โฮ่งๆ เสียงเห่าทักทายคล้ายสุนัขต้อนรับแขกผู้มาเยือน เมื่อหันไปตามเสียงเล็กๆ กลับกลายเป็น “แพรี่ด็อก” ตัวอ้วนกลม หรือที่บางคนเรียกว่า “กระรอกหมา” ขนฟูฟ่อง ตัวป้อมน่ารัก ทำให้คนที่เห็นต้องยิ้มหวานให้กับเจ้าตัวนี้
อ้วน...มานี่ เสียงเรียกชื่อเจ้าแพรี่ด็อก ดังมาจากสาว เบียร์-วชิราภรณ์ อร่ามพิบูลย์ผล หนึ่งในเจ้าของร้าน Mini Zoo Cafe' ทันใดที่ได้ยินเสียงเรียก เจ้าอ้วนก็วิ่งรี่เข้ามาหาแล้วนอนกลิ้งเกลือกให้เกาตัวอย่างสัตว์ขี้อ้อน ด้วยลักษณะอวบอ้วนจึงไม่แปลกใจกับที่มาของชื่อ นิสัยที่ร่าเริงราวกับสัตว์บ้าพลังที่ออกวิ่งอยู่ตลอดเวลา พฤติกรรมที่น่ารักเหล่านี้ ทีมงาน M-pet เชื่อว่าถ้าใครได้เห็นคงห้ามใจไม่ให้รักไว้ไม่ได้แล้ว...
มารู้จัก “กระรอกหมา” กันเถอะ!
"แพรี่ด็อก" (Prairie Dog) หรือที่บางคนเรียกว่า "กระรอกหมา" มีถิ่นกำเนิดบริเวณแถบทุ่งหญ้าแพรี่ทางตะวันตกของทวีปอเมริกาเหนือ และปัจจุบันพบมากในประเทศญี่ปุ่นเช่นกัน เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในตระกูลสัตว์ฟันแทะ เช่นเดียวกับ พวกกระรอก กระต่าย และหนู
ลักษณะเด่นเฉพาะสำหรับแพรี่ด็อก จะเป็นอย่างอื่นไปไม่ได้ ตามที่หลายคนเรียกกันว่ากระรอกหมา เนื่องจากมีเสียงเห่าคล้ายกับสุนัขตัวเล็กๆ เสียงที่แหลมเล็กนี้มีไว้เพื่อป้องกันศัตรู นอกจากนี้ความโดดเด่นของสีขนก็เป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งเช่นกัน โดยธรรมชาติจะมีขนสีน้ำตาลทอง ปลายหางมีสีดำ (หางยาว 3-4 นิ้ว) เท้ามีสีครีม ขนาดตัวไม่ใหญ่มากนักแต่พอโตขึ้นจะมีลำตัวอ้วนกลม เมื่อโตเต็มที่มีน้ำหนักประมาณ 1-2 กิโลกรัม (แต่ที่เห็นเจ้าอ้วนมีตัวสีขาวนั้น เนื่องจากความปกติทางพันธุกรรมนั่นเอง)
รูปหน้าแพรี่ด็อกคล้ายกระรอกซึ่งมีให้เห็นทั่วไปในเมืองไทย มีใบหูเล็ก ดวงตากลมโต ฟันแข็งแรง ขาคู่หน้าจะมีเล็บที่แหลมคมและแข็งแรง มีหน้าที่ขุดคุ้ยดินเพื่อหาอาหารมากกว่าการล่าสัตว์ด้วยกัน ในตอนกลางวันจะออกหาอาหารซึ่งกินได้ทั้งพืชและสัตว์ จำพวกหญ้า พืชผัก เมล็ดทานตะวัน วอลนัต อัลมอนด์ หนอน แมลงตัวเล็ก ฯลฯ “แต่สำหรับเจ้าอ้วน แพรี่ด็อกสุดรักของสาวเบียร์เขากินได้หมดทุกอย่างแม้กระทั่งทุเรียน!”
