“อาชีพแพทย์เป็นอาชีพที่ต้องใช้ศิลปะ คนไข้แต่ละคนมีความแตกต่างกันไปก็ต้องใช้ศิลปะในการรักษา เหมือนตัดเสื้อให้เข้ากับรูปของแต่ละคน บางทีเสื้อโหลก็ใช้ไม่ได้สำหรับทุกคน”
เหมือนกับอาชีพจิตแพทย์ ของ นพ. อภิชาติ จริยาวิลาศ ที่ต้องใช้ศิลปะความละเอียดอ่อน ในการวิเคราะห์ สังเกต และความเข้าใจเป็นพื้นฐานในการรักษาผู้ป่วย
มาล้วงลึกพูดคุยจิตแพทย์หนุ่มอารมณ์ดี พร้อมพกพาความฮา จากกรมสุขภาพจิตโรงพญาบาลศรีธัญญาผู้ใช้ความรักในศาสตร์แห่งศิลปะในการช่วยรักษาผู้ป่วยด้านจิตเวช เพื่อการศึกษาวินิจฉัยปัญหาแท้จริงว่าเกิดจากสาเหตุอะไร และใช้ความเข้าใจบวกกับความรักในการรักษาและช่วยเหลือ
ทำไมถึงอยากเป็นจิตแพทย์
ตอนแรกสนใจเป็นหมอสูตินารีเพราะคุณตาเป็นหมอด้านนี้ พอเรียนไปก็อยากเป็นหมอเด็กมากกว่า เพราะได้เจอเด็กและได้มีโอกาสทำหนังสือเกี่ยวกับเด็กที่ติดเชื้อเอชไอวี ซึ่งติดจากแม่สู่เด็ก อย่างคนหนึ่งป่วยมันไม่ได้มีปัญหาเฉพาะร่างกาย แต่เป็นปัญหาทางด้านจิตใจด้วย ดังนั้นจึงมีความคิดว่าการช่วยเหลือเด็กที่ป่วยมันไม่ใช่การช่วยเหลือแค่คนเดียว ถ้าเป็นเรื่องของจิตใจมันสามารถช่วยเหลือได้ทั้งครอบครัว เลยเป็นจุดสนใจว่าเราอยากมาเรียนเป็นจิตแพทย์
คุณหมอเขียนหนังสือด้วย
ครับ เป็นหนังสือที่เกี่ยวกับเอชไอวีในเด็กว่า เด็กที่เป็นเขาต้องประสบอะไรมาบ้าง คือให้คนอ่านเข้าใจในตัวเด็กและครอบครัว ซึ่งอันนี้ก็ร่วมทำกับสภากาชาด ก็ทำออกมาเป็นเจ็ดภาษา เผยแพร่ทั่วโลก
ปกติบุคลิกคุณหมอเป็นคนยังไง
เป็นคนสบายๆ ง่ายๆ บางทีการที่เป็นคนตึงเกินไป ก็ไม่ได้ทำให้ชีวิตดีขึ้น แต่ถ้าหย่อนเกินไปชีวิตก็จะไม่มีระเบียบ แต่ละบุคลิกก็มีข้อดีต่างกันไป แต่ในบางกรณีคนไข้ก็อยากได้เจอแพทย์ที่ไม่ตึงเครียดมาก เพราะชีวิตก็เครียดมากแล้ว ถ้ารู้สึกเข้าหายากอีกมันก็ยิ่งมีปัญหา
สมัยนี้ทุกอย่างมันเครียดไปหมด ถ้าต้องมาเจอหมอเครียดอีกมันก็ไปกันใหญ่ บางทีการเข้าหาง่ายขึ้นก็ทำให้เขาสบายใจมากขึ้นและทำให้สื่อสารกันง่าย เพราะยิ่งเป็นจิตเวชคนไข้เข้าหายากคนไข้ก็ไม่กล้าเข้าหา
คนไข้ของคุณหมอมีลักษณะไหนบ้าง
