เมื่อจิมมี เวลส์ ผู้ก่อตั้งสารานุกรมออนไลน์ Wikipedia แห่งสหรัฐอเมริกา ไปเยือนสำนักงานใหญ่ Hudong.com เขาได้ตั้งคำถามกับผู้ก่อตั้งฮู่ต้งว่า “เป็นไปได้ไหมที่ Wikipedia จะกลายเป็นสารานุกรมออนไลน์อันดับหนึ่งในประเทศจีน”
“เป็นไปไม่ได้อย่างแน่นอน” เป็นเสียงตอบของพาน ไห่ตง เจ้าของ Hudong.com เว็บไซต์สารานุกรมภาษาจีนรายใหญ่สุดของโลก ที่เพิ่งก่อตั้งในปี 2548
“เพราะว่าเรามีฮู่ต้งแล้วในเมืองจีน ใช่...ถึงแม้ว่าเราจะลอกเลียนแบบมาจากวิกิพีเดีย แต่เราก็มีนวัตกรรมใหม่ๆ และเราทำงานอย่างหนักในจีน ดังนั้น ย่อมมีความแตกต่างกันอย่างแน่นอน” พานเปิดเผยกับซีเอ็นเอ็น
*******
นี่คือ วิบากกรรมในการชิงเค้กในตลาดจีน ซึ่งมีผู้ใช้มากสุดในโลกกว่าเหยียบ 400 ล้านคน ของอีกกลุ่มธุรกิจด้านสารสนเทศและข่าวสารข้อมูลจากต่างแดน ซึ่งอุปสรรคนั้นก็ไม่ได้ต่างอะไรกับกลุ่มธุรกิจบริการข่าวสารข้อมูลทางอินเทอร์เน็ต เสิร์ช เอนจินรายใหญ่ของโลก อย่าง กูเกิล ยาฮู.... ที่ต้องต่อสู้กับข้อจำกัดมหาศาลในจีน ทั้งอุปสรรคใหญ่ๆอย่างด้านการปิดกั้นของรัฐบาลที่ได้ชื่อเป็นแชมป์เซ็นเวอร์รายหนึ่งของโลก และกำแพงด้านภาษา โดยชาวจีนทั่วไปยังอ่อนหัดด้านภาษาอังกฤษ
วิกิพีเดียของบริษัทแดนอินทรีเปิดตัวในจีนเมื่อ 7 ปีที่แล้ว หลังจากนั้นไม่นานก็ถูกหน่วยคัดกรองทางอินเทอร์เน็ตของจีน ปิดกั้นการเข้าถึงบริการของวิกิพีเดียทั้งเวอร์ชั่นที่เป็นภาษาอังกฤษและภาษาจีน
ในช่วงที่วิกิพีเดียหายหน้าไปจากแดนมังกรนี่เอง ทำให้ฮู่ต้งได้ครอบงำตลาดจีนไปอย่างสิ้นเชิง แต่วิกิพีเดียแดนอินทรีก็ไม่ละความพยายาม ในปลายปีที่แล้ว เวลส์ก็ได้จัดการประชุมร่วมกับสำนักงานสารนิเทศของจีน ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักที่กำกับการเซ็นเซอร์ทางอินเทอร์เน็ตในแดนมังกร
เวลส์ครุ่นคิดแต่ว่า ทำอย่างไรวิกิพีเดียจึงจะแข่งขันกับเว็บไซต์สารานุกรมท้องถิ่นยักษ์ใหญ่สองรายคือ Hudong.com และ Baidu Baike ของไป่ตู้ เว็บสืบค้นอันดับหนึ่งของจีน
หนึ่งในความท้าทายที่วิกิพีเดียต้องเผชิญคือการไม่เป็นที่รู้จักนักในเมืองจีน “ผมได้ไปบรรยายในวิทยาลัยแห่งหนึ่งในปักกิ่ง มีคนถามว่า คุณทำงานเกี่ยวกับอะไรหรือ?