วันนี้ถือได้ว่าแพรี่ด็อกเป็นสัตว์หน้าตาน่ารัก มีความซุกซน เฉลียวฉลาดและแสนรู้ ใกล้เคียงกับสุนัขและแมว จึงทำให้มันได้รับความสนใจ กระทั่งกลายมาเป็นสัตว์เลี้ยงแก้เหงาของคนที่อาศัยอยู่เมืองใหญ่ในปัจจุบัน
“แพรี่ด็อก เป็นสัตว์ฟันแทะที่ฉลาดมาก อาจใกล้เคียงกับสุนัข บางคนมองว่าเป็นแค่กระรอกดินแต่ระดับไอคิวของเขาสูงกว่ากระรอกทั่วไปมากเลยนะ สามารถส่งเสียงเรียก จดจำเจ้าของได้ เรียกชื่อมาหา จำทางและสถานที่ได้ ถ้าอยู่ในบ้านเขาสามารถวิ่งขึ้นห้องนอนตัวเองได้ ห้องไหนที่เคยนอนหรือห้องไหนที่เคยอยู่รู้หมด แต่ห้องที่ไม่เคยไปก็จะไม่เข้า”
ในวันว่างมันมักออกมาทักทายหมู่เพื่อนในฝูง ซึ่งเวลาที่เจอกันครั้งแรกจะทักทายกันด้วยการ "ยิงฟัน" แล้ว "แตะ" กัน ซึ่งบางคนมองว่าอาการดังกล่าวเหมือนกับคนเราที่ "จูบ" กัน จากนั้นก็จะช่วยกันทำความสะอาดขนให้กันและกัน หรือไม่ก็ขุดรูใต้ดินเพื่อสร้างเป็นที่อยู่อาศัย นอกจากนี้แพรี่ด็อกยังได้ชื่อว่าเป็นสุดยอดนักก่อสร้าง เนื่องจากเป็นกระรอกที่สามารถขุดโพรงได้ยาวเป็นไมล์เลยทีเดียว
ความฉลาดและความน่ารักในตัวแพรี่ด็อก ลักษณะเชื่องที่คล้ายสุนัข รวมกับนิสัยขี้อ้อนคล้ายกันกับแมว และเป็นสัตว์ค่อนข้างอะเลิทร์ (Alert) สามารถวิ่งได้ทั้งวัน ทำให้หลายคนจึงรู้สึกสนุกสนานเมื่ออยู่ใกล้ชิด และยิ่งเกิดหลงรักเมื่อได้รู้จักลักษณะนิสัยของเจ้าสัตว์เลี้ยงตัวนี้
ขนสีขาวราคาครึ่งแสน
จะเห็นได้ว่าลักษณะขนสีขาวหรือสีเผือกนั้น สามารถเกิดขึ้นได้ในแพรี่ด็อก แต่มีอัตราส่วนน้อยมากที่จะเป็นแบบนี้ หลายคนอาจคิดว่าดูสวยกว่าขนสีน้ำตาลที่มีอยู่ในธรรมชาติ แต่ลักษณะขนสีขาวแบบเจ้าอ้วนอย่างนี้แฝงมากับพันธุกรรมด้อยซึ่งเป็นความผิดปกติของยีนส์ จึงทำให้แตกต่างจากที่พบเห็นทั่วไป เพราะฉะนั้นจึงหาได้ยากในธรรมชาติ และมีราคาสูงกว่าธรรมดาถึง 7 เท่าเลยทีเดียว
“สำหรับราคาแพรี่ด็อก ตัวสีน้ำตาลปกติ ขายในราคา 6,500 บาท ส่วนตัวสีขาว มีราคาขายอยู่ที่ 40,000 บาทขึ้นไป ราคาที่กำหนดไว้ไม่ได้ขึ้นอยู่กับอายุแม้จะตัวเล็กหรือใหญ่ก็คงที่ราคาเดียวกันหมด ในแต่ละปีการลด-เพิ่มราคานั้นมาจากค่าใช้จ่ายในการนำเข้าเป็นหลักซึ่งเป็นไปตามกลไกของตลาด แต่ต้องอยู่ในราคาที่ลูกค้าจับต้องถึง ถ้าขายได้กำไรตัวเดียวแต่ตัวอื่นขายไม่ได้ มันก็เท่านั้นอย่างล็อตนี้นำเข้ามาขาย30 ตัว ประมาณ 2 อาทิตย์ก็หมดแล้ว ขนาดตัวใหญ่อาจมีราคาสูงกว่าตัวเล็กนิดนึง แต่แนะนำให้ซื้อตั้งแต่ตัวเล็กจะดีกว่าเพราะจะได้เรียนรู้นิสัยสัตว์เลี้ยงของเราไปด้วย”
