xs
xsm
sm
md
lg

“ตลาดน้ำอัมพวา” กำลังวายชีวา?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ตลาดน้ำท่าคาใกล้ๆ ที่ยังเห็นวิถีชีวิตดั้งเดิมอยู่
เมื่อเอ่ยถึงตลาดน้ำอัมพวา อาจเป็นหนึ่งในสถานที่ท่องเที่ยวที่ใครหลายคนวาดฝันอยากไป แต่ภาพเหล่านั้นกำลังจะหายไปเมื่อคนเมืองคุกคาม

ภาพที่อยู่ในจินตนาการของนักท่องเที่ยวอาจมีเพียงภาพสายน้ำลำเรือ แม่ค้าขายของ และที่พักโฮมสเตย์ในบรรยากาศสุดโรแมนติก น้อยคนนักที่จะมองให้ลึก อยากทำความรู้จักเมืองวิถีริมน้ำแห่งนี้อย่างแท้จริง และรับรู้ถึงความเปลี่ยนแปลงของวิถีชีวิตคนอัมพวา

คนในอยากออก คนนอกอยากเข้า

“เกิดมาริมคลอง พายเรือเป็นตั้งแต่ 5-6 ขวบ เพราะสมัยก่อนไปไหนก็ต้องทางเรือ เด็กริมคลองเกิดมาต้องพายเรือว่ายน้ำเป็น สมัยก่อนไม่มีพวกห่วงยางก็ต้องใช้อุปกรณ์ธรรมชาติอย่างลูกมะพร้าวผูกเชือกหรือไม่ก็ทำโป่งลมจากกางเกง หรือผ้าถุง”

“ลุงตุ๋ย” หนึ่งในผู้พายเรือรับจ้างพานักท่องเที่ยวชมสถานที่ท่องเที่ยวในเขตอัมพวา เล่าถึงวิถีริมคลองสมัยเด็กๆ ที่อาศัยอยู่บนความเป็นธรรมชาติของท้องถิ่น ก่อนจะออกมาจากสวนเพื่อทำงาน ซึ่งเขาได้เริ่มรับจ้างพายเรือตั้งแต่เริ่มมีตลาดน้ำราว 5 ปีคืออายุของตลาดโซนเก่า ในขณะที่ในวันนี้มีตลาดน้ำอัมพวาโซนใหม่เกิดขึ้นมาแล้ว 1 ปี

ชายผู้นี้ยังบอกถึงสิ่งที่อาจฟังแล้วน่าตกใจว่า พื้นที่โดยรวมกว่าร้อยละ 60 กลายเป็นพื้นที่ของคนนอกชุมชนที่เข้ามามีบทบาททางธุรกิจการค้าไปแล้ว เสมือนเป็นพื้นที่แสวงหาผลประโยชน์อีกแห่งหนึ่งที่กำลังได้รับความนิยมของบรรดานายทุนเงินหนัก หรือชาวเมืองที่อยากมีบ้านพักตากอากาศ

“เวลาผ่านไป ยังไงมันก็ต้องเปลี่ยนแปลงไปนะสังคม ชีวิต เป็นเรื่องธรรมดา พอมีตลาดน้ำใหม่มาก็ยิ่งเปลี่ยน เมื่อก่อนจะมีเพียงตลาดน้ำดั้งเดิม มีเฉพาะชาวบ้าน ยังไม่ใช่สถานที่ท่องเที่ยว ใครปลูกอะไร ทำขนมอะไรก็มาแลกเปลี่ยนมาขายที่ตลาดน้ำ เพราะสมัยนั้นยังไม่มีถนน ต้องมีเรือทุกบ้าน เมื่อก่อนมีเรือเมล์จากราชบุรีไปแม่กลอง แต่งตัวรอหน้าบ้านเรือผ่านมาก็เรียก แต่เดี๋ยวนี้ไม่มีแล้ว มีแต่เรือรับจ้าง ท่องเที่ยว ถ้ามีอยู่ก็เจ๊งเพราะเดี๋ยวนี้มีรถกันหมดแล้ว”

