xs
xsm
sm
md
lg

โรงเรียนดี มีทุกตำบล...อีกนโยบายฝัน?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


 
     ‘สร้างอาคารใหม่ สร้างห้องสมุด มีคอมพิวเตอร์ มีอินเทอร์เน็ต สร้างมาตรฐานยกระดับโรงเรียนเล็กในพื้นที่ห่างไกลให้มีคุณภาพเทียบเท่ากับโรงเรียนในตัวเมือง เพื่อที่เด็กนักเรียนจะได้ไม่ต้องตะเกียกตะกายเข้ามากระจุกตัวอยู่ในเมืองใหญ่ ขยายคุณภาพระบบการศึกษาให้เท่าเทียมและทั่วถึงทุกพื้นที่...’

     ความวาดหวังทำนองนี้ คล้ายเป็นนโยบายจากภาครัฐที่ประชาชนได้ยินกันมานานเนิ่น แทบทุกยุคทุกสมัย

     สวนทางกับภาพของโรงเรียนในพื้นที่ห่างไกลทุรกันดาร ซึ่งอาคารเรียนยังปลูกสร้างด้วยรูปแบบของอาคารชั่วคราว ไม่ได้มาตรฐาน ห้องสมุดมีหนังสือไม่หลากหลายเพียงพอกับความต้องการของนักเรียน ระบบสาธารณูปโภคต่างๆ ยังไม่เพียงพอต่อจำนวนนักเรียนและบุคลากรในโรงเรียน มิพักต้องเอ่ยถึงจำนวนของครูที่มีไม่เพียงพอ

     ด้วยเหตุนี้ เมื่อ ชินวรณ์ บุณยเกียรติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการคนใหม่หมาด ออกมาแถลงนโยบาย ว่าจะพยายามผลักดันโครงการ 1ตำบล 1 โรงเรียนคุณภาพขนาดเล็ก เพื่อให้แต่ละตำบลทั่วประเทศ มีโรงเรียนที่มีคุณภาพเพื่อความเท่าเทียมทางการศึกษานั้น แม้จะเป็นสิ่งดีที่ภาครัฐสมควรทำอย่างยิ่ง แต่ขณะเดียวกัน มันก็ได้สร้างความกังขาให้กับคนในสังคมว่า นโยบายแห่งฝันนี้จะกลายเป็นจริงได้หรือไม่?

 
     ยิ่งไปกว่านั้น โครงการนี้ ก็คล้ายจะเดินตามรอย ‘1 อำเภอ 1 โรงเรียนในฝัน’ ที่ผุดขึ้นในยุครัฐบาลทักษิณ ซึ่งพยายามยกระดับโรงเรียนระดับประถมศึกษา และมัธยมศึกษาในแต่ละอำเภอให้มีคุณภาพทั้งในด้านการเรียนการสอน จวบจนสวัสดิการต่างๆ ที่รัฐจะขอความร่วมมือกับเอกชนในการทำนุบำรุงอาคารเรียน สนามกีฬา โรงอาหาร รวมถึงการสร้างห้องสมุดที่ได้มาตรฐาน ก่อนจะประสบกับความล้มเหลว สร้างภาระหนี้สินให้แก่โรงเรียนหลายๆ แห่งที่กู้ยืมเงินมาพัฒนาโรงเรียนให้ผ่านการประเมินเพื่อก้าวสู่การเป็นโรงเรียนในฝัน

     ก่อนโครงการดังกล่าวจะถูกยุบเมื่อ ศ.ดร. วิจิตร ศรีสอ้าน ผู้ก้าวเข้ามารับตำแหน่งเจ้ากระทรวงศึกษาฯ ในยุค คมช. จะโละทิ้ง ด้วยเห็นว่าเป็นนโยบายประชานิยม ที่ไม่ก่อให้เกิดประสิทธิภาพในระยะยาว