"แพรี่ด็อก" เป็นสัตว์สังคมจึงมักอาศัยอยู่รวมกันเป็นฝูง มีตัวผู้คุมฝูง 1 ตัว ต่อตัวเมียประมาณ 4 ตัว มีความพร้อมเจริญพันธุ์เมื่ออายุ 1 ปีขึ้นไป ในช่วงเดือนมีนาคมถึงเดือนเมษายนจะเป็นระยะเวลาของการผสมพันธุ์ ตัวเมียใช้เวลาตั้งท้อง 28-32 วัน (ประมาณ 1 เดือน) ออกลูกครอกละประมาณ 4-8 ตัว/ปี สมาชิกใหม่วัยแรกเกิดยังไม่ลืมตาและขนยังไม่ขึ้น กระทั่งเข้าสู่สัปดาห์ที่ 6 หรือประมาณเดือนครึ่ง ก็จะลืมตาได้ วัยเด็กสามารถเรียนรู้ได้เร็ว มีความอยากรู้อยากเห็นและพร้อมที่จะเผชิญโลกกว้างบนพื้นดิน
มีอายุขัยประมาณ 10 ปี จึงเป็นสัตว์ที่ค่อนข้างอายุยืน ซึ่งต่างจากกระต่ายที่มีอายุเฉลี่ยเพียง 6.5 ปี กลุ่มคนเลี้ยงบางคนคิดว่าการเลี้ยงแพรี่ด็อกคุ้มค่ากับเงินที่ซื้อมา เพราะมันสามารถอยู่กับคนเลี้ยงได้นานกว่าสัตว์ตระกูลฟันแทะอีกหลายชนิด
“ตอนนี้เจ้าอ้วนก็อายุปีกว่าแล้ว เมื่อประมาณต้นปีที่ผ่านมาก็ติดฮีทซึ่งเป็นวัยผสมพันธุ์ของเขาแล้ว ตั้งแต่เลี้ยงมาเพิ่งมีอายุผสมพันธุ์ได้เป็นปีแรก จึงยังไม่ได้ลูกที่เกิดจากเจ้าตัวนี้เลย”
ที่ร้าน Mini Zoo Cafe' ขายแพรี่ด็อกเมื่ออายุประมาณ 1 เดือนครึ่ง - 2 เดือน แต่จริงๆ แล้วทางร้านไม่ได้ยึดติดกับเรื่องของอายุที่จะขาย แค่รอให้สัตว์เชื่องมือคนก่อน เพราะถ้าเลี้ยงตัวเล็กๆ แล้วมันไม่เชื่อง เจ้าของอาจโดนกัดได้ เนื่องจากเขี้ยวของลูกแพรี่ด็อก มันเล็กและแหลมมาก รอยกัดจึงเหมือนรอยจุดของรูเข็ม แต่ถ้าเป็นแพรี่ด็อกตัวใหญ่จะกัดไม่เข้า เนื่องจากซี่ฟันใหญ่และมีความหนา เมื่อเลี้ยงจนเชื่อง เจ้าแพรี่ด็อกจะชอบกัดหยอกเล่นกับเจ้าของมากกว่าที่จะกัดอย่างเอาจริงเอาจัง
เลี้ยงง่าย ตายยาก
ตอนนี้คนเลี้ยงสุนัขหรือแมวเมื่อเห็นแพรี่ด็อกก็อยากได้ไปเลี้ยงบ้าง ด้วยลักษณะการเลี้ยงที่ไม่ยากและแทบจะไม่มีความต่างจากการเลี้ยงสุนัขเฝ้าบ้านตัวหนึ่งเลย แถมยังน่ารักกว่าเสียอีก เหมือนกับว่าเอานิสัยของสัตว์สองชนิดทั้งสุนัขและแมวมารวมกันอยู่ในแพรี่ด็อกตัวนี้เลย
แพรี่ด็อกเหมาะสำหรับคนที่อาศัยอยู่ตามคอนโดหรือหอพัก เพราะเป็นสัตว์ที่ไม่ค่อยส่งเสียงรบกวน จะวิ่งเล่นอยู่กับคู่ของมันอย่างเงียบๆ
