สมมติถ้าเช้าวันหนึ่งตื่นขึ้นมาส่องกระจกแล้วพบว่า “ตัวเองเปลี๊ยนไป๋” มีรอยเหี่ยวย่น ตีนกา เกิดขึ้นบนใบหน้า จะทำอย่างไร? พร้อมจะยอมรับสภาพที่เห็นในกระจกได้หรือไม่ หลายคนบอกว่าได้ เพราะเราก็คือเรา มีการเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา แต่ก็อาจมีหลายเสียงตอบว่า “ฉันรับไม่ได้” และต้องหาวิธีอะไรก็ได้ เพื่อให้ตนเองกลับมาเช้งกระเด๊ะดังเดิม
แม้สภาพในกระจกและอายุจริงจะพ้องกันก็เถอะ เมื่อเหลียวซ้ายแลขวาก็เห็นผลิตภัณฑ์ประทินผิวเดิมๆ ที่ใช้อยู่ทุกวัน แต่ก็ไม่ช่วยให้ดูอ่อนเยาว์เต่งตึงในเวลาอันรวดเร็วได้ แต่มนุษย์นั้นไซร้ย่อมหาสิ่งต่างๆ มาตอบสนองความต้องการของตัวเองจนได้
จะเห็นได้ว่าความสวยความงามไม่ว่ายุคไหนสมัยใดก็ยังคงอยู่กับมนุษย์ทุกผู้ทุกคน ไม่ว่าเพศใด อายุเท่าไหร่ดูเหมือนว่าจะเป็นของคู่กัน จากเมื่อก่อนที่นิยมใช้สมุนไพรจากธรรมชาติที่หาง่ายใกล้ตัว หรือแม้แต่วัตถุดิบที่อยู่ในครัวก็นำมาเสริมความงามได้ แต่ก็ต้องใช้เวลาเพื่อที่จะทำให้ความสวยสะพรั่งกลับมาดังเดิม
แต่เดี๋ยวนี้อย่าหวังว่าจะเป็นอย่างนั้น เนื่องด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ทันสมัย ที่สามารถตอบสนองผู้บริโภคยุคใหม่ ที่ต้องการความสวยงามพร้อมความรวดเร็วทันใจ ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องผิดอันใดที่เราจะดูแลตัวเองให้ดูสวยเป็นหนุ่มสาวขึ้นเพื่อเสริมสร้างความมั่นใจหรือในการประกอบอาชีพ อย่างไรก็ตาม เราก็ต้องรู้เท่าทันผลิตภัณฑ์และนวัตกรรมสมัยใหม่ที่อาจจะนำภัยร้ายมาถึงตัวก็ได้
วิวัฒนาการความ (เสี่ยง) สวย
ถ้าติดตามข่าวตามสื่อต่างๆ จะเห็นโฆษณาผลิตภัณฑ์ สารเสริมความงามต่างๆ อยู่เป็นระลอก โดยอวดอ้างสรรพคุณว่าทำให้ดูอ่อนเยาว์ ลดรอยเหี่ยวย่น มีผิวขาวอมชมพูเหมือนดารา ทั้งที่จริงๆ แล้วหาเป็นเช่นนั้นไม่ เช่น 'เครื่องสำอางที่สกัดมาจากรกแกะ' ที่บอกว่ามีคุณสมบัติช่วยลดรอยเหี่ยวย่น ทำให้ใบหน้าดูอ่อนเยาว์ ทำให้ผู้ที่รักสวยรักงามและมีฐานะโดยเฉพาะกลุ่มนักร้องนักแสดงนิยมใช้กันมาก
กระแสความนิยมฉีด 'โบท็อกซ์' ( Botox หรือ Botulinum Toxin) เป็นการช่วยลดริ้วรอยได้ชั่วคราว การฉีดสารชนิดนี้จะเห็นผลเร็วมาก อาจจะเพียงไม่กี่ชั่วโมงไปจนถึง 2-3 วัน แต่ผลจากการฉีดจะคงอยู่ประมาณ 3-6 เดือน หากต้องการลบรอยย่นอีกก็ต้องฉีดซ้ำอีก ผลข้างเคียงจากการฉีดโบท็อกซ์ เช่น ปวดศีรษะ คลื่นไส้ คัน เจ็บคอ ไปจนถึงงอาการเจ็บปวดบริเวณที่ฉีด กล้ามเนื้ออ่อนแรง กล้ามเนื้อเปลือกตาหย่อน และภัยจากการฉีดก็เคยมีข่าวมาแล้วอย่างกรณีของนักแสดงแห่งวิกพระราม 4 คนหนึ่ง หลังที่ฉีดโบท็อกซ์จนทำให้หนังตาซ้ายตกเสียโฉม