     กระนั้น ทั้ง 2 โครงการที่ว่านี้ ก็คล้ายจะมีโครงร่างหรือแกนหลักไม่ต่างกันนัก แม้ชิณวรณ์จะออกตัวว่า โครงการ 1 ตำบล 1 โรงเรียนคุณภาพขนาดเล็ก ต่างจาก โครงการ 1 อำเภอ 1 โรงเรียนในฝัน ของยุคทักษิณที่เพียงแค่นำป้าย 'โรงเรียนในฝัน' มาติดประดับให้แก่โรงเรียนที่มีคุณภาพอยู่แล้ว ก็ตาม

     แต่ไม่ว่าอย่างไร ความพยายามที่จะยกระดับโรงเรียนในแต่ละตำบล ก็ไม่อาจรอดพ้นคำถามจากสังคม ว่าจะทำได้จริงอย่างปากว่าหรือไม่
'โรงเรียนของหนู' จะกลายเป็นแค่เครื่องมือที่ถูกหยิบยกมาเรียกคะแนนนิยมเหมือนครั้งที่ผ่านๆ มาหรือเปล่า ?


ฝันที่วาดไว้

     นโยบายแห่งฝันของระบบการศึกษาไทยที่ว่านี้ ก็คือโครงการ '1 ตำบล 1 โรงเรียนคุณภาพขนาดเล็ก' หรือ 'โรงเรียนดีประจำตำบล' ซึ่งเป็นโครงการที่เจ้ากระทรวงศึกษาคนใหม่หมายมั่นปั้นมือให้เกิดขึ้น เพื่อยกระดับโรงเรียนขนาดเล็กที่ไม่ผ่านการประเมินสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา
(สมศ.) ให้เป็นโรงเรียนที่มีคุณภาพ ทั้งหวังดึงองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ในท้องที่ชนบทห่างไกล ให้เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาและดูแลสวัสดิการของนักเรียน

     ไม่ว่าการดูแลในเรื่องโครงการอาหารกลางวัน บริการรถรับส่งนักเรียน รวมทั้งสนับสนุนงบจัดกิจกรรมโรงเรียน เช่น การแข่งกีฬาสี รวมถึงคุณภาพและมาตรฐานในด้านอื่นๆ ดังที่ชินวรณ์เคยแถลงถึงเป้าหมายของโครงการดังกล่าวว่า

     “จะสร้างอาคารเรียนที่ทันสมัย มีห้องสมุด ห้องวิทยาศาสตร์ ห้องอินเทอร์เน็ต สระว่ายน้ำ และจะปรับปรุงภูมิทัศน์รอบๆ โรงเรียนด้วย หากทุกตำบลมีโรงเรียนขนาดเล็กที่ดี จะเป็นการยกระดับการพัฒนาคุณภาพโรงเรียนขนาดเล็ก ตลอดจนลดภาระของผู้ปกครอง เด็กไม่ต้องเดินทางไกลเพื่อไปเรียนในเมือง เพราะสามารถเรียนโรงเรียนดีๆ ใกล้บ้านได้”

     ทั้งนี้ โครงการ 1 ตำบล 1 โรงเรียนคุณภาพขนาดเล็ก จะประเดิมนำร่องในเขตพื้นที่สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และจะขยายผลต่อเนื่องทุกตำบล โดยมอบหมายให้ สพฐ.จัดประชุมร่วมกับประชาชนเพื่อเลือกโรงเรียนที่สมัครใจเข้าโครงการ และประสานงานกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้เข้ามาดำเนินการด้านกิจกรรมและสวัสดิการต่างๆ ดังที่กล่าวไว้ข้างต้น โดยที่กระทรวงศึกษาธิการ จะรับผิดชอบดูแลเรื่องงบประมาณ คุณภาพบุคลากร และคุณภาพการจัดการศึกษา

