xs
xsm
sm
md
lg

ส่งออกมวยไทย คิดได้ แต่ทำยาก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


มวยไทยได้รับการยกย่องว่าเป็นศิลปะการต่อสู้ในแนวตั้งที่แข็งแกร่งที่สุดในโลก พิสูจน์ได้จากเวทีการต่อสู้อย่าง ไพรด์หรือยูเอฟซี (สังเวียนการต่อสู้ที่เปิดรับนักสู้จากศาสตร์ทุกแขนง) ที่ผู้เข้าแข่งขันจะต้องฝึกมวยไทยเป็นศาสตร์อย่างหนึ่งเสมอ

มวยไทยจึงเป็นศิลปะการต่อสู้ที่ได้รับความนิยมไปทั่วโลก ทำให้ชาวต่างชาติหันมาเปิดโรงเรียนสอนมวยไทยเป็นจำนวนมาก มีนักมวยไทยตาน้ำข้าวเก่งๆ ผุดขึ้นชนิดที่คนไทยเองยังทึ่ง ขณะเดียวกัน คนไทยจำนวนหนึ่งก็วิตกทุกข์ร้อนเกรงว่าสักวันมวยไทยจะถูกฝรั่งชิงไปจดลิขสิทธิ์ หรือไม่ก็ทำให้ผิดเพี้ยนไปจากมวยไทยดั้งเดิม

ปลายปี 2552 สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม จึงมีแนวคิดที่จะจดทะเบียนมวยไทยเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม

แต่ผ่านมายังไม่ครบปี ทางกระทรวงพาณิชย์ก็เป็นอีกองค์กรหนึ่งที่มีความพยายามจะเข้าจัดระเบียบมวยไทย โดยเฉพาะโรงเรียนสอนมวยไทยที่มีเจ้าของและผู้ฝึกสอนเป็นชาวต่างชาติ เพื่อให้เกิดความเป็นมาตรฐาน ไม่ผิดเพี้ยนจากสิ่งที่เรียกว่ามวยไทย แม้จะเป็นเจตนาดี แต่ก็สร้างความสับสนไม่น้อย เพราะเหมือนกับว่าหน่วยงานของรัฐแต่ละแห่งไม่ได้มีการประสานงานและดำเนินนโยบายอย่างเป็นเอกภาพ หรือเพราะว่ามวยไทยกลายเป็นธุรกิจขนาดใหญ่ที่ใครๆ ต่างมุ่งจะหาประโยชน์

-1-
ถ้าให้ถามว่ามวยไทยคืออะไร ตอบตามแนวทางชาตินิยม คำตอบที่ได้ก็จะไม่แตกต่างกันมากนัก-มวยไทยเป็นเอกลักษณ์ของชาติไทย ใช้ทุกส่วนของร่างกายเป็นอาวุธ การแต่งกาย การไหว้ครู อย่าง บัวขาว ป.ประมุข นักมวยไทยที่ไปสร้างชื่อที่ญี่ปุ่น ก็กล่าวว่า

“มวยไทยคือมวยของคนไทยที่ทุกคนรู้ได้เองมาตั้งแต่เกิด มวยไทยคือคนไทย คนไทยคือมวยไทย”

ยิ่งเรียกขานว่ามวยไทยด้วยแล้ว ยิ่งชวนคิดไปได้ว่า ต้องคนไทยเท่านั้นจึงจะเข้าใจมวยไทยและเป็นมวยไทยดั้งเดิม
“ปรัชญาของมวยไทยคือการฝึกฝนเรียนรู้เพื่อความเก่ง ความกล้า และความแกร่งของร่างกายและจิตใจ มวยไทยไม่ได้มีไว้เพื่อทำร้ายผู้อื่น แต่มีไว้สำหรับป้องกันตนเองและปกป้องผู้อื่น”

