อาจารย์รุ่นใหม่ ม.รังสิต แนะข้อคิดจาก “ม.เคโอ”/คอลัมน์ ส่องคนคุณภาพ
หลังจากสำเร็จการศึกษาด้านวิศวกรรมศาสตร์ คอมพิวเตอร์ ณ มหาวิทยาลัยที่เก่าแก่ที่สุดของประเทศญี่ปุ่น ทิศทางอนาคตมีให้เลือกหลากหลาย แต่ด้วยพื้นฐานที่อยากเป็นอาจารย์ ทำให้ “ดร.ชุติสันต์ เกิดวิบูลย์เวช” เลือกเดินทางสายวิชาการเข้าสู่ประตูมหาวิทยาลัยรังสิต กลายเป็นอาจารย์หนุ่มรุ่นใหม่ที่พร้อมถ่ายทอดความรู้ และประสบการณ์จากแดนซากุระให้แก่ผู้อื่น
ดร.ชุติสันต์ เกิดวิบูลย์เวช หัวหน้าภาควิชาเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร วิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยรังสิต ใช้เวลา 4 ปี ในการศึกษาต่อระดับปริญญาโท-เอก ณ มหาวิทยาลัยเคโอ ประเทศญี่ปุ่น (Keio University) โดยได้รับทุนการศึกษาจากมหาวิทยาลัยเคโอโดยตรง ซึ่งอาจารย์หนุ่มรุ่นใหม่ให้ข้อคิดว่า การเลือกคณะเข้าศึกษาต่อในญี่ปุ่นนั้น มหาวิทยาลัยมักคัดเลือกในสาขาวิชาที่ต่อเนื่องกัน เช่น หากจบปริญญาตรีคณะวิศวกรรมศาสตร์ ก็ควรเลือกศึกษาต่อในด้านเดิม
ที่ญี่ปุ่นไม่ค่อยชอบการเปลี่ยนสาขา ดังนั้น ควรทำซีเนียร์โปรเจกต์ให้ตรงกับสาขาที่ต้องการเรียนต่อ ก็จะมีส่วนช่วยได้ โดยหลักเบื้องต้นของการคัดเลือกทุน คือ การเขียน Proposal สอบภาษา และสัมภาษณ์ ซึ่งเราต้องอธิบายว่าอยากไปวิจัยด้านไหน จบแล้วอยากทำอะไร”
ส่วนการเตรียมตัวก่อนไปศึกษาต่อในประเทศญี่ปุ่น ดร.ชุติสันต์ เผยว่า แม้จะไปเรียนในหลักสูตรภาษาอังกฤษ แต่ในชีวิตประจำวันก็ต้องใช้ภาษาญี่ปุ่น ดังนั้นย่อมเป็นเรื่องที่ดีหากเตรียมตัวเรียนภาษาญี่ปุ่นไปก่อน
“สมัยเรียนปริญญาตรี ผมหาเพื่อนชาวญี่ปุ่นซึ่งเป็นนิสิตแลกเปลี่ยน เพื่อพูดคุยฝึกทักษะภาษา ทำให้เรียนรู้ได้เร็ว นอกจากนั้น ก็เรียนภาษาเพิ่มเติม ส่วนการเตรียมตัวด้านวัฒนธรรม ก็ไม่มีปัญหาเพราะญี่ปุ่นกับไทยมีความใกล้เคียงก็ไม่ต้องปรับอะไรมาก”
ดร.หนุ่มจาก ม.เคโอ ยังแนะว่า เมื่อสามารถผ่านการคัดเลือกเข้าไปศึกษาต่อได้แล้ว สิ่งสำคัญคือ การหาหัวข้อวิจัย ซึ่งเคล็ดลับความสำเร็จส่วนหนึ่ง คือ ติดต่ออาจารย์ที่ปรึกษาเสมอ พร้อมทั้งอ่านเอกสารวิชาการให้มาก เพื่อดูว่าใครทำวิจัยอะไรไปแล้วบ้าง ซึ่งต้องอ่านงานทั้งของมหาวิทยาลัยในต่างประเทศ เช่น ออกซฟอร์ด ฮาร์วาร์ด จุฬาฯ เพื่อจะได้สังเคราะห์หัวข้อวิจัยที่มีความแตกต่างออกไป
ดร.ชุติสันต์ กล่าวต่อไปถึงทิศทางการทำงานหลังสำเร็จการศึกษา ว่า ความโดดเด่นของมหาวิทยาลัยเคโอ คือ มหาวิทยาลัยเก่าแก่ที่สุดในญี่ปุ่น ซึ่งมีมาตรฐานติดอันดับสูงในการจัดอันดับ ทั้งยังมีศิษย์เก่าที่มีชื่อเสียงมากมาย ไม่ว่าจะเป็นนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น หรือนักการเมือง อาจารย์ที่มีชื่อเสียง
อาจารย์หนุ่มรายนี้ ให้เหตุผลในการเส้นทางอาชีพในสายวิชาการ ว่า เป็นเพราะชอบการสอน และคิดว่าการทำแต่ละด้าน ล้วนมีข้อดีข้อเสีย ซึ่งการมาทำงานด้านวิชาการ เพราะอยากเป็นอาจารย์ รวมถึงได้ทำงานด้านบริหาร ก็นับเป็นสิ่งท้าทาย ว่าเราจะสอนด้านวิชาการ ทำงานบริหาร รวมถึงทำผลงานวิจัย ให้ได้ดีไปพร้อมๆ กันได้อย่างไร พร้อมกันนี้ ยังนำความประทับใจจากคนญี่ปุ่นมาเป็นแนวคิดในการมองชีวิต
“ประสบการณ์จากการศึกษาที่ญี่ปุ่น สอนให้ผมทำงานหนัก ต้องอดทน วางแผนตารางการทำงานให้ดี ว่าจะอ่านหนังสือ ทำวิจัย ในระยะเวลากำหนดอย่างไร นอกจากนี้ ในความประทับใจที่สุด คือ เรื่องความซื่อสัตย์ของคนญี่ปุ่น ที่หากมองย้อนไปประวัติศาสตร์ พบว่าไม่ค่อยมีเรื่องทุจริต การทำธุรกิจตรงไปตรงมา ซื่อสัตย์ ทำงานหนักเพื่อความก้าวหน้า ยกตัวอย่างเช่น นักการเมืองที่นั่นมีจิตสาธารณะสูง ถ้าหากมีประเด็นคอร์รัปชั่น แม้เพียงนิดเดียว เขาก็ลาออกแล้ว ไม่ต่างจากการทำธุรกิจ ซึ่งเราจะรู้สึกสบายใจว่า คนญี่ปุ่นจะไม่เอาเปรียบ แม้เขาอาจไม่ให้ผลประโยชน์มากมาย แต่ก็ไม่โกงเรา ติดต่อใครก็รู้สึกสบายใจ” ดร.ชุติสันต์ สรุป