xs
xsm
sm
md
lg

เปิดตำนาน แสตมป์ไทยโบราณ “หนึ่งนาฬิกา” ราคาหลักแสน!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


 
 
แสตมป์ไทยไม่ได้เป็นเพียงแค่กระดาษแผ่นหนึ่ง ถ้ามูลค่าในนั้นสูงลิบลิ่วเป็นหลักล้าน สิ่งนี้เกิดขึ้นจริงในวงการ นักสะสมแสตมป์ไทยที่หลายคนอยากมีไว้ครอบครอง เป็นเครื่องพิสูจน์ถึง “ความเป็นที่สุด” ไม่ว่าจะเป็นแสตมป์ชุดราคาแพงที่สุด หรือชุดหายากที่สุด เพื่อความเป็นหนึ่งในสุดยอดนักสะสมแสตมป์ไทย ซึ่งนอกจากการตีคุณค่าเชิงราคาแล้ว ภาพในแสตมป์ยังบอกเล่าเรื่องราว ที่มาของประวัติศาสตร์ไทย ในแต่ละยุคสมัยที่ทรงคุณค่ามากมายกว่าสิ่งอื่นใด

เปิดตำนานแสตมป์ไทย มีหลายสิ่งที่น่าเรียนรู้และน่าค้นหาในเรื่องราวของแสตมป์ จากสุดยอดแฟนพันธุ์แท้แสตมป์ไทย 3 สมัย เจนวิทย์ อภิชัยนันท์ กรรมการบริหารสมาคมนักสะสมตราไปรษณียากร ผู้มีคลังความรู้เกี่ยวกับแสตมป์ไทยอย่างมหาศาล ทั้งเป็นหนึ่งนักสะสมที่ติดตามข่าวสารของแสตมป์มาโดยตลอด 22 ปี และร่วมค้นหาที่มา กว่าจะเป็นแสตมป์กับ วีณา จันทนทัศน์ นักออกแบบชั้นครู ได้เวลาที่ M-feature จะมาขุดคุ้ยความรู้จากกูรูแสตมป์ไทย ซึ่งการันตีด้วยรางวัลและความสามารถระดับชั้นแนวหน้าของเมืองไทย

เริ่มด้วยความรู้พื้นฐานของแสตมป์ ซึ่งหลักๆแบ่งออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่ แสตมป์ที่ใช้งานจริง แสตมป์ที่ระลึกที่ออกในวันสำคัญต่างๆ และแสตมป์พิเศษ ที่ไม่มีวาระออกใดๆ ส่วนใหญ่ออกมาเพื่อการประชาสัมพันธ์ และปัจจุบันแสตมป์ที่ นักสะสมให้ความสนใจ เป็นแสตมป์ใช้งานจริงที่เกี่ยวข้องกับพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จะเห็นได้ว่าบทบาทหนึ่งของแสตมป์ไทยสามารถแบ่งยุคสมัยได้อย่างชัดเจน
 

แรกเริ่มแสตมป์ไทย
เจนวิทย์ อภิชัยนันท์ กรรมการบริหารสมาคมนักสะสมตราไปรษณียากรแห่งประเทศไทย ในพระราชูปถัมภ์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และสุดยอดแฟนพันธุ์แท้แสตมป์ไทย 3 สมัย กล่าวว่า ประเทศไทยมีแสตมป์ชุดแรกอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2426 คือ แสตมป์ชุดโสฬศ เป็นพระบรมสาทิศลักษณ์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า เจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ที่เรียกว่าแสตมป์ชุดโสฬศ เพราะแสตมป์ดวงแรกในชุดคือแสตมป์ราคา 1 โสฬศ ซึ่งถือว่าเป็นแสตมป์ดวงแรกของประเทศไทย คล้ายกับประเทศอังกฤษที่มีแสตมป์ดวงแรกราคา 1 เพนนี ที่เรียกกันว่าเพนนีแบล็ก

โดยแสตมป์ชุดโสฬศ ครบชุดมีจำนวน 5 ดวง มีราคา 1 โสฬศ, 1 อัฐ, 1 เสี้ยว , 1 ซีก และ 1 สลึง โดยดวงราคา 1 เฟื้อง ได้ถูกส่งมาล่าช้า จึงไม่ได้ประกาศออกใช้

