ในวงการอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งอยู่ในช่วงบูมและเบ่งบานอย่างเต็มที่ใน พ.ศ.นี้ จนมีหลายฝ่ายกังวลว่าจะเป็นฟองสบู่อีกรอบ มีข่าวหนึ่งที่แว่วลือมาหนาหูพอสมควรว่า จะมี ‘เมืองดอกไม้’ หรือ ‘เกย์ทาวน์’ แห่งที่ 2 เกิดขึ้น หลังจากที่สามารถลงหลักปักฐานได้ที่กาญจนบุรีเมื่อ 10 กว่าปีที่แล้ว และประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง
เมื่อเกย์เปลี่ยนรุ่น เมืองเกย์หรือเกย์ทาวน์ ก็ต้องมีขึ้นเพื่อสนองความต้องการของพวกเขาตามอุปสงค์อุปทานและช่องว่างทางการตลาด
หากลองจินตนาการถึง ชุมชนที่เต็มไปด้วยผู้ชายมาดแมนล่ำบึ้ก แต่งตัวเนี้ยบเดินกันขวักไขว่ มองไปทางไหนก็หาสาวๆ ไม่เจอ เชื่อว่าในสายตาของผู้ชายที่เป็นแมนทั้งแท่ง คงจะรู้สึกว่ามันช่างแห้งแล้งเหลือทน และถ้าลองจินตนาการไปต่อว่าผู้ชายหุ่นก้ามปูที่เห็นเดินอยู่นับร้อยนั้นเป็นเกย์ทั้งหมด!!! จากเดิมที่รู้สึกว่าแห้งแล้งอยู่แล้ว ก็จะกลับกลายเป็นฝันร้ายเอาง่ายๆ ถ้าเราไม่ได้มีรสนิยมเช่นเดียวกับพวกเขา
ในทางกลับกัน ในหมู่คนที่มีรสนิยมชมชอบในสิ่งเดียวกัน ภาพตรงหน้าก็คือสวรรค์บนดินดีๆ นี่เอง
เกย์ทาวน์ หรือชุมชนที่สร้างขึ้นเพื่อเป็นพื้นที่ให้คนที่มีรสนิยมชื่นชอบเพศเดียวกันมาอยู่ร่วมกัน อาจจะฟังเป็นเรื่องไกลตัวของสังคมไทย ที่ลึกๆ แล้ว ทุกคนยังรู้สึกว่า เกย์ เป็นคนที่ไม่ปกติ แต่หารู้ไม่ว่า เมืองไทยมีชุมชนเกย์ทาวน์มาเกือบ 20 ปีแล้ว
‘เมืองดอกไม้’ คือชื่อของชุมชนแห่งนั้น โดยเริ่มแรก บริษัท ชัญญา พร็อพเพอร์ตี้ คอนซัลแทนท์ จำกัด ได้ผุดไอเดียเรื่องการสร้าง ‘เกย์ทาวน์’ ขึ้นที่จังหวัดนครราชสีมา แต่การเปิดตัวของโครงการนั้น ถูกคนในพื้นที่ต่อต้าน จนทำให้ต้องย้ายมาเปิดเกย์ทาวน์ที่จังหวัดกาญจนบุรีแทน
ปัจจุบันโครงการได้พัฒนาไปแล้ว 1 เฟส จากทั้งหมด 4 เฟส มีเกย์เข้าไปอยูอาศัยแล้ว 280 คน คาดว่าหากโครงการพัฒนาเสร็จเรียบร้อยแล้วจะรองรับเกย์ได้ราว 1,000 - 2,000 คน และในอนาคตจะพัฒนาคลับเฮาส์เป็นแบบ 4 ภาคเพื่อรองรับชาวเกย์ได้ครบทุกภูมิภาค
และในอนาคตอันใกล้ บริษัทชัญญา พร็อพเพอร์ตี้ ก็ได้เตรียมพัฒนาโครงการต่อไปในจังหวัดระยอง แต่จะเป็นคอนเซ็ปต์เกย์ทาวน์หรือไม่ต้องติดตามดูต่อไปอย่างใกล้ชิด
จุดขายที่มาจากรสนิยม
“ตรงนี้เป็นการชดเชยให้เป็นเหมือนเมืองในฝันของกลุ่มเกย์ มีสถานเริงรมย์ เซอร์วิส เอ็นเตอร์เทนเมนต์ นวด เหมือนซื้ออสังหาริมทรัพย์แล้วได้เซอร์วิส ได้ที่พักส่วนตัว ที่มีรั้วรอบขอบชิด สำหรับพวกเขาโดยเฉพาะ”