'กลูต้าไธโอน' (Glutathione) ที่เป็นยารักษาโรคเกี่ยวกับระบบประสาท ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย เป็นสารต้านอนุมูลอิสระช่วยชะลอความเสื่อมของร่างกาย รวมทั้งนำมาใช้รักษาโรคมะเร็ง โรคหัวใจ โรคไขข้ออักเสบ ซึ่งผลข้างเคียงจากการใช้จะทำให้ผิวขาวขึ้น แต่แท้จริงแล้ว ปกติร่างกายจะสร้างสารชนิดนี้ได้เองจากสารอาหารที่รับประทานเข้าไป แต่ก็มีมนุษย์สมองใสนำสารชนิดนี้มาใช้ฉีดเข้าร่างกายหรือผลิตออกมาในรูปเม็ดแคปซูลสำหรับกินเพื่อให้มีผิวขาวขึ้น แต่ถ้าใช้ในปริมาณที่เกินควรก็ทำให้มีอันตรายได้
'คาร์บ็อกซี่'(Carboxy) สารที่ผู้ใช้มีความเชื่อว่า เมื่อฉีดแล้วทำให้ผอมเพรียว ช่วยลดไขมัน ช่วยให้ผิวขาวสวยงาม แต่ทางการแพทย์ได้ออกมาบอกแล้วว่า ยังไม่มีการพิสูจน์ว่าสารชนิดนี้มีคุณสมบัติอย่างไรหรือได้รับการขึ้นทะเบียนแต่อย่างใด รวมทั้งไม่มีงานวิจัยที่รับรองชัดเจน
และในขณะนี้กระแสที่ฮอตฮิตไม่สร่างซา คงหนีไม่พ้นการนำเลือดตัวเองมาปั่นแล้วนำ 'โกรท แฟคเตอร์' ที่อยู่ในเม็ดเลือดมาฉีดบนใบหน้า เพื่อความอ่อนเยาว์ ซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอทำให้ใบหน้าดูดีขึ้น ลบรอยเหี่ยวย่น(อีกเช่นเคย) โดยความนิยมที่เกิดขึ้นนี้มักพบได้ในคลินิกเสริมความงามที่กลายเป็นกลยุทธ์หนึ่งทางการตลาด
โกรท แฟคเตอร์ ผลประโยชน์บนความลุ่มหลง
“โกรท แฟคเตอร์หรือการฉีดเลือดเข้าสู่ใบหน้า ในทางการแพทย์ยังไม่มีการรายงานผลสรุปแน่ชัด ว่าช่วยเสริมความงามได้จริงตามที่มีการโฆษณาตามสถาบันเสริมความงามต่างๆ เมื่อยังไม่มีการวิจัยที่ได้ข้อสรุปแน่ชัดก็ไม่ควรนำวิธีดังกล่าวมาใช้ แต่สถาบันเสริมความงามหลายแห่งก็กลับนำโกรท แฟคเตอร์มาเป็นช่องทางในการหาผลประโยชน์”
เป็นความเห็นจาก นายแพทย์ชลธิศ สินรัชตานันท์ นายกสมาคมศัลยกรรมตกแต่งแห่งประเทศไทย หนึ่งในบุคลากรทางการแพทย์ที่ออกมาขับเคลื่อนร่วมกับแพทยสภาในการส่งเสียงเตือนผู้คนในสังคมที่กำลังหลงเชื่อการเสริมความงามด้วยโกรท แฟคเตอร์ ซึ่งกำลังแพร่หลายอยู่ ณ ขณะนี้
