xs
xsm
sm
md
lg

‘เจแปนนิส ทาวน์’ เมื่ออาทิตย์อุทัยมาเปล่งแสงที่ ‘ศรีราชา’

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ในโลกปัจจุบัน คงไม่ใช่เรื่องที่น่าแปลกใจอะไร ถ้าหากเราจะเห็นประชากรของประเทศหนึ่งๆ ไปตั้งหลักปักฐานทำมาหากิน และใช้ชีวิตอยู่บนแผ่นดินที่ไม่ใช่บ้านเกิดเมืองนอนของตน

เพราะเทคโนโลยีด้านการสื่อสารและโทรคมนาคมที่เกิดขึ้น ทำให้โลกกลมๆ ใบนี้ กลายเป็นหมู่บ้านโลกไปแล้วนี่นา

ที่อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรีนั้น ก็เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งของการอพยพย้ายถิ่นของประชากร เพราะที่นั่นเต็มไปด้วยชาวอาทิตย์อุทัยที่มาทำมาหากินมากถึง 4,000 คน ซึ่งถ้าเทียบกับพื้นที่ประมาณ 620 ตารางกิโลเมตรของอำเภอแล้ว จะเห็นได้ว่าในอำเภอเล็กๆ แห่งนี้มีชาวญี่ปุ่นมาอาศัยเกือบๆ 7 คนต่อตารางกิโลเมตร ซึ่งถือว่ามากเอาการอยู่ ส่วนสาเหตุที่ศรีราชามีชาวญี่ปุ่นมาอาศัยอยู่มากก็คงเป็นเพราะที่นั่นมีนิคมอุตสาหกรรมอยู่ถึง 3 แห่ง ส่งผลให้ชาวญี่ปุ่นจำนวนมากต้องข้ามน้ำข้ามทะเลมาทำงานที่นี่

จำนวนชาวญี่ปุ่นที่มากมายขนาดนี้บ่งชี้ให้เห็นถึงอะไรบ้าง?

สำหรับคนทั่วไปอาจจะไม่มีอะไรพิเศษ แต่สำหรับพ่อค้า คนญี่ปุ่นจำนวนมากที่ศรีราชาคือโอกาสทางการค้าที่น่าจะสดใส เพราะถึงแม้จะมีตัวเลขของประชากรอยู่เพียงแค่ เกือบๆ 7 คนต่อตารางกิโลเมตร แต่ทั้งหมดก็เป็นคนที่มีกำลังซื้อระดับ A++ ทั้งสิ้น ถ้าเปรียบเทียบกับคนไทยทั่วไป

ดังนั้น จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจที่นักธุรกิจเครือสหพัฒนพิบูลย์ จะยินยอมทุ่มงบประมาณกว่า 10,000 ล้านบาท เพื่อสร้าง 'เจแปนนิส ทาวน์' บนพื้นที่ 600 ไร่ในอำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี

เมืองญี่ปุ่นบนผืนดินไทย

ลักษณะของโครงการเจแปนนิส ทาวน์นั้น จะเป็นการสร้างคอมเพล็กซ์กึ่งสถานที่ท่องเที่ยวและชอปปิ้งมอลล์ขึ้นมา โดยนำเอาวัฒนธรรมอันเป็นเอกลักษณ์ของญี่ปุ่นเข้ามารวมไว้บนพื้นที่เดียวกัน ทั้งนี้นอกจากจะมีกลุ่มเป้าหมายอยู่ที่ชาวญี่ปุ่นกว่า 4,000 คนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่แล้ว ผู้สร้างยังหมายมั่นให้เจแปนนิส ทาวน์ กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวของคนไทยเองอีกด้วย

“แปลงที่ดินที่จะพัฒนามันมีถนนสาย 7 ตัดผ่านอยู่พอดี ชลบุรีเป็นเมืองตากอากาศชายทะเล ทุกวันจะมีคนที่ไปมาระหว่างกรุงเทพฯ-ระยอง-ศรีราชาอยู่แล้ว ประกอบกับเป็นแหล่งนิคมอุตสาหกรรม รวมทั้งมีท่าเรือแหลมฉบัง ถ้าเปรียบเทียบกับญี่ปุ่น ศรีราชาก็เหมือนกับโยโกฮาม่า หรือโกเบ เป็นเมืองท่าเมืองหนึ่ง และในบริเวณนี้ก็มีชาวญี่ปุ่นอาศัยอยู่มาก เราก็เลยคิดว่าที่นี่มันน่าจะมีหมู่บ้านญี่ปุ่นเพื่อเป็นศูนย์กลางด้านวัฒนธรรม”

