xs
xsm
sm
md
lg

‘บ้าน+อาคารเก่า’ อนุรักษ์แบบมีชีวิต

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ข่าวคราวการเกิดเหตุเพลิงไหม้บ้านไม้ของ ม.ร.ว.ทิพยางค์ กาญจนดุล ผู้อำนวยการโรงเรียนราชินี เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว อาจจะไม่ได้เป็นเรื่องที่ใหญ่โตนัก เพราะเจ้าหน้าที่สามารถควบคุมเพลิงเอาไว้ไม่ให้ลุกลามได้สำเร็จ อีกทั้งยังไม่มีใครเสียชีวิต นอกจากสุนัขในบ้านที่เจ้าของไม่สามารถช่วยออกมาได้ทัน แต่ที่เป็นประเด็นขึ้นมาก็เพราะบ้านหลังนี้เป็นบ้านไม้ที่มีอายุกว่า 100 ปี ที่สร้างขึ้นตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 พร้อมๆ กับพระที่นั่งวิมานเมฆ

งานนี้เรียกได้ว่าประวัติศาสตร์กว่า 100 ปี ที่อยู่ในรูปแบบของตัวอาคารได้ไหม้เป็นจุณไปต่อหน้าต่อตากันเลยทีเดียว ซึ่งนอกจากตัวบ้านแล้ว ทรัพย์สินที่อยู่ในบ้านซึ่งถูกเผาไปพร้อมๆ กัน ก็ล้วนแต่เป็นวัตถุโบราณที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นพระเครื่อง เครื่องไม้โบราณ และอาวุธปืน ซึ่งทั้งหมดมีอายุพอๆ กับอายุของบ้าน

ส่วนสาเหตุของเพลิงไหม้ครั้งนี้ ก็สันนิษฐานกันว่าเกิดจากไฟฟ้าลัดวงจร ที่เป็นผลสืบเนื่องมาจากความทรุดโทรมของตัวอาคาร และระบบต่างๆ ภายใน

โดยกรณีนี้คงไม่ใช่กรณีแรกที่อาคารบ้านเรือนที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ต้องทรุดโทรมเสียหายไป เนื่องจากไม่มีใครดูแลอย่างถูกต้อง และมันก็จะไม่ใช่กรณีสุดท้ายแน่นอน ถ้าหากคนในบ้านเรายังไม่มีการดำเนินการและตื่นตัวเกี่ยวกับการอนุรักษ์อาคารเก่าแก่อย่างจริงจัง

คุณค่าทางประวัติศาสตร์ผ่านอาคารเก่า

“อาคารเก่าในบ้านเรานั้น มีอยู่ 2 แบบ คือเป็นอาคารที่ดูแลโดยภาครัฐ และอาคารที่ดูแลโดยเจ้าของบ้านเอง แต่เท่าที่เห็นนั้น ก็พอจะบอกได้ว่า มันยังไม่มีการดูแลในเรื่องนี้อย่างจริงจัง โดยเฉพาะอาคารที่เป็นไม้ ซึ่งส่วนมากมักจะเกิดความเสียหายไปตามกาลเวลา ในส่วนหนึ่งอาจจะเป็นเพราะเจ้าของบ้านอยากจะอนุรักษ์เอาไว้ในแบบดั้งเดิมให้มากที่สุด”

เอกสุดา สิงห์ลำพอง อาจารย์จากภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร แสดงความเห็นว่า อาคารเก่าแก่ ที่มีประวัติยาวนานมาเป็นร้อยปีนั้น ย่อมเป็นสิ่งที่มีคุณค่าอยู่ในตัวอย่างยิ่ง แต่ที่ผ่านมากลับไม่มีใครเข้ามาดูแลในเรื่องนี้เท่าที่ควร

