คิดถึงร้านอาหารปักษ์ใต้ทีไร ชวนให้นึกถึงสำเนียงท้องถิ่นที่พูดว่า “หรอยจังฮู้” เมื่อเดินทางมาร้านนี้ อ่านป้ายร้านอีกทีก็อ่านว่า “หรอยจังหู” สุดท้ายพอได้นั่งลงชิมจึงเข้าใจรสอร่อยจนต้องออกปากว่า “หรอยจังฮู้!”
“หรอยจังฮู้” แปลเป็นภาษากลางว่า “อร่อยจังเลย” ด้วยความหมายดีๆ และสำเนียงน่ารักๆ แบบนี้นี่เอง จึงเป็นที่มาของชื่อร้านอาหารปักษ์ใต้ย่านพระนครแห่งนี้ สาว-ศิริมาส แก้วคง เจ้าของร้านอาหาร “หรอยจังหู” เล่าให้ฟังว่าคุณป้าของเธอซึ่งเป็นคนนครศรีธรรมราช เป็นคนตั้งชื่อร้านเอาไว้ เมื่อคุณสาวมีโอกาสสืบทอดกิจการต่อจึงยังคงชื่อเดิมไว้ ทั้งยังคงความอร่อยให้สามารถเรียกชื่อร้านได้อย่างเต็มปากเต็มคำด้วย
“เทียบกับร้านอาหารปักษ์ใต้ที่ใต้ ลูกค้าหลายคนบอกว่าหรอยกว่านะ (ยิ้ม) มีคนมาจากต่างประเทศเพื่อแวะมาซื้อแกงไตปลาที่ร้านกลับไป ลูกค้าที่มาจากเชียงรายแวะมาเพื่อซื้อโดยเฉพาะก็มีเหมือนกัน คนที่มากินส่วนใหญ่เป็นคนที่ทำงานใกล้ๆ แบงก์ชาตินี่แหละ แล้วป้าก็ทำส่งวชิรพยาบาลทุกวันเพราะเขาขอมา” ประโยคยาวๆ ที่เห็น แท้จริงแล้วเกิดจากการเรียบเรียงคำพูดแบบถามคำตอบคำของคุณสาว เจ้าของร้านพูดไม่เก่งวัย 47 ปี
เช่นเดียวกับทุกครั้งที่เดินทางไปกินอาหารร้านปักษ์ใต้ มองเห็นหม้อและถาดอาหารเรียงรายอยู่เบื้องหน้า ต่างสีสันต่างรสชาติ ลายตาจนแทบเลือกไม่ถูก สุดท้ายจำต้องสุ่มเลือกเอา แต่ครั้งนี้ต่างออกไป เมื่อมีผู้เชี่ยวชาญอยู่ตรงหน้า จึงขอให้คุณสาวช่วยจับคู่เมนูเด็ดเป็นแนวทางความอร่อยแก่ผู้มาเยือนกันเสียเลย
“ส่วนใหญ่จะกินรสตัดกันด้วยกัน อย่างหมูหวาน ให้กินกับแกงเหลืองหรือแกงไตปลาก็ได้ เพราะถ้าเลือกแกงเผ็ดกับแกงเผ็ดมาชนกัน มันจะเผ็ดเกินไป ไม่อย่างนั้นก็เป็นหมูทอดกับแกงเผ็ดๆ ส่วนคนที่กินเผ็ดไม่ได้ กินพะโล้กับหมูหวานเป็นหลักก็ได้ กินแกล้มกับผักไป คนใต้จะชอบกินผักสดเยอะๆ” คนอธิบายไม่ลืมแฝงเอกลักษณ์สำเนียงใต้ออกมาเป็นระยะๆ ให้ได้ยิ้มตาม
