2 ศตวรรษ กับการสร้างกรุงรัตนโกสินทร์ขึ้นมา หลายยุคเรามักเห็นศิลปะที่แตกต่างกันออกไปตามแต่ละยุคสมัย บางสิ่งอาจสูญหายไปตามกาลเวลา บางเรื่องราวของศิลปะถูกเลือนไปกับบรรพบุรุษในอดีต
กว่ารัตนโกสินทร์จะมาเป็นกรุงเทพมหานครในปัจจุบัน ผ่านเรื่องราวของศิลปะที่สืบทอดกันมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะศิลปะทางด้านของการแสดง มหรสพ เช่น การแสดงละครใน ละครนอก โขน การเชิดหุ่น เป็นต้น มหรสพเหล่านี้ถูกสืบทอดและมีการผสมผสานทางด้านศิลปวัฒนธรรมต่างๆ มาในแต่ละยุคอย่างงดงาม คงความเป็นเอกลักษณ์และมีค่าทางวัฒนธรรมในการศึกษา
ทั้งนี้ทาง สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ จึงมีการจัดตั้งอาคารนิทรรศน์รัตนโกสินทร์ เพื่อจัดตั้งให้เป็นศูนย์กลางในการเรียนรู้ในยุคสมัยรัตนโกสินทร์ แหล่งรวบรวมเรื่องราวและความเป็นมาของรัตนโกสินทร์ที่หลายคนอาจจะไม่เคยได้สัมผัสมาก่อน
โดยภายในอาคารนิทรรศน์รัตนโกสินทร์ที่ตั้งอยู่บนถนนราชดำเนินกลาง ถัดจากลานพลับพลามหาเจษฎาบดินทร์ มีการจัดแสดงทั้งหมด 3 ชั้น เพื่อเป็นศูนย์กลางในการเรียนรู้ข้อมูล และแหล่งรวบรวมความรู้ทางประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม ของยุคกรุงรัตนโกสินทร์ ที่สมบูรณ์แบบที่สุดในประเทศไทย อีกทั้งยังเป็นสถานที่ท่องเที่ยวแห่งใหม่บนถนนราชดำเนินอีกด้วย
มีการแบ่งออกเป็นทั้งหมด 7 ห้องแสดง ดังนี้ ห้องรัตนโกสินทร์เรืองโรจน์ ห้องเกียรติยศแผ่นดินสยาม ห้องเรืองนามมหรสพศิลป์ ห้องลือระบิลพระราชพิธี ห้องสง่าศรีสถาปัตยกรรม ดื่มด่ำย่านชุมชน เยี่ยมยลถิ่นกรุง นอกจากนี้ยังมีชั้นลอย ที่ได้ถูกจัดเป็นห้องสมุดให้ผู้เข้าชมได้ค้นคว้าเรียนรู้เพิ่มเติมอีกด้วย
อาจารย์ศุภชัย จันทร์สุวรรณ์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง(นาฏศิลป์) ประจำปี 2548ปัจจุบันดำรงตำแหน่งคณบดี คณะศิลปนาฏดุริยางค์ สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ และที่สำคัญท่านยังเป็นหนึ่งในที่ปรึกษาของ นิทรรศน์รัตนโกสินทร์ ห้องเรืองนามมหรสพศิลป์ ได้กล่าวถึงห้องแสดงเรืองนามมหรสพศิลป์ว่า การแสดงในห้องนี้ ได้มีการรวบรวมการแสดงหลวงเอาไว้อย่างมากมาย โขน ละครใน ละครนอก การเชิดหุ่น รำกระบี่กระบอง เป็นต้น