“อีกปัจจัย ก็อาจจะเกิดจากเจ้าของบ้านไม่อยากให้ช่างที่ฝีมือไม่ถึงเข้ามาปรับปรุงซ่อมแซม เพราะมันมีตัวอย่างเรื่องของช่างที่ฝีมือไม่ถึงเข้ามาทำแล้วไม่ดีเท่าเดิมให้เห็นอยู่บ่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นการดำเนินการด้วยตัวเจ้าของเอง หรือดำเนินการด้วยกรมศิลปากรก็ตาม แต่ทั้งนี้ช่างที่ฝีมือดีก็ยังมีอยู่ แต่ถ้าจะให้ช่างพวกนี้มาดำเนินการค่าใช้จ่ายก็จะสูงมาก”

นอกจากนี้ เอกสุดากล่าวถึงสถานการณ์ของอาคารเก่าที่กระจายตัวอยู่ทั่วประเทศ ว่าทุกวันนี้มันยังไม่มีมาตรการในการดูแลรักษาและอนุรักษ์ไว้อย่างจริงจังเลย

“ทุกอย่างมันเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ทั้งหมด ดังนั้น มันจึงควรที่จะมีการดูแล ก่อนอื่นต้องดูจากความเห็นของเจ้าของกรรมสิทธิ์ก่อนว่าอยากจะทำไหม ที่ผ่านมา ถ้าเราให้กรมศิลป์ฯ เป็นคนรับผิดชอบก็อาจจะต้องขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน แต่ในการดำเนินการนั้นอาจจะไม่คล่องตัวเนื่องมาจากปัญหาด้านกำลังคนและงบประมาณ”

ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน ทางออกที่ไม่มีใครอยากใช้

ทางออกหนึ่งในการที่จะดูแลรักษาบ้านเก่า ให้คงอยู่ในสภาพดีและยังคงคุณค่าแบบดั้งเดิมนั้น ก็คือการนำอาคารขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน โดยในการดำเนินงานนั้นสามารถทำได้สองแบบ คือการที่เจ้าบ้านแจ้งความประสงค์เข้ามา และจากการสำรวจพื้นที่ของเจ้าหน้าที่จากกรมศิลปากรเอง

แต่เมื่ออาคารถูกตีตราว่าเป็นโบราณสถานแล้ว แน่นอนว่าสิทธิบางอย่างของเจ้าบ้านย่อมถูกลิดรอนลงไป แต่กระนั้น เจ้าบ้านเองก็ยังมีอำนาจในการถือครองอยู่เหมือนเคย

“ความเป็นเจ้าของก็ยังคงอยู่เช่นเดิมนะ แต่กรณีจะซ่อมแซมหรือต่อเติมอะไรก็ตามต้องแจ้งทางกรมศิลปากรก่อนเพราะว่ามันเป็นโบราณสถาน เมื่อขึ้นทะเบียนแล้วถือว่ามันเป็นโบราณสถานของชาติ ที่ประกาศผ่านราชกิจจานุเบกษา ใครจะมาสร้างอะไรที่ใกล้ขอบเขตต้องทำการขออนุญาต เพราะฉะนั้น ต้องคิดให้ดี ถ้าจะให้กรมศิลปากรไปขึ้นทะเบียน มันก็เหมือนกับการรอนสิทธิ เนื่องจากทำอะไรต้องขออนุญาตกรมศิลป์ก่อน”

อดีตอธิบดีกรมศิลปากร อาวุธ เงินชูกลิ่น เล่าให้ฟังถึงหนทางและข้อจำกัดต่างๆ ในการนำเอาอาคารไปขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน ซึ่งถ้าจะมีการซ่อมแซมก็อาจจะไม่มีความคล่องตัว เพราะกรมศิลปากรต้องกำหนดรายการการซ่อมตามหลักวิชาการ วัสดุต่างๆ ที่ใช้นั้นมันต้องคงสภาพต่อไปอีก 50-60 ปี และต้องดูให้เหมือนสภาพเดิม