ทนง ศรีจิตร์ กรรมการผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ บริษัท สหพัฒนาอินเตอร์โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงโครงการเจแปนนิส ทาวน์ ที่จะสร้างขึ้นบนพื้นที่กว่า 600 ไร่ โดยการดำเนินงานนั้นจะแบ่งเป็น 3 เฟส ซึ่งเฟสแรกกำลังเร่งดำเนินการให้เสร็จสิ้นปลายปีนี้

“สเต็ปแรกจะสร้างเป็นหมู่บ้านญี่ปุ่นก่อน เราจะเน้นทางด้านวัฒนธรรม เช่น สอนภาษาญี่ปุ่น ตอนนี้ก็มีศูนย์วัฒนธรรมวาเซดะ, สถาบันบุนกะที่สอนการออกแบบเสื้อผ้า, พับผ้าแบบญี่ปุ่น, การเล่นโกะ ร่วมทั้งมีการแลกเปลี่ยนเกี่ยวกับเรื่องอาหารการกินกัน ในเบื้องต้นจะพัฒนาประมาณ 20 ไร่ก่อน สมมติว่าคนสนใจแล้วสำเร็จ เราก็จะพัฒนาเพิ่มขึ้น อันนี้ก็คงต้องร่วมมือกับจังหวัดชลบุรีต่อไป”

ทนง ทิ้งท้ายว่าโครงการเจแปนนิส ทาวน์ ทั้ง 3 เฟสนั้นจะใช้เวลาดำเนินการกว่า 10 ปี เพื่อพัฒนาเป็นเมืองญี่ปุ่นในประเทศไทยที่รวบรวมวัฒนธรรมแดนปลาดิบที่สมบูรณ์แบบที่สุด

อีกด้านของเหรียญ

ถึงแม้ว่าดูเผินๆ โครงการเจแปนนิส ทาวน์ จะเป็นโอกาสทางการค้าที่จะช่วยให้เงินทองของชาวญี่ปุ่นในไทยหมุนเวียนอยู่ในไทยมากขึ้น แต่กระนั้นเหรียญแห่งความมั่งคั่งที่เราได้มาจากโครงการก็มิได้มีเพียงด้านเดียว ในอีกมิติมันย่อมมีผลกระทบตามมาด้วยเช่นกัน อย่างเช่นการอพยพเข้ามาใช้ชีวิตบั้นปลายของผู้สูงอายุชาวญี่ปุ่น ซึ่งนั่นหมายถึงทรัพยากรพื้นฐานของบ้านเรา ที่จะมีคนมาช่วยกันใช้มากขึ้น

“ก่อนหน้านี้ ในชลบุรีมีการพูดถึงโครงการศูนย์ปฏิบัติการด้านเป็นที่พักฟื้นคนสูงอายุชาวญี่ปุ่น ที่อาจจะมาตั้งในนี้ โดยเขามีโครงการที่จะอบรมพยาบาลเพื่อเข้าไปทำงานดูแลผู้สูงอายุที่จะย้ายมา ซึ่งถ้าหากโครงการเจแปนนิส ทาวน์ ไม่ได้เกี่ยวข้องกับโครงการสถานพักฟื้นที่ว่า ก็จะลดความกังวลกับประเด็นดังกล่าวลงไป คือประเทศญี่ปุ่นคนแก่เขาเยอะ เขาก็อยากให้ไปอยู่ในต่างประเทศกันบ้าง”

ผศ.บุญเดิม พันรอบ อาจารย์ประจำภาควิชาสังคมวิทยา คณะมนุษยศาสตร์ และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา กล่าวว่า ถ้าหากโครงการนี้มุ่งไปในด้านตลาดท่องเที่ยว คงไม่น่าจะมีปัญหาในเรื่องการอพยพคนแก่จากประเทศญี่ปุ่นมายังไทย