นพ.ชลธิศ ขยายความเพิ่มเติมว่า จากการตรวจสอบของแพทยสภาและองค์กรพันธมิตร ในกรณีวงจรธุรกิจของสถาบันเสริมความงามที่นำโกรท แฟคเตอร์มาใช้เรียกลูกค้านั้น แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือกลุ่มแพทย์ที่ทำการค้นคว้าศึกษาเรื่องนี้แล้วมีคลินิกเสริมความงามเป็นของตนเอง กับกลุ่มผู้ช่วยแพทย์ที่ออกมาเปิดคลินิกหรือให้บริการฉีดโกรท แฟคเตอร์ด้วยตนเอง แต่ไม่ว่าในกรณีไหน ก็ถือว่าไม่เหมาะสมอย่างยิ่ง เพราะยังไม่มีงานวิจัยหรือผลสำเร็จใดๆ จากการค้นคว้าเรื่องโกรท แฟคเตอร์ เผยแพร่สู่วารสารวิชาการทางการแพทย์
เมื่อไม่มีผลงานวิจัยที่แน่ชัด แพทยสภาจึงไม่ให้คำรับรองใดๆ เกี่ยวกับรูปแบบเสริมความงามชนิดนี้ ทั้งเป็นห่วงผู้บริโภคที่หลงเชื่อเพราะอาจเกิดอันตรายได้
“ผู้ที่นำโกรท แฟคเตอร์ มาโฆษณาเกินจริงทำให้คนหลงเชื่อว่าใช้แล้วดูอ่อนเยาว์นั้น ผมขอเรียกการกระทำแบบนี้ ว่าตีหัวเข้าบ้านก็แล้วกัน เพราะเป็นการหลอกให้คนหลงเชื่อ ทั้งที่ยังไม่มีคำรับรองใดๆ คนมาใช้บริการก็ต้องเสียเงิน เจ็บตัวฟรี แล้วก็ยังเสี่ยงต่อการติดโรคแทรกซ้อนด้วย อาจจะตัวเขียวช้ำและมีอาการติดเชื้อได้ นอกจากนี้ ก็ยังมีสารอีกหลายตัวที่มีคนฉกฉวยนำมาใช้ในธุรกิจเสริมความงาม”
เจ็บแค่ไหน แต่ขอสวยไว้ก่อน
แม้ผลิตภัณฑ์และนวัตกรรมที่ออกมาเพื่อเสริมสร้างความสวยงามให้มนุษย์จะทำให้เกิดผลดีหรือร้ายอย่างไร มนุษย์ โดยเฉพาะผู้หญิงก็ยอมเสี่ยงเพื่อให้ได้มาซึ่งความเปล่งปลั่ง ดูอ่อนเยาว์กว่าอายุจริง
ในเรื่องนี้ อรนภา กฤษฎี ผู้เชี่ยวชาญด้านความงาม ในฐานะผู้ใช้ผลิตภัณฑ์และนวัตกรรมเพื่อความงาม ให้เหตุผลว่าที่ผู้หญิงยอมเสี่ยงกับนวัตกรรมเพื่อความงามทั้งหลาย เป็นเพราะผู้หญิงทุกคนในโลกอยากสวย
เพราะเทคโนโลยีการแพทย์ก้าวไกล ตลาดผลิตภัณฑ์ และนวัตกรรมเหล่านี้จึงเติบโตตาม โดยผลิตภัณฑ์หรือนวัตกรรมความงามคุณภาพดีที่สุดต้องเป็นของสหรัฐอเมริกาซึ่งมีราคาแพงมาก
“หากมาจากประเทศอื่น เช่น ญี่ปุ่น หรือเกาหลีจะเป็นเกรดธรรมดาถึงแย่มาก ยิ่งเกาหลีนี่คุณภาพแย่มาก เหตุผลที่คนนิยมใช้ผลิตภัณฑ์หรือนวัตกรรมเสริมความงามคุณภาพต่ำเป็นเพราะมีรายได้น้อย”
ผลิตภัณฑ์หรือนวัตกรรมเพื่อความงามคุณภาพดีที่น่าเชื่อถือจะไม่มีการโฆษณาขายทางทีวี แพทย์ต้องสั่งซื้อโดยตรงจากสหรัฐอเมริกามาให้ลูกค้า สิ่งเหล่านี้เป็นของหายาก ไม่ใช่ของเถื่อนที่มีขายทั่วไป การที่จะได้ของดีมีคุณภาพ นอกจากมีเงินแล้ว ต้องศึกษาข้อมูลนวัตกรรมเหล่านี้ด้วย ต้องยอมทุ่มทุน อย่าโลภมากเด็ดขาด
