xs
xsm
sm
md
lg

มองญี่ปุ่นผ่านศิลปะการ์ตูน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


มุมมองผลงานที่ผ่านสายตา ความคิดของศิลปินชาวญี่ปุ่น กับภาพลักษณ์ที่ดูเบาๆ น่ารักป็อบๆ จริงๆ แล้วเมื่อมองให้ลึกกว่านั้น มันมีอะไรให้คิดอีกมากมาย

คุณพิชญา ศุภวานิช ผู้ดูแลนิทรรศการศิลปะ “สุก-ดิบ อาทิตย์อุไทย” บอกว่า มุมมองของศิลปินชาวญี่ปุ่น แม้จะสื่อออกมาในมุมมองการ์ตูนน่ารัก แต่ในความเป็นจริงนั้นมันบิดเบี้ยว เป็นมุมมองสะท้อนถึงสภาพความเป็นจริงของสังคมที่ไม่ได้ปกติสุขนัก แบบเก็บกดนิดๆ

ทั้งการ์ตูนมังงะและอนิเมะ ได้ถือกำเนิดขึ้นอย่างชัดเจนในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 มีวิวัฒนาการที่ควบคู่ไปกับวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของคนในสังคมมาโดยตลอด ด้วยสภาวะความกดดัน และแข่งขันในสังคมญี่ปุ่นที่มีมากขึ้นเรื่อยๆ เพื่อผลักดันตัวเองขึ้นมา ทำให้การ์ตูนเสมือนเป็นอีกโลกหนึ่งที่ทุกคนสามารถเข้าไปอยู่และรู้สึกผ่อนคลาย หลีกหนีจากโลกแห่งความเป็นจริง

“โลกมังงะเสมือนเป็นโลกที่พวกเขาได้ออกมาจากสภาวะความเป็นจริง และเหมือนว่าในโลกใบนี้อะไรๆ ก็เป็นไปได้ ในแต่ละผลงานคือการสั่งสมประสบการณ์และสิ่งที่ได้พบเจอมาในชีวิตของตัวเองตั้งแต่เด็กจนโต”

'วัฒนธรรมสมัยนิยม(Pop-culture)' คือสิ่งที่มีอิทธิพลต่อการพัฒนารูปแบบ เนื้อหาของการ์ตูนมังงะและอนิเมะอย่างมาก คือความเป็นกระแสสังคมในกาลเวลาต่างๆ ที่เปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ หรือคงที่ ซึ่งเกี่ยวข้องกับชีวิตความเป็นอยู่ของคนในสังคม

ยกตัวอย่างเช่น การ์ตูนเรื่องโดราเอมอน การ์ตูนยอดฮิตของคนทุกรุ่นทุกสมัย ซึ่งจะเห็นว่าเป็นโลกใบหนึ่งโดยดึงเรื่องของกระแสทางจิตวิทยาเข้ามาในการ์ตูน ในความล้มเหลวของตัวละครอย่างโนบิตะ ที่ไม่เคยประสบความสำเร็จในชีวิต ล้มเหลวอยู่ตลอด สะท้อนให้เห็นถึงโลกความเป็นจริงของสังคมญี่ปุ่นที่ว่า เป็นโลกแห่งการแข่งขัน กดดันที่ทุกคนจะต้องเก่ง

“ความล้มเหลว การพ่ายแพ้เหล่านั้นคือสภาวะความจริง การแข่งขันที่คนต้องพบเจอ ถูกกดดัน แต่ในโลกของการ์ตูนจะมีโดราเอมอนคอยช่วยเหลือให้ผ่านอุปสรรคต่างๆ ไปได้ ตรงนี้อาจเป็นการชดเชยความรู้สึกบางอย่าง เสมือนเป็นความรู้สึกของผู้แต่งที่รับมาจากโลกความเป็นจริง โดยให้โลกแห่งจินตนาการเหล่านี้เสริมเติมเต็มความต้องการเหล่านั้นที่ไม่อาจเกิดขึ้นจริง”

ส่วนแง่มุมของการพัฒนานั้น ความก้าวล้ำทางเทคโนโลยีนับเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนารูปแบบให้มีความหลากหลาย รวมทั้งเนื้อหาต่างๆ วิธีการนำเสนอจะเป็นไปในเชิงสื่อเทคโนโลยีมากขึ้น แต่ในตัวสไตล์การ์ตูนจะยังคงเห็นความคลาสสิก ความคล้ายคลึงไว้อยู่ชัดเจน

