xs
xsm
sm
md
lg

จรรยาบรรณ ‘ก๊อบปี้โชว์’ เมื่อของปลอมริจะทำตัวเป็นของจริง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ในการเป็นศิลปิน-นักร้องนั้น ความสามารถและความเป็นตัวของตัวเองดูจะเป็นคุณสมบัติข้อแรกๆ ที่ศิลปินพึงต้องมี แต่นั่นก็ไม่เสมอไป เพราะกับการแสดงที่เรียกกันว่า 'ก๊อบปี้โชว์' ผู้แสดงยิ่งทำตัวเป็นคนอื่นได้มากเท่าไหร่ก็ยิ่งดี

แต่ถ้ามันเลยเถิดไปจนถึงขั้นที่ตัวปลอมเหล่านั้น สมอ้างว่าเป็นตัวจริง และทำให้คนดูเข้าใจผิดก็คงจะไม่ดีแน่ เพราะนอกจากมันจะผิดจรรยาบรรณแล้ว มันยังเข้าข่ายการโกหกหลอกลวงผู้บริโภคอีกต่างหาก

ดังเช่นกรณีของไผ่ พงศธรและ พี สะเดิด นักร้องลูกทุ่งชื่อดัง ที่ถูกนักก๊อบปี้โชว์มือดีแอบอ้างชื่อไปรับงานแสดงตามสถานที่ต่างๆ ทั้งในกรุงเทพและต่างจังหวัดจนทำให้ส่งผลกระทบต่อจำนวนงานโชว์งานและภาพลักษณ์ของศิลปินตัวจริงอย่างมาก

ในที่สุด ทางตัวแทนทางกฎหมายของบริษัทจีเอ็มเอ็มแกรมมี่ฯ ซึ่งเป็นต้นสังกัดของศิลปินทั้งสองก็ทนไม่ไหว เลยต้องรีบรุดไปแจ้งความกับกองปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (ปอศ.) เพื่อดำเนินคดีกับตัวปลอมที่เอาชื่อเสียงของศิลปินตัวจริงไปแอบอ้างเพื่อหาผลประโยชน์ใส่ตัว เพราะการกระทำดังกล่าวนั้นถือเป็นความผิดทางอาญาตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537

และนอกจากไผ่ พงศธร และ พี สะเดิดแล้ว ศิลปินคนอื่นๆ อย่าง ไหมไทย ใจตะวัน, ตั๊กแตน ชลดา ฯลฯ ก็ยังโดนนักก๊อบปี้โชว์นำชื่อไปแอบอ้างด้วยเหมือนกัน ซึ่งหลังจากมีการแจ้งความเกิดขึ้นแล้ว จะเกิดอะไรขึ้นบ้างก็คงต้องติดตามกันต่อไป

ก๊อบปี้ทั้งทีต้องมีจรรยาบรรณ

จะว่าไปเรื่องของก๊อบปี้โชว์ในบ้านเราก็ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะตามคาเฟ่ หรือสถานบันเทิงยามค่ำคืนอื่นๆ ก็มีก๊อบปี้โชว์แสดงกันดาษดื่น แต่กระนั้นก็ยังไม่นักก๊อบปี้โชว์คนไหนริอ่านแอบอ้างตัวเป็นตัวจริงสักที นั่นก็เพราะพวกเขามีจรรยาบรรณของวิชาชีพที่ยึดถืออยู่

นงนุช สมบูรณ์ หรือที่รู้จักกันในนาม 'เจเน็ต เขียว' ก๊อบปี้โชว์ชื่อดังกล่าวว่า หากจะยึดอาชีพก๊อบปี้โชว์นั้นต้องเปิดเผยไปเลยว่า ตนเป็นก๊อบปี้โชว์ และให้ผู้บริโภคเป็นคนตัดสินใจเองว่าจะดูหรือไม่ดู ไม่ใช่แอบอ้างในการทำมาหากินซึ่งตรงนี้เองก็ก่อความเสียหายและผลกระทบตามมา

“เหตุการณ์ที่ก๊อบปี้โชว์แอบอ้างตนเป็นศิลปินเพื่อมาหากินนั้น เป็นการกระทำที่ผิด และสร้างความเสียหายกับบริษัทสังกัดและศิลปินเอง และผลมันก็จะย้อนเข้าตัวคนที่แอบอ้างด้วย”

