ทนไม่ไหวแล้ว!... หลายคนคงรู้สึกเช่นเดียวกันเมื่อก้าวเท้าเข้าไปในโรงหนังทุกวันนี้ มันมีหลายสิ่งหลายอย่างรบกวนจิตใจ รังควานไม่ให้มีความสุข ถึงแม้ผู้บริโภคทั้งหลายจะยอมควักเงินจากกระเป๋าเพื่อแลกกับความบันเทิงบนจอยักษ์ แต่เงินที่เสียไปก็ไม่อาจซื้อความสุขได้อย่างสมบูรณ์แบบ ตรงกันข้าม กลับมีแต่ทำให้สมองเครียดหนักกว่าเดิม เมื่อต้องทนกับสภาพบีบบังคับหลากหลายรูปแบบที่บรรจุอยู่ในนั้น
เริ่มตั้งแต่เรื่องที่เห็นๆ กันอยู่ แต่ไม่รู้จะจัดการอย่างไรอย่างเรื่อง “โฆษณา” ย้อนกลับไปสมัยแรกๆ ที่มีไอเดียนี้เกิดขึ้น ตอนนั้นยังมีสินค้าไม่กี่ชิ้นยอมทุ่มเงินหลายหลักเพื่อยัดเยียดให้ผู้ซื้อตั๋วจดจำสินค้าของตัวเอง จึงยังมีโฆษณาไม่กี่ตัวฉายในโรงหนัง ทำให้พอทำใจดูเพลินๆ กันไปได้
แต่ทุกวันนี้มันไม่ใช่อย่างนั้น ต้องเรียกว่าเป็นยุค “โฆษณามหาโหด” คนดูทั้งหัวหงอกหัวดำต้องทนนั่งดูสิ่งที่ตัวเองไม่ได้เต็มใจดู ต้องทนรับข้อมูลที่ตัวเองไม่ได้ตั้งใจจะเสียเงินซื้อ เพราะไม่ว่าจะหันไปใช้บริการของโรงภาพยนตร์ในเครือไหน ก็ล้วนแล้วแต่ฉายโฆษณาทั้งนั้น ซึ่งเวลาทั้งหมดที่เสียไปก็ไม่ใช่น้อยๆ ลองจับเวลาดูจะพบว่ากินเวลาเกือบครึ่งชั่วโมง!... คิดดูสิว่าเราเสียเวลาชีวิตในโรงหนังไปเพื่ออะไรกัน?
...เพื่อดูโฆษณาสินค้าจับฉ่าย ตั้งแต่ประเภทน้ำอัดลม ขนม ยาสีฟัน ฯลฯ โฆษณากันสากกะเบือยันเรือรบ ทั้งๆ ที่หนังโฆษณาบางตัวที่ฉายคือฉบับเดียวกับที่ฉายในทีวี ไม่ได้มีไอเดียแปลกใหม่ให้น่าดูชมเลยแม้แต่นิดเดียว หลายคนตัดปัญหาด้วยการเข้าดูสาย คือถ้าเวลาฉายระบุว่า 20.00 น. ก็แก้ปัญหาด้วยการเข้าช้าไปอีก 20-30 นาทีเพื่อเลี่ยงโฆษณาและขจัดการรอคอยที่น่าหงุดหงิด
แต่อีกหลายคนก็ทำเช่นนั้นไม่ได้ โดยเฉพาะคอหนังที่ชอบดูหนังตัวอย่าง คนเหล่านั้นจำต้องทนดูโฆษณาที่ฉายสลับกับพรีวิวหนัง เพราะคาดเดาช่วงเวลาที่แน่นอนของสิ่งที่อยากดูไม่ได้ ท้ายที่สุดผู้บริโภคอย่างเราๆ จึงต้องตกอยู่ในสภาวะจำยอม อย่างที่เป็นอยู่มาหลายต่อหลายปีและไม่มีท่าทีว่าจะดีขึ้น