นอกจากนั้น อาวุธยังกล่าวต่อไปอีกว่า ในเรื่องค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ เจ้าบ้านจะต้องจ่ายเองแทบทั้งหมด ซึ่งหากพิจารณาตามจริงแล้ว การขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานของอาคารที่พักอาศัยนั้น มันมิได้มีสิทธิพิเศษแต่อย่างใด แต่ถือเป็นการมอบสถาปัตยกรรมอันทรงคุณค่าให้เป็นมรดกของชาติ เพื่อทำการทะนุบำรุงให้คงอยู่เป็นสมบัติของประเทศต่อไปเท่านั้น

จากเงื่อนไขเหล่านี้ ก็พอจะทำให้รู้ได้ว่า เหตุใดผู้ที่ถือกรรมสิทธ์ในอาคารเก่าในบ้านเราจึงไม่อยากให้บ้านของตนกลายเป็นโบราณสถาน และยังคงทำการดูแลอาคารเก่าที่ทรงคุณค่าทางประวัติศาสตร์ตามศักยภาพของตนต่อไป

ต้องทำให้ขายได้ อีกหนทางในการอนุรักษ์แบบมีชีวิต

แต่ในอีกฟากหนึ่ง ก็ยังมีคนที่มองการอนุรักษ์ในแบบพบกันครึ่งทาง และพยายามทำให้อาคารเก่าที่เต็มไปด้วยคุณค่าทางประวัติศาสตร์ ให้มีชีวิตชีวาและมีลมหายใจต่อไปได้ในยุคปัจจุบัน

อัญชัญ แกมเชย ผู้จัดการสำนักงานบางกอกฟอรั่ม ซึ่งมีกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับอาคารในย่านเก่าแก่มานาน กล่าวว่า อาคารเก่านั้นมีหลายลักษณะ และปัญหาที่อาคารเหล่านี้ต้องเผชิญเหมือนๆ กันก็คือความขาดแคลนทั้งในแง่บุคลากรและวัสดุอุปกรณ์ในการซ่อมแซม

“ทุกวันนี้การซ่อมแซมเป็นไปอย่างยากลำบาก วัสดุอุปกรณ์ค่อนข้างจะหายาก โดยเฉพาะวัสดุไม้หรือหลังคาแบบเดิม ที่สำคัญตัวผู้ชำนาญการเองที่จะลงมาให้คำแนะนำก็ขาดแคลน เพราะทักษะของช่างในปัจจุบันเมื่อเทียบกับช่างโบราณนั้นถือว่าแตกต่างกันมาก”

ทางออกที่น่าจะตรงจุดมากที่สุดก็คือ การแก้ไขความขาดแคลนที่ประสบกันอยู่ในทุกวันนี้ โดยการจัดตั้งหน่วยงานกลางที่ทำหน้าที่ดูแล เชื่อมโยงข้อมูล เช่นใครอยากจะซ่อมบ้านเก่าก็จะมีช่างเข้าไปดูแล หรืออาจจะมีองค์กรที่ทำหน้าที่ระดมทุนเพื่อช่วยเหลือในเรื่องทรัพยากร โดยไม่ต้องรอความช่วยเหลือจากรัฐ

“สมัยก่อนเคยไปดูงานที่ญี่ปุ่น เขาจะมีองค์กรหนึ่งที่เรียกว่า Machizukuri ซึ่งทำหน้าที่ช่วยในการซ่อมแซมบ้าน ขณะเดียวกันเขาก็จะทำการพัฒนาโมเดลธุรกิจเพื่อสังคมให้กับคนที่อยู่ในบ้านเก่าด้วย เพื่อที่เขาจะสามารถมีธุรกิจที่อยู่ภายใต้บ้านเก่า คือเขาคิดว่าทำอย่างไรที่จะทำบ้านเก่าถึงจะขายได้ เช่นเอาไปทำห้องแถวแบบโบราณ หรือร้านกาแฟ ซึ่งในเมืองไทยเองต้องมีหน่วยงานทำนองนี้เกิดขึ้นมา”

