าทำ แต่ถ้ากล้ามันจะออกมาเลยนะ ต้องลงมือทำนะ แค่กล้าคิดต้องลงมือทำด้วย ถึงจะสำเร็จ” เธอทิ้งท้าย

ภาพโดย ธัชกร กิจไชยภณ
ข่าวโดย M-Lite/ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์









กำลังโหลดความคิดเห็น