แนะนำความอร่อยมาขนาดนี้เห็นทีว่าต้องลองชิมเสียหน่อย เริ่มด้วยแกงที่มีสีสันล่อใจอย่าง “แกงเหลือง” กันก่อน เถียงกับทีมงานอยู่นานว่าแกงดังกล่าวเรียกว่า “แกงส้ม” คุณสาวจึงช่วยคลายข้อสงสัยว่าแท้จริงแล้วเรียกได้ทั้งสองอย่าง ถ้าคนใต้จะเรียกกันว่าแกงส้ม ส่วนภาคกลางจะนิยมเรียกว่าแกงเหลืองมากกว่า ส่วนที่เห็นว่าหน้าตาแต่ละครั้งต่างกันออกไปบ้างนั้นเป็นเพราะส่วนผสมที่หยิบนำมาทำ ส่วนใหญ่จะใช้หน่อไม้เป็นหลัก บางครั้งเปลี่ยนเป็นดอกแค ผักบุ้ง มะละกอ และผักกาดดองบ้างตามความชอบ เรื่องชื่อเรียกก็เรียกตามส่วนผสมหลักที่กล่าวมาทั้งหมดนั่นเอง
ถ้วยที่ยกมาเสิร์ฟครั้งนี้คือ “แกงเหลืองดอกแค” รสชาติดอกแคมีรสขมที่ปลาย คนที่ไม่เคยกินอาจไม่ชินกับรสชาติ แต่ถ้าลองเปิดใจกินดูจะได้รับรสที่แปลกใหม่และไม่เลี่ยนเหมือนผักชนิดอื่น ยิ่งตักเนื้อปลาที่แช่อยู่ในน้ำแกงกินไปพร้อมกันด้วยแล้ว ความนิ่มของเนื้อปลาช่วยให้รสกลมกล่อมอย่าบอกใครเชียวล่ะ
ตามมาด้วย “แกงไตปลา” ที่นี่มีให้เลือกทั้งแบบไตปลาผักและไตปลาข้น ขายสลับกันเป็นวันๆ ไป ถ้าเป็นไตปลาผักจะเน้นผักเป็นส่วนประกอบ แต่ถ้าไตปลาข้นจะเคี่ยวเนื้อปลาจนยุ่ยให้นอนกองอยู่ในชาม แทบไม่มีชิ้นผักใส่ลงไปให้เห็น ส่วนเรื่องรสชาติไม่บอกก็รู้ว่าต้องจัดจ้านตามสไตล์ปักษ์ใต้ ดีอยู่ว่าที่นี่ไม่เน้นรสเค็มจนแสบลิ้นเหมือนกับบางร้าน จึงกินได้เรื่อยๆ อย่างไม่รู้สึกหนักลิ้นมากนัก
“คั่วกลิ้ง” ก็เป็นอีกหนึ่งเมนูที่น่าลิ้มลอง หากเคยกินจากร้านอาหารทั่วๆ ไปแล้วยังแยกไม่ออกว่าคั่วกลิ้งกับกะเพราต่างกันอย่างไร ลองมาชิมรสชาติของที่นี่ดูจะรู้ซึ้งถึงรสเครื่องเทศที่คลุกเคล้าอยู่ในจานอย่างลงตัว มีใบมะกรูดและโหระพาหั่นฝอยช่วยเพิ่มรสจัดจ้านให้ความเผ็ดร้อนที่มีอยู่เดิมยิ่งทวีคูณ และเพื่อไม่ให้ลูกค้าขาประจำเบื่อไปเสียก่อน จึงเปลี่ยนเมนูสลับกันไป บางวันเป็นคั่วกลิ้งไก่ บางวันเป็นคั่วกลิ้งหมูสับ เนื้อที่ใส่อาจให้รสสัมผัสต่างกันบ้าง แต่รสอร่อยไม่ต่างกันเลย
แนะนำอาหารรสจัดมาเยอะ ลองตัดรสเผ็ดด้วย “หมูทอด” กันเสียหน่อย ถึงแม้ร้านนี้จะใช้วิธีทอดคราวละมากๆ ตั้งแต่ตอนเปิดร้าน ทำให้ความร้อนและความสดหายไปส่วนหนึ่ง แต่อย่างน้อยหมูทอดที่ได้ก็ไม่ทิ้งกลิ่นน้ำมันให้เหม็นหืนกวนใจแม้แต่นิดเดียว ส่วนเรื่องความกรอบนั้น ยังคงรสสัมผัสกรอบนอกนุ่มในน่ากินไว้เช่นเดิม คนที่อยากลองความอร่อยร้อยเปอร์เซ็นต์ตอนร้อนๆ แนะนำให้มากินที่ร้านตั้งแต่มื้อเช้าเลยจะดีกว่า
