xs
xsm
sm
md
lg

จับตาคู่กัดตลอดกาล ‘แกรมมี่-อาร์เอส’ บนสมรภูมิสุดเดือด ‘ทีวีดาวเทียม’

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เวลาพูดถึงตลาดเพลงไทย คงไม่มีใครที่จะไม่นึกถึง 2 ค่ายยักษ์ที่อยู่คู่กับสังคมมานาน อย่าง ‘จีเอ็มเอ็มแกรมมี่’ และ ‘อาร์เอส’ อย่างแน่นอน

เพราะตลอดเวลาเกือบ 30 ปีมานี้ นอกจากทั้งคู่ถือเป็นคู่ต่อสู้ที่มีการแข่งขันกันอย่างดุเดือดและสูสีกันแล้ว แต่ละบริษัทยังจัดเป็นยักษ์ใหญ่ที่ครอบครองพื้นที่สื่อบันเทิงในวงการมากที่สุดแห่งหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นรายการโทรทัศน์ สถานีวิทยุ หรือแม้แต่นิตยสาร

ดังนั้น พอมาถึงยุคที่ทีวีดาวเทียมกำลังระบาดหนักไปทั่วทุกย่อมหญ้าของเมืองไทยเช่นนี้ คนไทยจึงมีโอกาสดีได้เห็นทั้ง 2 เสือกระโจนเข้ามาฟัดกันในสนามนี้ต่อ ชนิดกรรมการไม่ต้อง เพราะแมทช์นี้มีนองเลือดแน่ สังเกตสถานีโทรทัศน์ช่องแรกที่ทั้งคู่ส่งเข้าประกวด

ต่างก็เป็นช่องรายการเพลงด้วยกันคู่ โดยทางฝั่งแกรมมี่ได้ส่งช่องแฟนทีวี ซึ่งเป็นช่องลูกทุ่ง กับแบงค์ แชนแนล ซึ่งเป็นช่องเพลงวัยรุ่น ออกมาอาละวาดขอหัวใจจากบรรดาแม่ยกก่อนเป็นเจ้าแรก ส่วนอาร์เอสก็ประกาศชัดว่าไม่กลัว ด้วยการส่งช่องสบายดีทีวี กับยูแชนแนลออกมาสู้ และนับจากนั้น ต่างฝ่ายก็ส่งสถานีโทรทัศน์หลากสไตล์เข้าสู่สนามจนนับไม่ถ้วน โดยตอนนี้หากนับนิ้วคร่าวๆ ก็พบว่าทั้ง 2 ยักษ์รวมก็มีอยู่เกือบ 20 ช่องแล้ว แถมยังทีท่าว่าจะไม่หยุดอยู่แค่นี้แน่นอน

เพราะฉะนั้น จึงคาดเดาได้ไม่ยากว่า ศึกครั้งนี้คงระอุอย่างแน่นอน ซึ่งงานนี้ก็ได้รับคำยืนยันจาก รศ.ดร.ธีรยุส วัฒนาศุภโชค รองคณบดีคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ว่า คงเป็นเช่นนั้น เพราะนอกจากทีวีดาวเทียมจะเป็นแหล่งต่อยอดทางรายได้ชั้นดี หลังจากที่ธุรกิจเพลงซบเซาอย่างหนักทางด้านรายได้ รูปแบบการแข่งขันของทั้งคู่ยังมีลักษณะความสัมพันธ์แบบ ‘คู่กัดตลอดกาล’ อีกด้วย ซึ่งตรงนี้สังเกตได้จากการที่ต่างฝ่ายต่างไม่ยอมกัน ชนิดที่ว่าใครมีอะไร อีกฝ่ายก็ต้องมีเหมือนกัน

“ต้องยอมรับว่า สำหรับธุรกิจทีวีดาวเทียมนั้นมีคู่แข่งไม่มาก คือมีรายใหญ่ไม่กี่รายที่จะสามารถเก็บส่วนแบ่งทางการตลาดเกือบไว้ทั้งหมดในมือ ดังนั้นการแข่งขันจึงสูงมาก เพราะทุกรายนั้นแข็งแกร่ง และพร้อมจะตอบโต้กัน และจดจ้องกันตลอด เช่น หากใครมีโปรโมชันใหม่ๆ มาเสนอลูกค้า อีกฝ่ายก็จะไม่ยอม ตัวอย่างเช่นค่ายใหญ่ 2 ราย ซึ่งมีฐานเยอะมาก ไม่ว่าจะเป็นศิลปินที่ดัง เพลง ละคร สื่อวิทยุ หรือภาพยนตร์ เขาจึงมีสิ่งที่นำมาต่อยอดกับทีวีดาวเทียมได้มาก