เดชเดี่ยว ศรีชัย ผู้จัดการฝ่ายขายโครงการ บริษัท ชัญญา พร็อพเพอร์ตี้ คอนซัลแทนท์ จำกัด พูดถึง 'เมืองดอกไม้' หรือ 'เกย์ทาวน์' โครงการที่อยู่อาศัยบนที่ดิน 800 ไร่ ในจังหวัดกาญจนบุรี ว่าเป็นโครงการสำหรับกลุ่มเกย์โดยเฉพาะ
ซึ่งที่มาของโครงการเมืองดอกไม้ก็คือ ที่ผ่านมาธุรกิจอสังหาริมทรัพย์มีการแข่งขันสูง บริษัทจึงเจาะกลุ่มเป้าหมายลูกค้าที่แปลกออกไป ซึ่งก็คือกลุ่มเกย์ ที่ตอนนี้มีเป็นจำนวนมากทั้งที่เปิดเผยและไม่เปิดเผย ซึ่งในเรื่องนี้ สันต์ สุวัจฉราภินันท์ อาจารย์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งเป็นผู้ที่ศึกษาเกี่ยวกับพื้นที่และเพศวิถี ก็มีความเห็นต่อโครงการในทำนองเดียวกัน
“การทำอสังหาริมทรัพย์นั้น มันขึ้นกับวัตถุประสงค์ของผู้ก่อตั้งนะ การกำหนดกลุ่มเป้าหมายก็เหมือนกับคอนโดมิเนียมที่ขายกันอยู่ในทุกวันนี้ อย่างไอดีโอก็จะมีกลุ่มลูกค้าและภาพลักษณ์แบบหนึ่ง แสนสิริก็จะเป็นอีกแบบหนึ่งมันเป็นการกำหนดกลุ่มเป้าหมาย
“เราจะต้องมองว่าเมืองดอกไม้นั้น เจ้าของเขาก็มีสิทธิ์ที่จะกำหนดกลุ่มเป้าหมายของตนเองเหมือนกัน แต่มองอีกมุมมันก็คล้ายๆ จะเป็นการสร้างชุมชน ของกลุ่มคนที่ชอบและมีรสนิยมเหมือนกัน”
นอกจากนั้น เดชเดี่ยว ยังบอกต่อไปอีกว่า ตอนนี้เกย์แทรกอยู่ในทุกวงการ และเขาก็ต้องการพื้นที่สำหรับเขาโดยเฉพาะ เพราะบางครั้งการอยู่ร่วมกับคนอื่นทั่วไปเป็นการจำกัดเรื่องการวางตัวของพวกเขาเอง แต่อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าโครงการดังกล่าวจะมีคอนเซ็ปต์ชัดเจนว่ามุ่งเน้นไปที่กลุ่มเกย์ แต่หากคนที่ไม่ใช่เกย์และต้องการมาอยู่อาศัยร่วมกันโครงการก็ไม่ได้ปิดกั้น ซึ่งถ้าหากคนธรรมดาต้องการที่จะเข้าไปอยู่จริงๆ ก็อยากให้ลองมองว่า ต้องการไปอยู่ในเมืองแบบนั้นหรือไม่
“หากคุณเป็นคนธรรมดาเข้าไปคุณก็ต้องเอ๋อ! เพราะคุณไม่ได้เป็นแบบนั้น ถ้าเป็นผู้หญิงธรรมดาคุณอาจจะเคว้งคว้าง มีเพื่อนเป็นเกย์ก็จริง เข้าไปก็อาจจะรู้สึกว่ามันไม่ใช่ที่ของฉัน จึงไม่น่าเข้าไป เราไม่ได้จำกัดสิทธิ ก็เหมือนกับผู้ชายที่หลงเข้าไปในโรงเรียนมาแตร์ (โรงเรียนมาแตร์เดอีวิทยาลัย โรงเรียนหญิงล้วน) จะเจออะไรก็ไม่รู้ และคุณก็ต้องเดินออกมาจากโรงเรียนนั้น”
หมู่บ้านของความเป็นอื่น
ถ้าหากคนที่ไม่ใช่เกย์เดินเข้าไปในเมืองดอกไม้ รู้สึกว่าตัวเองเป็นคนอื่นสำหรับที่นี่ แน่นอนว่า คนในชุมชนดั้งเดิม ที่เมืองดอกไม้เข้าไปใช้พื้นที่สร้างหมู่บ้าน ก็ต้องรู้สึกแปลกๆ ว่า ‘เมืองดอกไม้’ เป็นหมู่บ้านที่แปลกประหลาด และไม่เหมือนพวกเราพอๆ กัน อย่างในปี 2537 เกย์ทาวน์ที่เตรียมตัวตอกเสาเข็มในจังหวัดนครราชสีมา ก็ต้องถอนเสามาตั้งหลัก ก่อนที่จะไปทิ่มเสาเข็มลงที่เมืองกาญจน์ แต่ทุกวันนี้ เดชเดี่ยวในฐานะตัวแทนโครงการเชื่อว่า ถ้าหากจะมีเกย์ทาวน์เกิดขึ้นอีก มันจะไม่ต้องพบกับแรงเสียดทานเท่าแต่ก่อน
