xs
xsm
sm
md
lg

สธ.เตือนเด็กกลุ่มเสี่ยงเร่งหยอดวัคซีนโปลิโอ ครั้งแรก 23 ธ.ค.นี้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สธ.หยอดวัคซีนโปลิโอฟรีให้เด็กไทย-ต่างชาติ 2.5 ล้านคน ป้องกันโรคหวนระบาดใหม่ เน้นพื้นที่เสี่ยง ทุรกันดาร แนวชายแดน ชุมชนแออัด แรงงานก่อสร้าง ประมง รับจ้างทำไร่ แรงงานต่างชาติ ในวันที่ 23 ธ.ค.และ 27 ม.ค. 2553 นี้ เผยสถิติล่าสุดทั่วโลกมีผู้ป่วยโปลิโอ 1,457 ราย โดยพบในประเทศที่ปลอดโรคนี้เพิ่มขึ้น 3 เท่าตัว

วันที่ 11 ธันวาคม ที่กระทรวงสาธารณสุข นายมานิต นพอมรบดี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข นพ.ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นพ.มานิต ธีระตันติกานนท์ อธิบดีกรมควบคุมโรค นายชัยรัตน์ ประเสริฐล้ำ ผู้ว่าการภาค 3350 โรตารีสากล และนางสาวมาลี ขำรักตระกูล ประธานอนุกรรมการโปลิโอพลัส 2551-52 ภาค 3350 โรตารีสากล ร่วมกันแถลงข่าว “การรณรงค์ให้วัคซีนโปลิโอระดับชาติ ประจำปี พ.ศ. 2552”

นายมานิต กล่าวว่า สธ.ได้กำหนดการรณรงค์หยอดวัคซีนป้องกันโรคโปลิโอแก่เด็กไทยและเด็กต่างชาติพร้อมกันทั่วประเทศติดต่อกัน 2 ครั้ง ครั้งที่ 1 ในวันที่ 23 ธันวาคม 2552 และครั้งที่ 2 ในวันที่ 27 มกราคม 2553 เพื่อตัดโอกาสการเกิดโรค โดยหยอดให้เด็กไทยอายุต่ำกว่า 5 ปี และเด็กต่างชาติอายุต่ำกว่า 15 ปี รวมประมาณ 2.5 ล้านคน ดังนั้น ขอให้ผู้ปกครองพาบุตรหลานไปรับการหยอดวัคซีนดังกล่าวทั้ง 2 ครั้งที่สถานบริการสาธารณสุขใกล้บ้าน โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายแต่อย่างใด
ภาพประกอบข่าวจากอินเทอร์เน็ต
“ปัจจุบันแม้ว่าประเทศไทยจะไม่พบผู้ป่วยโปลิโอมาเป็นเวลากว่า 12 ปีก็ตาม แต่มีโอกาสเสี่ยงที่โรคจะหวนกลับมาอีก เนื่องจากบางประเทศในเอเชียยังมีการระบาดของโรคนี้อยู่ และไทยยังมีเด็กที่เกิดในกลุ่มผู้ด้อยโอกาส กลุ่มอพยพเคลื่อนย้ายแรงงานทั้งที่เป็นคนไทยและต่างด้าว อาจจะยังไม่เคยได้รับวัคซีนป้องกันโรคโปลิโอตามระบบปกติ หรือได้รับแต่ไม่ครบถ้วนตามกำหนด”นายมานิตกล่าว

ด้านนพ.ไพจิตร์ กล่าวว่า ใน พ.ศ. 2552 สถานการณ์การเกิดโรคโปลิโอยังไม่น่าวางใจ เนื่องจากมีปัญหาการระบาดข้ามประเทศ ทำให้มีโรคหวนกลับในประเทศที่เคยปลอดโรคแล้ว โดยตั้งแต่ 1 มกราคม 2552 - 1 ธันวาคม 2552 มีรายงานผู้ป่วยโปลิโอทั่วโลกรวม 1,457 ราย ร้อยละ 79 อยู่ในประเทศไนจีเรีย อินเดีย ปากีสถานและอัฟกานิสถาน เนื่องจากเป็นโรคประจำถิ่น พบมากที่สุดที่อินเดีย 650 ราย รองลงมาคือ ไนจีเรีย 384 ราย และพบผู้ป่วยในประเทศที่ปลอดโรคแล้ว 313 ราย โดยติดเชื้อมาจากต่างประเทศ พบมากที่สุดที่ประเทศชาด 48 ราย ซูดาน 45 ราย กินิ 36 ราย แองโกลา 28 ราย และไอวอรี่ โคลสต์ 27 ราย เป็นที่น่าสังเกตว่า เมื่อเปรียบเทียบในช่วงเวลาเดียวกันของปี 2551 พบว่าโรคมีแนวโน้มระบาดในประเทศที่ปลอดโรคแล้วเพิ่มขึ้น 3 เท่าตัว