ราคาต่ำสุดของแสตมป์คือ 1 โสฬศ ซึ่งในสมัยก่อนเราใช้อัตราตัวเงินเป็นเลขฐาน 8
โสฬศ = 1/2อัฐ (อัฐเป็นตัวพื้นฐานเหมือนสตางค์ 64 อัฐ = 1 บาท)
เสี้ยว = 2 อัฐ
ซีก = 4 อัฐ
เฟื้อง = 8 อัฐ
สลึง = 16 อัฐ

แสตมป์ไทยในช่วงแรกจะเป็นพระบรมสาทิศลักษณ์ของพระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงค์ รวมถึงสิ่งที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ เช่น ภาพครุฑ ภาพฉัตร หรือพระที่นั่งต่างๆ ต่อมาเมื่อยุคสมัยเปลี่ยนผ่าน ก็เริ่มมีภาพอื่นๆ ที่ทางผู้นำประเทศในแต่ละสมัยต้องการใช้ประชาสัมพันธ์ประเทศ เช่น วัฒนธรรมไทย สินค้าส่งออกที่สำคัญ สัตว์และดอกไม้ประเภทต่างๆ เพราะว่าเมื่อแสตมป์ได้ถูกติดบนซองจดหมายส่งออกไปต่างประเทศนั้น ภาพบนดวงแสตมป์จะเป็นสื่อการประชาสัมพันธ์ประเทศที่ดีมากในช่องทางหนึ่ง

จุดเด่นหนึ่งที่นักสะสมชอบในแสตมป์ไทยนอกจากความสวยงาม คงไม่พ้นความสำคัญของ “คุณค่า” ทางประวัติศาสตร์ที่สะท้อนอยู่ในดวงแสตมป์ และต้องยอมรับว่าแสตมป์ไทย ไม่ได้เป็นที่นิยมแค่ภายในประเทศหรือนักสะสมชาวไทยเท่านั้น แต่นักสะสมแสตมป์ทั่วโลกก็ให้ความสนใจไม่แพ้กัน ในฐานะที่ประเทศไทยเป็นประเทศหนึ่งที่มีความน่าสนใจ มีความเป็นเอกราช มายาวนาน ทำให้แสตมป์ไทยมีความเป็นเอกลักษณ์ค่อนข้างสูงมาก

ถือได้ว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่มีการแก้ราคาแสตมป์เยอะมากที่สุดประเทศหนึ่งในโลก เพราะว่าในสมัยก่อนแสตมป์ที่ออกจำหน่ายผู้มีอำนาจสั่งพิมพ์ไม่ทราบว่าจะออกแสตมป์ราคาไหน มากเท่าไหร่ เลยออกมาในปริมาณค่อนข้างที่จะใกล้เคียงกัน ไม่ต่างกันมาก หรือในบางทีก็สั่งพิมพ์แสตมป์ที่มีราคาหน้าดวงสูงเข้ามามากกว่า แต่ปรากฏว่าแสตมป์ที่ใช้จริงส่วนใหญ่จะเป็นแสตมป์ที่มีราคาหน้าดวงต่ำ เพราะใช้ในการส่งจดหมายหรือสิ่งตีพิมพ์ภายในประเทศ

ในยุคแรกเริ่มมีแสตมป์ไทยหลายชุดที่น่าสนใจ เช่น ชุดพระตะบอง สมัยนั้นเมืองพระตะบองที่อยู่ในประเทศกัมพูชา ยังเป็นเมืองที่ขึ้นแก่ประเทศไทย ที่เรียกชุดพระตะบองเนื่องจากว่า ในสมัยนั้นแสตมป์ที่ไปรษณีย์พระตะบองราคา 2 อัฐ กับราคา 10 อัฐ เกิดขาดแคลน ทางนายไปรษณีย์พระตะบองจึงเอาแสตมป์รัชกาลที่ 5 ชุด 3 ชนิดราคา 3 อัฐกับราคา 12 อัฐ มาพิมพ์แก้ราคาใหม่ด้วยเครื่องพิมพ์ดีด เป็นราคา 2 อัฐ กับ ราคา 10 อัฐ ตามลำดับ ปรากฏว่าไปรษณีย์ที่ทางกรุงเทพฯ ทราบเรื่อง จึงสั่งห้าม และเรียกคืนแสตมป์ทั้งหมด แสตมป์ชุดนี้จึงเป็นแสตมป์ที่หายากมากชุดหนึ่ง มีราคาประมาณ 3 แสนบาท