“ขณะเดียวกัน ก็ต้องยอมรับโอกาสที่การแข่งขันระหว่าง 2 ค่ายนี้จะรุนแรงมากขึ้นก็มีสูง เพราะพฤติกรรมของแต่ละฝ่ายไม่ต่างกัน จนจะเรียกว่าวัดรอยเท้าหรือจ่อคอหอยกันเลยก็ได้ ฝั่งนี้เปิดบริษัท อีกฝ่ายก็เปิด ฝั่งนี้เข้ามาทำธุรกิจเรื่องกีฬาแล้วได้เงิน อีกฝ่ายก็โดดเข้ามาทันที พอบริษัทนี้ทำละครแล้วดัง อีกฝั่งก็ทำทันทีเหมือนกัน”

คงพอเห็นถึงสาเหตุและปัจจัยที่ทำให้สังเวียนทีวีดาวเทียมของ 2 บริษัทเพลงยักษ์ใหญ่นั้นร้อนระอุกันไปบ้างแล้ว คราวนี้ก็ถึงเวลาที่จะลงมาเจาะรายละเอียดกันแบบลึกๆ ว่าแต่ละฝ่ายนั้นได้เตรียมไว้รับมือกับเรื่องนี้อย่างไรบ้าง จะแตกต่างกันขนาดไหน

รับรองว่า ศึกนี้มันส์หยด อย่าบอกใคร!!!

มุมน้ำเงิน : ‘อาร์เอส’ กับภารกิจใหญ่สร้างทีวีดาวเทียมสู่การเป็นฟรีทีวีช่องใหม่

ต้องยอมรับว่าตลอดระยะ 30 ปี อาร์เอส คือบริษัทบันเทิงยักษ์ใหญ่ที่มีผลงานออกสู่สายตาของผู้คนอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะศิลปิน เพลง ละคร ภาพยนตร์ สถานีวิทยุ หลายๆ อย่างก็ได้รับความนิยมอย่างสูง เพราะฉะนั้นการที่อาร์เอสตัดสินใจกระโจนลงสนามนี้ จึงไม่ได้อยู่นอกเหนือการคาดหมายนัก

ยิ่งเมื่อมาพิจารณาเหตุผลการเดินตามรอยกัน ตามที่ รศ.ดร.ธีรยุส อธิบายเอาไว้ ก็ยิ่งชัดเข้าไปใหญ่ เพราะอาร์เอส ทำการเปิดตัวสถานีโทรทัศน์ 2 ช่องแรกเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2552 หลังคู่แข่งเปิดทำการไปได้แล้ว 10 เดือน

แม้ปัจจุบันนี้ อาร์เอส มีสถานีโทรทัศน์อยู่ในความครอบครอง 3 ช่องได้แก่ ช่องสบายดีทีวี ซึ่งเน้นการเปิดเพลงลูกทุ่งเป็นหลัก ช่องยูแชนแนล ซึ่งเปิดเพลงเอาใจตลาดวัยรุ่น และช่อง 8 อินฟินิตี้ ซึ่งเน้นความบันเทิงแบบวาไรตี้และไลฟ์สไตล์ของคนทั่วไป แต่ก็ยังไม่ได้วางแผนจะเปิดช่องอะไรมากมายนัก เพราะเน้นหลัก ‘น้อยแต่มีคุณภาพ’

ซึ่งตอนนี้ได้วางแผนหลักๆ ว่าจะเปิดช่องเพิ่มแค่ 2 ช่อง คือ ยาคทีวี ซึ่งเน้นกลุ่มวัยรุ่นที่มีอายุน้อยกว่าผู้ชมช่องยูแชนแนล โดยมีค่ายเพลงกามิกาเซ่เป็นตัวรองรับ ซึ่งจะเปิดในช่วงไตรมาสที่ 3 ของปี 2554 ส่วนอีกช่องก็คือ ช่องกีฬา 24 ชั่วโมงซึ่งจะทำในลักษณะเปย์ทีวี หรือช่องที่ต้องเสียเงินถึงจะดูได้ เพราะนอกจากปัจจุบันนี้ อาร์เอสจะถือลิขสิทธิ์ฟุตบอล 2014 อยู่ในมือแล้ว ยังมีแผนจะบุกตลาดกีฬาด้วยการประมูลลิขสิทธิ์รายการกีฬาระดับโลกให้มากขึ้นอีกด้วย