“เราวัดได้จากสื่อ ละคร โฆษณา เขาทำให้คนดูมองว่า เกย์เป็นผู้ชายธรรมดา ไม่แปลก และไม่น่าเกลียด เมื่อก่อนเข้าใจว่าเป็นตัวประหลาด ตอนนี้เริ่มถูกยอมรับมากขึ้นเป็นเรื่องธรรมดา อาจจะมีคนเริ่มรู้ว่าแตกต่าง แค่เขามีโลกส่วนตัวเท่านั้นเอง แต่ในสังคมทั่วไปเขาเปิดเต็มร้อยไม่ได้นะ แต่ตอนนี้เด็กรุ่นใหม่กำลังจะมาทดแทนคนรุ่นเก่าที่ล้มหายตายจากไป คนกลุ่มนี้แหละที่จะทำให้สังคมเปลี่ยนไป เมื่อเขาถูกยอมรับจากคนในสังคมมากขึ้นเขาก็จะสามารถแสดงตัวตนได้มากขึ้น ”
ส่วนสันต์ ในฐานะที่เป็นผู้ซึ่งศึกษาเรื่องราวของเพศวิถีมานาน มองว่า
“เมื่อก่อนนั้น การทำแบบนี้ อาจจะมีการต่อต้าน ในปัจจุบันอาจจะดูเหมือนคนเปิดรับได้มากขึ้น แต่เอาเข้าจริงก็ยังมีอคติกันอยู่ และผมก็ยังยืนกรานว่า เรื่องของความเปิดกว้างทางเพศนั้น จะมีมากก็แต่เฉพาะในเมืองใหญ่ ในชนบทยังมีความรู้สึกเหมือนเดิม
“เรื่องของการเข้าใจแต่ไม่ยอมรับนั้น เป็นเรื่องที่พูดกันมานานแล้ว ทุกคนรู้เหตุผลหมดอยู่ร่วมกันได้ แต่อย่ามายุ่งกับฉันแล้วกัน มันเป็นวาทกรรมหลักที่สังคมสร้างขึ้นว่าจะต้องยอมรับถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ที่เท่าเทียมกัน แต่สุดท้ายในใจลึกๆ ก็ยังไม่อาจยอมรับ ส่วนในเรื่องที่ว่าชุมชนดั้งเดิมจะมองเขาเป็นอื่นหรือไม่ ถ้ามองแบบเผินๆ มันก็น่าจะเป็นอย่างนั้น แต่ในทางปฏิบัติแล้ว ลักษณะของการอยู่ร่วมกัน มันก็มีอยู่ในสังคมทั่วไป และมันก็ไม่ได้เป็นพื้นที่แห่งความเป็นอื่น แต่ถ้าเราตั้งแง่ตั้งแต่ต้น พื้นที่เหล่านั้นก็จะถูกจับใส่กล่องและมีรูปร่างหน้าตาออกมาเป็นอย่างที่เราคิด การแบ่งแยกที่เริ่มมาจากระบบคิดของเรา ซึ่งมันเป็นเรื่องอันตราย”
เมืองดอกไม้ในหลายมุมมอง
ถึงแม้ในโลกปัจจุบันท่าทีของคนทั่วไปที่มีต่อเกย์จะคลี่คลายลงไปมาก แต่กระนั้น การเกิดขึ้นของเมืองดอกไม้ ก็หนีไม่พ้นเสียงวิพากษ์วิจารณ์อยู่ดี แต่ส่วนมากแล้วก็มักจะมีมุมมองที่เป็นบวกปนๆ ไปกับความเห็นที่ค่อนข้างลบ อย่างความเห็นของ บอย ชายหนุ่มทั้งแท่งที่ไม่ค่อยถูกโรคกับเกย์สักเท่าใด
“ไม่เคยได้ยินชื่อเมืองนี้นะ แต่ถ้าในมุมมองของผมแล้ว คิดว่ามันก็อาจจะดีในแบบหนึ่งนะ รู้สึกเห็นด้วยที่มีโครงการนี้เกิดขึ้น เพราะเขาจะได้ไม่ต้องมาอยู่ร่วมกับผู้ชายจริงๆ เขาได้มีสังคมเป็นของเขากันเอง แล้วผู้หญิงจะได้ไม่ลำบาก สับสนในเรื่องเพศด้วย ประมาณว่า ผู้ชายคนนี้ใช่เกย์หรือไม่ใช่ อะไรทำนองนี้ครับ”