     นอกจากนั้น ชินวรณ์ยังวาดหวังว่า หากโครงการ 1 ตำบล 1 โรงเรียนคุณภาพขนาดเล็ก ประสบผลสำเร็จเป็นที่น่าพอใจ ในอนาคต โครงการดังกล่าวจะครอบคลุมไปถึงวิทยาลัยสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา และสำนักงานคณะกรรมการการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) ด้วย

     อย่างไรก็ดี ความมุ่งหวังอีกประการของโครง 1 ตำบล 1 โรงเรียนคุณภาพขนาดเล็ก ที่นอกเหนือไปจากการยกระดับคุณภาพของโรงเรียนแล้ว อีกวัตถุประสงค์สำคัญในการดำเนินโครงการดังกล่าวก็คือ เพื่อเป็นการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น ภายใต้หลักการบริหารจัดการโดยใช้โรงเรียนเป็นฐาน หรือที่เรียกว่า SMB (School Based Management)

     ซึ่งหากเป็นเช่นนั้น ก็น่าตั้งข้อสังเกตว่า นิยามความหมายของคำว่า 'โรงเรียนดี' 'โรงเรียนคุณภาพ' ในทัศนะของกระทรวงศึกษาฯ เป็นแบบไหนและครอบคลุมมากน้อยเพียงใด

     เพราะหากยึดมาตรฐานหลักการบริหารจัดการ โดยใช้โรงเรียนเป็นพื้นฐานสำคัญ เช่นที่เมืองนอกเมืองนาปฏิบัติกัน แล้วเราก็รับเอาโครงร่างของเขามานั้น เพียงแค่งบประมาณ สวัสดิการ และกิจกรรมกีฬาสีย่อมไม่เพียงพอ หากบุคลากรทุกภาคส่วนนับแต่ระดับโครงสร้างของรัฐ จวบจนบุคลากรทุกฝ่ายในโรงเรียน ไม่ว่าผู้บริหาร ผู้อำนวยการ ครู นักเรียน พ่อแม่ ผู้ปกครอง รวมถึงปราชญ์ชาวบ้านและคนในชุมชนไม่พร้อมจะสนับสนุนและขับเคลื่อนโรงเรียนของท้องถิ่นให้ก้าวไปสู่ความมีคุณภาพ เหมาะที่จะเป็นรากฐานสำคัญในการกระจายอำนาจอย่างแท้จริง

     และนอกเหนือจากปัจจัยอื่นใดทั้งหมด คงไม่พ้นคำถามที่ว่า ภาครัฐจะใส่ใจกับนโยบายนี้มากน้อยสักแค่ไหน และจะผลักดันให้สำเร็จได้จริงในทุกตำบลทั่วประเทศอย่างที่วาดหวังไว้ได้หรือไม่

     นับเป็นความท้าทายอันสำคัญยิ่ง ไม่น้อยไปกว่าการทำให้โรงเรียนในแต่ละตำบล มี 'คุณภาพ' อย่างที่หวัง พร้อมกับที่ต้องตอบคำถามให้ได้ว่า 'บรรทัดฐานของคุณภาพ' ในแบบของกระทรวงศึกษาธิการนั้น คืออะไร?

โรงเรียนไทยในสภาพ 'ขาด' และ 'เกิน'

     “นโยบายที่คลอดออกมาไม่ว่าจะของรัฐบาลไหนมันก็ดีทั้งนั้น แต่ก็นั่นแหละ มันขึ้นอยู่กับเสถียรภาพทางการเมืองด้วย โดยเฉพาะนโยบายด้านการศึกษา เพราะกว่าจะเห็นผล มันใช้ระยะเวลา ซึ่งส่วนมากปัญหาก็คือนโยบายไม่ถูกสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง ไม่ต้องถึงขั้นเปลี่ยนรัฐบาลหรอกครับ แค่เปลี่ยนรัฐมนตรีก็จบแล้ว ซึ่งนโยบายนี้ก็ต้องรอดูกันต่อไป”

