xs
xsm
sm
md
lg

ปรัชญา...ดนตรี สไตล์ “ETC.”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“ETC.” วงดนตรีฝีมือคุณภาพที่เป็นทั้งศิลปิน และยังเป็นแรงบันดาลใจให้กับเด็กรุ่นใหม่อีกมากมายที่ใฝ่ฝันจะเดินบนเส้นทางสายดนตรี พวกเขาตั้งใจนำเสนอสิ่งดีๆ ผ่านท่วงทำนองดนตรี ผ่านเนื้อเพลงที่โดดเด่น และติดหูคนฟัง ไม่ว่าจะเป็นเพลง "เจ็บและชินไปเอง" หรือ "สิ่งมีชีวิตที่เรียกว่าหัวใจ" ทุกบทเพลงล้วนกลั่นออกมาจากความตั้งใจ ที่จะถ่ายทอดเรื่องราวของความรัก ในแง่ของการให้กำลังใจว่าในเรื่องของความรักแม้จะมีผิดหวัง มีสมหวัง แต่ทุกอย่างย่อมมีด้านดี มีสิ่งใหม่ๆ ให้พบเจอเสมอ ดังเช่นวงดนตรีคุณภาพกลุ่มนี้ที่พร้อมจะก้าวไปข้างหน้าอย่างไม่ท้อถอย

M-Light นัดคุยกับ 2 หนุ่มวง ETC. "แมนลักษณ์ ทุมกานนท์" (โซ่) มือคีย์บอร์ด และ "อภิวัฒน์ พงษ์วาท" (หนึ่ง) นักร้องนำ ถึงแนวคิดในการทำงานเพลง ที่แฝงปรัชญา ข้อคิดดีๆ ผ่านบทเพลง และก้าวใหม่ที่โตขึ้นของวง ETC. ไม่ว่าวงการเพลงจะซบเซา หรือดิ่งลงเหวขนาดไหน พวกเขาก็บอกว่าพวกเขายังยิ้มสู้ และตั้งใจสร้างสรรค์ผลงานเพลงให้มีคุณภาพมากขึ้นต่อไป บนพื้นฐานของความสนุกที่ได้แข่งขันกับตัวเอง

เพลงรักกับปรัชญา
เมื่อได้ฟังซิงเกิลแรก "ปรชญา 8 บิต” (ปอ-ระ-ชะ-ยา แปด บิต) จากอัลบั้มล่าสุด “Push” เชื่อว่าหลายคงคงสะดุดหูกับซาวน์ดนตรีแปลกใหม่ สนุกๆ แบบเกมกด และเนื้อเพลงที่แฝงไปด้วยปรัชญความรัก โดยพวกเขาได้นำมุมมองเหล่านั้นมาเปรียบเทียบกับความรัก ว่าถ้ารักใครสักคน แม้จะยากแค่ไหน ถ้าลองสู้ ลองพยายาม ก็ต้องมีสักวันที่มีทางเอาชนะใจ "เธอคือเกมที่ท้าทาย..ต่อให้แพ้ทุกวัน แต่ฉันก็เริ่มใหม่ ด่านสุดท้ายแค่เอื้อมเท่านั้น จะเอาชนะใจเธอสักวัน"

“เพลงนี้เราก็ได้แรงบันดาลใจจากซาวน์ของเกมยุคสมัยมาริโอ เขาเรียกว่าเกม 8 บิต หากใครเคยได้เล่น Game Famicom ในยุคนั้น คงคุ้นเคยดี เป็นซาวนด์สนุกๆ และมีเสน่ห์ ก็เลยเลือกนำมาใช้ จริงๆ คำว่าปรชญาก็มาจากปรัชญานี่แหละ ความหมายเดียวกัน แต่ว่ามือเบสของเราชื่อปรชญา เราก็เลยเอาชื่อเขามาเล่น