“เพราะหากคนแก่เข้ามาอยู่ มันก็จะกระทบในด้านศักยภาพการของการรองรับต่างๆ ถ้าเขาเข้ามาอยู่ก็ไม่รู้ว่าจะอยู่กันจนถึงเมื่อไหร่ เราก็ต้องรับภาระทั้งเรื่องอาหาร เรื่องน้ำ และอื่นๆ เพราะมันเป็นสิ่งจำเป็นที่จะต้องใช้ในชีวิตประจำวัน สมมติเขามาตอนนี้อายุ 60 ปี แต่เขาเสียชีวิตตอนอายุ 100 ปี แล้วเราจะมีทรัพยากรเพียงพอไหม

“ทางออกคือรัฐบาลต้องพยายามสร้างระบบสาธารณูปโภคให้สัมพันธ์กับโครงการของภาคเอกชน ซึ่งปัจจุบันก็ยังไม่เพียงพออยู่แล้ว เช่น การแก้ปัญหาจราจรติดขัดที่พบอยู่ทั่วไปในจังหวัดชลบุรีและบริเวณโดยรอบ ปัญหาขยะ น้ำเสียบริเวณชุมชนใหญ่บริเวณบางแสน ศรีราชา แหลมฉบัง และพัทยา โดยรัฐต้องศึกษาข้อมูลอย่างเป็นระบบมากกว่านี้ ถ้าไม่แก้ปัญหาก็เหมือนปัญหาเก่าก็ยังเรื้อรัง ปัญหาใหม่ก็จะมาเพิ่มขึ้นอีก มันน่าห่วงก็ต่อเมื่อเขามาเพิ่มกันมากขึ้น ก็จะเป็นปัญหาที่ตามมาส่งผลกระทบต่อชุมชนโดยรอบ

เช่นเดียวกับ ศ.ดร.ตีรณ พงศ์มฆพัฒน์ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่มีความคิดเห็นไปในทางเดียวกัน โดยตีรณกล่าวว่า ต้องคำนึงถึงระบบการจัดการปัญหาต่างๆ ที่จะตามมาด้วย เช่น เรื่องของการบำบัดน้ำเสีย เรื่องของสร้างพื้นที่สีเขียว เพราะถ้าไม่มีระบบการจัดการปัญหาตรงนี้ ก็จะเป็นการโยนปัญหาไปให้กับสังคมรับผิดชอบ

“โครงการตรงนี้ เหมือนเข้ามากอบโกย และมาใช้ประโยชน์จากพื้นที่เพียงอย่างเดียว ซึ่งต่างจากการเข้ามาทำธุรกิจส่งออก เพราะแบบนั้นมันสามารถสร้างรายได้เข้าประเทศได้มากกว่า ที่เป็นอย่างนี้ก็เพราะว่าราคาทรัพยากรของประเทศเรามีราคาถูก เลยเป็นสาเหตุให้คนเข้ามาใช้ประโยชน์ ต้องมาดูว่าราคาทรัพยากรที่ใช้มันต่ำเกินจริงรึเปล่า เพราะถ้าราคามันถูกมากคนจากที่อื่นก็เลยมาขอใช้”

สำหรับคนพื้นที่ ‘เจแปนนิส ทาวน์’ มีประโยชน์

ปฏิเสธไม่ได้ว่า ศรีราชานั้นเป็นเหมือนกับแดนสวรรค์ย่อมๆ ของชาวญี่ปุ่นที่ต้องมาทำงานในภาคอุตสาหกรรม ซึ่งนอกจากคนกลุ่มนี้แล้ว ศรีราชาก็ยังเป็นเมืองเกษียณของชาวญี่ปุ่นที่จะมาใช้ชีวิตอย่างสงบดังที่ ผศ.บุญเดิมตั้งข้อสังเกตไว้ ซึ่งทั้งหมดเป็นผลมาจากค่าครองชีพที่ถูกกว่าญี่ปุ่นมาก

ยาซูโกะ ทาคาฮาชิ (Yasuko Takahashi) หรือ อมรา เต็มรักษ์ เป็นชาวญี่ปุ่นที่อาศัยอยู่ในศรีราชามาเป็นระยะเวลานาน เล่าให้ฟังถึงเหตุผลที่มีคนญี่ปุ่มมาอาศัยอยู่ที่นี่จำนวนมาก

“ที่นี่มีนิคมอุตสาหกรรมหลายที่ คนญี่ปุ่นก็เข้ามาทำงานเป็นพวกวิศวกร ช่างฝีมืออะไรพวกนี้ หรือทำธุรกิจ เขาจะเข้ามาอยู่พร้อมครอบครัว แต่บางคนก็จะอยู่แค่ตามสัญญาจ้าง”