เป็นคำบอกกล่าวของ อลงกรณ์ พลบุตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ โต้โผใหญ่ที่กำลังออกมาขับเคลื่อนเรื่องการวางหลักเกณฑ์ของมวยไทยในค่ายมวยที่มีชาวต่างชาติเป็นผู้ฝึกสอน

“หัวใจสำคัญของมวยไทยคือการถ่ายทอด หล่อหลอม บ่มเพาะ และฝึกฝนจากต้นกำเนิดของศิลปะความเป็นมวยไทยแท้ๆ นับแต่ดั้งเดิม ซึ่งก็คือการเรียนรู้จากครูมวยที่ได้รับสืบทอดศิลปะมวยไทยมาจากครูมวยรุ่นก่อนๆ ซึ่งล้วนแต่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวและแฝงปรัชญาเอาไว้ เพราะฉะนั้น เราจึงเห็นว่าโรงเรียนที่เปิดสอนมวยไทย ไม่ว่าจะเพื่อการป้องกันตัวหรือออกกำลังกายก็ตาม หากไม่ได้สอนโดยคนไทย และไม่เข้าใจความหมายที่แท้จริงของปรัชญามวยไทย ก็คงจะทำให้เอกลักษณ์และความหมายที่แท้จริงของมวยไทยสูญหาย และไม่ได้รับการสืบทอดอย่างถูกต้อง”

ในทางหนึ่งการบริหารจัดการที่ดีก็จะเป็นหนทางสร้างรายได้สู่ประเทศ พร้อมกันนั้น อลงกรณ์ยังบอกว่าจะต้องให้ความสำคัญกับครูมวยและนักมวยอาชีพ เพื่อสร้างขวัญกำลังใจในการเผยแพร่ศิลปะของไทยให้ก้าวไกลทั่วโลก

-2-
แม้โดยความตั้งใจของกระทรวงพาณิชย์จะเป็นสิ่งดี แต่ไม่ง่ายที่จะปฏิบัติ ประการแรก โรงเรียนสอนมวยไทยแพร่หลายไปในหลายประเทศ จะมีความเป็นไปได้มากแค่ไหนที่กระทรวงพาณิชย์จะตามไปควบคุมหรือกำหนดกฎเกณฑ์ได้อย่างทั่วถึง ที่สำคัญ โรงเรียนเหล่านั้นจะยอมหรือไม่ อีกอย่างคือเราไม่มีข้อมูลมากพอว่ามีชาวต่างชาติเป็นผู้ฝึกสอนมวยไทยมากน้อยแค่ไหน

“ก็มีบ้าง ที่ฝรั่งบางส่วนมาเรียนมวยกับที่ค่ายแล้วกลับไปเป็นครูสอนที่บ้านเขา แต่ไม่มากหรอก เท่าที่ผมถามๆ นักเรียนชาวต่างชาติ ส่วนใหญ่โรงเรียนที่บ้านเขาอย่างอเมริกา คนสอนก็เป็นคนไทยนี่แหละ แล้วนักเรียนฝรั่งที่มาเรียนที่นี่ก็มีประเภทที่เก่งๆเป็นนักมวยขึ้นเวทีเมืองนอกก็จะมาเก็บตัวที่นี่”    สุรพล รังษีกุลพิพัฒน์ เจ้าของค่ายมวย ส.วรพิน เล่าให้เราฟัง

ขณะที่องค์กรที่จะเข้ามาดูแลเรื่องนี้ก็ไม่แน่ใจว่าจะมีเพาเวอร์มากพอหรือเปล่า เพราะเมื่อถาม ศักดิ์ชาย ทัพสุวรรณ นายกสมาคมมวยไทยสากลสมัครเล่นแห่งประเทศไทย ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร(สมทท.) ก็บอกว่า การที่มวยไทยแพร่หลายนับเป็นเรื่องดี แต่ขณะเดียวกันก็ อาจทำให้รูปแบบของมวยเปลี่ยนไป จึงมีความจำเป็นต้องมีการแก้ไขโดยด่วนไม่ควรทิ้งไว้ ต้องมีองค์กรในการเข้ามาดำเนินการ ต้องเป็นเครื่องมือของรัฐ ซึ่งองค์กรแบบนี้มีอยู่แล้วเพียงแต่ว่าเอกภาพในการบริหารจัดการยังไม่มีอย่างแท้จริง