อย่างตอนเราไปแสดงงานก็แนะนำตัวก่อนเลยว่า เป็น เจเน็ต เขียว รูปแบบการแสดงจะเป็นวาไรตี้ผสมการแสดงก๊อบปี้โชว์ศิลปินชื่อดัง แต่แท้จริงแล้วเราก็ขายความเป็นเจเน็ต เขียว ก๊อบปี้โชว์

“จริงๆ มันไม่เหมือนหรอก ในสิ่งที่เราก๊อบปี้มันเป็นความคล้าย แล้วมันก็จะขำ ขายความเป็นวาไรตี้ของเราเอง คนชมก็จะได้ความบันเทิง มีการเปลี่ยนเสื้อผ้าเหมือนคาบาเร่ต์ แต่ว่าเราร้องสด”

สำหรับผู้ที่เข้ามาเป็นก๊อบปี้โชว์นั้น ควรระลึกว่าเราขายความเป็นก๊อบปี้ ซึ่งมันสามารถนำมาทำมาหากินได้ เพียงแต่ข้อสำคัญอย่างแอบอ้างตัว

“คุณอย่างแอบอ้าง ต้องให้คนดูตัดสินใจเองว่าเขาพร้อมที่จะดูก๊อบปี้โชว์ ให้เขายอมรับในตัวเราไม่ใช่ไปหลอกเขาว่าตัวจริงมานะ มันเหมือนการสร้างความเสื่อมเสียให้กับศิลปินที่เราก๊อบปี้เขามา คุณต้องมั่นใจกับความสามารถที่ก๊อบปี้ความเป็นตัวเขา แสดงออกไปเลยว่าเราเป็นก๊อบปี้โชว์ แต่ในนั้นก็ยังมีตัวตนของเราอยู่”

ส่วน อุ๊บ-วิริยะ พงษ์อาจหาญ นักปั้นดาราและสุดยอดแฟนพันธุ์แท้ดาราไทย ก็ได้แสดงความคิดเห็นไว้ว่า การเลียนแบบหรือก๊อบปี้โชว์นั้น เป็นสิ่งที่ไม่ได้มีแต่ในเฉพาะประเทศไทย แต่ทั้งนี้ผู้แสดงก็ต้องให้เกียรติกับเจ้าของผลงานที่เป็นศิลปินต้นแบบ ไม่นำชื่อเขาไปแอบอ้างว่าเป็นตัวจริง

“การเลียนแบบ เราต้องบอกว่าเราเลียนแบบ ในเมืองนอกเขาก็ยอมรับกันนะ แต่ต้องให้เครดิตแก่ศิลปินที่เราจะเลียนแบบ ถ้าเราไปก๊อบปี้มาทั้งดุ้นแล้วบอกว่า เราเป็นเขามันก็ไม่ใช่แล้ว

“มันเหมือนน้ำพึ่งเรือเสือพึ่งป่า อย่างบางคนตายไปแล้ว เช่น เอลวิส เพรสลีย์ ก็มีคนเลียนแบบเขา คนดูก็ยอมรับ ทำให้การแสดงเลียนแบบถือเป็นศิลปะแขนงหนึ่งขึ้นมา เราต้องดูด้วยว่ามันมีลิมิท (ขีดจำกัด) ตรงไหน ต้องบอกว่าเป็นก๊อบปี้โชว์ ไม่ใช่ไปป่าวประกาศว่านาย ก. ข. ศิลปินดังจากค่ายนั้น ค่ายนี้จะมาโชว์ แต่สุดท้ายก็เอาตัวปลอมมาขึ้นโชว์แทน มันเป็นเรื่องลิขสิทธิ์ที่เขาสามารถแจ้งจับได้”