นอกจากนี้เจ้าของเรือไม้ตะเคียนทองผู้นี้ยังเล่าว่า เมื่อก่อนไปไหนมาไหนก็ต้องไปทางเรือเมล์สะดวกที่สุด ซึ่งงานที่มีให้เที่ยวก็มีแต่งานวัด หากเดินไปก็ต้องเหงื่อท่วมตามๆ กัน แล้วยังเล่าให้ฟังว่าสมัยที่ทองคำราคาบาทละ 400 นั้น บ้านเมืองแถวนี้เจริญมาก มีร้านทองเปิดเรียงรายกันหลายสิบร้านริมคลองแม่กลองในขณะที่ตัวเมืองยังไม่มี

แต่หลังจากความเจริญเข้ามา ถนนหนทางเริ่มตัดผ่านคนในพื้นที่ก็ออกห่างย่านธุรกิจริมน้ำมากขึ้น จนต้องปิดกิจการย่านร้านทองริมคลองสู่เมืองหลวงอย่างกรุงเทพฯ เหลือไว้เพียงบ้านไม้เก่าริมน้ำที่ชาวบ้านยังระลึกถึงทุกวันนี้

“คนเข้ามาเที่ยวเยอะๆ มันก็ดีนะ ชาวบ้านมีรายได้ ขายของได้ แต่มันก็ดีอย่างเสียอย่าง วิถีชีวิตเก่าๆ มันก็เปลี่ยนไปบ้าง หายไปบ้าง ปกติแถวนี้เงียบๆ นะ จะคึกคักก็ช่วงเช้าช่วงเย็นที่มีตลาด เดี๋ยวนี้คึกคักกันทั้งวัน สมัยก่อนเศรษฐกิจแถวนี้ดีมากจริงๆ แต่เดี๋ยวนี้เงินเล็ก”

สำหรับความเปลี่ยนแปลงต่างๆ นั้น ลุงตุ๋ยเห็นว่าคงต้องปล่อยให้เป็นไปตามยุคตามสมัย บางอย่างที่ควรรักษาไว้ก็ควรจะทำเหมือนกัน ซึ่งปัญหาที่เขามักพูดถึงบ่อยๆ คือข้าวของแพงขึ้นมาก เป็นส่วนหนึ่งที่ได้รับอิทธิพลมาจากกระแสท่องเที่ยวที่เข้ามาถึงชุมชนอัมพวา

ทุนนิยมกลืนกินวิถีชีวิต

เช่นเดียวกับคนเก่าคนแก่ในท้องถิ่นอย่างคุณบัญชา ไตรยะเมฆิน เจ้าของร้านยาแผนโบราณรุ่นที่ 3 ที่เปิดกิจการร้านยาสมุนไพรในย่านนี้มาร่วมร้อยปี ในบ้านไม้เก่าริมน้ำที่อบอวลไปด้วยกลิ่นพันธุ์ไม้นานาชนิด เล่าให้ฟังว่าถิ่นฐานแห่งนี้เปลี่ยนไปมาก จากเมื่อก่อนที่มีการค้าขาย เดินทางต่างก็ต้องใช้เรือเป็นยานพาหนะหลัก เช่นเดียวกันกับย่านธุรกิจร้านทองที่เคยเจริญรุ่งเรืองก่อนเส้นทางคมนามทางบกจะเข้ามา นำมาซึ่งการขายพื้นที่ทำกินให้คนเมืองกรุง ภาพของวิถีชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไป จนคนในพื้นที่และนักท่องเที่ยวหลายคนอาจเกรงๆ ว่าจะกลายเป็นเมืองท่องเที่ยวที่ชอกช้ำเหมือน “เมืองปาย” ไปอีกแห่ง

“ชาวบ้านแถวนี้ก็มีขายที่ไปเยอะเหมือนกัน แทบจะหมดแล้วมั้ง ส่วนใครไม่มีที่ไปก็อยู่แถวนี้แหละ อย่างผมก็ขายตรงนี้มาตลอด ถ้าถามว่ายังขายได้อยู่ไหม ก็ถ้าขายไม่ได้ก็คงไม่ได้อยู่มาถึงตอนนี้หรอก (หัวเราะ)”