“โกรท แฟคเตอร์ ยังไม่ผ่านขั้นตอนการวิจัยที่สมบูรณ์ครบถ้วนเลย ที่เห็นๆ กันเป็นของปลอมทั้งเพ รวมทั้งสเต็มเซลล์ด้วย ของปลอม หลอกกันชัดๆ”
คนที่ตกเป็นเหยื่อของนวัตกรรมความงามไร้คุณภาพมักรู้เท่าไม่ถึงการณ์ โดยเป็นคนทั่วๆ ไปในหลายวงการ ไม่เฉพาะคนในสังคมชั้นสูง ดารา นางแบบ หรือนางงาม ที่พวกเธอเหล่านี้เหมือนมีรูปกายเป็นอาวุธจึงต้องดูแลเป็นพิเศษ
อรนภาเตือนสาวอยากสวยทั้งหลายว่า ก่อนพึ่งนวัตกรรมเพื่อความงาม ต้องศึกษาอย่างถี่ถ้วน การใช้ต้องอยู่ในดุลยพินิจของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญซึ่งต้องไม่คิดคดโกง ไม่หวังแต่ประโยชน์ส่วนตน และของดีต้องแพง เพราะต้นทุนสูงและใช้เวลาวิจัยนานหลายสิบปี
ขณะที่ กาละแมร์-พัชรศรี เบญจมาศ พิธีกรรายการผู้หญิงถึงผู้หญิง กล่าวว่า เท่าที่ได้ยินมามีหลายกระแสมาก บางคนก็บอกว่าดี บอกคนก็บอกว่าอันตราย สำหรับตนแล้วก็ไม่เคยลองทำจึงยังบอกไม่ได้ว่าเป็นอย่างไรว่า ควรทำหรือไม่ เพราะไม่ได้มีข้อมูลชัดเจนที่จะไปโจมตี หรือสนับสนุน
“จริงๆ แมร์เป็นคนกลัวความเจ็บปวดมาก จะไม่ทำอะไรที่มันเจ็บตัวมากๆ (หัวเราะ) แต่เราเข้าใจนะว่าผู้หญิงอยากสวย และเป็นเพศที่มีความอดทนต่อความเจ็บปวดสูง จะเสี่ยง จะเจ็บเท่าไหร่ก็ยอม ขอให้สวยไว้ก่อน
“ดังนั้น ทางที่ดีก็ควรศึกษาให้ดีๆ ก่อน เพราะของแบบนี้ยังใหม่อยู่ แมร์ว่าเราอาจจะดูคนที่เคยทำมาแล้วก่อนหน้าเราว่าผลที่ออกมาเป็นอย่างไรบ้าง ผลดี ผลเสีย ผลข้างเคียงเป็นอย่างไร เปรียบเทียบดูหลายๆ ที่ ไม่ใช่แค่คนใกล้ตัวเท่านั้น เราอาจจะต้องติดตามข่าวสารทั้งในและต่างประเทศ เพราะของแบบนี้มันเป็นอะไรที่เกี่ยวกับร่างกายเรา”
รู้เท่าทัน ใช้วิจารณญาณก่อนใช้
จากข้อสังเกตและคำเตือนเกี่ยวกับอันตรายที่อาจเกิดจากการฉีดโกรท แฟคเตอร์ ทำให้อดสงสัยไม่ได้ว่า แล้วแพทยสภาและสมาคมแพทย์อื่นๆ จะมีมาตรการควบคุมหรือจัดการกับผู้แสวงหาผลประโยชน์ด้วยวิธีเหล่านี้อย่างไรบ้าง? ซึ่งก็ได้รับคำตอบจาก นพ.ชลธิศ ว่า
“หน้าที่หลักของแพทยสภาก็คือการตรวจสอบแพทย์ด้วยกันเอง เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค เราทำหน้าที่เสมือนเป็นหูเป็นตาให้กับประชาชน ซึ่งไม่ใช่เฉพาะคนไทยเท่านั้น แต่ดูแลชาวต่างประเทศที่เดินทางมารับการรักษาในเมืองไทยด้วย มาตรฐานของแพทยสภา อธิบายกว้างๆ ได้ 2 กรณี คือ ประการแรก เรารับได้ หากวิธีการรักษาหรือนวัตกรรมนั้นๆ ผ่านการค้นคว้าวิจัยมาแล้ว และตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารวิชาการทางการแพทย์ แต่ถ้าไม่มีการรับรองใดๆ ทางวิชาการ แล้วมีความผิดพลาดขึ้น แพทย์คนนั้นๆ จะต้องรับผิดชอบต่อการกระทำของตนเอง”
