พลันที่คำทำนายของ ดร.สมิทธ ธรรมสโรช อดีตผู้อำนวยการศูนย์ป้องกันภัยพิบัติ พรั่งพรูสู่สาธารณะ บอกกล่าวให้คนทั้งประเทศรับรู้ว่า มหันตภัยคลื่นยักษ์สึนามิจะบังเกิดขึ้นอีกครั้งในชายฝั่งอันดามันของไทย ด้วยระดับความรุนแรงที่เลวร้ายกว่าเมื่อครั้งที่เกิดขึ้นในวันที่ 26 ธันวาคม ปี 2547 อย่างเทียบกันไม่ติดนั้น
ภาพความสูญเสียของชีวิตนับไม่ถ้วนที่ถูกคลื่นยักษ์สึนามิพรากลมหายใจไปโดยไม่ทันตั้งตัว ก็กลับมาฉายชัดย้ำเตือนคนไทยทั้งประเทศอีกครั้ง พร้อมคำถามจากประชาชนที่มีต่อประสิทธิภาพของทุ่นเตือนภัย ซึ่งเกิดปัญหาแบตเตอรี่หมด กลายเป็นสิ่งไร้ประโยชน์ลอยเท้งเต้งอยู่กลางทะเล ซึ่งนับเป็นภาพที่ชวนสลดสังเวชไม่น้อย
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากคลื่นยักษ์สึนามิครั้งใหม่ กำลังก่อตัวขึ้นจริงตามคำทำนาย
พยากรณ์คลื่นยักษ์ถล่มไทย
“สำหรับดวงเมืองของประเทศไทยในปี 2553 นี้ ถ้าดูจากการทำมุมตรึงกันของหมู่ดวงดาว ก็เป็นไปได้ที่เรื่องของอุบัติภัยนั้นย่อมเกิดขึ้น และเกิดอย่างรุนแรงด้วย”
ใช่เพียงการทำนายจากนักวิชาการในแวดวงวิทยาศาสตร์และธรณีวิทยา ถึงการเกิดคลื่นยักษ์สึนามิครั้งใหม่ แต่คำทำนายทายทักจาก ภิญโญ พงศ์เจริญ นายกสมาคมโหราศาสตร์นานาชาติ ที่บอกกล่าวให้ทราบถึงดวงชะตาเมืองก็นับว่าสอดคล้องกันอย่างน่าตระหนก ก่อนโหรคนเดิม อธิบายเพิ่มเติมว่า อุบัติภัยร้ายแรงนั้น เกิดจากอิทธิพลของอุปราคา หรือการที่ดาวพระเคราะห์เรียงบังกัน
“โดยเฉพาะดาวพฤหัสบดีกับดาวเสาร์ ซึ่งเป็นดาวแห่งการเปลี่ยนแปลง หากดาวคู่นี้เล็งกันก็จะเกิดความโกลาหล เพราะฉะนั้นเรื่องของแผ่นดินไหว หรืออะไรต่างๆ จึงมักจะเกิดในช่วงที่ดาวพฤหัสบดีกับเสาร์ ทำมุมเล็งกัน
เพราะฉะนั้นมันก็เป็นไปได้ที่ปี 2553 นี้ มันก็จะเกิดอุบัติภัยแรงๆ หลายครั้ง ”
ภิญโญบอกว่า ส่วนใหญ่แล้วจะตรงกับวันพระจันทร์เต็มดวง และเป็นช่วงที่ใกล้เคียงกับการเกิดอุปราคา
“อย่างในปีนี้ จะมีอุปราคาเกิดขึ้นในวันที่ 26 มิถุนายน ระวังไว้ ตอนช่วงนั้นเป็นช่วงที่อาจจะเกิดอุบัติภัยได้ ผมบอกเป็นวันเลย หรืออาจจะเกิดขึ้นก่อนหรือหลังก็ได้ และวันที่ 19-20-21 กรกฎาคม ตอนช่วงเดือนกรกฎาคมถึงสิงหาคม ต้องระวังให้มาก ด้วยเหตุที่ดาวอังคารไปกุมกับดาวเสาร์ ในช่วงกลางเดือน หรือมันอาจจะครอบคลุมไปถึงช่วงกลางสิงหาคมถึงต้นกันยายน”
หลังจากทราบถึงดวงชะตาเมืองที่สอดคล้องกับคำทำนายทายทักของ ดร.สมิทธ ธรรมสโรช ซึ่งออกมาเผยว่า เห็นด้วยกับคำทำนายของกลุ่มนักวิชาการแห่งสถาบันวิจัยนิเวศวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยอัลส์เตอร์ ไอร์แลนด์เหนือ ที่ส่งคำเตือนมาว่า อาจจะเกิดคลื่นยักษ์สึนามิครั้งใหญ่ขึ้นในประเทศไทย ซึ่งมีระดับความรุนแรงที่มากกว่าเมื่อปี 2547