มีตั้งแต่คนไข้ที่ไม่ได้ป่วยแต่อยากมาพัฒนาตัวเองให้ดีขึ้น อาจจะเป็นแค่เครียดธรรมดา จนไปถึงเครียดเยอะๆ จนเป็นโรคซึมเศร้าทางจิตรุนแรงหนักเลยก็มี
แล้วคนไทยเป็นเยอะหรือเปล่า
จริงๆ แล้ว ตอนนี้คนไทยเป็นเยอะมาก ประมาณยี่สิบถึงสามสิบเปอร์เซ็นต์ของคนไทยทั้งหมด นี่คือขั้นต่ำ แต่ดีกรีความรุนแรงของโรคอาจไม่เท่ากัน ถ้าน้อยๆ ก็ใช้ชีวิตปกติได้ แต่มันก็จะรบกวนชีวิตเป็นระยะ
แล้วจะรู้ได้ไงว่าเริ่มเป็น
อย่างบางคนอาจมีปัญหาซึมเศร้าอ่อนๆ อยู่ บางทีก็อาจจะไม่รู้ตัว แต่ถ้าเป็นโรคซึมเศร้าแรงๆ ไป จะง่าย เพราะเขาจะรู้ตัวแล้วว่า เขาเศร้าและมีปัญหานะ
คนที่ซึมเศร้าอ่อนๆ ก็แค่จะเบื่อๆ เซ็งๆ ไม่มีสมาธิและไม่ค่อยมีความสุขกับการใช้ชีวิต อาการก็จะเป็นเรื่อยๆ โดยเขาอาจจะคิดว่าเป็นแค่อาการของคนธรรมดา เดี๋ยวเข้าวัดก็หาย แล้วคิดว่าเขาไม่ได้มีปัญหา แต่จริงๆ แล้วมันเป็นตัวโรคซึ่งรักษาได้ กรณีอย่างนี้มีเยอะบางทีก็มีประเภทโรควิตกกังวลอ่อนๆ ซึ่งตัวเองก็ไม่รู้ตัว และคนรอบข้างก็คิดว่าเป็นบุคลิกภาพ กรณีแบบนี้ก็จะยังอยู่ได้แต่ถ้ามีเรื่องกระทบต่อจิตใจมากๆ จากกังวลน้อยอาจกลายเป็นกังวลมากและซึมเศร้าไปเลย
ระดับไหนที่เราต้องมาหาหมอ
สังเกตด้วยตัวเองและจากคนรอบข้าง อย่างตัวเราเองต่างไปจากเดิม ความสามารถในการดำเนินชีวิตเริ่มไม่เท่าเดิม เริ่มมีอุปสรรค เริ่มใช้ชีวิตยากขึ้น แต่อย่างมีความรู้สึกวิตกกังวลมันเป็นปกติคนทั่วไป แต่ถ้ารู้สึกวิตกกังวลแล้วคุมได้หรือเปล่า ถ้าคุมได้ก็ไม่ผิดปกติ แต่ถ้าคุมไม่ได้เริ่มรบกวนเวลาทำงานหยุดคิดไม่ได้ นี่ก็เป็นสัญญาณเตือนแล้วว่า เริ่มมีปัญหาละ
โรคจิตเกิดจากอะไรได้บ้าง
ความผิดปกติของการทำงานของสมอง สารเคมีทางสมองมันไม่สมดุลถ้าเป็นเมื่อก่อนอาจจะคิดว่าเป็นภาวะทางจิตใจอ่อนแอ ปัจจุบันนี้เราพบแล้วว่ามันเป็นความผิดปกติของการทำงาน โครงสร้างสมองมันอาจจะเหมือนเดิม แต่การหลั่งสารมันอาจจะมากไปหรือน้อยไปในบางตำแหน่งก็ทำให้เกิดอาการที่ผิดไปจากเดิม
อย่างนี้ต้องรักษายังไงและกินยาช่วยด้วยไหม