ยาซูโกะ กล่าวว่า ถ้ามีโครงการเจแปนนิส ทาวน์ เกิดขึ้น น่าจะเป็นเรื่องดีสำหรับชาวญี่ปุ่นที่นี่ เพราะรู้สึกว่าขณะนี้ยังมีบริการต่างๆ ไม่เพียงพอที่จะรองรับชาวญี่ปุ่นซึ่งมีอยู่จำนวนมาก หากมีแหล่งรวมการบริการต่างๆ สำหรับชาวญี่ปุ่น ก็จะสร้างความสะดวกสบายให้เกิดขึ้น

“ในปัจจุบันยังไม่มีแหล่งที่รวบรวมหลายๆ อย่างอยู่ในแหล่งเดียวกัน ถ้ามีก็จะดีค่ะ อย่างเช่นเวลาที่เด็กญี่ปุ่นจะต้องไปเรียนเปียโน เขาก็ต้องเข้าไปเรียนถึงกรุงเทพฯ”

ทั้งนี้ ยาซูโกะ กล่าวว่าหากโครงการสำเร็จเป็นรูปธรรมจริงๆ เธอก็คงจะเข้าไปจับจ่ายใช้สอยและใช้บริการต่างๆ จากร้านรวงในโครงการอย่างแน่นอน

สำหรับคนไทยพื้นที่ แม้ว่าการเข้ามาอยู่ของของคนต่างถิ่น อาจจะนำมาซึ่งปัญหาด้านทรัพยากรและปัจจัยพื้นฐาน แต่นั่นก็เป็นปัญหาในระดับมหภาค แต่สำหรับคนทั่วไปแล้ว การเข้ามาอยู่ของคนต่างถิ่นที่ฐานะทางเศรษฐกิจดีกว่า ส่งผลให้การค้าการขายในย่านนั้นๆ คึกคักยิ่ง

ในมุมมองของคนไทยในศรีราชาเองอย่าง เกศฎาภรณ์ อาชวานันทกุล พนักงานบริษัทเอกชน นั้นเห็นว่าการเกิดขึ้นของโครงการเจแปนนิส ทาวน์ ในศรีราชา ไม่น่าจะมีผลกระทบต่อคนไทยแต่อย่างใด เนื่องจากศรีราชาก็เป็นเมืองที่เต็มไปด้วยชาวญี่ปุ่นที่ทั้งเข้ามาเที่ยวและทำงานเป็นทุนเดิม

“เท่าที่อยู่ศรีราชามาเป็น 10 ปี ศรีราชาเป็นเหมือนเมืองของคนญี่ปุ่นอยู่แล้ว ถ้าอยู่ที่นี่จะรู้เลยว่าคนญี่ปุ่นมาทำงานที่ศรีราชา แหลมฉบัง เยอะมาก ถ้ามีโอกาสมาดูจะเห็นว่าตรงแถบเทศบาลนครศรีราชา ตรงนั้นจะมีโรงแรมและพวกบาร์ ที่รับแต่คนญี่ปุ่นหมดเลย มีภาษาญี่ปุ่นอยู่หน้าร้านทั้งหมด”

นอกจากจะไม่ส่งผลเสียแล้ว เธอยังมองว่าน่าจะส่งผลดีในแง่มุมทางเศรษฐกิจต่อผู้คนในศรีราชาเสียด้วยซ้ำ

“คนญี่ปุ่นเป็นคนที่มีกำลังซื้อเยอะมาก เอาจริงๆ คนไทยในศรีราชาส่วนใหญ่ก็เปิดร้านอาหารญี่ปุ่น หรือว่าพวกบาร์ซึ่งก็รับชาวญี่ปุ่น”

ดังนั้น การที่จะมีเจแปนนิส ทาวน์เกิดขึ้น ก็คงไม่ได้สร้างปรากฏการณ์ที่แปลกใหม่นักในสายตาของพลเมืองศรีราชา นอกเสียจากเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจและส่งเสริมการค้าขายให้แก่คนในพื้นที่เท่านั้นเอง

..........