“ทางกระทรวงพาณิชย์ได้มีการแจ้งให้กระทรวงกีฬาและการท่องเที่ยวทราบแล้ว โดยคุณชุมพล (ศิลปอาชา-รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา) คิดว่าเรื่องนี้ไม่ควรนิ่งเฉย แต่องค์กรที่มีอยู่ในประเทศไทยเป็นคณะกรรมการกีฬามวยที่ขึ้นกับการกีฬาแห่งประเทศไทย ไม่มีกฎหมาย ระเบียบข้อบังคับ หรืออำนาจใดๆ ที่จะไปห้ามคนเหล่านั้นไม่ให้เอามวยไทยไปเปลี่ยนรูปแบบ

“แต่ก็มีองค์กรที่มีอำนาจที่ทำได้อยู่องค์กรหนึ่งคือ สภามวยไทยโลก เป็นองค์กรนานาชาติ ซึ่งการกีฬาแห่งประเทศไทยนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้ความเห็นชอบตั้งแต่ปี 2538 องค์กรนี้มีประเทศสมาชิกอยู่ 125 ประเทศ สภามวยไทยโลกสามารถควบคุมสิ่งเหล่านี้ได้ แต่ก็ดำเนินการควบคุมไปได้ส่วนหนึ่ง เนื่องจากมีองค์กรอื่นๆ ที่ตั้งขึ้นมาเองหลายองค์กร ดังนั้น วิธีที่จะแก้ไขคือ การที่รัฐมนตรีกีฬาต้องขอความร่วมมือทำงานร่วมกับสภามวยไทยโลกซึ่งมีพลเอกเชษฐา ฐานะจาโรเป็นประธาน”

-3-
ประการต่อมา ศิลปะการต่อสู้คือวัฒนธรรม และวัฒนธรรมก็มีความหลากหลาย ไม่หยุดนิ่ง เอาแค่ว่า ‘มวยไทย’ คืออะไร ใช่ว่าจะหาข้อยุติได้ง่ายดาย ไหนจะมวยไทยเวที มวยไทยโบราณ หรือมวยไทยที่ปรากฏในภาพยนตร์ ก็ดูจะมีความแตกต่างกันมาก ถ้าเหมารวมเสียหมดอาจก่อปัญหา

ณปภพ ประมวญ หรือครูแปรง ประธานมูลนิธิมวยไทยไชยา อธิบายว่า มวยโบราณกับมวยสมัยนี้ ถ้าไม่แยกจะยุ่งมาก เพราะมวยโบราณแต่ละที่จะมีวัฒนธรรมต่างกัน ไหว้ครูต่างกัน ท่ามวยก็ต่างกัน มีกลยุทธ์การต่อสู้ไม่เหมือนกัน เพราะว่าบ้านเรามีมวยหลากหลาย ซึ่งควรจะส่งเสริมทั้งหมด แต่พอเอามารวมเป็นหน่วยเดียว ก็กลายมาเป็นการปิดกั้นความคิดความรู้

สอดคล้องกับความเห็นของสุรพล ที่มองว่าจะต้องแยกมวยไทยออกเป็น 2 แบบ คือแบบที่เป็นศิลปะแม่ไม้มวยไทยกับแบบที่เป็นกีฬา

