xs
xsm
sm
md
lg

การเมืองไทยยุคใหม่ โปร่งใส ตรวจสอบได้???

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


‘นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ 80 คะแนน นายกรณ์ จาติกวณิช 75 คะแนน นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย 60 คะแนน...’

ต่อจากนี้ไปอีกไม่นานประชาชนชาวไทยทุกคนจะมีสิทธิให้คะแนน (ใจ) นักการเมือง พรรคการเมือง องค์กรรัฐบาล องค์กรรัฐวิสาหกิจ หรือแม้แต่หน่วยงานที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับรัฐบาลในการปฏิบัติงาน โดยผ่านการได้รับข้อมูลที่เป็นฐานสำคัญในการตรวจสอบการทำงานของคนหรือองค์กรเหล่านั้น

เพราะในไม่เกินสิ้นปีนี้ ประเทศไทยจะมีฐานข้อมูลตรวจสอบบุคคลสาธารณะ นั่นหมายรวมถึงนักการเมือง ที่มีทั้งข้อมูลเกี่ยวกับนักการเมือง พรรคการเมือง องค์กรรัฐ องค์กรรัฐวิสาหกิจ หน่วยงานที่ทำงานเกี่ยวข้องกับรัฐบาล ซึ่งเป็นการใช้สิทธิ์ตามกฎหมายรัฐธรรมนูญปี 2550 ในการตรวจสอบทางการเมืองที่ประชาชนมีส่วนร่วมโดยตรงผ่านเว็บไซต์

เริ่มต้นจากการที่มีกลุ่มคนที่สนใจการเมืองไทยอย่างจริงจัง ต้องการให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลเหล่านี้ได้อย่างง่ายดาย และผ่านการอัปเดตข้อมูลให้รู้เท่าทันเหตุการณ์ทางการเมือง ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการรวบรวมฐานข้อมูลเกี่ยวกับการเมือง เช่น www.thaiswatch.com และ www.politicalbase.in.th แต่ก็ยังถือว่ายังไม่มีความสมบูรณ์แบบและการใช้ฐานข้อมูลอย่างรอบด้านในเชิงวิชาการ รวมถึงการเปิดกว้างการนำเสนอข้อมูลอย่างไม่มีขีดจำกัด และมากลั่นกรองตรวจสอบโดยทีมงานนักวิชาการและผู้ทรงคุณวุฒิ

ล่าสุด อีกไม่นานจะมีระบบฐานข้อมูลกลาง ซึ่งรวบรวมข้อมูลแบบครบถ้วนและสมบูรณ์ที่สุดไว้ให้ประชาชนได้รับรู้ข้อมูลกัน และเปิดกว้างให้ทุกภาคส่วนและประชาชนสามารถนำเสนอข้อมูลเข้ามาได้ ทุกคนสามารถอ่านและปรับปรุงเพิ่มเติมเนื้อหาแบบวิกิพีเดีย

เมื่อถึงเวลาตรวจสอบบุคคลสาธารณะ

ศ.ดร.จรัส สุวรรณมาลา คณบดีคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะผู้จัดการโครงการระบบฐานข้อมูลตรวจสอบบุคคลสาธารณะ ให้รายละเอียดว่า จะมีเครือข่ายติดตามดูพฤติกรรมนักการเมืองหรือบุคคลที่ทำงานในองค์กรต่างๆ ประเด็นหลักๆ คือจะได้รู้ว่าพวกเขาทำอะไรที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติหรือไม่อย่างไร ไม่ใช่พูดอีกอย่าง แต่ทำอีกอย่าง ซึ่งจะทำให้เขาเสียความน่าเชื่อถือ เพราะประชาชนสามารถรับรู้ข้อมูลได้ว่าเขาทำจริงหรือไม่

“อำนาจหน้าที่ที่เขาทำ ที่เขามี เขาทำดีหรือไม่ดีมากน้อยแค่ไหน หรือใช้อำนาจถูกต้องหรือไม่ ที่ผ่านมาประชาชนมักจะไม่ได้ตรวจสอบเป็นเรื่องเป็นราว เราจึงอยากทำให้ประชาชนได้รับรู้ข้อมูลและเห็นบทบาททางการเมืองของคนเหล่านี้ โดยผ่านสื่ออะไรสักอย่างที่สามารถดูได้ตลอดเวลา หรือมีคนคอยติดตามควบคุมอยู่ ก็เลยคิดว่าน่าจะลองพัฒนาฐานข้อมูลนี้ขึ้น”

