xs
xsm
sm
md
lg

สงกรานต์ในพิพิธภัณฑ์ สรงน้ำพระเคราะห์พระพุทธรูปฟาแบร์เช่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ในเทศกาลสงกรานต์ปี 2554 ที่ถึงนี้ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ได้จัดกิจกรรมสรงน้ำพระพุทธรูปขึ้น ซึ่งดูเผินๆ แล้วกิจกรรมการสรงน้ำพระพุทธรูปครั้งนี้ ก็เหมือนกับการสรงน้ำพระพุทธรูปตามวัดในชุมชนต่างๆ ทั่วประเทศไทย แต่สิ่งที่พิเศษของงานในครั้งนี้ก็คือ การนำเอาพระพุทธรูปหยกที่มีคุณค่าทางโบราณคดีมาจัดแสดงและเปิดโอกาสให้ประชาชนทั่วไปได้มีโอกาสสรงน้ำพระพุทธรูปล้ำค่าองค์นี้ นอกจากนั้นทางพิพิธภัณฑ์ก็จะนำเทวรูปพระเคราะห์ 9 องค์มาร่วมในพิธีสรงน้ำครั้งนี้ด้วย

พระพุทธรูปหยกล้ำค่าที่กล่าวถึงข้างต้นนั้น คือพระพุทธรูปหยกที่มีประวัติความเป็นมาเก่าแก่ ซึ่งสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 6 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ โดยสกุล ฟาแบร์เช่ (Fabergé) ซึ่งเป็นช่างทองหลวงแห่งราชสำนักรัสเซีย

“ฟาแบร์เช่ นั้น เป็นห้างเครื่องเงินเครื่องทองของรัสเซีย ซึ่งผลิตงานให้แก่ราชสำนักรัสเซียเป็นหลัก และฝีมือของช่างตระกูลนี้นั้นโด่งดังไปทั่วยุโรป นอกจากนั้นเขายังผลิตงานให้แก่ราชสำนักสยามด้วย พระพุทธรูปหยกองค์นี้ก็เป็นงานที่ทางราชสำนักสยามสั่งทำขึ้นมา”

เด่นดาว ศิลปานนท์ ภัณฑารักษ์และรักษาการผู้อำนวยการพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร เล่าให้เราฟังถึงประวัติความเป็นมาโดยย่อของพระพุทธรูปล้ำค่าองค์นี้ต่อไปอีกว่า พลเรือเอก สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าอัษฎางค์เดชาวุธ กรมหลวงนครราชสีมา พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และ สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนี พระพันปีหลวง ทรงสั่งให้สำนักช่างอัญมณีฟาแบร์เช่ สร้างขึ้น เมื่อพ.ศ. 2457 โดยสร้างขึ้นจากหยกเนฟไฟรต์ (Nephrite) ซึ่งถือเป็นหินมีค่าที่นิยมนำมาสร้างเป็นพระพุทธรูป

ส่วนสาเหตุของการนำพระเคราะห์ 9 พระองค์มาร่วมในพิธีสรงน้ำนั้น เด่นดาวเล่าให้ฟังว่า ทางคติฮินดูพระเคราะห์ทั้ง 9 ย่อมเวียนเข้าแทรกให้คุณและโทษแก่ชีวิตมนุษย์ประจำวันคืนเดือนปีต่างๆ ดังนั้นในวาระปีใหม่ไทย จึงอัญเชิญพระเคราะห์สรงน้ำ เป็นการสร้างสวัสดิมงคลให้เกิดแก่ชีวิต

“พระเคราะห์ทั้ง 9 องค์นี้ สร้างขึ้นด้วยศิลปะสมัยรัตนโกสินทร์ ทำตามแบบของเจ้าฟ้าอิศราพงศ์ ที่ปรากฏภาพในสมุดไทยหมวดตำราภาพเล่มที่ 70 สำนักหอสมุดแห่งชาติ แต่เป็นการนำเอาแบบมาทำเป็นประติมากรรมลอยตัว”