ยิ่งไปกว่านั้นยังมีเมนูสมุนไพรอย่าง “ปลาดุกใบยี่หร่า” และ “ขี้เหล็กปลายาว” ให้ได้ลองชิม รสชาติแกงถ้วยแรกคล้ายแกงกะทิ แต่ใส่ใบยี่หร่าลงไป กินแล้วให้ความรู้สึกร้อนท้องแต่ดี ส่วนแกงขี้เหล็กนั้น ชื่อขี้เหล็กก็บอกแล้วว่าเป็นสมุนไพร กินแล้วช่วยในเรื่องระบบขับถ่าย คนที่ไม่เคยกินอาจรู้สึกแปลกๆ กับรสขมๆ ของผักชนิดนี้อยู่บ้าง แต่คนที่เคยกินจะรู้ว่ารสชาติลงตัว อร่อยขมปนมันสไตล์ขี้เหล็กขนานแท้... คอนเฟิร์ม
ส่วนคนที่เบื่อข้าวราดแกงแล้ว จะหันมาจับขนมจีนใส่จานราดน้ำกะทิบ้างก็น่าสนใจไปอีกแบบ เมนูนี้คนที่ไม่ถูกกับพริกสามารถกินได้สบายๆ เพราะตัวน้ำยาเน้นรสหวานมากกว่า แต่ก็ไม่ถึงกับหวานเลี่ยนจนเกินไป เพราะมีรสเผ็ดจากพริกไทยเสริมให้ปลายลิ้นรับรู้ได้พอประมาณ หรือจะสั่งแกงจืดมาซดเล่นแก้เผ็ดก็น่าลองไม่แพ้กัน เพราะแกงจืดที่นี่ตั้งไฟอุ่นไว้ตลอดเวลา จึงไม่ต้องกลัวว่าสั่งมาแล้วจะได้ซดน้ำชืดๆ เย็นๆ ให้เสียอารมณ์
ยังมีอีกหลายเมนูที่ไม่ได้พูดถึงแต่น่าลิ้มลองไม่หยอก สำหรับนักชิมที่ยังออกเสียงสำเนียงใต้ได้ไม่ถนัดนัก แนะนำให้ลองก้าวเท้าเข้ามาชิมแกงรสปักษ์ใต้แท้ๆ ของร้านนี้ดู รับรองว่าจะทำให้คุณเข้าใจรสชาติอร่อย จนสามารถออกเสียงคำว่า “หรอยจังฮู้!” ออกมาได้อย่างชัดถ้อยชัดคำโดยอัตโนมัติเลยทีเดียว
“หรอยจังหู”
ตั้งอยู่ตรงข้ามแบงก์ชาติ ใต้สะพานพระราม 8 สี่แยกบางขุนพรหม ติดประตูทางเข้าโรงแรม 28
เปิดบริการทุกวัน ตั้งแต่ 6.00 - 15.00 น. หยุดวันเสาร์-อาทิตย์ และวันนักขัตฤกษ์
เบอร์ติดต่อ 0-2281-2490
4 อันดับเมนูหรอย!
1. แกงเหลือง : เคี่ยวผักเนื้อนิ่มจนรสจัดจ้านซึมลึกไปถึงเนื้อใน
2. คั่วกลิ้ง : ไม่ว่าจะหมูหรือไก่ก็ให้รสชาติหรอยไม่แพ้กัน
3. แกงไตปลา : ไม่เค็มเกินไปแต่เผ็ดบ้างพอให้เลือดลมสูบฉีดแบบกำลังดี
4. หมูทอด : ตัดรสเผ็ดของแกงใต้ด้วยความอร่อยเต็มปากเต็มคำ
ข่าวโดย Manager Lite/ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์
ภาพโดย วรวิทย์ พานิชนันท์