และแสตมป์ชุดฤชากร โดยในสมัยก่อนที่มีคนจีนทำงานอยู่ในประเทศไทย เมื่อต้องการส่งเงินกลับไปให้ครอบครัวที่ประเทศจีนก็จะไปส่งที่ผู้ส่งโพย ซึ่งผู้ส่งโพยก็จะรวบรวมเงินโพยเป็นห่อรวมกัน มัดเป็นห่อพัสดุ ซึ่งมีน้ำหนักมาก ต้องติดแสตมป์หลายสิบบาท แต่สมัยนั้นยังไม่มีแสตมป์ราคาเป็นสิบบาท จึงเอาแสตมป์ฤชากร ซึ่งเป็นอากรแสตมป์ที่ใช้ชำระในค่าธรรมเนียมศาลและที่ดินมาพิมพ์ทับคำว่า ”Postage” รวมทั้งชื่อประเทศและราคาเป็นภาษาอังกฤษ เป็นเพื่อใช้เป็นแสตมป์สำหรับการส่งจดหมายที่เป็นห่อใหญ่ เรียกว่า ชุดฤชากร ชุดนี้ก็มีราคาแพงมาก ประมาณ 4 แสนบาท เพราะมีราคาหน้าดวงที่สูงมากตั้งแต่ในสมัยนั้น คือราคา 10, 20 และ 40 บาท
 

ชุดหายาก - ราคาแพง
แสตมป์ไทยล้วนมีที่มาและความสำคัญด้วยกันทั้งนั้น ในตัวแสตมป์มีหลายปัจจัยเป็นตัวชี้วัดคุณค่าทั้งทางด้านราคา และความหายาก ซึ่งมีระยะเวลาและความสำคัญเป็นปัจจัยแวดล้อม คุณสมบัติต่างๆ เหล่านี้ แม้แต่กูรูแสตมป์ไทยก็ต้องใช้เวลาพินิจพิเคราะห์ความหลากหลายของแต่ละที่มาในดวงแสตมป์

“แสตมป์หายากนั้นมันขึ้นอยู่กับว่าเราจะวัดจากอะไร คือปกตินักสะสมแสตมป์จะมีการใช้คู่มือการสะสมแสตมป์ ซึ่งจะเป็นแสตมป์ชุดเบื้องต้นหรือชุดพื้นฐาน แต่ละชุดก็จะมีราคาที่แตกต่างออกไป ถ้าเราเอาราคาเป็นตัวชี้วัด อย่างปัจจุบันแสตมป์ไทยจริงๆที่มีราคาแพงที่สุด คือ แสตมป์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 พิมพ์แก้ราคา จากดวง 3 อัฐ แก้เป็น 1 อัฐ เรียกว่า “แบบหนึ่งนาฬิกา” เพราะเลขหนึ่งไทยที่พิมพ์เหมือนกับหน้าปัดนาฬิกาโบราณ ซึ่งจะหักรอบตัวลักษณะเหมือนแปดเหลี่ยม โดยแบบยังไม่ใช้ ราคาประมาณ 5-6 แสนบาท บางตำราเขาว่าพิมพ์เพียงแค่แผ่นเดียว ประมาณ 120 ดวงเท่านั้น ซึ่งมีอยู่ในชุดสะสมของนักสะสมชั้นนำของประเทศไทย อย่างคุณสุรจิตร ก้องวัฒนา, ดร.ประกอบ จิรกิติ

นักสะสมแสตมป์แต่ละคนก็จะมีแนวทางการเล่นของตัวเอง บางคนสะสมแสตมป์ไทยยุคคลาสสิก บางคนสะสมตราประทับบนแสตมป์ บางคนสะสมอากรแสตมป์ และก็มีบางท่านที่เน้นแสตมป์เฉพาะรัชกาล เช่น แสตมป์ในสมัยรัชกาลที่ 5 หรือ แสตมป์ในสมัยรัชกาลที่ 9 จึงเหมือนกับว่าแทบในทุกยุคสมัยก็จะมีนักสะสมที่สะสมและศึกษาในเชิงลึกตรงนี้อยู่