“ราคาตั๋ว” ก็เป็นเรื่องที่น่าปวดใจไม่แพ้กัน เพราะนับวันจะยิ่งถีบราคาสูงขึ้นเรื่อยๆ จากเดิมแค่ไม่ถึงร้อยก็ต้องทำงานกันแทบกระอักเลือดแล้ว แต่นี่ราคาที่นั่งธรรมดาปาเข้าไปร้อยกว่า หนักข้อหน่อย 180-200 เลยก็มี ถ้าจะอ้างว่าเป็นราคาความหรูของโรงหนังที่บวกเพิ่มเข้าไป ก็ยังอาจพอเข้าใจได้ แต่จากที่เจอมากับตัวและได้ฟังคำก่นด่ามากมายบนโลกออนไลน์แล้วสรุปได้ว่าเหตุการณ์ทั้งหมดที่เกิดขึ้นช่างไม่ยุติธรรมเสียเลยจริงๆ
ผู้ประกอบการบางรายถือวิสาสะเพิ่มค่าตั๋วหนังแบบไม่สมเหตุสมผล คือหนังเรื่องไหนฟอร์มยักษ์หน่อยหรือคนดูเยอะ กระแสตอบรับดี ราคาจะเขยิบเพิ่มขึ้นอีก 20-40 บาทต่อที่นั่ง ทั้งๆ ที่ฉายโรงเดียวกับที่หนังเรื่องอื่นๆ เคยฉาย ซึ่งองค์ประกอบเรื่องภาพ เสียง การบริการ หรือแม้แต่เก้าอี้นั่งกลับไม่ได้แตกต่างกันเลยแม้แต่นิดเดียว ถามว่าลูกค้าต้องเสียเงินเพิ่มเพื่ออะไร ในเมื่อไม่รู้ด้วยซ้ำว่าตัวเบาะที่นั่งหรือพรมในโรงภาพยนตร์ราคาแพงนั้น เคยได้รับการทำความสะอาดให้คุ้มค่าแก่เงินที่เสียไปบ้างหรือเปล่า?
ถึงแม้จะมีโปรโมชันใจป้ำ “ทุกเรื่อง ทุกรอบ คิดเพียง 60 หรือ 80 บาทเท่านั้น” แต่ถ้าพิจารณาให้ดีแล้วจะรู้ว่าทั้งหมดเป็นแค่ “โปรโมชันจอมปลอม” เพราะมันไม่ได้สวยหรูอย่างที่พยายามล่อหลอกเอาไว้ เอาเข้าจริงเมื่อถึงเวลาอยากดูหนังใหม่ๆ สักเรื่อง กลับถูกพนักงานขายตั๋วทำลายความฝันด้วยข้ออ้างที่ว่า “หนังเรื่องนี้ไม่รวมอยู่ในโปรโมชันค่ะ” ราคาดังกล่าวจึงเป็นจริงได้เพียงหนังประเภทเก่าค้างโรงหรือเฉพาะโรงหนังแถบชานเมืองและต่างจังหวัดเท่านั้น สุดท้ายประชาชนผู้ตกเป็นเหยื่อจึงจำต้องเดินคอตกไปตีตั๋วราคาแพงเหมือนเดิม
ยังไม่รวมพฤติกรรมการลิดรอนสิทธิผู้บริโภคอย่างหน้าตาเฉยด้วยกฎเกณฑ์ที่ว่า “ห้ามนำอาหารและเครื่องดื่มจากภายนอกเข้ามารับประทานภายในโรงภาพยนตร์” ทำให้เหลือทางเลือกไม่มากนักสำหรับคอหนังที่ท้องว่างทั้งหลาย คือถ้าไม่หันไปพึ่งป็อปคอร์นและน้ำอัดลม ส่งเสริมธุรกิจการขายอันครบวงจรของเจ้าของเดียวกัน ก็ต้องอาศัยวิธีซุกซ่อนอาหารที่อยากกินเข้าไปแทน โดยยัดเข้าไปตามซอกหลืบที่คิดว่าลึกลับที่สุด ถ้าพนักงานตรวจค้นไม่เจอก็ถือว่าภารกิจเสร็จสมบูรณ์