     เป็นเสียงสะท้อนจาก รศ.ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการและนักวิชาการอิสระ ที่มีต่อนโยบายโครงการ 1 ตำบล 1 โรงเรียนคุณภาพขนาดเล็ก ของเจ้ากระทรวงศึกษาธิการคนใหม่

     ในทัศนะของ รศ.ดร.วรากรณ์ เห็นว่า ตอนนี้นักเรียนและผู้ปกครองได้รับการช่วยเหลือไปเยอะแล้ว ทั้งเสื้อผ้าทั้งค่าเล่าเรียน ดังนั้น เหลือแต่การสนองตอบทางด้านคุณภาพของการศึกษาเท่านั้น

     ซึ่งโครงการนี้ก็น่าจะได้รับการตอบรับที่ดี กอปรกับมีการดึงองค์การบริหารส่วนท้องถิ่นมาร่วมมือด้วย รศ. ดร.วรากรณ์ จึงเห็นว่าโครงการนี้น่าจะเป็นไปได้จริง ทั้งเสนอแนวทางการพัฒนาโรงเรียนขนาดเล็กในแต่ละภูมิภาคของประเทศไว้อย่างน่าสนใจ

     “ในความเห็นผม ซึ่งอาจจะไม่เหมือนคนอื่น ผมคิดว่ามันน่าจะมีการหลอมรวมโรงเรียนขนาดเล็กหลายๆโรงเรียนเข้าด้วยกัน คือตอนนี้ ประเทศไทยมีโรงเรียน ประมาณ 31,000 โรงเรียน ผมว่ามันเยอะมาก ถ้าเปรียบเทียบกับประเทศขนาดเดียวกับเรา”

     จำนวนโรงเรียนที่ รศ.ดร.วรากรณ์ คะเนไว้ ไม่เกินเลยไปมากนักกับข้อมูลจาก กลุ่มสารสนเทศ สำนักนโยบายและแผนการศึกษาขั้นพื้นฐาน สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ ที่ระบุว่า ในปี 2552 โรงเรียนในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานทั่วประเทศ มีจำนวนทั้งสิ้น 31,522 โรงเรียน, โรงเรียนสามัญ (มัธยมศึกษา) 2,361 โรงเรียน และโรงเรียนขยายโอกาส 7,096 โรงเรียน

     ว่าไปแล้ว ก็ไม่ใช่น้อยๆ เลย ซึ่ง รศ.ดร.วรากรณ์ อธิบายถึงที่มาของจำนวนโรงเรียนที่มากมายนี้ว่า ในสมัยก่อนเหตุผลที่ทำให้โรงเรียนต้องกระจายกันอยู่ตามแห่งต่างๆ ก็เพราะว่าการคมนาคมยังไม่สะดวก แต่เดี๋ยวนี้ถนนหนทางดีขึ้นแล้ว แต่โรงเรียนเหล่านั้นก็ไม่ได้ยุบไป

     “แล้วบ้านเมืองของเรามีชุมชนที่เข้มเข็งขึ้น มีการปกครองท้องถิ่นเขาก็อยากจะมีโรงเรียนเป็นหน้าเป็นตาของเขา มันก็เลยไม่สามารถที่จะยุบโรงเรียนขนาดเล็กมาหลอมรวมกันได้”

     ครั้นถามว่ามีโรงเรียนเยอะๆ แล้วไม่ดีหรือ? ก็ได้รับคำตอบจาก รศ.ดร.วรากรณ์ ว่า
     “โรงเรียนในประเทศไทยของเรามันยังมีทั้งโรงเรียนที่ขาดและโรงเรียนที่เกิน ทั้งในแง่ของบุคลากรและทรัพยากร บางโรงเรียนห้องเรียนเหลือ ครูเกิน บางโรงเรียนห้องเรียนไม่พอ ครูไม่พอ ซึ่งในเรื่องครูก็เป็นอีกปัญหาหนึ่ง คือรัฐบาลไม่สามารถที่จะกระจายครูออกไปได้ มันทำให้ในภาพรวมประเทศของเราดูเหมือนไม่ค่อยขาดแคลนโรงเรียน แต่ในความจริงแล้วก็ยังขาดแคลนอยู่ มันทั้งขาดและเกินในเวลาเดียวกัน