ซึ่งประติมากรรมชุดนั้นมีลักษณะเด่นตรงที่ สามารถถ่ายทอดรูปแบบของเทวดานพเคราะห์ที่เคยเห็นในภาพวาด ให้ออกมาเป็นประติมากรรมแบบลอยตัว แสดงท่าทาง และลักษณะของเทวดานพเคราะห์ได้อย่างสมจริงและมีชีวิตชีวา โดยยังคงรักษาเอกลักษณ์ และลักษณะของเทพแต่ละองค์ไว้ได้อย่างสมบูรณ์ ทั้งนี้สันนิษฐานว่าน่าจะหล่อขึ้นในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยเปรียบเทียบลักษณะประติมากรรมกับภาพในสมุดไทยฉบับเจ้าฟ้าอิศราพงศ์ และรูปสัตว์ที่มีความเหมือนจริงเนื่องจากได้รับอิทธิพลจากตะวันตก

“เจ้าฟ้าอิศราพงศ์เป็นพระโอรสของวังหน้าในสมัยรัชกาลที่ 3 โดยท่านนั้นรับราชการดูแลเรื่องการช่างในสมัยรัชกาลที่ 4 ดังนั้น พระเคราะห์ทั้ง 9 องค์นี้ก็คือพระเคราะห์ของราชสำนัก ที่ใช้ในพิธีการต่างๆ นั่นเอง ทว่าในการสรงน้ำนั้น เราจะใช้พระหยกเป็นประธานเหนือพระเคราะห์ เพราะบ้านเราเป็นเมืองพุทธ”

การจัดงานสรงน้ำพระโดยการนำเอาพระพุทธรูปและเทวรูปพระเคราะห์ที่มีค่าทางโบราณคดีมาให้ประชาชนทั่วไปได้สรงน้ำ ในปีนี้ถือเป็นครั้งแรกของกรมศิลปากรและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติโดย นาย เอนก สีหามาตย์ รองอธิบดีกรมศิลปากรกล่าวถึงที่มาของงานว่า

“บ้านเรานั้นประเพณีการสรงน้ำพระ เป็นสิ่งที่ทำต่อเนื่องกันมาอยู่แล้ว ซึ่งในปีนี้ทางกรมศิลปากรก็ได้จัดการสรงน้ำพระขึ้นเป็นครั้งแรก โดยเราได้นำพระหยกและพระเคราะห์ทั้ง 9 องค์ซึ่งมีคุณค่าทางโบราณคดีมาให้ประชาชนทั่วไปได้สรงน้ำ ทั้งนี้เพื่อเป็นการส่งเสริมให้ประชาชนและนักท่องเที่ยวได้มีโอกาสเข้ามาเยือนพิพิธภัณฑ์ คืออยากให้คนได้ทั้งทั้งความรู้และความเป็นสิริมงคล

“ผมอยากเชิญชวนพี่น้องชาวไทย ให้มาร่วมกันสรงน้ำพระในครั้งนี้ เพราะพระพุทธรูปที่นำมาให้สรงนั้น เป็นพระพุทธรูปที่มีความสำคัญและความสวยงามเป็นอย่างยิ่ง นอกจากนั้นยังมีพระเคราะห์ที่เป็นเทพประจำวันเกิดซึ่งเป็นคติของพราหมณ์มาให้สรงน้ำอีกด้วย”

………

การสรงน้ำพระพุทธรูปและพระเคราะห์ของกรมศิลปากรและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เนื่องในโอกาสวันสงกรานต์ปี 2554 จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 13 - 15 เมษายน 2554 ณ ศาลาสำราญมุขมาตย์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าชมเพื่อศึกษาหาความรู้ และเข้าร่วมสรงน้ำพระได้โดยไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ

>>>>>>>>>>
……..

เรื่อง : Mr. Panopticon







กำลังโหลดความคิดเห็น