“การแสดงโขนถือเป็นการแสดงที่รวบรวมเอาศาสตร์หลากหลายแขนงเข้ามารวมกัน ทั้งหนังใหญ่ กระบี่กระบอง หรือแม้แต่พิธีต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการแต่งกายของตัวละคร เช่น สีของเสื้อผ้าตัวละครมักจะบ่งบอกถึงสีกายของตัวละครนั้นๆ การทำท่าทางกระบี่กระบองในการทำศึกสงครามระหว่างพระรามและทศกัณฐ์ ก็ถือเป็นศิลปะอย่างหนึ่งเช่นกัน”
ถ้าพูดถึงการนำเสนอในแต่ละส่วนของห้องแสดงนั้น จะมีการนำเสนอที่มีความแตกต่างจากพิพิธภัณฑ์ หรือการจัดนิทรรศการทั่วๆ ไป เนื่องจากการนำเรื่องราวมาเสนอ เพื่อให้กลุ่มเป้าหมายที่นอกเหนือจากคนไทยแล้ว ให้เป็นแหล่งเรียนรู้ทางวัฒนธรรมของนักท่องเที่ยวต่างชาติ รวมถึงเยาวชนไทยที่มีหน้าที่ในการสืบทอดศิลป
วัฒนธรรม โดยผ่านการนำเสนอด้วยสื่อที่ทันสมัย ไม่ให้เกิดความจำเจ และน่าเบื่อ ให้ความรู้สึกที่แตกต่างกับการไปพิพิธภัณฑ์อื่นๆ
การจัดแสดงนิทรรศการเกี่ยวกับรัตนโกสินทร์มีการนำเสนอด้วยเทคโนโลยีอันทันสมัย ทั้งสื่อจัดแสดง หุ่นจำลอง การนำสื่อผสมเสมือนจริง 4 มิติ สื่อมัลติทัช มัลติมีเดียแอนิเมชัน ในลักษณะอินเตอร์แอ็กทีฟ เซล์ฟ เลิร์นนิ่ง (Interactive Self-learning) โดยแบ่งการจัดแสดงนิทรรศการออกเป็น 9 ห้องจัดแสดง (โดยระยะแรก จะเปิดให้ชมเพียง 7 ห้อง และจะเปิดให้ชมครบทั้ง 9 ห้อง ในปี พ.ศ. 2554)
นอกจากนิทรรศการแล้ว ยังมีพื้นที่สำหรับนิทรรศการหมุนเวียน (Event Hall) ที่บริเวณโถงชั้น 1 พื้นที่ประมาณ 300 ตร.ม. เพื่อสำหรับให้บริการแก่สถาบันการศึกษาและองค์กรเอกชน ในการใช้จัดกิจกรรม หรือนิทรรศการทางด้านศิลปะและวัฒนธรรม ตลอดจนบริการห้องสมุด ร้านค้าจำหน่ายของที่ระลึก อาหารเครื่องดื่ม
ส่วนภายในห้องเรืองนามมหรสพศิลป์นั้น อาจารย์ศุภชัย ได้เล่าว่า จะมีการนำผู้ที่เข้าชมนิทรรศการย้อนยุคเข้าไปสัมผัสบรรยากาศมหรสพสมโภช เสมือนอยู่ท่ามกลางบรรยากาศเฉลิมฉลองในมุมมอง 360 องศา มีการจำลองหุ่นกระบอก โขนให้ได้เรียนรู้ท่าทางโขนของ 4 ตัวละครหลัก และมีการฝึกให้เชิดหุ่นกระบอก
“การจัดตั้งอาคารนิทรรศน์รัตนโกสินทร์ขึ้น มีจุดมุ่งหมายที่นอกจากคนไทยแล้วยังเน้นไปที่เด็กเยาวชน ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญในการพัฒนาประเทศ เนื่องจากยุคนี้มีสิ่งเร้าอื่นๆ ที่เข้ามามีบทบาทกับเยาวชนไทย อย่างน้อยอยากให้เขามาสัมผัส สิ่งต่างๆ กิจกรรมที่แสดงออกถึงความเป็นศิลปวัฒนธรรมไทย ซึ่งจะช่วยให้เขาได้สัมผัสและเกิดความประทับใจในสิ่งต่างๆ เราอยากให้เขาซาบซึ้งถึงความเป็นตัวตน อัตลักษณ์ ภูมิปัญญาของเหล่าบรรพบุรุษได้สร้างขึ้นมา”
**************************
รายงานโดย ทีมข่าว M-Lite
ภาพโดย พงศ์ศักดิ์ ขวัญเนตร