     “โรงเรียนคุณภาพที่เราที่พูดถึงในขณะนี้ เป็นโรงเรียนในชั้นประถมฯ ขนาดเล็ก มีการเรียนการสอนถึงชั้น ประถม 6 โดยโรงเรียนส่วนมากกระจุกตัวอยู่ตามพื้นที่ใหญ่ๆ เขตพื้นที่อำเภอเมือง และครูเองก็ชอบที่จะอยู่ตามโรงเรียนเหล่านี้ มันจึงก่อให้เกิดเหตุการณ์ที่ว่า ผู้ปกครองในพื้นที่ห่างไกล ถ้าสามารถทำได้เขาก็จะส่งลูกหลานมาเรียนที่โรงเรียนใหญ่ในเมือง เพราะถ้าให้พูดตามตรงเรื่องคุณภาพก็ต้องยอมรับว่าโรงเรียนในเมือง คุณภาพดีกว่าในหลายๆ แง่ ทั้งบุคลากร ทรัพยากร ครูก็เยอะกว่า คอมพิวเตอร์ก็เยอะกว่า”

     รศ.ดร.วรากรณ์ เพิ่มเติมว่า ในขณะนี้โรงเรียนมีจำนวนเยอะ แต่เด็กนักเรียนมีน้อยลงทุกที่ ข้อเท็จจริงที่ว่าบางโรงเรียนมีครู 4 คนนักเรียน 20 คนก็มี เพราะเดี๋ยวนี้อัตราการเกิดก็ลดลงๆ ทุกที ในเวลาไม่นานหลายโรงเรียนก็จะเป็นแบบนี้ เช่นที่จังหวัดสมุทรสงครามก็มีกรณีเช่นนี้แล้ว

     “โรงเรียนเล็กๆ ก็ไม่มีใครอยากอยู่ ครูก็ไม่อยากสอน การที่จะมาทำให้โรงเรียนเล็กมาเป็นโรงเรียนคุณภาพ มันก็เป็นเรื่องที่ดีแต่ผมว่าน่าจะยุบรวมโรงเรียนเล็กๆ เข้าด้วยกันมากกว่า” คือความเห็นทิ้งท้ายจาก อดีตรัฐมนตรีช่วยฯ ผู้นี้

เสียงสะท้อนจากห้องเรียน

     นอกจากนโยบายรัฐและทัศนะจากนักวิชาการที่เคยคลุกวงในกระทรวงศึกษาธิการแล้ว ความเห็นจากครูและนักเรียนที่มีต่อ โครงการ '1 ตำบล 1 โรงเรียนคุณภาพขนาดเล็ก' ก็นับเป็นเสียงที่น่ารับฟังไม่แพ้กัน

     เช่นที่ ฐานมาตย์ อุทุม นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนเขมราฐพิทยาคม จังหวัดอุบลราชธานี บอกกับเราว่า

     “คิดว่าก็ดีเหมือนกันถ้าจะมีโครงการ 1 ตำบล 1 โรงเรียนคุณภาพขนาดเล็ก เพราะเด็กที่อยู่ห่างไกลต่างจังหวัดในชนบท ก็จะได้มีโอกาสได้เรียนหนังสือที่มีคุณภาพเทียบเท่ากับโรงเรียนขนาดใหญ่หรือโรงเรียนในกรุงเทพฯ และทำให้มีการพัฒนาที่มากขึ้น เช่น มีทุนการศึกษาหรือโควตาในการเข้าเรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัย ถ้าโรงเรียนมีการพัฒนา โรงเรียนที่อยู่ชนบทก็มีคุณภาพได้เทียบเท่ากับโรงเรียนอื่นๆ”