ขณะเดียวกัน ต้องยอมรับว่า ทุกวันนี้มีชุมชนเก่าๆ หลายแห่งพยายามนำเสนอความเก่าของตัวเอง เพื่อเป็นจุดขายให้คนมาเที่ยว ไม่ว่าจะเป็น ปาย ภูเก็ต หรือกรุงเทพฯ เองก็ตาม ซึ่งเรื่องหนึ่งที่น่าเป็นห่วงก็คือ หลายๆ แห่งมุ่งเน้นการนำเสนอแต่ในเชิง 'มูลค่า' เพียงอย่างเดียว โดยไม่ได้ใส่ใจในเรื่อง 'คุณค่า' ของบ้านเก่าด้วย

“ตอนนี้เรื่องการขายบ้านเก่ากำลังเป็นกระแสมาก เช่น บางร้านก็เอาบ้านเก่ามาทำร้านกาแฟ หรือร้านก๋วยเตี๋ยว แต่ปัญหาคือเขาไม่ได้ใส่ใจเรื่องคุณค่าลงไปด้วย จริงๆ แล้วถ้าให้ดี เขาจะต้องทำให้ร้านนั้นๆ ไปได้กับส่วนรวม พูดง่ายๆ คือทำให้มันอยู่กับท้องถิ่นได้ ผสมกลมกลืนกับเรื่องวิถีชีวิต และวัฒนธรรมแบบดั้งเดิมด้วย”

ซึ่งในความเห็นของ ธีรภาพ โลหิตกุล นักเขียนสารคดีอิสระและนักเดินทาง ก็เป็นไปในทำนองเดียวกันกับ อัญชัญ เขาเชื่อว่า “ความเก่า” นั้นเป็นสิ่งที่ขายได้ และมันก็จะทำให้อาคารเก่าแก่เหล่านั้น อยู่รอด และดำรงอยู่ในสังคมอย่างมีความหมาย

“ช่วงนี้มีแนวโน้มคนจะหันกลับไปชื่นชมเรื่องราวในอดีต มันมีความน่าสนใจ หลายๆ ที่สะท้อนให้เห็นสังคมในยุคนั้นๆ บ้านเก่าเป็นเหมือนบันทึกทางประวัติศาสตร์ เช่นที่ภูเก็ต ให้เห็นการที่โปรตุเกสเข้ามาค้าขายในเอเชีย และนำเอาสถาปัตยกรรมแบบอาณานิคมเข้ามา แต่ตัวช่างเองก็ยังชื่นชมสถาปัตยกรรมแบบตัวเอง จึงเกิดการผสมผสานกลายเป็นชิโนโปรตุกีส

“เพราะฉะนั้น บ้านเก่า ผมว่าไม่มีวันตายหรอก มันยังมีลมหายใจดึงดูดนักท่องเที่ยว ยิ่งปัจจุบันคนเห็นคุณค่าของการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ฝรั่งเองเขาก็ชื่นชอบอยู่แล้ว บ้านเก่ายังมีพลังอยู่ในเชิงการท่องเที่ยวมากขึ้น ผมคิดว่าสักวันยิ่งนานคนจะยิ่งเห็นคุณค่า อาการโหยหาอดีตเป็นกระแสมาสักพักแล้ว”

..........


แต่ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นการขึ้นทะเบียนโบราณสถาน หรือการเข้ามาสร้างจุดขายโดยให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วม ก็ล้วนเป็นการหาทางออกให้แก่การอนุรักษ์อาคารเก่าทั้งสิ้น และทั้งหมดก็จะต้องมีการเริ่มต้นและดำเนินงานอย่างเป็นรูปธรรมในเร็ววัน ก่อนที่มรดกทางประวัติศาสตร์เหล่านี้จะสูญสิ้นอายุขัยลงไปทีละหลังสองหลัง จนไม่เหลือเอาไว้ให้คนรุ่นต่อมาได้ศึกษาเลย.

>>>>>>>>>>
……….
เรื่อง : ทีมข่าว CLICK
ภาพ : พงศ์ศักดิ์ ขวัญเนตร



กำลังโหลดความคิดเห็น