นี่จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้เกิดฐานข้อมูลฯ นี้ขึ้นในรูปแบบเว็บไซต์ หากใครยังนึกภาพไม่ออกก็ลองดูตัวอย่างจากวิกิพีเดีย (Wikipedia)

“ฐานข้อมูลการเมืองจะเป็นเวทีสาธารณะทางการเมืองที่ใช้หลักการทางวิชาการในการเก็บข้อมูล มีหลายรูปแบบทั้งเชิงสถิติ เชิงข้อมูล และเป็นกลาง โดยไม่มีฝ่ายใดเข้ามายุ่ง ผมว่าในอนาคตการเมืองที่ใช้การเดินขบวนบนถนนจะค่อยๆ หายไป ซึ่งหลังๆ จะควบคุมให้อยู่ในระเบียบและกฎกติกาได้ยาก แทนที่โดยการเมืองที่ใช้ข้อมูล ใช้การศึกษา เทคโนโลยีสมัยใหม่คนเข้าถึงได้ง่าย แทนที่จะปล่อยให้คนจำนวนหนึ่งส่งสารผ่านดาวเทียม ว่าที่นั่นดี ไม่ดี สาดโคลนกันไปมา”

การใส่ข้อมูลเข้าไปในฐานข้อมูลฯ จะมาจากเครือข่ายผู้เข้าร่วมโครงการและประชาชนทั่วไป โดยมีทีมวิจัยเป็นผู้ตรวจสอบข้อมูลว่าจริงเท็จแค่ไหน แล้วจึงมีการนำเสนอให้ประชาชนได้รับรู้

“เราต้องการให้ประชาชนคนไทยเฝ้าดูการเมืองไทยที่มีข้อมูลเข้าถึง เรียนรู้ได้ และรู้เท่าทันการเมืองและนักการเมือง จะรู้เลยว่า นักการเมืองคนนี้เป็นเครือญาติกับนักการเมืองคนนั้น บริษัทนั้นเป็นญาติกับนักการเมืองคนนี้”

เมื่อเว็บไซต์นี้ออกมา การเมืองก็จะเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวัน ประชาชนตาดำๆ จะไม่ต้องมานั่งเดินประท้วงบนถนนบ่อยๆ ว่าไม่เอานักการเมืองคนนั้น ไม่เอารัฐบาลนี้ ข้อมูลเหล่านี้จะช่วยได้ หรือไม่นักการเมืองน้ำเลวคนไหนที่เตรียมจะงาบงบประมาณแผ่นดินก็ต้องเปลี่ยนใจและต้องระวังตัวมากขึ้น เพราะมีคนคอยตามและรายงาน ซึ่งประโยชน์สูงสุดจะเกิดขึ้นกับส่วนรวม

“คนเข้าถึงได้ เข้าใจการเมือง เรียนรู้ทางการเมือง เป็นพลเมืองที่รู้เท่าทัน โดยไม่มีใครมาปั่นหรือป้อนข้อมูลให้แทน ผมไม่ได้คิดเองนะ มีทฤษฎีทางการเมืองหรือนักรัฐศาสตร์สมัยเก่า เชื่อว่าประชาธิปไตยโดยตรงที่คนเข้าถึงการเมือง และตัดสินใจได้ง่ายโดยตรงไม่ต้องผ่านสื่อ ผ่านพรรคต่างๆ เป็นสภาวะอุดมคติของการเมืองประชาธิปไตย เราทำให้ประชาชนคุม ส.ส. ได้ ก็จะทำให้ได้ ส.ส.ที่ดี ไม่โกง”

ระบบนี้จะช่วยพัฒนาการเมืองไทย

รสนา โตสิตระกูล ส.ว.กรุงเทพมหานคร กล่าวถึงโครงการระบบฐานข้อมูลฯ ว่า นับว่าเป็นโครงการที่ดี ทำให้ภาคประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลและตรวจสอบบุคคลสาธารณะได้ และเป็นการพัฒนาแวดวงการเมืองไทยด้วย