นพ.ชลธิศ อธิบายเพิ่มเติมว่า ในกรณีที่ผู้บริโภคได้รับอันตรายจากการให้บริการของแพทย์ และสถาบันเสริมความงามต่างๆ สามารถร้องเรียนต่อแพทยสภาได้ ซึ่งแพทยสภาจะช่วยดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริง หากพบว่าแพทย์มีความผิดจริง แพทยสภาก็จะดำเนินการทางกฎหมายกับแพทย์ผู้นั้น
แต่นอกจากบทบาทการตรวจสอบของแพทยสภาแล้ว นพ.ชลธิศ ก็เรียกร้องให้สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค หรือ สคบ. เข้ามาร่วมตรวจสอบ และเผยแพร่ข่าวสารถึงอันตรายจากการเสริมความงามในรูปแบบต่างๆ ให้แก่ประชาชนด้วย
และท้ายที่สุด นอกจากการร่วมกันตรวจสอบองค์กรเหล่านี้แล้ว ผู้บริโภคทุกคนก็ควรรู้เท่าทัน และใช้วิจารณญาณในการรับบริการ
“คนไทยมีลักษณะพิเศษคือเชื่ออะไรง่าย การห้ามของแพทยสมาคมก็คงทำได้เพียงแค่ห้ามปราม ตักเตือน แต่เขาจะเชื่อหรือไม่ก็เป็นสิทธิ์ของเขา เพราะฉะนั้น สิ่งที่ผมเป็นห่วงก็คือ ทุกวันนี้ โลกเราก้าวไกลไปมาก ทำให้การสื่อสารและวิทยาการเข้าถึงผู้คนได้ง่ายขึ้น แพทย์จำนวนไม่น้อยก็ได้ไปเปิดหูเปิดตา รับเอาเทคโนโลยี และวิธีการต่างๆ เข้ามามากมาย พวกที่ฉกฉวยนำวิทยาการที่ก้าวหน้ามาใช้ก็มีไม่น้อย
ดังนั้น ผู้บริโภคก็ต้องรู้เท่าทัน ต้องรู้จักตรวจสอบข้อมูลอย่างละเอียด ใช้อินเทอร์เน็ตให้เกิดประโยชน์ เช็คข้อมูลข่าวสาร ตรวจสอบถึงอันตรายและผลข้างเคียงของวิธีการรักษาหรือรูปแบบการเสริมความงามต่างๆ เพราะถึงอย่างไร เราคงห้ามไม่ได้ ที่คนหนุ่มคนสาวจะอยากสวย อยากหล่อ คนอายุมากก็อยากเยาว์วัย ดังนั้น สิ่งสำคัญที่สุด จึงอยู่ที่ตัวของทุกคนเอง จะต้องใช้วิจารณญาณอย่างรอบคอบ อย่าหลงเชื่ออะไรง่ายๆ”
..........
ถึงการดูแลรักษาความสวยความงามจะไม่ใช่สิ่งผิดและเป็นสิทธิส่วนบุคคล อย่างไรเสีย การจะใช้นวัตกรรม ผลิตภัณฑ์เพื่อเพิ่มความงามก็ต้องใช้วิจารณญาณตรวจสอบข้อมูลให้แน่ชัดก่อน แต่หนทางที่ดีที่สุดคือการสร้างความสวยจากภายใน ทั้งประหยัดเงิน ปลอดภัย และยั่งยืนถาวรกว่ากันเยอะ ...ว่าไหม
…………
เรื่อง : ทีมข่าว CLICK
ภาพ : ทีมภาพ CLICK