เนื้อหาเพลงจะเป็นการเปรียบเทียบว่าเวลาเราเล่นเกมแล้วมันสนุก มันยากยังไงเราก็เล่นอยู่นั่นแหละ อยากจะชนะ ก็เลยคิดว่าเราน่าจะเอาความคิดที่อยากเล่น อยากเอาชนะมาประยุกต์ใช้กับสิ่งที่เราฝัน หรือสิ่งที่เราอยากจะไปให้ถึง ให้คิดเหมือนกับการเล่นเกม มันจะทำให้เราไม่มีท้อ ชื่อเพลงก็บอกอยู่แล้วว่า มันคือปรัชญาที่ได้จากเกมในยุค 8 บิต การเล่นเกม ปรัชญาหลักๆ เลยคือต้องเล่นให้ชนะ เพลงนี้ก็คล้ายๆ จะบอกว่าเล่นเกมก็ต้องเล่นให้ชนะ ยกกลับมาในชีวิต จะทำอะไรก็ต้องทำให้สำเร็จ ไม่ว่าความรักจะยากแค่ไหน ก็ต้องพิชิตเกมให้ได้

ผมมองว่าการนำปรัชญา หรือธรรมะที่ได้จากการฟังเพลงไปปรับใช้กับชีวิตมันเป็นเรื่องวิธีคิด อย่างเมื่อก่อนจะมีเพลง “เปลี่ยน” ก็จะเป็นเพลงที่เป็นจิตวิทยานิดๆ ว่าเรารักแล้วช้ำ รักแล้วทุกข์ ลองเปลี่ยนวิธีคิดดูใหม่ว่ามันจะมีสิ่งใหม่ๆ ที่ดีกว่า ก็ทำให้เปลี่ยนมุมมองในเรื่องของความรักได้”

ถ้าให้เปรียบเรื่องของความรักกับธรรมะ สองหนุ่มมองว่ามีทั้งความเหมือนและความแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับว่าใครจะตีความอย่างไร และนำข้อคิดที่ได้มาปรับใช้กับชีวิตได้อย่างไร

“ธรรมะจะสอนว่าใครทำอะไรก็จะได้รับกรรมนั้น ใครทำกรรมดีก็จะได้รับกรรมดี ความรักก็เหมือนกัน ใครทำอะไรไว้ก็จะต้องยอมรับกับผลที่ตามมา ถ้าเรารักเขา เราทุ่มเท เราก็น่าจะได้สิ่งที่ดีๆ กลับมา แต่ว่าในทางกลับกัน ถ้าเราทำไม่ดีกับความรักผลที่ตามมาก็คือสิ่งที่แย่ คงเป็นเรื่องกฎแห่งกรรม

ส่วนเรื่องความต่างธรรมะจะเป็นเรื่องของการทำจิตใจให้บริสุทธิ์ รักคนอื่นโดยไม่มีเงื่อนไข แต่ถ้าเป็นเรื่องของความรัก เพียว ๆ มันไม่มีเรื่องของศาสนามาเกี่ยวข้อง มันเป็นเรื่องของความรู้สึก เราอาจจะรักตัวเอง รักพ่อแม่ อาจจะรักคนอื่นมากกว่าตัวเองก็ได้”

ผลักดันและแข่งกับตัวเอง
พอหมดสัญญากับทาง GMM พวกเขาก็ก้าวออกมาทำงานเพลงด้วยตัวเองอย่างเต็มตัว โดยตั้งบริษัทของตัวเองขึ้นมา ในชื่อ ETC Band Co., Ltd ร่วมงานกับพาร์ทเนอร์ใหม่อย่างบริษัท I-Work แต่การเปิดบริษัททำเพลงของตัวเองในยุคสมัยนี้ก็ไม่เรื่องง่าย พวกเขาต้องเหนื่อยหนักกว่าเดิม ต้องเจอปัญหา ต้องเจอกับเรื่องที่ไม่เคยเจอมาก่อน ล่าสุดกับอัลบั้ม Push จึงมีความหมายถึงการเลือกที่จะแข่งขันและผลักดันตัวเอง

"หลายปีที่ผ่านมาเราก็ได้เดินทาง ได้เล่นคอนเสิร์ต ได้เจอนักดนตรี ได้พบปะอะไรมากมาย ทำให้เรามีไอเดียหลายๆ อย่าง เข้ามาผสมผสานกับความเป็นอีทีซี ทีนี้ก็จะได้ฟังอะไรที่มันหลากหลายขึ้น แล้วก็ยังมีความเป็นอีทีซีอยู่ด้วย