“นักการเมืองเมื่อเวลาเป็นข่าวชั่วครั้งชั่วคราว แล้วก็แล้วกันไป ไม่สามารถตรวจสอบยืนยันหรือมีข้อมูลรายละเอียดมากนัก ถ้ามีเว็บไซต์นี้ ก็รู้ได้ว่านักการเมืองลงสมัคร ส.ส. ในนามพรรคหรือรายบุคคล หรือจะลงสมัครแล้วหลายสมัยก็สามารถรู้ได้ ตรวจสอบได้ รู้ว่ามีความเชื่อมโยงความสัมพันธ์หรือเคยประกอบอาชีพทำธุรกิจอะไรมาก่อนหรือไม่ ทำให้ประชาชนรู้จักนักการเมืองแต่ละคนมากขึ้น

“เพื่อเป็นข้อมูลเพิ่มในการตัดสินใจว่า ในอนาคตคนที่เขาเลือกให้เข้ามาทำงานมีที่มาที่ไปหรือเคยประกอบกิจการเกี่ยวข้องกับเรื่องอะไรมาบ้าง และเพิ่มความตระหนักแก่นักการเมืองว่าเขาเข้ามาทำงานเป็นตัวแทนประชาชน โดยมีประชาชนคนที่เลือกเขาเข้ามาคอยตรวจสอบอยู่”

รสนาได้ยกตัวอย่าง เช่นในประเทศเกาหลีใต้ที่ประสบความสำเร็จในการติดตามตรวจสอบนักการเมือง ซึ่งนักการเมืองที่จะเข้ารับการเลือกตั้ง ประชาชนจะรู้จักว่านักการเมืองคนนั้นมีประวัติอย่างไร คนที่มีประวัติไม่ดีไม่ควรได้รับเลือกเข้าไปทำงาน หรือถ้าได้รับเข้าไปก็จะมีประชาชนคอยจับตาดูการทำงานไปเรื่อยๆ

อย่างไรก็ตาม ก็คิดว่าทีมงานที่สร้างฐานข้อมูลฯ ได้ศึกษาข้อมูลของประเทศเกาหลีใต้ในการทำงานตรวจสอบนักการเมืองไทยแล้ว

เธอกล่าวทิ้งท้ายว่า การที่จะมีการพัฒนาเว็บไซต์ตรวจสอบนักการเมือง ก็ต้องรอให้ถึงเวลาที่เว็บไซต์ดังกล่าวมีการเปิดตัวอย่างเป็นทางการก่อน ถึงจะทราบว่าควรมีการปรับปรุงพัฒนาแก้ไขส่วนใดหรือไม่ แต่กระนั้นก็คิดว่าข้อมูลที่มีการตรวจสอบแล้วก็ควรจะเปิดเผยให้รู้โดยทั่วกัน และข้อมูลที่กำลังเก็บข้อมูลอยู่ก็ควรมีการตรวจสอบให้มีความรอบคอบแน่ใจก่อนเผยแพร่

มุมนักการเมืองบอกว่า ไม่สามารถช่วยอะไรได้

แน่นอนอยู่แล้วว่าคนที่ร้อนๆ หนาวๆ เมื่อเกิดระบบฐานข้อมูลฯ นี้ขึ้นมา ก็คงหนีไม่พ้นนักการเมือง หรือเหล่าองค์กรที่จะต้องถูกจับตามอง เพราะถ้าเมื่อไหร่ไม่ทำอย่างที่พูดหรือพูดอีกอย่างทำอีกอย่าง ข้อมูลความจริงก็จะปรากฏขึ้นในฐานข้อมูลฯ ให้ประชาชนได้รับรู้กันถ้วนหน้า