ผมตอบว่าผมเป็นผู้ก่อตั้งวิกิพีเดีย แล้วเขาก็มองผมด้วยสายตาว่างเปล่า เพราะเขาไม่รู้ว่าวิกิพีเดียคืออะไร นี่เป็นสิ่งที่จะไม่มีทางเกิดขึ้นไม่ว่าที่ไหนในโลก ทุกคนล้วนรู้จักวิกิพีเดีย ถ้าเขาเป็นคนที่ใช้อินเทอร์เน็ต”
เวลส์บอกว่าเขาได้พยายามแนะนำสารานุกรมออนไลน์ระดับโลก และรุกสู้กับคู่แข่งเจ้าถิ่นในจีน “ผมคิดว่า ผมควรเดินทางไปจีนบ่อยๆ และให้สัมภาษณ์ เพื่อให้ชาวจีนรู้จักวิกิพีเดียมากขึ้น”
ทว่า ดูเหมือนการเปลี่ยนทัศนคติของชาวเน็ตจีนร่วม 400 ล้านคน จะเป็นไปได้ยากโดยลำพังกำลังของเวลส์เพียงคนเดียว หรือแม้กระทั่งได้แรงสนับสนุนจากอาสาสมัครที่ร่วมทำเว็บไซต์
และเป็นเรื่องธรรมดามากที่ชาวจีนจะใช้เว็บไซต์สารานุกรมจีน ซึ่งให้ข้อมูลที่สอดรับกับนิสัยและความต้องการของชาวเน็ตจีน “เรารู้จักตลาดดีกว่า ซึ่งเป็นเหตุให้เราครองส่วนแบ่งตลาดได้มากกว่า” ผู้ก่อตั้งฮู่ต้งเผย
จากข้อมูลในเว็บไซต์ ปัจจุบัน ฮู่ต้งมีบทความกว่า 3 ล้านชิ้น และมีผู้ลงทะเบียนใช้งานราว 1.7 ล้านคน ส่วนค่ายไป่ตู้มีผู้ใช้ราว 2 ล้านคน ส่วนวิกิพีเดียเวอร์ชั่นภาษาจีนมีบทความเพียง 2.8 แสนชิ้น มีสมาชิกเพียง 7 แสนคน ขณะที่วิกิพีเดียภาษาอังกฤษมีบทความกว่า 3 ล้านชิ้น และอาสาสมัครกว่า 10 ล้านคน
Hudong.com อาศัยประโยชน์จากเครือข่ายสังคมออนไลน์ ดึงดูดชาวเน็ตจีน อาทิ ห้องสนทนา การจัดกลุ่มแฟนๆ บริการ SMS และกระดานรายงานข่าว ซึ่งผลการวิจัยของศูนย์ข้อมูลเครือข่ายอินเทอร์เน็ตจีนเคยระบุว่า มีชาวเน็ตแดนมังกรเกือบ 100 ล้านคน ที่เข้าชมข่าวออนไลน์เป็นประจำ
ทางเว็บฮู่ต้งยังแจกรางวัลแก่สมาชิกผ่านระบบจัดอันดับ ซึ่งสมาชิกจะได้รับการอัพเกรดสู่สถานะที่สูงขึ้นในเว็บไซต์ตามคะแนนที่เขาสะสมได้ โดยสมาชิกที่มีส่วนร่วมกับเว็บไซต์มากที่สุดจะเป็นผู้ชนะ และจะได้รางวัลต่างๆ อย่างเช่น แล็บท๊อปหรือไอพอด กิจกรรมลักษณะนี้ทางไป่ตู้ ไป่เคอก็นำไปใช้เช่นเดียวกัน
ต่างจากวิกิพีเดียที่ยกย่องเฉพาะสมาชิกที่มีส่วนร่วมและต้องมีบทความที่มีคุณภาพดี ส่วนบรรดาอาสาสมัครก็ต้องผ่านการคัดเลือกของชาววิกิ
“วิกิพีเดียเอง ก็มีกำแพงที่สูงมากในการสกัดกั้นผู้ใช้งานชาวจีน ส่วนเราไม่ได้มีระบบจัดการอะไรมากนัก” พานระบุ
ทั้ง Hudong.com และBaidu Baike ต่างมีโครงสร้างการจัดการจากส่วนกลาง เจ้าหน้าที่ของฮู่ต้งมีหน้าที่ในการขับเคลื่อนให้ชุนชนของเขามีบทความที่เป็นประโยชน์ออกมา พร้อมๆ กับมีหน่วยกลั่นกรองเนื้อหาที่อาจผิดระเบียบรัฐบาลมังกร โดยพยายามหลีกเลี่ยงการถูกเซ็นเซอร์
ขณะที่เวลส์ปฏิเสธทำตามกฎการเซ็นเซอร์ของจีน ซึ่งย่อมทำให้เนื้อหาที่อ่อนไหวบางส่วนทั้งที่เป็นภาษาอังกฤษและภาษาจีนยังคงเข้าถึงได้ยาก “เราไม่สนับสนุนเรื่องนี้ แต่เราก็ทำอะไรไม่ได้ อย่างไรก็ตาม มันก็ดีกว่าการบล็อกเว็บไซต์ของเรา ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีกว่าทั้งสำหรับเราและชาวจีน”
นับตั้งแต่ฮู่ต้งและไป่ตู้ดำเนินธุรกิจในจีน พวกเขามีทางเลือกไม่มากนักภายใต้นโยบายของรัฐบาล มิเช่นนั้น ย่อมต้องประสบชะตากรรมเช่นเดียวกับวิกิพีเดีย “ถ้ามีบางอย่างที่รัฐบาลไม่ต้องการ เราก็จะไม่พูดถึงเรื่องนั้น เราแค่ทำตามกฎหมายก็พอ” พานกล่าว
อย่างไรก็ตาม ไอเซ็ก เหมา หนึ่งในบล็อกเกอร์ของวิกิพีเดียจีนกลับเห็นว่า “ฉันไม่คิดว่า นั่นจะทำให้เขากลายเป็นแหล่งอ้างอิงที่ดีเช่นเดียวกับวิกิพีเดีย เพราะเขาไม่ได้มุ่งเน้นที่จะเพิ่มคุณภาพของเนื้อหา และไม่พยายามที่จะเคารพทัศนะที่เป็นกลาง เขาต้องเดินตามกฎที่แอบซ่อนอยู่ และคุณจะไม่มีทางรู้เรื่องราวที่เป็นจริง!”