ณ วันนี้ที่ผ่านมาเราทำด้วยความเป็นธรรมชาติไปเรื่อยๆ ใช้ความรู้สึก เอาวงเป็นโปรดิวเซอร์ แล้วก็ตัดสินใจร่วมกัน อย่างอัลบั้มล่าสุดเราใช้ชื่อว่า Push เพราะเราอยากจะผลักดันทุกอย่าง ไปอีกขั้นหนึ่ง อยากนำเสนอสิ่งที่ ความรู้สึกของเพลงนั้นมันเข้าถึงอารมณ์จริงๆ อยากนำเสนอเพลงช้าที่มีเนื้อหาแบบนี้ เราอยากทำดนตรี อยากทำทุกอย่างให้เข้ากันมากที่สุด กลมกล่อมที่สุด เท่าที่จะทำได้ ไม่อยากจะเปรียบเทียบกับความสำเร็จเก่าที่เราเคยทำมา สุดท้ายเราแข่งกับตัวเองครับ เราจะแข่งกับตัวเองจะทำในสิ่งที่ตัวเองไม่เคยทำ ทดลองในสิ่งใหม่ๆ เดินทางค้นคว้าหาสิ่งใหม่ๆ มากลับคืนให้คนฟัง

ถ้าศิลปินอยู่ค่าย สิ่งที่ศิลปินทำง่ายมากเลย ซ้อมดนตรี แล้วก็เล่นคอนเสิร์ต แต่พอมาเปิดบริษัทเองก็ต้องทำอะไรที่ไม่เคยทำ มีการประชุม เปิดบริษัท เปิดบัญชี เป็นกรรมการ บริหารด้วย บัญชีเป็นยังไง ลูกน้องเป็นยังไง ต้องดูแลแล้วครับ แต่เป็นอีกหนึ่งก้าวที่สนุกนะครับ ที่เรามีวันนี้ต้องขอบคุณทุกคนเลย เพื่อนร่วมงานของเรา ครอบครัว พี่น้องที่เชียงใหม่ที่มาให้กำลังใจเรา รวมไปถึงแฟนเพลงทุกคน สื่อทุกเจ้า มันเกี่ยวพันกันหมด ขอบคุณปัญหาที่ทำให้เราเข้มแข้งขึ้น”


ไม่แข่งกับใครขอแข่งกับตัวเอง
ประสบการณ์ทางดนตรีกว่า 10 ปีที่ผ่านมา เคยได้รางวัลทางดนตรีมาแล้วมากมาย ทั้งศิลปินดีเด่น เพลงยอดนิยม แต่นั่นยังไม่ถือว่าเป็นการประสบความสำเร็จสำหรับพวกเขา ความสำเร็จของพวกเขาคือการทำงานเพลงออกมาแล้วรู้สึกภูมิใจ อยากที่จะพัฒนาตัวเองต่อไป และมีความสุขกับสิ่งที่ทำจริงๆ

“สิ่งที่ถือว่าเป็นความสำเร็จของพวกเราคือเรา 5 คนมานั่งฟัง แล้วภูมิใจว่าเราทำได้แล้ว นั่นล่ะคือความภูมิใจที่สุด แต่ผลออกมาจะเป็นยังไงก็สุดแล้วแต่ประชาชน เราก็พยายามมองโลกในแง่ดี พยายามพัฒนาอะไรก็ได้ ให้ยังมีความเป็นตัวของตัวเองอยู่ ให้เพลงของอีทีซีมันมีความโดดเด่นกว่าคนอื่น คือสร้างยี่ห้อเราขึ้นมา แล้วเข้าถึงคนให้ได้มากๆ อาจจะเป็นเพื่อนเขาช่วงหนึ่งในชีวิต ที่เขากำลังมีความรัก ได้ฟังนี้อิน จนเขาได้แต่งงาน มีครอบครัวที่ดี เพราะเพลงสิ่งมีชีวิตที่เรียกว่าหัวใจก็ได้ อะไรอย่างเนี้ย มันคือความสุขและความสำเร็จ

การที่จะทำวงดนตรีวงหนึ่ง สมมติว่าอยากให้มันดังระเบิดเถิดเทิง ขึ้นชาร์ตอันดับหนึ่ง ผมว่าตั้งใจทำ เชื่อว่าใครก็ยังพอทำกันได้ แต่การจะรักษามาตรฐานให้ดีขึ้น และยังดีวันดีคืน ผมว่าเป็นสิ่งที่ยากที่จะประคองมาตรฐานของวงไว้ ไม่ได้พูดถึงความโด่งดัง หรือชาร์ตเพลงนะ มาตรฐานที่มันออกไป มันเทียบกับความสัมพันธ์เพลง ว่าจะไปติดบนชาร์ตเพลง หรือมียอดวิวคนดูเยอะขนาดไหน มันไม่สำคัญเท่ากับเพลงนั้นมันอยู่ได้นาน มันอมตะหรือเปล่า นี่คือสิ่งที่เรากำลังทำอยู่ เราพยายามที่จะเอาชนะตัวเองไปเรื่อยๆ ค่อยๆ เจอไปเรื่อยๆ ดนตรีมันเป็นจินตนาการของศิลปะ มันไม่มีที่สิ้นสุด