แต่ไม่ใช่ว่าชาวต่างประเทศจะเรียนรู้มวยไทยไม่ได้
“เอาจริงๆ ชาวต่างชาติเขาก็สามารถเรียนรู้มวยไทยได้เหมือนคนไทยนี่แหละ แต่ไม่ใช่ว่าจะสอนมวยไทยได้ ในความคิดผม ผมว่าเป็นคนไทยจะดีกว่า และจะให้ดีที่สุดคือต้องผ่านเวทีมาก่อนจนชำนาญ ไม่ต้องถึงขั้นแชมป์หรอก เพราะในความคิดผมต่อยเก่งกับสอนเก่งมันคนละเรื่องกัน แต่ฝรั่งที่ไปสอนให้สอนมวยเลยคงไม่ได้ แต่ถ้าเป็นพวกสอนตามที่ออกกำลังกายแบบนั้นน่าจะได้คือสอนท่า แบบนี้มีเยอะที่ต่างประเทศ” สุรพลบอก

ส่วนเรื่องการสอนที่ผิดเพี้ยนไปจากของดั้งเดิมนั้น สุรพลก็เป็นห่วง เขายกตัวอย่างว่าการชกมวยไทยในต่างประเทศจะห้ามใช้ศอก ซึ่งนานไปก็อาจทำให้เกิดความเข้าใจคลาดเคลื่อนได้

แต่พอถาม อนันตเดช ศิษย์สุนทร อดีตนักมวยไทยที่ปัจจุบันเป็นหนึ่งในผู้ชมมวยไทย ว่า รู้สึกอย่างไรกับโรงเรียนสอนมวยไทยในต่างประเทศที่มีชาวต่างชาติเป็นผู้ฝึกสอน เขาบอกว่า เราไม่น่าจะมีการหวงแหน เพราะจะได้เป็นการเผยแพร่ศิลปะ ถึงแม้ฝรั่งชาวต่างชาติจะเรียนมวยไทยเพื่อนำไปสอน แต่ยังไงประเทศไทยก็เป็นแหล่งเริ่มต้นจุดกำเนิดของมวยไทย

“ไม่จำเป็นที่คนไทยจะต้องสอนมวยไทยเท่านั้น เพราะคนที่ต่อยมวยไม่เป็นก็สอนมวยเก่ง เพราะเขาได้เรียนรู้หลักการเรียนรู้ทฤษฎี บางคนเก่งทั้งทฤษฎี ทั้งปฏิบัติ ก็ได้เปรียบ บางคนเป็นถึงแชมป์แต่ออกมาสอนมวยไม่เป็น มีบางคนเป็นมวยบ้างไม่เป็นมวยบ้าง แต่สอนมวยได้”

คงเห็นแล้วว่าเพียงการหาองค์กรที่จะดูแล การสร้างหลักเกณฑ์มาตรฐาน ก็เป็นเรื่องยุ่งยากและถกเถียงกันไม่จบสิ้นเสียแล้ว

-4-
การสร้างมาตรฐานให้แก่มวยไทยอาจมองได้ 2 แง่ หนึ่ง-เป็นการใช้อำนาจรัฐกำหนดกะเกณฑ์ รวบเอาวัฒนธรรมที่มีความหลากหลายให้เป็นก้อนเดียว ดังที่รัฐไทยเป็นมาตลอด และสอง-เป็นการสร้างความชัดเจนเพื่อเผยแพร่มวยไทยในฐานะศิลปะและกีฬาให้แพร่หลายมากขึ้น ดังที่กีฬาเทควันโด คาราเต้โด้ หรือยูโดทำสำเร็จมาแล้ว

แต่ก่อนที่รัฐจะทำอะไรลงไป จำเป็นจะต้องเปิดใจกว้างและยอมรับความหลากหลายทางวัฒนธรรมที่พ้นไปจากกรอบรัฐชาติเสียก่อนกระมัง