ด้านคุณกฤตย มีทวี หัวหน้าโครงการอัมพวาชัยพัฒนานุรักษ์ มูลนิธิชัยพัฒนาที่เพิ่งเข้ามาดูแล ปรับปรุงพื้นที่ได้ประมาณ 2 ปีชี้แจงว่า สาเหตุหนึ่งที่ทำให้ผู้คนท้องถิ่นขายที่ดินหรือบ้านริมน้ำให้แก่คนเมืองที่เข้ามาปฏิวัติให้กลายเป็นธุรกิจท่องเที่ยว หรือเป็นที่พักตากอากาศจากความยุ่งเหยิงแออัดในเมือง คือเรื่องของเงิน

“คือตอนนี้เราก็พยายามที่จะปลูกฝังให้คนในพื้นที่รู้สึกรัก หวงแหนในชุมชนของตนเอง ให้ทุกคนมีส่วนร่วมในการพัฒนาอย่างยั่งยืน ไม่ใช่ขายที่ทิ้งย้ายไปอยู่ที่ใหม่ เอาเงินไว้ก่อน ซึ่งคนนอกพื้นที่ที่เข้ามาเป็นไปไม่ได้ที่จะรักในชุมชนเท่าคนอัมพวาจริงๆ ได้แต่เข้ามาตักตวงสิ่งสวยงาม สิ่งดีๆ ไปเท่านั้น”

นอกจากนี้ยังเสริมว่า การจะพัฒนาชุมชนให้ยั่งยืนได้นั้นจะต้องเป็นผู้นำมากกว่าผู้ตาม หมายถึงการรุกตลาดโดยมีจุดยืนที่แน่นอน ไม่ควรปล่อยชุมชนไปตามกระแสชนคนนอก นักท่องเที่ยวที่เข้ามาปรับเปลี่ยนไปจนลืมความเป็นตัวตน

กล่าวคือจะเหลือเพียงความบันเทิงบนเมืองท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม ซึ่งชุมชนควรเป็นผู้กำหนดเรื่องราวเพื่อชี้นำไปในสิ่งที่ควรนำเสนอ เป็นกลยุทธ์ในการเล่าเรื่องให้คนอื่นคล้อยตาม มิเช่นนั้นหากปล่อยให้นักท่องเที่ยวผู้มีเงินทองมากำหนด และปรับเปลี่ยนสังคมไปตามโจทย์ความต้องการ สุดท้ายพื้นที่นี้ก็จะไม่เหลืออะไร กลายเป็นเมืองสำหรับระบายอารมณ์ความเครียดจากความเหน็ดเหนื่อยในการงานของคนเมืองเท่านั้น

เงินบังตากับของดีที่ถูกลืม

ข้างหลังภาพตลาดน้ำที่คึกคักและดึงดูดนักท่องเที่ยวมามากขึ้นทุกวันๆ ทำให้อีกโลกหนึ่งถูกกลบเกลื่อน กลืนกินไปโดยอิทธิพลคนนอกมากขึ้น อย่างวัฒนธรรมดนตรีไทยที่ขึ้นชื่อว่า อัมพวาแห่งนี้คือบ้านเกิดของครูสุนทราภรณ์ “ครูเอื้อ สุนทรสนาน” ซึ่งในปีนี้เป็นการเฉลิมฉลองวาระครบรอบ 100 ปีของครูเอื้อ ผู้เป็นบุคคลสำคัญของโลก ได้รับรางวัลจากองค์กรการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือยูเนสโก ในสาขาวัฒนธรรมดนตรีไทยสากลในปี พ.ศ.2553

ทุกวันนี้ชุมชนอัมพวายังคงสืบสานวัฒนธรรมดนตรีไทยมาอย่างต่อเนื่อง โดย พันจ่าเอกสมาน แก้วละเอียด ผู้ที่เกษียณจากการรับราชการเพื่อมาอยู่กับดนตรีไทยที่ชื่นชอบ ณ บ้านวงปี่พาทย์ไทยบรรเลง ในส่วนของดนตรีเยาวชนมากว่า 10 ปีแล้ว