ถ้าเราได้ถ้วยอะไรสักอย่าง และคิดว่ามันเป็นจุดสูงสุดของชีวิตแล้ว มันเหมือนยึดติดมากเกินไป ถ้าเราไม่ยึดติดกับอะไรเก่าๆ เราก็พร้อมที่จะเจออะไรใหม่ๆ และสนุกไปกับมัน วันนี้มีความสุขที่สุดแล้วครับ ได้ตื่นมาเล่นดนตรี มีคนดู มีคนเต้นไปเต้นมา มีคนฟัง มีคนชื่นชอบผลงานเราก็มีความสุขแล้ว”

รีแลกซ์แบบอีทีซี
ไม่ว่าจะต้องผ่านปัญหา หรือความกดดันขนาดไหน แต่วงดนตรีกลุ่มนี้ก็ยังมีความมุ่งมั่น มีไฟที่จะทำงานในวงการเพลงต่อไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด รวมถึงความสามัคคี ความรักของสมาชิกในวง ซึ่งเป็นแรงขับเคลื่อน เป็นพลังที่สำคัญให้พวกเขารักษาคุณภาพ และส่งผ่านเรื่องราวดีๆ ไปสู่คนฟังต่อไป

“เวลาที่เจอปัญหา หรือเจอความกดดัน วิธีการแก้ก็คือ เราไปดูคอนเสิร์ตด้วยกัน เอาดีวีดีคอนเสิร์ตดีๆ มานั่งดู ส่งเพลงดีๆ ให้กันฟัง ล่าสุดก็เพิ่งไปดู Babyface ที่หัวหินด้วยกันมา วันนั้นมีคอนเสิร์ตที่ศรีราชา แต่ยอมตีรถไปหัวหินเลยครับ เพื่อที่จะไปเอาแรงบันดาลใจ เติมไฟให้กับตัวเอง หรือบางคนก็เล่นเกม ฟังเพลง แต่วงเราใช้ชีวิตอยู่ด้วยกันมานาน แค่ได้ทำหมูกะทะกินที่บ้านมันก็โอเคแล้ว แค่ได้อยู่ด้วยกัน ได้ทำอะไรใหม่ๆ

การได้เล่นดนตรี การได้ทำให้คนมีความสุข ทุกๆ ครั้งที่เล่นคอนเสิร์ต เราได้เห็นคนดูที่ออกจากบ้านมาดึกๆ ดื่นๆ หรือมาไกล เรามีความสุขนะ เวลาร้องเพลง เห็นคู่รักกอดกันร้องเพลง เหมือนเราไปมีส่วนในชีวิตเขา เราเป็นมิวสิควีดีโอ ให้กับชีวิตเขา ได้เห็นคนดูอินกับเพลงเรา นั่นละรู้สึกว่ามีความสุข พอจบคอนเสิร์ต เขาเอาไปพูดอีก 3 วัน 7 วัน นั่นคือความสุข อย่างน้อยผมมีภาพนั้นตอนเป็นวัยรุ่น ไปดูคอนเสิร์ตพี่เบิร์ด ไปดูคอนเสิร์ตที่เราชื่นชอบ ผมยังจำภาพความสุขนั้นได้อยู่เลย จำได้ว่าเรามีความสุขจังเลยในวันนี้ก็หวังว่า คนดูจะได้ความสุขแบบเราในวันนั้น คนดูเขาส่งพลังมาให้เรา สร้างสรรค์ผลงานต่อไปได้”