โดยสึนามิครั้งใหม่นี้เป็นผลสืบเนื่องมาจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งใหญ่บริเวณเกาะสุมาตรา ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้
ครั้นสอบถามไปยัง ดร.สมิทธ ธรรมสโรช อดีตผู้อำนวยการศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ เราก็ได้รับคำตอบว่า
“ผมแค่กล่าวว่า เห็นด้วยกับคำเตือนของศาสตราจารย์สถาบันวิจัยนิเวศวิทยาแห่งมหาวิยาลัยอัลส์เตอร์ ไอร์แลนด์เหนือ ที่ว่าจะเกิดสึนามิในประเทศไทยขึ้นอีกครั้ง เนื่องจากว่าเปลือกโลกจุดเดิมยังมีแนวโน้มที่จะเคลื่อนตัวได้อีก” ซึ่งหากเกิดการเคลื่อนตัวของรอยเลื่อนอีกครั้งหนึ่ง ประเทศไทยจะต้องเสียหายมากกว่าเดิม
ส่วนแนวทางการป้องกันนั้น อดีตผู้อำนวยการศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติกล่าวว่า
“ไม่มีใครสามารถหยุดธรรมชาติได้ สิ่งที่เราทำได้มีเพียงแต่การเตรียมพร้อมรับมือให้ดีที่สุด เมื่อสักครู่ที่ผ่านมา กรมอุตุฯ เพิ่งโทร.มาหาผม ว่าไม่ควรพูดแบบนี้ เพราะจะทำให้ประชาชนเกิดความตระหนก แต่ผมไม่ได้พูดอะไร ผมแค่บอกว่า ผมสนับสนุนงานวิจัยของไอร์แลนด์เหนือ และทางกรมอุตุฯ ก็ออกมาบอกกับผมว่า ทางกรมนั้นมีการทำงานตลอด 24 ชั่วโมง ถ้าเกิดเหตุขึ้นอย่างไรก็สามารถเตรียมการรับมือได้ ซึ่งผมคิดว่ามันไม่ทันการหากว่าไม่ระวังตัว คราวที่แล้วกรมอุตุก็ออกมาบอกแบบนี้ แล้วเป็นไง”
หลังจากตั้งถามอย่างตรงไปตรงมาแล้ว ดร.สมิทธก็ย้ำทิ้งท้ายว่า ประเทศไทยต้องมีระบบเตือนภัยที่ดี ซึ่งจะช่วยยผ่อนหนักให้เป็นเบาได้ แต่ทว่า
“ผมได้ยินมาว่า คนในพื้นที่บอกว่าทุ่นเตือนภัยก็แบตฯ หมด หอเตือนภัยก็ใช้การได้ไม่หมด ทั้งนี้ ผมคงพูดอะไรไม่ได้มาก เพราะโดนรัฐเขาฟ้องอยู่ ข้อหาหมิ่นประมาท”
รวมพลังต้านคลื่นลม
ไม่ว่าใครจะทำนายทายทักว่าคลื่นยักษ์กำลังจะมา หรือออกแรงคัดค้านว่าคลื่นยักษ์คงไม่เกิดขึ้นจริง แต่ความจริงประการหนึ่ง ก็คือ ในคราวที่สึนามิมาเยือนทะเลอันดามันของไทยเมื่อปลายปี 2547 พื้นที่ตำบลบางม่วง อำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา ถือเป็นอีกพื้นที่หนึ่งที่ได้รับความเสียหายไม่น้อย และนั่นเองเป็นเหตุผลที่ทำให้ชาวบ้านที่นั่น เป็นกลุ่มคนที่ 'พร้อมที่สุด' ที่จะเผชิญกับสึนามิในครั้งต่อไป
ดังคำบอกกล่าวของ ชัยณรงค์ มหาแร่ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลบางม่วง อ.ตะกั่วป่า จ.พังงา ที่เอ่ยว่า
“สิ่งที่เราทำได้เพียงอย่างเดียว ถ้าหากจะมีการเกิดสึนามิก็คือ เราต้องอพยพให้ทัน ซึ่งจากที่เตรียมการมา คือ หลังจากได้รับข่าวแล้ว เราจะใช้เวลาไม่เกิน 5 นาที นำเอาคนออกจากพื้นที่ให้ได้ทั้งหมด ในคราวที่แล้วที่เกิดสึนามิมีชาวบ้านหลายคนอพยพไม่ทัน เพราะหวังจะเก็บของมีค่าออกมากับตัวด้วย แต่จะไม่เป็นอย่างนั้นอีกแล้ว เรามีการเตรียมความพร้อมเป็นอย่างดี”