“หรือถ้าแสตมป์ที่เกี่ยวข้องกับแสตมป์ไทย จะมีแสตมป์อยู่กลุ่มหนึ่งซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีในนักสะสม คือ แสตมป์ไปรษณีย์กงสุลอังกฤษ โดยสมัยก่อน ประมาณ พ.ศ . 2425 - 2428 เราได้นำแสตมป์อินเดียและสเตรทเซทเทิลเมนทส์ ซึ่งปัจจุบันคือ ดินแดนในบางส่วนของมาเลเซีย และสิงคโปร์ มาพิมพ์ทับตัว B ซึ่งหมายถึง Bangkok คือเมื่อก่อนเรายังไม่ได้เป็นสมาชิกสหภาพสากลไปรษณีย์ ดังนั้นเวลาต้องการส่งไปรษณีย์ไปต่างประเทศ จึงจำเป็นต้องใช้ไปรษณีย์ของกงสุลอังกฤษ ซึ่งนำเอาแสตมป์เหล่านี้มาใช้ โดยจะมีศัพท์ในวงการ เรียกว่า“แสตมป์ตัว B” โดยดวงที่มีราคาสูงที่สุดคือ ดวง 30 เซนต์ สี“แดงเลือดนก” โดยมีราคาถึงกว่า 3 ล้านบาท

นอกจากนี้ยังมีแสตมป์ฮ่องกงที่นำมาใช้ที่กรุงเทพฯ โดยประทับตราประจำวันกรุงเทพฯ ใช้งานจริงบนซองจดหมาย โดยในการประมูลมีราคาถึงหลักล้านบาท เนื่องจากเป็นซองจดหมายติดแสตมป์ฮ่องกงประทับตราประจำวันกรุงเทพฯ จึงเป็นที่ต้องการทั้งของนักสะสมทั้งที่เก็บแสตมป์ไทยและแสตมป์ฮ่องกง รวมทั้งนักสะสมแสตมป์ที่นิยมสะสมประเภทประวัติไปรษณีย์อีกด้วย โดยซองจดหมายส่งจริง ซึ่งจะทวีความหายากมากกว่าแสตมป์ดวงเดี่ยวๆ ในบางชิ้นราคา 4 - 5 ล้าน ก็เคยปรากฏมาแล้ว ซึ่งเคยเกิดขึ้นจากการประมูลและมีการสู้ราคาจนถึงระดับนั้น ดังนั้นแสตมป์ที่หายากหรือสิ่งที่เกี่ยวข้องกับแสตมป์ก็จะมีราคาสูง มูลค่าจึงเป็นตัวสะท้อนถึงความหายากด้วย”
 

การออกแบบสะท้อนความเป็นไทย
สิ่งที่นำมาพิมพ์ลงบนแสตมป์ ต่างสะท้อนถึงเอกลักษณ์ของความเป็นไทย ทั้งยังเป็นเรื่องราวที่มีความสำคัญและมีความหมายน่าจดจำ เป็นสิ่งมีค่าที่ไม่ควรมองแค่ความสวยงามของการออกแบบ จึงเสมือนทำหน้าที่เป็นสื่อประชาสัมพันธ์ของประเทศ ซึ่งบางคนเคยเปรียบเทียบเป็น “ฑูตตัวจิ๋ว” เพื่อให้คนต่างชาติได้เห็นได้รู้จักประเทศไทย

“ความสำคัญของการออกแบบอยู่ที่โจทย์หัวข้อ” วีณา จันทนทัศน์ นักออกแบบแสตมป์ บอกว่า เราจะทำอย่างไรให้ภาพที่ออกแบบนั้นสื่อความหมายได้ชัดเจน เข้าใจง่าย แสตมป์เหมือนเป็นสื่อชนิดหนึ่งที่แสดงความเป็นตัวของมันเอง รูปในแสตมป์ที่ออกแบบก็จะสะท้อนถึงเอกลักษณ์ความเป็นไทย ซึ่งชาวต่างชาติเห็นแล้วรู้ทันทีเลยว่าเป็นของประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นศิลปวัฒนธรรมของไทย งานพิธีสำคัญต่างๆ ต่างสะท้อนถึงรูปแบบความเป็นไทยทั้งสิ้น