“แพรี่ด็อกเป็นสัตว์ที่เลี้ยงง่ายมากและตายยากมาก ดังนั้นจึงไม่จำเป็นต้องดูแลอะไรมากมาย ถ้าเกิดมีธุระไม่อยู่บ้านหลายวัน เราสามารถให้อาหารแห้งทิ้งไว้ได้เลย ประมาณ 3-4 วัน หรืออาทิตย์หนึ่งก็ยังได้นะ เขาเป็นสัตว์ที่ทนมาก เพราะเป็นสัตว์ที่กินน้ำน้อยไม่เหมือนกระต่ายหรือชินชิล่าที่ขาดน้ำไม่ได้ก็จะร้อนตาย”
ถ้าใครเคยเลี้ยงกระต่ายหรือแกสบี้มาก่อนจึงไม่ต้องกังวลกับวิธีการเลี้ยง เพราะสัตว์ทั้งสองชนิดนี้มีลักษณะการเลี้ยงที่คล้ายคลึงกัน หลักๆ แพรี่ด็อกกินหญ้าเป็นอาหาร จึงสามารถเลี้ยงด้วยหญ้าแห้งทุกชนิดซึ่งหาซื้อได้ตามร้านขายอาหารสัตว์ทั่วไป (ยกเว้นหญ้าอัลฟาฟ่า) สำหรับแพรี่ด็อกแล้วหญ้าอัลฟาฟ่ากินได้ถึงอายุ 6 เดือนก็ควรจะหยุดให้ เพราะอาจจะทำให้เกิดเป็นนิ่วได้ เนื่องจากหญ้าชนิดนี้มีแคลเซียมสูง ถ้าจะให้กินก็ควรจะให้ผลไม้สดที่มีน้ำเยอะอย่างแอปเปิลร่วมด้วย หรือจะเป็นผักสดที่มีน้ำเยอะๆ หน่อยก็ได้ เพราะโดยธรรมชาติแพรี่ด็อกจะไม่ค่อยทานน้ำโดยตรงเท่าไหร่ แต่ไม่ควรเยอะเกินไปเพราะจะทำให้ท้องเสียได้
ถ้าเลี้ยงอาหารเม็ดก็เป็นยี่ห้อออกโบว์ที่ใช้สำหรับเลี้ยงแกสบี้โต เพราะไม่มีส่วนผสมของหญ้าอัลฟาฟ่า ฉะนั้นการเลี้ยงด้วยอาหารหยาบๆ จึงเหมาะกับแพรี่ด็อก การเลี้ยงด้วยหญ้าขนก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ดีเพราะหาง่าย และที่สำคัญสารอาหารเยอะกว่าด้วย
แพรี่ด็อกจะขับถ่ายเป็นที่เป็นทางซึ่งเจ้าของสามารถสอนได้ ถ้าเนื้อตัวสกปรกก็อาบน้ำให้ประมาณเดือนละ 2-3 ครั้ง และควรเช็ดตัวให้แห้งทุกครั้งหลังอาบน้ำ เพราะเดี๋ยวจะเป็นโรคหวัด ปอดบวม และเชื้อราบนผิวหนังได้
อิสระนอกกรงขัง
ตามธรรมชาติแล้วแพรี่ด็อกเป็นสัตว์สังคม ชอบอาศัยอยู่รวมกันเป็นฝูงมากกว่าอยู่ตัวเดียว เพราะฉะนั้นสิ่งสำคัญควรเลี้ยงเป็นคู่ หากเลี้ยงตัวเดียว เจ้าของต้องมีเวลาเอาใจใส่ให้มาก แต่ถึงอย่างไรไม่ว่าจะเลี้ยงในกรงหรือนอกกรงต่างก็มีข้อดีข้อเสียแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับคนเลี้ยงว่าพยายามเลี้ยงอย่างไรไม่เป็นการฝืนธรรมชาติของสัตว์มากนัก