เพราะถ้าลองสืบค้นอย่างจริงจัง ‘มวยไทย’ อาจไม่ใช่สิ่งที่ดำรงอยู่มาแต่ดั้งเดิม จะมีก็แต่มวยในท้องถิ่นต่างๆ ซึ่งมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว เช่น มวยโคราช มวยลพบุรี มวยท่าเสา มวยไชยา มวยพระนคร ฟ้อนเจิง ตบมะผาบ สีลัต เป็นต้น แต่พอถึงยุคการสร้างรัฐชาติ มวยท้องถิ่นเหล่านี้ก็ถูกรวบเข้ามาเป็นหน่วยเดียวดังที่ครูแปรงกล่าว ใส่กติกาตะวันตกเข้าไปจนมวยท้องถิ่นต่างๆ สูญเสียเอกลักษณ์ และถูกเรียกเหมือนๆ กันว่า ‘มวยไทย’ กระทั่งมวยท้องถิ่นบางแห่งหายสาบสูญไปอย่างสิ้นเชิง

“ถ้าจะมีการจัดระเบียบ ก็ต้องเข้าใจว่ามวยไทยมีหลากหลาย ถ้าไม่เข้าใจแล้วกำหนดหลักเกณฑ์ออกมาก็เหมือนกับว่าไปจำกัด ไปตัดตอนศิลปะการต่อสู้ชนิดนี้ อาจจะต้องทำเหมือนมวยจีนที่มีประเภทแยกย่อยลงไปและมีการส่งเสริม คือถ้าไม่มีความรู้แล้วเข้าไปพยายามจัดระเบียบก็จะเหมือนกับแพทย์แผนไทยที่ความรู้ดั้งเดิมหายไปมาก ตอนนี้ในเมืองไทย คนที่รู้จักมวยไทยจริงๆ ก็หายากอยู่แล้ว เราต้องมีการรวบรวมความรู้เป็นหมวดหมู่ มีการจัดการหลักสูตรว่าแบบใดเป็นการเรียนมวยเบื้องต้น เบื้องกลาง หรือเบื้องสูง ต้องมีระบบว่าต้องเรียนมวยกี่ปีถึงจะสอนได้ และอย่าไปจำกัดว่ามวยไทยต้องมีแค่นี้ๆ

“คือเราผิดพลาดตั้งแต่เริ่ม เพราะไม่มีการจัดระบบก่อน จริงๆ เราควรจะส่งคนจากเมืองไทยไปสอนหรือทำหลักการให้เรียบร้อย เมืองไหนต้องการเทรนเนอร์ก็ส่งไปและเก็บเงินเข้าประเทศ แต่ที่ผ่านมาเรากลับไปให้เขาง่ายๆ และเขาก็ไปเปิดเอง ไม่ได้ดูแล จนมันกลายเป็นธุรกิจขนาดใหญ่ อิทธิพลก็มีมากขึ้น การจะเข้าไปล้มเขาก็ลำบาก กลายเป็นว่าเขามีบทบาทเหนือเรา” ครูแปรงอธิบาย

อีกทั้งภาพลักษณ์ของมวยไทยที่แม้จะโด่งดังในสายตาชาวต่างประเทศ แต่สำหรับคนไทยแล้ว มวยไทยกลายเป็นกีฬาของแรงงาน การศึกษาน้อย ทั้งที่จริงๆ แล้วไม่ใช่ แต่การพนันต่างหากที่ทำให้ภาพลักษณ์มวยไทยดูไม่ดีนักในสายตาผู้ปกครอง และมักไม่ค่อยอยากให้ลูกฝึกมวยไทย

ดังนั้น หากภาครัฐคิดจะส่งเสริมมวยไทยจริงๆ ก็ไม่ควรจะมองแต่ภายนอกเพียงอย่างเดียวจนหลงลืมภายใน ที่สำคัญ ภาครัฐจะมาใช้อำนาจรวบรัดตัดความ เอาความคิดตัวเองเป็นใหญ่แบบยุคจอมพล ป. พิบูลสงคราม ไม่ได้ แต่จะต้องให้ทุกฝ่ายได้ร่วมพูดคุยและหาทางออกร่วมกัน

..........
เรื่อง : ทีมข่าว CLICK
ภาพ : อดิศร ฉาบสูงเนิน







กำลังโหลดความคิดเห็น