“การออกแบบต้องมีการศึกษาหาข้อมูลในเรื่องนั้นๆก่อน คนนี้มีความสำคัญต่อไทยอย่างไรบ้าง สถานที่นี้มีประวัติความเป็นมาอย่างไร อย่างแสตมป์ต่างๆที่เห็น เป็นชุดในหลวง วัดวาอารามของไทย เทพเจ้าสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลาย พระรุ่นต่างๆ ผ้าไทย ศิลปวัตถุ โบราณสถาน และในช่วงหนึ่งที่ประเทศต้องการเน้นเรื่องการส่งออก และให้ประเทศไทยเป็นที่รู้จัก อย่างเช่น ชุดกีฬาไทย ข้าว เอเซียนเกมส์ สัตว์ เครื่องดนตรีไทย สินค้าส่งออก และแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ ก็ล้วนแต่มีความสำคัญและเป็นเอกลักษณ์ของไทยทั้งหมด

นอกจากภาพในแสตมป์ต้องสื่อความหมายออกมาให้ชัดเจนแล้ว ความสวยงามก็เป็นสิ่งหนึ่งที่สร้างความจูงใจ เป็นความประทับใจครั้งแรกที่ได้เห็น ในการออกแบบจึงต้องมององค์ประกอบให้ครบทุกด้าน ศิลปะในการออกแบบจึงเป็นสิ่งสำคัญ การวางตำแหน่งรูปภาพ ตัวอักษร ความเหมาะสมของการวางในตำแหน่งต่างๆ จึงต้องดูองค์ประกอบหลายๆอย่างมาประกอบกันเป็นแสตมป์”

เห็นได้ว่า สิ่งที่นำมาพิมพ์ลงบนแสตมป์จะมีความสำคัญทั้งหมด ที่ทำให้เกิดความสนใจศึกษาเพิ่มเติม จากเดิมที่เห็นแสตมป์บนหน้าซองจดหมายที่ส่งมา หลายคนอาจเกิดความสงสัยในสถานที่แห่งนี้ บุคคลท่านนี้ สิ่งของสิ่งนี้ ทำไมถึงนำมาจัดพิมพ์เป็นแสตมป์ จากความสงสัยจึงทำให้อยากค้นคว้าเรื่องราวในแสตมป์จนมีความรู้ต่อยอด จากจุดเริ่มต้นคือแสตมป์นั่นเอง
 

คุณค่าบนแผ่นกระดาษ
คุณค่าของแสตมป์ไม่ได้อยู่เพียงแค่การเก็บสะสมเปล่าๆ แต่เมื่อไหร่ที่นำมาเรียบเรียงเป็นเรื่องราว พร้อมกับการศึกษาอย่างลึกซึ้งเพื่อสร้างเป็นชุดสะสมหรือคอลเลคชั่นขึ้นมา ก็จะมีคุณค่ามากขึ้น

เจนวิทย์ สุดยอดแฟนพันธุ์แท้แสตมป์ไทย ได้หยิบคอเล็กชั่นผลงานประกวดขึ้นมาเล่าเรื่องราวผ่านดวงแสตมป์ให้ฟังว่า การประกวดแสตมป์โดยการเอาแสตมป์มาเรียบเรียงเป็นเรื่องราวต่างๆ ให้ตรงกับสิ่งที่เรานำเสนอ โดยมีการศึกษาถึงเรื่องราวนั้นๆ อย่างลึกซึ้ง อย่างผลงานการประกวดของผม หัวข้อ แสตมป์ทดสอบสถิติราชการ คือเมื่อก่อนทางกรมไปรษณีย์โทรเลขได้มีหน้าที่จัดส่งไปรษณียภัณฑ์ให้กับหน่วยงานราชการ ซึ่งได้รับการจัดสรรงบประมาณจากรัฐบาล แต่ปรากฏว่าตัวเลขที่ได้รับไม่สะท้อนกับความเป็นจริง คือได้รับต่ำกว่าความเป็นจริง ทางกรมไปรษณีย์โทรเลขเลยออกแสตมป์ชุดนี้ใช้สำหรับทดสอบปริมาณการส่งไปรษณียภัณฑ์ระหว่างหน่วยงานราชการ แสตมป์ชุดนี้ออกใช้ระยะเวลาสั้นๆ เพียงแค่ประมาณ 4 เดือน เท่านั้น ตั้งแต่ 1 ต.ค. 2506 -31 ม.ค. 2507