“คนอัมพวาจะมีความผูกพันกับดนตรีไทยมาก ตั้งแต่เกิดมาก็ได้ยินได้ฟังดนตรีไทย เพลงสุนทราภรณ์จนกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต ดังนั้นวันนี้ทุกโรงเรียนต่างก็ให้ความสำคัญในการรักษาไว้ซึ่งวัฒนธรรมอันดีงาม สนับสนุนให้เด็กมาเรียน ซึ่งเด็กๆ ก็สมัครใจมา เลือกเล่นเครื่องดนตรีต่างๆ ด้วยตัวเอง ตัดสินใจเองหมดเลย”

เช่นเดียวกับภูมิปัญญาพื้นบ้านแขนงอื่นๆ ที่หากนักท่องเที่ยวไม่มีไกด์หรือคนในพื้นที่แนะนำอาจจะไม่รู้ว่า ถิ่นอัมพวาแห่งนี้เป็นแหล่งที่ให้กำเนิดศิลปินหลายสาขา นอกเหนือจากดนตรีไทย อย่างครูซอ ผู้ประดิษฐ์ลวดลายบรรจง แกะสลักรายละเอียดลายไทยเฉพาะตัวลงบนลูกมะพร้าวเพื่อนำมาทำซอ

ครูซออาศัยอยู่ในบ้านไม้ที่สร้างมาด้วยมือกับพี่น้องของครูตั้งแต่อายุยังน้อย ใต้ถุนบ้านที่เพียบพร้อมไปด้วยอุปกรณ์ เครื่องมือการทำซอ ลูกมะพร้าวในรูปทรงสวยงามที่ผ่านการคัดเลือกจากความชำนาญของครูเอง วันนี้ครูซอทำงานท่ามกลางความเป็นบ้านสวนธรรมชาติ อื้ออึงด้วยเสียงไก่ชนตัวน้อยใหญ่ที่ครูบอกว่าเลี้ยงไว้เป็นเพื่อน

“ศิลปินเหล่านี้คือบุคคลที่มีคุณค่าของชุมชน แต่คนส่วนใหญ่จะเข้าไม่ถึง เพราะไม่รู้จักอัมพวาพอว่ามีอะไรบ้าง เขาจะรู้จักกันแค่ผิวเผิน แค่ตลาดน้ำ มาเที่ยว ซื้อของแล้วก็กลับบ้าน แต่ครูซอก็พอใจที่จะอยู่แบบพอเพียง สร้างผลงานของแกเรื่อยๆ มากกว่า ซึ่งแกก็มีถามว่าถ้าวันหนึ่งมีคนเข้ามาเที่ยวเยอะๆ แกจะทำงานอย่างไร เพราะต้องรับแขกเองด้วย ทำงานด้วย” คุณกฤตยอธิบาย

อัมพวาในวันหน้าจะกลายเป็นปายภาค 2 หรือตลาดทุนนิยมหรือไม่ นักท่องเที่ยวอย่างคุณคือผู้กำหนด

เรื่องและภาพ : ณัฏฐนิช ศิริศันสนียวงศ์
ข่าวจากทีมงาน M-Lite

บรรยากาศร้านค้าย่านตลาดใหม่อัมพวา
ส่วนหนึ่งของตลาดอัมพวายามเย็นเต็มไปด้วยนักท่องเที่ยว
บ้านครูเอื้อแลดูไม่คึกคักเท่าย่านตลาดการค้า

เยาวชนที่ผูกพันกับดนตรีไทยมาตั้งแต่เล็ก
พันจ่าเอกสมาน แก้วละเอียด ครูผู้รักษ์ดนตรีไทยและสอนเยาวชนอัมพวา
หลากหลายอาหารทะเลเมนูยอดนิยมของนักท่องเที่ยว
กำลังโหลดความคิดเห็น