ชัยณรงค์ยืนยันว่า ชาวบ้านในตำบลบางม่วงได้มีการเตรียมความพร้อมกันทุกปีอยู่แล้ว โดยตั้งงบประมาณไว้ส่วนหนึ่งเพื่อการณ์นี้โดยเฉพาะ เช่น มีการซ้อมแผนอพยพปีละสองครั้ง ซึ่งชัยณรงค์บอกว่า อปพร. (อาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน) ในพื้นที่ตำบลบางม่วงนั้น มีความเข้มแข็งมาก
“ตอนนี้เราไม่สามารถหวังพึ่งเครื่องเตือนภัยได้ เพราะที่ผ่านมาเคยมีการทดลองใช้แล้วปรากฏว่า มันไม่ดัง แต่ตอนที่ไม่ได้ทดลองมันเกิดดังขึ้นมา จนชาวบ้านไม่ได้คาดหวังแล้ว ตอนนี้ก็ต้องพึ่งตัวเองโดยการสังเกตธรรมชาติ เช่น ถ้าน้ำทะเลแห้งเร็วกว่าปกติก็คิดได้ว่าจะมีสึนามิมา
“ถามว่าเรากลัวหรือไม่ ก็ต้องบอกว่าทุกคนคงกลัวหมด แต่ขั้นแรกต้องเข้าใจก่อนว่า ภัยธรรมชาตินั้น เราไม่สามารถห้ามไม่ให้มันเกิดได้ แต่ถ้ามันเกิดแล้ว ก็ต้องมีแผนป้องกันตัวที่ดี ให้ได้รับความเสียหายทั้งชีวิตและทรัพย์สินน้อยที่สุด และสิ่งที่จะบอกเราว่า จะมีสึนามิมา นอกจากการสังเกตโดยชาวบ้านแล้ว เครื่องเตือนภัยที่ใช้การได้ก็จะเป็นสิ่งที่บอกเราอีกทางหนึ่ง”
เป็นความเห็นที่คล้ายจะสวนทางกับสภาพความเป็นจริงของหอเตือนภัยที่ใช้การไม่ได้ รวมถึงเครื่องเตือนภัยที่แบตเตอรี่หมด ทำให้ลอยเท้งเต้งอยู่บนผิวน้ำอย่างไร้ความหมาย
เสียงจากศูนย์ป้องกันภัยพิบัติ
หลังจากรับฟังเสียงชาวบ้านในพื้นที่ที่ทุ่นเตือนภัยสึนามิแบตเตอรี่หมดและหอเตือนภัยก็ใช้การไม่ได้รวมทั้งไม่มีผู้สนใจเข้ามาดูแลนั้น เมื่อสอบถามไปยัง วิริยะ มงคลวีระพันธ์ ผู้อำนวยการศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ ก็ได้รับคำอธิบายว่าเป็นเรื่องเข้าใจผิด และตอนนี้ทางศูนย์ฯ ก็ได้มีการแก้ไขเรียบร้อยแล้ว
ส่วนสาเหตุที่เกิดขึ้นนั้น แท้จริงแล้วไม่ได้เกิดจากที่แบตเตอรี่หมด แต่เกิดจากการที่ชาวประมงไปแกะทำให้บางส่วนของทุ่นเตือนภัยส่งสัญญาณไม่ได้ทำให้ระบบขัดข้อง
“ตอนนี้ทางศูนย์ก็ได้เอาทุ่นตัวใหม่ไปทดแทนตัวเก่าที่สหรัฐอเมริกาบริจาคให้แล้ว ตั้งแต่วันที่ 17 ธันวาคม 2552 ส่วนหอเตือนภัยที่อยู่ตาม 6 จังหวัดภาคใต้ได้มีการตรวจเช็คทุกวัน และตอนนี้ผมก็ได้ลงไปตรวจแล้ว สามารถส่งสัญญาณเตือนภัยได้ตามปกติทุกหอทุกจังหวัด”
นอกจากนี้ เรื่องที่มีผู้คาดการณ์ว่าอีกไม่ช้าจะเกิดสึนามิรอบสองและจะส่งผลร้ายแรงกว่าสึนามิในปี 2547 นั้น วิริยะบอกว่า ไม่สามารถรู้ได้แน่ชัด เพราะแม้แต่การเกิดแผ่นดินไหวก็ยังไม่สามารถรู้ล่วงหน้าว่าจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ และสึนามิก็เกิดจากแผ่นดินไหว เกิดจากการยกตัวของเปลือกโลก รวมทั้งเทคโนโลยีในปัจจุบันก็ไม่สามารถตรวจล่วงหน้าได้เลย