สิ่งที่เป็นไฮไลท์สำหรับคอลเลคชั่นนี้ ก็คือซองจดหมายที่ส่งจริงในวันแรกที่จำหน่ายในวันที่ 1 ต.ค. 2506 โดยตราประทับประจำวันบนแสตมป์คือ 1 ต.ค. 2506 ซึ่งในปัจจุบันนี้พบเพียงซองเดียว และอยู่คอลเลคชั่นของผมนี่เอง โดยผลงานการประกวดนี้เคยได้รับรางวัลในระดับเหรียญทองในการประกวดแสตมป์ระดับชาติและทวีปเอเชียมาแล้ว

ปัจจุบันมีนักสะสมแสตมป์หน้าใหม่ลดน้อยลงกว่าแต่ก่อน เนื่องมาจากเทคโนโลยีมีความทันสมัยมากยิ่งขึ้น ดังนั้นสิ่งที่ดึงดูดความสนใจของเด็กๆจึงมีมากขึ้น ส่งอีเมลแทนการส่งจดหมายและสนใจเรื่องการเก็บสะสมน้อยลง ก้าวแรกของการสะสมแสตมป์จึงถูกตัดออกไป เมื่อเทียบกับอัตราเด็กวัยเรียนในสมัยก่อน ถ้าถามว่ามีคนเก็บแสตมป์เท่าไหร่ ในสมัยนั้นเด็กๆจะยกมือกว่าครึ่งห้อง แต่ตอนนี้เด็กๆที่ยังสะสมแสตมป์คงเหลืออยู่ในห้องสัก 2 - 3 คน (หัวเราะ)

การสะสมแสตมป์จึงเป็นงานอดิเรกที่มีประโยชน์มากๆ สามารถที่จะส่งเสริมทำให้เด็กๆมีพัฒนาการที่ดีในด้านต่างๆ อย่างเช่นในเรื่องของการช่างสังเกต มองเห็นจุดแตกต่างในแสตมป์ที่ไม่เหมือนกับแสตมป์ปกติทั่วไป ที่เรียกว่าแสตมป์ตลก เพราะถ้าเจอแสตมป์เหล่านี้เหมือนกับการเจอขุมทรัพย์ คือมูลค่าจะเพิ่มขึ้นเยอะมากกว่าแสตมป์ปกติ และส่งเสริมให้เราเป็นคนช่างศึกษาหาความรู้ คือถ้าเราเจอในสิ่งที่เราไม่รู้ ก็สามารถค้นคว้าต่อยอดได้ไม่ว่าจะเป็นทางหนังสือ หรืออินเทอร์เนต และทำให้เราเป็นคนมีเพื่อนเยอะเนื่องจากการพบปะพูดคุย แลกเปลี่ยนข้อมูลเรื่องของแสตมป์กัน

ที่สำคัญการสะสมแสตมป์ทำให้เป็นคนใจเย็นและรู้จักการรอคอย เพราะจากวันแรกจนถึงวันนี้ นักสะสมแสตมป์บางคนใช้เวลาหลายสิบปีในการสะสม ยิ่งไปกว่านั้นการสะสมแสตมป์เปรียบเหมือนการลงทุนในอีกรูปแบบหนึ่ง เพราะมูลค่าแสตมป์ก็จะเพิ่มขึ้นไปตามกาลเวลาและข้อมูลที่เราได้จากการศึกษาเพิ่มขึ้นนั่นเอง
 
 
 
 
 

 
ข่าวโดย M-Lite/ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์
ภาพโดย พงศ์ศักดิ์ ขวัญเนตร
กำเนิดแสตมป์ชุดแรก “ชุดโสฬศ”

แสตมป์ไทย “หนึ่งนาฬิกา” ราคาแพงที่สุด
แสตมป์ ตัว B “แดงเลือดนก”
แสตมป์ชุดฤชากร
“แสตมป์ตลก” ที่เกิดจากความผิดพลาดในการพิมพ์
ซองจดหมายที่ส่งจริงในวันแรกที่จำหน่าย 1 ต.ค. 2506
เจนวิทย์    อภิชัยนันท์
บรรยากาศภายในพิพิธภัณฑ์ตราไปรษณียากร

กำลังโหลดความคิดเห็น