ข้าวกับวัฒนธรรมไทยนั้นมีความผูกพันกันมาอย่างยาวนานลึกซึ้ง เพราะเดิมทีคนในภูมิภาคอุษาคเนย์นั้นบริโภคข้าวกันมากว่า 5,000 ปีแล้ว แต่เป็นข้าวเหนียว ไม่ใช่ข้าวเจ้าอย่างในทุกวันนี้ เพราะข้าวเจ้านั้นเข้ามาได้รับความนิยมพร้อมๆ กับการแผ่ขยายอิทธิพลของวัฒนธรรมอินเดีย นอกจากนี้ในปัจจุบัน ประเทศไทยยังเป็นประเทศที่ผลิตและส่งออกข้าวติดอันดับต้นๆ ของโลกอีกด้วย
แต่เป็นเรื่องไม่น่าเชื่อ ที่สถิติการบริโภคข้าวของคนไทยกลับน้อยลงอย่างน่าใจหาย เพราะโดยเฉลี่ยแล้ว กินข้าวอยู่ที่ 100-110 กิโลกรัมต่อปีเท่านั้น ทั้งๆ ที่ค่าเฉลี่ยการบริโภคข้าวของคนในภูมิภาคอาเซียนนั้น อยู่ที่ 200 กิโลกรัมต่อปี
นับได้ว่าคนไทยที่อยู่ในประเทศที่ปลูกข้าวมากที่สุดในโลกกินข้าวน้อยกว่าชาติอื่นๆ ในแถบเดียวกันถึงกว่าครึ่งเลยทีเดียว ซึ่งข้อมูลทั้งหมดได้ถูกนำมาพูดถึงโดย นายสมเกียรติ มรรคยาธร นายกสมาคมผู้ประกอบการข้าวถุงไทย โดยสมเกียรติยังบอกอีกว่า ต่อไปการบริโภคข้าวของคนไทยนั้นมีแนวโน้มที่จะลดลงไปเรื่อยๆ อีกด้วย ทั้งนี้อาจเป็นเพราะคนไทยส่วนมากตื่นตัวในเรื่องของความอ้วนและเข้าใจว่าการกินข้าวนั้นทำให้อ้วนมากขึ้น จึงลดปริมานในการกินลง และอีกปัจจัยก็คือการหันไปบริโภคอาหารอื่นๆ เป็นอาหารหลักแทนที่จะบริโภคข้าวเหมือนที่แล้วๆ มา
มาถึงตอนนี้ดูเหมือนว่าวัฒนธรรมการกินข้าวของคนไทยจะเปลี่ยนแปลงไปแล้วจริงๆ
เมื่อเวลาเปลี่ยนไปอะไรๆ ก็เปลี่ยนตาม
“ประเทศไทยมีวัฒนธรรมการกินข้าวกับกับข้าว คือไม่เหมือนกับฝรั่ง เวลากินข้าวจะกินแบบแบ่งปัน แบบครอบครัว คือมานั่งทานร่วมกันแล้วแชร์อาหารทานร่วมกับข้าว มันคือการเสริมสร้างความสัมพันธ์ แลกเปลี่ยนความคิดเห็นต่อกัน มันเป็นธรรมเนียม เป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมครอบครัว”
ดร.ขวัญใจ โกเมศ เลขาธิการมูลนิธิข้าวไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวถึงวัฒนธรรมการกินข้าวที่สืบทอดกันมานานในสังคมไทย นอกจากนี้เธอยังบอกอีกว่า ข้าวคือสัญลักษณ์ของความอุดมสมบูรณ์ที่ใช้ประกอบพิธีกรรมต่างๆ โดยคนไทยนิยมอวยพรด้วยการโปรยข้าวตอกดอกไม้เพื่อความเป็นสิริมงคล ในงานบุญประเพณีต่างๆ และยังเล็งเห็นความสำคัญของข้าว มีพิธีทำขวัญข้าวต่างๆ ซึ่งเป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นความผูกพันที่คนไทยมีต่อข้าวได้ดียิ่ง แต่ความจริงที่เราเจอในปัจจุบันก็คือคนไทยมีสถิติการกินข้าวลดลงอย่างต่อเนื่อง
“การกินข้าวของคนไทยลดลง ซึ่งไม่ใช่แต่ในประเทศไทยนะ มีหลายประเทศที่ทานข้าวน้อยลงมากๆ โดยเฉพาะประเทศที่เจริญทางด้านเศรษฐกิจ เช่น ญี่ปุ่น เกาหลี ฯลฯ เกือบ 10 - 20 ปีที่แล้ว คนไทยกินข้าวประมาณ 140 กิโลกรัมต่อคนต่อปี แต่ตอนนี้ประมาณ 100-110 กิโลฯ ส่วนพม่าเป็นประเทศบริโภคข้าวสูงสุดในอาเซียนและในโลก ตามด้วย ลาว เวียดนาม เขมร บังกลาเทศ อินโดฯ”