“เสน่ห์ของการ์ตูนญี่ปุ่นเป็นสิ่งที่คนทั่วโลกสามารถสัมผัสได้ ส่วนหนึ่งด้วยรูปแบบที่มีเอกลักษณ์ มีประวัติศาสตร์ยาวนาน อีกส่วนสำคัญคือเนื้อเรื่องที่สามารถดึงให้ผู้อ่านเข้าไปอยู่ในโลกนั้นได้จริง หรือการ์ตูนมีความใกล้เคียงกับโลกความจริงมาก สุดท้ายคือวิธีการนำเสนอแปลกใหม่ที่สามารถดึงความสนใจไว้ได้ มีความเป็นสากล จินตนาการล้ำยุคไม่ซ้ำชาติไหน มีการพัฒนาควบคู่กับเทคโนโลยีอย่างเป็นธรรมชาติจากจุดเริ่มต้นคือจินตนาการ”

ผลงานหลายๆ ชิ้นสามารถสื่อถึงจินตนาการที่เดินควบคู่ไปกับโลกความเป็นจริงได้อย่างชัดเจน เช่นผลงานของคาเนะอุจิ เท็ปเป กับผลงานโมเดลที่ด้านหน้าเต็มไปด้วยวิกผมจากด้านหลัง สื่อถึงมุมมองของเขาที่ยืนมองอยู่ด้านนอกแล้วเห็นด้านหลังของกลุ่มคนมากมายกำลัง รุมเกาะติดกระแสนิยมอย่างดารานักร้อง บุคคลดังต่างๆ จนกลายเป็นเหมือนสัตว์ประหลาดไปในที่สุด

ต่อมาหุ่นโทรายัน โดยยาโนเบะ เคนจิ ที่ได้แรงบันดาลใจจากหุ่นกระบอกมือ ผสมผสานกับประเด็นเรื่องยุคแห่งนิวเคลียร์ ที่หุ่นตัวนี้จะต้องสวมใส่ชุดที่สามารถป้องกันรังสีแกมมาที่เป็นอันตรายได้เพื่อความอยู่รอด

หรือจะเป็นผลงานวิดีทัศน์ของโนบิ อะนิกิ/คาเนะโกะ เรียว เป็นเรื่องราวที่เขาได้แต่งตัวเหมือนโนบิตะและใช้ชีวิตประจำวันเหมือนคนปกติ ทั้งกินข้าว เดินเล่น ขึ้นต่อยมวย ซึ่งทุกสิ่งล้วนมีอุปสรรคในชีวิต โดยเขาต้องการสื่อให้เห็นชัดเจนว่า ในโลกแห่งความเป็นจริงหากคุณเป็นเหมือนโนบิตะแล้ว คุณจะไม่มีโดราเอมอนมาคอยช่วยเหลือเหมือนในการ์ตูน

สุดท้ายเป็นหนึ่งในผลงานที่สามารถสื่อถึงสภาพความจริงของสังคมญี่ปุ่นได้ชัดและลึก นั่นคือผลงานของ ไอดะ มาโกโตะ กับภาพขนาดใหญ่ที่ผสมปนเปด้วยหลากหลายสิ่งอย่างที่มีอิทธิพลหรือเกิดขึ้นในสังคมญี่ปุ่น อย่างตัวละครมังงะซึ่งมีความสดใสน่ารัก แต่ในความเป็นจริงกลับมีความตึงเครียดอยู่ในจิตใจด้วยการสื่อถึงการกรีดแขน ข้อมือเพื่อฆ่าตัวตาย

นอกจากนี้ยังสื่อได้อีกหลายแง่มุมในองค์ประกอบอื่นๆ ของผลงาน อย่างการ์ตูนโป๊ของบรรดาเด็กสาวที่สื่อถึงความต้องการ และความรุนแรงเรื่องเพศ หรือจะเป็นองค์ประกอบของเงินตราที่ทรงอิทธิพลในสังคม รวมทั้งกระแสแฟชั่น อาหารฟาสต์ฟูด ที่ล้วนเข้ามามีอิทธิพลต่อการดำเนินชีวิตของคนญี่ปุ่นทั้งสิ้น

อาจจะกล่าวได้ว่า... โลกของการ์ตูนคือความโหดร้ายของโลกแห่งความเป็นจริงที่ทุกคนพยายามหลีกหนีและเติมเต็มในสิ่งที่ขาดหายไปด้วยจินตนาการนั่นเอง

ภาพโดย... พงศ์ศักดิ์ ขวัญเนตร





กำลังโหลดความคิดเห็น