เมืองไทยยังไม่มีกฎหมายเซเลบ

แม้ในมุมหนึ่ง การแสดงเลียนแบบคนดังจะมีมานมนาน แต่ทว่าหากพิจารณาในแง่มุมของกฎหมายก็ต้องยอมรับว่า มีความสุ่มเสี่ยงอยู่ไม่น้อย โดยในเรื่องนี้ พิเศษ จียาศักดิ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท โฟโนไรท์ (ไทยแลนด์) จำกัด ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายลิขสิทธิ์ ให้ความเห็นว่า ต้องพิจารณาออกเป็น 3 ส่วนด้วยกัน นั่นคือตัวคนแสดง ดนตรีที่เอาไปร้อง และประชาชน

ซึ่งหากพิจารณาในแง่ของการเลียนแบบตัวแสดงแล้ว เมืองไทยยังไม่มีกฎหมายควบคุมไปถึงเรื่องสิทธิของคนที่มีชื่อเสียง ซึ่งหากจะเอาผิดในเรื่องนี้ก็ต้องดูว่า เจ้าของบุคลิกนั้นเกิดความเสียหายหรือไม่ หากเสียหายก็ต้องใช้กฎหมายแพ่งธรรมดา เช่นเดียวกับความผิดที่เกี่ยวข้องกับประชาชน หากไม่รู้ก็มีสิทธิ์ฟ้องในข้อหาฉ้อโกงได้ แต่ถ้าทราบว่า ไม่ใช่ตัวจริงแล้วยังซื้อบัตรไปชมก็ถือว่าไม่มีความผิด เพราะฉะนั้นหัวใจสำคัญของเรื่องนี้ จึงอยู่ที่เรื่องดนตรีกรรมเป็นหลัก ซึ่งเรื่องนี้มีกฎหมายคุ้มครองอยู่

"เรื่องคาแรกเตอร์ ในเมืองไทยยังไม่การบอกว่าผิด เพราะเราไม่มีกฎหมายเกี่ยว ‘Celeb Law’ (ความผิดเกี่ยวกับคนดัง) เช่น ไปละเมิดโดยเอาบุคลิกเขามา หรือเลียนแบบเสียงเขามาใช้ บ้านเรายังไม่บอกว่าผิด และถ้าเป็นของกรณีของต่างประเทศซึ่งเขามีกฎหมายตัวนี้ ก็ต้องไปดูว่าบุคลิกดังกล่าวนั้นได้รับการคุ้มครองหรือไม่ ถ้ามีก็สามารถดำเนินการได้เลย เพราะการที่คุณจะเอาไปทำเพื่อการค้า ก็ต้องขออนุญาตเขา เว้นแต่คนที่เป็นผู้เลียนแบบบอกว่า ทำไปโดยไม่มีเจตนา หรือทำเพื่อล้อเลียน มันก็ได้รับการยกเว้น แต่หากเป็นเรื่องดนตรีกรรมถือว่า ชัดเจนกว่า โดยเราต้องดูว่าใครเป็นผู้เสียหาย ตัวอย่างเช่นกรณีที่มีคนละเมิดปลอมเป็นพี สะเดิด แล้วเอาเพลงเขาไปร้อง ถามว่าพี สะเดิดเป็นผู้เสียหายหรือเปล่า คำตอบคือไม่ใช่ เพราะเขาไม่ใช่ผู้สร้างสรรค์ ผู้เสียหายก็คือครูเพลง หรือคนที่ครูเพลงเขาโอนสิทธิ์ให้ เช่น แกรมมี่ ดังนั้นหากคนที่ไปเลียนแบบไม่ได้ขออนุญาตใช้สิทธิ์ในเพลงนั้น เจ้าของสิทธิ์ก็มีสิทธิ์จะฟ้องร้องได้"

สอดคล้องกับความเห็นของ พรชัย ศิรินุกูลชร เลขาธิการสมาพันธ์องค์กรผู้ใช้งานลิขสิทธิ์ไทย ที่อธิบายว่า ภายในงานเพลงนั้น จะมีเจ้าของสิทธิ์อยู่หลายสิทธิ์ ทั้งเรื่องสิทธิ์การบันทึกเสียง สิทธิ์ในเรื่องคำร้องทำนองหรือดนตรีกรรม และสิทธิ์ในเรื่องนักแสดงด้วย