ซึ่งสาเหตุประการหนึ่งที่ทำให้ยอดการบริโภคลดลงนั้น ขวัญใจบอกว่าเกิดจากการเปิดรับวัฒนธรรมต่างชาติวิถีชีวิตของคนที่เร่งรีบมากขึ้น
“ทั้งหมดเป็นเพราะว่ามันมีสิ่งทดแทนข้าวมากยิ่งขึ้น ซึ่งก็แล้วแต่จะนิยมกันไป เช่น วัฒนธรรมแบบตะวันตก การกินอาหารฟาสท์ฟูด ผู้บริโภคมีตัวเลือกในการรับประทานมากขึ้น ซึ่งการกินข้าวในประเทศไทย ระหว่างเมืองหลวง ปริมาณการกินข้าวก็ต่ำกว่าคนในชนบทมาก จะเห็นได้ว่าคนในเมืองจะรับวัฒนธรรมตะวันตกมากกว่า และวัยรุ่นไม่ชอบทานข้าวเพราะค่านิยม
“อีกอย่างมันเกิดจากวิถีการดำเนินชีวิตของคนไทยที่เปลี่ยนไป คนไทยทำงานกันเยอะมากขึ้น ต้องการความสะดวกสบาย อย่างตอนเช้าไปเรียน ไปทำงาน จะกินข้าวก็ดูเป็นเรื่องยุ่งยาก หากเปลี่ยนเป็นขนมปัง นม มันก็จะสะดวกมากขึ้น เพราะฉะนั้นการรับประทานข้าวในยุคสมัยใหม่มันค่อนข้างยาก เพราะมันไม่เอื้อกับไลฟ์สไตล์ที่เปลี่ยนไปของคน”
ทางเลือกทางรอดของ 'ข้าว'
ด้วยวีถีชีวิตของคนที่เปลี่ยนไปจากเดิม จนทำให้การบริโภคข้าวกับกับข้าวดูจะกลายเป็นเรื่องยุ่งยาก แต่ทุกสิ่งทุกอย่างก็ล้วนแต่ต้องมีการปรับตัวเพื่อความอยู่รอด เรื่องของข้าวก็ไม่มีข้อยกเว้น
หากมองไปรอบๆ ตัว ก็ยังคงเห็นร้านข้าวแกงแบบตักราดเปิดให้บริการอยู่ไม่ใช่น้อย โดยแทนที่จะหุงหาอาหารทำกับข้าวหลายๆ อย่างมาล้อมวงกินข้าวกันเหมือนเมื่อก่อน ก็ย่อส่วนมาเป็นข้าวราดแกงที่ไม่ยุ่งยากเท่า
“จะว่าไปที่ร้านก็ขายข้าวได้เท่าเดิมนะ วันหนึ่งจะหุงข้าว 2 หม้อใหญ่ เป็นหม้อขนาด 7 ลิตร ก็ขายหมดทุกครั้ง ที่ร้านจะขายตั้งแต่ 08.00-20.00 น. จะมีบ้างที่ข้าวเหลือแต่ก็น้อย เหลือก็แค่จานหรือสองจาน ไม่มากกว่านี้หรอก ส่วนเด็กๆ ที่มาซื้อก็มีที่บอกว่าเอาข้าวนิดเดียวส่วนใหญ่จะเป็นเด็กผู้หญิง เขาคงกลัวอ้วน แต่ถ้าเป็นผู้ชายก็ปกตินะ”
สมใจ อยู่บุญ เจ้าของร้านข้าวแกง บริเวณมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เล่าให้ฟังว่า ทุกวันนี้คนก็ยังต้องกินข้าวเหมือนเดิม แต่ทั้งนี้ ลูกค้าก็อาจจะไปเลือกทางเลือกอื่นที่สะดวกกว่าข้าวบ้างในบางครั้ง
แต่สิ่งที่บ่งชี้ถึงการปรับตัวของผลิตภัณฑ์ข้าว ท่ามกลางวิถีชีวิตที่เร่งรีบของคนในยุคปัจจุบัน ก็เห็นจะเป็นผลิตภัณฑ์จำพวกเบอร์เกอร์ข้าวเหนียว ข้าวกล่องแช่แข็งที่วางขายกันตามร้านสะดวกซื้อ ข้าวหุงสำเร็จแบบกระป๋องที่ขายในห้าง ฯลฯ ซึ่งมันชี้ให้เห็นว่าถึงอย่างไรคนไทยกับข้าวก็ตัดกันไม่ขาด และมันก็ยังเป็นแรงผลักดันให้มีทางเลือกใหม่ๆ อย่างข้าวแกงทอดที่มีมารองรับกลุ่มคนที่รักการกินข้าวแต่ไม่มีเวลาอีกด้วย