“การเกิดสึนามิ ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของการเกิดแผ่นดินไหวในทะเลและการยุบตัวหรือยกตัวมากน้อยขนาดไหนแค่นั้นเอง ทางศูนย์ฯ ได้เตรียมความพร้อม คือ เมื่อเกิดสึนามิแล้ว เราเตือนประชาชนให้อพยพก่อน และถ้าอยู่นอกน่านน้ำประเทศไทยอย่างช้าที่สุดที่เราสามารถเตือนให้ประชาชนรับรู้ล่วงหน้าก่อนที่คลื่นจะถึงฝั่ง ก็คือ ภายใน 1 ชั่วโมง”
คลื่นยักษ์ที่ไร้เหตุผล
ด้วยความใคร่รู้ว่า การเกิดสึนามิ ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของการเกิดแผ่นดินไหวในทะเลและการยุบตัวหรือยกตัวของเปลือกโลก เช่นที่ผอ.ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติกล่าวไว้หรือไม่
เราจึงหยิบข้อสงสัยนี้ไปถามไถ่กับนักธรณีวิทยาอย่าง ดร. ศิวัช พงษ์เพียจันทร์ อาจารย์คณะการจัดการสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ จ. สงขลา หนึ่งในทีมวิจัยที่กำลังเก็บข้อมูลตะกอนในท้องทะเลไทย เพื่อค้นหาว่า ในอดีตเคยเกิดสึนามิขึ้นในไทยแล้วกี่ครั้ง ซึ่งนำไปสู่การอนุมานหาระยะเวลา ความน่าจะเป็นที่สึนามิครั้งใหม่จะเกิดขึ้น นับเป็นองค์ความรู้จากภาพอุบัติซ้ำในอดีต ที่ในเมืองไทยยังไม่มีการศึกษาวิจัยแพร่หลายนัก
และคำตอบที่ได้รับจากนักธรณีวิทยาท่านนี้ ทำให้รู้ว่าการเกิดสึนามินั้น ช่างแปรปรวนและยากจะคาดเดา
“สึนามิไม่จำเป็นต้องเกิดจากแผ่นดินไหวเสมอไป เช่น เหตุการณ์สึนามิครั้งรุนแรงที่เคยเกิดขึ้น ก็เกิดขึ้นมาจาก การเคลื่อนตัวหรือ 'แลนด์สไลด์' ซึ่งหมายถึงการที่ มวลภูเขาลูกหนึ่ง เกิดสไลด์ลงไปในทะเลโดยฉับพลัน แบบนี้น่ากลัวมาก เพราะมันจะเกิดเป็นเมกกะสึนามิ คือ เป็นสึนามิคลื่นใหญ่มาก ซึ่งเท่าที่เคยมีในประวัติศาตร์ก็คือ การเกิดคลื่นเมกะสึนามิที่รัฐอะแลสกา ตอนนั้นมีคลื่นสึนามิสูงประมาณ 500 เมตร
"ประจักษ์พยานตอนนั้นคือชาวประมงที่กำลังตกปลาอยู่ แล้วถูกคลื่นพัดจากเขาลูกหนึ่งไปอยู่บนยอดเขาอีกลูกหนึ่งเลย สาเหตุของการเกิดสึนามิครั้งนั้น ก็เกิดจาการที่ภูเขาสไลด์ตัวลงไปในทะเล มันเป็นความเปราะบางทางชั้นธรณีของภูเขาที่ถูกแรงโน้มถ่วงของโลกฉุดดึงลงไปในฉับพลัน”
นอกจากนี้ การเกิดขึ้นของสึนามิยังมีที่มาจากลักษณะการเคลื่อนตัวของตะกอนใต้ทะเล ในบริเวณที่เรียกว่าไหล่ทวีป เมื่อเกิดการทับถมตัวนานๆ แล้วชั้นตะกอนต้านทานแรงโน้มถ่วงไม่ไหวก็จะจมลงไป ซึ่งมวลของมันมหาศาลมาก สามารถสร้างให้เกิดคลื่นสึนามิได้เช่นกัน ยังไม่นับถึงลูกอุกกาบาต ที่ถ้าหากวันดีคืนดีมีลูกอุกาบาตตกลงไปในท้องทะเล ก็ย่อมทำให้เกิดสึนามิได้เช่นเดียวกัน