แต่ไม่ใช่ว่าเมืองดอกไม้จะเป็นสุดยอดปรารถนาของเกย์ทุกคน ตัวอย่างเช่น สมชัย ธงชัยสว่าง เกย์สว่างจิตผู้ไม่ปิดบังความเป็นเกย์ของตนเองให้ความเห็นไว้
“การที่เราเป็นแบบนี้ แล้วถ้าเราต้องไปอยู่ในสังคมที่มีแต่เกย์ ทัศนคติหรือความคิด ก็จะอยู่แค่นั้น คนเราต้องอยู่ในสังคมที่มีความหลากหลาย เพราะมันต้องพึ่งพาอาศัยกันเหมือนทะเล ถ้ามีปลาแค่พันธุ์เดียว มันก็ไม่สามารถอยู่ในทะเลได้แค่พันธุ์เดียว การที่มีการสร้างสถานที่ที่มีแต่เกย์นั้น มันก็ดีนะ มันทำให้เกย์บางกลุ่มมีโลกส่วนตัวของเขา แต่ถ้าการไม่มีการคัดหรือมีกฎเกณฑ์ในการเข้าอยู่มันก็ไม่ต่างอะไรดับพวกเซาน่า จะไปมั่วกัน เพราะความต้องการและทัศคติของเกย์บางกลุ่มก็อาจจะเข้ามาอยู่แค่จุดประสงค์นี้เท่านั้น”
ในข้อนี้ คุณ เอ(นามสมสมมติ) หนึ่งในลูกบ้านของเมืองดอกไม้ได้ตอบข้อสงสัยไว้ว่า
“เพื่อนบ้านที่เข้ามาอยู่ในโครงการก็เฟรนด์ลี่นะ แต่เราไม่ได้สานสัมพันธ์อะไรเป็นพิเศษ ผมจะมีกลุ่มเกย์ที่เป็นเพื่อนกัน ก็จะไปเที่ยวด้วยกันตรงนั้นอยู่แล้ว ชีวิตของพวกเราก็ตามปกติ ดูหนัง ฟังเพลง ไม่ได้มีอะไรแตกต่างจากคนเพศอื่น หรือคนที่ไม่ได้เข้ามาอยู่ในโครงการเลย”
แต่สำหรับทอมบอยและเลดี้ มีหลายคนรู้สึกอิจฉากลุ่มเกย์อยู่ไม่น้อยที่มีโครงการอสังหาริมทรัพย์มารองรับพวกเขาโดยเฉพาะ
“เราอยากให้มีเมืองแบบนี้สำหรับเราบ้าง เพราะรู้สึกมันจะทำให้เรารู้สึกว่ามีแค่พวกเรา มีพวกเดียวกันอยู่เต็มไปหมด ในบางครั้งการที่เราเดินอยู่ในสังคมปัจจุบันนี้ก็ยังมีกลุ่มคนบางกลุ่ม ที่ยังไม่ยอมรับความเป็นตัวตนของเราและรังเกียจเราก็มี”
กนิษฐา สมบุญ ซึ่งเป็นสาวทอมเต็มตัวให้ความเห็น ส่วนทางฝั่งเลดี้ก็มีความเห็นคล้ายคลึงกัน
“อยากให้มีโครงการแบบนี้สำหรับทอมดี้ เพราะปกติกว่าจะได้รวมตัวหรือเจอกันทีก็ไปเจอกันตามผับ บาร์ ที่เป็นร้านเฉพาะทอมดี้เท่านั้น แต่ถ้าเป็นหมู่บ้านให้เราได้เข้าไปอยู่เลยก็คงจะดีกว่า เพราะบางทีเวลาคนอื่นเวลาเห็นเราเดินกับผู้หญิงด้วยกัน เขาจะมองแปลกๆ เหมือนเราผิดปกติหรือทำอะไรผิดสักอย่าง เลยอยากมีที่ที่เป็นของเราบ้าง ที่มีแต่พวกเราเอง
…......
ตอนนี้ยังไม่มีใครรู้ว่า จะมีเมืองดอกไม้แห่งที่ 2 เกิดขึ้นมาหรือไม่ แต่แว่วๆ มาว่าจะเกิดขึ้นที่จังหวัดระยอง และที่แน่ๆ คนในเมืองดอกไม้แห่งแรกที่อยู่กันมาเป็น 10 ปีก็ยังสบายดีกันอยู่ ฉะนั้น หากมีโครงการแบบนี้ออกมาอีกก็คงไม่ใช่เรื่องที่แปลกประหลาดอีกต่อไป เพราะถึงเวลาแล้วที่สังคมจะ 'เข้าใจและยอมรับ' คนที่ไม่เหมือนกับตัวเองเสียที
>>>>>>>>>>
……..
เรื่อง : ทีมข่าว CLICK
ภาพ : ทีมภาพ CLICK