xs
xsm
sm
md
lg

พลิกแผ่นดิน..ตามรอยไดโนเสาร์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ไดโนเสาร์...สิ่งมีชีวิตเก่าก่อนที่ไม่ได้อยู่แค่ในจินตนาการหรือสมุดภาพระบายสี วันนี้มันฟื้นคืนชีพอีกครั้งในดินแดนสุวรรณภูมิด้วยฝีมือคนไทย...

ไดโนเสาร์ที่พบในเมืองไทยนั้น ความจริงแล้วมีซากฟอสซิลกระจายอยู่ทั่วไปทุกภาคแต่ขุดค้นพบมากในภาคอีสานตามชั้นหินต่างๆ ซึ่งล้วนแล้วแต่มีอายุเก่าแก่กว่า 100 ล้านปีหรือเก่าสุดๆ ราว 210 ล้านปีเลยทีเดียว มีทั้งรุ่นเล็กไปจนถึงขนาดไซส์ที่โตเต็มที่ หากใครได้สัมผัสแม้หนึ่งในชิ้นส่วนกระดูกเหล่านี้อย่างใกล้ชิด คงอดจินตนาการไม่ได้ถึงขนาดอันมหึมาของสัตว์โลกล้านปีเหล่านี้

เจ้าถิ่นยุคหินในดินสยาม

ดร.วราวุธ สุธีธร ผู้อำนวยการสำนักวิจัยซากดึกดำบรรพ์ และผู้ค้นพบ 'สยามโมซอรัส' ไดโนเสาร์เทอโรพอดชนิดแรกของไทยเล่าให้ฟังว่า พื้นที่ภาคอีสานมีการขุดพบซากกระดูกไดโนเสาร์มานานแล้ว แต่ด้วยความไม่รู้ของชาวบ้าน จึงตีความไปต่างๆ นานาว่าเป็นโครงกระดูกช้างบ้าง ซากไม้กลายเป็นหินบ้าง และขาดการเก็บรักษาที่ถูกต้อง จึงมีกระดูกอายุล้านปีจำนวนไม่น้อยที่ถูกบดกลายเป็นส่วนผสมในวัตถุมงคลหลากรูปแบบ

ต่อมาได้มีการศึกษาวิจัยมากขึ้น จึงมีการให้ความรู้กับชาวบ้านถึงความสำคัญของชิ้นส่วนเก่าแก่เหล่านี้ รวมทั้งบอกให้ชาวบ้านแจ้งทางสำนักวิจัยทันทีหากพบชิ้นส่วนอีก ซึ่งการขุดค้นพบทั้งซากกระดูก ทั้งรอยเท้านั้นทำให้คนรุ่นใหม่หันมาสนใจและเริ่มเข้าศึกษาภาควิชาเกี่ยวกับการขุดค้นซากดึกดำบรรพ์มากยิ่งขึ้น

รวมทั้งล่าสุดที่ได้ค้นพบ 'สยามโมซอรัส สุธีธรนี' โดยได้ชื่อสกุลตามชื่อประเทศหมายถึงสัตว์เลื้อยคลานจากสยาม และชื่อชนิดจากนามสกุลของ ดร.วราวุธ ตามหลักการตั้งชื่อสัตว์ขององค์กร ICZN : International Code
of Zoological Nomenclatureซึ่งสายพันธุ์นี้มีลักษณะเป็นพวกล่าปลาคล้ายกับจระเข้นั่นเอง

“การขุดไม่ได้ขุดแบบสุ่มพื้นที่เสียทีเดียว แต่จะต้องศึกษาชั้นหินในพื้นที่ถึงความเป็นไปได้ว่าจะสามารถพบตัวอย่างชิ้นส่วนกระดูกไหม พอเราค่อยๆ ขุดลงไปเมื่อเจอชิ้นส่วนที่แข็งก็ต้องค่อยๆ เกลี่ยดินออก แล้วนำตัวอย่างนั้นเคลือบน้ำยา นำมาหล่อพิมพ์เพื่อเคลื่อนย้ายนำมาวิจัยที่ศูนย์ต่อไป”

ขุดซากเก่ามาเล่าเรื่อง

ซากฟอสซิลเหล่านี้ไม่ต่างกับงานศิลปะโบราณที่สามารถบอกเล่าเรื่องราวในสมัยอดีตได้มากมาย แต่เป็นการสร้างสรรค์โดยธรรมชาติบอกได้ถึงอายุ ลักษณะการตายของสิ่งมีชีวิตนั้นว่าตายในน้ำหรือบนบก แห้งก่อนถูกทับถมหรือไม่ เช่นหากพบซากปลาที่บางส่วนถูกย่อยสลายไปบ้างแล้ว อาจหมายถึงพื้นที่นั้นเป็นแหล่งน้ำที่แห้งแล้งมานาน ตัวปลาจึงฝังในโคลนดินทับถมมาจนถึงวันนี้ ซึ่งพบฟอสซิลปลาจำนวนมากหลายร้อยตัว