ดังนั้น พรชัยจึงเสนอว่า องค์กรต่างๆ ในเมืองไทยจำเป็นต้องมีเอกภาพให้มากกว่านี้ กล่าวคือมีองค์กรกลางขึ้นมาดูแลโดยเฉพาะ เช่น เรื่องดนตรีกรรมก็มีสมาคมนักแต่งเพลงเป็นผู้จัดการให้ ส่วนค่ายเพลงก็รวมตัว เพื่อดูแลว่าใครเอาแถบบันทึกเสียงใครไปเปิด ส่วนนักแสดงก็ควรมีสมาคมวิชาชีพขึ้นมาดูแล และทั้ง 3 องค์กรนี้ก็ทำงานร่วมกันแบบ One Stop Service เพื่อดูแลการบริหารจัดการทั้งหมด แต่ทั้งหมดมันยังเกิดขึ้นไม่ได้เพราะกฎหมายบ้านเรามันไม่เอื้ออำนวย

ก๊อบปี้โชว์ในมุมของผู้ชม

อนุสรณ์ (สงวนนามสกุล) เป็นคนหนึ่งซึ่งนับได้ว่าเป็นเหยี่ยวราตรี ที่คุ้นเคยกับสถานบันเทิงเริงรมย์ทุกประเภทมาตั้งแต่วัยหนุ่มเล่าให้เราฟังว่า

“สมัยก่อนพวกก๊อบปี้โชว์นี่ก็จะมีให้เห็นตามคาเฟ่ ผมก็เคยดูอยู่หลายคน แต่พอพักหลังๆ นี่ผมไม่ค่อยเห็นแล้วนะ แต่รู้มาว่าเขาจะไปรับงานจำพวกงานอีเวนต์หรืองานเลี้ยงแทน อย่างล่าสุดเพิ่งไปงานวันเกิดของรุ่นน้องคนหนึ่ง เขาก็เอาโชว์พวกนี้มาแสดง คือเสียงเขาเหมือนเบิร์ดมากเลยนะ หน้าตานี่ไม่ค่อยเหมือนเท่าไหร่แต่เขาก็พยายามแต่งตัวให้เหมือน

ก๊อปปี้ “ในความคิดผม ผมว่าดูก๊อบปี้โชว์ ก็เหมือนกับดูตลกนั่นแหละ เป็นเรื่องของความบันเทิง ศิลปินตัวจริงเขาไม่น่าจะถือสา ดีเสียอีก เพราะถ้ามีคนเอาไปล้อก็แสดงว่าศิลปินตัวจริงเขาดัง แต่ถ้าตัวปลอมไปอ้างกับคนอื่นว่าเป็นตัวจริงเพื่อหาผลประโยชน์นี่ก็เกินไปนะ” ซึ่งความเห็นของอนุสรณ์ก็เป็นไปในทำนองเดียวกับความเห็นของ อุ๊บ-วิริยะ ที่เคยบอกไว้ว่า

“คือถ้าทำอย่างถูกต้อง ทางค่ายต้นสังกัดเขาก็ชอบ เขาก็แฮปปี้นะ เพราะถือว่าเป็นความน่าภูมิใจ ถือว่าศิลปินที่ถูกเลียนแบบเป็นซุปเปอร์สตาร์ เพราะสุดท้ายมันเป็นการสร้างความสนุกสนานและบันเทิงเท่านั้นเอง”
..........

จะว่าไปตัวของก๊อบปี้โชว์เอง อาจจะไม่ใช่ปัญหา เพราะสุดท้ายมันก็คือโชว์เพื่อความบันเทิงแบบหนึ่ง ซึ่งไม่ได้สร้างความเดือดร้อนให้ใคร เพราะเท่าที่ผ่านมา ทั้งคนก๊อปและคนที่โดนก๊อปก็แฮปปี้ดีทั้งสองฝ่าย

แต่ที่มันเป็นปัญหาขึ้นมา ก็เป็นเพราะความเห็นแก่ได้ของคนบางกลุ่ม ที่ใช้ความสามารถในการก๊อบปี้ของตนไปในทางมิชอบและทำให้ผู้อื่นเสียประโยชน์นั่นเอง
>>>>>>>>>>
………

เรื่อง : ทีมข่าว CLICK



กำลังโหลดความคิดเห็น