เพราะต้องยอมรับว่า ตลอดระยะเวลา 2 ปีมานี้ ธุรกิจนี้ได้สร้างรายได้อย่างเป็นกอบเป็นกำ เพราะนอกจากจะเกิดการขยายตัวในฐานผู้ชมอย่างต่อเนื่อง ก็ยังมีผลิตภัณฑ์ต่างๆ มาลงโฆษณาอย่างต่อเนื่อง ฉะนั้น ทางผู้บริหารจึงมั่นใจมากกว่า สุดท้ายอาร์เอสน่าจะได้กำไรจากตรงนี้ราวๆ 400 ล้านบาท

แน่นอนว่า การประสบความสำเร็จตรงนี้ก็มาจากจุดเด่นอย่างหนึ่งซึ่ง มานพ ชาญยุทธกร ผู้อำนวยการสถานีช่อง 8 อินฟินิตี้ ในฐานะผู้บุกเบิกสถานีโทรทัศน์ของอาร์เอสเล่าให้ฟัง ก็คือ ความแข็งแรงในด้านเนื้อหา โดยเฉพาะในรายการเพลงที่อาร์เอสเองก็เป็นเจ้าของผลิตภัณฑ์อยู่แล้ว ไม่ว่าศิลปิน หรือแม้แต่ตัวบทเพลง เพราะฉะนั้นจึงถือเป็นข้อได้เปรียบเมื่อเทียบสถานีโทรทัศน์เพลงที่เจ้าของไม่ใช่ค่ายเพลง

“เรารับรองในแง่คุณภาพ ไม่ว่าจะเป็นเสียงหรือภาพ เพราะเราก็เป็นเจ้าของมาสเตอร์อยู่แล้ว ที่สำคัญเราสามารถเล่นกับตัวศิลปินได้มากกว่าคนอื่น”

ตัวอย่างหนึ่งที่เห็นได้ชัด ก็คือศิลปินอันดับ 1 ของค่าย ฟิล์ม-รัฐภูมิ โตคงทรัพย์ ซึ่งมีการต่อยอดอย่างไม่มีที่สิ้นสุด ตั้งแต่มิวสิกวิดีโอ สกู๊ปอัลบั้ม ซึ่งต่างวนฉายอยู่ในช่องยูแชนแนลอย่างต่อเนื่อง มาจนถึงละครและรายการเรียลิตี้ที่ฟิล์มรับหน้าที่เป็นผู้ผลิตเอง ก็ยังถูกนำมาลงที่ช่อง 8 อินฟินิตี้

อย่างไรก็ดี สิ่งที่อาร์เอสกำลังให้ความสนใจและอยากจะพัฒนาให้เกิดขึ้นมากที่สุดในตอนนี้ เห็นจะหนีไม่พ้น ‘ช่อง 8 อินฟินิตี้’ ซึ่งบอสใหญ่ของค่ายอย่าง สุรชัย เชษฐโชติศักดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน) บอกกับหนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายสัปดาห์ 360◦ ในเซคชันมาร์เกตติ้งว่า ตั้งใจจะทำให้เหมือนสถานีโทรทัศน์แบบฟรีทีวี เช่นเดียวกับ ช่อง 3, 5, 9, 11 และไทยพีบีเอส เลยทีเดียว เห็นได้จากการทุ่มงบประมาณนับร้อยล้านบาท ซึ่งมากกว่าช่องเพลง 2 ช่องถึง 2 เท่าตัว รวมไปถึงการจัดผังรายการที่ใหม่ล้วนๆ ตลอดจนการเปิดตัวผู้จัดรายการใหม่ๆ ที่อยากจะเข้ามาร่วมกันสร้างช่องทางตรงนี้