ไม่เคยหมดหวังในเส้นทางดนตรี
ทุกวันนี้พวกเขายอมรับว่าวงเพลงไทยบ้านเราซบเซาลงไปมาก คนทำงานเพลงคุณภาพลดน้อยลงเรื่อยๆ เนื่องจากการละเมิดลิขสิทธิ์ ซึ่งเป็นเรื่องที่มีมานานมาก และไม่มีทีท่าว่าจะมีใครแก้ปัญหาเรื่องนี้ได้ แต่พวกเขาก็ไม่ท้อถอย มุ่งทำเพลง และรักษาคุณภาพของวง ETC. ภายใต้ข้อจำกัดของคำว่าถูกและดี

“เรื่องธุรกิจเพลงสมัยนี้บอกตรงๆ เลยว่าลำบาก มันซบเซาลงไปมาก มีการละเมิดลิขสิทธิ์ มีทั้งอินเตอร์เน็ต มีเว็บที่แบ่งกันฟังฟรี ดูฟรี ตรงนี้แหละกระทบ การทำงานเพลงที่มีคุณภาพ มันใช้เงินเยอะเหมือนกัน ซึ่งเดี๋ยวนี้มันไม่สามารถทำได้ขนาดนั้นแล้ว ทำให้ต้องลดต้นทุนในการผลิต พยายามทำงานเพลงภายใต้ข้อจำกัดของความถูกและดีให้ได้ ซึ่งเป็นอะไรที่ศิลปินไทยต้องดิ้นรนมากกว่าประเทศอื่น

การที่เทคโนโลยีมันก้าวไปข้างหน้าก็เหมือนเป็นดาบสองคม คนได้ฟังเพลงเยอะขึ้น เพลงมันแพร่ไปเร็ว นั่งอยู่หน้าคอม ก็สามารถได้ฟังเพลงใหม่ได้แล้ว แต่ข้อเสียก็คือนายทุนจ่ายเงินน้อยลง เพราะจ่ายไปก็ไม่ค่อยได้เงินกลับมา มันก็ทำให้งานเพลงเป็นอุตสาหกรรม ที่ความเป็นศิลปะมันเริ่มจะหดไปเรื่อยๆ โปรดิวเซอร์ก็จะถูกบีบให้น้อยลงๆ แล้วเพลงดีๆ จะออกมาได้อย่างไร มันเหนื่อยมากขึ้นหลังๆ นี่วงการเพลงต้องเสียคนเก่งๆ ไปเยอะเหมือนกันนะ

แก้ปัญายังไงให้การละเมิดลิขสิทธิ์ การละเมิดหนังแผ่น เพลง ทั้งโลกก็ยังไม่มีใครทำได้ ถ้าจะเริ่มมันต้องเริ่มจากเอาการเมืองบ้านเราให้รอดก่อน ถ้าประเทศที่การเมืองมั่นคง ทุกอย่างมันก็ อย่างที่สส.เขาหาเสียงกันทุกยุค เราจะวางรากฐานการศึกษา ถึงเวลาเข้าจริงๆ เดี๋ยวอภิปรายกันอีกแล้ว เดี๋ยวก็ยุบสภา มันเป็นอย่างนี้มาเรื่อยๆ ตั้งแต่ผมเกิด มันไม่มีทางที้จะมาถึงเรื่องดนตรีกันง่ายๆ หรอก อย่างประเทศเกาหลีรัฐบาลเขาทุ่มทุน เขาสนับสนุนว่าสิ่งนี้ล่ะที่จะหารายได้เข้าประเทศ

การฟังเพลงผิดกฎหมายแล้วรู้สึกว่าเป็นเรื่องถูก คนที่มีจิตสำนึก อย่างน้อยเราทำเรื่องผิดให้เห็นเป็นถูก แล้วเรื่องอื่นๆ ล่ะ เราก็อาจจะทำผิดให้เป็นถูกได้ ไม่เห็นเป็นไรเลย ไปขโมยลิขสิทธิ์ของชาวบ้านเขามามันก็ไม่ต่างจากการขโมยตังค์ ถ้ามีคนสอนเขามันก็จะช่วยในเรื่องอื่นๆ ของชีวิตเขาได้ด้วย

ทุกวันนี้ผมซื้อซีดีฟัง ผมไม่เคยโหลด ไม่เคยซื้อ mp3 มาฟังเลยนะ มันเป็นแค่ความคิดของนะ ใครไม่ทำ ผมทำ ซึ่งซีดีก็หาฟังยากนะ ร้านซีดีดีๆ ปิดไปหมด เห็นแล้วก็เหี่ยวลงๆ”


ขอบคุณภาพจาก Facebook ETC












กำลังโหลดความคิดเห็น