xs
xsm
sm
md
lg

รพ.อุดรฯเริ่มฉีดวัคซีนป้องกันหวัดใหญ่ 2009 กลุ่มบุคคลากร-ผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


อุดรธานี - โรงพยาบาลอุดรฯ รณรงค์การฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ 2009 ให้กับบุคลากรโรงพยาบาลอุดรธานีและผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยง หลังได้รับการจัดสรรวัคซีนมา 6,000 โดสซ์

วันนี้ (19 ม.ค.) ที่อาคารผู้ป่วยนอก โรงพยาบาลอุดรธานี ได้จัดกิจกรรมรณรงค์การฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ 2009 ในบุคลากรโรงพยาบาลอุดรธานีและผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยง หญิงตั้งครรภ์และผู้ป่วยโรคเรื้อรั้ง จากการระบาดของไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ ชนิด H1N1 2009 ซึ่งประเทศไทยนั้นพบผู้ป่วยยืนยันรายแรกในเดือน พฤษภาคม 2552

จากนั้นได้ระบาดแพร่กระจายไปทุกจังหวัดทั่วประเทศ จากข้อมูลสำนักระบาดวิทยาคาดว่า การะบาดจะดำเนินไปจนถึงเดือนมีนาคม 2553 ซึ่งการระบาดได้ชะลอตัวลงและอาจจะเกิดระบาดครั้งใหญ่อีกครั้งในเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม 2553 นี้ เพื่อเป็นการรองรับ สถานการณ์การระบาดในช่วงดังกล่าว ทางกระทรวงสาธารณสุขได้สั่งซื้อวัคซีนไข้หวัดใหญ่จากบริษัท Sanofi Pasteur Merrier ซึ่งโรงพยาบาลอุดรธานีได้รับการจัดสรรวัคซีนดังกล่าว จำนวน 6,000 โดสซ์ และเริ่มให้บริการฉีดตั้งแต่วันนี้ถึงเดือนมีนาคม 2553

นายแพทย์สัญชัย พิพิธพร หัวหน้างานป้องกันและควบคุมการติดเชื้อในโรงพยาบาลอุดรธานี กล่าวว่า ในการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ 2009 ครั้งนี้ จะเน้นไปที่บุคลากรเจ้าหน้าที่ และกลุ่มเสี่ยง เช่น หญิงตั้งครรภ์ โรคอ้วน ผู้ป่วยที่เป็นโรคปอดเรื้อรั้ง และถ้าหากวัคซีนมีเพียงพอก็จะกระจายไปสู่คนไข้โรคเรื้องรั้งกลุ่มอื่นต่อมา เช่น เบาหวาน โรคหัวใจ โรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง โรคไต

ขณะนี้ทางโรงพยาบาลอุดรธานีได้รับการจัดสรรวัคซีนมาจำนวน 6,000 โดสซ์ ซึ่งจัดสรรให้กับกับเจ้าหน้าที่ที่ได้แจ้งความจำนงไว้ 1,800 โดสซ์ หญิงตั้งครรภ์ 2,000 โดสซ์ ส่วนที่เหลือทางโรงพยาบาลจะได้กระจายให้กับคนไข้กลุ่มเสี่ยงต่อไป

การฉีดจะฉีดในโรงพยาบาลเท่านั้น เพื่อสังเกตอาการอย่างใกล้ชิดภายหลังการฉีดวัคซีนอย่างน้อย 30 นาที เพราะถึงแม้ว่าวัคซีนจะมีความปลอดภัยสูง แต่ก็อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนได้ ภาวะแทรกซ้อนที่พบได้บ้างแต่ไม่รุนแรง ได้แก่ อาการปวด บวม แดง ที่รอยฉีด หรือปวดศีรษะ ปวดเมื่อย ปวดข้อ มีไข้ต่ำๆ พบได้ประมาณร้อยละ 1-10 ซึ่งอาการจะหายเองภายใน 1-3 วัน

ส่วนภาวะแทรกซ้อนรุนแรงพบได้น้อยมาก ต่ำกว่า 1 ใน 100,000 ได้แก่ ไข้สูง ปากเบี้ยว กล้ามเนื้ออ่อนแรง สับสน เป็นต้น

ทั้งนี้ รายที่มีอาการแพ้วัคซีนรุนแรง มักเกิดขึ้นภายใน 30 นาทีหลังฉีด จะมีอาการคันที่ผิวหนัง บวมที่ปาก หน้า ลำคอ หายใจลำบาก ชีพจรเบา ช็อค โดยกลุ่มเสี่ยงที่ห้ามฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ 2009 ได้แก่ เด็กที่อายุน้อยกว่า 6 เดือน ผู้ที่แพ้ไข่ หรือสารเคมีอื่นที่อยู่ในวัคซีน รวมทั้งผู้ที่เคยฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่แล้วมีอาการแพ้รุนแรง สำหรับผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงสูงที่จะรับการฉีดวัคซีนในครั้งนี้ มีไข้ หรือมีอาการเจ็บป่วย ควรเลื่อนการฉีดวัคซีนออกไปอย่างน้อย 1 สัปดาห์จนกว่าจะหายเป็นปกติ หรือจนกว่าจะคุมอาการโรคประจำตัวได้คงที่

ทั้งนี้ คุณสมบัติของผู้ได้รับวัคซีนต้องไม่มีประวัติการแพ้ไข่ หรือแพ้วัคซีนมาก่อน แต่หากมีไข้จะต้องเลื่อนการฉีดไปก่อน และที่สำคัญการได้รับวัคซีนต้องเป็นไปโดยความสมัครใจ ซึ่งเจ้าหน้าที่จะอธิบายและทำความเข้าใจกับผู้ได้รับวัคซีนก่อนการฉีดทุกราย โดยผู้รับวัคซีนจะต้องสังเกตอาการตนเองภายหลังฉีด 30 นาที

หากพบว่า มีอาการคันที่ผิวหนัง มีผื่นและบวมรอบ ๆ ตำแหน่งที่ฉีด เวียนศีรษะ มึน รู้สึกร้อนทั่วตัว หายใจลำบาก ควรปรึกษาเจ้าหน้าที่สาธารณสุขทันที






กำลังโหลดความคิดเห็น