“เราสังเกตเห็นว่า ช่องดาวเทียมมักจะนำรายการจากช่องฟรีทีวีมารีรันใหม่ แต่เราไม่คิดแบบนี้ เราอยากให้ช่อง 8 เป็นเหมือนฟรีทีวี เราเลยต้องผลิตรายการใหม่ขึ้นมาเลย ทำละครใหม่ขึ้นมา เพื่อออนแอร์ ช่องนี้โดยเฉพาะ ดังนั้น ถ้าคนดูอยากจะดูรายการของเราก็ต้องมาดูที่ช่องนี้เท่านั้น โดยตอนนี้เราเริ่มทำแล้วในช่วงเวลาไพร์มไทม์ (ช่วงที่มีผู้ชมมากที่สุด) ประมาณ 2-3 ทุ่มเราก็จะเริ่มผลิตละครใหม่เลย แล้วอนาคตก็คงต้องมีรายการที่หลากหลายมากขึ้น รวมไปถึงการมีรายการข่าวประจำวันด้วย” ผู้อำนวยการสถานีช่อง 8 อธิบายถึงวิธีคิดของช่องใหม่ที่เกิดขึ้น

แน่นอนว่า หลักประกันอย่างหนึ่งที่ทำให้อาร์เอสมั่นใจอย่างมากว่า แนวคิดเช่นนี้จะต้องประสบความสำเร็จ อย่างแรกก็คือ ตรงนี้เป็นช่องว่างของการตลาดที่ยังไม่มีใครทำ เพราะฉะนั้น หากทำก่อนก็มีโอกาสทีจะติดตลาดกัน ที่สำคัญต้องยอมรับว่า ปัจจุบันการติดตั้งเสาโทรทัศน์แบบเก่านั้นกลายเป็นเรื่องล้าสมัยไปแล้ว เพราะตอนนี้ติดจานดาวเทียมในราคาที่แพงกว่ากันนิดหน่อย แต่ก็สามารถรับชมความบันเทิงมากกว่าเป็นเท่าตัว

“ต่อไปธุรกิจทีวีดาวเทียมจะเป็นธุรกิจหลักของอาร์เอสและทำรายได้มากกว่าธุรกิจเพลงจากปัจจุบันมีสัดส่วน 50 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่ทีวีดาวเทียมอยู่ที่ 20 เปอร์เซ็นต์ โดยภายใน 3 ปีธุรกิจทีวีดาวเทียมจะมีสัดส่วน 40 เปอร์เซ็นต์ เป็นรายได้ใหญ่ที่สุด โดยเพลงอาจจะลดลง 30 เปอร์เซ็นต์” สุรชัยชี้แจง

มุมแดง : ‘แกรมมี่’ กับยุทธการแพลทฟอร์มและจำนวนช่องที่ไม่มีขีดจำกัด

หากบอกว่า จีเอ็มเอ็มแกรมมี่ คือหนึ่งในหัวแถวของบริษัทบันเทิงของเมืองไทยก็คงไม่ผิดมากนัก เพราะนอกจากครองสัดส่วนการตลาดเป็นอันดับ 1 ของธุรกิจที่เข้าไปจับ ไม่ว่าจะเป็นเพลง ละคร ภาพยนตร์ สื่อวิทยุ หรือแม้แต่งานอีเวนท์ต่างๆ แล้ว ผลประกอบนับพันล้าน จนสามารถส่งไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม ประธานบริษัทขึ้นสู่ทำเนียบเศรษฐีของประเทศได้ไม่ยากก็น่าจะเป็นเครื่องยืนยันได้เป็นอย่างดีเพราะฉะนั้นจึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่พอแกรมมี่ตัดสินใจลงมาเล่นในธุรกิจดาวเทียม เมื่อเดือนตุลาคม 2551 จึงถูกจับตามองเป็นพิเศษอย่างมาก

โดยตอนแรกมีแกรมมี่ได้วางช่องคร่าวๆ ของตัวเองไว้ที่ 5 ช่อง แบ่งตามไลฟ์สไตล์และเนื้อหาของรายการเป็นหลัก เช่น ช่องเพลง ช่องละคร รวมไปถึงช่องเบิร์ด แชนแนล ซึ่งมีการหยิบยกเอาซูเปอร์สตาร์หมายเลข 1 ของค่าย อย่างธงไชย แมคอินไตย์ มาเป็นจุดขาย แต่หลังจากการดำเนินมาได้ระยะหนึ่ง ก็พบว่า รูปแบบการสร้างสถานีโทรทัศน์ของแกรมมี่ นั้นเปลี่ยนแปลงไปพอสมควร โดยสามารถแบ่งออกได้เป็น 3 รูปแบบด้วยกัน