     ส่วน ศุภัชญา ไชยเพชร ครูโรงเรียนคงคาเลียบ จังหวัดนครศรีธรรมราช ก็แสดงความคิดเห็นในฐานะครูจากพื้นที่นำร่องโครงการ 1 ตำบล 1โรงเรียนคุณภาพขนาดเล็กที่จะมีในอนาคตว่า การมีโครงการแบบนี้ นับเป็นเรื่องที่ดี เพราะเป็นการส่งเสริมและพัฒนาให้โรงเรียนแต่ละแห่งมีคุณภาพมากยิ่งขึ้น นักเรียนเข้าถึงการศึกษาอย่างทั่วถึง

     อย่างไรก็ตาม ศุภัชญามองว่า ขณะนี้จำนวนครูยังเป็นปัญหา เพราะครูยังมีน้อย โดยเฉพาะในโรงเรียนตามต่างจังหวัด แม้แต่จังหวัดนครศรีธรรมราชที่จะเป็นพื้นที่นำร่อง ก็ยังขาดความพร้อมและยังมีปัญหาเรื่องโรงเรียนมีขนาดเล็กมากด้วยเช่นกัน แต่ถ้ารัฐบาลเข้ามาดูแลอย่างจริงจัง ก็คิดว่าน่าจะทำให้มีความพร้อมมากขึ้น

     “ตอนนี้โรงเรียนในท้องถิ่นก็ได้รับการสนับสนุนส่งเสริมจากภาครัฐในระดับที่น่าพอใจ แต่ก็ยังอยากให้ภาครัฐส่งเสริมการอบรมด้านเนื้อหาหลักสูตรการสอนให้มากขึ้น เพราะเนื้อหาแต่ละวิชาของแต่ละชั้นปีจะมีการเปลี่ยนแปลงอยู่เรื่อยๆ และเพื่อเพิ่มความพร้อมของครูก่อนที่จะนำมาสอนนักเรียน”

     ถ้าโครงการนี้สำเร็จเป็นรูปธรรมอย่างเด่นชัดเมื่อไหร่ ศุภัชญา เชื่อว่า น่าจะมีนักเรียนเข้ามาเรียนมากขึ้น แต่ก็ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่างที่มีส่วนทำให้สถาบันการศึกษาเข้มแข็งมีคุณภาพ เช่น การดำเนินการของผู้บริหาร การเอาผู้นำที่ดีเข้ามามีส่วนช่วยในองค์กรในโรงเรียน

     “แม้ว่าโรงเรียนในต่างหวัดจะมีโรงเรียนขนาดเล็กเยอะ แต่มีโรงเรียนขนาดใหญ่แค่ 1 โรงเรียนและโรงเรียนขนาดใหญ่จะได้รับความนิยมจากชาวบ้านมาก ถึงแม้ว่าบ้านจะอยู่ไกลจากโรงเรียน ชาวบ้านก็ยังจะส่งลูกไปเรียนเพราะเชื่อมั่นเรื่องการสอนและชื่อเสียง แต่ก็ไม่กังวลเรื่องชื่อเสียงของโรงเรียนที่ดังกว่า เพราะคิดว่าถ้าเป็นโรงเรียนขนาดเล็กก็สามารถทำให้ดีได้ ถ้าเราตั้งใจจริงและทุกหน่วยงานร่วมมือกันพัฒนา ไม่ใช่แค่ส่วนใดส่วนหนึ่ง”

                 .................
           เป็นหลากหลายมุมมองจากสังคมที่หวังให้โครงการนี้กลายเป็นจริงขึ้นมาได้ ไม่ใช่แค่เรื่องเพ้อฝันหรือเป็นเพียงเครื่องมือเรียกคะแนนนิยมทางการเมือง

                 …...............

             เรื่อง : ทีมข่าว CLICK
กำลังโหลดความคิดเห็น