นพ.ไพจิตร์ กล่าวต่อว่า สำหรับประเทศไทยได้รณรงค์ให้วัคซีนโปลิโอพร้อมกันทั่วประเทศติดต่อกันเป็นเวลา 16 ปี พบว่าสามารถให้วัคซีนแก่เด็กเป้าหมายได้ครอบคลุมมากกว่าร้อยละ 90 มาตลอด ในปี 2551 เด็กไทยได้รับวัคซีนโปลิโอครอบคลุมมากกว่าร้อยละ 96 ส่วนในเด็กต่างชาติพบร้อยละ 12 ไม่เคยได้รับวัคซีนมาก่อนและได้รับวัคซีนไม่ครบ 3 ครั้ง ร้อยละ 28

การรณรงค์ให้วัคซีนโปลิโอในปีนี้ เน้นเด็กที่อยู่ในพื้นที่ทุรกันดาร ชุมชนแออัด แรงงานก่อสร้าง ประมงรับจ้างทำไร่ ลูกแรงงานต่างชาติทั้งหมด รวมทั้งพื้นที่ติดชายแดนโดยเฉพาะประเทศพม่า รวมทั้งพื้นที่ที่มีรายงานการเกิดโรคคอตีบ หรือหัด ในรอบ 3 ปี หากพบเด็กป่วยจากคอตีบ 1 รายขึ้นไป หรือพบผู้ป่วยโรคหัดตั้งแต่ 10 รายขึ้นไป ถือว่ามีปัญหาการให้วัคซีนในพื้นที่”นพ.ไพจิตร์กล่าว

ด้านนพ.มานิต ธีระตันติกานนท์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า โปลิโอเป็นโรคติดต่อที่เกิดจากเชื้อไวรัสโปลิโอ มีชีวิตอยู่ได้เฉพาะในร่างกายคนเท่านั้น เชื้อจะออกมากับอุจจาระของผู้ป่วย หรือผู้มีเชื้อแต่ไม่มีอาการ ติดต่อกันโดยการสัมผัสหรือปนเปื้อนในอาหาร เชื้อจะไปเจริญเติบโตในลำไส้ อาการสำคัญคือ มีไข้ อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร เจ็บคอ คลื่นไส้ ปวดศีรษะ ตึงหรือปวดกล้ามเนื้อบริเวณคอ ลำตัวและขา หากเชื้อเข้าสู่ระบบประสาท จะทำให้กล้ามเนื้ออ่อนแรง แขนหรือขาเป็นอัมพาต หากเกิดที่กล้ามเนื้อกระบังลมที่ช่วยในการหายใจ อาจทำให้เสียชีวิต มักพบโรคนี้ในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี เพราะภูมิต้านทานยังไม่ดีพอและยังดูแลสุขภาพตนเองไม่ได้

“โรคนี้ไม่มียารักษาหายขาด แต่ป้องกันได้โดยหยอดวัคซีนโปลิโอ 5 ครั้ง โดยหยอดให้เด็กอายุ 2,4,6 เดือน และหยอดกระตุ้นซ้ำเมื่ออายุ 1 ปีครึ่ง และ 4 ปี ดังนั้น ผู้ปกครองจึงควรพาบุตรหลานไปรับวัคซีนให้ครบตามกำหนดและนำเด็กไปรับวัคซีนโปลิโอเสริมทุกครั้งที่มีการรณรงค์ แม้จะได้รับวัคซีนครบตามเกณฑ์แล้วก็ตาม ซึ่งการได้รับวัคซีนหลายครั้งไม่เป็นอันตรายแต่อย่างใด แต่ยิ่งช่วยกระตุ้นให้ระดับภูมิคุ้มกันโรคสูงขึ้น และเพียงพอที่จะป้องกันโรคได้ และหากพบเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี มีอาการแขนขาอ่อนแรง ควรพาไปพบแพทย์หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุข เพื่อตรวจหาเชื้อโปลิโอหรือสาเหตุอื่นๆต่อไป”นพ.มานิตย์ กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น