ส่วนใหญ่ปัจจุบันเราใช้ยารักษาเพราะเราเชื่อว่าจริงๆ แล้วมันเป็นโรค ในหลายๆ คนที่จะถูกคนอื่นมองว่าเป็นคนที่อ่อนแอหรือเปล่า แต่เราดูแล้วคนๆ นั้น อาจเป็นคนที่เข้มแข็ง แต่ ณ ตอนนั้นเขาไม่สามารถต่อต้านได้เพราะมันเป็นที่สมอง เมื่อสมองทำงานคลาดเคลื่อนก็ทำให้พฤติกรรมหลายๆอย่างผิดปกติไป
ปัจจัยสิ่งแวดล้อมรอบข้างเกี่ยวด้วยหรือเปล่า
บางทีก็บอกยากว่า ‘ไก่กับไข่อะไรเกิดก่อนกัน’ แต่หลายๆ กรณีก็จะเกิดจากพันธุกรรม ที่ตัวสมองผิดปกติของมันเอง เหมือนอย่างคนเป็นเบาหวาน อยู่ๆ ตับอ่อนก็ทำงานไม่ดีขึ้นมาเอง
เหมือนคนสองคนเจอสถานการณ์เดียวกัน แต่อีกคนหนึ่งไม่เป็น แต่อีกคนเป็น ถามว่าสิ่งแวดล้อมมันทำให้เป็นทุกคนหรือเปล่า ก็ตอบว่าเปล่า แต่จะเป็นการกระตุ้นสำหรับคนที่สมองส่วนหน้าตัวควบคุมอารมณ์ไม่ค่อยแข็งแรงอยู่แล้วพอโดนกระตุ้นก็เป็นขึ้นมาได้
ทราบมาว่าคุณหมอสะสมของเก่าด้วย
ของผมเองก็จะมีส่วนตัวอยู่บ้าง ก็จะเป็นภาพเขียน เครื่องลายคราม เป็นแนวศิลปะและรูปปั้น บางชิ้นก็เป็นศิลปะที่เน้นตัวศิลปินที่มีชื่อ เช่น ปิกัสโซ ท่านอังคาร กัลยาณพงศ์ และก็อาจจะมีของคนอื่นๆ อยู่
จริงแล้วทุกคนในครอบครัวเป็นคนรักงานศิลปะอยู่แล้ว ส่วนของคุณลุงก็จะมีสะสมเป็นพิพิธภัณฑ์เลย ชื่อว่า พิพิธภัณฑ์ปราสาท ที่จะเน้นการอนุรักษ์ เพราะบางอย่างตกทอดมาตั้งแต่สมัยคุณยาย และสืบต่อกันมาเรื่อยๆ เก็บรักษาไว้ อย่างบางชิ้นของไทยก็ถูกซื้อไปต่างประเทศคุณลุงก็จะประมูลกลับมา หรือบางชิ้นเป็นของต่างประเทศคุณลุงก็ชอบซื้อกลับมาเก็บสะสมไว้
โดยส่วนตัวคุณหมอมีความสนใจทางด้านศิลปะแค่ไหน
มีความสนใจเกี่ยวกับศิลปะค่อนข้างเยอะ อาชีพแพทย์เองก็เป็นอาชีพที่ต้องใช้ศิลปะเรียกว่าไปประกอบโรคศิลป์และก็ต้องใช้ศิลปะในการตรวจค่อนข้างมาก ไม่มีว่าพอคนไข้มาถึงแล้วรู้ว่าเป็นอย่างไรเลย แต่ละคนมีความแตกต่างกันไปก็ต้องใช้ศิลปะในการรักษา โดยเฉพาะเรื่องของจิตเวช ยิ่งต้องใช้ศิลปะมากขึ้นอีก เช่น โรคซึมเศร้า คนป่วยสิบคนไม่มีใครเหมือนกัน ไม่มีอะไรที่เป็น บ็อกซ์เดียวกันหมด แต่พอเป็นเรื่องของจิตเวชมันยิ่งต่างไปเยอะ ก็ต้องมีดีไซน์ในการรักษาแต่ละคน เหมือนตัดเสื้อให้เข้ากับรูปของแต่ละคน บางทีเสื้อโหลก็ใช้ไม่ได้สำหรับทุกคน...
เรื่อง : อุบลวรรณา โพธิ์รัง
ภาพ : อดิศร ฉาบสูงเนิน