แต่สุดท้าย แม้ว่าการสร้างชุมชนชาวญี่ปุ่นในไทย จะนำมาซึ่งเม็ดเงินจำนวนมหาศาลเพียงใดก็ตาม ต้องถอยออกมาดูภาพรวมด้วยว่า แท้แล้วการที่ชาวต่างชาติเข้ามาอยู่อาศัยและใช้ทรัพยากรในเมืองไทยนั้น เป็นการเข้ามาด้วยเหตุผลอะไร? เป็นเพราะทรัพยากรที่เป็นปัจจัยพื้นฐานของเมืองไทยราคาต่ำกว่าที่บ้านเขาใช่หรือไม่? และถ้าใช่ ประเทศไทยจะมีแนวทางในการจัดการและจัดสรรทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดเหล่านั้นอย่างไร?

คำตอบของหลายๆ คำถามที่กล่าวมาคงเป็นเรื่องที่ไม่ยากเย็นจนเกินไป หากคิดกันยาวๆ.

>>>>>>>>>>

‘หมู่บ้านญี่ปุ่น’ ในไทย

หากพูดถึงชุมชนของชาวญี่ปุ่นในประเทศไทย คงต้องย้อนไปไกลถึงรัชสมัยของสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราช แห่งกรุงศรีอยุธยากันเลยทีเดียว โดยความสำคัญของหมู่บ้านญี่ปุ่นในสมัยนั้น พูดง่ายๆ ก็เปรียบเสมือนสถานทูตดีๆ นี้เอง เพราะมีบทบาทสูงมากทั้งทางด้านการเมืองและเศรษฐกิจของสังคมในยุคก่อน

เนื่องจากชาวลูกพระอาทิตย์ที่เข้ามาพำนักในดินแดนไทยเป็นกลุ่มแรก ก็คือบรรดาพ่อค้าสำเภา ซึ่งเดินทางเข้าเป็นตัวแทนการค้าของอาณาจักรริวกิว จากนั้นก็เริ่มตั้งกลุ่มเป็นหลักเป็นแหล่งบริเวณฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่าง ตรงข้ามกับชุมชนโปรตุเกส เพื่อทำเป็นคลังรวบรวมสินค้าขึ้น แต่พอช่วง ปี พ.ศ. 2176 ญี่ปุ่นเองเกิดปัญหาทางการเมืองและทำการปิดประเทศ ชุมชนแห่งนี้ก็เริ่มการขยายตัวขึ้นอย่างมาก เนื่องจากมีผู้อพยพหนีตายมาอยู่ในดินแดนสุวรรณภูมิต่อเนื่อง ไม่ว่ากลุ่มโรนิน หรือนักรบที่เจ้านายเก่าหมดอำนาจลง รวมไปถึงงกลุ่มผู้ที่นับถือศาสนาคริสต์ที่ต้องเผชิญหน้ากับการกีดกันทางศาสนา มากกว่า 1,500 คน

ซึ่งผลจากการรวมตัวครั้งนี้ ก็ทำให้กลุ่มพ่อค้าญี่ปุ่นเริ่มมีอิทธิพลทางด้านการเมืองและเศรษฐกิจต่อราชสำนักไทยมากยิ่งขึ้น เห็นได้จากการที่ผู้นำชุมชนอย่าง ยามาดา นางามาซะ มีส่วนสำคัญในการสนับสนุนให้สมเด็จพระเจ้าปราสาททองทำการรัฐประหารราชวงศ์สุโขทัยแล้วสถาปนาราชวงศ์ปราสาททอง จากนั้นก็ตามมาด้วยการมีพระบรมราชโองการยกให้เป็น ออกญาเสนาภิมุข เจ้ากรมอาสาญี่ปุ่นและเจ้าเมืองนครศรีธรรมราชตามลำดับ

แต่ทว่าภายหลังสิ้นราชวงศ์ของพระเจ้าปราสาททองลง อิทธิพลของชาวญี่ปุ่นในดินแดนไทยก็ลดลงไปด้วย สังเกตได้จากภายหลังที่มีกวาดล้างหมู่บ้านญี่ปุ่น โดยเฉพาะกลุ่มผู้นำที่มีความเข้มแข็ง ต่างก็ถูกกำจัดจนสิ้นซาก เหลือเพียงประชากรตัวเล็กตัวน้อย จนกระทั่งหมดความสำคัญในที่สุด

………

เรื่อง : ทีมข่าว CLICK
ภาพ : ทีมภาพ CLICK



กำลังโหลดความคิดเห็น