ศ.ดร.จรัส สะท้อนความเห็นว่า ถ้านักการเมืองคนไหนมีผลงาน เข้าประชุมประจำ ลงมติเรื่องนั้นเรื่องนี้ ทำในสิ่งที่ถูกต้อง ก็เป็นการช่วยโฆษณาเขาไปในตัวอยู่แล้ว ตรงกันข้าม ถ้านักการเมืองคนไหนขาดการประชุม ไม่ลงมติ หรือเซ็นชื่อแล้วไม่เข้าร่วมประชุม พวกนี้คงไม่ชอบเท่าไหร่ เช่น มีการประชุม 100 ครั้งมาประชุม 50 ครั้ง เมื่อชาวบ้านเห็นความจริงดังกล่าว แล้วอาจจะไม่พอใจการทำงานของนักการเมืองคนนั้นก็ได้และช่วยเป็นข้อมูลในการตัดสินใจว่าคราวหน้าจะให้คะแนนในการเลือกตั้งหรือไม่

ในมุมมองของ กัญจนา ศิลปอาชา อดีตรองหัวหน้าพรรคชาติไทย และอดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสุพรรณบุรี มองว่า นักการเมืองเป็นบุคคลสาธารณะ ข้อมูลข่าวสารที่เกี่ยวข้องกับบุคคลเหล่านี้จึงเปิดเผย และถูกนำเสนอตามสื่อต่างๆ อยู่แล้ว เพราะฉะนั้นเธอรู้สึกเฉยๆ กับการจัดทำระบบฐานข้อมูลตรวจสอบนักการเมือง และคิดว่าไม่ใช่สิ่งที่แปลกใหม่แต่อย่างใด

“เรื่องทุจริตของนักการเมืองถูกนำเสนอผ่านสื่ออยู่แล้ว คนทั่วไปถ้าหากสนใจการเมืองและติดตามข่าวสารบ้านเมือง ก็จะรู้ข่าวการทุจริตเหล่านี้”

ดังนั้น คนที่ไม่สนใจการเมืองก็คงไม่สนใจข้อมูลเหล่านี้เหมือนเดิม และฐานข้อมูลฯ ไม่น่าจะช่วยตีแผ่เบื้องลึกเบื้องหลังของนักการเมืองให้ประชาชนทุกหมู่เหล่าได้รับรู้
ถามว่าฐานข้อมูลนี้จะเป็นประโยชน์หรือช่วยพัฒนาการเมืองไทยหรือไม่? กัญจนาตอบว่า ไม่น่าจะช่วยอะไรได้มาก และข้อมูลในฐานข้อมูลตรวจสอบนักการเมือง ไม่น่าจะส่งผลต่ออนาคตทางการเมืองของนักการเมือง แต่จะเป็นแหล่งข้อมูลเกี่ยวกับนักการเมืองให้ผู้สนใจได้ค้นคว้า

ประเด็นเรื่องขอบข่ายการนำเสนอข้อมูลในฐานข้อมูลฯ กัญจนารับได้กับการตีแผ่ข้อมูลการพัวพันการทุจริตของนักการเมืองแต่ละคน แต่ข้อมูลตัวเลขการขาดประชุมสภา เธอมองว่าไม่น่านำเสนอ เพราะละเอียดยิบย่อยเกินไป

……….

ต่อไปในอนาคต ใครจะรู้ว่าเว็บไซต์นี้อาจช่วยสร้างความมีส่วนร่วมทางการเมืองภาคประชาชนให้เข้มข้นยิ่งขึ้น โดยที่ประชาชนสามารถตัดสินใจเองได้ว่า ควรหรือไม่ควรลงคะแนนเสียงให้ ส.ส. หรือ ส.ว. คนไหน หรือควรหรือไม่ควรที่จะสนับสนุนกิจการรัฐวิสาหกิจใด

เพราะว่าการเข้าถึงข้อมูลบนพื้นฐานความจริงของประชาชนมีมากขึ้น โดยข้อมูลนั่นไม่ได้ผ่านสื่อหรือพรรคการเมืองที่บิดเบือน อย่างน้อยถ้าคนรุ่นใหม่ได้เข้าไปรับรู้ข้อมูลในนั้น เขาก็จะรู้ว่าเขาควรจะเลือกหรือไม่เลือกใคร

……….

เรื่อง : ทีมข่าว CLICK
ภาพ : ทีมภาพ CLICK


กำลังโหลดความคิดเห็น