ส่วนแรก ก็คือรูปแบบเดิม หรือการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ในภายใน ไม่ว่าจะเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีอยู่ หรือบริษัทในเครือ เช่นเอ็กแซ็กท์, จีทีเอช หรือเอไทม์ มีเดีย ให้เป็นประโยชน์ที่สุด โดยปัจจุบันมีช่องที่ใช้รูปแบบนี้อยู่ 5 ช่อง คือ แฟนทีวี, แบงก์แชนแนล, กรีนแชนแนล, เอ๊กซ์แชนแนล และเพลย์แชนแนล

“แกรมมี่มีคอนเทนท์ มีเดีย อยู่เยอะมาก อย่างเพลงก็มีอยู่สัดส่วนการตลาดมากถึง 70 เปอร์เซ็นต์ แต่ที่ผ่านมาเรากลับต้องพึ่งพามีเดียต่างๆ เช่น ฟรีทีวี ซึ่งความมั่นคงมันน้อย แต่ทีวีดาวเทียมนั้นเป็นเหมือนจิ๊กซอว์ที่ทำให้เรื่องนี้ลงตัว” เดียว วรตั้งตระกูล กรรมการผู้จัดการหน่วยธุรกิจจีเอ็มเอ็ม บรอดคาสติ้ง บริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) ชี้ให้เห็นภาพคร่าวๆ

ส่วนต่อมาก็คือ การหาพันธมิตรในการร่วมผลิตช่อง โดยแกรมมี่จะพยายามเลือกบริษัทบันเทิงอื่นๆ ที่มีความแข็งแกร่งทางด้านเนื้อหาอยู่แล้ว จากนั้นก็ชักชวนเข้ามาร่วมลงทุนเปิดสถานีโทรทัศน์ร่วมกันโดยแกรมมี่อาจจะเข้าถือหุ้น 49-51 เปอร์เซ็นต์ และรับผิดชอบในเรื่องการจัดเช่าคลื่นสัญญาณ โดยปัจจุบันนี้แกรมมี่มีสถานีโทรทัศน์ที่เข้าข่ายเช่นนี้อยู่ 4 ช่องได้แก่ สาระแน แชนแนล ซึ่งผลิตร่วมกับบริษัทลักซ์ 666

เจเคเอ็น ซึ่งเป็นช่องซีรีส์ญี่ปุ่น-เกาหลี ผลิตร่วมกับบริษัท เอสทีจี มัลติมีเดีย ช่องเจเอสแอล แชนแนล ซึ่งผลิตกับบริษัทเจเอสแอส โกบอล มีเดีย และช่องมันนี่ แชนแนล ซึ่งผลิตร่วมกับบริษัทแฟมิลี่ โนฮาว โดยทั้งนี้ทางแกรมมี่ก็มีแนวโน้มที่จะร่วมทุนอีกเช่นนี้อีกมาก เพื่อเติมช่องว่างที่ยังขาดอยู่ ไม่ว่าจะเป็นรายการในกลุ่มผู้ชาย ท่องเที่ยว สารคดี หรือรายการในกลุ่มข่าว

และในกลุ่มสุดท้ายก็คือ การต่อยอดธุรกิจจากเดิม ด้วยการนำลิขสิทธิ์รายการต่างๆ ของต่างประเทศมาออกอากาศ ซึ่งเห็นได้ชัดจากกรณีการได้ลิขสิทธิ์ฟุตบอลยูโร จนนำมาสู่การต่อยอดช่องกีฬาอีก 3 ช่อง

ซึ่งจากการดำเนินธุรกิจเช่นนี้ ก็ทำให้ทำให้ที่ผ่านมาแกรมมี่มีรายได้สิ้นสุดเมื่อปีที่แล้วอยู่ที่ 350 ล้านบาทจาก 4 ช่อง และในปีนี้คาดว่ายังเติบโตในอัตรา 100 เปอร์เซ็นต์หรือประมาณ 700 ล้านบาท