“ปัจจุบัน คนเรากินยากขึ้นนะ ส่วนหนึ่งก็ไปกินของอย่างอื่นแทนข้าว ซึ่งมันอาจจะไม่มีประโยชน์เท่าข้าว ประกอบกับวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไปของคน บางทีเขาอาจจะไม่สะดวกที่จะมานั่งล้อมวงกินข้าวเหมือนเมื่อก่อน เพราะมันต้องมีเวลา มีอุปกรณ์ มีโต๊ะนั่งกินเป็นเรื่องเป็นราว กินในรถก็ไม่ได้ ทางเรา จึงคิดทำข้าวแกงทอดขึ้นมา เพื่อตอบโจทย์เหล่านี้ คนที่อยากกินข้าวจะได้กินที่ไหนก็ได้”
สหัสทัศน์ แก้วงาม ผู้จัดการกลุ่มอนุรักษ์อาหารและสินค้าไทย และผู้จัดการของแฟรนไชส์ป้าอู๊ดข้าวแกงทอด กล่าวถึงแนวคิดของการทำผลิตภัณฑ์ชนิดนี้ขึ้นมาตอบสนองคนชอบกินข้าวในยุคปัจจุบัน
ทั้งหมดที่กล่าวมา นับได้ว่าเป็นทางเลือดทางรอดใหม่ๆ ของข้าวไทย ที่กำลังดิ้นรนอยู่ในยุคของการแข่งขันและทางเลือกที่หลากหลาย
ทุกคนต้องกิน แต่อยู่ที่ว่าจะกินอะไร
แต่ไม่ว่าคนจะบริโภคข้าวน้อยลงเพียงใดก็ตาม ในเมืองไทยก็ยังมีคนกลุ่มหนึ่ง ที่ต้องการบริโภคข้าวอยู่อย่างสม่ำเสมอ และคนจำนวนนี้ก็มีอยู่ไม่น้อยเลยทีเดียว
วัศมล ทองโชติ พนักงานบริษัทเอกชน ก็เป็นหนึ่งในนั้น ที่เธอบอกว่า ต่อให้มีธุระเยอะมากขนาดไหน ก็ต้องหาเวลาไปรับประทานข้าวอยู่ดี
“เป็นคนต้องทานข้าวทุกมื้อ นิสัยนี้ติดมาตั้งแต่ตอนเด็กๆ เพราะแม่จะสอนตลอดว่าต้องทานข้าวให้ครบ 3 มื้อ มันเลยเหมือนเป็นความเชื่อของเรา กินข้าวครบ 3 มื้ออย่างนี้มาตลอด จนตอนนี้ทำงาน เราต้องตื่นเช้ากว่าเดิม 10 นาที คือจะได้มีเวลาทานข้าว แต่ถ้าวันไหนตื่นสายก็จะเอาข้าวใส่กล่องไปทานบนรถ ช่วงไหนรถติดก็เอาข้าวขึ้นมาทาน”
และเมื่อถามเคยลองที่จะงดอาหารหลักอย่างข้าวจาก 3 มื้อ เหลือแค่ 2 มื้อ และรับประทานอย่างอื่น เช่น ก๋วยเตี๋ยวหรืออาหารจานเส้นบ้างไหม วัศมล กล่าวว่า
“เคยลองไม่กินนะ ตอนนั้นพยายามจะลดน้ำหนัก ก็เลยงดแป้ง รู้สึกได้เลยว่าตัวเองหงุดหงิด”
ผิดกับ อัญชลี บำรุงเกษมสันต์ พนักงานบริษัทเอกชน ที่เจ้าตัวบอกว่า ไม่เคยชอบอาหารจานข้าวเลย แต่จะเน้นที่อาหารจานเส้นมากกว่า
“เราเป็นคนต้องทานครบ 3 มื้ออยู่แล้ว แต่แค่ไม่ชอบทานข้าว จะเลือกทานอาหารเส้นมากกว่า อย่าง ก๋วยเตี๋ยว ผัดไทย หรือสปาเกตตี จะทานได้หมด แต่ก็ไม่ถึงกับทานข้าวไม่ได้นะคะ เพียงแต่ไม่ชอบเท่านั้นเอง จริงๆ ชีวิตคนทำงาน มื้อเช้ากับกลางวัน เราว่าไม่น่าจะ ต้องการอาหารที่อร่อยมากมายหรอก เพราะทานเสร็จก็ต้องไปทำงาน น่าจะเน้นแค่พอทานได้แล้วก็อิ่มมากกว่า”
……..
สุดท้ายถึงแม้คนไทยจะกินข้าวน้อยลงตามสถิติตัวเลขที่ปรากฏ แต่ทั้งนี้ก็ไม่ได้หมายความว่าคนในบ้านเราจะบริโภคอาหารน้อยลงแต่อย่างใด หากแต่ด้วยวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไป ทำให้คนมีทางเลือกในการบริโภคสิ่งอื่นๆ มากขึ้นต่างหาก
สิ่งที่เป็นคำถามก็คือ ข้าวจะต้องมีการปรับตัวอย่างไรบ้าง จึงจะสามารถแทรกตัวเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมการบริโภคในยุคสมัยใหม่ได้ และไม่กลายเป็นอาหารเชยๆ ที่ถูกลืม
>>>>>>>>>
………
เรื่อง : ทีมข่าว CLICK
ภาพ : ทีมภาพ CLICK