เนื่องจากความเป็นอยู่ของชีวิตผู้คนในสังคมเมือง หลายคนใช้ชีวิตนอกบ้านมากกว่าในบ้านเสียด้วยซ้ำ จึงทำให้คนส่วนใหญ่เลี้ยงสัตว์แสนรักไว้ในกรงมากกว่าปล่อยให้ออกมาวิ่งเล่นข้างนอก ความใส่ใจในการดูแลสัตว์เลี้ยงช่วงเวลายามว่างจึงมีน้อยมาก จนทำให้สัตว์เกิดความเครียดขึ้นได้เมื่อต้องอยู่ในกรงเป็นเวลานาน แต่เมื่อสถานการณ์บังคับจนไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ การสร้างพื้นที่กรงเลี้ยงให้มีขนาดใหญ่ จึงเป็นทางออกวิธีหนึ่งที่ดีเลยทีเดียว
“การเลี้ยงในกรงควรมีขนาดพื้นที่กว้าง หรืออาจเป็นกรงสุนัขไซส์ใหญ่เลยก็ได้ (ขนาด 1.25x2.00x2.10 เมตร) เพื่อให้สัตว์ได้วิ่งเล่น ได้ออกกำลังกาย เพราะเขาเป็นสัตว์พลังเยอะสามารถวิ่งได้ตลอดทั้งวัน ที่สำคัญควรเลี้ยงเป็นคู่ให้เป็นเพื่อนเล่นกัน ควรปูพื้นด้วยหญ้าแห้งหรือซังข้าวโพด หรือถ้าง่ายๆ ก็เป็นผ้าธรรมดาเพื่อป้องกันขาติดซี่กรง เนื่องจากลักษณะของขาค่อนข้างเล็ก เมื่อติดซี่กรงแล้วอาจทำให้ขาหักได้”
จริงๆ แล้วการปล่อยให้วิ่งนอกกรงถือเป็นการเลี้ยงที่ดีที่สุด เพราะโดยธรรมชาติของสัตว์เขาไม่ต้องการอะไร นอกจากความเป็นอิสระและอาหาร ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญเพื่อการดำรงชีวิตเท่านั้น แต่ถ้าคนเลี้ยงไม่อยู่บ้าน อย่าปล่อยให้วิ่งเล่นนอกกรงโดยไม่มีคนดูแลโดยเด็ดขาด เพราะอาจไปซนกัดสายไฟจนขาด จึงเกิดอันตรายถึงชีวิตน้อยๆ นี้ได้
“ลักษณะฟันที่ออกแบบมาเพื่อแทะโดยเฉพาะ จึงแทะทุกอย่างที่ขวางหน้า แต่ถ้ามีคนอยู่เล่นด้วยกันกับเขา ก็จะไม่ไปแทะสิ่งของอะไร ถ้าต้องการเลี้ยงให้อาศัยอยู่เหมือนในธรรมชาติมากที่สุด สามารถเลี้ยงลงบ่อดินได้ แต่ต้องระวังเรื่องการขุดโพรงดินทะลุไปอีกด้านหนึ่ง ถ้าไม่อยากเสียสัตว์เลี้ยงแสนรักนี้ไปก่อนเวลาอันควร”
ถ้าใครสนใจอยากเลี้ยงสัตว์ทนไม้ทนมืออย่างเจ้าแพรี่ด็อก ก็รีบๆ กันหน่อยเพราะในปีหนึ่ง ร้าน Mini Zoo Cafe' นำเข้ามาเพียง30ตัว ภายใน 2 อาทิตย์ก็กระจายไปทั่วประเทศไทยแล้ว สามารถติดต่อสอบถามหรือเลือกซื้อได้ ในช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคมของทุกปี โทร. 08-1567-4299
ช่วงชีวิต เฉลี่ย 8-10 ปี
น้ำหนักโตเต็มวัย 2 กิโลกรัม
วัยเจริญพันธุ์ 1 ปี
ระยะตั้งท้อง 28-32 วัน
ขนาดครอก 4-8 ตัว/ปี
อายุหย่านม 3 เดือน
ข่าวโดย Manager Lite/ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์
ภาพโดย ธนารักษ์ คุณทน