“เราใช้หลักการทำงานง่ายๆ อยู่ 3 เรื่องนั้นคือ ‘Before, More, Different’ โดยแบ่งกลุ่มลูกค้าที่ชัดเจน เช่น แฟนทีวีก็เป็นลูกทุ่ง แบงก์แชนแนลก็เป็นไลฟ์สไตล์วัยรุ่น กรีนแชนแนลเป็นไลฟ์สไตล์คนทำงาน เป็นทอล์ก แอ็กซ์ แชนแนลก็เป็นละคร เป็นซีรีส์ แล้วก็หยิบหลักตรงนี้มาคิด อย่าง before ก็คือคุณได้ดูก่อนใคร More ก็คือได้ดูมากกว่า เช่นในทีวีปกติ 30-45 นาทีก็ถือว่าเต็มที่แล้ว แต่ที่ถ่ายมาอาจจะมากกว่านั้นเยอะ คุณก็จะดูได้เต็มๆ ซึ่งตรงนี้ก็กลายมาเป็นความแตกต่างหรือ Different”

อย่างไรก็ดี แม้ปัจจุบันจำนวนช่องของแกรมมี่จะมีมากและมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แต่เดี่ยวกลับบอกว่า นี่ไม่ใช่เรื่องใหญ่มากนัก เพราะตอนนี้สิ่งที่สำคัญมากกว่า ก็คือจะบริหารและต่อยอดธุรกิจอย่างไร?

โดยตอนนี้สิ่งที่แกรมมี่จะทำก็คือ การสร้างแพลทฟอร์มเพื่อสร้างฐานกลุ่มผู้ชมให้เห็นชัดขึ้น ซึ่งถ้าเปรียบเป็นทีมฟุตบอลก็เหมือนการสร้างลีกหรือดิวิชันกลายๆ นั่นเอง ซึ่งทางหนึ่งที่พอเห็นแล้วก็คือ การผลิตกล่องสัญญาณของแกรมมี่โดยเฉพาะ เพื่อรวบรวมช่องของแกรมมี่ให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน โดยคุณสมบัติพิเศษอย่างหนึ่งก็คือ หากมีกล่องนี้ก็จะสามารถรับชมรายการของแกรมมี่ได้มากกว่าคนที่ไม่ใช้ เช่น การถ่ายทอดสดกีฬาระดับโลก ซึ่งแกรมมี่ถือครองลิขสิทธิ์อยู่นั่นเอง

“กล่องสัญญาณที่เรามันถือเป็นจุดหนึ่งที่ตอบโจทย์เรื่องแพลทฟอร์ม ซึ่งเรามั่นใจว่าต่อไปมันก็จะสามารถขยายต่อไปในอนาคตได้ ตัวอย่างปัจจุบันช่องรายการของเราเป็น Free-to-air (รับชมฟรี) ต่อไปก็สามารถทำธุรกิจของ Pay TV (ช่องที่ต้องเสียเงินดู โดยอาจจะเสียเป็นรายเดือน หรือเสียเฉพาะตอนติดตั้ง) หรือ Pay per view (รายการที่ต้องสั่งซื้อเฉพาะ) เช่นต่อไปมีคอนเสิร์ตพี่เบิร์ด บัตรหมดเร็วมาก คนหาบัตรไม่ได้ วันหนึ่งคุณสามารถซื้อรายการนี้มาดูกับแพลทฟอร์มของเราได้ พูดง่ายๆ เป็นการต่อยอดโชว์บิทของเราอีกทางหนึ่ง โดยเราคิดว่าน่าจะทำได้ภายใน 1-2 ปีนี้ จากนั้นก็ขยายไปพร้อมกับเทคโนโลยีที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เช่น ไอพีทีวี หรือ 3 จีที่จะดูได้ผ่านมือถือได้ เพราะฉะนั้นสิ่งที่เราทำวันนี้ จึงถือว่าเป็นการเตรียมความพร้อมในมุมเนื้อหา เพื่อรองรับธุรกิจแพลตฟอร์มหรืออะไรต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้” เดียวสรุปทิ้งท้าย
>>>>>>>>>>>
……….
เรื่อง : สุทธิโชค จรรยาอังกูร
ภาพ : พงศ์ศักดิ์ ขวัญเนตร
กำลังโหลดความคิดเห็น