ถึงจะแก้ปัญหาทั้งหมดที่กล่าวมาด้วยวิธี “ทำใจ” เอาหูไปนาเอาตาไปไร่ ทำเป็นไม่สนใจโฆษณาบนจอกว้างๆ ตั๋วราคาแพงๆ หรือแม้กระทั่งป็อปคอร์นที่ไม่เคยนึกอยากกินตั้งแต่แรก แต่ก็ใช่ว่าความรู้สึกแย่ๆ จะหมดสิ้นลง เพราะคอหนังยังสามารถเจอเรื่องกวนใจในโรงภาพยนตร์ได้อีกหลากหลายประการอย่างที่หลายๆ คนเจอมาแล้ว
“เกือบตายในโรงหนังมาแล้วค่ะ พี่แกเล่นปิดแอร์ตั้งแต่กลางเรื่อง เป็นโรคหอบหืดและโรคภูมิแพ้ด้วย เจอแบบนี้เข้าไป ทั้งร้อน ทั้งอึดอัด หายใจไม่ออก เกือบชัก ไม่รู้ว่าจะรีบประหยัดแอร์อะไรกันนักกันหนา เสียเงินค่าตั๋วไปแล้วนะคะ!”
“ตอนนั้นดูหนังที่ปิ่นเกล้า นั่งริมทางเดิน กำลังยืนร้องเพลงสรรเสริญพระบารมีอยู่ จู่ๆ ก็มีหนูวิ่งสวนขึ้นมาตรงบันได ตัวใหญ่มาก! ตอนแรกบอกแฟน แฟนไม่เชื่อ นึกว่าตาฝาด สักพักมันวิ่งลงมาอีกก็เลยชี้ให้ดู สุดท้ายเลยต้องนั่งยกขาดูหนังกันทั้งเรื่อง”
“เคยถูกคนข้างหลังดันเบาะ พอหันไปมอง โอ้แม้เจ้า! คุณเธอเอาเท้ายันเบาะที่เรานั่งนั่นเอง แต่ก็พยายามอดทนตลอดทั้งเรื่อง คิดว่าเรามาพักผ่อนไม่ควรเครียด ทนไว้ๆ ทนจนหนังจบแบบไม่รู้เรื่อง T T”
นี่เป็นเพียงเสียงสะท้อนส่วนหนึ่งเกี่ยวกับประสบการณ์การดูหนังจากสังคมอินเทอร์เน็ต ถามว่าเราควรยอมรับสภาพที่เป็นอยู่ทั้งหมดนี้อีกนานแค่ไหน? เชื่อว่าหลายคนคงต้องการคำตอบเช่นกัน อย่างน้อยก็ทุกครั้งที่เสียเงินแลกตั๋วหนังเพื่อเข้าไปพบกับ "ความหงุดหงิดครบวงจร" (ไม่ใช่ความบันเทิงครบวงจรอย่างที่พยายามสร้างภาพไว้) แต่ถ้าจะเรียกร้องให้ผู้ประกอบการออกมาตอบคำถามหรือรอให้หน่วยงานยื่นมือมาช่วยจัดการ คงต้องรอกันไปอีกนาน
ตอนนี้มีคนจำนวนหนึ่งกำลังรวมตัวกันบนกระทู้พันทิปและหน้าเฟซบุ๊ก เพื่อแบนโรงหนังบางเครือที่เอาเปรียบผู้บริโภคด้วยวิธีต่างๆ นานา ลองเสิร์ชหาข้อมูลแล้วเข้าร่วมดู คุณอาจพบว่าผู้บริโภคอย่างเราๆ ทำได้มากกว่าการหนีไปดูแผ่นผีหรือก้มหน้ารับชะตากรรมต่อไป
ข่าวโดย Manager Lite/ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์