ส่วนรอยเท้าไดโนเสาร์ที่พบนั้นสามารถเกิดขึ้นได้หลายสาเหตุ แต่โดยหลักแล้วคือเกิดจากไดโนเสาร์เดินลงบนดินโคลน เมื่อดินแห้งแข็งจะเกิดการทับถมชั้นดินใหม่ขึ้นทำให้รอยเท้าถูกเก็บไว้เหมือนเป็นงานพิมพ์ชั้นดี แสดงให้เห็นถึงสายพันธุ์ การอยู่รวมกันเป็นฝูงและเส้นทางวิถีการเดิน

“ชิ้นส่วนที่พบส่วนมากจะเป็นข้อต่อกระดูกส่วนต่างๆ อย่างกระดูกสันหลัง หาง หรือกระดูกขาชิ้นใหญ่หลายชิ้น ชิ้นส่วนฟัน บางครั้งพบเป็นร่างที่ค่อนข้างสมบูรณ์ แต่ชิ้นส่วนสำคัญมากซึ่งหากพบก็จะถือเป็นการค้นพบที่ยิ่งใหญ่ และสามารถบ่งบอกสายพันธุ์ไดโนเสาร์ได้อย่างชัดเจนคือส่วนหัวกะโหลก ซึ่งหายากมากที่สุด”

กระดูกกลัวน้ำ

สิ่งสำคัญที่ต้องระวังในการเก็บรักษาตัวอย่างซากดึกดำบรรพ์เหล่านี้คือความชื้น เนื่องจากบางชิ้นส่วนที่ขุดพบจะมีส่วนผสมของแร่ที่มีคุณสมบัติเป็นเหล็ก หากอากาศชื้นเกินไปก็จะทำปฏิกิริยากับอากาศ จึงต้องเก็บรักษาในห้องที่ควบคุมความชื้นให้อยู่ที่ประมาณ 45-50 หน่วย ซึ่งเมืองไทยนับว่ามีความชื้นสูงมาก โดยเฉพาะฤดูฝนที่ความชื้นสูงๆ ทำให้ห้องคลังนี้ปั่นป่วนไม่น้อย

นอกจากความชื้นแล้ว การจัดทำสถานที่จัดเก็บตัวอย่างเพื่อการวิจัยจำเป็นต้องมีพื้นที่มากพอสำหรับตัวอย่างที่อาจขุดค้นพบเพิ่มในอีก 30 ปี ซึ่งได้จัดเก็บไว้ในตู้เหล็กเรียงรายไว้ในห้องราวกับเป็นห้องสมุดแต่ไม่มีหนังสือ มีเพียงกระดูกหลากหลายไซส์เรียงรายอยู่พร้อมหมายเลขกำกับชัดเจน เพื่อสะดวกในการจัดเก็บและค้นหา

คนรุ่นใหม่ใจรักษ์

ดร.วราวุธ ยังบอกด้วยว่าทุกวันนี้มีอาสาสมัครรุ่นใหม่ๆ สนใจเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น โดยสามารถศึกษางานได้เพียงวันเดียวก็เข้าใจระบบแล้ว มีการจัดค่ายเยาวชนเพื่อให้ความรู้แยกให้ออกว่าแบบไหนกระดูก แบบไหนคือหิน เมื่อมีความเข้าใจแล้วก็พัฒนาไปสู่การฝึกหัดค้นหาซากฟอสซิลต่อไปได้ไม่ยาก โดยอาวุธคู่กายของนักขุดทุกคนก็คือค้อนธรณีเหล็กสำหรับทุบหินและขุดดินนั่นเอง

ยังมีชิ้นส่วนไดโนเสาร์อีกมากยังคงนอนหลับใหลในผืนดินถิ่นทองของไทย รอให้คนรุ่นใหม่ขุดค้นให้สัตว์โลกล้านปีนี้กลับขึ้นมาสู้แสงตะวันอีกครั้ง
ข่าวโดยทีมงาน M-Lite
ตัวอย่างกระดูกไดโนเสาร์หลายไซส์
ร่างของสัตว์น้ำลึกบนแผ่นหิน
ฟอสซิลของปลาอายุกว่าร้อยล้านปี
ดร.วราวุธ สุธีธร กับฟอสซิลที่พบสดๆ ร้อนๆ
กำลังโหลดความคิดเห็น