สึนามิจึงเกิดได้จากหลากหลายปัจจัยทางธรรมชาติ แต่เมื่อแผ่นดินไหวก็ถือเป็นสาเหตุประการหนึ่ง การทุ่มเทเครื่องมือเพื่อตรวจหาแรงสั่นสะเทือนใต้พิภพจึงเป็นวิธีที่ในประเทศซึ่งมีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี นำมาใช้สำหรับการเฝ้าระวัง ดังคำบอกเล่าจากศิวัช กระนั้น ก็ยังไม่สามารถคาดเดาได้อย่างแม่นยำ
“ทุกวันนี้ ยังไม่มีใครสามารถทำนายการเกิดแผ่นดินไหวได้อย่างแม่นยำร้อยเปอร์เซ็นต์ แม้ในต่างประเทศจะมีวิธีการทดสอบการเกิดคลื่นยักษ์โดยฝังท่อโลหะลงไปในพื้นดิน แล้วกระจายเครือข่าย และจับสัญญาณคลื่นแผ่นดินไหวจากใต้พิภพ เมื่อจับสัญญาณที่มีอยู่เพียงนิดเดียวได้แล้ว ก็จะใช้เทคโนโลยีในการวิเคราะห์การเกิดสึนามิ ซึ่งถือว่า เป็นหนึ่งในวิธีที่ได้รับการยอมรับในระดับหนึ่ง แต่ก็ยังมีความคลาดเคลื่อนอยู่
“เพราะฉะนั้น คำพยากรณ์ที่ว่าจะมีสึนามิรอบใหม่เกิดขึ้นนั้น ผมมองว่า มันย่อมเกิดขึ้นได้ตลอดเวลาอยู่แล้ว ดังนั้น สิ่งสำคัญที่สุดก็คือ คำถามที่ว่า เรามีการ เตรียมพร้อมเพื่อรับมือกับมันอย่างไรต่างหาก”
ไม่ว่าสิ่งกำบังในการป้องกันสึนามิ หรือเครื่องมือในการเตือนภัย สิ่งเหล่านี้ ในความเห็นของศิวัช คือ
“การรับมือด้วยวิธีที่ว่ามา ถ้าถามผม ผมว่าเรายังคงขาดหมดทุกอย่าง เพราะฉะนั้น ผมว่าสิ่งที่ดีที่สุดก็คือ การฝึกให้คนทุกคนพร้อมที่จะรับมือกับสึนามิที่อาจจะเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ ให้คนรู้จักระวังภัย รู้จักสังเกตระบบเตือนภัย ให้คนหนีเข้าชายฝั่งให้เร็วที่สุด เหล่านี้จะสามารถลดจำนวนผู้เสียชีวิตลงไปได้เยอะเลย
“นอกจากนี้ ผมอยากให้มีการบรรจุเรื่องการหนีภัย การเอาชีวิตรอดจากภัยพิบัติต่างๆ ลงไปในหลักสูตรการศึกษาของเมืองไทย เพราะทุกวันนี้เรายังไม่มีหลักสูตรว่าด้วยเรื่องของการศึกษาภัยพิบัติทางธรรมชาติสักเท่าไหร่ และไม่จำเป็นจะต้องเป็นสึนามิอย่างเดียว ควรจะมีเรื่องของแผ่นดินไหวและภาวะโลกร้อนด้วย เพราะเราจะต้องอยู่กับธรรมชาติไปตลอดชีวิต สิ่งเหล่านี้ถือเป็นเรื่องจำเป็นที่ต้องเรียนรู้และทำความเข้าใจ”
………......
"หากดูจากวงโคจร การตรึง และดึงดูดกันของดวงดาว ทำให้มีความเป็นไปได้ว่า ในปี 2553 นี้จะมีอุบัติภัยครั้งร้ายแรงเกิดขึ้น ในช่วงเดือนกรกฏาคมถึงสิงหาคม เพราะฉะนั้นแล้ว คนที่รับผิดชอบก็ฟังๆ ไว้บ้าง คนเขาทัก จะได้มีการเตรียมการรับมือกันได้ทัน จากที่หนักจะได้เป็นเบา"
ว่าไปแล้ว เสียงทักท้วงจากโหรภิญโญก็น่ารับฟังไม่น้อยไปกว่าตรรกะทางธรณีวิทยาหรือศาสตร์แขนงใดๆ ถ้าการรับฟังนั้น มิได้หมายถึงงมงาย แต่คือการเตรียมพร้อมรับมือกับมหันตภัยที่อาจจะเกิดขึ้นได้โดยไม่คาดคิด
..........
เรื่อง : ทีมข่าว CLICK